หน้าเว็บ

วันพฤหัสบดีที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2556

CSR เพื่อโรงเรียนของ CAT

ความร่วมมือ สพฐ.& กสท. "สื่อสาร เรียนรู้ สู่ชุมชน": เตรียมประเมินผล Up Speed Internet ให้ 76 โรงเรียน

วันที่ 20 มีนาคม 2556 ผมไปร่วมประชุมเพื่่อหารือแนวทางการประเมินผลโครงการ "สื่อสาร เรียนรู้ สู่ชุมชน" ตามโครงการความร่่วมมือครบ 3 ปี ระหว่าง สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT ณ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ถนนแจ้งวัฒนะ ผมไปพร้อมกับศึกษานิเทศก์ 2 ท่าน คือ อาจารย์บุญลักษณ์ พิมพา และอาจารย์เสาวณีย์ สุภรสุข คณะทำงานโครงการโรงเรียนในฝัน (โรงเรียนดีใกล้บ้าน-โรงเรียนดีประจำอำเภอ) สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา ส่วนฝ่าย CAT มี 3 คน ได้แก่ คุณสถาพร ทัศประเสริฐ ผู้จัดการฝ่าย คุณธมิตรชัย บุรีเลิศ และ คุณกัณจรีย์ นาคยศ ฝ่ายประชาสัมพันธ์และสื่อสารองค์กร

สำหรับโครงการความร่วมมือนี้ ได้ลงนามกันไว้ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2553 ในชื่อโครงการ "สื่อสาร เรียนรู้ สู่ชุมชน" ระหว่าง สพฐ. บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) โครงการทำดีทุกวันจากดีแทค และสถาบันไทยพัฒน์ โดยมีวัตถุประสงค์ 4 ข้อคือ (1) ส่งเสริมสนับสนุนการยกระดับมาตรฐานการศึกษาของเยาวชนไทย (2) สนับสนุนการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และประสบการณ์การทำงานเรื่องความรับผิดชอบสังคมตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (3) สนับสนุนการสร้างองค์ความรู้ใหม่ในเรื่องความรับผิดชอบและความพอเพียงในการใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อสร้างสรรค์ประโยชน์ให้สังคม และ(4) ส่งเสริมการสร้างความเข้มแข็งทางด้านการศึกษาในสังคมและขยายเครือข่ายการใช้อินเทอร์เน็ตอย่างมีความรับผิดชอบและความพอเพียง ความเป็นมาของโครงการ ดูได้ที่นี้ >>   เปิดตัวโครงการ CSR “สื่อสาร เรียนรู้ สู่ชุมชน”


ด้วยที่ผมไม่เคยทราบว่า โครงการสื่อสาร เรียนรู้ สู่ชุมชนนี้เป็นอย่างไร จึงขอให้ทีม CAT ช่วยเล่าให้ฟัง ในส่วนของกิจกรรมของ CAT และ สพฐ. จึงทราบว่า โครงการนี้เริ่ม 8 มิถุนายน 2553 นอกจากผู้บริหารหน่วยงานมาลงนาม MOU กันแล้ว ก็ได้เชิญผู้อำนวยการโรงเรียนมาทำพิธีลงนาม MOU ระหว่างโรงเรียนกับสำนักงานบริการลูกค้า กสท.แต่ละจังหวัดด้วย หลังจากนั้น CAT ก็ได้เริ่มดำเนินการ up speed internet ให้กับโรงเรียนทั้ง 76 โรงเรียน จังหวัดละ 1 โรงเรียน เลือกโรงเรียนที่มีสาย optical fiber หรือ "เส้นใยแก้วนำแสง" ผ่านโรงเรียน หลักคิดของเขาก็คือ โรงเรียนใช้ package internet และจ่ายเงินให้ CAT อยู่เท่าใดก็ให้จ่ายเท่าเดิม แต่ CAT จะ up speed internet ให้เร็วขึ้นเท่าศักยภาพของ Hub/ router/ server ของโรงเรียนที่มีและสามารถรองรับได้เพียงใด เช่น จากเดิมความเร็ว 1 Mbps โรงเรียนจ่าย 14,900 บาท/ เดือน ก็เพิ่มให้เป็น 3 Mbps ในราคา 31,100 บาท/ เดือน โดยส่วนต่าง 16,200 บาท/ เดือน ทาง CSR ของ CAT เป็นผู้รับผิดชอบออกให้โรงเรียน เป็นต้น จากข้อมูลการสนับสนุนส่วนต่างในแต่ละเดือน พบว่า CAT สนับสนุนรวม 76 โรงเรียนเป็นเงินทั้งสิ้น 920,121.52 บาท/ เดือน (3 ปี=33,124,374.72 บาท) สนับสนุนต่อโรงเรียนมากที่สุด (MAX) 35,972 บาท/ เดือน, น้อยที่สุด (MIN) 990 บาท/ เดือน และเฉลี่ย (MEAN) 12,107 บาท/ เดือน รายละเอียดแต่ละโรงเรียน ดังแผนภาพ





เหตุที่ทาง CAT เชิญทีม สพฐ.ไปหารือกันครั้งนี้ เพราะมิถุนายน 2556 โครงการจะสิ้นสุดเวลา 3 ปี ตามกำหนดแล้ว ทางฝ่ายประชาสัมพันธ์และสื่อสารองค์กรของ CAT ก็เห็นประโยชน์ที่เกิดกับการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชน จึงต้องการเสนอบอร์ด กสท. ภายในเดือนเมษายน 2556 ขอให้ขยายเวลาการดำเนินงานโครงการนี้ออกไปอีก จึงต้องการผลการประเมินการเพิ่มศักยภาพการใช้อินเทอร์เน็ต (Up Speed Internet) จึงขอความอนุเคราะห์ให้ สพฐ.ช่วยดำเนินการให้ เพราะ CAT เคยให้สำนักงานบริการลูกค้า กสท.แต่ละจังหวัดเก็บข้อมูลให้เมื่อต้นปี 2555 แต่ไม่ได้รับผลกลับคืนมามากพอ นอกจากนั้น หาก สพฐ.ประเมินให้ก็จะทำให้เกิดความเชื่อมั่นในผลที่ได้รับมากกว่าที่ CAT ดำเนินการเอง ทั้งนี้ ทาง CAT ไม่ได้ตั้งงบประมาณเพื่อดำเนินการเรื่องประเมินโครงการนี้ไว้เลย

