หน้าเว็บ

วันอาทิตย์ที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2557

โครงการปฏิรูปการเรียนรู้สู่ผู้เรียน

โครงการปฏิรูปการเรียนรู้สู่ผู้เรียน
พิทักษ์ โสตถยาคม
26 ตุลาคม 2557

            เมื่อวันศุกร์ที่ 24 ตุลาคม 2557 เวลา 15.45-18.00 น. ณ ห้องประชุม สพฐ.2 มีการประชุมหารือเรื่องการปฏิรูปการศึกษา ผู้ร่วมประชุม ได้แก่ (1)  รองศาสตราจารย์ประภาภัทร นิยม ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (2)  นายอมรวิชช์ นาครทรรพ ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (3)  นายกมล รอดคล้าย เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (4)  นางรัตนา ศรีเหรัญ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (5)  นายรังสรรค์ มณีเล็ก รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (6)   นางเบญจลักษณ์ น้ำฟ้า ผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านวิชาการและพัฒนากระบวนการเรียนรู้ (7)  นายพิธาน พื้นทอง ที่ปรึกษาด้านเครือข่ายและการมีส่วนร่วม (8)  นายชวลิต โพธิ์นคร ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาครูและบุคลากรการศึกษาขั้นพื้นฐาน (9)  นางบรรเจอดพร สู่แสนสุข         รองผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา (10)  นายมานิต สิทธิศร ศึกษานิเทศก์เชี่ยวชาญ สพป.ศรีสะเกษ เขต 4 (11)  นายพิทักษ์ โสตถยาคม นักวิชาการศึกษาชำนาญการ สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา และ(12)  ผู้แทนสถาบันพัฒนาครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา สาระการประชุมมีดังนี้

          รองศาสตราจารย์ประภาภัทร นิยม ประธานการประชุมได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบว่า การปฏิรูปการศึกษาที่จะดำเนินการต่อจากนี้ไปจะเป็นการปฏิรูปในระดับปฏิบัติการเพื่อให้เกิดผลตามที่คาดหวัง และมีหลักฐานเชิงประจักษ์ของการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น เป็นการมุ่งเน้นที่การปฏิรูปการเรียนรู้สู่ผู้เรียน มีการพัฒนาครูด้วยการโค้ช มีการสร้างทีมโค้ชขึ้นเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับครู และจะขอความร่วมมือสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษามาเป็นผู้วิจัยติดตามประเมินผลการดำเนินงาน ซึ่งมุ่งหวังว่าการปฏิรูปการศึกษาครั้งนี้จะแตกต่างจากครั้งที่ผ่านๆ มา เพราะมุ่งเน้นปฏิรูปการเรียนรู้ จะดำเนินงานโครงการปฏิรูปการเรียนรู้สู่ผู้เรียน โดยสถานศึกษา เขตพื้นที่การศึกษา และ/หรือจังหวัด สำหรับเรื่องการพัฒนาครูที่ดำเนินการโดยหน่วยงานต้นสังกัดและองค์กรต่างๆนั้น ขณะนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้มอบหมายให้สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาดูงานภาพรวมของการพัฒนาครูทั้งระบบ

             รองศาสตราจารย์ประภาภัทร นิยม ประธานการประชุมได้นำเสนอโครงการปฏิรูปการศึกษา “โครงการปฏิรูปการเรียนรู้สู่ผู้เรียน โดยสถานศึกษา เขตพื้นที่การศึกษา และ/หรือจังหวัด” ให้ที่ประชุมพิจารณา โดยชี้ให้เห็นว่า กลุ่มเป้าหมายของโครงการคือ ผู้เรียนและครู แม้จะมีข้อมูลระบุว่าครูเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผู้เรียนมีปัญหา แต่ก็ไม่สามารถละเลย/ทอดทิ้งครูได้ จึงจำเป็นที่จะต้องช่วยกันปั้นแต่งและช่วยเสริมศักยภาพครูให้นำพานักเรียนไปให้ถึงฝั่งฝัน โดยช่วยให้สามารถเลือกใช้นวัตกรรมที่มีอยู่หลากหลายเพื่อพัฒนาผู้เรียนอย่างได้ผล โครงการนี้มีวัตถุประสงค์พัฒนาผู้เรียน 3 ประการคือ (1) ยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน (2) พัฒนาทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 และ(3) เสริมสร้างคุณลักษณะพลเมืองไทยที่ดี รายละเอียดดังแผนภาพที่ 1-6


แผนภาพที่ 1 จุดมุ่งหมายของโครงการ

แผนภาพที่ 2 หลักการและแนวทาง


แผนภาพที่ 3 ปฏิรูปโดยอิงพื้นที่


แผนภาพที่ 4 ปฏิรูปการจัดการเรียนการสอนทั้งโรงเรียน 


แผนภาพที่ 5 ใช้ระบบที่สร้างความมั่นใจได้ว่าปฏิสัมพันธ์ของครูและเด็กมุ่งสู่คุณภาพจริง


