หน้าเว็บ

วันอังคารที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

ร่วมมือปฏิรูปการศึกษา: จะทำอะไร-อย่างไร

ข้อเสนอจากเวทีเสวนา “พลังเครือข่ายปฏิรูปการศึกษาขั้นพื้นฐาน”
 พิทักษ์ โสตถยาคม

สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา ได้จัดประชุมเสวนา “พลังเครือข่ายปฏิรูปการศึกษาขั้นพื้นฐาน” ขึ้น ในวันพฤหัสบดีที่ 7 พฤศจิกายน 2556 เวลา 10.00-14.00 น. มีวัตถุประสงค์ 2 ประการคือ (1) เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้กระบวนการและผลการสนับสนุนการปฏิรูปการศึกษาขององค์กรภาครัฐ และ(2) เพื่อปรึกษาหารือเกี่ยวกับแนวทางการประสานความร่วมมือและรวมพลังเพื่อขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาให้บรรลุเป้าหมายที่มุ่งหวังร่วมกัน การประชุมนี้มีประธานกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (ดร.สุรัฐ ศิลปอนันต์) เป็นประธานการเสวนา ผู้ร่วมประชุมมาจาก 3 กลุ่ม ประกอบด้วย (1) กพฐ. ได้แก่ นายวินัย รอดจ่าย นายสมหมาย ปาริจฉัตต์ นายปราโมทย์ แก้วสุข (2) ผู้บริหารองค์กรเครือข่าย ได้แก่ ดร.สีลาภรณ์ บัวสาย นางเพ็ญพรรณ จิตตะเสนีย์ ดร.ทัศนัย วงศ์พิเศษกุล ดร.ฉวีรัตน์ เกษตรสุนทร นพ.สุภกร บัวสาย ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ และ(3) ผู้บริหารระดับสูง สพฐ./ ผู้แทนสำนัก ได้แก่ น.ส.วีณา อัครธรรม ดร.เกษม สดงาม นายโสภณ โสมดี นางสุกัญญา งามบรรจง น.ส.พจนีย์ เจนพนัส นางภาวนี ธำรงเลิศฤทธิ์ ดร.ชวลิต โพธิ์นคร ดร.พีระ รัตนวิจิตร นายไกร เกษทัน นายสมยศ ศิริบรรณ นางพวงมณี ชัยเสรี นายสมควร วรสันต์ ดร.พิธาน พื้นทอง นางกมลจิตร ดวงศรี นางนุจวดี เจริญเกียรติบวร ดร.บรรเจอดพร สู่แสนสุข นายสังคม จันทร์วิเศษ ดร.อรนุช มั่งมีสุขศิริ น.ส.ดุจดาว ทิพย์มาตย์ นางสุดจิตร์ ไทรนิ่มนวล นายพิทักษ์ โสตถยาคม นายคู่บุญ ศกุนตนาค นางศรีนวล วรสรรพการ นายปราโมทย์ ขจรภัย นายวสันต์ สุทธาวาศ น.ส.ยมนา พินิจ น.ส.วรนุช รุ่งเรืองเจริญกุล นางรัชทิตา เชยกลิ่น น.ส.จันทิรา ทวีพลายนต์ และน.ส.จุฑารัตน์ ก๋องคำ


          ผู้บริหารองค์กรเครือข่าย ทั้งสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.)  ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) และสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ ได้นำเสนอกระบวนการและผลการสนับสนุนการปฏิรูปการศึกษา จากนั้นผู้บริหารองค์กรเครือข่ายและผู้เข้าร่วมประชุมได้ให้ข้อเสนอเพื่อการพัฒนา ดังนี้


1. เรียนรู้จากเครือข่ายและหนุนเสริมเติมต่อ กพฐ. และ สพฐ. ควรนำสิ่งดีที่ภาคีเครือข่ายทำอยู่ มาอุดช่องว่างการทำงาน และปรับตัวในการทำงานของตนเอง เพื่อร่วมเดินทางไปด้วยกันกับองค์กรภายนอกและภายใน ไม่ว่าจะเป็น 5 องค์กรหลัก หรือสำนักต่างๆ ใน สพฐ.ด้วยกัน ต้องประสานกันอย่างเข้มข้น ควรให้ความสำคัญของกระบวนการเรียนรู้ แต่ประเด็นที่ สพฐ.ต้องปรับตัวอย่างมากคือเรื่องของระบบบริหารงานบุคคล ระบบ Intensive และระบบ School Autonomy  นอกจากนั้น กพฐ. และ สพฐ. ควรพิจารณาให้การสนับสนุนช่วยเหลือการดำเนินงานของภาคีเครือข่าย ให้สามารถดำเนินการในสิ่งที่ดีและสร้างสรรค์ต่อไป ซึ่งควรนำผลการประชุมเสวนาพลังเครือข่ายปฏิรูปการศึกษาขั้นพื้นฐานครั้งนี้รายงานต่อที่ประชุม กพฐ. โดยเร็วที่สุด เพื่อทราบและร่วมขบคิดพิจารณาผลักดัน “วิธีปฏิบัติที่ดีและน่าสนใจ” ของภาคีเครือข่ายไปสู่การใช้ประโยชน์ในการจัดจัดการศึกษา
2. องค์กรตัวช่วย บทบาทหลักเกี่ยวกับการจัดการศึกษายังคงเป็นกระทรวงศึกษาธิการ ส่วนภาคีเครือข่ายต่างๆ เป็นเพียงตัวช่วย และผู้หนุนเสริมภารกิจของกระทรวง ไม่ใช่แย่งงานกระทรวงไปทำ และไม่สามารถมีศักยภาพในการจัดการศึกษาทดแทนกระทรวงได้ ดังนั้น องค์กรตัวช่วยจะสามารถสนับสนุนการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาได้ ด้วยการแบ่งส่วนกันทำในงานตามความถนัด แล้วนำมาต่อกัน ดังนี้ หากแบ่งงานออกเป็น 4 ขั้น ประกอบด้วย (1) ขั้นสร้างความรู้ (2) ขั้นเอาความรู้ไปทดลอง (3) ขั้นผลักดันเป็นนโยบาย และ(4) ขั้นดำเนินการให้เป็นไปตามนโยบาย ซึ่งในขั้นที่ 1-2 เป็นความถนัดของภาคีเครือข่ายที่จะทำการวิจัย เมื่อได้ผลแล้วก็ส่งมอบให้กระทรวงศึกษาธิการเพื่อดำเนินการในขั้นที่ 3-4 อย่างไรก็ตาม กระทรวงศึกษาธิการจะเป็นผู้กำหนดโจทย์การวิจัยและรองรับผลการวิจัยไปใช้ จะทำให้การทำงานของภาคีเครือข่ายและกระทรวงศึกษาธิการเชื่อมต่อกันได้อย่างดี
3. ปรับวิธีประเมินครูสู่วิทยฐานะ ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้การทำงานและความก้าวหน้าของครูไม่ก่อให้เกิดคุณภาพผู้เรียน ก็คือ การประเมินเพื่อเลื่อนวิทยฐานะที่ครูต้องเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับ ก.ค.ศ. หรือ อ.ก.ค.ศ. ไม่ไปในทิศทางเดียวกันกับการปฏิรูปการเรียนรู้และคุณภาพผู้เรียนที่คาดหวัง ดังนั้น จึงควรปรับแก้เงื่อนไขการประเมินครูให้เอื้อต่อคุณภาพผู้เรียนในลักษณะเช่นนี้ให้จงได้
4. ต้องการผู้นำที่เข้าใจ-เปิดใจ ผู้นำเป็นปัจจัยสำคัญของการพัฒนาคุณภาพ ในการสร้างและนำนวัตกรรมไปสู่การปฏิบัติ ที่ผ่านมาพบว่า ผู้นำและบุคลากรที่เกี่ยวข้องในระดับต่างๆ ไม่เข้าใจที่ดีพอในการประสานความร่วมมือกับภาคีเครือข่าย รวมทั้งไม่เปิดใจเรียนรู้และร่วมพัฒนาไปด้วยกันนัก จึงทำให้รูปแบบและวิธีการที่ดี  ไม่สามารถเกิดประโยชน์ในทางปฏิบัติได้เต็มที่ ดังนั้น จึงควรสร้างความเข้าใจร่วมกันและปรับตัวขับเคลื่อนการพัฒนาไปพร้อมกันกับภาคีเครือข่าย ผู้นำระดับนโยบายควรเข้าไปเป็นเพื่อนร่วมทาง ร่วมเรียนรู้ และเป็นโค้ชให้กับผู้นำระดับปฏิบัติ ควบคู่กับการสั่งการตามปกติ รวมทั้ง เสริมพลังอำนาจ (empowerment) ให้ผู้นำในพื้นที่ให้ทำงานเต็มความสามารถ เป็น “การสร้างแม่ทัพในพื้นที่” ให้เกิดขึ้นเต็มแผ่นดิน
5. ต้องการผู้นำที่เอาจริงและต่อเนื่อง เมื่อเอ่ยถึงผู้นำระดับนโยบาย เรามักจะนึกถึงฝ่ายการเมืองหรือรัฐมนตรี ซึ่งมีการปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา และส่งผลกระทบต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษาเช่นปัจจุบัน แต่การศึกษาจำเป็นต้องมีผู้นำระดับสูงที่เป็นหลัก มี commitment ที่จะดำเนินนโยบายและทิศทางการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เป็นเวลา 4-8 ปี ซึ่งคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) คือผู้นำที่ทุกฝ่ายให้ความเชื่อมั่นและเป็นความหวังใหม่ในการทำให้ “เรือนิ่ง” และการจัดการก็จำเป็นต้อง “นิ่ง-จริงจัง-ต่อเนื่อง” ด้วยเช่นกัน เพื่อดำเนินไปสู่สภาวะความสำเร็จของการปฏิรูปการศึกษา

6. ทำเรื่องสำคัญและจำเป็นจริงในการปฏิรูปการศึกษา สิ่งที่คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ควรพิจารณาดำเนินการคือ เน้นเรื่องที่สร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบได้จริง ที่เป็นเรื่องสำคัญบางเรื่อง แต่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพโดยรวม โดยใช้วงจรการวิจัยและผลักดันเป็นนโยบาย อาทิ เรื่องคุณภาพครู เรื่องประสิทธิภาพโรงเรียน อาจลงไปทำตั้งแต่ที่มา/การเข้าสู่ตำแหน่งผู้บริหารโรงเรียน การบริหารจัดการโรงเรียน ผู้บริหารโรงเรียนมีความสามารถมากขึ้น ลดช่องว่างระหว่างโรงเรียนคุณภาพต่ำให้ขยับมาใกล้โรงเรียนคุณภาพสูง
7. เน้น 4 คานงัด จากสถิติพบว่า มีเด็กจำนวนมากที่การเรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็น “การเรียน(ในระบบ)ครั้งสุดท้ายในชีวิต” โดยเฉพาะกลุ่มเด็กด้อยโอกาส ซึ่งทิศทางการยกระดับคุณภาพการศึกษาในประเทศต่างๆ พบว่า สามารถยกระดับคุณภาพได้ด้วยการให้ความใส่ใจในการเรียนรู้และการพัฒนากลุ่มเด็กด้อยโอกาสและเด็กไม่เก่ง ดังนั้น หนึ่งใน “คานงัด” ของคุณภาพการศึกษา ก็คือ การช่วยกลุ่มเด็กด้อยโอกาส นอกจากนั้น บทเรียนจากการปฏิรูปการศึกษาทั่วโลกยังให้ความสำคัญกับอีก 3 คานงัด ได้แก่ การช่วยครู ที่เปลี่ยนจาก training ในลักษณะ “อบรมแบบพรมน้ำมนต์” เป็น coaching and mentoring การปรับระบบวัดผล ต้องเปลี่ยนจากการสอบในลักษณะ “เดิมพันสูง” หรือเพื่อการตัดสิน ไปเป็นการประเมินเพื่อการพัฒนา การสร้างระบบข้อมูลเพื่อ monitor การศึกษา โดยสร้างระบบที่เชื่อมโยงกับห้องเรียนและโรงเรียน รู้ละเอียดในสถานการณ์ของครูและนักเรียน เพื่อให้ผู้หนุนนำช่วยเหลือสามารถรู้และช่วยได้ทันท่วงที
8. คิดใหญ่ เริ่มเล็ก การเริ่มต้นดำเนินงานอาจมุ่งไปที่กลุ่มเครือข่ายโรงเรียนจำนวนหนึ่งในแต่ละพื้นที่ ในลักษณะโครงการวิจัยและพัฒนา 3-5 ปี เพราะเมื่อเป็นโครงการวิจัยและพัฒนาจะเป็นเสมือน “ของขลัง” ไม่มีใครมารบกวนหรือล้มเลิก ซึ่งสามารถกำหนดโจทย์การวิจัยเพื่อพัฒนา จะได้ตัวแบบ และสามารถมี commitment ในการดำเนินการร่วมกันของภาคีเครือข่ายได้ดี อาจใช้จังหวัดบางจังหวัดที่มีการดำเนินงานของภาคีเครือข่ายทับซ้อนกันอยู่ และใช้จังหวัดเหล่านั้นเป็นจุดเริ่มต้นของความร่วมมือระหว่างกันครั้งใหม่
9. ใช้พื้นที่เป็นฐานของความร่วมมือ การพูดคุยเพื่อให้เกิดความร่วมมือระหว่างองค์กร ควรลงไปสร้างข้อตกลงในพื้นที่ปฏิบัติงานจริง แล้วพัฒนาไปสู่งาน/ โครงการที่จะลงนามความร่วมมือระหว่างหน่วยงานในพื้นที่ มีรายละเอียดต่างๆ ทั้งกิจกรรมที่จะทำ  งบประมาณที่จะใช้ หรือผลผลิตที่จะได้ ซึ่งการพูดคุยระดับหน่วยปฏิบัติจะมีความเป็นไปได้สูงกว่าการพูดคุยของผู้บริหารระดับนโยบายในส่วนกลาง
10. ปรับการจัดการใหม่ ที่ผ่านมาภาพที่ปรากฏให้เห็นของกระทรวงศึกษาธิการ “ใช้เงินเยอะ ได้ผลน้อย” ต้องปรับเปลี่ยนเป็น “ใช้เงินน้อย ได้ผลเยอะ” และการบริหารจัดการแบบแนวตั้ง “แท่ง” ควรปรับเปลียนเป็นการจัดการแบบแนวนอน “ตัดขวาง” ซึ่งในการปรับเปลี่ยนควรจัดทำเป็นโครงการวิจัยและพัฒนาระยะยาว เพื่อทดลองเรียนรู้รูปแบบใหม่ในการบริหารจัดการ อาจทำความร่วมมือกับ สกว. หรือ สสค. ซึ่งจะทำให้ได้ทราบปัจจัยเงื่อนไขเชิงระบบที่จำเป็นต้องเปลี่ยนจากฐานงานวิจัย