ดังนั้น ทีม สพฐ. 3 คน ตกลงกันว่า เราจะช่วยประเมินผลโครงการนี้ให้ เพราะเห็นว่าโครงการเป็นประโยชน์ต่อผู้เรียนและ CAT ช่วยโรงเรียนมาต่อเนื่อง 3 ปีแล้ว โดยผมจะเป็นผู้กำหนดกรอบและสร้างเครื่องมือประเมิน และอ.บุญญลักษณ์และอ.เสาวณีย์จะเป็นผู้ประสานการเก็บข้อมูลภาคสนามในสัปดาห์หน้าก่อนที่โรงเรียนจะปิดเทอมใหญ่

ทั้งนี้ ทีม สพฐ.และทีม CAT ได้ร่วมหารือกันถึงแนวทางการนำเสนอบอร์ด กสท.ให้เห็นถึงผลดีที่เกิดขึ้นจากโครงการนี้ อาทิ ใช้โอกาสที่ CAT จะฉลองครบรอบ 10 ปี ของการเป็บ บมจ. ประกาศสนับสนุนโครงการนี้ต่อไป โดยเพิ่มทั้งปริมาณและคุณภาพ เช่น เพิ่มโรงเรียนจาก 76 แห่ง เป็น 10 ปี X 10 โรงเรียน จะได้ 100 แห่ง, เพิ่มจำนวนปีสนับสนุนโครงการจาก 3 ปี เป็น 10 ปี หรือ 10 ปี หาร 2 เป็น 5 ปี, CAT กำหนดโรงเรียนสัก 10 โรงเรียน ที่จะส่งเสริมให้มีคุณภาพจนเป็นสามารถเป็นต้นแบบได้, เพิ่มกิจกรรมคุณภาพที่ส่งเสริมการเรียนรู้ของโรงเรียนและชุมชน 10 กิจกรรม เช่น ค่าย, โครงงาน, กิจกรรมใช้ IT สร้างสรรค์, แบ่งปันความรู้สู่ชุมชนรอบโรงเรียน เป็นต้น

สิ่งที่ได้เรียนรู้-สะท้อนคิด

1. หนึ่งโครงการ "สื่อสาร เรียนรู้ สู่ชุมชน" นี้เป็นของหนึ่งหน่วยงานคือ CAT ที่ทำ CSR มาสนับสนุนภาคการศึกษาและโรงเรียนของเรา โดยหวังส่งเสริมพัฒนาคุณภาพการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชน เพราะอยากเห็นเด็กในวันนี้เป็นผู้ใหญ่ที่ดีมีความสามารถในวันหน้า ซึ่งโครงการดีเช่นนี้ยังมีอีกหลายโครงการ หลายองค์กรที่ดำเนินการโครงการ CSR  ภายใต้การส่งเสริมของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กระทรวงการคลัง ร่วมกับ สพฐ. ดำเนินโครงการยกระดับมาตรฐานการศึกษาของเยาวชนไทย และได้จัดสัมมนาชี้แจงโครงการให้กลุ่มรัฐวิสาหกิจในช่วงต้นปี 2553 ณ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง โดยมี นางดนุชา ยินดีพิธ รอง ผอ.สคร. เป็นประธาน ร่วมกับ ดร.ชินภัทร ภูมิรัตน์ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ดร.อรทัย มูลคำ ผอ.สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา และนายปิยบุตร ชลวิจารณ์ อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรี ประจำกระทรวงศึกษาธิการ...ผมเคยสัมผัสความร่วมมือเช่นนี้บ่อยมาก เมื่อครั้งช่วยงานโรงเรียนในฝันในฝ่ายภาคีเครือข่ายอุปถัมภ์ ร่วมกับ อ.พวงเพชร กันยาบาล ขณะนั้นผู้ดูแลเชิงนโยบายของโรงเรียนในฝันเป็น ผู้ช่วยรัฐมนตรีปิยะบุตร ชลวิจารณ์ ท่านได้เอาใจใส่และให้ความสำคัญในการแสวงหาผู้สนับสนุน ไปให้ข้อมูลเชิญชวนให้บริษัท หน่วยงานรัฐวิสาหกิจต่างๆ ด้วยตนเอง ผมก็เป็นฝ่ายสนับสนุนข้อมูลจึงได้ไปด้วยหลายที่ เช่น ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ธนาคารอาคารสงเคราะห์ การประปานครหลวง ศรีไทยซุปเปอร์แวร์ ธนาคารกรุงเทพ ฯลฯ ผมจึงได้เห็นว่า แม้จะมีมาตรการให้ 1 ได้ 2 ในเชิงภาษีแล้ว แต่ก็มีองค์กรให้ความสนใจมาช่วยสนับสนุนโรงเรียนไม่ทุกองค์กร ดังนั้น สิ่งที่ CAT ดำเนินโครงการ "สื่อสาร เรียนรู้ สู่ชุมชน"  มาครบ 3 ปี จึงเป็นเรื่องที่น่าชื่นชมยินดีมาก

2. โครงการ CSR เป็นโครงการจิตอาสา แบ่งปันเพื่อสังคมชุมชนขององค์กร/ หน่วยงานต่าง ๆ อย่างโครงการนี้ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ก็ได้อาสาช่วยสนับสนุนโรงเรียนของเรามา คิดเป็นมูลค่ากว่า 33 ล้านบาท ดังนั้น เราทีม สพฐ. 3 คน คือ อ.บุญญลักษณ์ พิมพา อ.เสาวณีย์ สุภรสุข และผม จึงอาสาช่วยทำประเมินผลโครงการนี้ให้ เพื่อดูว่า ผู้บริหารโรงเรียนและครูมีความพึงพอใจและนักเรียนได้รับประโยชน์มากน้อยเพียงใด เป็นการร่วมด้วยช่วยกัน เพื่อสร้างสรรค์สังคมแบ่งปันให้มากยิ่งขึ้น

