หน้าเว็บ

วันอาทิตย์ที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2557

โครงการปฏิรูปการเรียนรู้สู่ผู้เรียน

โครงการปฏิรูปการเรียนรู้สู่ผู้เรียน
พิทักษ์ โสตถยาคม
26 ตุลาคม 2557

            เมื่อวันศุกร์ที่ 24 ตุลาคม 2557 เวลา 15.45-18.00 น. ณ ห้องประชุม สพฐ.2 มีการประชุมหารือเรื่องการปฏิรูปการศึกษา ผู้ร่วมประชุม ได้แก่ (1)  รองศาสตราจารย์ประภาภัทร นิยม ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (2)  นายอมรวิชช์ นาครทรรพ ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (3)  นายกมล รอดคล้าย เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (4)  นางรัตนา ศรีเหรัญ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (5)  นายรังสรรค์ มณีเล็ก รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (6)   นางเบญจลักษณ์ น้ำฟ้า ผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านวิชาการและพัฒนากระบวนการเรียนรู้ (7)  นายพิธาน พื้นทอง ที่ปรึกษาด้านเครือข่ายและการมีส่วนร่วม (8)  นายชวลิต โพธิ์นคร ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาครูและบุคลากรการศึกษาขั้นพื้นฐาน (9)  นางบรรเจอดพร สู่แสนสุข         รองผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา (10)  นายมานิต สิทธิศร ศึกษานิเทศก์เชี่ยวชาญ สพป.ศรีสะเกษ เขต 4 (11)  นายพิทักษ์ โสตถยาคม นักวิชาการศึกษาชำนาญการ สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา และ(12)  ผู้แทนสถาบันพัฒนาครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา สาระการประชุมมีดังนี้

          รองศาสตราจารย์ประภาภัทร นิยม ประธานการประชุมได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบว่า การปฏิรูปการศึกษาที่จะดำเนินการต่อจากนี้ไปจะเป็นการปฏิรูปในระดับปฏิบัติการเพื่อให้เกิดผลตามที่คาดหวัง และมีหลักฐานเชิงประจักษ์ของการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น เป็นการมุ่งเน้นที่การปฏิรูปการเรียนรู้สู่ผู้เรียน มีการพัฒนาครูด้วยการโค้ช มีการสร้างทีมโค้ชขึ้นเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับครู และจะขอความร่วมมือสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษามาเป็นผู้วิจัยติดตามประเมินผลการดำเนินงาน ซึ่งมุ่งหวังว่าการปฏิรูปการศึกษาครั้งนี้จะแตกต่างจากครั้งที่ผ่านๆ มา เพราะมุ่งเน้นปฏิรูปการเรียนรู้ จะดำเนินงานโครงการปฏิรูปการเรียนรู้สู่ผู้เรียน โดยสถานศึกษา เขตพื้นที่การศึกษา และ/หรือจังหวัด สำหรับเรื่องการพัฒนาครูที่ดำเนินการโดยหน่วยงานต้นสังกัดและองค์กรต่างๆนั้น ขณะนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้มอบหมายให้สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาดูงานภาพรวมของการพัฒนาครูทั้งระบบ

             รองศาสตราจารย์ประภาภัทร นิยม ประธานการประชุมได้นำเสนอโครงการปฏิรูปการศึกษา “โครงการปฏิรูปการเรียนรู้สู่ผู้เรียน โดยสถานศึกษา เขตพื้นที่การศึกษา และ/หรือจังหวัด” ให้ที่ประชุมพิจารณา โดยชี้ให้เห็นว่า กลุ่มเป้าหมายของโครงการคือ ผู้เรียนและครู แม้จะมีข้อมูลระบุว่าครูเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผู้เรียนมีปัญหา แต่ก็ไม่สามารถละเลย/ทอดทิ้งครูได้ จึงจำเป็นที่จะต้องช่วยกันปั้นแต่งและช่วยเสริมศักยภาพครูให้นำพานักเรียนไปให้ถึงฝั่งฝัน โดยช่วยให้สามารถเลือกใช้นวัตกรรมที่มีอยู่หลากหลายเพื่อพัฒนาผู้เรียนอย่างได้ผล โครงการนี้มีวัตถุประสงค์พัฒนาผู้เรียน 3 ประการคือ (1) ยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน (2) พัฒนาทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 และ(3) เสริมสร้างคุณลักษณะพลเมืองไทยที่ดี รายละเอียดดังแผนภาพที่ 1-6


