VDO Clip ชี้แนะเพิ่มเติมเกี่ยวกับแผนปรับปรุงคุณภาพโรงเรียน
พิทักษ์
โสตถยาคม
หลังจากการประชุมคณะทำงานติดตามการดำเนินงานตามนโยบาย
รมว.ศธ. เมื่อค่ำวันพฤหัสบดีที่ 12 กุมภาพันธ์ 2558 ที่ผ่านมา ที่ประชุมมีมติว่า “ยังไม่สามารถเสนออนุมัติการสนับสนุนตามที่โรงเรียนเสนอมาได้ในทันที
เพราะการชี้ประเด็นปัญหาที่ปรากฏในแผนฯ
ยังไม่สะท้อนถึงสาเหตุสำคัญที่จำเป็นที่ต้อง “ปฏิรูปการเรียนรู้” ของแต่ละโรงเรียน
ดังนั้น คณะทำงาน/ สพฐ. จะปรับวิธีการสร้างความเข้าใจในเรื่องการจัดทำแผนปรับปรุงคุณภาพโรงเรียน
โดยจะ (1) พูดคุยกับ ผอ.สพท. ในโอกาสมาประชุม ผอ.สพท. (เรียนเชิญ
ผอ.สพท.20 ท่าน มานำเสนอแผนปรับปรุงคุณภาพโรงเรียนต่อคณะทำงานติดตามการดำเนินงานตามนโยบาย
รมว.ศธ. ในวันศุกร์ที่ 20 กุมภาพันธ์ 2558 เวลา 17.00-19.00 น. ณ ห้องประชุมกระทรวง ชั้น 2
อาคารราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ) (2)
จัดทำ Template
ให้โรงเรียน/เขต โดยนำภาพความสำเร็จ/
ผลการเรียนรู้ของผู้เรียนเป็นตัวตั้ง
แล้วให้โรงเรียนวิเคราะห์ปัญหาคุณภาพการเรียนรู้ของผู้เรียน วิเคราะห์ปัจจัยสาเหตุ
และแนวทางแก้ไข โดยให้ระบุวิธีการแก้ปัญหารายโรงเรียน
ซึ่งวิธีการแก้ไขผลการเรียนรู้ของผู้เรียน มีทั้งที่จำเป็นต้องใช้งบประมาณ
และไม่ต้องใช้งบประมาณ ทั้งนี้ให้เวลาดำเนินการประมาณ 1 สัปดาห์”
ดังนั้น ผมจึงประสานขอความกรุณาจาก
รองศาสตราจารย์ประภาภัทร นิยม ประธานคณะทำงานติดตามการดำเนินงานตามนโยบาย รมว.ศธ. ขอบันทึก
VDO
เพื่อส่งให้ ผอ.สพท.และ ผอ.โรงเรียน
ในโครงการปฏิรูปการเรียนรู้สู่ผู้เรียน เพื่อช่วยให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกัน และจะได้ดำเนินการได้ตรงกับข้อเสนอแนะของคณะทำงานติดตามการดำเนินงานตามนโยบาย
รมว.ศธ. ดังนี้
ซึ่งผมได้ถอดเทปสิ่งที่ประธานคณะทำงานติดตามการดำเนินงานตามนโยบาย
รมว.ศธ. (รศ.ประภาภัทร นิยม) เน้นย้ำไว้ด้วย เผื่อหลายพื้นที่ไม่สามารถเปิดฟังจาก Youtube
โดยตรงได้ ดังนี้
"สวัสดีค่ะ ท่านผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นทีการศึกษาในโครงการปฏิรูปการเรียนรู้สู่ผู้เรียนทั้ง
20 เขต และผู้อำนวยการโรงเรียนทั้ง 300 โรงเรียน ถ้ามีโอกาสได้ดูคลิปนี้นะค่ะ
ดิฉันได้รับข้อมูลจากทางเขตพื้นที่การศึกษาที่ส่งมาเพื่อที่จะระบุแผนการพัฒนาปรับปรุงเพื่อเข้าสู่โครงการนี้นะคะ