3. ครั้งนี้ ผมไปประชุมที่บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) เป็นส่วนของอาคารบริหาร สังเกตเห็นว่า เกือบทุกพื้นที่ว่าง (ที่คนเห็นได้ง่าย) จะไม่ปล่อยให้พื้นที่นั้นว่างเปล่า แต่บริษัทได้นำวิสัยทัศน์องค์กร พันธกิจองค์กร เป้าหมายองค์กร สิ่งที่สะท้อนวัฒนธรรมขององค์กร ข้อความจากคำสัมภาษณ์/ คำกล่าวของผู้บริหารระดับสูงขององค์กรที่ต้องการผลักดันองค์กรไปทิศทางไหนก็ถูกยกมาแปะไว้ที่ผนัง-ต้นเสาของอาคารสำนักงานทั่วไป เป็นการติดที่ออกแบบมาอย่างดี สวยงาม สะดุดตา น่าอ่าน ...ผมเห็นแล้วรู้สึกดี รับรู้ได้เลยว่า องค์กรมุ่งไปทิศทางใด องค์กรเน้นอะไร และคาดหวังอะไรจากพนักงานในองค์กร จึงคิดว่า แนวทางนี้ก็เป็นอีกหนึ่งที่ดี ในการสร้างบรรยากาศขององค์กรให้รู้สึกเป็นหนึ่งเดียว ให้เกิดความกระตือรือร้น และมุ่งสู่วิสัยทัศน์ขององค์กรร่วมกัน น่านำมาประยุกต์ใช้บ้าง



e-portfolio: เลือก ร.ร.วิจัยนำร่อง

นวัตกรรม e-portfolio: ลงพื้นที่-เลือกโรงเรียนวิจัยนำร่อง

วันพุธที่ ๑๔ มีนาคม ๒๕๕๖ ผมไปเยี่ยมโรงเรียน ๒ แห่ง รวมกับ รศ.ดร.โชติกา ภาษีผล และ ผศ.ดร.ประกอบ กรณีกิจ  เพื่อให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมและบทบาทของครู กลุ่มทดลองใช้นวัตกรรม "แฟ้มสะสมงานอิเล็กทรอนิกส์" ในแผนงานวิจัย เรื่อง การพัฒนารูปแบบแฟ้มสะสมงานอิเล็กทรอนิกส์ที่สะท้อนข้อมูลย้อนกลับในการประเมินพัฒนาการเรียนรู้ของนักเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และรับฟังคำยืนยันเข้าร่วมโครงการจากผู้บริหารโรงเรียนและครูว่า ตกลงใจจะร่วมวิจัยนำร่องไปพร้อมกันกับสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษาและคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตลอดภาคเรียนที่ ๑/ ๒๕๕๖ หรือไม่


ก่อนตัดสินใจไปเยี่ยมโรงเรียน คณะนักวิจัยได้นำข้อมูลโรงเรียนที่สมัครเข้าร่วมวิจัยนำร่องมาพิจารณาความเหมาะสมและความเป็นไปได้มากที่สุด ภายใต้ทรัพยากรที่คณะนักวิจัยมีอยู่ แล้วกำหนดลำดับของโรงเรียนที่จะไปเยี่ยมทั้งกลุ่มโรงเรียนประถมศึกษา และมัธยมศึกษา ถ้าโรงเรียนแรกรับทราบรายละเอียดของบทบาทและภาระงานที่ต้องปฏิบัติ แล้วปฏิเสธการเข้าร่วม ก็จะประสานโรงเรียนในลำดับถัดไป ...นับเป็นโอกาสดีของคณะนักวิจัย หลังจากชี้แจงทำความเข้าใจให้กับบุคลากรของโรงเรียนแล้ว ทั้ง ๒ โรงเรียนตกลงเข้าร่วมโครงการวิจัยนำร่องครั้งนี้ ประกอบด้วย 


โรงเรียนประถมศึกษาคือ โรงเรียนสายน้ำทิพย์



และโรงเรียนมัธยมศึกษาคือ โรงเรียนสตรีวัดอัปสรสวรรค์


แผนงานวิจัยนี้ได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) มี รศ.ดร.โชติกา ภาษีผล เป็นหัวหน้าแผนงานวิจัย ผศ.ดร.ประกอบ กรณีกิจ และผม เป็นผู้ร่วมวิจัย หน่วยงานวิจัยหลักเป็นคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นหน่วยงานสนับสนุน วัตถุประสงค์ของแผนงานวิจัยเพื่อพัฒนารูปแบบ ศึกษาผลการใช้ และประเมินรูปแบบ ในแผนงานวิจัยนี้มี ๒ โครงการวิจัย ประกอบด้วย โครงการวิจัยระดับประถมศึกษา และมัธยมศึกษา ผลที่จะได้นอกจากรูปแบบแฟ้มสะสมงานอิเล็กทรอนิกส์แล้ว ยังมีคู่มือการสร้างแบบประเมินแฟ้มฯ ระบบจัดการแฟ้มฯบนเว็บ โปรแกรมบันทึก-แสดงผลแฟ้มฯสำหรับนำเสนอแบบ offline ด้วย ซึ่งคาดว่าการวิจัยจะเสร็จสิ้นปลายปีนี้