แผนภาพที่ 1 จุดมุ่งหมายของโครงการ

แผนภาพที่ 2 หลักการและแนวทาง


แผนภาพที่ 3 ปฏิรูปโดยอิงพื้นที่


แผนภาพที่ 4 ปฏิรูปการจัดการเรียนการสอนทั้งโรงเรียน 


แผนภาพที่ 5 ใช้ระบบที่สร้างความมั่นใจได้ว่าปฏิสัมพันธ์ของครูและเด็กมุ่งสู่คุณภาพจริง


แผนภาพที่ 6 เน้นปรับความสัมพันธ์ของครูและผู้เรียน

         
ที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณา และมีข้อคิดเห็นดังต่อไปนี้
1. หัวใจคือปฏิรูปการเรียนรู้ คำว่า “ปฏิรูปการเรียนรู้” เป็นคำที่มีความเหมาะสมที่จะนำมาใช้ชูประเด็นเป็นแกนหลักในการปฏิรูปการศึกษา เพราะเป็นคำที่ผู้เกี่ยวข้องมีความเข้าใจไปในทิศทางเดียวกัน แต่ก็จำเป็นที่จะต้องกำหนดให้ชัดเจนว่ามีองค์ประกอบที่สำคัญอะไรบ้าง
2. แนวทางชัดต้องปฏิบัติจริงจัง คำหลักของแนวทางที่จะใช้ในโครงการ อาทิ อิงพื้นที่ Coaching เป็นคำสำคัญที่จำเป็นในการปฏิรูปการเรียนรู้ ซึ่งในช่วงปฏิบัติการจะต้องดำเนินการอย่างจริงจังและเข้มแข็ง
3. ควรต่อเนื่องระยะยาว ระยะเวลาในการดำเนินโครงการที่กำหนดไว้ จำนวน 2 ระยะ/ เฟส ถือว่าน้อยเกินไป ควรกำหนดให้สามารถดำเนินการอย่างต่อเนื่องระยะยาวขึ้น อาจเป็น 8 ระยะ/เฟส เพื่อให้โรงเรียนติดตั้งระบบการปฏิรูปการเรียนรู้อย่างมั่นคงแข็งแรงในโรงเรียนได้
4. โค้ชตัวจริงอยู่ในโรงเรียน ในการพัฒนาโรงเรียนสามารถเลือกใช้นวัตกรรมทั้งการบริหารจัดการและนวัตกรรมการจัดการเรียนรู้ได้เองรวมทั้งการโค้ชที่สามารถเลือกทำงานร่วมกับคณาจารย์มหาวิทยาลัยและ/หรือศึกษานิเทศก์ แต่ไม่ควรมองข้ามพี่เลี้ยง (Mentor) ที่อยู่ใกล้ชิดครูและผู้บริหารโรงเรียน ซึ่งมีความสำคัญมาก อาจเป็นครูเก่งในโรงเรียน หรือครูวิชาการในโรงเรียนนั้นๆ และบุคคลที่สำคัญที่สุดที่ควรทำหน้าที่ Coaching and Mentoring ให้ครูในโรงเรียน ก็คือ ผู้อำนวยการโรงเรียน และรองผู้อำนวยการโรงเรียน
5. ควรมีพี่เลี้ยงทางวิชาการให้การชี้แนะ จากผลของชุดโครงการวิจัยและพัฒนาเพื่อปฏิรูปการเรียนรู้ทั้งโรงเรียน (โครงการ วพร.) สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ระหว่างปี 2545-2547 โดยรองศาสตราจารย์ ดร.ทิศนา แขมมณี และคณะ ได้ดำเนินการปฏิรูปการเรียนรู้ทั้งโรงเรียน จำนวน 135 โรงเรียน รวม 49 โครงการ ใน 33 จังหวัด พบว่า พี่เลี้ยงทางวิชาการมีความสำคัญจำเป็นต่อการปฏิรูปการเรียนรู้ทั้งโรงเรียนอย่างยิ่งและมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายให้หน่วยงานต้นสังกัดสนับสนุนให้มีนักวิชาการภายนอก/พี่เลี้ยงทางวิชาการใช้กระบวนการชี้แนะทางปัญญา (cognitive coaching) ส่งเสริมการปฏิรูปการเรียนรู้ของบุคลากรในโรงเรียน ซึ่งในโครงการปฏิรูปการเรียนรู้สู่ผู้เรียนที่จะดำเนินการอาจเสนอแนะให้โรงเรียนระบุพี่เลี้ยงทางวิชาการที่โรงเรียนมีความเชื่อมั่นเข้ามาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการพัฒนาตลอดโครงการ
6. เขตและโรงเรียนเห็นด้วยตั้งแต่ต้น-โครงการมีวิจัยระบบจัดการควบคู่ เห็นด้วยในหลักการของโครงการที่จะใช้ Coaching และนวัตกรรมแล้วไปวัดผลการเปลี่ยนแปลงที่ตัวเด็ก แต่ประเด็นสำคัญคือ (1) จะทำอย่างไรให้โรงเรียนและเขตพื้นที่การศึกษาเห็นดีด้วยตั้งแต่แรกเริ่มโครงการ (2) จะทำอย่างไรให้ได้ 2 ต่อ คือ ได้ทั้งนวัตกรรมที่ส่งผลจริง และได้ปฏิรูประบบงาน/การจัดการแบบใหม่ด้วย ซึ่งการจัดการแบบใหม่ที่จะปลดล็อคปัญหาอุปสรรค จึงควรมีการวิจัยระบบการจัดการใหม่คู่ขนานไปกับกระบวนการพัฒนา เพราะการวิจัยจะช่วยตอบโจทย์หลายเรื่อง เช่น การบริหารจัดการ การสร้างแรงจูงใจ การปรับตารางเวลางานและการสอน หลักสูตร วิธีการใช้ทรัพยากรที่เหมาะสม บทบาทกรรมการสถานศึกษา การคิด Unit Cost ฯลฯ ดังนั้น ควรให้หน่วยงานที่ไม่ได้เป็นผู้ดำเนินงานโครงการนี้โดยตรงเป็นผู้วิจัยประเมินผล ได้แก่ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ทั้งนี้ ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (นายอมรวิชช์ นาครทรรพ) จะช่วยคัดสรรฝ่ายวิจัยประเมินผลโครงการ
7.  มุ่งสู่ Autonomous school ท้ายที่สุดโรงเรียนในโครงการปฏิรูปการเรียนรู้สู่ผู้เรียนจะมีลักษณะโรงเรียนนิติบุคคล ซึ่งจากการสอบถามโรงเรียนที่อยู่ในการส่งเสริมของสถาบันอาศรมศิลป์และโรงเรียนรุ่งอรุณในการเปลี่ยนแปลงคุณภาพการจัดการศึกษา พบว่า โรงเรียนต้องการปรับเปลี่ยนการจัดสรรงบประมาณจากหน่วยงานต้นสังกัดใหม่ ปรับหลักสูตรให้ยืดหยุ่น ปรับการสอบ O-NET ให้เหมาะสม ปรับมาตรฐานและตัวชี้วัดการประกันคุณภาพให้เหมาะสม และปรับลดโครงการของกระทรวงศึกษาธิการที่ดึงครูออกจากห้องเรียน/ โรงเรียน
8.  ต่อยอดจากทุนเดิม ควรใช้ต้นทุนที่มีอยู่แล้วมาเป็นฐานของการจัดทำโครงการ เช่น โครงการ Teacher Coaching ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือของ สพฐ.และ สกว. หรือเครือข่ายครูของ สสค. หรือโครงการ Area-based Education (ABE) จำนวน 16 จังหวัด ที่มีกลไกการพูดคุยเรื่องการศึกษาในระดับจังหวัด และมีประธานสภาการศึกษาจังหวัดเป็นที่ยอมรับทำหน้าที่ประสานเชื่อมโยงผู้เกี่ยวข้องในพื้นที่อยู่แล้ว
9. ผู้บริหารเรียนรู้จากหน้างาน-เป็นกัลยาณมิตรนิเทศ ควรพัฒนาผู้บริหารโรงเรียนให้มีความสามารถในการกำกับติดตามงานได้ และการเลือกโรงเรียนควรพิจารณาจากขนาดโรงเรียนด้วย อย่างไรก็ตาม ในการดำเนินงานครั้งนี้ ไม่มีเวลาที่จะพัฒนาผู้บริหารโรงเรียนเป็นการเฉพาะ จึงจะสร้างกระบวนการเรียนรู้ของผู้บริหารโรงเรียนไปพร้อมๆ กับการพัฒนาครู หรือให้ผู้บริหารโรงเรียนเรียนรู้ไปพร้อมกับครู ส่งเสริมผู้บริหารโรงเรียนให้ทำหน้าที่เป็นกัลยาณมิตรนิเทศให้ได้ เช่นเดียวกับประเทศฟินแลนด์ใช้ Routine to Research ในการพัฒนาครูและผู้บริหาร