11. สร้างนโยบายใหม่บนฐานวิจัย ควรให้มีนักวิชาการของ สพฐ. และภาควิชาการ เพื่อตั้งเป็นกลุ่ม Policy Think Tank ที่มีความเป็นกลางและมีอิสระพอสมควร ในการทำหน้าที่วิจัยและพัฒนานโยบาย ทดลอง และนำเสนอนโยบายให้ สพฐ. หรือแม้แต่การวิจัยสถาบัน (Institutional Research)
12. ควรปฏิรูปทั้งโรงเรียน บทเรียนที่ได้จากความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายที่ผ่านมา พบว่า การพัฒนาเพียงบางประเด็น หรือมุ่งเน้นพัฒนาครูบางคน เมื่อโครงการจบ จะไม่ได้รับการสานต่อจากผู้บริหารโรงเรียน ดังนั้น ในการดำเนินการควรขับเคลื่อนไปพร้อมกันทั้งโรงเรียน โดยผู้บริหารและครูทุกคน อย่างต่อเนื่อง จริงจัง และมุ่งเน้นไปที่การเรียนการสอน
13. จุดประกายและตามไปเชียร์ ประเด็นที่สำคัญในการหนุนเสริมคนทำงานด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจ ก็คือ การจุดประกาย ทำให้เกิดแรงบันดาลใจในการทำงาน “ไฟติด” แล้วลงติดตามไปช่วยเชียร์ ให้เกิดความฮึกเหิมมุ่งทำสิ่งที่ได้ทำอยู่อย่างต่อเนื่องและดียิ่งขึ้น นอกจากการร่วมชื่นชม ให้กำลังใจ ให้การยอมรับในสิ่งดีที่เขาทำอยู่ หรือจะใช้สื่อสารมวลชนที่มีอยู่มาเป็นเครื่องมือเพื่อให้เกิดความภาคภูมิใจและมีแรงใจในการทำดี นอกจากนั้น การลงไปยังพื้นที่ของผู้นำระดับนโยบาย จะทำให้ได้รับทราบปัจจัยเงื่อนไขของการทำได้หรือไม่ได้ของผู้ปฏิบัติ และจะได้ข้อเสนอเพื่อนำกลับมาปรับแนวทางการขับเคลื่อนนโยบายให้สามารถสู่การปฏิบัติได้อย่างราบรื่น
14. ขับเคลื่อนด้วยพลังแห่งความชื่นชม เมื่อโรงเรียนดำเนินงานโครงการที่เป็นการปลูกฝังคุณธรรม ให้เป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องเกิดและปรากฏชัดในตัวผู้เรียน แล้วมีผู้บริหารระดับสูง ผู้นำองค์กร หรือผู้ใหญ่ในบ้านเมืองลงไปในพื้นที่ ไปเยี่ยมชมกระบวนการและผลที่เกิดขึ้น ได้ช่วยให้ครู ผู้บริหาร และบุคลากรที่เกี่ยวข้องมีความภาคภูมิใจ มีพลังแรงใจในการมุ่งมั่น ดำเนินงานต่อด้วยความมั่นใจและกระตือรือร้น ดังนั้น การให้ความสำคัญของผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ การหนุนเสริมการดำเนินงาน และการลงไปชื่นชมผลที่เกิดขึ้นที่โรงเรียนของผู้นำองค์กร จึงมีส่วนสำคัญยิ่งในกระบวนการพัฒนาบุคลากรและคุณภาพผู้เรียน
15. เปลี่ยนการบริหารจัดการครู อุปสรรคเชิงงบประมาณของการพัฒนาการศึกษาคือ งบบุคลากรแต่ละปีใช้ประมาณ 80% ส่วนงบพัฒนามีจำกัดและมีความสัมพันธ์กับคุณภาพผู้เรียนน้อย สิ่งที่น่าสนใจในการพัฒนาครูคือ ไม่ควรให้ความสำคัญในการพัฒนาครูเพียงมาตรการระยะสั้น เช่น coaching หรือ Professional Learning Community (PLC) เท่านั้น ควรให้ความสำคัญกับมาตรการระยะยาวด้วย เช่น การตั้งเป้าหมายในการลดงบประมาณจาก 80% ให้เหลือ 50% ภายในเวลา 5-10 ปี เพื่อนำงบประมาณมาพัฒนาคุณภาพ หรือการจัดทำแผนระยะยาวเกี่ยวกับบริหารจัดการครูและบุคลากร (Personnel Administration Plan) มีความจำเป็นที่ต้องสร้างความชัดเจนเกี่ยวกับสภาพปัจจุบันมีครูกี่ช่วงวัยหรือกี่รุ่น แต่ละรุ่นจะต้องเติมและพัฒนาอย่างไร รวมทั้งการรับคนที่จะเข้าไปเป็นครู และการปลดล็อคให้สามารถโยกย้ายหรือเกลี่ยครู ไปยังโรงเรียนที่ขาดแคลน ซึ่งอาจต้องมีการทำวิจัยในประเด็นเหล่านี้ก่อน


16. สร้างประสบการณ์การเรียนรู้ใหม่และให้ทางเลือกแก่ครู มีครูจำนวนมากที่ต้องการเปลี่ยนแปลงการสอนของตนเอง ให้เป็นไปในแนวทางปฏิรูปการเรียนรู้ แต่ปัญหาของครูคือ ครูนึกไม่ออกว่าการสอนที่ต้องการให้ครูเปลี่ยนไปนั้นเป็นอย่างไร เพราะไม่เคยเห็นและได้รับประสบการณ์ตรงของการเรียนรู้แบบ Active Learning  ตลอดชีวิตของการเป็นนักเรียนและการทำงานของครู ครูพบเห็นแต่การจัดการเรียนรู้แบบ Passive Learning ดังนั้น การพัฒนาครูจึงควรเสริมสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ใหม่แบบ Active Learning เพื่อครูจะได้รับรู้ถึงความหมายและคุณค่าของการเรียนรู้เช่นนี้และปรับเปลี่ยนการสอนของตนเองเพื่อศิษย์ รวมทั้งการแสวงหาตัวอย่างหรือวิธีการปฏิบัติที่ดีที่หลากหลายให้ครูได้เลือกนำไปปรับใช้ในการสอน
17. ปรับวิธีการนำนโยบายสู่การปฏิบัติ ที่ผ่านมาจะพบเห็นวิธีการนำนโยบายสู่การปฏิบัติใน pattern เดิม อาทิ จัดทำเอกสาร สั่งการ ประชุม หรือจัด Event ซึ่งพบว่าไม่ได้ผลที่น่าพอใจนัก จึงควรหานวัตกรรมของการขับเคลื่อนนโยบาย หรือแนวทาง Implement นโยบายที่สามารถคาดหวังการเปลี่ยนแปลงระดับการปฏิบัติได้จริง
18. ห้องเรียน-ครอบครัว-สังคม ร่วมพัฒนาเด็ก สิ่งที่ภาคีเครือข่ายจะร่วมด้วยช่วยพัฒนาเด็ก ไม่ควรเน้นไปที่ห้องเรียนเพียงอย่างเดียว เพราะความรู้จากห้องเรียนจะติดตัวเด็กประมาณ 1 ใน 3 จึงควรให้ความสำคัญกับพื้นที่การเรียนรู้ของเด็กอีก 2 ใน 3 ส่วน ก็คือการเรียนรู้จากครอบครัวและสังคม ดังนั้น มีความจำเป็นต้องมีเจ้าภาพที่ชัดเจนและร่วมมือกันให้มากยิ่งขึ้น
19. ใช้หนังสือเป็นเครื่องมือสร้างคน การหนุนเสริมการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชนด้วยการมีหนังสือดีๆ ให้เด็กอ่าน เพิ่มเติมหนังสือที่เด็กอยากอ่านในโรงเรียน หรือการสนับสนุนห้องสมุดมีชีวิต รวมทั้งการย่อยผลงานวิจัยที่ดีมีประโยชน์ในรูปแบบนิทรรศการให้ไปสู่โรงเรียนและการนำไปใช้ประโยชน์ในการเรียนรู้และต่อยอด
20. พัฒนาทักษะการเรียนรู้-สร้างแรงบันดาลใจ การพัฒนาคุณภาพผู้เรียนไม่ควรมุ่งเน้นเพียงผลสัมฤทธิ์ หรือคุณธรรมจริยธรรมเท่านั้น ควรให้ความสำคัญกับทักษะการเรียนรู้ด้วย ควรส่งเสริมให้ครูให้ความสำคัญในมิติการจัดการเรียนรู้ศิลปะ ดนตรี กีฬา และเสริมสร้างแรงบันดาลใจในการเรียนรู้ให้เด็ก เพราะไม่ควรมุ่งไปที่การสอนของครูเป็นหลัก ควรช่วยให้ผู้เรียนได้มีความอยากรู้อยากเรียน มีแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ที่ดี ก็จะทำให้เกิดคุณภาพที่ต้องการได้ง่าย ดังนั้น จึงควรให้ความสำคัญของการปรับเปลี่ยนความคิด เจตคติในการเรียนรู้ และสร้างแรงบันดาลใจในการเรียนรู้ของผู้เรียน ซึ่งจะเป็นหนึ่งในแรงหนุนสำคัญให้เกิดคุณภาพการศึกษา
------------------------------------------

วันอาทิตย์ที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

การศึกษาแนวพุทธ: โรงเรียนวิถีพุทธ

การศึกษาแนวพุทธ: โรงเรียนวิถีพุทธ

พิทักษ์ โสตถยาคม

ผมได้รับมอบหมายให้ศึกษาหัวข้อ “แนวคิดการศึกษาแบบพุทธ” เพื่อนำไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเพื่อนร่วมรุ่นผู้นำเพื่อการเปลี่ยนแปลงทางการศึกษาในช่วงต้นเดือนธันวาคม 2556 ผมโชคดีที่ได้หัวข้อนี้เพราะแหล่งข้อมูลอยู่ใกล้ผมมาก ก็คือ ดร.บรรเจอดพร สู่แสนสุข รองผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา สพฐ. ผู้รับผิดชอบและขับเคลื่อน “โรงเรียนวิถีพุทธ” มาตั้งแต่แรกเริ่มนับจากปลายปี 2545 ซึ่งผมมีโอกาสได้พูดคุยและได้ความรู้ความคิดเพื่อมาแบ่งปัน ดังนี้
1. ก่อร่างสร้างนวัตกรรรม โครงการโรงเรียนวิถีพุทธเกิดขึ้นในปลายปี 2545 เป็น 1 ใน 5 ของโครงการโรงเรียนรูปแบบใหม่ของกระทรวงศึกษาธิการ (โครงการโรงเรียนรูปแบบใหม่ 5 รูปแบบ ได้แก่ โรงเรียนในกำกับของรัฐ  โรงเรียนวิถีพุทธ โรงเรียนสองภาษา โรงเรียนใช้ ICT เพื่อการเรียนรู้ และโครงการนำร่องสรรหา พัฒนา และส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษด้านต่างๆ) การศึกษาแนวพุทธอยู่คู่กับสังคมไทยตลอดมา เมื่อริเริ่มโครงการโรงเรียนวิถีพุทธได้ศึกษาแนวทางของ 3 โรงเรียนที่ได้ใช้แนวพุทธเป็นหลักในการจัดการศึกษา ประกอบด้วย โรงเรียนทอสี โรงเรียนรุ่งอรุณ โรงเรียนอนุบาลหนูน้อย (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นโรงเรียนสยามสามไตร) และได้เชิญบุคลากรทั้งสามโรงเรียนมาร่วมเป็นคณะทำงาน มีพระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตโต) เป็นประธาน รวมเรียกชื่อโรงเรียนจัดการศึกษาแนวพุทธว่า “โรงเรียนวิถีพุทธ” นับแต่นั้นมา คณะทำงานนี้มีการประชุมหลายครั้งต่อเนื่อง เพื่อเรียนรู้ร่วมกันและสร้างความเข้าใจในการดำเนินงาน ต่อมามีการเปิดรับโรงเรียนวิถีพุทธรุ่นแรกของโครงการด้วยการประกาศรับสมัคร และมีโรงเรียนอาสาสมัครเข้าร่วม จำนวน 89 โรงเรียน ซึ่งโรงเรียนวิถีพุทธก็คือ “โรงเรียนระบบปกติทั่วไปที่นำหลักธรรมพระพุทธศาสนามาใช้ หรือประยุกต์ใช้ในการบริหาร การพัฒนาผู้เรียนโดยรวมของสถานศึกษา เน้นกรอบการพัฒนาตามหลักไตรสิกขาอย่างบูรณาการ” (สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา, 2548)


2. วิวัฒนาการของการศึกษาแนวพุทธ ผมได้ศึกษาเพิ่มเติมและวิเคราะห์เป็นแผนภาพ timeline ก็ทำให้เห็นได้ว่า ในสมัยก่อนการเรียนรู้ของคนไทยอยู่ใกล้ชิดพุทธศาสนาอย่างมาก เพราะอาศัยวัดเป็นสถานที่เรียนมีพระเป็นผู้สอน หรือเรียนรู้ตามสำนักวิชาชีพต่างๆ การเรียนจะเน้นเรียนรู้เพื่อรู้หนังสือ เรียนวิชาชีพ รวมทั้งบวชเรียนเพื่อศึกษาพระธรรมวินัย และพัฒนาตนเองตามหลักพุทธศาสนา และปรากฏชัดในปี พ.ศ.2418 ที่รัชกาลที่ 5 ทรงอาราธนาให้พระสงฆ์สอนหนังสือไทยในพระอารามหลวงทุกอาราม ซึ่งเมื่อแรกตั้งกระทรวงธรรมการในปี พ.ศ.2435 ก็ยังคงมีลักษณะการเรียนเช่นเดียวกับในอดีต

การเปลี่ยนแปลงที่น่าจะมีส่วนสำคัญให้การศึกษาห่างวัดและพระ เมื่อมีการกระจายโรงเรียนไปทั่วราชอาณาจักร และผู้สอนเปลี่ยนเป็น “ครู” ในปี พ.ศ.2454 แล้วสภาพการเรียนรู้ของคนไทยที่ยิ่งห่างไกลพระพุทธศาสนาตลอดมาจนรัชกาลที่ 7 ทรงมีพระราชดำริว่าการศึกษาไม่ควรแยกไปจากวัด จึงโปรดเกล้าให้เปลี่ยนชื่อจากกระทรวงศึกษาธิการเป็นกระทรวงธรรมการแทน โดยให้มีหน้าที่ดูแลทั้งการจัดการศึกษาและการศาสนา ผมคิดว่าการปรับเปลี่ยนอาจช่วยให้การศึกษาชำเลืองมองพุทธศาสนาอยู่บ้าง แต่สภาพปัญหามาปรากฏชัดในเหตุผลของการเกิดโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ในปี พ.ศ.2501 ที่ระบุว่า รัฐเน้นพุทธิศึกษาถึง 90% แต่ให้ความสำคัญกับจริยศึกษาเพียง 5% ผมคิดว่าอีก 5% ที่หายไปน่าจะเป็นสัดส่วนของหัตถศึกษา ซึ่งสะท้อนว่า การจัดการศึกษาของเราเน้นเนื้อหาวิชาการเพิ่มขึ้นๆ และให้เรื่องคุณธรรมจริยธรรมหรือคุณลักษณะที่พึงประสงค์ต่างๆ สอดแทรกและบูรณาการอยู่ในการเรียนเนื้อหาวิชาการ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับระดับความใส่ใจและการมุ่งเน้นของโรงเรียนเป็นสำคัญ แต่ด้วยสภาพปัญหาและวิกฤตการณ์คุณธรรมของคนในสังคมไทย จึงมีข้อเสนอให้นำหลักธรรมคำสอนในพุทธศาสนามาใช้อย่างจริงจังในโรงเรียน ก่อเกิดเป็นโครงการโรงเรียนวิถีพุทธในปลายปี พ.ศ.2545 และมุ่งมั่นดำเนินการต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ดังรายละเอียดต่อไปนี้
* ให้โรงเรียนลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์เพื่อยืนยันการร่วมเป็นโรงเรียนวิถีพุทธ

