หน้าเว็บ

วันจันทร์ที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2558

การสะท้อนผลจากการร่วมโครงการ Teacher Coaching ของผู้บริหารโรงเรียนและผู้บริหารสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา


วันอาทิตย์ที่ 29 มีนาคม 2558 เวลา 11.00 น. ดร.เจือจันทร์ จงสถิตอยู่ ผู้ประสานงานชุดโครงการ ได้แบ่งกลุ่มเพื่อสนทนากับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับโครงการวิจัยกระบวนการพัฒนาครูด้วยระบบหนุนนำต่อเนื่อง (Teacher Coaching) ประกอบด้วยกลุ่มนักวิจัยจากมหาวิทยาลัย กลุ่มศึกษานิเทศก์ กลุ่มครูผู้สอน กลุ่มผู้นำโรงเรียนและเขตพื้นที่การศึกษา สำหรับกลุ่มผู้นำโรงเรียนและเขตพื้นที่ มีผมเป็น Facilitator ประจำกลุ่ม มีประเด็นเพื่อการสะท้อนผล 5 ประเด็น ได้แก่ (1) บทบาทหน้าที่ที่มีส่วนร่วมในการดำเนินงานโครงการ (2) สิ่งที่พบเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ตัวครู (3) สิ่งที่พบเห็นการเปลี่ยนแปลงของตนเอง (4) ถ้ามีโอกาสทำโครงการนี้ใหม่อีกครั้ง อะไรที่ควรทำ อะไรไม่ควรทำ และอะไรที่น่าทำแต่โครงการยังไม่ได้ทำ และ(5) แนวทางการขยายผล ซึ่งในกลุ่มผู้นำนี้มีผู้บริหารโรงเรียนและผู้บริหารสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา รวม 9 คน ประกอบด้วย

ผู้บริหารโรงเรียน 7 คน ได้แก่ (1) ดร.วีณา หาญใจ ผอ.ร.ร.วิชชานารี จ.ลำปาง (2) ดร.ทิมแก้ว ธรรมรักษ์สกุล ผอ.ร.ร.บ้านโทกหัวช้าง สพป.ลำปาง เขต 1 (3) น.ส.ธิดา พาณิชย์กุล ผอ.ร.ร.วัดยาง ณ รังสี สพป.ลพบุรี เขต 1 (4) นายสำเริง ศรีสิทธิชัยสกุล ผอ.ร.ร.แหลมสิงห์วิทยาคม (อาทรสังขะวัฒนะ 4 อุปถัมภ์) สพม.เขต 17 (5) นายวุฒิพงศ์ วงศ์กวินวุฒิ ผอ.ร.ร.วัดอ้อมน้อย (มิตรครูราษฎร์รังสรรค์) สพป.สมุทรสาคร (6) นายสุทิน นุ่นสงค์ รอง ผอ. (รักษาราชการแทน ผอ.) ร.ร.วัดสุวรรณคีรีวงศ์ สพป.ภูเก็ต (7) น.ส.ฐิตพัฒน์ สตางค์จันทร์ ผอ.ร.ร.บ้านโคกสว่างป่าไม้งาม สพป.เลย เขต 2 ผู้บริหารสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา 2 คน ได้แก่ (1) นายมนตรี สืบสิงห์ รอง ผอ.สพป.ลพบุรี เขต 1 และ (2) นายเศรษฐา เสนะวงศ์ รอง ผอ.สพป.จันทบุรี เขต 1 