แผนภาพที่ 6 เน้นปรับความสัมพันธ์ของครูและผู้เรียน

         
ที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณา และมีข้อคิดเห็นดังต่อไปนี้
1. หัวใจคือปฏิรูปการเรียนรู้ คำว่า “ปฏิรูปการเรียนรู้” เป็นคำที่มีความเหมาะสมที่จะนำมาใช้ชูประเด็นเป็นแกนหลักในการปฏิรูปการศึกษา เพราะเป็นคำที่ผู้เกี่ยวข้องมีความเข้าใจไปในทิศทางเดียวกัน แต่ก็จำเป็นที่จะต้องกำหนดให้ชัดเจนว่ามีองค์ประกอบที่สำคัญอะไรบ้าง
2. แนวทางชัดต้องปฏิบัติจริงจัง คำหลักของแนวทางที่จะใช้ในโครงการ อาทิ อิงพื้นที่ Coaching เป็นคำสำคัญที่จำเป็นในการปฏิรูปการเรียนรู้ ซึ่งในช่วงปฏิบัติการจะต้องดำเนินการอย่างจริงจังและเข้มแข็ง
3. ควรต่อเนื่องระยะยาว ระยะเวลาในการดำเนินโครงการที่กำหนดไว้ จำนวน 2 ระยะ/ เฟส ถือว่าน้อยเกินไป ควรกำหนดให้สามารถดำเนินการอย่างต่อเนื่องระยะยาวขึ้น อาจเป็น 8 ระยะ/เฟส เพื่อให้โรงเรียนติดตั้งระบบการปฏิรูปการเรียนรู้อย่างมั่นคงแข็งแรงในโรงเรียนได้
4. โค้ชตัวจริงอยู่ในโรงเรียน ในการพัฒนาโรงเรียนสามารถเลือกใช้นวัตกรรมทั้งการบริหารจัดการและนวัตกรรมการจัดการเรียนรู้ได้เองรวมทั้งการโค้ชที่สามารถเลือกทำงานร่วมกับคณาจารย์มหาวิทยาลัยและ/หรือศึกษานิเทศก์ แต่ไม่ควรมองข้ามพี่เลี้ยง (Mentor) ที่อยู่ใกล้ชิดครูและผู้บริหารโรงเรียน ซึ่งมีความสำคัญมาก อาจเป็นครูเก่งในโรงเรียน หรือครูวิชาการในโรงเรียนนั้นๆ และบุคคลที่สำคัญที่สุดที่ควรทำหน้าที่ Coaching and Mentoring ให้ครูในโรงเรียน ก็คือ ผู้อำนวยการโรงเรียน และรองผู้อำนวยการโรงเรียน
5. ควรมีพี่เลี้ยงทางวิชาการให้การชี้แนะ จากผลของชุดโครงการวิจัยและพัฒนาเพื่อปฏิรูปการเรียนรู้ทั้งโรงเรียน (โครงการ วพร.) สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ระหว่างปี 2545-2547 โดยรองศาสตราจารย์ ดร.ทิศนา แขมมณี และคณะ ได้ดำเนินการปฏิรูปการเรียนรู้ทั้งโรงเรียน จำนวน 135 โรงเรียน รวม 49 โครงการ ใน 33 จังหวัด พบว่า พี่เลี้ยงทางวิชาการมีความสำคัญจำเป็นต่อการปฏิรูปการเรียนรู้ทั้งโรงเรียนอย่างยิ่งและมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายให้หน่วยงานต้นสังกัดสนับสนุนให้มีนักวิชาการภายนอก/พี่เลี้ยงทางวิชาการใช้กระบวนการชี้แนะทางปัญญา (cognitive coaching) ส่งเสริมการปฏิรูปการเรียนรู้ของบุคลากรในโรงเรียน ซึ่งในโครงการปฏิรูปการเรียนรู้สู่ผู้เรียนที่จะดำเนินการอาจเสนอแนะให้โรงเรียนระบุพี่เลี้ยงทางวิชาการที่โรงเรียนมีความเชื่อมั่นเข้ามาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการพัฒนาตลอดโครงการ
6. เขตและโรงเรียนเห็นด้วยตั้งแต่ต้น-โครงการมีวิจัยระบบจัดการควบคู่ เห็นด้วยในหลักการของโครงการที่จะใช้ Coaching และนวัตกรรมแล้วไปวัดผลการเปลี่ยนแปลงที่ตัวเด็ก แต่ประเด็นสำคัญคือ (1) จะทำอย่างไรให้โรงเรียนและเขตพื้นที่การศึกษาเห็นดีด้วยตั้งแต่แรกเริ่มโครงการ (2) จะทำอย่างไรให้ได้ 2 ต่อ คือ ได้ทั้งนวัตกรรมที่ส่งผลจริง และได้ปฏิรูประบบงาน/การจัดการแบบใหม่ด้วย ซึ่งการจัดการแบบใหม่ที่จะปลดล็อคปัญหาอุปสรรค จึงควรมีการวิจัยระบบการจัดการใหม่คู่ขนานไปกับกระบวนการพัฒนา เพราะการวิจัยจะช่วยตอบโจทย์หลายเรื่อง เช่น การบริหารจัดการ การสร้างแรงจูงใจ การปรับตารางเวลางานและการสอน หลักสูตร วิธีการใช้ทรัพยากรที่เหมาะสม บทบาทกรรมการสถานศึกษา การคิด Unit Cost ฯลฯ ดังนั้น ควรให้หน่วยงานที่ไม่ได้เป็นผู้ดำเนินงานโครงการนี้โดยตรงเป็นผู้วิจัยประเมินผล ได้แก่ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ทั้งนี้ ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (นายอมรวิชช์ นาครทรรพ) จะช่วยคัดสรรฝ่ายวิจัยประเมินผลโครงการ
7.  มุ่งสู่ Autonomous school ท้ายที่สุดโรงเรียนในโครงการปฏิรูปการเรียนรู้สู่ผู้เรียนจะมีลักษณะโรงเรียนนิติบุคคล ซึ่งจากการสอบถามโรงเรียนที่อยู่ในการส่งเสริมของสถาบันอาศรมศิลป์และโรงเรียนรุ่งอรุณในการเปลี่ยนแปลงคุณภาพการจัดการศึกษา พบว่า โรงเรียนต้องการปรับเปลี่ยนการจัดสรรงบประมาณจากหน่วยงานต้นสังกัดใหม่ ปรับหลักสูตรให้ยืดหยุ่น ปรับการสอบ O-NET ให้เหมาะสม ปรับมาตรฐานและตัวชี้วัดการประกันคุณภาพให้เหมาะสม และปรับลดโครงการของกระทรวงศึกษาธิการที่ดึงครูออกจากห้องเรียน/ โรงเรียน
8.  ต่อยอดจากทุนเดิม ควรใช้ต้นทุนที่มีอยู่แล้วมาเป็นฐานของการจัดทำโครงการ เช่น โครงการ Teacher Coaching ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือของ สพฐ.และ สกว. หรือเครือข่ายครูของ สสค. หรือโครงการ Area-based Education (ABE) จำนวน 16 จังหวัด ที่มีกลไกการพูดคุยเรื่องการศึกษาในระดับจังหวัด และมีประธานสภาการศึกษาจังหวัดเป็นที่ยอมรับทำหน้าที่ประสานเชื่อมโยงผู้เกี่ยวข้องในพื้นที่อยู่แล้ว
9. ผู้บริหารเรียนรู้จากหน้างาน-เป็นกัลยาณมิตรนิเทศ ควรพัฒนาผู้บริหารโรงเรียนให้มีความสามารถในการกำกับติดตามงานได้ และการเลือกโรงเรียนควรพิจารณาจากขนาดโรงเรียนด้วย อย่างไรก็ตาม ในการดำเนินงานครั้งนี้ ไม่มีเวลาที่จะพัฒนาผู้บริหารโรงเรียนเป็นการเฉพาะ จึงจะสร้างกระบวนการเรียนรู้ของผู้บริหารโรงเรียนไปพร้อมๆ กับการพัฒนาครู หรือให้ผู้บริหารโรงเรียนเรียนรู้ไปพร้อมกับครู ส่งเสริมผู้บริหารโรงเรียนให้ทำหน้าที่เป็นกัลยาณมิตรนิเทศให้ได้ เช่นเดียวกับประเทศฟินแลนด์ใช้ Routine to Research ในการพัฒนาครูและผู้บริหาร
10. เน้นทบทวนไตร่ตรองตนเอง Coaching มีหลายลักษณะ เช่น Coaching ทางการกีฬา แต่ Coaching ที่สร้างกระบวนการเรียนรู้อย่างมากคือ การโค้ชที่ให้ผู้ได้รับการโค้ชได้มีโอกาสทบทวนไตร่ตรองตนเอง หรือ Reflective Coaching