10. เน้นทบทวนไตร่ตรองตนเอง Coaching มีหลายลักษณะ เช่น Coaching ทางการกีฬา แต่ Coaching ที่สร้างกระบวนการเรียนรู้อย่างมากคือ การโค้ชที่ให้ผู้ได้รับการโค้ชได้มีโอกาสทบทวนไตร่ตรองตนเอง หรือ Reflective Coaching
11. ควรวางเงื่อนไขให้ทำได้ต่อเนื่อง ควรพิจารณาปัจจัยเงื่อนไขให้โครงการดำเนินการต่อเนื่อง ไม่สะดุดเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง หรือการเปลี่ยนแปลงผู้บริหารระดับสูงขององค์กร หรือการเปลี่ยนตัวผู้บริหารโรงเรียน/ผู้บริหารเขตพื้นที่การศึกษา เช่น การให้ทุนผูกพันต่อเนื่องระยะยาว 3-4 ปี การสร้างข้อตกลงให้ผู้อำนวยการเขตพื้นที่และ/หรือโรงเรียนปฏิบัติงานอยู่ในพื้นที่ตลอดระยะเวลาดำเนินงานโครงการ
12. เกณฑ์การเลือกพื้นที่เป้าหมาย อาจประกาศให้เขตพื้นที่การศึกษาทราบเกณฑ์การพิจารณา อย่างน้อย 3 ประการ คือ (1) เป็นพื้นที่ที่มีตัวช่วยทางวิชาการ (2) เป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพในการระดมความร่วมมือ ระดมทุน และผนึกพลังของการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนได้ (3) เป็นพื้นที่ที่มีเครือข่ายครู หรือโรงเรียนนวัตกรรมที่สามารถต่อยอด/ขยายผลได้ทันที
13.  เรียนรู้จากโรงเรียนที่มีนวัตกรรมเด่น ควรจัดทำ mapping โรงเรียนเด่น/โรงเรียนนวัตกรรม เพื่อให้ได้ข้อมูลเบื้องต้นว่า มีโรงเรียนใดบ้าง ทำอะไร อยู่ที่ไหน และพัฒนาโดยวิธีใด ทั้งนี้ ขอให้นายพิทักษ์ โสตถยาคม ช่วยดำเนินการเตรียมข้อมูลส่วนนี้ไปใช้ประกอบการประชุมผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ ในวันที่ 30 ตุลาคม 2557 (โปรดดูได้จาก Website ของสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา เข้าถึงได้จาก http://inno.obec.go.th )
14. ท้าทาย ผอ.เขต ศักยภาพสูง อีกทางเลือกหนึ่งคือ การส่งเสริมให้ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาที่มีศักยภาพสูง และ/หรือผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาที่ได้รับการบรรจุแต่งตั้งใหม่ ประมาณ 85 คน มาเรียนรู้การเป็นโค้ช มีแรงบันดาลใจ และฮึกเหิมในการดำเนินการปฏิรูปการเรียนรู้และปรับระบบการบริหารจัดการ โดยใช้โครงการปฏิรูปการเรียนรู้สู่ผู้เรียนนี้ เป็นโครงการเพื่อการเรียนรู้ของผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและบุคลากรที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งเป็นพื้นที่ปฏิบัติการสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงประจักษ์