ซึ่งได้ผลจากการสนทนาทั้ง 5 ประเด็น ดังนี้ 

1. บทบาทหน้าที่ที่มีส่วนร่วมในการดำเนินงานโครงการ 

  • ได้ศึกษาเป้าหมาย วัตถุประสงค์ของโครงการ เห็นดีและตรงกับความต้องการที่อยากให้ครูเปลี่ยนการสอน ได้เข้าร่วมอบรมทุกครั้งและเรียนรู้ไปพร้อมกับครู ทำหน้าที่เป็นโค้ช คอยฟังครู ช่วยเหลือแนะนำ สังเกตการณ์ทำ PLC โดยไม่ให้ครูรู้ตัวและการส่งเสริม PLC ก็ให้ครูคิดเองว่าจะตั้งวงคุยกันเมื่อไร รวมทั้งคอยติดตามโดยการให้ครูเล่าให้ฟัง และใช้คำถาม โดยจะไม่แนะนำใดๆ ทำให้ครูกล้าที่จะเล่าให้ฟัง
  • เป็นผู้ตัดสินใจเข้าร่วมโครงการ ทำความเข้าใจกับครูที่ไม่เห็นด้วย ได้พิจารณาเลือกครูแกนนำ 5 คน เข้าร่วมโครงการ แม้ว่าโรงเรียนจะมีครูไม่มากแต่ยังรวมพลังกันไม่ได้นัก จึงใช้โอกาสของการเข้าร่วมโครงการนี้ให้ครูได้คุยกันมากขึ้น ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกันทุกเดือน และดำเนินกิจกรรมตามแผนงานโครงการ บทบาทของตนเองในวงการพูดคุยในโรงเรียนคือ การนั่งหัวโต๊ะเป็นประธานการพูดคุย จะฟังครู จะประชุมสัปดาห์ละครั้งในวันพฤหัสบดี ชั่วโมงสุดท้าย ประมาณ 14.30-15.30 น. ระหว่างที่ครูประชุมจะให้นักศึกษาฝึกสอนช่วยดูแลนักเรียน
  • โรงเรียนมีครูจำนวนน้อย (5 คน) เป็นโรงเรียนขนาดเล็ก นักเรียน 60 คน แต่ครูทั้งหมดเป็นครูที่ดี ขยันขันแข็ง บทบาทที่ร่วมในโครงการเริ่มตั้งแต่ศึกษานิเทศก์โทรมาเชิญชวน จึงตัดสินใจมาจูงใจครูให้เห็นชอบเข้าร่วมโครงการ จากนั้นไปร่วมรับฟังการชี้แจง ทำการศึกษาโครงการ และกลับมาจัดกิจกรรมพัฒนานักเรียนให้มีความรับผิดชอบมีทักษะศตวรรษที่ 21 ได้ร่วมวางแผนกับครู คอยกระตุ้น ติดตาม ช่วยครูประเมินนักเรียน ด้วยการเรียกมาพูดคุย และคอยสังเกตพฤติกรรมนักเรียน
  • ปกติครูมัธยมไม่ค่อยอยากรับโครงการ แต่ก็เริ่มที่กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ ทั้ง 4 โรงเรียนมัธยม ในโครงการได้ใช้ผู้อำนวยการโรงเรียนเป็นโค้ช ไปโค้ชต่างโรงเรียน ทำให้ได้เห็นจุดดีของโรงเรียนอื่น กระบวนการโค้ชเริ่มต้นด้วยการนัดหมาย พูดคุยธรรมดา นั่งดูครูสอน นั่งสรุปกัน และให้ข้อเสนอแนะสิ่งที่ครูต้องเติมเต็ม รวมทั้งให้ครูได้ถ่ายวิดีโอและส่งเสริมให้ใช้เทคโนโลยีในการสอน เน้น 5 สมรรถนะหลักสูตร 8 คุณลักษณะ และ 4 ทักษะ ได้แก่ ทักษะตามหลักสูตร ทักษะภาษาและ ICT ทักษะอาชีพ และทักษะชีวิต
  • จากปัญหาคุณภาพผู้เรียนจึงได้เข้าร่วมประชุมเปิดตัวโครงการ ได้ช่วยออกแบบนำสู่โรงเรียน และติดตามผลเห็นครูรับผิดชอบขึ้นและเด็กพัฒนาขึ้น โครงการทำให้ครูตระหนักและเตรียมการมากขึ้น สร้างบรรยากาศในการเรียนรู้ดีขึ้น
  • ได้ร่วมรับทราบนโยบายและดูแลตั้งแต่แรกเริ่ม ในบทบาทผู้แทนเขต ร่วมเป็นทีมโค้ช ทีมวิจัย เชื่อมกับมหาวิทยาลัยกับเขต ได้คัดเลือกโรงเรียนขนาดเล็กเข้าร่วมโดยให้สมัครใจ 
  • ได้รับทราบโครงการ แล้วคุยและมอบให้หัวหน้าวิชาการดำเนินการ ได้ให้การสนับสนุน คอยอำนวยความสะดวก แต่ตนเองไม่ได้ร่วมเป็นโค้ช แต่ได้ให้หัวหน้าวิชาการทำหน้าที่แทน โรงเรียนมีครู 70 คนให้เข้าร่วม 14 คน 
  • โรงเรียนเป็นโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษา เด็กย้าย “low ไป high มา” และถนนหนทางไปโรงเรียนเสี่ยงอันตราย โรงเรียนมีครู 32 คน อัตราจ้าง 13 คน บทบาทที่ได้ร่วมโครงการได้นำเข้าสู่การพิจารณาในที่ประชุมครูได้ชี้แจงให้ครูเห็นพ้องโดยชี้ให้เห็นว่า การมีโค้ชดี ก็คงเหมือนกับนักกีฬาที่ดีเพราะมีโค้ช ครูเริ่มต้นเข้าร่วมโครงการ 13 คน ปัจจุบันเหลือ 9 คน ในโครงการนี้มีโค้ชไปนิเทศทุกเดือน ได้ไปช่วยแก้ปัญหาการเขียนแผนการสอน แก้ปัญหาที่เดิมครูส่วนใหญ่ Print แผนการสอนจากสำนักพิมพ์มาส่ง นอกจากนั้นโค้ชยังช่วยให้มีการบันทึกหลังสอน 5 ประเด็นคือความรู้ของตนเอง วิธีการสอนที่ใช้ สื่อที่ใช้ สื่อ ICT ที่ใช้ และการตอบสนองของผู้เรียน
  • บทบาทตนเองได้คัดเลือกครูและชี้แจงให้ครูชั้น ป.2 และ ป.5 เข้าร่วมโครงการ ได้พูดคุยกับครูเกี่ยวกับปัญหา กระบวนการแก้ไขปัญหาในทุกวันศุกร์ จุดเน้น 3R4C ขับเคลื่อนยากในครูอาวุโส การทำโครงงานเป็นยาขมของครู การที่ ผอ.ร.ร.ทำคู่กับครูช่วยคิดด้วยกันกับครู ทำให้งานเดินไปได้ และการที่มีโค้ชไปโรงเรียนบ่อยๆ เป็นการกระตุ้นครูให้พัฒนางาน หลังจากมหาวิทยาลัยจัดแลกเปลี่ยนเรียนรู้มี VDO นำเสนอผลงานโดยนักเรียน นักเรียนนำเสนอได้ เมื่อนำมาเปิดให้ครูที่โรงเรียนดูก็ได้รับเสียงตอบรับที่ดีจากครูอื่นๆ

2. สิ่งที่พบเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ตัวครู

  • ครูกล้าพูดกล้าเล่าให้ ผอ.ร.ร.ฟัง ครูเชื่อมั่นในตนเองมากขึ้น สามารถถ่ายทำ VDO กันเองได้ ครูสอนแบบ PBL มากขึ้นต่างจากเดิมที่ใช้การบรรยาย เปลี่ยนมาเป็นใช้คำถามมากขึ้น มีการพานักเรียนไปเรียนนอกห้องมากขึ้น พาไปดูต้นไม้เรียนรู้เรื่องพืช นักเรียนสนุกสนาน มีความสุข ในการสรุปบทเรียนสามารถพูดด้วยความเชื่อมั่นให้เพื่อนๆฟัง 

  • ครูจัดการเรียนการสอนแบบ PBL มากขึ้น ใช้คำถามกระตุ้นเพราะได้รับการฝึกจากมหาวิทยาลัย และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน เด็กเรียนรู้นอกห้องเรียนมากขึ้น เช่น ออกไปเรียนหน่วยการเรียนรู้เรื่องข้าว แต่ไปเจอหอยเชอรี่ เกิดความสนใจ จึงเลือกศึกษาเรื่องหอยเชอรี่ ครูจัดทำ VDO เผยแพร่การสอน เด็กเกิดกระบวนการเรียนรู้ ทำให้เด็กอื่นอยากทำด้วย เกิดการจัดกิจกรรมวันวิชาการของระดับ ป.1-3 และ ป.4-6 นอกจากนั้น โรงเรียนยังได้เป็น Best Practices โรงเรียนขนาดเล็กของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาด้วย 

  • ครูจัดกิจกรรมหลากหลายขึ้น มีความสุขมากขึ้น มีความกระตือรือร้น เด็กได้มีกิจกรรมนำเสนอมากขึ้นกว่าเดิม ครูมีความภูมิใจ รู้สึกว่าสอนง่ายขึ้นเพราะได้หลอมรวมกิจกรรม และการที่มีโค้ชไปดูแลบ่อยๆ ทำให้ครูเข้าใจและเห็นชัดเจนขึ้นไม่สอนโดยการบอก แต่ให้เด็กทำกิจกรรมมากขึ้น 

  • ครูมีการปรับปรุงตนเอง เอาใจใส่ในการวางแผนการสอนล่วงหน้า มีสื่อ มีการใช้ ICT ปรับการเรียนการสอน ปรับการวัดและประเมินผลระหว่างเรียนเมื่อจบการสอนแต่ละแผน ครูที่เข้าร่วมโครงการได้ร่วมคิดในกลุ่มครูคณิตศาสตร์ ทำให้ผล O-NET พัฒนาขึ้น ครูใช้ PBL และมีแผนการขยายไปยังครูในสหวิทยาเขตด้วย และพบว่าครูกล้าแสดงออกมากขึ้นเมื่อมีคนไปดูการสอน

  • ครูตื่นตัว มีความตระหนัก มุ่งมั่นขับเคลื่อนงาน และมีความสุขมากขึ้น และเด็กก็มีความสุขในการเรียนรู้