11. ควรวางเงื่อนไขให้ทำได้ต่อเนื่อง ควรพิจารณาปัจจัยเงื่อนไขให้โครงการดำเนินการต่อเนื่อง ไม่สะดุดเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง หรือการเปลี่ยนแปลงผู้บริหารระดับสูงขององค์กร หรือการเปลี่ยนตัวผู้บริหารโรงเรียน/ผู้บริหารเขตพื้นที่การศึกษา เช่น การให้ทุนผูกพันต่อเนื่องระยะยาว 3-4 ปี การสร้างข้อตกลงให้ผู้อำนวยการเขตพื้นที่และ/หรือโรงเรียนปฏิบัติงานอยู่ในพื้นที่ตลอดระยะเวลาดำเนินงานโครงการ
12. เกณฑ์การเลือกพื้นที่เป้าหมาย อาจประกาศให้เขตพื้นที่การศึกษาทราบเกณฑ์การพิจารณา อย่างน้อย 3 ประการ คือ (1) เป็นพื้นที่ที่มีตัวช่วยทางวิชาการ (2) เป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพในการระดมความร่วมมือ ระดมทุน และผนึกพลังของการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนได้ (3) เป็นพื้นที่ที่มีเครือข่ายครู หรือโรงเรียนนวัตกรรมที่สามารถต่อยอด/ขยายผลได้ทันที
13.  เรียนรู้จากโรงเรียนที่มีนวัตกรรมเด่น ควรจัดทำ mapping โรงเรียนเด่น/โรงเรียนนวัตกรรม เพื่อให้ได้ข้อมูลเบื้องต้นว่า มีโรงเรียนใดบ้าง ทำอะไร อยู่ที่ไหน และพัฒนาโดยวิธีใด ทั้งนี้ ขอให้นายพิทักษ์ โสตถยาคม ช่วยดำเนินการเตรียมข้อมูลส่วนนี้ไปใช้ประกอบการประชุมผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ ในวันที่ 30 ตุลาคม 2557 (โปรดดูได้จาก Website ของสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา เข้าถึงได้จาก http://inno.obec.go.th )
14. ท้าทาย ผอ.เขต ศักยภาพสูง อีกทางเลือกหนึ่งคือ การส่งเสริมให้ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาที่มีศักยภาพสูง และ/หรือผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาที่ได้รับการบรรจุแต่งตั้งใหม่ ประมาณ 85 คน มาเรียนรู้การเป็นโค้ช มีแรงบันดาลใจ และฮึกเหิมในการดำเนินการปฏิรูปการเรียนรู้และปรับระบบการบริหารจัดการ โดยใช้โครงการปฏิรูปการเรียนรู้สู่ผู้เรียนนี้ เป็นโครงการเพื่อการเรียนรู้ของผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและบุคลากรที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งเป็นพื้นที่ปฏิบัติการสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงประจักษ์
15. เลือกโรงเรียนเพื่อเรียนรู้ปัจจัยสู่ความสำเร็จ การเลือกโรงเรียนควรพิจารณาเลือกจากกลุ่มโรงเรียนที่มีลักษณะแตกต่างกัน เช่น กลุ่มโรงเรียนที่มีศักยภาพและสมัครใจ ซึ่งมีโอกาสประสบความสำเร็จสูง กลุ่มโรงเรียนที่ไม่มีศักยภาพหรือไม่สนใจ ซึ่งจะได้ข้อค้นพบที่น่าสนใจเกี่ยวกับปัจจัยสร้างการเปลี่ยนแปลง รวมทั้งอาจพิจารณากลุ่มโรงเรียนที่มีต้นทุนเดิมในการพัฒนาอยู่แล้วในโครงการ ABE อย่างไรก็ตาม การเลือกโรงเรียนครั้งนี้จะบอกเกณฑ์การเลือกพื้นที่เป้าหมาย แล้วให้เขตพื้นที่การศึกษาและโรงเรียนพิจารณาสมัครเข้าร่วมโครงการ เมื่อได้จำนวนตามกำหนดก็จะพูดคุยสร้างความเข้าใจในการจัดทำแผนปฏิบัติการของโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการแต่ละรุ่น
16. เรียนรู้จากอดีตเพื่อวางระบบกลไกพัฒนาแบบหวังผล สังเคราะห์ปัจจัยเงื่อนไขจากโรงเรียนเข้มแข็งในโครงการทดลองนำร่องต่างๆ เช่น โรงเรียนในโครงการ Constructionism ของ สกศ. โรงเรียนพัฒนาทักษะในศตวรรษที่ 21 ของมูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์ เป็นต้น เพื่อนำองค์ความรู้และบทเรียนที่ได้ ไปใช้ในดำเนินงานโครงการครั้งนี้ ซึ่งถ้าพบว่า โรงเรียนที่เข้มแข็งและประสบความสำเร็จเหล่านั้น มีปัจจัยใดหนุนเสริม และปัจจัยใดเป็นอุปสรรค ฉะนั้น เมื่อจะดำเนินโครงการปฏิรูปการเรียนรู้สู่ผู้เรียนในพื้นที่ใด ก็จะได้ออกแบบระบบ กลไก และให้จัดปัจจัยหนุนเสริมให้เอื้อต่อความสำเร็จ ในขณะเดียวกันก็พยายามขจัดหรือลดอุปสรรคของการดำเนินการให้เหลือน้อยที่สุด
17. ควรพัฒนาแบบ "ยกโรง" ทำทั้งโรงเรียน ขณะนี้ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและบุคลากรมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับ Coaching and Mentoring พอสมควร โดยเฉพาะผู้ที่ร่วมอยู่ในการพัฒนาครูแบบ Browser in Service ในปีงบประมาณ 2556 และในโครงการความร่วมมือของ สพฐ.และ สกว.ในโครงการวิจัยกระบวนการพัฒนาครูด้วยระบบหนุนนำต่อเนื่อง (Teacher Coaching) จำนวน 9 จังหวัด จากผลการดำเนินงานโครงการพัฒนาครูที่ผ่านมา พบว่า ควรดำเนินการพัฒนาครูและบุคลากรทั้งโรงเรียน หรือแบบ “ยกโรง” เพราะจะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงโรงเรียนมากกว่าเลือกพัฒนาครูเพียงบางคน ซึ่งกรอบการพัฒนาครูในปีงบประมาณ 2556 มุ่งยกระดับคุณภาพผู้เรียนตามหลักสูตรแกนกลางฯ สมรรถนะด้าน Literacy, Numeracy และ Reasoning Ability ด้วยกระบวนการส่งเสริมผู้เรียน 5 ขั้น ได้แก่ (1) ตั้งคำถาม (learning to question)  (2) สืบค้น (learning to search) (3) สร้าง/ปรุงแต่ง (learning to construct)   (4) สื่อสาร (learning to communicate) และ(5) บริการ (learning to serve) การพัฒนาได้ใช้โรงเรียนเป็นฐาน เน้น coaching and mentoring, on-the-job training, classroom action research ดำเนินการโดยมหาวิทยาลัย จำนวน 48 แห่ง พัฒนากลุ่มเป้าหมาย 22,600 คน ประกอบด้วย ครู 80% ผู้บริหารโรงเรียน 10% และศึกษานิเทศก์ 10% ซึ่งแนวทางและโมเดลที่คาดหวังจากการพัฒนาในปีงบประมาณ 2556 ดังแผนภาพที่ 3-4