          3. ฐานคิดโรงเรียนวิถีพุทธ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา หรือ “ไตรสิกขา” ซึ่งเป็นหัวใจขอพระพุทธศาสนา มาเป็นหลักในการดำเนินการในทุกกิจกรรมในโรงเรียน อาจใช้คำพูดให้ง่ายคือ กิน-อยู่-ดู-ฟังให้เป็น อาทิ ศีล ก็คือข้อปฏิบัติปกติของมนุษย์ ซึ่งก็ไม่ชอบให้ใครว่า ไม่ชอบให้ใครมาทำให้เจ็บ ดังนั้น จึงต้องคิดพิจารณาเอาใจเขามาใส่ใจเรา ไม่ทำร้ายใคร และคำนึงถึงคนอื่นอยู่เสมอ เช่น การจัดบอร์ด/นิทรรศการ ก็คำนึงถึงประโยชน์ของผู้อ่านในแต่ละช่วงวัย หรือการเลือกใช้วัสดุอุปกรณ์ก็ใช้อย่างใส่ใจและเป็นช่วยลดโลกร้อน ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า โรงเรียนวิถีพุทธมุ่งให้เด็กเยาวชนและบุคลากรในโรงเรียน “ยึดมั่นในสิ่งที่ถูกต้องชอบธรรม (Integrity) ดังที่กล่าวไว้ในบทความของศาสตราจารย์ธานินทร์ กรัยวิเชียร องคมนตรี
เพื่อให้มีความกระจ่างชัดในไตรสิกขา ผมจึงศึกษาพจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตโต) ได้ทราบความหมายของสิกขา 3 หรือไตรสิกขา ว่าคือ “ข้อที่จะต้องศึกษา, ข้อปฏิบัติที่เป็นหลักสำหรับศึกษา คือ ฝึกหัดอบรมกาย วาจา จิตใจ และปัญญาให้ยิ่งขึ้นไปจนบรรลุจุดหมายสูงสุดคือพระนิพพาน (1) อธิสีลสิกขา: สิกขาคือศีลอันยิ่ง, ข้อปฏิบัติสำหรับฝึกอบรมในทางความประพฤติอย่างสูง (training in higher morality) (2) อธิจิตตสิกขา: สิกขาคือจิตอันยิ่ง, ข้อปฏิบัติสำหรับฝึกอบรมจิตเพื่อให้เกิดคุณธรรมเช่นสมาธิอย่างสูง (training in higher mentality) (3) อธิปัญญาสิกขา: สิกขาคือปัญญาอันยิ่ง, ข้อปฏิบัติสำหรับฝึกอบรมปัญญาเพื่อให้เกิดความรู้แจ้งอย่างสูง (training in higher wisdom) เรียกง่ายๆ ว่า ศีล สมาธิ ปัญญา (morality, concentration and wisdom) นอกจากนั้นพจนานุกรมนี้ยังระบุไว้ว่า ไตรสิกขา ยังเกี่ยวข้องอีก 2 ส่วน คือ อริยสัจจ์ 4 และมรรคมีองค์ 8 จึงขอยกมาไว้ ณ ที่นี้ด้วย ดังนี้



          4. รูปธรรมของโรงเรียนวิถีพุทธ ในระยะแรกมี KPI ประมาณ 50 ตัว ในด้านกายภาพ การเรียนการสอน และพฤติกรรมพื้นฐาน(วิถีชีวิต) ต่อมาปรับเหลือ 29 ตัว นำไปใช้ในการพิจารณาเลือกโรงเรียนวิถีพุทธชั้นนำ หรือการประเมินผลการปฏิบัติราชการโดย กพร. หากจะสังเกตทั่วๆไป จะเห็นว่าโรงเรียนจะมีกิจกรรมวันพระ (หรือวันที่โรงเรียนกำหนดขึ้นในแต่ละสัปดาห์) คือ ครูใส่เสื้อขาว มีกิจกรรมสวดมนต์ยาว รับประทานมังสวิรัติ ทำบุญใส่บาตร ฟังเทศน์ เป็นการกระทำด้วยความเข้าใจเหตุและผลว่า ทำไปทำไม เพราะเหตุใด ถึงแม้จะถูกมองว่าสิ่งเหล่านี้เป็น “พิธีกรรม” แต่ก็ถือว่ามีความจำเป็น และเป็นตัวช่วย สำหรับผู้ที่ยังไม่สามารถเข้าใจและบรรลุจุดมุ่งหมายได้ในทันที ซึ่งบรรยากาศ ปัจจัย และเงื่อนไขดังกล่าว จะช่วยหล่อหลอมให้จิตใจสงบ พิจารณาเรื่องราวต่างๆ ด้วยใจอันใคร่ครวญได้ดียิ่งขึ้น แม้จะเป็น “เปลือกของพุทธ” ก็ไม่ใช่สิ่งที่ต้องปฏิเสธ แต่ต้องไม่หลงงมงาย และเรียนรู้ให้ถึงแก่นแท้ของไตรสิกขา

          5. การสร้างความเข้าใจในโครงการโรงเรียนวิถีพุทธให้ผู้เกี่ยวข้อง จะเน้นให้ “เห็นถึงคุณค่า” ก่อน เพราะบุคลากรที่เกี่ยวข้องทุกคนเป็นชาวพุทธเช่นกัน ทั้งครู ผู้บริหารโรงเรียน ศึกษานิเทศก์ ฯลฯ ทุกคนเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนชาวพุทธ ซึ่งจะมีความรู้ความเข้าใจในศาสนาที่ตนเองนับถือมากบ้างน้อยบ้าง ดังนั้น การร่วมดำเนินงานโครงการโรงเรียนวิถีพุทธ จึงให้ความสำคัญของการเรียนรู้และพัฒนาตนเอง โดยมีตัวชี้วัด (KPI) ของโครงการเป็นกรอบและเครื่องมือของการดำเนินงาน และการขับเคลื่อนงานจะสื่อสารการดำเนินงานผ่านศึกษานิเทศก์ผู้ประสานงานประจำสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและเว็บไซต์โครงการอย่างต่อเนื่องตลอดมา หากสนใจรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการโรงเรียนวิถีพุทธ โปรดศึกษาที่เว็บไซต์นี้ http://www.vitheebuddha.com/main.php

         เมื่อศึกษามาถึงตรงจุดนี้ ทำให้เห็นถึง “เป้าหมาย” และ “วิธีการ” ของการศึกษาแนวพุทธ ที่การศึกษาไทยควรจะใช้เป็นหลักในการจัดการศึกษา ซึ่งเป็นภูมิปัญญาและรากเหง้าของการศึกษาและสังคมไทย ผมนึกถึงสำนวนไทยได้ 2 สำนวนคือ “ไก่ได้พลอย” เราอยู่กับสิ่งที่มีค่า แต่ไม่รู้คุณค่า จึงไม่เกิดประโยชน์แต่อย่างใด และ “ใกล้เกลือกินด่าง” อยู่ใกล้สิ่งที่ดีมีคุณค่า แต่มองไม่เห็นคุณค่านั้น กลับไปหลงชื่นชมกับสิ่งอื่นที่ด้อยกว่า และผมคิดว่าวิถีพุทธนี้เป็นคำตอบหลัก/ คำตอบหนึ่ง ที่จะช่วยให้ความห่วงใยที่อาจารย์ชัยวัฒน์ ถิระพันธุ์ ที่กล่าวไว้ว่า “ความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีภายนอกมีมากเพียงใด เราต้องพัฒนาเทคโนโลยีภายในจิตใจคนให้เท่าทัน ...ต้องมีความฉลาดทางจิตวิญญาณ (Spiritual Intelligent) ...ต้องสร้างสติสัมปชัญญะ (Sensibility) ให้เกิดขึ้น” ซึ่งผมเห็นถึงความสอดคล้องกันอย่างยิ่งของแนวพุทธและธรรมชาติของ System Thinking ก็คือ สรรพสิ่งทั้งหลายล้วนมาแต่เหตุ และสรรพสิ่งเชื่อมโยงกันและเป็นอนิจจัง ซึ่งการได้ศึกษาค้นคว้าครั้งนี้ นอกจากจะทำให้ได้เรียนรู้การศึกษาแนวพุทธแล้ว ยังทำให้ผมอยากค้นหาความหมายและสร้างความเข้าใจในวิถีพุทธให้มากยิ่งขึ้นอีกด้วย

บรรณานุกรม
กระทรวงศึกษาธิการ. (2556). 120 ปี กระทรวงศึกษาธิการกับการศึกษาไทย. กรุงเทพมหานคร:       
           สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ.
ธานินทร์ กรัยวิเชียร. (2553). บทความพิเศษ เรื่อง “การยึดมั่นในสิ่งที่ถูกต้องชอบธรรม”. นนทบุรี: สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน.
บรรเจอดพร สู่แสนสุข. (2556). โรงเรียนวิถีพุทธ. สัมภาษณ์. วันพุธที่ 30 ตุลาคม 2556.    
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตโต). (2553). พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม. นนทบุรี:                บริษัท เอส.อาร์.พริ้นติ้ง แมส โปรดักส์ จำกัด
สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา. (2555). สารานุกรมวิชาชีพครู เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธันวาคม 
           2555. กรุงเทพมหานคร: สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา.
สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา. (2548). แนวทางการดำเนินงานโรงเรียนวิถีพุทธ. 
           กรุงเทพมหานครโรงพิมพ์องค์การรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์ (ร.ส.พ.).

วันพุธที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2556

รู้เขา (เกาหลี)... รู้เรา

รู้เขา (เกาหลี)...รู้เรา...

พิทักษ์ โสตถยาคม

ผมได้เดินทางไปเรียนรู้เรื่องการจัดการศึกษาของเกาหลี ณ ประเทศเกาหลีใต้ ร่วมกับเพื่อนร่วมรุ่น และพี่เลี้ยง (Mentor) หลักสูตรผู้นำเพื่อการเปลี่ยนแปลงทางการศึกษา (Leader for Education Change; LEC) หรือ นปศ.รุ่นที่ 1 ระหว่างวันที่ 19-22 ตุลาคม 2556 คำถามที่ผมถามตนเองคือ เราได้เรียนรู้อะไร มีประโยชน์เพียงใด ในการได้ร่วมกิจกรรมครั้งนี้ ซึ่งประเด็นที่รับรู้ในความคิดมี 3 ประเด็น ดังนี้
1. เปลี่ยนความทุกข์เข็ญเป็นแรงผลักดันการพัฒนา คนเกาหลีมีความเจ็บปวดรวดร้าวจากการเข้าครอบครองของญี่ปุ่น ความสูญเสีย ความแค้น และการได้เอกราชกลับคืน ดังจะเห็นได้จากเรื่องเล่าประวัติศาสตร์และหลักฐานร่องรอยที่พานพบ ส่งผลให้ชนชาติเกาหลีมี “แรงฮึด” มีกำลังแรงใจที่แข็งแกร่ง ในการสร้างความเข้มแข็งให้กับชาติบ้านเมืองของตนอย่างยิ่ง แม้เราจะไม่ได้อยู่ในบรรยากาศและบริบทนั้น แต่ก็คาดได้ว่า คนในชาติเขาคงจะร่วมด้วยช่วยกัน ผนึกกำลังกันเพื่อความก้าวหน้าของประเทศอย่างมาก ซึ่งคนในชาติอื่นที่ไม่ผ่านร้อนผ่านหนาวเช่นเกาหลี ก็คงยากที่จะสร้างชาติจากแรงขับเคลื่อนเพื่อความอยู่รอดและการร่วมมือรวมพลังแบบจริงจังเช่นนั้นได้

2. องค์กรตอบโจทย์ประเทศ องค์กรที่เราได้ไปสัมผัส จำนวน 5 องค์กร ได้แก่ (1) National Institute for Lifelong Education (NILE) (2) Korea University College of Education (3) Pusan National University (PNU) และ APEC Learning Community Builders (ALCoB) (4) Busan International High School และ(5) Korea Science Academy of KAIST (KSA) ถือว่าเป็นเครื่องมือขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็นการตั้งความมุ่งหวังการเรียนรู้ตลอดชีวิตและดำเนินการเพื่อมุ่งสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ อาทิ ภาครัฐจัดเตรียมระบบ “เก็บแต้มการเรียนรู้” (Academic Credit Bank System) ของ NILE เพื่อเอื้ออำนวยการเรียนรู้ตอบสนองผู้เรียนรายบุคคล เติมเต็มการเรียนรู้ให้ครูช่วงปิดเรียน (เฉพาะเดือนที่ 7 และ 12) ทั้งเพื่อคงสถานะครู (Qualification Training) และตอบสนองความสนใจเฉพาะของครู (Job Skill Training) มีกิจกรรมพัฒนาครูด้วย Action Learning, Field Study, Blended Learning, Workshop เน้น Community of Practice & Community Learning การเป็นผู้นำเครือข่ายระหว่างประเทศของ APEC Learning Community Builders (ALCoB) เป็นการทำงานแบบ Public-private Partnership (PPP) มีนัยสำคัญมากของบทบาทประเทศเกาหลีใต้ในภูมิภาคนี้ รวมทั้งการกำหนดทิศทางของโรงเรียนเพื่อปั้นบุคลากรเฉพาะทางเพื่อความก้าวหน้าทางด้านวิทยาศาสตร์ และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของประเทศนี้

3. เสริมสร้างกำลังภายใน ภาพที่เห็นจากแง่มุมต่างๆ ของประเทศเกาหลีใต้ ถูกสลับด้วยภาพของประเทศไทยนับครั้งไม่ถ้วนตลอดระยะเวลาของการศึกษาดูงาน ตระหนักรู้ว่าบ้านเราต้องพัฒนา เห็นว่าการศึกษาและการเรียนรู้เป็นรากฐานสำคัญยิ่งที่จะเป็นพลังสร้างการเปลี่ยนแปลง และก็เห็นว่า ความรู้สึกร่วมของสังคมที่ต้องการการเปลี่ยนแปลงมีส่วนสำคัญยิ่ง พอๆ กับการร่วมมือรวมพลังของประชาสังคมกับผู้นำเพื่อชีวิต สังคม และเศรษฐกิจที่ดีขึ้น ผมรู้สึกว่ามีกำลังภายในเพิ่มขึ้น เหมือนมี “พลังงานศักย์” สะสม พร้อมเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเปลี่ยนแปลงทางการศึกษา นอกจากนั้น การร่วมเดินทางไปด้วยกันของเพื่อนร่วมรุ่นครั้งนี้ ทำให้ได้มิตรภาพ ความสนิทสนมกลมเกลียว และได้เห็นศักยภาพของกันและกันมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะทำให้การประสานเครือข่ายและการส่งต่อความมุ่งมั่นตั้งใจถึงกันได้ง่าย เป็นเพื่อนร่วมทางของการพัฒนา เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้น อย่างน้อยที่สุดก็เปลี่ยนแปลงความคิดและการกระทำของตัวเราเอง       
เมื่อมองการพัฒนาประเทศและการศึกษาของประเทศเกาหลีใต้ ทำให้นึกถึง “สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา” ดังคำกล่าวของ ศ.นพ.ประเวศ วะสี ผมคิดว่านี่คือรูปธรรมของความสำเร็จของการขับเคลื่อนการพัฒนาด้วยพลัง 3 ประสานของ 3 พลัง ได้แก่ พลังทางสังคม พลังทางปัญญา และพลังอำนาจรัฐ ดังนั้น การสร้างการเปลี่ยนแปลงทางการศึกษาของบ้านเรา นอกจากต้องขบคิดถึงพลังทั้งสามนั้นแล้ว ยังต้องสร้างความสัมพันธ์อันดี ความเข้าใจ ความฮึกเหิมใจของผู้เกี่ยวข้องทุกส่วน เพื่อเป็นพลังร่วมเปลี่ยนผ่านไปสู่สิ่งที่ดีกว่า
-----------------------------------------