  • ครูมีวิธีการสอนที่มากขึ้นกว่าเดิม ครูมีความคิดที่จะทำแผนการสอนมากขึ้นกว่าเดิม
  • ครูเปลี่ยนจาก copy แผนการสอน เป็นพัฒนาแผนการสอนด้วยตนเอง ครูสื่อสาร 2 ทางกับเด็กมากขึ้น และพบว่านักเรียนชั้น ป.5-6 ที่เข้าร่วมโครงการมีโครงงานมากขึ้น และได้กระบวนการทำงานมากขึ้น
  • ครูดูแลเด็กใกล้ชิดมากขึ้น ในการติดตามแก้ปัญหาการอ่านไม่ออก และปรับเปลี่ยนให้ครูเลื่อนชั้นตามนักเรียนภายในช่วงชั้น
  • ครูรู้วิธีการวัดประเมินกระบวนการ อาทิ ความคิดสร้างสรรค์ การสื่อสาร โครงงาน

3. สิ่งที่พบเห็นการเปลี่ยนแปลงของตนเอง 

  • ฟังมากขึ้น แต่ก่อนคนอื่นพูดยังไม่ทันจบ ก็จะพูดต่อ และเปลี่ยนเป็นใช้คำถามมากขึ้น มองเห็นว่าครูแต่ละคนมีความเก่งคนละอย่าง มองในจุดดีของครู ได้เรียนรู้จากครูจากการเล่าของครู การฟังครูช่วยสร้างความภูมิใจให้ครู ซึ่งหลักการโค้ชคือ ให้ฟังและยอมรับครู ให้ฝึกฝน และนำมาลองปฏิบัติ
  • ใจเย็นมากขึ้น เพราะได้รับการฝึกฝนจากโค้ช เป็นการฝึกที่สลับบทบาทการเป็นโค้ช และผู้ถูกโค้ชกัน เน้นฟังเยอะๆ เดิม ผอ.จะเป็นคนให้ข้อมูลข่าวสารจากเขตในการประชุม แต่เปลี่ยนเป็นให้มีการสะท้อนกลับจากครูเพิ่มเติม ให้ครูได้มีโอกาสให้เหตุให้ผล แล้วเราก็รู้ว่า ไม่ใช่ครูมีปัญหา แต่เขามีเหตุผลความจำเป็นของเขา เมื่อรับฟังกัน เพื่อนครูก็เข้าใจกันมากขึ้น ทำให้รวมกันเป็นทีมได้ และกลายเป็นโรงเรียนแถวหน้าได้ และผล O-NET สูงกว่าค่าเฉลี่ยประเทศ 5-6 กลุ่มสาระ 2 ปีซ้อน
  • ติดตามพฤติกรรมครูและนักเรียนมากขึ้น เพราะเมื่อเข้าร่วมโครงการจะต้องเตรียมคำตอบสำหรับผู้คนที่จะมาถามหาผล โดยเฉพาะการเตรียมตอบคำถามอาจารย์มหาวิทยาลัย
  • เมื่อมีคนเข้ามาร่วมในโครงการทำให้เราเปลี่ยน เพราะต้องระวังตัวมากขึ้น 
  • ไม่รู้ว่าตนเองเปลี่ยนหรือเปล่า ได้ทำงานร่วมกันศึกษานิเทศก์ไปเปิดงาน 2-3 งาน เรียนรู้โครงการเพราะจะต้องไปกล่าวเปิดงาน เตรียมอ่าน จาก google เพื่อมีความรู้และจะได้สร้างศรัทธาให้กับผู้ฟังได้ การเรียนรู้ทำให้เราไม่ใช้อำนาจในการทำงาน แต่ใช้ความสัมพันธ์แบบพี่ๆ น้องๆ และทำให้ให้ความสำคัญกับโรงเรียนมากขึ้น อยากรู้เรื่องคุณภาพ และอยากเห็นโมเดลการทำงาน
  • ไม่เปลี่ยนเท่าไรนัก แต่ให้ความสำคัญมากขึ้น ในการทำงานเป็นทีม ใช้จุดเด่นของแต่ละคน เรียนรู้กันในทีม เกิดความคิด/ผุดไอเดียขึ้น และการทำเครือข่ายวิชาการได้เน้นให้ความสำคัญเรื่อง Coaching 
  • ไม่ค่อยเปลี่ยนเท่าไร เพราะไม่ได้อยู่ใกล้ชิดนัก และมอบให้หัวหน้าวิชาการดูแล
  • ได้ทำงานแบบมีส่วนร่วม ในการประชุมหารือการทำงานกับครู
  • เข้าใจครูมากขึ้น มีเป้าหมายที่ตัวนักเรียน รู้จักเด็กเกือบทุกคน เมื่อไล่จากเด็กจะกระตุ้นครูเอง เปลี่ยนจากการคุยเรื่องแผนการสอน ตามแผนการสอนและ ป.พ. เป็นการคุยเรื่องเด็ก เกิดความสัมพันธ์กับครูดีขึ้น

4. ถ้ามีโอกาสทำโครงการนี้ใหม่อีกครั้ง อะไรที่ควรทำ อะไรไม่ควรทำ และอะไรที่น่าทำแต่ยังไม่ได้ทำ 

  • สิ่งที่ควรทำ ได้แก่ (1) การทำอย่างต่อเนื่องเพราะมีประโยชน์จริง ให้ควรให้เป็นกระบวนการที่ฝังอยู่ในเขตพื้นที่ (2) ควรขยายไปยังโรงเรียนอื่น ในกลุ่มโรงเรียนหรือกลุ่มเครือข่าย นอกจากนั้นควรขยายในโรงเรียนตนเองให้ครบทั้งระบบ ทุกระดับชั้น (3) ควรให้ผู้บริหารโรงเรียนมาร่วมโค้ชอย่างจริงจัง (4) ควรมีโค้ชประจำทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ (5) ควรเน้นทักษะศตวรรษที่ 21 (6) ไม่ควรบอกว่าอะไรดี อะไรไม่ดี อะไรผิด อะไรถูก ไม่ตำหนิ และ (7) ควรเป็นนโยบายให้รับรู้ทุกโรงเรียนให้ปรับกระบวนการเรียนการสอน 
  • สิ่งที่ไม่ควรทำ ได้แก่ (1) การจัดผู้รับผิดชอบไม่ควรเป็นฝ่ายบุคลากร แต่ควรเป็นศึกษานิเทศก์/ กลุ่มนิเทศเพราะจะตรงกับภารกิจมากกว่า (2) สถานที่ที่จัดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ควรไปมาสะดวกและมีที่จอดรถเพียงพอ 
  • สิ่งที่น่าทำแต่ยังไม่ได้ทำ ได้แก่ (1) บางเขตพื้นที่การศึกษามาร่วมเพียงรับรู้ช่วงแรกเท่านั้น ควรมาร่วมอย่างจริงจึง จะทำให้ความเชื่อมโยงระหว่างโรงเรียน สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และมหาวิทยาลัยร้อยรัดกันมากขึ้น (2) ควรเผยแพร่ข้อมูลโครงการให้สาธารณชนได้รับรู้มากขึ้น (3) โครงการนี้ครูจะเป็นผู้ถูกโค้ชตลอด แต่ควรให้ครูได้โค้ชกันเองบ้าง (4) ควรมีการติดตาม Output ของโครงการนี้ระยะยาว เพื่อพิสูจน์ผลที่เกิดจากโครงการว่าดีจริงแท้เพียงใด และ (5) โรงเรียนดำเนินงานโครงการนี้ที่ชั้น ป.2 และ ป.4 จึงควรเริ่มดำเนินการตั้งแต่ระดับปฐมวัย