แผนภาพที่ 3 แนวการพัฒนาครู ปีงบประมาณ 2556




แผนภาพที่ 4 โมเดลที่คาดหวัง ปีงบประมาณ 2556


18. ไม่ผ่อนปรนผลสัมฤทธิ์-ทำอย่างมุ่งมั่นการันตีผล เป้าหมายโครงการปฏิรูปการเรียนรู้สู่ผู้เรียน โดยสถานศึกษา เขตพื้นที่การศึกษา และ/หรือจังหวัด คือ การยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 และการเป็นพลเมืองไทยที่ดีของผู้เรียน ดังนั้น การสร้างการเปลี่ยนแปลงด้วยนวัตกรรมเพื่อปฏิรูปการเรียนรู้ จะต้องเห็นพัฒนาการหรือสัญญาณบวก (positive sight) ของผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ไม่สามารถผ่อนปรน/เว้นวรรคการวัดประเมินผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนได้ เพราะต้องการให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเห็นข้อมูลเชิงประจักษ์อย่างชัดเจน และเกิดความมั่นใจในกระบวนการปฏิรูปการเรียนรู้สู่ผู้เรียน ตามแนวทางปฏิรูปที่อิงพื้นที่ สร้างกลไกการบริหารจัดการบุคลากรให้เกิดความร่วมมือตอบโจทย์จริงของบริบท ใช้ปัจจัยเสริม ได้แก่ การติดตั้งระบบการติดตามประเมินการทำงาน (monitoring) ระบบนิเทศ (coaching)/ระบบคู่นิเทศ (peer coaching) เพื่อเป็นกลไกการพัฒนาและฝึกอบรมบนงาน (on-the-job training) และให้ครู/ผู้บริหารสามารถจัดตารางการทำงานให้มีเวลาประชุม AAR (After Action Review) เหมือนเป็นงานประจำที่จำเป็น ครูไม่ต้องออกจากห้องเรียน/โรงเรียน และช่วยให้มีการเก็บหลักฐานการทำงานที่ผูกโยงกับผลที่เกิดกับผู้เรียน