วันอังคารที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2556

มหกรรม ศธ.: 3 เดือน 3 งาน

มหกรรม ศธ.: 3 เดือน 3 งาน
พิทักษ์ โสตถยาคม

วันนี้ (8 ต.ค. 2556) ผมได้รับมอบให้เป็นตัวแทนสำนักไปประชุมติดตามความก้าวหน้าการเตรียมการจัดประชุมทางวิชาการ “นวัตกรรมการสอนภาษา การคิดวิเคราะห์ และการสื่อสาร” ณ ห้องประชุมราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ การประชุมวันนี้นับเป็นครั้งที่ 2 ของการประชุมเตรียมงาน ซึ่งในส่วนของ สพฐ. ก็มีผู้แทนเข้าร่วมต่อเนื่องและเตรียมข้อมูลมารายงานความก้าวหน้าแล้ว ได้แก่ ดร.ชวลิต โพธิ์นคร ผอ.สพค. น.ส.นิจสุดา อภินันทาภรณ์ ผอ.สถาบันภาษาไทย สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา และ ดร.ยุวดี อยู่สบาย ผอ.กลุ่มส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพครูและนักเรียน สถาบันภาษาอังกฤษ
การประชุมวันนี้มีปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (นางสุทธศรี วงษ์สมาน) เป็นประธาน มีผู้เข้าร่วมประชุมจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประมาณ 50 คน ประธานได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบว่า ในช่วงไตรมาสแรกของปีงบประมาณนี้ กระทรวงศึกษาจะมีงานประชุมใหญ่ 3 งาน คือ
งานที่ 1 มหกรรม “นวัตกรรมแห่งภาษา” วันที่ 30-31 ตุลาคม 2556 ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ เซ็นทรัลเวิลด์ ราชประสงค์
งานที่ 2 มหกรรม ICT เพื่อการเรียนการสอน วันที่ 13-14 พฤศจิกายน 2556 ณ โรงแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ แจ้งวัฒนะ
งานที่ 3 มหกรรมการศึกษาไทยก้าวไปข้างหน้า วันที่ 26-29 ธันวาคม 2556 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
ดังนั้น ที่ประชุมจึงพิจารณาความเหมาะสมของ (ร่าง) คำสั่งกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการจัดมหกรรมฯ โดยจะมีคณะกรรมการ 4 ฝ่าย ได้แก่ (1) ฝ่ายบริหาร มีรองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (นางผานิตย์ มีสุนทร) เป็นประธาน มี ผอ.สำนักอำนวยการ สป.เป็นกรรมการและเลขานุการ (2) ฝ่ายวิชาการและนิทรรศการ มีรองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (น.ส.จุไรรัตน์ แสงบุญนำ) เป็นประธาน มี ผอ.สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ สป. เป็นกรรมการและเลขานุการ (3) ฝ่ายประชาสัมพันธ์ มีผู้ช่วยปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (นายอดินันท์ ปากบารา) เป็นประธาน มี ผอ.สำนักอำนวยการ สป. เป็นกรรมการและเลขานุการ และ(4) ฝ่ายติดตามประเมินผล มีรองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (นายศุภกร วงศ์ปราชญ์) เป็นประธาน มี ผอ.สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สป. เป็นกรรมการและเลขานุการ ซึ่งที่ประชุมได้มีการเสนอแนะให้ปรับเปลี่ยนกรรมการบ้างในบางคณะ
นอกจากนั้น ที่ประชุมยังได้พิจารณารูปแบบกิจกรรมที่ผู้อำนวยการสำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ สป. นำเสนอ กิจกรรมประกอบด้วยการบรรยายพิเศษโดย รมว.ศธ. การอภิปรายโดยผู้ทรงคุณวุฒิ การเสวนาห้องประชุมย่อย การนำเสนอองค์ความรู้ด้านภาษา การใช้ภาษาในการประกอบอาชีพ การศึกษานอกโรงเรียนกับภาษาอาเซียน การประกวดความสามารถนักเรียน นิทรรศการด้านภาษา การสาธิตการสอบวัดความสามารถทางภาษา และบูธแสดงสื่อการสอนภาษา ซึ่งแต่ละหน่วยงานได้นำเสนอความก้าวหน้าของการเตรียมการ ในส่วนของ สพฐ.ได้ระบุว่าได้เตรียมนำเสนอองค์ความรู้ 5 ส่วน ได้แก่ ภาษาไทย ภาษาจีน ภาษาอังกฤษ ภาษาประเทศใน EU และภาษามาลายู ซึ่งภาษาไทยจะเน้นความภูมิใจในภาษาไทย การอ่านรู้เรื่อง ทวิภาษา BBL และ Montessori ส่วนภาษาอังกฤษจะเน้น Best Practices ของการจัดการเรียนการสอนรูปแบบต่างๆ อาทิ Phonics, การจัดการเรียนสองภาษา, English Program(EP), Mini English Program(MEP), English Integrated Study(EIS), การใช้ Teacher’s kits สำหรับครูไม่จบเอกภาษาอังกฤษ เป็นต้น ซึ่งที่ประชุมได้เสนอกิจกรรมต่างๆ เพิ่มเติม และเสนอให้มีองค์กร หน่วยงานต่างๆ เข้ามาร่วมจัดเพิ่มขึ้น ซึ่งประธานได้นัดประชุมครั้งต่อไปในวันที่ 11 ตุลาคม 2556 เวลา 13.30 น. 

ในช่วงท้ายของการประชุม ผมได้เสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับการประชาสัมพันธ์และประโยชน์ของการจัดมหกรรมเพื่อขับเคลื่อนนโยบาย 2 ประเด็นคือ
(1) การกำหนดกิจกรรมในพื้นที่ต่อเนื่อง ควรมีการกำหนดแนวทางการใช้ประโยชน์จากการจัดมหกรรมเพิ่มเติม โดยเฉพาะการเพิ่มคุณค่าและประโยชน์ของการจัดงานต่อเด็กเยาวชน และประชาชนส่วนรวม เช่น ในการประชาสัมพันธ์งานครั้งนี้ อาจระบุว่า หลังจากงานวันที่ 30-31 ตุลาคมนี้ผ่านไป 1 สัปดาห์ สถานศึกษาทุกแห่ง ทุกสังกัด ทั่วประเทศ จะจัดโปรแกรม/ กิจกรรม/ ค่าย เพื่อให้บริการทางวิชาการแก่ชุมชน โดยฝีมือนักเรียน/นักศึกษา เช่น นักเรียน ชั้น ม.3 ในโรงเรียนมัธยมจัดทำค่ายนักคิดเพื่อให้บริการน้องๆ ประถมศึกษาในชุมชนรอบโรงเรียน หรือนักเรียน ชั้น ป.6 จัดกิจกรรมละครสร้างสรรค์แก่เด็กด้อยโอกาส หรือนักเรียนชั้น ม.6 บำเพ็ญประโยชน์ช่วยครูระดับประถมศึกษาจัดซ่อมเสริมให้เด็กที่มีปัญหาการอ่าน เป็นต้น อาจตั้งเป็นประเด็นประชาสัมพันธ์ว่า “1 สถานศึกษา 1 กิจกรรมบริการชุมชน” ซึ่งนอกจากจะทำให้วิธีปฏิบัติที่ดี/ ภูมิปัญญาของครู ที่มีอยู่เดิมได้รับความสำคัญ และเป็นการต่อยอดจากฐานเดิมของครูและโรงเรียนแล้ว ยังเป็นการปลุกพลังของการมีส่วนร่วมเพื่อขับเคลื่อนนโยบายไปพร้อมกันด้วย
(2) การสร้างระบบคลังความรู้เพื่อขับเคลื่อนนโยบาย ควรมีระบบ ICT ฐานข้อมูล หรือเว็บไซต์รองรับ Clip VDO ในทุกการเสวนา ทุกปาถกฐา ทุกเทคนิควิธีหรือเคล็ดลับของการพัฒนาคุณภาพการศึกษา เพื่อให้เป็นมหกรรมหรือนิทรรศการ “ค้างปี” ใครสนใจเมื่อไรก็สามารถเข้ามาศึกษาหาความรู้ได้ทุกที่ ทุกเวลา

-------------------------------

วันพฤหัสบดีที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2556

พลังเครือข่ายการเรียนรู้ศตวรรษที่ 21

พลังเครือข่ายการเรียนรู้ศตวรรษที่ 21

พิทักษ์ โสตถยาคม
นักวิชาการศึกษา สานักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา สพฐ.
และพิธีกรประจาวันการประชุมครั้งนี้

การจัดประชุม “พลังเครือข่ายการเรียนรู้สู่ศตวรรษที่ 21” วันที่ 30-31 มีนาคม 2555 ณ โรงแรมรามา การ์เด้นส์ กรุงเทพฯ จัดขึ้นเพื่อนำเสนอข้อค้นพบจากชุดโครงการวิจัยและพัฒนาเครือข่ายเชิงพื้นที่เพื่อหนุนเสริมการพัฒนาการเรียนรู้ มีวัตถุประสงค์ 2 ประการคือ (1) เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์และความรู้จากผลการวิจัย และ(2) เพื่อพัฒนาและสานสัมพันธ์ของเครือข่ายทั้งส่วนกลางและพื้นที่เพื่อร่วมกันสนับสนุนการยกระดับคุณภาพการเรียนรู้ มี 4 หน่วยงานร่วมจัด ได้แก่ สานักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) สานักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์ และสถาบันรามจิตติ กลุ่มเป้าหมายคือ ภาคีเครือข่ายภาคส่วนต่างๆ และนักวิจัย ประมาณ 300 คน จากรายชื่อผู้เข้าร่วมประชุมจริงทั้ง 2 วัน มีจำนวน 480 คน ประกอบด้วย สพฐ. (สพป./สพม./ส่วนกลาง) จำนวน 184 คน, นักวิจัย 15 จังหวัด จำนวน 165 คน, แขกรับเชิญจากมหาวิทยาลัยและศธ. จำนวน 67 คน, สกว. จำนวน 21 คน, มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์ จำนวน 19 คน, วิทยากร จำนวน 18 คน และสถาบันรามจิตติ จำนวน 6 คน ซึ่งคาดหวังว่าผู้เข้าร่วมประชุมจะได้ประกายความคิดและแรงบันดาลใจในการระดมสรรพกาลังและสร้างการเปลี่ยนแปลงในแต่ละพื้นที่เพื่อยกระดับคุณภาพการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชน กิจกรรมการประชุมทั้ง 2 วัน เป็นดังนี้

วันที่ 30 มีนาคม 2555
 วีดิทัศน์: พลังเครือข่ายการเรียนรู้สู่ศตวรรษที่ 21  เปิดประชุม: ศ.ดร.สวัสดิ์ ตันตระรัตน์ ผู้อานวยการ สกว.  มุมมอง สกอ.: ดร.วราภรณ์ สีหนาท รองเลขาธิการ กกอ./ ผู้แทน รมว.

 พลังเครือข่าย: บทบาทมหาวิทยาลัยกับการพัฒนาโรงเรียนและเครือข่ายในพื้นที่
ผู้เล่าประสบการณ์: (1) ผศ.นอ.ดร.ธงชัย อยู่ญาติวงศ์ ม.แม่ฟ้าหลวง (2) ผศ.ดร.เรขา อรัญวงศ์ มรภ.กำแพงเพชร (3) ดร.ฤทธิไกร ไชยงาม ม.มหาสารคาม (4) ดร.สุมาลี พงศ์ติยะไพบูลย์ มรภ.เพชรบุรี (5) ผศ.ดร.ประโยชน์ คุปต์กาญจนกุล มรภ.สุราษฎร์ธานี ผู้อภิปรายสะท้อนมุมมอง: (1) ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร (2) ศ.ดร.ประสาท สืบค้า (3) รศ.ดร.สุธีระ ประเสริฐสรรพ์ ผู้ดำเนินรายการ: ดร.เจือจันทร์ จงสถิตอยู่

 พลังการเรียนรู้: การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับครู&เด็ก
ผู้เล่าประสบการณ์: (1) ครูอรุณวรรณ กลั่นกลึง ร.ร.ท้ายหาด (2) ครูสุรนันท์ พันธ์สมบูรณ์ ร.ร.บ่อแก้ววิทยา (3) ครูเพ็ญศรี ใจกล้า ร.ร.เชียงยืนพิทยาคม (4) ครูกัมปนาท ดวนจันทึก ร.ร.เมืองยางศึกษา (5) ครูสมนึก ชูปานกลีบ ร.ร.วัดเพรียง (วิเทศราษฎร์วัฒนา) ผู้อภิปรายสะท้อนมุมมอง: (1) ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช (2) ศ.สุมน อมรวิวัฒน์ (3) รศ.ไพโรจน์ คีรีรัตน์ ผู้ดำเนินรายการ: ดร.เลขา ปิยะอัจฉริยะ

 key messages จากเวทีกับบทบาทสนับสนุนของ สพฐ.: นายอนันต์ ระงับทุกข์ รองเลขาธิการ กพฐ.