ทางฝ่ายเลขานุการได้พยายามรวบรวมและวิเคราะห์ว่าแผนดังกล่าวนี้ได้ตอบโจทย์ที่ได้ตั้งไว้ในโครงการนี้หรือไม่
ซึ่งก็ปรากฏว่า ข้อมูลนี้ยังต้องการความสมบูรณ์อีกส่วนหนึ่งที่สำคัญมากเลย
เนื่องจากว่าเราตั้งโจทย์ไว้ว่า การปฏิรูปการเรียนรู้สู่ผู้เรียน คืนครูให้ศิษย์
มีสมมติฐานมาจากการที่ว่า เราต้องการให้คุณภาพการเรียนรู้ของผู้เรียนเพิ่มขึ้น
ฉะนั้น เดิมทีปัญหาของโรงเรียนอาจจะต้องระบุให้ชัดเจนว่า คุณภาพการเรียนรู้ของผู้เรียน
ทั้งผลสัมฤทธิ์ก็ดี ผลลัพธ์ก็ดี อยู่ที่ไหน ปัญหาอยู่ตรงไหน
ซึ่งตรงนี้จากข้อมูลที่ส่งเข้ามา
ยังมองไม่เห็น แต่ตรงนี้เป็นโจทย์ที่สำคัญที่สุด ที่จำเป็นที่โรงเรียนต้องระบุว่า ในโรงเรียนนั้นๆ
เราเริ่มต้นในจุดไหน ในการพัฒนาผู้เรียน เราจะเริ่มต้นที่จุดไหน
จุดนี้เป็นเรื่องธรรมดา ที่ผู้บริหารโรงเรียนทุกคน
เมื่อถามว่าจะพัฒนาโรงเรียนอย่างไร จะต้องกลับมาดูผลที่ผลที่เกิดกับผู้เรียน
อย่างน้อยที่สุดก็ไปดูคะแนนโอเน็ต ว่าในวิชาไหนบ้างที่นักเรียนมีปัญหาอยู่ ในสาระไหนที่นักเรียนมีปัญหาอยู่
สาระไหนที่นักเรียนพอได้แล้ว หรือค่อนข้างดี เพราะฉะนั้น ถ้าเราระบุปัญหาได้
การแก้ปัญหาหรือการพัฒนาก็เป็นไปได้
แต่ถ้ายังระบุปัญหาไม่ชัด
เราก็มองไม่เห็นว่า จะพัฒนาอย่างไร เป็นเรื่องธรรมดา เป็นโจทย์ธรรมดาของการวิจัยทั่วไป
เพราะฉะนั้น
อยากจะเรียนให้ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาก็ดี ผู้อำนวยการโรงเรียนก็ดี
ได้เน้นเพิ่มเติมข้อมูลส่วนนี้เพื่อประกอบแผนการพัฒนาของแต่ละโรงเรียน
เป็นรายโรงเรียน
นอกเหนือจาก ปัญหาเกี่ยวกับนักเรียน ปัญหาผลการเรียนรู้ของผู้เรียนแล้ว แน่นอนว่า มีทั้งปัญหาผลสัมฤทธิ์ และด้านอื่นๆ ถ้าโรงเรียนค่อยๆ มองลงไปก็จะพบว่า เราต้องการจะพัฒนาด้านใดสำหรับผู้เรียน
ในด้านอื่นๆ ก็อาจจะมี เพราะฉะนั้นก็อยากให้โรงเรียนระบุปัญหาให้ชัดเจน
พอเราเห็นปัญหาเกี่ยวกับผู้เรียนแล้ว เราก็ต้องถามต่อว่า อะไรคือสาเหตุคือปัจจัย ทำให้ผลเป็นเช่นนั้น
ตรงนี้ก็จะมาถึงคุณครูแน่นอน มาถึงการทำงานของคุณครู ก็จะระบุได้
ถ้าครูไม่มีเวลาอยู่กับผู้เรียน เราก็ต้องดูจากสภาพเดิมว่าเราตั้งต้นที่จุดไหน
ครูไม่มีเวลาที่เต็มที่ในการจัดการเรียนการสอน ไม่มีเวลาเต็มที่ในการเตรียมการสอน
ไม่มีเวลาในการพัฒนาผู้เรียนเพิ่มเติม ตรงนี้เพราะเหตุใด เวลาของครูไปอยู่ที่ไหน คุณครูใช้ไปทำอะไร
ซึ่งก็ต้องระบุ