5. แนวทางการขยายผล

  • จะขยายภายในโรงเรียน ดังนี้ (1) จากครูแกนนำ 4-5 คน ไปยังครู 50 คน (2) ขยายในกลุ่มสาระการเรียนรู้ 
  • ขยายไปยังโรงเรียนในเครือข่าย จะใช้โครงสร้างเครือข่ายที่มีอยู่เดิม ให้ครูที่เป็นประธานวิชาการออกไปโค้ชโรงเรียนในเครือข่าย แต่ก็ไม่ง่ายนักที่จะขยายในกลุ่มโรงเรียน เพราะมีปัจจัยของการยอมรับกันและกันของ ผอ.ร.ร.ว่า จะยอมรับกันหรือไม่ แต่จะง่ายกว่าถ้าขยายในโรงเรียนตนเอง 
  • เผยแพร่ในการนำเสนอผลงานของโรงเรียนภายในเขตพื้นที่การศึกษา
  • ให้ศึกษานิเทศก์นำผลงานของโครงการไปนำเสนอในที่ประชุมของเขตพื้นที่
  • บรรจุในแผนพัฒนาของเขตพื้นที่/ สหวิทยาเขต โดยกำหนดให้มีโค้ชประจำเขต โรงเรียนละ 2 คน ให้มีกรรมการขับเคลื่อนวิชาการในการยกระดับผลสัมฤทธิ์
  • ขอให้ สพฐ.ส่งเสริมนโยบายของเขตในการขยายผล โดยใช้โรงเรียนชั้นนำที่มีอยู่เป็นทีมขับเคลื่อน 

----------------------------

วันอาทิตย์ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2558

ข้อมูลเบื้องต้นโครงการ Teacher Coaching

จากชุดโครงการวิจัยและพัฒนาเครือข่ายเชิงพื้นที่เพื่อหนุนเสริมการพัฒนาการเรียนรู้ของเด็กละเยาวชน (Local Learning Enrichment Network : LLEN) ที่ดำเนินการร่วมกันระหว่าง สกว. และ สพฐ. ปี 2553-2555 พบว่า การหนุนเสริมคุณภาพครูเพื่อยกระดับคุณภาพการเรียนรู้ของนักเรียนด้วยระบบ coaching ครู ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงที่ตัวครูทั้งในด้านเจตคติและค่านิยมต่อวิชาชีพครู พฤติกรรมในกระบวนการเรียนการสอนและศักยภาพในการสร้างนวัตกรรมสื่อ จึงนำมาสู่โครงการความร่วมมือต่อเนื่องของ สพฐ. และ สกว. ในปี 2555-2557 ในชื่อ “โครงการวิจัยกระบวนการพัฒนาครูด้วยระบบหนุนนำต่อเนื่อง (Teacher Coaching)” เพื่อขยายผลการยกระดับคุณภาพการจัดการเรียนการสอน โดยยังคงมุ่งเน้นการจัดกิจกรรมหลากหลายที่เหมาะสมและต่อเนื่องด้วยการติดตามการปฏิบัติงาน อาทิ การปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ครูเน้นการเรียนรู้ด้วยการปฏิบัติจริง (Learning by doing) การให้ครูสามารถคิดค้นนวัตกรรมเพื่อจัดการเรียนการสอน การให้ความรู้ในเนื้อหาสาระวิชาเพิ่มเติมในกรณีที่จำเป็น การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้วยกระบวนการ KM การติดตามและนิเทศแบบกัลยาณมิตรที่สถานศึกษา รวมทั้งการจัดกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างครูเพื่อสร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้ในวิชาชีพครูเป็นระยะๆ เพื่อให้ครูได้พัฒนาตนเองต่อเนื่อง เพื่อให้การเปลี่ยนแปลงที่ตัวครูได้ส่งผลต่อความสำเร็จที่ตัวนักเรียนอย่างดียิ่งขึ้น

ชุดโครงการวิจัยกระบวนการพัฒนาครูด้วยระบบหนุนนำต่อเนื่อง (Teacher Coaching) เน้นการสร้างกระบวนการเรียนรู้ การพบปะ แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นร่วมกัน ระหว่างคณะกรรมการกำกับทิศทางโครงการวิจัย กับคณะดำเนินงานในพื้นที่ และระหว่างมหาวิทยาลัยในพื้นที่กับเขตพื้นที่ ได้แก่ คณะครูและผู้บริหาร โดยจะจัดให้มีการหนุนช่วยครูแบบกัลยาณมิตรอย่างต่อเนื่องและวัดผลการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับเด็กนักเรียนในรูปแบบต่างๆ

วัตถุประสงค์
1. เพื่อพัฒนาระบบการติดตามสนับสนุนและพัฒนาครูที่มีประสิทธิผลสอดคล้องกับความต้องการของครูและสามารถส่งผลต่อการยกระดับคุณภาพการเรียนรู้ของนักเรียนได้จริง
2. เพื่อพัฒนารูปแบบและแนวทางการทำงานของหน่วยพี่เลี้ยงในการพัฒนาครู ที่สามารถเชื่อมโยงกับระบบการทำงานของเขตพื้นที่การศึกษาทั้งระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาได้

คณะกรรมการกำกับทิศทาง
ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช
ศ.กิตติคุณ สุมน อมรวิวัฒน์
ศ.ดร. สุวิมล ว่องวาณิช
ดร.สีลาภรณ์ บัวสาย
ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร
ดร.เกษม สดงาม
ผศ.ดร.เลขา ปิยะอัจฉริยะ
คุณปิยะบุตร ชลวิจารณ์
ดร.เจือจันทร์ จงสถิตอยู่
คุณอนันต์ ระงับทุกข์
รศ.ดร.สุธีระ ประเสริฐสรรพ์
ดร.ชวลิต โพธิ์นคร
คุณวีณา อัครธรรม
ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ 

หน่วยงานร่วมพัฒนาในพื้นที่ 9 จังหวัด ประกอบด้วย

1. สมุทรสาคร: โครงการวิจัยและพัฒนาครูในจังหวัดสมุทรสาครด้วยระบบหนุนนำต่อเนื่อง เพื่อยกระดับคุณภาพการจัดการเรียนรู้ ที่ส่งเสริมองค์ความรู้และทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ของนักเรียน [ม.มหิดล, สพม.10, สช., อปท., สพป.สมุทรสาคร (ร.ร.มัธยม 4 แห่ง/ ร.ร.ประถม 9 แห่ง)]

2. เพชรบุรี: โครงการการพัฒนาทักษะนักเรียนแห่งศตวรรษที่21โดยการพัฒนาครูด้วยระบบหนุนนำต่อเนื่องและทุนในพื้นที่ของจังหวัดเพชรบุรี [มรภ.เพชรบุรี, สพม.10, สพป.เพชรบุรี เขต 1 (ร.ร.มัธยม 8 แห่ง/ ร.ร.ประถม 14 แห่ง)]

3. ลพบุรี: โครงการวิจัยและพัฒนากระบวนการพัฒนาครูด้วยระบบหนุนนำต่อเนื่องที่ส่งเสริมทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ของนักเรียนในจังหวัดลพบุรี [มรภ.เทพสตรี, สพม.5, สพป.ลพบุรี เขต 1 (ร.ร.มัธยม 5 แห่ง/ ร.ร.ประถม 14 แห่ง)]