พิทักษ์ โสตถยาคม
๑๙ มี.ค. ๕๖


OBEC Channel

OBEC Channel: สถานีโทรทัศน์เพื่อการศึกษาขั้นพื้นฐาน*

พิทักษ์ โสตถยาคม**

               กลางสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมได้เข้าร่วมประชุมกลุ่มย่อยเกี่ยวกับสถานีโทรทัศน์เพื่อการศึกษาขัันพื้นฐาน หรือ OBEC Channel  เพื่อหารือแนวทางการช่วยสนับสนุนบริษัท สามารถคอร์ปอเรชั่น จำกัด ให้สามารถดำเนินการผลิตรายการต่างๆ ได้ทันกับการใช้งานอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ในภาคเรียนแรกของปีการศึกษา 2556  
               เท่าที่ผมดูข้อมูลย้อนหลังเห็นว่า ความรับผิดชอบของบริษัท สามารถคอร์ปอเรชั่น จำกัด ประกอบด้วย การจัดหาและติดตั้งอุปกรณ์ส่ง-รับสัญญาณ TV ไปยังโรงเรียนปลายทาง, ผลิตสื่อการเรียนการสอนทุกวิชา, ควบคุมดูแลการถ่ายทอดสด และศูนย์สนับสนุนการเรียนการสอน (สพฐ.เปิดทีวีดาวเทียม...2556: ออนไลน์)  นอกจากนั้น จากข้อมูลใน hand out ที่แจกในที่การประชุมนี้ พบว่า บริษัทสามารถฯ ยัง "ไม่สามารถ" ผลิตสื่อเพื่อออกอากาศได้ครบถ้วนตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ เช่น กลุ่มสาระฯสังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ยังผลิตไม่เสร็จ (0% ทั้งของภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2555 และที่จะใช้ในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2556) (สำนักนโยบายและแผนการศึกษาขั้นพื้นฐาน: 6-9) ซึ่งตามกำหนดจะต้องแล้วเสร็จภายในเดือนเมษายน 2556 นี้ 
แผนภาพ ร้อยละของสื่อที่ผลิตเสร็จ จำแนกตามระดับชั้นและภาคเรียน
               ประธาน (ผอ.สวก.) ได้บอกจุดมุ่งหมายของการหารือคือ ทำอย่างไรจะทำให้มีสื่อครบถ้วน และใครจะช่วยตรงใดได้บ้าง จึง list สิ่งที่ต้องทำขึ้นมาพิจารณา พร้อมขอให้ผู้แทนสำนักช่วยประสานการดำเนินงาน ดังนี้
  1. สทร.: ขอให้ดูกรอบการดำเนินการ และผังรายการ ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2556 จากบริษัท สามารถฯ พร้อมทั้งจัดทำ/ปรับปรุงผังรายการให้เสร็จสมบูรณ์ 
  2. ศนฐ.: จัดทำแผนการจัดการเรียนรู้ เพื่อใช้ถ่ายทำรายการ/ สื่อออกอากาศ 
  3. สวก.: แสวงหาครูสอนดี ครูเก่ง วิทยากร เพื่อสนับสนุนการถ่ายทำรายการ/ สื่อออกอากาศ
  4. สนก.: ประสาน Teacher TV (โทรทัศน์ครู) เพื่อนำตอนที่มีประโยชน์นำมาออกอากาศ โดยเฉพาะการสร้างแรงบันดาลใจให้ครู
               สำหรับ การประสานงานของ สนก. ผมได้สอบถามอาจารย์ที่มีส่วนร่วมในทีมโทรทัศน์ครู ทราบว่า ขณะนี้ บริษัท pico (ผู้ผลิตรายการ) ได้ส่งมอบสื่อ/ รายการทั้งหมดให้กับสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) โดยมหาวิทยาลัยบูรพา (รศ.ดร.มนตรี แย้มกสิกร) แล้ว หากเราจะดำเนินการใดๆ จะต้องติดต่อไปยังมหาวิทยาลัยบูรพา ซึ่งขณะนี้ผมได้ส่งอีเมลไปขอความอนุเคราะห์จาก รศ.ดร.มนตรี แล้วครับ หากได้รับการตอบกลับมาอย่างไร จะนำเสนอในที่ประชุมคณะทำงานกลุ่มย่อยนี้ ซึ่งนัดหารือกันนัดต่อไปวันที่ 21 มีนาคม 2556 เวลา 17.00 น. ณ ห้องประชุม สวก. ชั้น 4 โดยรองเลขาธิการ กพฐ. (ดร.เบญจลักษณ์ น้ำฟ้า) เป็นประธานครับ
               ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ OBEC Channel ในส่วนของวิสัยทัศน์ พันธกิจ และวัตถุประสงค์ ซึ่งได้กำหนด Vision ของสถานีไว้ว่า สถานีโทรทัศน์ผู้นำด้านการจัดการเรียนการสอน มี Mission 3 ข้อคือ (1) ผลิตรายการตามหลักสูตรแกนกลางฯ (2) ให้ข่าวสารความรู้เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต (3) ส่งเสริมการพัฒนาการเรียนการสอน ส่วน Objective มี 2 ข้อคือ (1) เพื่อพัฒนาการจัดการเรียนรู้ระดับประถมศึกษาขนาดเล็ก/ ห่างไกล/ ขาดแคลนครู จำนวน 10,000 โรงเรียน (2) เพื่อเร่งปฏิรูปการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ (สำนักนโยบายและแผนการศึกษาขั้นพื้นฐาน: 1-2) ซึ่งขณะนี้ออกอากาศได้เพียง 1 ช่อง หากสนใจเพิ่มเติม โปรดศึกษาที่เว็บไซต์ OBEC Channel ที่นี่ http://www.obectv.com/obec/

สะท้อนคิดจากการประชุม

  • การมีสถานีโทรทัศน์เป็นของตนเองถือว่า เป็นช่องทางที่จะสื่อสารถึงครูและบุคลากรทางการศึกษาได้อย่างดี แต่การเกิดขึ้น/ จัดให้มีขึ้นแล้วนี้ จะยิ่งมีคุณค่ามากขึ้นอีก หากมีการบริหารจัดการให้สามารถดำรงอยู่และสร้างประโยชน์ให้กับวงการศึกษาได้จริงๆ ถ้าเทียบกับสถานีโทรทัศน์ทั่วไป อย่างไทยพีบีเอสก็จะมีคณะกรรมการบริหารสถานี นายสถานีโทรทัศน์ ผู้อำนวยการสถานี ผู้ประกาศ/ ผู้สื่อข่าว ส่วนสถานีโทรทัศน์ NBT ก็มีผู้อำนวยการสถานี มีฝ่ายจัดและควบคุมรายการ ส่วนผลิตรายการ ส่วนเทคโนโลยี ฝ่ายบริหารทั่วไป ฝ่ายแผนงานและประสานงาน และกลุ่มงานวิชาการ ดังนั้น จะยกระดับให้เป็นทีวีที่เป็นผู้นำด้านการจัดการเรียนการสอนอย่างแท้จริง จำเป็นต้องพิจารณาประเด็นการบริหารจัดการสถานีโทรทัศน์เป็นพิเศษ เพื่ออำนวยการและขับเคลื่อนทั้งระบบ ไม่เพียงให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคนิคประจำสถานีฯ รวม 15 คน และ Staff ของบริษัท สามารถฯ ดำเนินการกันไปเอง
  • ทันทีที่ได้ทราบว่ามีสถานีโทรทัศน์ของ สพฐ. ผมก็เห็นว่า จะดีมากเลย ถ้าสถานีนี้ได้เชื่อมโยงหรือร่วมมือกับสถานีโทรทัศน์การศีกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ของมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม http://www.dlf.ac.th/index.php หรือโทรทัศน์ครู http://iptv-lms.uni.net.th/es_iptv/video.php เพราะต่างก็มีจุดมุ่งหมายเพื่อโอกาสแห่งการเรียนรู้ของเด็กๆ ครูและบุคลากรทางการศึกษาเช่นกัน หลังจากนั้น ผมได้รับทราบจากเจ้าหน้าที่ว่า OBEC Channel  จะต้องเป็นผู้นำ และนำเสนอรายการที่แตกต่าง ดังนั้นจึงจะผลิตเอง โดยใช้ความสามารถของบริษัทสามารถฯ สุดท้าย ผมเสนอข้อมูลว่า โทรทัศน์ครูมีรายการที่ผลิตเสร็จแล้ว 3,600 รายการ และทราบว่าเขาพร้อมส่งสื่อ/รายการนี้ให้ หากมีผู้สนใจจะนำไปใช้ประโยชน์ ซึ่ง สพฐ.ก็น่าประสานและคัดเลือกนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์กับครู และเป็นส่วนหนึ่งของรายการที่จะออกอากาศเพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับครู 
  • การดำเนินการของบริษัทผลิตสื่อ ที่ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย นอกจากเราจะสนับสนุนช่วยเหลือให้มีสื่อได้ครบดังที่มีการพูดคุยกันครั้งนี้และครั้งหน้า เราควรจะมีมาตรการใดเพิ่มเติมอีกหรือไม่ ที่จะกำกับให้มีการดำเนินการตามกรอบที่ได้ตกลงกัน