สรุปการประชุม
            เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (นายกมล รอดคล้าย) ได้สรุปผลและวางแนวทางการขับเคลื่อนการดำเนินงานโครงการปฏิรูปการเรียนรู้สู่ผู้เรียน โดยสถานศึกษา เขตพื้นที่การศึกษา และ/หรือจังหวัดของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ดังนี้
1.     หลักการทำคือมุ่งปฏิรูปการเรียนรู้ เป็นหัวใจสำคัญที่จะเป็นตัวชี้นำและเป็นแกนหลักในการปฏิรูปการศึกษา
2.      กระบวนการทำงานจะอิงแนวทางการดำเนินงานโครงการที่แบ่งเป็น 2 ระยะ/เฟส และขอให้พิจารณาว่า จะสามารถเริ่มดำเนินการเฟสที่สองให้คร่อมเฟสแรกได้หรือไม่ เช่น เริ่มดำเนินการเฟสสองหลังจากดำเนินการเฟสแรกไปแล้วประมาณหนึ่งเดือนครึ่ง
3.      มอบหมายฝ่ายเลขานุการ มอบให้ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา เป็นฝ่ายเลขานุการ เพราะเป็นงานในมิติเชิงนวัตกรรม ทั้งนี้ขอให้นายพิธาน พื้นทอง และนางบรรเจอดพร สู่แสนสุข ช่วยยกร่างรายชื่อคณะกรรมการที่จะเป็นแกนนำขับเคลื่อนโครงการ และเสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเป็นผู้แต่งตั้งคณะกรรมการชุดนี้โดยเร็ว ทั้งนี้ ฝ่ายวิจัยจะเป็นองค์กรภายนอกสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน นั่นคือ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) โดยขอความอนุเคราะห์ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (นายอมรวิชช์ นาครทรรพ) เป็นผู้เสนอรายชื่อผู้ที่เหมาะสมเป็นฝ่ายวิจัย
4.      เนื้องาน จะดำเนินงานตามปฏิทินโครงการ ซึ่งหนึ่งในกิจกรรมสำคัญที่จะเกิดขึ้นในการประชุมผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ วันที่ 30 ตุลาคม 2557 เวลา 08.30-10.00 น. ก็คือ การพูดคุยให้ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามองเห็นเป้าหมายเจตนา หลักการ และกระบวนการของโครงการปฏิรูปการเรียนรู้สู่ผู้เรียน โดยสถานศึกษา เขตพื้นที่การศึกษา และ/หรือจังหวัด ให้เห็นพ้องต้องกันว่า เรื่องนี้สำคัญที่สุด หากทำเรื่องนี้ให้สำเร็จเพียงเรื่องเดียวก็จะสำเร็จหมดทุกเรื่อง ทั้งนี้ ขอให้นางบรรเจอดพร สู่แสนสุข ประสานที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รองศาสตราจารย์ประภาภัทร นิยม) เกี่ยวกับเนื้อหา วิทยากร และสิ่งที่จะได้รับจากผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา เช่น การแจ้งความประสงค์/ความสนใจร่วมโครงการ
5.      งบประมาณ ให้ใช้งบพัฒนาบุคลากรของสำนักพัฒนาครูและบุคลากรการศึกษาขั้นพื้นฐาน
6.      จัดให้มีสำนักงานเลขานุการโครงการเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินการอย่างเป็นระบบ รวมทั้งวางกลไกอย่างเป็นทางการเพื่อให้การดำเนินงานชัดเจน และกำหนดผลสำเร็จที่จะเกิดขึ้นในแต่ละระยะของการดำเนินการ เช่น ระยะ 3 เดือน ระยะ 6 เดือน
----------------------------------------------