วันที่ 31 มีนาคม 2555
 ปาฐกถาพิเศษ “ก้าวต่อไปของเครือข่ายการเรียนรู้เพื่อเด็กและเยาวชนไทยสู่ศตวรรษที่ 21”: ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช  สรุปภาพรวมและโอกาสในอนาคต: ดร.สีลาภรณ์ บัวสาย  บทเรียนจากการปฏิบัติและการสานต่อ “การสร้างเครือข่ายในพื้นที่เพื่อขับเคลื่อนคุณภาพการศึกษา”: ทีม Facilitator โครงการครูเพื่อศิษย์ มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์


สาระสำคัญจากกิจกรรม แบ่งเป็น 10 ประเด็น ดังนี้


1. คุณภาพการศึกษาไทย โดย ศ.ดร.สวัสดิ์ ตันตระรัตน์ ผู้อำนวยการ สกว. ได้กล่าวในช่วงเปิดการประชุม ดังนี้ ปัญหาคุณภาพการศึกษาสะท้อนให้เห็นได้จากผลการทดสอบต่างๆ เช่น PISA อยู่อันดับ 50 จาก 65 ประเทศ, สอบ O-NET ได้คะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ 30% “30%” หมายความว่า มีนักเรียนครึ่งหนึ่งของนักเรียนทั้งหมดได้คะแนนน้อยกว่า 30 คะแนน และอีกครึ่งหนึ่งได้มากกว่า 30 คะแนน, และได้ยินมาว่า ผลการสอบ TOEFL ของคนไทยได้คะแนนน้อยกว่าคนลาว รากของปัญหามาจาก (1) ความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องของครูในการสอน Student-centered (2) การเลื่อนตำแหน่งของครู ไม่ได้ใช้ผลสัมฤทธิ์เด็ก แต่ใช้งานวิจัย/ผลงานวิชาการ ซึ่งเป็น load งานพิเศษของครู ทำให้ความเอาใจใส่ของครูที่มีต่อเด็กน้อยลง (3) ปัญหาคัดลอกผลงานผู้อื่น (Plagiarism) ที่มีอยู่ในหลายวงการ ซึ่งในวงการศึกษา เช่น นักเรียนคัดลอกงานจาก Internet แบบ cut & paste, นักศึกษาจ้างคนอื่นทำวิจัย, ครูอาจารย์จ้างทำผลงานวิชาการ (4) การวางหลักสูตรไม่เหมาะสม เช่น ไม่สอนไวยกรณ์ภาษาอังกฤษ แต่ให้เด็กเรียนแบบธรรมชาติ ให้เขียนตามความคิด/ Idea ของเด็ก โดยไม่ให้ความสนใจว่าจะถูกต้องตามโครงสร้างหรือไวยกรณ์หรือไม่ (5) การใช้ ICT ของนักเรียน ส่งผลให้เกิดปัญหาติดเกมและติด ICT (6) ปัญหายาเสพติดและการพนัน เมื่อเกิดปัญหาเช่นนี้จะโทษใคร?? ดูเหมือนจะไม่มีเจ้าภาพรับผิดชอบโดยตรง ปัญหาจึงถูกปล่อยปละไป แม้จะมีข่าวที่สร้างความหวังว่า เด็กไทยได้เหรียญทอง/ ชนะการแข่งขันระดับนานาชาติ แต่ก็ไม่มากพอ ในส่วนของ สกว.ได้นำการวิจัยไปปรับใช้ในแวดวงการศึกษา เช่น ที่จังหวัดยโสธร สตูล เด็กได้ตั้งโจทย์และค้นหาคำตอบเอง, มีโครงการยุววิจัยทั้งยุววิจัยยางพาราและยุววิจัยประวัติศาสตร์, มีโครงการครูเพื่อศิษย์โดยมูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์, โครงการ LLEN เกิดขึ้นจากการมองเห็นปัญหา และโอกาสในการระดมทุนในพื้นที่ จึงสนับสนุนให้สถาบันอุดมศึกษา 15 มหาวิทยาลัยที่อยู่ใน 15 จังหวัด เป็นแกนหลักในการดาเนินการ และได้ดาเนินการมา 2 ปี จนเกิดการประชุมครั้งนี้ ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง สพฐ. สกว. มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์ สถาบันรามจิตติ ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ดร.เจือจันทร์ จงสถิตอยู่ และเครือข่ายต่างๆ ร่วมกันจัดขึ้น


2. ความเชื่อมโยงกับนโยบาย สกอ. โดย ดร.วราภรณ์ สีหนาท รองเลขาธิการ กกอ. ได้กล่าวชื่นชมในผลการดำเนินงาน และเห็นว่าสอดคล้องกับทิศทางของ สกอ.ที่สนับสนุนให้มหาวิทยาลัยเป็นแกนหลัก ตามแผนอุดมศึกษาระยะยาว ซึ่งมีกลุ่มเครือข่ายมหาวิทยาลัยและดำเนินการตามยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนประเทศ เช่น โครงการ 1 มหาวิทยาลัย 1 จังหวัด


3. พลังเครือข่าย: บทบาทมหาวิทยาลัยกับการพัฒนาโรงเรียนและเครือข่ายในพื้นที่ เป็นการเสวนาเกี่ยวกับวิธีการสร้างเครือข่ายในโครงการ LLEN และแนวทางการพัฒนาต่อไปของแต่ละมหาวิทยาลัย ดำเนินการเสวนาโดย ดร.เจือจันทร์ จงสถิตอยู่ ผู้ประสานงานชุดโครงการ LLEN (1) วิธีการสร้างเครือข่าย มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงใช้การเข้าหา ไปขอความร่วมมือจากองค์กรเครือข่ายต่างๆ โดยทำหนังสือไปขอช่วย เชิญมารับประทานอาหารและหารือร่วมกัน ประสานเครือข่ายจากที่มหาวิทยาลัยมีสายสัมพันธ์เดิมอยู่ก่อนแล้ว เช่น ผู้แทน CP เป็นกรรมการมหาวิทยาลัยก็ดึงเข้ามาร่วมในโครงการ หรือสำนักงานฮั่นปั้นที่ตั้งอยู่ที่มหาวิทยาลัยก็ดึงเข้ามาช่วยในการจัดค่ายภาษาจีน อังกฤษ และICT, มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรีดำเนินการตามปรัชญา “คลังสมองของท้องถิ่น” ของมหาวิทยาลัย หาเครือข่ายภายในพื้นที่ก่อน ได้ประสานกับนายอำเภอเมือง และร่วมกันพัฒนาโรงเรียนขนาดเล็ก โดยชูประเด็นที่เป็นมรดกล่าค่าของท้องถิ่น คือ สกุลช่างเมืองเพชร นำมาวิเคราะห์สู่การจัดการเรียนรู้ด้วยความร่วมมือของภูมิปัญญาท้องถิ่น, มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานีสร้างเครือข่ายกับโรงเรียนขนาดเล็กด้วยการเชิญชวนและให้อาสาสมัคร เน้นให้นักวิจัย “ลงพื้นที่ๆ” ส่วนเครือข่ายนอกโรงเรียนได้เชิญชมรมนักศึกษาเข้าร่วมพัฒนา เชิญชวนอาจารย์ลงพื้นที่ด้วยกัน เริ่มต้นจากกลุ่มแกนนำที่เข้าใจกลุ่มเล็กๆ ก่อน เช่น ชวนกลุ่มคุณป้ามาแจกหนังสือเด็ก ปรากฏว่าคุณป้าไม่เพียงแต่แจกหนังสือ ยังสอนการอ่าน เลี้ยงข้าว และให้การบ้านเด็กๆ ไปปฏิบัติเพื่อจะกลับมาตรวจการบ้านในครั้งหน้า, มหาวิทยาลัยราชภัฎกำแพงเพชรมุ่งเครือข่ายการเรียนรู้ร่วมกันของกลุ่มครูวิทยาศาสตร์ ต่อยอดชมรมครูวิทยาศาสตร์ เน้นให้คิด ให้เรียนรู้จากครูเก่ง ให้เรียนรู้ผ่านการลงมือทากิจกรรมและเตรียมการสอนสาหรับนำไปใช้ได้จริงในการสอน, ส่วนมหาวิทยาลัยมหาสารคามได้เครือข่ายด้วยการติดต่ออย่างไม่เป็นทางการระหว่างอาจารย์มหาวิทยาลัย อบจ. และโรงเรียน เกิดการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน (2) ก้าวต่อไปของมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จะเดินต่อตามปรัชญา “ปลูกป่า สร้างคน” ของมหาวิทยาลัยโดยจะใช้ประโยชน์สิ่งที่มีอยู่ในพื้นที่ และนำการพัฒนาครูที่ใช้ problem-based learning ขณะนี้ได้บรรจุโครงการพัฒนาครูไว้ในแผนปฏิบัติการปี 2556 แล้ว, มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรีจะสานต่อโดยผนวกกับโครงการครูสอนดี, มหาวิทยาลัยราชภัฎสุราษฎร์ธานีจะร่วมกับ อบจ.ในการพัฒนาโรงเรียนในการดึงชุมชนและผู้ปกครองเข้ามามีส่วนร่วม, มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชรและมหาวิทยาลัยมหาสารคามจะดำเนินการต่อด้วยเครือข่ายครูเพื่อศิษย์


4. มุมมองผู้ทรงคุณวุฒิต่อบทบาทมหาวิทยาลัยกับการพัฒนาโรงเรียนและเครือข่ายในพื้นที่ มีผู้ทรงคุณวุฒิ 3 ท่าน ได้ให้ความคิดเห็นต่อการเสวนา “พลังเครือข่าย: บทบาทมหาวิทยาลัย..” ดังนี้

4.1) ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร อดีตเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษาและกรรมการกำกับทิศทางชุดโครงการ LLEN สะท้อนความคิดใน 2 ส่วน ส่วนแรก สิ่งที่ได้เห็นคือความเชื่อมต่อของระบบการศึกษาทั้งในระบบ นอกระบบ และตามอัธยาศัย รวมทั้งความเชื่อมต่อของระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานและอุดมศึกษา, เห็นความหลากหลายของผู้ร่วมดำเนินการถือเป็น Network of good idea และเป็น Change Agent, ได้เห็นการศึกษาไทยเปลี่ยนจาก Inbreeding (อยู่แต่ในองค์กรของตนเอง, ไม่มีความหลากหลาย) เป็น Outbreeding (มีความหลากหลาย, แข็งแรง) ซึ่ง LLEN ทำให้เห็น และเห็นว่าการศึกษาควรทำทั้ง Networking และ Outbreeding จะช่วยให้การศึกษาไม่ลอยตัวจากสังคม สำหรับการก้าวไปข้างหน้าของการพัฒนาต่อ ควรมุ่งไปที่การค้นพบจิตวิญญาณของตนเอง อะไรควรทำ อะไรไม่ควรทำ การเริ่มต้นด้วยจิตจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และหากทำด้วยจิตวิญญาณก็จะส่งผลให้ทำต่อเนื่อง ทิศทางต่อไปควรใช้กลไกของเครือข่ายความร่วมมือขยายเข้าไปสู่ทั้งมหาวิทยาลัย นำไปสู่การจัดการศึกษาฐานจังหวัด (Province-based Education) แต่จะไม่ง่ายเพราะข้ามระบบ ข้ามแท่งใน ศธ. ซึ่งมหาวิทยาลัยจะต้องเป็นแกนหลักในการเชื่อมทั้งอาชีวศึกษา สพฐ. และเอกชน เพราะขณะนี้ผู้กำหนดชะตากรรมประเทศไม่ได้อยู่ที่คนวัยเรียน แต่อยู่ที่คนวัยทำงาน 40 ล้านคน ดังนั้น จะต้องดึงผู้เล่นอื่นเข้ามาในการพัฒนาการศึกษา รวมทั้งการพัฒนาการศึกษาจะต้องเน้น Area-based เป็นโครงการจัดการศึกษาที่คำนึงถึง supply change เช่น จังหวัดภาคอีสานอาจศึกษามันสำปะหลัง จังหวัดทางภาคใต้ ทำการศึกษายางพารา จังหวัดทางภาคกลางศึกษาเรื่องข้าว เป็นต้น การจัดการศึกษาจะต้องตอบโจทย์ท้องถิ่นและผูกโยงกับปากท้องด้วย

4.2) ศ.ดร.ประสาท สืบค้า อดีตประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย และอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี สะท้อนความคิดต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษาว่า จะต้องลบขอบ/เส้นแบ่งระหว่าง 3 เสาหลักคือ สกอ. สพฐ.และ สอศ. โดย สกอ.ต้องช่วยโรงเรียนมัธยมศึกษา จะเห็นได้ว่าโรงเรียนที่ link อยู่กับมหาวิทยาลัยจะได้คะแนน PISA สูง เช่น โรงเรียนสาธิต, จะพัฒนาครูให้เป็นครูมืออาชีพ มีทักษะของการเป็นครูมืออาชีพ เพราะหัวใจของการปฏิรูปการศึกษาคือ ครู, ในการสร้างเครือข่ายจำเป็นต้องใช้กรรมเก่า อันได้แก่ บารมีหรือทุนเดิมที่เคยสั่งสมมา และการแสวงหาภาคีใหม่จะต้องตอบโจทย์สังคมและชุมชนในพื้นที่นั้นๆ เช่น มหาวิทยาลัยสุรนารีให้ความสนใจภูมิปัญญาท้องถิ่น เช่น เพลงโคราช นำปัญหาของคนในชุมชนมาวิจัย เช่น มันสำปะหลัง

4.3) รศ.ดร.สุธีระ ประเสริฐสรรพ์ อดีตรองผู้อำนวยการ สกว. และอาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ สะท้อนความคิดเกี่ยวกับการพัฒนาครูและการใช้ PBL ในประเด็นการพัฒนาครูเห็นว่า “กระบวนการจุ่มตัว” ให้ได้สัมผัสจริงมีความจำเป็นมากต่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมครู จากประสบการณ์พบว่าครูมีอัตตาสูงมากและมีลักษณะไม่สอดคล้องกับทักษะการเรียนรู้สำหรับศตวรรษที่ 21 ดังนั้น ครูจึงควรเปลี่ยนที่จะใช้เมตตาและใช้การอดทนอดกลั้นที่จะคอยตั้งคำถามและไม่บอกคำตอบให้นักเรียน ส่วนการจัดการเรียนรู้แบบ PBL เห็นว่าควรแตกต่างกันระหว่างระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา ระดับประถมศึกษาควรใช้ในการปลูกฝังคุณลักษณะ (Characteristics) และระดับมัธยมศึกษาเน้นสาระที่เข้มข้น เช่น โครงการยุววิจัยเศรษฐกิจชุมชน เป็นโครงการที่ช่วยให้นักเรียนได้มองมุมกว้างและเรียนแบบค้นคว้า ทำให้มีความเข้าใจทั้งเศรษฐศาสตร์ สังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และประวัติศาสตร์ท้องถิ่น การวัดและประเมินผลเพื่อเป็นหลักฐานของการเรียนรู้ได้ใช้วิธีการให้นักเรียนเขียนสะท้อนความคิดออกมา สาหรับการนา PBL ไปใช้ในระดับอาจารย์มหาวิทยาลัยและครู สพฐ. พบว่ายังน้อยมาก เพราะยังไม่เปลี่ยนวิธีการจัดการเรียนการสอน การสอนยังเป็นการ “ป้อน” อยู่ ซึ่งการจะทำให้เปลี่ยนกระบวนการสอนจะต้องใช้วิธี Outbreeding และการเรียนรู้แบบ “จุ่มตัว”


5. พลังการเรียนรู้: การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับครูและเด็ก เป็นการเสวนาเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากการเข้าร่วมโครงการ LLEN ใน 3 ประเด็นคือ การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับครู การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับนักเรียน และแนวทางพัฒนาต่อเนื่อง ดำเนินการเสวนาโดย ดร.เลขา ปิยะอัจฉริยะ กรรมการกำกับทิศทางชุดโครงการ LLEN ซึ่งแต่ละประเด็นได้รับการบอกเล่าจากครูที่ร่วมเสวนา ดังนี้