ถ้าหากว่าสาเหตุที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจากส่วนกลาง ก็ยิ่งต้องระบุมา
เพื่อที่เราจะได้มาปรับแก้ไปพร้อมๆ กัน เช่น เราได้รับข้อมูลทางวิชาการมาว่า ใน
200 วันเรียน คุณครูหายไปกว่า 80 วัน ตรงนี้จากข้อมูลที่ส่งมาเราไม่เห็นเลย ไม่ได้ระบุเลยว่า
เกิดเรื่องเหล่านี้จริงหรือเปล่า หรือเกิดขึ้นเพราะเหตุอันใด
ซึ่งเราต้องการที่จะแก้ไขร่วมกัน เพราะฉะนั้น อยากให้โรงเรียนระบุมาให้ชัดเจน
หรือจะเป็นเหตุที่ความรู้ความสามารถของครูไม่ถึง
ไม่เพียงพอ ในครูทั้งหมด 5 คนของโรงเรียนเรา มีครูที่ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
มีสมรรถนะสูง อยู่เพียง 2 คน สมมติว่าเป็นเช่นนี้ ก็โปรดระบุมาได้เลย แล้วเราจะได้มาคิดอ่านกันว่า
เราจะแก้ปัญหานี้ร่วมกันได้อย่างไร
ลำพังปัญหาการบริหารงานบุคคล ท่านอาจจะแก้ไขปัญหาด้วยตัวของท่านเองไม่เสร็จ
ถ้าหากว่าท่านระบุปัญหาขึ้นมาแล้ว ทางส่วนกลางก็พยายามที่จะช่วยแก้ปัญหาเหล่านั้น
ให้ลุล่วงไป
หรือว่าการที่คุณครูต้องไปทำงานอย่างอื่น
เช่น งานธุรการ ทำบัญชี ทำเรื่องต่างๆ เหล่านี้ ก็โปรดระบุมาว่า ไปทำอะไรบ้าง
แล้วเราจะช่วยกันแก้ปัญหานี้อย่างไร จะหาบุคลากรฝ่ายอื่นมาช่วยคุณครูสักกี่คนในแต่ละโรงเรียน
ปัญหาต่างๆ ที่เป็นสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้อต่อการเรียนรู้มีอะไรบ้าง
ท่านก็ระบุได้
เพราะฉะนั้น ถ้าเราขึ้นต้นจากปัญหาที่แท้จริงเหล่านี้
ซึ่งเป็นข้อเท็จจริง การพัฒนาไม่ยากเลย
เรามีหนทางที่จะพัฒนาได้ ซึ่งเราต้องช่วยกัน ตรงนี้ต้องช่วยกัน
ก็อยากให้ส่งข้อมูลให้สมบูรณ์ขึ้น
และทางสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษากำลังช่วยทำ Template
เพื่อที่จะให้ท่านกรอกข้อมูลที่เป็นระบบ
ในเรื่องที่ดิฉันกล่าวมาทั้งหมด แล้วนำมาใช้ในการพัฒนาโครงการให้รวดเร็วยิ่งขึ้น
ฉะนั้น ก็ขอให้ใช้เวลาประมาณหนึ่งสัปดาห์ในแต่ละโรงเรียน
เหมือนเอากล้อง หรือแว่นขยาย ไปส่องดู ไป Scan
ดูเลยนะคะ ว่าโรงเรียนของท่านมีปัญหาอะไร แล้ว list ปัญหาขึ้นมาให้ชัดเจน หวังว่าจะได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี
ก็ต้องขอขอบพระคุณที่ทุกท่านมีความเต็มใจในการเข้าร่วมโครงการนี้
และอยากเห็นการพัฒนาคุณภาพเกิดที่เด็กๆ ทันท่วงที เราก็คิดว่าเรามาถูกทาง และการที่เราเริ่มต้นจากผลที่เกิดกับผู้เรียน
เราก็จะตอบโจทย์นี้ได้ชัดเจนมากขึ้น ขอบพระคุณค่ะ"
---------------------------------