4. ลำปาง: โครงการการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การเรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ของนักเรียนในจังหวัดลำปางด้วยกระบวนการพัฒนาครูแบบหนุนนำต่อเนื่อง [มรภ.ลำปาง, สพม.35, สพป.ลำปาง เขต 1 (ร.ร.มัธยม 8 แห่ง/ ร.ร.ประถม 12 แห่ง)]

5. นครนายก: โครงการพัฒนาครูด้วยระบบหนุนำต่อเนื่องเพื่อเสริมสร้างผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและทักษะในศตวรรษที่ 21 ของนักเรียนจังหวัดนครนายก [มศว, สพม.7, สพป.นครนายก (ร.ร.มัธยม 7 แห่ง/ ร.ร.ประถม 12 แห่ง)]

6. จันทบุรี: โครงการวิจัยกระบวนการพัฒนาครูด้วยระบบหนุนนำต่อเนื่องเพื่อพัฒนาทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ของนักเรียนในจังหวัดจันทบุรี [มรภ.รำไพพรรณี, สพม.17, สพป.จันทบุรี เขต 1 (ร.ร.มัธยม 4 แห่ง/ ร.ร.ประถม 11 แห่ง)]

7. กำแพงเพชร: โครงการวิจัยกระบวนการพัฒนาครูด้วยระบบหนุนนำต่อเนื่องเพื่อยกระดับคุณภาพ การเรียนรู้ของนักเรียนจังหวัดกำแพงเพชร [มรภ.กำแพงเพชร, สพม.41, สพป.กำแพงเพชร เขต 1 (ร.ร.มัธยม 10 แห่ง/ ร.ร.ประถม 15 แห่ง)]

8. เลย: การพัฒนากระบวนการหนุนนำครูอย่างต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ของนักเรียน ในเขตพื้นที่จังหวัดเลย [มรภ.เลย, สพม.19, สพป.เลย เขต 2 (ร.ร.มัธยม 5 แห่ง/ ร.ร.ประถม 13 แห่ง)] 

9. ภูเก็ต: โครงการพัฒนารูปแบบการพัฒนาวิชาชีพครูด้านความรู้เนื้อหาผนวกวิธีสอนบูรณาการเทคโนโลยีสารสนเทศของครูระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาเพื่อการจัดการเรียนรู้ตามศตวรรษที่ 21 ด้วยระบบหนุนนำอย่างต่อเนื่อง ในเขตพื้นที่การศึกษา จังหวัดภูเก็ต [มรภ.ภูเก็ต, สพม.14, สพป.ภูเก็ต (ร.ร.มัธยม 5 แห่ง/ ร.ร.ประถม 10 แห่ง)]

--------------------------------

วันจันทร์ที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2558

รายงานผลการดำเนินงานตามนโยบาย (ต.ค. 2557 - ก.พ. 2558)

ที่มาของภาพ: http://goo.gl/jBmt3b

โครงการปฏิรูปการเรียนรู้สู่ผู้เรียน เป็นโครงการที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการสนับสนุนให้ดำเนินการ หากจะวิเคราะห์ว่าสอดคล้องกับนโยบายข้อใดก็สามารถระบุได้ ดังนี้

นโยบายทั่วไป ข้อที่ 1 การพัฒนาและปฏิรูปการศึกษา จะต้องยึดหลักการมีส่วนร่วม การกระจายอำนาจ และความต้องการของทุกภาคส่วนในสังคม มีความสอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาและเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของประเทศ รวมทั้งเป็นตามกระบวนการของสภาปฏิรูปแห่งชาติและสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และแนวนโยบายของคณะรัฐมนตรี เพื่อให้การดำเนินงานเป็นที่ยอมรับและเกิดความมั่นคงยั่งยืนในระบบการศึกษาของไทย

นโยบายเฉพาะ ข้อ 4 มุ่งเน้นการผลิตและพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาให้มีคุณภาพ

1. ความเป็นมา

จุดเริ่มต้นของโครงการปฏิรูปการเรียนรู้สู่ผู้เรียนเกิดขึ้นในการประชุมร่วมระหว่างคณะทำงานฝ่ายนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ โดยที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รศ.ประภาภัทร นิยม) ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ) และผู้บริหารระดับสูงของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ในวันที่ 24 ตุลาคม 2557 ซึ่งเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (ดร.กมล รอดคล้าย) ได้เห็นชอบให้ดำเนินงานโครงการปฏิรูปการเรียนรู้สู่ผู้เรียนและมอบสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษาเป็นฝ่ายเลขานุการโครงการ โดยใช้งบประมาณเพื่อดำเนินงานโครงการจากสำนักพัฒนาครูและบุคลากรการศึกษาขั้นพื้นฐาน (ดูรายละเอียดที่ http://goo.gl/a47QAm)

โครงการปฏิรูปการเรียนรู้สู่ผู้เรียนเป็นโครงการที่มาจากนโยบายการปฏิรูปการศึกษาและการเรียนรู้ของรัฐบาลและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (พลเรือเอก ณรงค์ พิพัฒนาศัย) ที่มุ่งวางยุทธศาสตร์ระยะยาวและระบบการพัฒนาต่อเนื่องเพื่อการเปลี่ยนแปลงทางการศึกษา ให้ผู้เรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงขึ้น มีทักษะการเรียนรู้แห่งศตวรรษที่ 21 และมีความเป็นพลเมืองไทยที่ดี เริ่มต้นด้วยการนำร่องกระจายบทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบอย่างจริงจังไปยังสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและโรงเรียน หนุนเสริมการพัฒนาวิชาชีพครูเพื่อปรับการเรียนเปลี่ยนการสอน พร้อมปลดล็อกอุปสรรคการบริหารจัดการศึกษาที่ขัดขวางการปฏิรูปการเรียนรู้ด้วยตนเองของโรงเรียน ด้วยการปฏิรูปการเรียนรู้เต็มรูปแบบ (Full Scheme Model) และดำเนินการวิจัยคู่ขนานให้ได้ข้อค้นพบเชิงประจักษ์เพื่อปรับปรุงการดำเนินงานในวงจรการปฏิบัติระยะต่อไป ซึ่งกำหนดกรอบการดำเนินงานไว้ 3 ปีต่อเนื่อง ได้แก่ ปีงบประมาณ 2558 – 2560 (ดูรายละเอียดที่ http://goo.gl/2oWjZD)