5.1) การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับครู ครูอรุณวรรณ ร.ร.ท้ายหาด เห็นว่าครูมีพลังแห่งการเปลี่ยนแปลงมาก อันเป็นผลมาจากวิทยากร (อาจารย์มหาวิทยาลัยมหิดล) ที่ทำให้ครูเปลี่ยน ด้วยการให้ลงมือปฏิบัติ ไม่เน้นบรรยาย ไม่มีช่องว่างในการสื่อสารระหว่างกัน เป็นการอบรมที่ต่อเนื่องยาวนานพบกันทุกเดือน ครูรู้สึกเป็นญาติพี่น้องกัน ไม่แบ่งค่ายแบ่งสี นอกจากนั้นเขตพื้นที่ให้การสนับสนุนดี (ผอ.สมยศ ศิริบรรณ) รวมทั้งชุมชนให้ความสนใจโรงเรียนและเข้ามาร่วม อันเป็นผลจากการที่ครูพาเด็กลงพื้นที่ชุมชน, ครูสุรนันท์ ร.ร.บ่อแก้ววิทยา เห็นว่า 10 กว่าปีของการเป็นครูเพิ่งได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กันของครูวิทยาศาสตร์ ได้มาคิดร่วมกันว่ามีปัญหาอะไร โดยอาจารย์ มรภ.กาแพงเพชรได้กระตุ้นครูด้วยคำถาม ตนเองจึงจับจุดของการตั้งคำถามนี้ไปใช้กับเด็ก จึงเป็นการเปลี่ยนแปลงที่วิธีการตั้งคำถาม, ครูเพ็ญศรี ร.ร.เชียงยืนพิทยาคม เดิมมีความคิดว่า “จะเอาอะไรกับครูอีกหนอ” รู้สึกมืดมนเหมือนเมฆดำปกคลุม เมื่อถูกกระตุ้นด้วยคำถาม จึงทำให้เปลี่ยนวิธีการประเมินเด็ก และเมื่อได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเพื่อนครูเป็นชุมชนการเรียนรู้/ PLC ทำให้ได้เทคนิคการสอนจำนวนมาก, ครูกัมปนาท ร.ร.เมืองยางศึกษา เห็นว่าตัวเองเปลี่ยนพฤติกรรมการสอน ได้รับการยอมรับ และมีความสามารถมากขึ้น

5.2) การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับนักเรียน สิ่งที่ครูสังเกตเห็นว่านักเรียนเปลี่ยนไปเมื่อครูเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการสอนของตนเอง ดังนี้ ครูสุรนันท์เห็นว่าเด็กมีความตั้งใจที่จะสอบ O-NET มากขึ้น, ครูอรุณวรรณเห็นว่าเด็กมีความสุข สนุก คิดเอง ทำเอง เรียนแบบลงมือปฏิบัติ ส่วนครูกัมปนาท ครูสมนึก และครูเพ็ญศรีเห็นด้วยว่าเมื่อครูเปลี่ยนเด็กจะเปลี่ยนจริงๆ

5.3) แนวทางพัฒนาต่อเนื่อง ครูสุรนันท์เห็นว่า จะใช้แนวทางที่ได้รับจากโครงการ LLEN คือ ใช้สิ่งต่างๆรอบตัวมาสอน ให้เด็กคิด ไม่บอกคำตอบ เป็นผู้อำนวยการเรียนรู้ และจะยังคงพบกันต่อเนื่องทุกเดือนเช่นเดิม ซึ่งเห็นว่าเป็นการเรียนรู้ที่ดีกว่าการอบรมในห้องแอร์เย็นๆ ดังเช่นที่ผ่านมา ส่วนครูเพ็ญศรี ครูสมนึก ครูอรุณวรรณ และครูกัมปนาทก็ยืนยันเช่นกันว่าจะพัฒนาต่อเนื่องต่อไป

ช่วงท้าย ดร.เลขา ปิยะอัจฉริยะ ได้สรุปว่า เป็นเรื่องยากที่จะเปลี่ยนเจตคติและเปิดใจ แต่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ด้วย(1) การยอมรับซึ่งกันและกัน (2) ความเป็นกันเอง ไม่เป็นทางการ เป็นพี่เป็นน้องกัน (3) การใช้คำถามกระตุ้น (4) การอดทนรอคอยฟังเสียงของเด็ก (5) ต้องสร้างศรัทธาขึ้นทั้งศรัทธาต่อวิชา ศรัทธาต่อครู และศรัทธาต่อตัวของเด็กเอง (6) นวัตกรรมการพัฒนาครู วิทยากรพัฒนาครูจะต้องเปลี่ยนแปลงวิธีคิดวิธีทำงาน รูปแบบวิธีการที่ใช้ในการพัฒนาครูต้องโดนใจครูและท้าทายครู ซึ่งมีปัจจัยเอื้อ ได้แก่ เรื่อง/ประเด็นที่ให้ต้องทำให้ครูเห็นประโยชน์และนำไปใช้ได้จริง, ให้อิสระครูในการคิดสร้างสรรค์, เป็นไปตามความพร้อมของครูแต่ละคน, มีการนิเทศติดตามแบบกัลยาณมิตร ต่อเนื่อง และบ่อย สุดท้ายเมื่อครูเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมจะเชื่อมไปสู่ชีวิตประจำวัน เกิดความศรัทธา และเห็นความสำคัญของการสอน ส่งผลให้เด็กมีความสุข เด็กมีความตั้งใจ เด็กมีจิตอาสา มีความมั่นใจและภูมิใจมากขึ้น ครูได้ความชื่นใจจากการชื่นชมของศิษย์ ซึ่งถือเป็นกำไรของครู นอกจากนั้น จะเห็นว่าเมื่อโรงเรียนเปิดประตูสู่ชุมชนจะทำให้บุคลากรในโรงเรียนได้ทั้งความคิด กาลังใจ งบประมาณ และอื่นๆ อีกมากมาย

6. มุมมองผู้ทรงคุณวุฒิต่อการเรียนรู้ที่เปลี่ยนแปลงของครูและเด็ก มีผู้ทรงคุณวุฒิ 3 ท่าน ได้ให้ความคิดเห็นต่อการเสวนา “พลังการเรียนรู้: การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับครูและเด็ก” ดังนี้


6.1) ศ.สุมน อมรวิวัฒน์ ราชบัณฑิตและกรรมการกำกับทิศทางชุดโครงการ LLEN ได้ยกบทกวีของอังคาร กัลยาณพงศ์ "อนิจจาน่าเสียดาย ฉันทำชีวิตหายเสียครึ่งหนึ่ง ครึ่งที่หายนั้นลึกซึ้ง มีน้ำผึ้งบุหงาลัดดาวัลย์" โดย ศ.สุมน ได้ดัดแปลงบทกวีของอังคาร กัลป์ยาณพงศ์ โดยเขียนขึ้นใหม่ว่า “อนิจจาน่าเสียดาย การศึกษาไทยขาดไปเสียครึ่งหนึ่ง ....” และสะท้อนใจว่า การศึกษาไทยแห้งแล้ง โดดเดี่ยวเป็นอย่างยิ่ง แต่พบว่า LLEN เป็นโครงการทางการศึกษาที่สร้างพลัง เดินด้วยใจของทั้งอาจารย์ ครู นักเรียน และผู้รู้ต่างๆ ซึ่งเป็นกระบวนการเดินด้วยใจที่ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม เน้นการหนุนเสริมการพัฒนาครู การพัฒนาผลสัมฤทธิ์ พัฒนาชีวิต พัฒนาสถาบัน และพัฒนาโรงเรียน ให้เข้มแข็ง เป็นทั้ง Learning Organization และ Healthy Organization อย่างเช่น เมื่อเรารู้ว่าโรงเรียนป่วย เราก็เรียกครูมารักษา มาอบรม ครั้งละ 100 คน 1,000 คน ถือเป็นความสูญเปล่า ไม่มีพลัง พบว่า ครู 4 แสนคนไม่สามารถเคลื่อนประเทศได้หรือเคลื่อนไม่เร็วเท่าที่ควร สาหรับวิธีการที่โครงการ LLEN ใช้ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงตนเอง เป็นคิดรวม ไม่คิดแยกส่วน เมื่อได้ฟังครูแล้วเห็นว่า

(1) เป็นการปฏิรูปการฝึกหัดครู เป็นกระบวนการพัฒนาคู่ขนานจับคู่อาจารย์กับครู ขยายโลกกว้างสู่ความจริง เป็นแบบกัลยาณมิตร จับคู่ให้ศึกษาวิจัย ให้หนุนเสริมกัน ให้ได้วิชาการจากการปฏิบัติจริง ส่งผลให้อาจารย์มหาวิทยาลัยสามารถสอนนักศึกษาได้จากการปฏิบัติจริง การฝึกหัดครูจะต้องเปลี่ยนแปลงแบบ training by action ไม่ใช่แบบ training by talking

(2) เป็นการพัฒนาครูโดยเปลี่ยนสายอำนาจ ถ้าทำโดย ศธ.ครูไม่กล้าค้าน โครงการ LLEN ทำให้เปลี่ยนจากการคิดแบบโดดเดี่ยว (ฟุ้งซ่าน) เป็นการร่วมคิดกันเป็นเครือข่าย (งอกงาม)

(3) เป็นการเชื่อมโยงการเรียนรู้มาสู่ชีวิตผู้เรียน รวมทั้งเห็นพ้องว่าเราขาดหน่ออ่อนทางด้านวิทยาศาสตร์จานวนมาก กล่าวโดยสรุปว่าโครงการ LLEN ช่วยสร้างคำ 2 คำ ให้เกิดขึ้นคือ “แรงบันดาลใจ” และ “กำลังใจ” ซึ่งนับวันจะหาได้ยากในสังคมไทย


6.2) รศ.ไพโรจน์ คีรีรัตน์ อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นผู้ที่มีประสบการณ์การบริหารจัดการโครงการพัฒนาครูและนักเรียนของ สกว. ประมาณ 10 ปี ได้สะท้อนสิ่งที่สังเกตเห็นคือ เมื่อพี่เลี้ยงเปลี่ยน ครูก็เปลี่ยน จากประสบการณ์การทำโครงการร่วมกับโรงเรียน พบว่า มีโรงเรียนที่ประสบผลสาเร็จตามโครงการเพียง 50% ส่วนที่ไม่ประสบผลสำเร็จเพราะอุปสรรคอยู่ที่ความไม่รู้ไม่เข้าใจของผู้บริหารโรงเรียน การเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้จาก LLEN เกิดจากพลังเครือข่าย แรงบันดาลใจ ความท้าทาย และการเห็นเด็กเปลี่ยนแปลง และพบว่าการจัดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ให้กลุ่มครูสามารถทำให้ครูเปลี่ยนทุกครั้ง เห็นว่าครูมีแรงใจ ซึ่งถือเป็นการเคลื่อนไปสู่การปฏิรูปการศึกษาด้วยพลังแรงบันดาลใจ อันได้มาจากเครือข่าย ไม่ใช่จากกระทรวงศึกษาธิการ การเปลี่ยนแปลงได้ด้วยพลังด้านดีด้วยคำพูดที่ชื่นชม และด้วยกระบวนการยกจิตวิญญาณ กรณีตัวอย่าง เรื่องการสอนโครงงาน ครูเปลี่ยนแปลงเมื่อครูเห็นลูกศิษย์ทำโครงงานได้ เช่น ที่โรงเรียนตะโละใส จ.สตูล โรงเรียนสอนเด็กทำโครงงาน ทำได้ดีมาก และเป็นโครงงานที่แตกต่างจากที่กระทรวงศึกษาธิการทำ เมื่อทดลองขยายการสอนโครงงานเช่นนี้ไปสู่ครูในโรงเรียนอื่น ได้ใช้วิธีฝึกปฏิบัติ โดยภาคเช้าให้พี่เลี้ยงสอนให้ดู ภาคบ่ายให้ครูเดิมลงมือทำเองโดยมีพี่เลี้ยงช่วยดู ให้ครูสอนโครงงานอย่างเข้มข้น เน้นกระบวนการ ไม่สนใจผลของโครงงาน ให้ฝึกทักษะๆ ๆ และเน้นทักษะการยอมรับคนอื่นด้วย ซึ่งทักษะ/กระบวนการถือเป็นจุดบอดของการศึกษาไทย จากประสบการณ์ทางานเกี่ยวกับการพัฒนาครูในโครงการต่างๆ พบว่า โรงเรียนที่ประสบความสำเร็จ ทีมของครูจะผสมด้วยครู 2 วัย (อาวุโส และหนุ่มสาว) จะมีพลังมากกว่าโรงเรียนนั้นมีครูเพียงวัยเดียว, การพัฒนาครูต้องพัฒนาที่จิตใจใช้จิตตปัญญา กระบวนการกลุ่ม และการฝึกการคิดอย่างเป็นระบบ เช่น โครงการที่สงขลา เขต 3 ได้สอนครูให้คิดทำวิจัยซ้อนไปกับการให้เด็กทำโครงงาน จะทำให้ครูเห็นความสัมพันธ์ เห็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะการเห็นเด็กอ่อนเปลี่ยนแปลง รวมทั้งได้เห็นครูเปลี่ยนแปลง แต่ยังไม่มั่นใจ 100% เพราะมีหลายปัจจัยที่เกี่ยวข้อง พบว่า กระบวนการโครงงานช่วยสร้างจิตสานึกของคนได้ จึงอยากชวนผู้บริหารโรงเรียนลงมาสอนบ้าง (ผู้ฟังปรบมือสนั่น) เพราะปัจจุบัน ผู้บริหารโรงเรียนไม่สอน ไม่รู้เรื่อง จึงเป็นผู้นำที่ทำตามอานาจ ไม่ค่อยได้เห็นผู้นำทำตามความต้องการของสังคม จึงอยากฝากครูว่า อย่าคาดหวังกับระบบมากนัก ควรเห็นลูกศิษย์ว่ามีความสาคัญกับเรามากกว่าระบบ หากเราคิดและทำเพื่อศิษย์มากๆ จะทำให้ระบบเปลี่ยนแปลงได้


6.3) ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ประธานคณะกรรมการกำกับทิศทางชุดโครงการ LLEN เห็นว่า การปฏิรูปการศึกษาควรอยู่และเกิดที่โรงเรียนมากกว่าที่กระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งโครงการ LLEN ได้เคลื่อนระดับล่าง ระดับพื้นที่ โดยมีมหาวิทยาลัยเป็นแกน การดำเนินการของมหาวิทยาลัยทั้ง 15 แห่ง ไม่เหมือนกัน แต่เกิดผลให้เห็นถึงแรงบันดาลใจและความมั่นใจ เป็นการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมการทำงานในโรงเรียน จากครูทำงานโดดเดี่ยวมาเป็นครูทำงานเป็นทีม จากครูผู้รู้มาเป็นครูผู้เรียน เป็นการเรียนรู้จากศิษย์และเรียนรู้จากการชี้แนะของอาจารย์มหาวิทยาลัย ให้รู้จริงจากการทำเอง การเปลี่ยนแปลงนี้ไม่อยากให้เป็นเพียงการเกิดแรงบันดาลใจชั่วครู่ แต่ต้องการได้แรงบันดาลใจแบบไฟสุมขอน ไม่ใช่แบบไฟไหม้ฟาง ดังนั้น จึงต้องรวมตัวกันเป็นเครือข่ายในพื้นที่ จะทำให้มีพลังและทรัพยากรในพื้นที่จานวนมาก แต่ต้องมีกลไกหนุนเสริมที่ดี ซึ่งพบว่าประเด็นด้านการศึกษา สุขภาพ และการศาสนา จะมีความง่ายที่จะเชิญชวนคนมามีส่วนร่วม สำหรับก้าวต่อไปของการทำงานต่อจากโครงการ LLEN ถือเป็นโจทย์ที่ต้องคิดอย่างมากของพื้นที่ และ สพฐ. โดยเฉพาะ