รายการอ้างอิง
สพฐ.เปิดทีวีดาวเทียม OBEC Channel ยกระดับคุณภาพการศึกษา.  (2556, 28 มกราคม).    
           ไทยรัฐออนไลน์. สืบค้นเมื่อ 17 มีนาคม 2556, จาก http://www.thairath.co.th/content/tech/323057
สำนักนโยบายและแผนการศึกษาขั้นพื้นฐาน. (2556). สถานีโทรทัศน์เพื่อการศึกษาขั้นพื้นฐาน.  
           เอกสารประกอบการประชุมผู้บริหารระดับสูงของ สพฐ. วันที่ 12 มีนาคม 2556 

_______________________________________
* การประชุมกลุ่มย่อยเกี่ยวกับการสนับสนุน OBEC Channel วันที่ 13 มีนาคม 2556 เวลา 14.00-15.30 น. ณ ห้องประชุม สวก. ชั้น 4 นำโดย ผอ.วีณา อัครธรรม ผู้อำนวยการสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา และมีผู้แทนสำนัก (อาทิ สนก., สวก., ศนฐ., สทร., สนผ., สกบ.) รวมทั้งสิ้น 9 คน 
** นักวิชาการศึกษา สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา สพฐ.

Tablet & คนพิการ

Tablet: การเข้าถึงและใช้ประโยชน์ของคนพิการ


วันนี้ผมได้รับมอบจากผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษาให้เข้าประชุมแทนเกี่ยวกับการหาข้อสรุปและแนวทางในการขับเคลื่อนและแก้ไขปัญหาในเรื่องการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากโครงการแจกแท็บเล็ตให้นักเรียนชั้น ป.1 รายงานต่อคณะอนุกรรมาธิการด้านคนพิการ ในคณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคมและกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการและผู้ด้อยโอกาส วุฒิสภา ใน 3 ประเด็นคือ
  1. การจัดสรรแท็บเล็ตที่ไม่มีนโยบายที่ชัดเจนในส่วนของคนพิการ
  2. นโยบายในเรื่องการจัดสรรในส่วนอุปกรณ์ (hard ware) ที่จะทำให้คนพิการเข้าถึงได้
  3. รูปแบบการจัดสรรข้อมูลที่จะบรรจุลงไว้ในแท็บเล็ตที่ต้องเอื้อต่อคนทุกประเภทและสามารถพัฒนาต่อได้

จากการหารือกันได้ข้อสรุปในแต่ละประเด็น ดังนี้
ประเด็นที่ 1 นโยบายแจกแท็บเล็ต: ที่ประชุมเห็นว่า นโยบายมีความชัดเจนครอบคลุมเด็ก ป.1 ทุกคนอยู่แล้ว แต่ควรเสนอรัฐบาลปรับเป็นจัดเพิ่มให้แก่คนพิการที่กำลังศึกษาอยู่ในระบบการศึกษาทุกคน 
ประเด็นที่ 2 hard ware: ที่ประชุมเห็นว่า แท็บเล็ตไม่สามารถใช้การได้และไม่เหมาะสมสำหรับการใช้งานของคนพิการประเภทหูหนวกและตาบอด เพราะต้องใช้ software/ Apps เฉพาะ และ hard ware ที่มีสมรรถนะสูง จึงเสนอว่า ควรพิจารณา ipad หรือเครื่องที่มีสมรรถนะเทียบเท่า ในการจัดหาให้คนพิการ 
ประเด็นที่ 3 ข้อมูลที่ลงไว้ในตัวเครื่อง: ที่ประชุมเห็นว่า ควรจำแนกประเภทของความพิการออกเป็น 3 กลุ่ม เพื่อจัดหาสื่อ ICT รวมทั้ง content ที่เหมาะสมกับแต่ละกลุ่ม ได้แก่ (1) กลุ่มตาบอด (2) กลุ่มหูหนวก (3) กลุ่มออทิสติก/ บกพร่องทางสติปัญญา

ซึ่งสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ จะได้สนับสนุนให้มี workshop ของคณะทำงานในแต่ละประเด็นให้มีรายละเอียดเพิ่มขึ้น พร้อมวิเคราะห์เหตุผลความจำเป็น เพื่อเสนอ สพฐ. รมว.ศธ. และคณะอนุกรรมาธิการด้านคนพิการ ในคณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคมและกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการและผู้ด้อยโอกาส วุฒิสภาต่อไป