วันเสาร์ที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2557

แก่นแท้ค่านิยม

แก่นแท้ค่านิยม
พิทักษ์ โสตถยาคม และสมชัย แซ่เจีย

            ค่านิยมหลักของคนไทย 12 ประการที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ประกาศเป็นเป้าหมายการพัฒนาคน (รัฐบาลไทย: ออนไลน์) เป็นคุณลักษณะที่จะมุ่งเน้นและส่งเสริมให้คนไทยยึดถือในวิถีชีวิต การประกาศอย่างชัดเจนเช่นนี้ทำให้ผู้เกี่ยวข้องกับการพัฒนากำลังคนของชาติได้มีโอกาสทบทวนไตร่ตรองว่าค่านิยม ทั้ง 12 ประการ มีความสำคัญจำเป็นต่อการสร้างสรรค์สังคมไทยให้เข้มแข็งมากน้อยเพียงใด ได้สะท้อนคิดต่อประสิทธิผลของวิธีการพัฒนาที่ผ่านมา และนำไปสู่การปรับเปลี่ยนวิธีคิดวิธีปฏิบัติให้ก่อเกิดผลที่จริงแท้และยั่งยืน หากผู้เกี่ยวข้องเห็นพ้องต้องกันก็จะเกิดพลังร่วมของการพัฒนาเพื่อเป้าหมายเดียวกัน ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานและโรงเรียนในสังกัดเป็นส่วนสำคัญยิ่งในการหล่อหลอมพัฒนาเด็กและเยาวชนให้เป็นคนดีมีความสามารถ
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (2557: ออนไลน์) ได้จัดทำแนวปฏิบัติเกี่ยวกับค่านิยมหลัก 12 ประการสู่การปฏิบัติ และสื่อสารหลายวิธีให้ถึงเด็ก ครู และผู้ปกครอง เพื่อชี้ให้เห็นว่าค่านิยมหลัก 12 ประการเป็นเรื่องสำคัญที่ควรปลูกฝังให้เกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชนไทย ครอบคลุมสอดคล้องกับคุณลักษณะที่พึงประสงค์ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 ที่ผู้เกี่ยวข้องพยายามดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งแนวปฏิบัติดังกล่าวนับว่าเป็นประโยชน์อย่างมากในการตัดสินใจเลือกค่านิยมให้เหมาะสมต่อการจัดการเรียนรู้แต่ละระดับชั้น สำหรับบทความนี้จะนำเสนออีกทางเลือกหนึ่งของการนำค่านิยมหลักไปสู่ห้องเรียน เป็นการเลือกค่านิยมที่สำคัญบางข้อมาทำให้เห็นผล และใช้เรื่องเล็กๆ ที่เราเคยมองข้ามมาให้นักเรียนได้เรียนรู้และฝึกกระบวนการทางปัญญา
จุดเริ่มต้นของทางเลือกนี้เกิดขึ้นจากคำถามจุดประกายความคิดของ ดร.สุรัฐ ศิลปอนันต์ ประธานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานที่ว่า ถ้าทำเรื่องค่านิยมหลักให้สำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมจะทำข้อใดที่สำคัญที่สุด อย่างไรจึงได้นำค่านิยมทั้งหมดมาพินิจพิจารณา พบว่า มีข้อหนึ่งที่น่าจะเป็นเหตุให้เกิดผลข้ออื่นๆ ตามมา ข้อนั้นคือข้อ 9 มีสติรู้ตัว รู้คิด รู้ทำ รู้ปฏิบัติตามพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งข้อนี้มุ่งเน้นให้นักเรียน คิดเป็นหรือส่งเสริมความสามารถในการคิด คาดการณ์ และควบคุมตนเองให้ปฏิบัติตนเหมาะสมกับกาลเทศะ ซึ่งสอดคล้องกับดวงเดือน พันธุมนาวิน, โกศล มีคุณ, และงามตา วนินทานนท์ (2556: 35) ระบุว่า มีผลงานวิจัยจำนวนมากยืนยันว่า จิตลักษณะเช่นนี้เป็นจิตลักษณะสำคัญที่สุดในคนที่มีพฤติกรรมของคนดีและคนเก่ง และสำคัญต่อพฤติกรรมแทบทุกประเภทของบุคคล
            ขอยกพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชเกี่ยวกับการมีสติรู้ตัวและปัญญารู้คิด ที่ได้พระราชทานพรปีใหม่ พ.ศ. 2552 แก่ประชาชนชาวไทย เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ.2551 ความว่า
            ความสุขความเจริญนี้ เป็นสิ่งที่พึงปรารถนาอย่างยิ่งของคนเรา แต่ความสุขความเจริญนั้น จะสำเร็จผลเป็นจริงได้ ก็ด้วยการที่ทุกคนตั้งตนอยู่ในความไม่ประมาท มีสติรู้ตัวและปัญญารู้คิดกำกับอยู่ตลอดเวลา กล่าวคือ ไม่ว่าจะประพฤติปฏิบัติการใด ก็ใช้สติปัญญาพิจารณาไตร่ตรองจนถ้วนถี่ ให้เห็นกระจ่างถึงผลดี ผลเสีย ทั้งใกล้ไกล ทุกแง่ทุกมุม ความรู้ความเข้าใจชัดถึงผลดีผลเสีย ย่อมจะทำให้แต่ละคนเล็งเห็นแนวทางปฏิบัติที่ถูกต้องว่าสิ่งใดควรละเว้น และสิ่งใดควรปฏิบัติ เพื่อให้บังเกิดผล เป็นประโยชน์ที่แท้จริงและยั่งยืน ทั้งแก่ส่วนตัวและส่วนรวม (Royal Thai Embassy, Singapore: ออนไลน์)
เมื่ออ่านอย่างวิเคราะห์พระบรมราโชวาทองค์นี้แล้ว ยิ่งเห็นชัดเจนถึงความสำคัญจำเป็นและคุณค่าที่แท้จริงของคนที่มีสติรู้ตัวและปัญญารู้คิดกำกับอยู่ตลอดเวลา ดังนั้น ผู้รับผิดชอบในการจัดการศึกษาจึงควรน้อมนำพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาปฏิบัติ และปลูกฝังให้ปรากฏชัดกับนักเรียนตั้งแต่วัยเยาว์ โดยเริ่มฝึกสังเกต และพิจารณาเหตุและผลของการกระทำจากประเด็นเล็กๆ ใกล้ตัว และสร้างการเรียนรู้ให้กับนักเรียนจากสถานการณ์ต่างๆ ที่พบเจอในกิจวัตรประจำวัน
                            แผนภาพ ค่านิยมข้อ 9 ส่งผลต่อค่านิยมข้ออื่น