2. ผลการดำเนินงาน

วัตถุประสงค์ของโครงการปฏิรูปการเรียนรู้สู่ผู้เรียนมี 3 ประการ ได้แก่ (1) เพื่อนำร่องกระจายอำนาจลงสู่เขตพื้นที่การศึกษา โดยการแก้กฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคในการบริหารจัดการศึกษาระดับโรงเรียน ในด้านการบริหารบุคคล งบประมาณ และการปฏิรูปการเรียนรู้ด้วยตนเอง (2) เพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์การเรียนรู้ในสาระวิชาหลักให้สูงขึ้นกว่าเดิม และการพัฒนาผู้เรียนทันทีอย่างรอบด้าน ทั้งด้านความรู้ ทักษะศตวรรษที่ 21 และความเป็นพลเมืองไทยที่ดี และ(3) เพื่อติดตามประเมินผลการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการจัดการเรียนรู้ของครู และการปฏิรูปการเรียนรู้ของผู้เรียนทั้งโรงเรียน โดยใช้เป็นเกณฑ์พิจารณาความดีความชอบของผู้บริหารและครู จากวัตถุประสงค์ข้างต้นจะเห็นได้ว่า เป้าหมายที่ต้องการให้เกิดกับผู้เรียนมุ่งเน้น 3 ส่วน คือ (1) ผลสัมฤทธิ์การเรียนรู้ในสาระวิชาหลักสูงขึ้นกว่าเดิม (2) ผู้เรียนมีทักษะศตวรรษที่ 21 และ(3) ผู้เรียนมีความเป็นพลเมืองไทยที่ดี

ข้อมูลพื้นฐานด้านการเรียนรู้ของนักเรียนในโรงเรียนกลุ่มเป้าหมายทั้ง 300 โรงเรียน ใน 20 เขตพื้นที่การศึกษา โดยภาพรวมแล้วถือว่า มีความจำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือพัฒนาคุณภาพการเรียนรู้อย่างมาก เพราะในการพิจารณาคัดเลือกโรงเรียนเข้าร่วมโครงการครั้งนี้ ไม่ได้ให้ความสนใจโรงเรียนที่มีความพร้อมสูงหรือมีผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียนดีอยู่แล้ว แต่มุ่งจะพัฒนาผู้เรียนในโรงเรียนที่มีคุณภาพการเรียนรู้ไม่ดีนัก โดยเลือกจากผล O-NET น้อยกว่าค่าเฉลี่ยระดับประเทศและ/หรือสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา หรือพิจารณาจากตัวแปรอื่นๆ ร่วมด้วย ซึ่งในการประชุมผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาจาก 20 เขตพื้นที่การศึกษา ในวันที่ 14 พฤศจิกายน 2557 พลเรือเอกณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เน้นย้ำเกี่ยวกับโครงการ 4 ประการ ได้แก่ (1) โครงการนี้เป็นการนำร่องกระจายอำนาจให้เขตอย่างจริงจัง โดยจะออกเป็นคำสั่งให้อำนาจ ภาระหน้าที่ และความรับผิดชอบอย่างชัดเจน นับจากเดือนมกราคม 2558 เป็นต้นไป ถ้าได้ผลดีจะขยายไปสู่เขตพื้นที่อื่น (2) การเลือกโรงเรียนร่วมโครงการจะต้องเป็นโรงเรียนที่มีผลการเรียนรู้ต่ำ (3) จะมุ่งศึกษาการบริหารจัดการของ ผอ.สพป./ สพม. ในการแก้ไขปัญหาคุณภาพการศึกษา ซึ่งจะวิจัยติดตามผลในระยะ 3 เดือน 6 เดือน และ (4) จะวัดผลการเปลี่ยนแปลงคุณภาพที่ตัวผู้เรียน

โครงการปฏิรูปการเรียนรู้สู่ผู้เรียนมีผลการดำเนินงานในระยะเตรียมการและระยะดำเนินการ ดังนี้

2.1 ผลการดำเนินงานระยะเตรียมการ

  • สพฐ.อนุมัติโครงการปฏิรูปการเรียนรู้สู่ผู้เรียน และจัดสรรงบประมาณให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา 20 เขต (ดูรายละเอียดได้ดังนี้ (1) บันทึกเสนอขออนุมัติ http://goo.gl/Wr78mc (2) สำนักพัฒนาครูและบุคลากรการศึกษาขั้นพื้นฐานสนับสนุนงบประมาณดำเนินงานโครงการ จำนวน 79,810,500 บาท http://goo.gl/QxJU5Y (3) หนังสือราชการแจ้ง สพท.เรื่องโครงการและจัดสรรงบประมาณ http://goo.gl/LYwcdF
  • การสัมมนากลุ่มผู้นำขับเคลื่อนการดำเนินงานของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและผู้อำนวยการโรงเรียน เขตละ 20 คน (ผอ.ร.ร. 15 คน และ ผอ.สพท.และคณะ 5 คน) จำนวน 6 จุดสัมมนา ผลการดำเนินงานคือ ผู้เข้าร่วมสัมมนาได้ระดมความคิดเพื่อทำความเข้าใจในจุดเน้นของการพัฒนาคุณภาพโรงเรียน อาทิ การส่งเสริมให้มีกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ผลการปฏิบัติการสอนของครู หรือ การจัด AAR (After-action review) ทุกสัปดาห์ของโรงเรียน การวางแผนงานร่วมกันระหว่างสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและโรงเรียน การระดมความคิดเพื่อสะท้อนอุปสรรคปัญหาของการพัฒนาคุณภาพ เพื่อส่งข้อมูลแนวทางปลดล็อกให้ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ดูรายละเอียดที่ http://goo.gl/SSKNLw)
  • รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการลงนามในคำสั่งแนวทางปฏิบัติตามโครงการปฏิรูปการเรียนรู้สู่ผู้เรียน เพื่อส่งเสริมการกระจายอำนาจการบริหารและการจัดการศึกษารองรับนโยบายการปฏิรูปการศึกษา เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2557 (ดูรายละเอียดที่ http://goo.gl/jlSwgM)


2.2 ผลการดำเนินงานระยะดำเนินการ (มกราคม – กุมภาพันธ์ 2558)

  • โรงเรียนมีแผนปรับปรุงคุณภาพโรงเรียนแบบ Bottom up เพื่อดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของโครงการ และเสนอมายังคณะทำงานส่วนกลางเพื่อพิจารณาสนับสนุนงบประมาณตามความจำเป็น (ดูรายละเอียดที่ (1) แผนปรับปรุงคุณภาพ version I (11 ก.พ. 2558) http://goo.gl/Jy8xbr (2) แผนปรับปรุงคุณภาพ version II (19 ก.พ. 2558) http://goo.gl/Z4y6jk (3) การทบทวนและยืนยันแผนปรับปรุงคุณภาพโรงเรียนของ สพท. (ณ วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2558) http://goo.gl/751B1i) และ (4) สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาส่งแผนปรับปรุงคุณภาพโรงเรียน รอบสุดท้ายมายัง สพฐ. ภายในวันที่ 23 มีนาคม 2558 
  • ผลการนำเสนอความก้าวหน้า 1 เดือน (ณ วันที่ 23 มกราคม 2558) โดยผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ทั้ง 20 เขต http://goo.gl/nLk16p
  • จัดให้มีทีมโค้ชสนับสนุนการติดตั้ง Coaching System และกระบวนการนิเทศในโรงเรียน ทั้ง 20 สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา มีรายละเอียด ดังนี้

                    o สพฐ. เห็นชอบให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเลือกทีมโค้ชด้วยตนเอง http://goo.gl/x9tZLw

                    o ผลการเลือกทีมโค้ชของแต่ละสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา http://goo.gl/VXMZya

                    o การประชุมทีมโค้ชเพื่อสร้างเครือข่ายองค์กรขับเคลื่อนการปฏิรูปการเรียนรู้สู่ผู้เรียน โดยการสนับสนุนของ สสส. http://goo.gl/8LyAel

                    o สพฐ.สนับสนุนงบประมาณให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งทางวิชาการของโรงเรียน http://goo.gl/NlqTDS

                    o สพฐ. ขอความร่วมมือมหาวิทยาลัยต้นสังกัดทีมโค้ชสนับสนุนการดำเนินงานโครงการปฏิรูปการเรียนรู้สู่ผู้เรียน http://goo.gl/4k6Y9o

                    o ทีมโค้ชและสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาร่วมสร้างความเข้าใจบุคลากรกลุ่มเป้าหมายเกี่ยวกับการติดตั้ง Coaching System และกระบวนการนิเทศในโรงเรียน ตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2558 เป็นต้นไป
-------------------------------