(1) จะเปลี่ยนวิธีบริหารจัดการอย่างไรให้เป็นพลัง เช่น จะหาทาง capture การดำเนินงานของมหาวิทยาลัยทั้ง 15 แห่ง ใน 15 จังหวัด แล้วหาทางให้เกิดขึ้นในจังหวัดอื่นๆ ทั่วประเทศ

(2) การศึกษาต้องไม่ top down ต้องไม่ใช้อำนาจ หากใช้อำนาจจะเป็นการลดทอนพลัง เพราะพลังแรงบันดาลใจจะเกิดขึ้นได้ ต้องบริหารจัดการแบบ Empowerment จึงจะเป็นการปฏิรูประบบการศึกษาไทยจริง

(3) ครูสำคัญที่สุด ครู(ที่มีแรงบันดาลใจ เอาใจใส่เด็ก และมีวิธีการสอนที่ถูกต้อง) สำคัญกว่าเครื่องมือ/สื่อ และปัจจัยสำคัญคือ แรงบันดาลใจของเด็กในการใฝ่รู้ใฝ่เรียน ซึ่งการเรียนรู้สู่ศตวรรษที่ 21 ครูจะต้องสอนน้อยๆ ให้เด็กเรียนรู้เอง ครูจะดูว่าสิ่งที่เด็กจำเป็นต้องเรียนคืออะไร ซึ่งครูจะต้องรวมทีมกันทำ Professional Learning Community (PLC) ในการกำหนดว่าเด็กจำเป็นต้องเรียนอะไร เมื่อได้แล้ว ให้นำไปสอน และนำผลที่ได้มาเรียนรู้ร่วมกัน สรุปว่า ไม่มีอะไรสำคัญกว่า “ครู” และไม่มีอะไรสำคัญกว่า “แรงบันดาลใจ”


7. key messages จากเวทีกับบทบาทสนับสนุนของ สพฐ. โดย นายอนันต์ ระงับทุกข์ รองเลขาธิการ กพฐ. ได้สะท้อนมุมมองที่ได้จากเวทีเสวนาและความคิดเห็นของผู้ทรงคุณวุฒิ ในภาพรวมเห็นว่าการดำเนินงานโครงการและผลที่เกิดขึ้นเป็นประโยชน์ต่อการขับเคลื่อนการศึกษาของชาติและการปฏิรูปการศึกษา รวมทั้งได้เห็นว่า

(1) เป็นรูปแบบวิธีการหนึ่ง และเป็นนวัตกรรมการขับเคลื่อนสังคมและประเทศชาติด้วยพลังเครือข่าย ซึ่งสอดคล้องกับการดำเนินงานของ สพฐ.ที่ใช้มหาวิทยาลัยเป็นเครือข่ายในการพัฒนาโรงเรียน ดังเช่น การศึกษาเพื่อการมีงานทำที่ สพฐ.ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยทำอยู่อย่างต่อเนื่อง ในการพัฒนาทักษะชีวิตและทักษะอาชีพให้ผู้เรียน นอกจากนั้น ก็สอดคล้องกับ สพฐ.ที่ได้ใช้เครือข่าย อบจ.เข้ามามีส่วนร่วม ดึงชุมชนเข้ามาร่วมมากขึ้นทำให้ชุมชนเห็นทิศทางที่พึงประสงค์ของการจัดการศึกษาของโรงเรียน มีกรณีให้เห็นบ่อยขึ้นว่า ชุมชนต่อต้านและกดดันผู้บริหารโรงเรียนหรือครูที่ไม่มีคุณภาพให้ออกจากพื้นที่ เรื่องเครือข่ายในพื้นที่ที่เข้มแข้งมีความจำเป็น ซึ่ง สพฐ.ได้ส่งเสริมสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง เช่น มีเสอเพลอโมเดล เป็นต้น

(2) ไม่เห็นว่าเพียงครูเท่านั้นที่สำคัญที่สุด แต่ผู้บริหารโรงเรียน ยังสำคัญที่สุดด้วย เพราะเป็นบุคคลที่สำคัญที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงคุณภาพโรงเรียน สร้างแรงบันดาลใจ และหล่อหลอมพลังครู จากการประเมินครูพบว่า พบครูที่ไม่สนใจงาน มากกว่า 50% อันเนื่องมาจากผู้บริหารโรงเรียนปล่อยปละละเลย ซึ่ง สพฐ.ได้ผลักดันแก้ไขโดยให้เขตพื้นที่ใช้ระบบนิเทศการศึกษา ให้เกิดการนิเทศภายในที่เข้มแข็งในโรงเรียน ขณะนี้ได้จัดกลุ่มคุณภาพโรงเรียน A B C สำหรับกลุ่มอ่อน (C) ที่มีจำนวนมาก ได้ให้เขตและศึกษานิเทศก์ดูและโรงเรียนกลุ่ม C อย่างใกล้ชิด

(3) เครือข่ายภายในต้องเข้มแข็ง โจทย์สำคัญคือ ทำอย่างไรเครือข่ายภายในจึงจะเข้มแข็งและจะเป็นปรับปรุงคุณภาพ ซึ่ง สพฐ.ได้ส่งเสริมให้ครูรวมตัวกันและมีกิจกรรมการพัฒนาร่วมกัน เช่น ชมรมครูภาษาไทย

(4) มหาวิทยาลัยก็ต้องปรับเปลี่ยนตนเองด้วย จากประสบการณ์การทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัย เช่น การอบรมพัฒนาสมรรถนะครูหรือการพัฒนาครู พบว่า มหาวิทยาลัยยังไม่ปรับเปลี่ยนวิธีการ ยังเป็นแบบดั้งเดิม ซึ่งการพัฒนาครูที่ได้ผลมากกว่าแบบเดิม มหาวิทยาลัยควรจะลงไปนิเทศช่วยเหลือที่ระดับโรงเรียน นอกจากนั้น มหาวิทยาลัยควรพัฒนาคุณภาพในฐานะสถาบันผลิตครู จะต้องพัฒนานักศึกษาที่จะมาเป็นครูให้มีคุณภาพจริง ซึ่งถ้า “ต้นทาง” เตรียมคนมาดี ก็จะเอื้อและเกื้อหนุนให้การใช้ครูของ สพฐ. ในช่วง “กลางทาง” มีประสิทธิภาพมากขึ้น

(5) การนำไปใช้ จากการที่ได้เรียนรู้สิ่งที่เกิดขึ้นจากโครงการนี้ จะได้นำแนวคิดต่างๆ ไปใช้ในการสร้างความเข้มแข็งในระดับห้องเรียน โดยมุ่งไปให้ถึงคุณภาพครูและนักเรียน


8. ปาฐกถาพิเศษ “ก้าวต่อไปของเครือข่ายการเรียนรู้เพื่อเด็กและเยาวชนไทยสู่ศตวรรษที่ 21” โดย ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ประธานคณะกรรมการกำกับทิศทางชุดโครงการ LLEN ได้เสนอความคิดเพื่อการพัฒนาคุณภาพการเรียนรู้ต่อเนื่อง ดังนี้

8.1) การทำงานต้องต่อเนื่อง ระยะยาว โดยใช้เครื่องมือ 4 ตัว คือ (หนึ่ง) เครือข่ายในพื้นที่ อาจเป็นระดับจังหวัด/ อำเภอ (สอง) หนุนเสริมด้วยเครือข่ายชาติ (สาม) เป็นแบบเครือข่ายเปิด มีลักษณะการเรียนรู้ร่วมกัน และ(สี่) มีเป้าหมายเดียวกัน (shared purpose) เพื่อให้บรรลุ learning outcomes ของ 21st century skills ที่ดีขึ้น

8.2) การทำงานเครือข่ายในพื้นที่ ควรมีลักษณะไม่เป็นทางการ เป็นความสัมพันธ์แนวราบ เกิดจากการสร้างและจัดการร่วมกันเองในพื้นที่ ใช้ทรัพยากรในพื้นที่ไม่แบมือขอจากส่วนกลาง มิเช่นนั้น เป้าหมายจะบิดเบือน และทำให้พลังหดหายไป

8.3) เครือข่ายในโรงเรียนเป็นเครือข่ายที่เข้มแข็งและส่งผลมากที่สุด ต้องส่งเสริมให้ครูรวมตัวกันทำงานเป็นทีม เป็น PLC เอง ไม่ใช่การบังคับ เพื่อร่วมกันสร้าง learning outcomes ของเด็ก ให้ความสนใจเด็กที่เรียนอ่อน พัฒนาให้เขาเรียนทันเพื่อน การรวมกลุ่มกันเช่นนี้จะทำให้ครูกลายเป็นนักเรียนที่จะเรียนรู้วิธีที่จะเป็นครูฝึก ฝึกให้นักเรียนปฏิบัติ เพื่อให้บรรลุทักษะสำคัญที่จะเป็นพื้นฐานชีวิตในอนาคต ให้เด็กเกิดแรงบันดาลใจ ครูจะเข้าไปสู่วัฒนธรรมของการทำงานแบบ learning by doing และ team learning จึงควรร่วมกันกำหนดเป็นนโยบายของโรงเรียนดำเนินการเช่นนี้ แล้วจะไม่มีครูคนใดโดดเดี่ยว

8.4) หลักการของ PLC ดำเนินด้วยคำถาม 4 ข้อ (หนึ่ง) ต้องการเห็นเด็กได้ “ทักษะ” และ “ความรู้ที่จำเป็น” อะไรบ้าง ต้องเลือกเฉพาะที่จำเป็นจริงๆ คำถามนี้ไม่ใช่ตั้งขึ้นมาลอยๆ แต่ต้องมาจากการรู้จักเด็กก่อน ต้องลงศึกษาให้ถึงเด็กแต่ละกลุ่มและแต่ละคน อย่าคิดตามตำรา ต้องคิดตามสิ่งที่เรารู้จักเด็ก (สอง) รู้ได้อย่างไรว่าเด็กได้จริง หรือได้เรียนรู้จริงๆ อย่างที่เราต้องการอยากจะเห็น ข้อนี้เป็นคำถามเพื่อหาวิธีการประเมินทักษะที่แท้จริง (สาม) ทำอย่างไรกับเด็กบางคนที่ไม่ได้/ เรียนไม่ทันเพื่อน ซึ่งต้องร่วมกันคิด และใช้เวลาปกติในการแก้ไข จึงต้องยืดหยุ่นเวลาเพื่อแก้ไขให้ได้ (สี่) ทำอย่างไรกับเด็กบางคนที่เก่งและก้าวหน้าไปก่อนแล้ว

8.5) จุดเน้น 21st century skills 4 หมวดหลัก หมวดที่ครูช่วงชั้นควรเน้น 3 หมวดคือ ทักษะชีวิตทักษะอาชีพ (Life and Career Skills) ทักษะการเรียนรู้ (Learning and Innovation Skills) ทักษะ ICT (Information Media and Technology Skills) ส่วนครูเน้นวิชา ควรเน้นสาระความรู้ (Core Subject and 21st Century Themes)

8.6) หลักการสำคัญของ 21st century skills คือ (หนึ่ง) teach less learn more เน้นการเรียนรู้ของเด็ก ไม่ใช่เน้นการสอน (สอง) เรียนให้บรรลุ 21st century skills ไม่หยุดอยู่ที่วิชา ต้องเปิดโอกาสให้เด็กลองนำไปใช้บ่อยๆ จนเกิดเป็นทักษะ (สาม) เรียนเป็นทีม เน้นการร่วมมือทำงานเป็นทีม ให้มีทักษะต่างๆ เช่น ทักษะการเคารพผู้อื่น ทักษะการสื่อสาร (สี่) สอบในสิ่งที่ต้องการให้บรรลุ ต้องวัดและประเมินที่ทักษะ และให้สัดส่วนของน้ำหนักการทดสอบเพื่อพัฒนามากๆ ไม่ใช่สอบเพื่อได้-ตก

8.7) บทบาทของครูและผู้บริหารโรงเรียนในการทำ PLC ครูจะเรียนรู้กันในกลุ่มสาระของตนเอง/ในโรงเรียน และการเรียนรู้กับเพื่อนครูต่างโรงเรียน ส่วนผู้บริหารโรงเรียนจะต้องมีใจจดจ่ออยู่ที่ learning outcomes ของนักเรียน หาทางส่งเสริมการวัด learning outcomes เป็นระยะๆ สนับสนุนทรัพยากรและแสวงหาทรัพยากรในพื้นที่มาทำ PLC เพื่อยกระดับการเรียนรู้ของนักเรียนและครู และจะต้องสร้างเป้าหมายที่ปลายทาง และรายทาง โดยนำมาพูดสื่อสารในสถานการณ์ต่างๆ รวมทั้งชื่นชม เฉลิมฉลองเมื่อโรงเรียนสามารถบรรลุเป้าหมายรายทางในแต่ละระยะ

8.8) การขับเคลื่อนเครือข่ายระดับชาติ กำหนดจัดงาน Thailand National Forum for 21st Century Learning (TNF21CL) เป็นประจำทุกปี เป็น KM สาหรับ 21st Century Learning เป็นการขับเคลื่อนด้วย Success Story Sharing โดยค้นหา Success Story ทำเป็น VDO เปิดงาน เชิญมานำเสนอแบบเรื่องเล่าและโปสเตอร์ มีหนังสือรวมเรื่องเล่าที่มีผู้ตีความ มีห้องฝึกทักษะที่ต้องการ มี website มีจดหมายข่าว การดำเนินการจะให้มีการตั้งคณะทำงานยกร่าง Learning Outcomes ตามแนวทางของ 21st century skills ออกแบบวิธีการประเมิน (Assessment) โดยองค์ประกอบของคณะทำงานยกร่างนี้จะต้องเป็นคนนอกวงการครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ 50% เมื่อได้ร่างออกมาแล้ว จะใช้ ICT ช่วย เป็น open access forum และจะได้พัฒนา learning outcomes and assessment guideline ต่อไป เมื่อได้ร่างทักษะที่ต้องการและกระบวนการฝึก จะเป็นการจัดอบรมทักษะครูฝึก และพี่เลี้ยงครูฝึก โดยเชิญครูที่มีผลงานเด่นเข้าร่วม และจัดแลกเปลี่ยนเรียนรู้ต่อเนื่อง

สรุปการพัฒนาต่อไป จะเป็นการทำงานเครือข่ายในพื้นที่ ใช้เครื่องมือ 4 ตัว เน้น 21st century skills ใช้ project-based learning ให้เรียนรู้โดยลงมือปฏิบัติ ใช้ PLC และ KM เป็นกระบวนการขับเคลื่อน รวมทั้งการสร้างครูฝึก การจัด PLC ครูฝึก การพัฒนาทักษะครู ทั้งทักษะการเป็น facilitator การประเมินทักษะ 21st century และจำเป็นต้องมีหน่วยจัดการ/ส่งเสริมที่เป็นกำลังสำคัญในการดำเนินการ