การฝึกให้นักเรียนใช้สติรู้ตัวและปัญญารู้คิดอย่างยั่งยืนนั้น จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนเงื่อนไขและปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูและนักเรียนเสียใหม่ จากวัฒนธรรมเชิงอำนาจและวัฒนธรรมการเลียนแบบ มาเป็นวัฒนธรรมการเรียนรู้ที่เคารพในความเป็นมนุษย์ ดังนั้น ครูจะเปลี่ยนจากการดุด่าเฆี่ยนตี หรือพร่ำสั่งสอนนักเรียนอยู่ตลอดเวลาว่า ต้องทำอะไรอย่างไร หรือห้ามทำอะไรอย่างไร เปลี่ยนเป็นการส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ด้วยการสังเกตการกระทำของตนเอง ชี้ชวนให้คิดพิจารณาด้วยตนเองว่า การทำและไม่ทำอะไรส่งผลให้เกิดอะไรตามมา และทำไมจึงเป็นเช่นนั้น เพื่อรู้ถึงเหตุและผลหรือหลักการอันจะนำไปสู่การตัดสินใจอย่างมีวิจารณญาณว่าควรทำอะไร อย่างไรได้ด้วยตนเอง การที่ครูตั้งคำถามเพื่อถามหาเหตุ หาผลเช่นนี้ จะทำให้นักเรียนได้คิดอย่างเป็นเหตุเป็นผล มองเห็นเหตุเห็นผลตลอดจนผลกระทบที่จะเกิดขึ้นตามมาทั้งปัจจุบันและอนาคตในแง่มุมต่างๆ ไม่ว่าต่อตนเองและบุคคลอื่น
การจัดโอกาสให้นักเรียนได้เรียนรู้ดังที่กล่าวมา ครูสามารถนำสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิตจริง ที่เคยมองข้ามว่าเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ มาใช้เป็นบทเรียนที่มีความหมายสำหรับการเสริมสร้างค่านิยมได้เป็นอย่างดี อาทิ นักเรียนส่งเสียงดังขณะรับประทานอาหาร วิ่งเล่นและส่งเสียงดังในห้องเรียน เข้าแถวไม่เป็นระเบียบเรียบร้อย ยกโต๊ะเก้าอี้เสียงดังโครมคราม สะท้อนถึงการขาดระเบียบวินัย หรือไม่สามารถควบคุมพฤติกรรมของตนให้เหมาะสมกับกาลเทศะได้ ซึ่งวิธีการที่ครูส่วนใหญ่ใช้จัดการกับพฤติกรรมของนักเรียน มักจะใช้วิธีการกำกับ สั่งการ ดุด่าเฆี่ยนตี ซึ่งการกระทำดังกล่าวสะท้อนให้เห็นการใช้อำนาจ อันจะส่งผลให้นักเรียนซึมซับความรุนแรง รอคำสั่ง และปฏิบัติตามเพราะความเกรงกลัวมากกว่าการปฏิบัติอย่างมีสติรู้คิด ดังนั้น ครูควรหยิบยกสถานการณ์ปัญหาเหล่านี้ขึ้นมาพูดคุย ให้นักเรียนทบทวนและสังเกต โดยครูตั้งคำถามเกี่ยวกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นว่าเกิดอะไรขึ้น อย่างไร ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น เหตุการณ์หรือการกระทำดังกล่าวส่งผลกระทบต่อใครอย่างไร  และสุดท้ายเมื่อรู้เช่นนี้แล้วเราควรทำอะไรหรือไม่ควรทำอะไรอย่างไร ทำไมจึงทำเช่นนั้น ตัวอย่างคำถาม เช่น ถ้าเราจะให้การรับประทานอาหารมีเสียงดังน้อยที่สุด เราจะทำอย่างไร จากนั้นให้นักเรียนเป็นผู้กำหนดแนวทางแก้ไขและสร้างข้อตกลงร่วมกัน 
การฝึกให้นักเรียนทำด้วยความเข้าใจที่ถ่องแท้ เห็นผลดีผลเสียที่จะเกิดขึ้นจากการกระทำของตน จะทำให้นักเรียนรู้สึกเห็นคุณค่าของการกระทำนั้นๆ ซึ่งจะมีความหมายและดีกว่าการกระทำเพราะมีคำสั่ง หรือทำเพราะกลัวถูกลงโทษ หรือแม้แต่ทำเพราะต้องการสิ่งตอบแทน การฝึกดังกล่าวเป็นกระบวนการเรียนรู้ด้วยตนเองผ่านกระบวนการทางสังคม ส่งเสริมให้เด็กรู้จักการสร้างข้อตกลงกฎกติกาการอยู่ร่วมกันทีละเล็กละน้อยจากสถานการณ์จริง ครูฝึกให้นักเรียนเรียนรู้ที่จะประเมินทบทวนข้อตกลงและกติกา ว่าสามารถปฏิบัติตามที่ตกลงกันไว้ได้หรือไม่ ซึ่งจะทำให้นักเรียนค่อยๆ ปรับตัว เรียนรู้ที่จะปกครองตนเอง ปกครองดูแลกันเอง สามารถสะท้อนคิดด้วยตนเองและแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเพื่อนในกลุ่มได้ เมื่อนักเรียนผ่านการฝึกฝนตามแนวทางที่กล่าวมา จะทำให้นักเรียนปฏิบัติอย่างรู้คุณค่า ซึ่งการปลูกฝังคุณลักษณะดังกล่าวอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอจะค่อยๆ สั่งสมและก่อเกิดเป็นค่านิยมที่ดีงามติดตัวนักเรียนจนเติบโตเป็นพลเมืองที่ดีในอนาคต