สิ่งที่ผมได้เรียนรู้จากการประชุมวันนี้ คือ


  • ความรู้สึกขณะอยู่ในการประชุมนี้คือ คิดไปข้างหน้าเพื่อประโยชน์ของผู้พิการรายคน/ รายกลุ่ม ความคิดความรู้สึกเช่นนี้ก็คือ การศึกษาที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ เราอยากให้เขาได้รับความสะดวกในการเรียนรู้ และเผชิญโลกได้อย่างดีที่สุดแม้มีภาวะจำกัด สิ่งที่จะให้เขาได้ก็คือ เครื่องมือช่วยในการเรียนรู้ และดีใจที่ข้อเสนอของผมที่เสนอว่า ควรสนับสนุน Tablet ให้กับคนพิการทุกคนเพื่อใช้ในการศึกษาเรียนรู้ มีผู้เห็นด้วยและนำไปสู่การปรับเป็นมติของที่ประชุม
  • ได้เห็นแง่คิด มุมมองของผู้พิการที่โดดเด่น อย่างน้อย 2 คน คือ นายกิติพงศ์ สุทธิ (สมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย) และ ดร.อิศวรา ศิริรุ่งเรื่อง (อาจารย์วิทยาลัยราชสุดา) รู้สึกประทับใจ ทึ่งในการเรียนรู้และพัฒนาตนเองแม้จะพิการสายตา 
  • ได้รับรู้ว่าโปรแกรมช่วยในการเรียนรู้ของผู้พิการทางสายตา อาทิ สื่อ DAISY (หนังสือเสียง แสดงผลคล้ายคาราโอเกะ), อีพลัส (มีอาจารย์บุญเลิศ ที่ NECTEC เป็นวิทยากรให้การอบรม) และได้รู้ว่าผู้พิการทางสายตามีความพึงพอใจในสมรรถนะของ ipad   ว่ามี Apps หลายตัวที่สามารถเอื้อให้ผู้พิการสายตาได้ใช้งานได้เป็นอย่างดี
  • ได้รับรู้ว่า ค่าใช้จ่ายที่สนับสนุนการศึกษาของผู้พิการสูงกว่าคนปกติ 5 เท่า 
  • ได้เรียนรู้การจัดสรรแท็บเล็ตให้นักเรียนในโรงเรียนเอกชน จากตัวแทนสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชน (สช.) ว่า สช.จัดสรรให้โรงเรียน และถือว่าแท็บเล็ตเป็นครุภัณฑ์ของทางราชการ (ซื้อด้วยงบประมาณของรัฐ) ให้โรงเรียนนำไปใช้ในการจัดการเรียนการสอน ไม่ได้ให้กรรมสิทธิ์กับนักเรียนแต่ละคน โดยให้นักเรียนยืมเรียน หากจะนำกลับไปใช้ที่บ้านต้องให้ผู้ปกครองมาทำเรื่องยืม กรณีนักเรียนย้ายออกจากโรงเรียน โรงเรียนจะต้องนำเครื่องแท็บเล็ตมาส่งคืนที่ สช. และ สช.จะเป็นผู้ดำเนินการเรื่องจัดสรรเครื่องให้กับโรงเรียนที่นักเรียนย้ายไปเอง ทั้งนี้เพื่อควบคุมยอดรวมของแท็บเล็ตและลดปัญหาอื่นๆ ที่จะตามมา

-----------------------------------------
* การประชุมคณะกรรมการพิจารณาการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากโครงการแจกแท็บเล็ตให้นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 วันศุกร์ที่ 15 มีนาคม 2556 เวลา 13.00-15.00 น. ณ ห้องประชุมสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ สพฐ. อาคาร สพฐ.2 ชั้น 1

วันศุกร์ที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2556

การพัฒนาครูอย่างยั่งยืน: Coaching & Mentoring


การพัฒนาครูอย่างยั่งยืน: Coaching & Mentoring[1]


รศ.ดร.ดุษฎี โยเหลา[2] 
พิทักษ์ โสตถยาคม[3]


จุดมุ่งหมายในการพัฒนาครูก็เพื่อให้ครูเป็นครูที่ดี เก่ง และมี จิตวิญญาณความเป็นครู ทั้งนี้ก็เพื่อให้เป้าหมายสูงสุดคือ ให้เกิดผลดีกับผู้เรียน

การพัฒนาครูในอดีตมักจะมีสำรับมาให้โดยระบุว่าครูต้องรู้อะไรและพัฒนาให้มีความรู้ เป็นการบรรยายโดยผู้รู้ ช่วงของการพัฒนามักจัดช่วงปิดเทอมหรือจัดให้ครูเป็นการเฉพาะ (ไม่มีนักเรียนอยู่ในกระบวนการพัฒนาครู) หลังการพัฒนาครูนำความรู้ไปใช้ในโรงเรียนทั้งแบบทดลองนำไปใช้บ้างและไม่ได้ใช้เลยด้วยเหตุผลหลากหลาย

 หากจะจำแนกประเภทของความรู้ที่ครูได้รับ สามารถแบ่งได้เป็น 3 ประเภท คือ (1) ความรู้เพื่อการปฏิบัติ (Knowledge for Practices) ซึ่งความรู้ประเภทแรกนี้ส่วนใหญ่ เป็นความรู้ส่วนใหญ่ที่ครูได้รับจาก   การพัฒนาในอดีต เป็นความรู้ที่ได้มาจากการทำวิจัย หรือได้รับการยืนยันมาแล้วว่าเป็นความรู้ที่ใช้ได้ กิจกรรมที่จะให้ได้ความรู้ประเภทนี้คือการฟังบรรยายจากผู้รู้ การเข้าสัมมนา ให้อ่านหนังสือ รวมทั้งกิจกรรมการสังเกตการสอนจากครูต้นแบบ (2) ความรู้ในการปฏิบัติ (Knowledge in Practices) เป็นความรู้ที่ครูใช้อยู่ในการสอน ครูเป็นเจ้าของความรู้นั้น และครูต้องมีการทบทวนเพื่อสร้างความรู้ขึ้นมา มิฉะนั้นความรู้ในการปฏิบัตินี้จะไม่เกิดขึ้น อาจเป็นการทบทวนด้วยตนเอง หรือทบทวนร่วมกันกับครูผู้นำ ครูพี่เลี้ยงก็ได้ และ (3) ความรู้ของการปฏิบัติ (Knowledge of Practices) เป็นความรู้ที่มีการสะสมอย่างเป็นรูปธรรม จากการทำ หรือทดลองหลายๆ ครั้งเพื่อศึกษาว่าอะไรดี อะไรผิดพลาดและมีการปรับปรุงแก้ไขต่อเนื่องจนเกิดเป็นความรู้ของการปฏิบัติ ในการพัฒนาครูควรปรับเปลี่ยนประเภทของความรู้ที่ครูส่วนใหญ่เคยได้รับในความรู้ประเภทที่ 1 ความรู้เพื่อการปฏิบัติ ไปสู่ความรู้ประเภทที่ 2 ความรู้ในการปฏิบัติ และประเภทที่ 3 ความรู้ของการปฏิบัติ