15. เลือกโรงเรียนเพื่อเรียนรู้ปัจจัยสู่ความสำเร็จ การเลือกโรงเรียนควรพิจารณาเลือกจากกลุ่มโรงเรียนที่มีลักษณะแตกต่างกัน เช่น กลุ่มโรงเรียนที่มีศักยภาพและสมัครใจ ซึ่งมีโอกาสประสบความสำเร็จสูง กลุ่มโรงเรียนที่ไม่มีศักยภาพหรือไม่สนใจ ซึ่งจะได้ข้อค้นพบที่น่าสนใจเกี่ยวกับปัจจัยสร้างการเปลี่ยนแปลง รวมทั้งอาจพิจารณากลุ่มโรงเรียนที่มีต้นทุนเดิมในการพัฒนาอยู่แล้วในโครงการ ABE อย่างไรก็ตาม การเลือกโรงเรียนครั้งนี้จะบอกเกณฑ์การเลือกพื้นที่เป้าหมาย แล้วให้เขตพื้นที่การศึกษาและโรงเรียนพิจารณาสมัครเข้าร่วมโครงการ เมื่อได้จำนวนตามกำหนดก็จะพูดคุยสร้างความเข้าใจในการจัดทำแผนปฏิบัติการของโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการแต่ละรุ่น
16. เรียนรู้จากอดีตเพื่อวางระบบกลไกพัฒนาแบบหวังผล สังเคราะห์ปัจจัยเงื่อนไขจากโรงเรียนเข้มแข็งในโครงการทดลองนำร่องต่างๆ เช่น โรงเรียนในโครงการ Constructionism ของ สกศ. โรงเรียนพัฒนาทักษะในศตวรรษที่ 21 ของมูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์ เป็นต้น เพื่อนำองค์ความรู้และบทเรียนที่ได้ ไปใช้ในดำเนินงานโครงการครั้งนี้ ซึ่งถ้าพบว่า โรงเรียนที่เข้มแข็งและประสบความสำเร็จเหล่านั้น มีปัจจัยใดหนุนเสริม และปัจจัยใดเป็นอุปสรรค ฉะนั้น เมื่อจะดำเนินโครงการปฏิรูปการเรียนรู้สู่ผู้เรียนในพื้นที่ใด ก็จะได้ออกแบบระบบ กลไก และให้จัดปัจจัยหนุนเสริมให้เอื้อต่อความสำเร็จ ในขณะเดียวกันก็พยายามขจัดหรือลดอุปสรรคของการดำเนินการให้เหลือน้อยที่สุด
17. ควรพัฒนาแบบ "ยกโรง" ทำทั้งโรงเรียน ขณะนี้ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและบุคลากรมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับ Coaching and Mentoring พอสมควร โดยเฉพาะผู้ที่ร่วมอยู่ในการพัฒนาครูแบบ Browser in Service ในปีงบประมาณ 2556 และในโครงการความร่วมมือของ สพฐ.และ สกว.ในโครงการวิจัยกระบวนการพัฒนาครูด้วยระบบหนุนนำต่อเนื่อง (Teacher Coaching) จำนวน 9 จังหวัด จากผลการดำเนินงานโครงการพัฒนาครูที่ผ่านมา พบว่า ควรดำเนินการพัฒนาครูและบุคลากรทั้งโรงเรียน หรือแบบ “ยกโรง” เพราะจะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงโรงเรียนมากกว่าเลือกพัฒนาครูเพียงบางคน ซึ่งกรอบการพัฒนาครูในปีงบประมาณ 2556 มุ่งยกระดับคุณภาพผู้เรียนตามหลักสูตรแกนกลางฯ สมรรถนะด้าน Literacy, Numeracy และ Reasoning Ability ด้วยกระบวนการส่งเสริมผู้เรียน 5 ขั้น ได้แก่ (1) ตั้งคำถาม (learning to question)  (2) สืบค้น (learning to search) (3) สร้าง/ปรุงแต่ง (learning to construct)   (4) สื่อสาร (learning to communicate) และ(5) บริการ (learning to serve) การพัฒนาได้ใช้โรงเรียนเป็นฐาน เน้น coaching and mentoring, on-the-job training, classroom action research ดำเนินการโดยมหาวิทยาลัย จำนวน 48 แห่ง พัฒนากลุ่มเป้าหมาย 22,600 คน ประกอบด้วย ครู 80% ผู้บริหารโรงเรียน 10% และศึกษานิเทศก์ 10% ซึ่งแนวทางและโมเดลที่คาดหวังจากการพัฒนาในปีงบประมาณ 2556 ดังแผนภาพที่ 3-4