การประชุมเครือข่ายองค์กรขับเคลื่อนการปฏิรูปการเรียนรู้สู่ผู้เรียน

พิทักษ์  โสตถยาคม

ตามที่ ทีมโค้ชหลายทีมในโครงการปฏิรูปการเรียนรู้สู่ผู้เรียนได้พบกับ นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ (กรรมการ สสส. และกรรมการอำนวยการปฏิรูปการศึกษา ของ ศธ.) และ ดร.สิริกร มณีรินทร์ (ประธานอนุกรรมการปฏิรูปการเรียนรู้ และกรรมการอำนวยการปฏิรูปการศึกษา ของ ศธ.) เมื่อวันเสาร์ที่ 24 มกราคม 2558 ณ โรงแรม Hotel De' Moc และได้นัดหมายวันเวลาที่จะทำ Workshop ร่วมกัน ระหว่าง 8 ทีมโค้ชในโครงการ Reform Lab และทีมโค้ชอื่นๆ ในโครงการที่ สสส. ให้การสนับสนุนอยู่ เพื่อผสานพลังการทำงานร่วมกัน ให้โควต้าผู้เข้าประชุมทีมโค้ชละ 2 คน ซึ่งกำหนดจัดในวันศุกร์ที่ 6 กุมภาพันธ์ 2558 เวลา 08.30-16.30 น. ณ ห้องประชุม Mandarin C โรงแรมแมนดาริน ถนนพระรามสี่ กรุงเทพมหานคร นั้น ซึ่งผมได้ช่วยประสานทีมโค้ชของโครงการปฏิรูปการเรียนรู้สู่ผู้เรียน ทั้ง 8 ทีม ว่า แต่ละทีมจะให้ใครเข้าร่วม workshop ทั้งนี้ สสส. ได้ส่งจดหมายเชิญและสนับสนุนค่าใช้จ่ายประชุม ต่อไป

ตัวอย่างจดหมายเชิญประชุม ดังนี้


กำหนดการประชุม ดังนี้



ผลการประชุม ดังนี้ http://goo.gl/r50L0b






























วันศุกร์ที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2558

ขอความร่วมมือมหาวิทยาลัยต้นสังกัดทีมโค้ชสนับสนุนการดำเนินงานโครงการ

ขอความร่วมมือมหาวิทยาลัยต้นสังกัดทีมโค้ชสนับสนุนการดำเนินงานโครงการปฏิรูปการเรียนรู้สู่ผู้เรียน
พิทักษ์ โสตถยาคม

ตามที่ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน มอบสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษาเป็นฝ่ายเลขานุการโครงการปฏิรูปการเรียนรู้สู่ผู้เรียน และอนุมัติโครงการปฏิรูปการเรียนรู้สู่ผู้เรียน เมื่อ 27 พฤศจิกายน 2557 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำร่องกระจายอำนาจลงสู่เขตพื้นที่การศึกษา ยกระดับผลสัมฤทธิ์การเรียนรู้ในสาระวิชาหลักให้สูงขึ้น รวมทั้งพัฒนาผู้เรียนทันทีอย่างรอบด้าน และติดตามประเมินผลการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการจัดการเรียนรู้ของครูและการปฏิรูปการเรียนรู้ของผู้เรียนทั้งโรงเรียน ซึ่งกิจกรรมหนึ่งในโครงการฯ คือ การจัดหาทีมโค้ชทำงานร่วมกับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา โดยเขตเป็นผู้พิจารณาเลือกทีมโค้ชด้วยตนเอง รายละเอียด ดังนี้ http://goo.gl/R1Bw6d

และ สพฐ. ได้จัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมเพื่อสนับสนุนการนิเทศ ติดตาม การดำเนินงานโครงการปฏิรูปการเรียนรู้สู่ผู้เรียนไปยังสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา 20 เขต แล้ว รายละเอียดดูที่นี่ http://goo.gl/2qJs8O

ขณะนี้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาอยู่ระหว่างการดำเนินการจัดจ้าง มีทีมโค้ชเฉพาะที่สังกัดมหาวิทยาลัย จำนวน 5 ทีม จาก 5 มหาวิทยาลัย ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาวิทยาลัยทักษิณ และมหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษาพิจารณาแล้วเห็นควรแจ้งอธิการบดีมหาวิทยาลัยดังกล่าว เพื่อให้การสนับสนุนการดำเนินงานโครงการปฏิรูปการเรียนรู้สู่ผู้เรียน ตามนโยบายกระทรวงศึกษาธิการ โดยอนุญาตให้บุคลากรในสังกัดร่วมเป็นทีมโค้ชในการพัฒนาและติดตั้งระบบโค้ชในโรงเรียนและสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา รวมทั้งขอความอนุเคราะห์ยกเว้นการเก็บค่าตอบแทนเข้ามหาวิทยาลัย/ เงินอุดหนุนพัฒนาวิชาการ เนื่องจากงบประมาณที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานสนับสนุนการดำเนินงานของทีมโค้ชมีจำนวนจำกัด

ซึ่งเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (ดร.กมล รอดคล้าย) ได้ลงนามในหนังสือราชการ ที่ ศธ 04008/ ว262 ลงวันที่ 12 มีนาคม 2558 เรื่อง ขอความร่วมมือมหาวิทยาลัยต้นสังกัดทีมโค้ชสนับสนุนการดำเนินงานโครงการปฏิรูปการเรียนรู้สู่ผู้เรียน และสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษาได้จัดส่งให้อธิการบดีมหาวิทยาลัยและหัวหน้าทีมโค้ชทราบแล้ว

ตัวอย่างหนังสือราชการส่งอธิการบดี ดังนี้

รายชื่อทีมโค้ชของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ดังนี้



----------------------------

วันจันทร์ที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2558

การสนับสนุนเพื่อติดตั้ง Coaching System และกระบวนการนิเทศในโรงเรียน

การสนับสนุนเพื่อติดตั้ง Coaching System และกระบวนการนิเทศในโรงเรียน
พิทักษ์ โสตถยาคม

ขณะนี้ สพฐ. ได้จัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมเพื่อสนับสนุนการนิเทศ ติดตาม การดำเนินงานโครงการปฏิรูปการเรียนรู้สู่ผู้เรียนไปยังสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา 20 เขต แล้ว ตามหนังสือที่ ศธ 04008/ ว 191 ลงวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2558 เรื่อง สนับสนุนเพิ่มเติมสำหรับการนิเทศ ติดตาม การดำเนินงานโครงการปฏิรูปการเรียนรู้สู่ผู้เรียน ก็เพื่อให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามีที่ปรึกษาช่วยเหลือ ให้คำแนะนำ เป็นพี่เลี้ยง นิเทศ และติดตาม