ความแตกต่างของการพัฒนาครูโดยผู้พัฒนาที่แตกต่างกัน 3 แบบ ได้แก่ ผู้ฝึก(trainer) ผู้ชี้แนะ(coacher) และพี่เลี้ยง(mentor) โดยแบ่งเป็นการเปรียบเทียบ 2 คู่ คู่แรก ความแตกต่างของผู้ฝึกและผู้ชี้แนะ มีดังนี้ (1) ผู้ฝึก สิ่งที่ดำเนินการในการพัฒนาครู ประกอบด้วย การกำหนดวัตถุประสงค์ของการพัฒนา มีการให้การฝึก มีการอธิบายว่าต้องทำอะไรบ้าง มีการกำหนดทิศทางการพัฒนา และการให้ข้อมูลผลการพัฒนา (2) ผู้ชี้แนะ สิ่งที่ดำเนินการในการพัฒนาครู ประกอบด้วย การสร้างข้อตกลงร่วมกันระหว่างผู้ชี้แนะและผู้รับการชี้แนะ  ช่วยพัฒนาแผน  การพัฒนาด้วยการใช้คำถามและผู้ชี้แนะจะเป็นผู้รับฟังที่ดี มีการสังเกตและกระตุ้นหนุนนำให้ผู้เรียนได้ตัดสินใจเอง มีการถามว่าต้องทำอะไร มีการถามว่าผลการพัฒนาเป็นอย่างไร ซึ่งจะเห็นว่า ผู้ชี้แนะจะต้องฝึก การตั้งคำถามและอดทนรอคอยผลที่จะเกิดขึ้น

ส่วนคู่ที่สอง ความแตกต่างของผู้ชี้แนะและพี่เลี้ยง มีดังนี้     (1) ผู้ชี้แนะ เน้นการปฏิบัติ (performance) เพื่อไปให้ถึงเป้าหมายที่ต้องการ มีบทบาทเป็นผู้สนับสนุนแบบมีวาระดังที่กำหนดไว้ ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ชี้แนะและผู้รับการชี้แนะอาจมาพร้อมกับงานหรือตำแหน่ง สิ่งที่มีอิทธิพลต่อผู้รับการชี้แนะคือ ตำแหน่งของผู้ชี้แนะ ผลที่ได้เป็นการสร้างทีมที่เกี่ยวข้องกับงาน (2) การเป็นพี่เลี้ยง เน้นที่ตัวบุคคล มีบทบาทให้การสนับสนุนแต่ไม่มีวาระกำหนดไว้ น้องเลี้ยงสามารถเลือกพี่เลี้ยงได้เอง สิ่งที่จะมีอิทธิพลต่อน้องเลี้ยงคือ การรู้คุณค่าในกันและกัน ผลที่ได้รับเป็นจะเป็นการเรียนรู้ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตแบบองค์รวม


            ดังนั้น ในทางปฏิบัติในการพัฒนาครูโดยการชี้แนะและการมี  พี่เลี้ยงร่วมกัน ก็คือ (1) ต้องมีการตั้งเป้าหมายร่วมกัน (2) ต้องมีการทำ assessment ศึกษาว่าสภาพปัจจุบันเป็นอย่าง (3) เมื่อได้ข้อมูลแล้วแบ่งกลุ่มเป้าหมายของการพัฒนาออกเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มกลาง (ประมาณค่าเฉลี่ย) จะใช้การพัฒนาด้วยการชี้แนะ ส่วนกลุ่มสูงกว่าค่าเฉลี่ยจะใช้การพัฒนาด้วยการเป็นพี้เลี้ยง และกลุ่มที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยจะพัฒนาด้วยการให้คำปรึกษาใกล้ชิด (counseling) ทั้งนี้ เป้าหมายของการช่วยพัฒนาครูให้ได้ความรู้ประเภทที่ 2 และ 3 โดยใช้หลักการพัฒนาที่ยึดครูเป็นศูนย์กลาง จะไม่บอกความรู้ให้ครู แต่จะให้ครูร่วมเรียนรู้ไปด้วยกัน จะมีการชี้แนะและการเป็นพี่เลี้ยงในกระบวนการพัฒนาครู โดยทั่วไปเมื่อกล่าวถึง coaching ก็จะพบว่ามีอยู่หลายแบบ อาทิ Peer Coaching, Group Coaching, Specialist Coaching, Head Coaching
            อีกกระบวนการหนึ่งที่มีการกล่าวถึงมากในการพัฒนาครูของอเมริกาคือ PLC หรือ Professional Learning Community ลักษณะของกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันเช่นนี้ จะมีขนาดของกลุ่มประมาณ 6-15 คน หรือไม่เกิน 20 คน จะเริ่มต้นที่ “ใจ” เป็นกลุ่มเรียนรู้ร่วมกันแบบสมัครใจ ของกลุ่มผู้ปฏิบัติงานที่มาพบกันอย่างสม่ำเสมอ และเรียนรู้จากการปฏิบัติงานร่วมกัน โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อมุ่งพัฒนา  การปฏิบัติงาน โดยใช้การทบทวนตนเองและสะท้อนคิดสิ่งที่ได้ปฏิบัติ  จะอยู่ทบทวนร่วมกันกับกลุ่ม กลุ่มจะร่วมรับผิดชอบต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น สมาชิกกลุ่มมีบทบาทเท่าเทียม ทำงานเป็นทีม การดำเนินการนี้อาจไม่จำเป็นต้องมีคำสั่งแต่งตั้งให้ดำเนินการ กระบวนการสะท้อนตนเองนี้นับเป็นการแสวงหาความรู้ความจริงจากการปฏิบัติในลักษณะวิจัยปฏิบัติการ
            ในการทำ Professional Learning Community (PLC) ในโรงเรียนต่างๆ ผู้ที่เป็น Coach หรือ Mentor จะต้อง (1) ลงไปศึกษา ณ โรงเรียน เพื่อให้รู้บริบทของโรงเรียน รู้ความต้องการ รู้ฐานเดิมว่ามีใครทำ PLC อยู่บ้างแล้ว มีกี่กลุ่ม บุคลากรคนใดสามารถช่วยแนะนำคนอื่นได้ ใครมีศักยภาพในการเชิญชวนคนอื่นๆ ให้เข้าร่วม PLC ได้ รู้ว่ามีจุดเด่นอะไร เป็นต้น (2) ต้องลงพื้นที่หลายๆ ครั้ง เพื่อให้เกิดความคุ้นเคยกับบุคลากรในโรงเรียน และทำความรู้จักคนในกลุ่มสร้างความคุ้นเคยระหว่างบุคลากรกับ Coach/ Mentor (3) ช่วยเสริมสร้าง PLC เช่น อาจพบว่ามี PLC กลุ่มสาระการเรียนรู้อยู่แล้ว ก็ช่วยค้นหาสิ่งที่ต้องการพัฒนา ช่วยกำหนดเป้าหมายและแผนการดำเนินงาน ช่วยให้มีการเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลโดยอาจนำเครื่องมือประเมิน (assessment tools) ไปช่วย ช่วยจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้-แบ่งปัน (4) หมั่นไปร่วมกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ชี้แนะ (coaching) เพื่อให้ครูบรรลุเป้าหมายที่ต้องการให้ได้ก่อน หลังจากนั้นผู้ที่เป็น coach หรือ mentor จึงค่อยสรุปในตอนท้ายว่าการดำเนินการจนครูบรรลุสิ่งที่ต้องการจำเป็นนี้มีรูปแบบของการดำเนินการอย่างไร
            กล่าวโดยสรุปได้ว่า PLC จะเป็นการร่วมกลุ่มกัน แบบตั้งใจที่จะพัฒนาร่วมกัน มีการพบกันสม่ำเสมอ เป็นกิจกรรมที่ต่อเนื่อง มี Protocol หรือข้อตกลงร่วมกันว่า จะมีการทำงานร่วมกันอย่างไร เช่น จะมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันเดือนละกี่ครั้ง แต่ละครั้งให้สะท้อนคิด (reflection) เกี่ยวกับเป้าหมายที่ได้ตั้งไว้ ว่าได้ทำอะไรไปแล้ว และจะทำอะไรต่อไป การรวมกลุ่มจึงเน้นที่ความสม่ำเสมอ และความต่อเนื่องของผู้ปฏิบัติงาน ที่พัฒนาการปฏิบัติงานของตนและของกลุ่ม