แผนภาพที่ 3 แนวการพัฒนาครู ปีงบประมาณ 2556




แผนภาพที่ 4 โมเดลที่คาดหวัง ปีงบประมาณ 2556


18. ไม่ผ่อนปรนผลสัมฤทธิ์-ทำอย่างมุ่งมั่นการันตีผล เป้าหมายโครงการปฏิรูปการเรียนรู้สู่ผู้เรียน โดยสถานศึกษา เขตพื้นที่การศึกษา และ/หรือจังหวัด คือ การยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 และการเป็นพลเมืองไทยที่ดีของผู้เรียน ดังนั้น การสร้างการเปลี่ยนแปลงด้วยนวัตกรรมเพื่อปฏิรูปการเรียนรู้ จะต้องเห็นพัฒนาการหรือสัญญาณบวก (positive sight) ของผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ไม่สามารถผ่อนปรน/เว้นวรรคการวัดประเมินผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนได้ เพราะต้องการให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเห็นข้อมูลเชิงประจักษ์อย่างชัดเจน และเกิดความมั่นใจในกระบวนการปฏิรูปการเรียนรู้สู่ผู้เรียน ตามแนวทางปฏิรูปที่อิงพื้นที่ สร้างกลไกการบริหารจัดการบุคลากรให้เกิดความร่วมมือตอบโจทย์จริงของบริบท ใช้ปัจจัยเสริม ได้แก่ การติดตั้งระบบการติดตามประเมินการทำงาน (monitoring) ระบบนิเทศ (coaching)/ระบบคู่นิเทศ (peer coaching) เพื่อเป็นกลไกการพัฒนาและฝึกอบรมบนงาน (on-the-job training) และให้ครู/ผู้บริหารสามารถจัดตารางการทำงานให้มีเวลาประชุม AAR (After Action Review) เหมือนเป็นงานประจำที่จำเป็น ครูไม่ต้องออกจากห้องเรียน/โรงเรียน และช่วยให้มีการเก็บหลักฐานการทำงานที่ผูกโยงกับผลที่เกิดกับผู้เรียน