ผมได้คุยกับที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รศ.ประภาภัทร นิยม) ได้ข้อคิดที่ดีมากเกี่ยวกับบทบาทของทีมโค้ช จึงขอยกมาเน้น ณ ที่นี้ด้วย ดังนี้

"...บทบาทโค้ชนั้นเพื่อช่วยฝึกให้ผู้อำนวยการโรงเรียนทำหน้าที่โค้ชครูให้ปรับเปลี่ยนวิธีการจัดการเรียนรู้ และประเมินผลเพื่อพัฒนา (Formative Assessment) ตามสภาพจริงได้ ไม่ต้องพึ่งการวัดผลสุดท้าย (Summative Assessment) เพียงอย่างเดียว ซึ่งหมายความว่าครูต้องให้เวลาเอาใจใส่นักเรียนอย่างลึกซึ้งต่อเนื่องสม่ำเสมอ และจัดกระบวนการ AAR (After-action review) เพื่อสะท้อนผลอย่างเป็นระบบ และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน เกิดความเชี่ยวชาญเป็นระบบวัฒนธรรม PLC (Professional Learning Community) อันเป็นหลักประกันการยกระดับคุณภาพการศึกษาในระยะยาว..." (ประภาภัทร นิยม. 2 มีนาคม 2558)






สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาแต่ละเขต อาจจะพิจารณาขอบข่ายงาน (TOR) อีกครั้ง เพราะงบประมาณที่ สพฐ. จัดสรรให้นี้แตกต่างจากเป้าหมายและกรอบงบประมาณที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาแจ้งมายัง สพฐ.ในคราวก่อน

การได้มาซึ่งผู้เชี่ยวชาญ/ ทีมโค้ชเพื่อมาดำเนินงานตามขอบข่ายงานความต้องการของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา เขตจะต้องอิงระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 อาจจะต้องพิจารณาร่วมกับเจ้าหน้าที่พัสดุของเขตว่า กรณีนี้เข้าข่ายเป็นความต้องการให้มีผู้ที่มีความชำนาญการพิเศษเป็นการเฉพาะหรือไม่ ถ้าใช่ก็จะเป็นไปตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 ข้อ 24 จึงเรียนมาเพื่อขอให้เขตพื้นที่พิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง

สำหรับระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 ศึกษาได้ที่นี่ >> http://goo.gl/ISFy2m

ส่วนขั้นตอนการดำเนินงาน ผมค้นมาจาก Presentation ของสำนักมาตรฐานการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นไปตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 ดูได้ที่นี่ http://203.114.124.101/2010/download/file_upload/68.ppt  ผมขอหยิบยกมา 5 เฟรม ที่น่าจะเกี่ยวข้องกับกระบวนการที่เขตพื้นที่จะดำเนินการ ดังนี้






-------------------------------


สภาพการดำเนินงานโครงการปฏิรูปการเรียนรู้สู่ผู้เรียน ระยะ 1 เดือนแรก

เขตพื้นที่นำเสนอสภาพการดำเนินงานในระยะ 1 เดือนแรก
พิทักษ์ โสตถยาคม

สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานได้เชิญผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (ผอ.สพท.) จำนวน 20 คน จาก 20 เขต ในโครงการปฏิรูปการเรียนรู้สู่ผู้เรียน มาร่วมประชุมเพื่อนำเสนอสภาพการดำเนินงานโครงการที่ผ่านมา ร่วมหารือแนวทางการดำเนินงานต่อไป ที่แสดงออกมาในถ้อยคำที่แถลงข่าวต่อสื่อมวลชน และแนวทางการประสานความร่วมมือของเขตพื้นที่กับทีมโค้ช ในวันที่ 23-24 มกราคม 2558 Hotel De’ Moc  


มีผู้สื่อข่าวจากสถานีโทรทัศน์ต่างๆ มาทำข่าว อาทิ สถานีโทรทัศน์ ThaiPBS


สำหรับสาระสำคัญที่ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาแต่ละคน ทั้ง 20 เขตพื้นที่ นำเสนอต่อที่ประชุม ในเวลา 5 นาที มีดังนี้

1. สพป.ขอนแก่น เขต ๑ (นายสายัณห์  ผาน้อย) 
http://goo.gl/azqgvH
 
2. สพป.เชียงราย เขต ๑ (นายนพรัตน์  อู่ทอง) 
http://goo.gl/ctY38z
      
3. สพป.ตราด (นายปรีดี ภูสีน้ำ) 
http://goo.gl/ZeGr2R
        
4. สพป.นครราชสีมา เขต ๑ (นายปฐมฤกษ์  มณีเนตร) 
http://goo.gl/jVJm1E
    
5. สพป.นครสวรรค์ เขต ๓ (นายวิระ  แข็งกสิการ) 
http://goo.gl/LRjWWs
          
6. สพป.น่าน เขต ๑ (นายชูเกียรติ ด่านธนะทรัพย์) 
http://goo.gl/ZwKf6P

7. สพป.พระนครศรีอยุธยา เขต ๑ (นายอารักษ์  พัฒนถาวร) 
http://goo.gl/dqVWLt

8. สพป.ภูเก็ต (นายชลำ  อรรถธรรม) 
http://goo.gl/ehXuA4

9. สพป.ระยอง เขต ๒ (นายธงชัย  มั่นคง) 
http://goo.gl/8PdDaz
   
10. สพป.ราชบุรี เขต ๒ (นายอธิวัฒน์  พันธ์ประชา) 
http://goo.gl/HWVric
        
11. สพป.ลพบุรี เขต ๒ (นายต่อศักดิ์  บุญเสือ) 
http://goo.gl/cf69Kt
   
12. สพป.ลำปาง เขต ๓ (นายวิบูลย์  ทานุชิต) 
http://goo.gl/HKCo21
    
13. สพป.ศรีสะเกษ เขต ๔ (นายธีรวุฒิ  พุทธการี) 
http://goo.gl/Cg001s

14. สพป.สตูล (นายนิสิต  ชายภักตร์) 
http://goo.gl/1UTNgU

15. สพป.สุราษฎร์ธานี เขต ๑ (นายชุมพล  ศรีสังข์) 
http://goo.gl/UWBMKK
     
16. สพป.อำนาจเจริญ (นายอดุลย์ กองทอง) 
http://goo.gl/0zayIJ
        
17. สพป.อุบลราชธานี เขต ๓ (ว่าที่ร้อยตรีทวีศักดิ์  นามศรี) 
http://goo.gl/hSH9Aj
     
18. สพม. เขต ๕ (นางมณฑ์ธวัล  วุฒิวิชญานันต์) 
http://goo.gl/OkjNWG
          
19. สพม. เขต ๒๒ (นายปริญญา  ธรเสนา) 
http://goo.gl/vteQNH

20. สพม. เขต ๒๘ (นายฤทธา  นันทพันธ์) 
http://goo.gl/pvXCkw


--------------------