9. สรุปภาพรวมและโอกาสในอนาคต โดย ดร.สีลาภรณ์ บัวสาย รอง ผอ.สกว. และกรรมการกำกับทิศทางชุดโครงการ LLEN ได้บอกถึงความคิดเบื้องหลังและทิศทางโครงการ LLEN ดังนี้

(1) เปรียบเป้าหมายของการพัฒนาเด็กดั่งแผ่นสำหรับปาเป้า ถ้าปาเข้าใกล้จุดศูนย์กลางมากก็จะได้คะแนนมาก จุดศูนย์กลางในที่นี้คือเด็ก และวงรอบที่ใกล้เด็กมากที่สุดก็คือครู ดังนั้น การปฏิรูปการศึกษาจึงต้องลงไปที่ครู ไม่ใช่เน้นไปที่วงนอกสุด เช่น ที่โครงสร้างกระทรวงศึกษาธิการ

(2) กลไกปรับระบบการศึกษา จากระบบเดิม เมื่อรับเด็กเข้าสู่ระบบการศึกษาก็มีการใส่ทั้งเงิน คน วิชาการ เข้าไปสู่ระบบด้วย พบว่า เรามีข้อจำกัด ไม่สามารถเพิ่มทั้งเงิน และคนเข้าไปในระบบเดิมได้อีก จึงเป็นที่มาของโครงการ LLEN ที่จะใช้มหาวิทยาลัยเป็นแกน ในการเติมเงิน คน วิชาการ เข้าไปสู่ระบบ ซึ่งเป็นหนทางใหม่ จากผลโครงการ LLEN เห็นว่า จำเป็นที่จะต้องออกแบบระบบใหม่ จากระบบ training เป็น “ระบบ coaching” มีมหาวิทยาลัยเป็นพี่เลี้ยง ที่จะต้องเข้าไปทำ Needs Assessment และ Potential-based development ดังที่มหาวิทยาลัยในโครงการ LLEN ทำ ซึ่งจะทำให้การเชื่อมโยงระหว่างมหาวิทยาลัย อปท. โรงเรียน และคุณภาพเด็ก ของแต่ละพื้นที่มีประสิทธิภาพ

(3) เป้าหมายที่ตัวเด็ก เน้น 3C คือ Creativity, Critical Skills, และ Character Building ส่วนการขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายในอนาคต ควรใช้เครือข่าย ควรใช้ PLC และปรับกลไกเชิงพื้นที่ และเชิงระบบ แบบ area-based ที่จะตอบโจทย์ของพื้นที่ สร้างความเข้มแข็งของกลไกในพื้นที่ โดยมีมหาวิทยาลัยเป็นแกนที่จะสร้างคน สร้างความรู้ ความท้าทายคือ การเชื่อมโยงและอุดช่องว่างของทั้งคน ทุน และความรู้


10. บทเรียนจากการปฏิบัติและการสานต่อ “การสร้างเครือข่ายในพื้นที่เพื่อขับเคลื่อนคุณภาพการศึกษา” โดยทีม Facilitator โครงการครูเพื่อศิษย์ มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์ ได้แบ่งกลุ่มผู้เข้าร่วมประชุมออกเป็น 15 กลุ่ม ตามจังหวัดที่เข้าร่วม ให้ล้อมวงเล่าเรื่อง 2 ประเด็น คือ (1) เล่าสิ่งดีๆ ที่เป็นความสาเร็จจากการปฏิบัติ/ lesson learned และ (2) แนวทางการขับเคลื่อนต่อไป รวมทั้งให้ประเมินแนวโน้มของโอกาสที่จะประสบความสาเร็จ โดยให้แต่ละกลุ่มให้คะแนนตนเอง ด้วยคะแนน 1-5 โดยมี Facilitator เข้าไปเป็นผู้ดำเนินการพูดคุยของสมาชิกแต่ละกลุ่ม ผลการประชุมกลุ่ม เช่น บทเรียนของการทำงานเครือข่ายจะต้องให้ทุกภาคส่วนที่เข้ามาเกี่ยวข้องมีความสำคัญเท่าเทียมกัน, ต้องประสานผลประโยชน์ร่วมกัน ด้วยกัน เป็นแบบ WIN-WIN, พูดชื่นชม ยกย่องกันตลอดเวลา, และหมั่นประชุมประเมินติดตามสม่ำเสมอ เป็นต้น ส่วนผลการประเมินโอกาสสำเร็จพบว่า ส่วนใหญ่มั่นใจว่าจะสามารถดำเนินการสานต่อให้สำเร็จได้อย่างราบรื่น

สะท้อนคิด
จากการที่ผมได้ร่วมการประชุม “พลังเครือข่ายการเรียนรู้สู่ศตวรรษที่ 21” วันที่ 30-31 มี.ค.2555 ณ โรงแรมรามา การ์เด้น กทม. โดยเป็นพิธีกรประจำวันทั้งสองวัน (รวมทั้งเป็นผู้ประสานงานส่วนของ สพฐ. ตลอดระยะเวลาการดำเนินงานโครงการ LLEN) การประชุมนี้นอกจากจะเป็นการนำเสนอผลการดำเนินการเมื่อสิ้นสุดโครงการ LLEN แล้ว ยังเป็น “การตีความ” เชื่อมโยง และตั้งโจทย์ที่เป็นความท้าทายของ “เครือข่าย” ที่ร่วมดำเนินงานโครงการ LLEN ด้วยกันเอง มองเห็นการก้าวเดินต่อไป ในการยกระดับคุณภาพการเรียนรู้ แน่นอนว่า โจทย์เหล่านั้น ก็เป็นความท้าทายของกระทรวงศึกษาธิการ และ สพฐ. ด้วยเช่นกัน ผมขอสะท้อนคิดเพิ่มเติม ดังนี้


ผมได้เชื่อมโยงให้ผู้เข้าร่วมประชุมระหว่างทำหน้าที่พิธีกรประจำวัน ทราบว่า การเสวนาภาคเช้าวันแรก เป็นเรื่องของเครือข่าย/การสร้างเครือข่ายในบทบาทของมหาวิทยาลัย ...คนฟังที่มาจากเขตและโรงเรียน อาจรู้สึกว่า ไม่เห็นจะตรงกับตนเองเลย อาจลดความสนใจในสาระสำคัญของการประชุม จึงชี้ให้เห็นประเด็นความสอดคล้องของสาระการประชุมกับนโยบาย สพฐ. ได้แก่

1. การสร้างเครือข่าย: ข้อค้นพบเกี่ยวกับวิธีการสร้างเครือข่าย ที่ทั้งเขตพื้นที่การศึกษาและโรงเรียน สามารถนำไปใช้ได้ รวมทั้งการประชุมนี้ทำให้เราเห็นว่า ทุกภาคส่วนมีเป้าหมายเจตนาเดียวกันกับเขตพื้นที่และโรงเรียน ไม่ว่าจะเป็นมหาวิทยาลัย ชุมชน สังคม ในการอยากเห็นคุณภาพดีขึ้นและต้องการเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา ถือว่าเป็นสัญญาณที่ดีของ All for Education

2. การสอบ PISA: จากข้อมูลภาคเช้ามีประเด็นเรื่องผลสอบ PISA ที่ตกต่ำ จึงเรียนให้ที่ประชุมทราบว่า ขณะนี้กระทรวงศึกษาธิการ และ สพฐ.ได้เร่งเตรียมความพร้อม ในการสร้างความเข้าใจ สร้างความคุ้นเคยกับรูปแบบการสอบของ PISA ให้กับครูและนักเรียน สำหรับการสอบครั้งต่อไปในเดือนสิงหาคม 2555 นี้ และตระหนักเห็นผลกระทบจากผลการสอบต่อประเทศไทย อย่างน้อย ปี ก่อนที่จะมีการจัดสอบรอบต่อไป

3. project-based learning: จากการเสวนาบนเวที จะพบว่า การเรียนรู้แบบ project-based learning เป็นกระบวนการที่ดีมาก ควรส่งเสริมให้นักเรียนและครูได้ใช้ในการปรับเปลี่ยนวิธีการเรียนรู้ ให้สอดคล้องกับโลกที่เปลี่ยนแปลงไป ...จึงเชื่อมโยงว่า การเรียนรู้ลักษณะนี้ เราได้รู้จักและใช้กันมาตั้งแต่เริ่มมีการปฏิรูปการเรียนรู้ เพียงแต่ไม่ได้ชูเป็นประเด็นสำคัญในเวทีลักษณะนี้นัก ซึ่งเมื่อปีที่ผ่านมาได้มีความชัดเจนมาก เพราะเลขาธิการ กพฐ. (ดร.ชินภัทร ภูมิรัตน) ได้สังเคราะห์กระบวนการเรียนรู้ให้นำร่องในโรงเรียนมาตรฐานสากล และจะขยายไปยังโรงเรียนทั่วไป ได้แก่ บันได ขั้น (5 Steps) ของการเรียนการสอน มี ขั้น สอดคล้องกับการเรียนรู้แบบ project-based learning ขั้นที่ ตั้งคำถามและสมมติฐาน, ขั้นที่ สืบค้นความรู้, ขั้นที่ สรุปองค์ความรู้, ขั้นที่ สื่อสารและนำเสนอ และขั้นที่ บริการสังคมและจิตสาธารณะ

4. การพัฒนาครู: มีข้อมูลจากเวทีที่แสดงให้เห็นว่า ควรมีการเปลี่ยนแปลงวิธีการพัฒนาครูแบบใหม่ ซึ่งผมได้เรียนว่า ท่านเลขาธิการ กพฐ.ได้มอบให้ ดร.ชวลิต โพธิ์นคร ผอ.สำนักพัฒนาครูฯ มาร่วมประชุมนี้ตลอดวัน ซึ่งแสดงให้เห็นว่า สพฐ.ให้ความสนใจ และจะนำประเด็นที่เป็นข้อสังเกตไปคิดเพื่อดำเนินการต่อไป

5. การศึกษาผูกกับปากท้อง: จากข้อมูลที่ได้จากการสะท้อนของผู้ทรงคุณวุฒิ เสนอว่า การจัดการศึกษาต้องเชื่อมโยง ผูกกับปากท้องของคน สอดคล้องกับทรัพยากรและจุดเด่นในแต่ละพื้นที่ จึงเรียนต่อที่ประชุมว่า ขณะนี้ สพฐ.ได้สานต่อที่จะให้โรงเรียนจัดการศึกษาเพื่อการมีงานทำ/ เพื่อการประกอบอาชีพต่อเนื่องต่อไป ซึ่งจะมีโรงเรียนนำร่อง ประมาณ 1,000 โรงเรียน ดังที่ ผอ.เขต ได้ทราบแล้วในการประชุม ผอ.เขต ซึ่งจะประสานความร่วมมือกับมหาวิทยาลัย โดยมีสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา ของ สพฐ. เป็นเจ้าภาพหลักในการดำเนินการ

6. ชุมชนลุกขึ้นมาจัดการศึกษากันเอง: ข้อมูลจากผู้ทรงคุณวุฒิได้ชี้ให้เห็นว่า ขณะนี้ชาวบ้านจัดการศึกษากันเอง ไม่รอ-หวังพึ่งภาครัฐฝ่ายเดียว จึงได้เรียนให้ที่ประชุมทราบว่า ขณะนี้ สพฐ. มีคณะทำงานเกี่ยวกับ Home school ได้จัดทำระบบ ระเบียบ หลักเกณฑ์การเทียบโอน และแก้ไขปัญหาการวัดและประเมินผลเสร็จเรียบร้อยแล้ว เพื่อเอื้ออำนวยให้ทั้งชุมชน หรือพ่อแม่ผู้ปกครองจัดการศึกษาได้เอง

แม้ว่า การเชื่อมความคิดจากเวทีเสวนาจะดูคล้าย “โฆษณา” แต่ก็เพียงหวังจะให้ ผอ.เขต , รอง ผอ.เขต, ศึกษานิเทศก์, ผู้บริหารโรงเรียน ที่อยู่ในที่ประชุม ประมาณ 200 คน ได้ทราบว่า ประเด็นต่างๆ ที่ได้เรียนรู้นี้ สอดคล้องกับนโยบายและทิศทางของ สพฐ.

สิ่งที่ผมรับรู้จากเวทีนี้ และเห็นว่าเป็นความท้าทายของกระทรวงศึกษาธิการ และสพฐ. คือ

1. การพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา จะเดินด้วยหัวใจ ด้วย “แรงบันดาลใจ” “กำลังใจ” กันจริงๆ จังๆ อย่างไร บทบาทของส่วนกลางในฐานะผู้หนุนเสริมและเอื้ออำนวยให้เกิด จะต้องเปลี่ยนแปลงวิธีคิด วิธีทำกันอย่างไร

2.  การเปลี่ยนแปลงจากระบบ Training ไปสู่ระบบ Coaching ที่มีพลัง ควรเป็นอย่างไรในภาคปฏิบัติ ข้อเสนอจากผลโครงการ LLEN เสนอให้มหาวิทยาลัยเป็นแกนหลักในการดำเนินการ Coaching  จะมีกระบวนการและผลดีกว่า ระบบ coaching ที่ศูนย์พัฒนาการนิเทศและเร่งรัดคุณภาพการศึกษา (ศนฐ.) สพฐ. ดำเนินการอยู่อย่างไร หรือ วิธีจะประสานการดำเนินร่วมกันอย่างไร

3. ปัญหาด้านคุณภาพผู้เรียนสะท้อนประสิทธิภาพการบริหารจัดการของกระทรวงศึกษาและ สพฐ. เป็น Hot Issue ของสังคม จะมีวิธีการเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการบริหารจัดการศึกษาอย่างไร จะประยุกต์ใช้ข้อเสนอทั้งเรื่อง Area-based Education หรือ Province-based Education หรือ Networking หรือ Outbreeding  อย่างไร

สุดท้าย ผมได้คุยกับ ศ.ดร.อุทุมพร จามรมาน อดีต ผอ.สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ปัจจุบันเป็นที่ปรึกษาสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ขณะที่รับประทานอาหารกลางวันโต๊ะเดียวกัน ผมถามอาจารย์ท่านว่า ปัญหาคุณภาพที่เห็นๆ กันอยู่นี้ เป็นเพราะมีปัญหาจริง หรือประเทศเรามีระบบการวัดและประเมินดีขึ้นกว่าแต่ก่อน สมัยก่อนมีการสอบแบบนี้ไหม คนสอบตกเยอะไหมแตกต่างจากปัจจุบันไหมอาจารย์ตอบว่า สมัยก่อนมีการสอบและมีคนตกมากเช่นกัน (ผมจึงบอกว่า แสดงว่า อดีตและปัจจุบันเหมือนๆ กัน) อาจารย์บอกว่า จุดต่างคือ เมื่อประมาณ 20 ปีที่ผ่านมา ประเทศเราขาดครูและเปิดรับใครก็ได้มาเป็นครู และขณะนี้คือ ผลพวงของคุณภาพครูชุดนั้น...
--------------------------------------------------