การฝึกนักเรียนให้มีสติรู้ตัวและปัญญารู้คิดดังกล่าวให้ได้นั้น ครูจะต้องลดบทบาทของการกำกับให้นักเรียนต้องทำตามที่ครูบอก/สั่ง ขณะเดียวกันครูจะต้องสร้างบรรยากาศของการเรียนรู้และอยู่ร่วมกันอย่างอบอุ่นเป็นกัลยาณมิตร โดยนำวิถีประชาธิปไตยที่สังคมพึงปรารถนา มาเสริมสร้างให้เด็กได้เรียนรู้และอยู่ร่วมกัน ภายใต้วิถีประชาธิปไตยที่ถูกต้องตั้งแต่เล็กอย่างแยบยล ส่งเสริมให้นักเรียนได้เรียนรู้ร่วมกัน ให้นักเรียนฝึกการคิด ฝึกความเชื่อมั่นในตนเอง ให้ได้แสดงความคิดอย่างมีเหตุมีผล ถึงแม้จะเป็นเรื่องเล็กน้อยก็ตาม นอกจากนั้นควรฝึกให้นักเรียนได้สร้างกฎกติกาที่ควรปฏิบัติและไม่ควรปฏิบัติร่วมกันด้วยกระบวนการกลุ่ม การที่นักเรียนได้เรียนรู้จากกฎกติกาที่สร้างขึ้นเองอย่างมีเหตุมีผล จะทำให้เขาจะยึดถือกฎกติกา ครูควรชี้ชวนให้นักเรียนเห็นถึงผลดีผลเสียที่เกิดจากการปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติตามข้อตกลง และให้ทบทวนตนเองในการปฏิบัติตามข้อตกลงอย่างสม่ำเสมอ  โดยครูจะไม่ใช้อำนาจ แต่จะใช้สถานการณ์ให้นักเรียนมองเห็นปัญหา นอกจากนั้น การทำงานร่วมกันเป็นกลุ่ม กลุ่มละ 4-5 คน จะเป็นการฝึกนักเรียนให้รับฟังความคิดของคนอื่น กล้าแสดงความคิดเห็นของตนเอง เรียนรู้ที่จะปรับความคิดและไม่ยืนกรานในความคิดของตนเอง แต่พร้อมปรับเปลี่ยนอย่างมีเหตุมีผลโดยคำนึงถึงความรู้สึกนึกคิดของผู้อื่น รู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา ตลอดจนคำนึงถึงประโยชน์ของส่วนรวมเป็นสำคัญ
เมื่อนักเรียนอยู่ในบรรยากาศของการอำนวยการการเรียนรู้ของครู ครูให้การชี้แนะเป็นที่ปรึกษา ไม่ปล่อยให้นักเรียนทำกิจกรรมตามลำพัง ซึ่งอาจเกิดความเสียหาย นอกลู่นอกทาง และไม่เกิดผลตามที่คาดหวังได้ หากสังคมเล็กๆ ในห้องเรียนและโรงเรียนที่ครูและศิษย์มีความรัก ความเอื้ออาทร แบ่งปัน ให้อภัย รู้จักการเคารพซึ่งกันและกัน เคารพในกฎกติกา รู้จักใช้สติปัญญาหาเหตุผล ในการไตร่ตรองสิ่งต่างๆ จัดการความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ไม่ใช้อารมณ์ความรุนแรง ย่อมจะทำให้เกิดความเอื้ออาทร รักสามัคคีสมานฉันท์ในหมู่คณะขึ้นเรื่อยๆ ถ้าทำอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอเช่นนี้ นักเรียนจะเข้าใจเรื่องสิทธิและเสรีภาพจากการปฏิบัติจริง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการออกแบบของครู รวมทั้งบุคลากรทั้งโรงเรียนต้องพูดเป็นภาษาเดียวกัน ดำเนินการไปในทิศทางเดียวกัน สิ่งที่สำคัญก็คือ ครูต้องเชื่อว่านักเรียนสามารถเรียนรู้ด้วยตนเองและเปลี่ยนแปลงได้ ฉลาดเลือกหยิบเอาสถานการณ์ที่นักเรียนประสบพบเจอมาให้นักเรียนเรียนรู้ ลดบทบาทจากครูผู้พร่ำบ่นสั่งสอนไปเป็นครูผู้อำนวยการการเรียนรู้ เรียนรู้ที่จะอดทนรอคอย เรียนรู้ที่จะฟังเสียงเด็ก ติดตามฝึกฝนต่อเนื่องจนนักเรียนมีพฤติกรรมที่ดีขึ้น รวมทั้งเป็นต้นแบบที่ดี สร้างสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการเรียนรู้ และร่วมมือกับผู้ปกครองในการหล่อหลอมนักเรียนสู่เป้าหมายเดียวกัน
จะเห็นได้ว่า การนำสถานการณ์เล็กๆ ที่ดูไม่น่าสำคัญและมักมองข้าม มาเป็นประเด็นการเรียนรู้ ฝึกฝนการมีสติรู้ตัวและปัญญารู้คิด ทำให้นักเรียนมีกระบวนการทางปัญญาที่เข้มแข็ง ถ้าหากปราศจากข้อ 9 มีสติรู้ตัว รู้คิด รู้ทำ รู้ปฏิบัติตามพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนี้แล้ว ก็มองไม่เห็นว่านักเรียนจะรู้ซึ้งถึงค่านิยมหลักที่เหลืออีก 11 ประการ ได้อย่างยั่งยืนถาวรอยู่ในความรู้สึกนึกคิดและสติปัญญาของนักเรียนได้อย่างไร  จึงกล่าวได้ว่า ค่านิยมข้อ 9 นี้เป็นเหตุสำคัญของการเกิดค่านิยมข้ออื่นๆ หรือ “แก่นแท้ค่านิยม” ที่ควรส่งเสริมให้นักเรียนทำเป็นกิจวัตร จนเกิดเป็นวิถีชีวิต และวัฒนธรรมการเรียนรู้ต่อไป
---------------------------------------------

รายการอ้างอิง
ดวงเดือน พันธุมนาวิน, โกศล มีคุณ, และงามตา วนินทานนท์.  (2556).  ครูกับการเสริมสร้างจริยธรรมแก่นักเรียน: คำถาและคำตอบ.  กรุงเทพฯ: ศูนย์วิจัยและพัฒนาระบบพฤติกรรมไทย สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ.
รัฐบาลไทย.  (2557).  คสช. กำหนด 12 ค่านิยมหลักของคนไทย เพื่อสร้างสรรค์ประเทศไทยให้เข้มแข็ง. สืบค้น เมื่อ 14 ตุลาคม 2557, จาก http://goo.gl/uLLL53   
Royal Thai Embassy, Singapore.  (2552). HIS MAJESTY KING BHUMIBOL ADULYADEJ'S NEW YEAR ADDRESS 2009สืบค้น เมื่อ 14 ตุลาคม 2557, จาก http://goo.gl/qR3qWV 
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน. (2557).  แนวปฏิบัติเกี่ยวกับค่านิยมหลัก 12 ประการสู่การปฏิบัติ. สืบค้น เมื่อ 14 ตุลาคม 2557, จาก http://goo.gl/0kLMuh