สรุปการประชุม
            เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (นายกมล รอดคล้าย) ได้สรุปผลและวางแนวทางการขับเคลื่อนการดำเนินงานโครงการปฏิรูปการเรียนรู้สู่ผู้เรียน โดยสถานศึกษา เขตพื้นที่การศึกษา และ/หรือจังหวัดของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ดังนี้
1.     หลักการทำคือมุ่งปฏิรูปการเรียนรู้ เป็นหัวใจสำคัญที่จะเป็นตัวชี้นำและเป็นแกนหลักในการปฏิรูปการศึกษา
2.      กระบวนการทำงานจะอิงแนวทางการดำเนินงานโครงการที่แบ่งเป็น 2 ระยะ/เฟส และขอให้พิจารณาว่า จะสามารถเริ่มดำเนินการเฟสที่สองให้คร่อมเฟสแรกได้หรือไม่ เช่น เริ่มดำเนินการเฟสสองหลังจากดำเนินการเฟสแรกไปแล้วประมาณหนึ่งเดือนครึ่ง
3.      มอบหมายฝ่ายเลขานุการ มอบให้ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา เป็นฝ่ายเลขานุการ เพราะเป็นงานในมิติเชิงนวัตกรรม ทั้งนี้ขอให้นายพิธาน พื้นทอง และนางบรรเจอดพร สู่แสนสุข ช่วยยกร่างรายชื่อคณะกรรมการที่จะเป็นแกนนำขับเคลื่อนโครงการ และเสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเป็นผู้แต่งตั้งคณะกรรมการชุดนี้โดยเร็ว ทั้งนี้ ฝ่ายวิจัยจะเป็นองค์กรภายนอกสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน นั่นคือ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) โดยขอความอนุเคราะห์ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (นายอมรวิชช์ นาครทรรพ) เป็นผู้เสนอรายชื่อผู้ที่เหมาะสมเป็นฝ่ายวิจัย
4.      เนื้องาน จะดำเนินงานตามปฏิทินโครงการ ซึ่งหนึ่งในกิจกรรมสำคัญที่จะเกิดขึ้นในการประชุมผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ วันที่ 30 ตุลาคม 2557 เวลา 08.30-10.00 น. ก็คือ การพูดคุยให้ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามองเห็นเป้าหมายเจตนา หลักการ และกระบวนการของโครงการปฏิรูปการเรียนรู้สู่ผู้เรียน โดยสถานศึกษา เขตพื้นที่การศึกษา และ/หรือจังหวัด ให้เห็นพ้องต้องกันว่า เรื่องนี้สำคัญที่สุด หากทำเรื่องนี้ให้สำเร็จเพียงเรื่องเดียวก็จะสำเร็จหมดทุกเรื่อง ทั้งนี้ ขอให้นางบรรเจอดพร สู่แสนสุข ประสานที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รองศาสตราจารย์ประภาภัทร นิยม) เกี่ยวกับเนื้อหา วิทยากร และสิ่งที่จะได้รับจากผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา เช่น การแจ้งความประสงค์/ความสนใจร่วมโครงการ
5.      งบประมาณ ให้ใช้งบพัฒนาบุคลากรของสำนักพัฒนาครูและบุคลากรการศึกษาขั้นพื้นฐาน
6.      จัดให้มีสำนักงานเลขานุการโครงการเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินการอย่างเป็นระบบ รวมทั้งวางกลไกอย่างเป็นทางการเพื่อให้การดำเนินงานชัดเจน และกำหนดผลสำเร็จที่จะเกิดขึ้นในแต่ละระยะของการดำเนินการ เช่น ระยะ 3 เดือน ระยะ 6 เดือน
----------------------------------------------