            สรุปได้ว่า สิ่งสำคัญของกระบวนการพัฒนาครูเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับครู ให้ครูเป็นครูที่สอนดี มีจิตวิญญาณความเป็นครูนำไปสู่การยกระดับคุณภาพการเรียนรู้ของผู้เรียน ผู้มีส่วนร่วมในการพัฒนาครูต้องรู้จักครูรายบุคคล รู้จุดเด่นจุดที่ควรพัฒนา เน้นครูเป็นศูนย์กลางของการพัฒนา มีการตั้งเป้าหมายของการพัฒนาร่วมกัน ไม่บอกความรู้ครู แต่ส่งเสริมให้ครูสร้างความรู้ด้วยตนเอง มุ่งก่อเกิดความรู้ในการปฏิบัติ (Knowledge in Practices) และความรู้ของการปฏิบัติ (Knowledge of Practices) และใช้กระบวนการมีส่วนร่วมและการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันอย่างสม่ำเสมอต่อเนื่อง



[1] การอภิปราย เรื่อง การพัฒนาครูอย่างยั่งยืนด้วย Coaching และ Mentoring วันที่ 6 มีนาคม 2556 ณ โรงแรมรามาการ์เด้นส์ จัดโดยสำนักพัฒนาครูและบุคลากรการศึกษาขั้นพื้นฐาน สพฐ.
[2] ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยพฤติกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ/ วิทยากร
[3] นักวิชาการศึกษา สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา สพฐ./ ผู้สรุป

Sustainable Teacher Development

Sustainable Teacher Development*

ดร.เบญจลักษณ์ น้ำฟ้า**
พิทักษ์ โสตถยาคม***

ประเด็นที่จำเป็นต้องวิเคราะห์ก่อนเริ่มต้นพัฒนาครู ก็คือ ครูมีประสบการณ์การเรียนรู้เกี่ยวกับการเป็นครูและการสอนมาอย่างไร เพื่อทำความเข้าใจว่าเหตุใดจึงปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการสอนของครูได้ไม่ง่ายนัก จากแผนภาพ Teacher' s learning experience นี้ จะเห็นได้ว่าเมื่อครั้งที่ครูเป็นนักเรียนประถมศึกษาเป็นเวลา 12 ปี ได้เห็นการสอนที่ครูเป็นศูนย์กลาง ได้เรียนรู้แบบ passive learning ทุกๆ วัน วันละ 7 ชั่วโมง ต่อมาเข้าเป็นนักศึกษาครูเป็นเวลา 4 ปี ฝึกสอนอีก 1 ปี รวมทั้งบรรจุในโรงเรียนและได้เห็น-ได้รับประสบการณ์การเรียนรู้แบบ passive learning อยู่ตลอดเวลา ทั้งจากครูอาจารย์และเพื่อนครูที่อยู่ล้อมรอบตัว ถือเป็นการถูกกระทำแบบทับถมฝังลึกของประสบการณ์ passive learning ที่ยากมากที่จะเปลี่ยนครูไปสู่การจัดการเรียนรู้แบบ active learning ได้ในระยะเวลาอันจำกัด เพราะครูเรียนรู้การเป็นครูจากการสังเกตซึมซับ passive learning ทั้งด้วย ความตั้งใจและไม่ตั้งใจตั้งแต่เริ่มเป็นนักเรียน

ผลการวิจัยเกี่ยวกับโปรแกรมการพัฒนาครูอย่างยั่งยืน (Sustainable Teacher Development Program) ได้ข้อสรุปว่า มี 3 องค์ประกอบ ที่มีความสำคัญจำเป็น หากขาดองค์ประกอบหนึ่งองค์ประกอบใดไปก็จะมีผลต่อความยั่งยืนในการพัฒนาครู นั่นคือ (1) Teacher as a Learner Workshop เป็นการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ใหม่ให้ครู ในลักษณะ active learning experience ซึ่งครูจำเป็นต้องผ่านประสบการณ์การเรียนรู้แบบ active learning แบบประจักษ์ชัด ได้สัมผัสกระบวนการและผลที่เกิดขึ้นด้วยตนเอง จึงจะช่วยให้สามารถออกแบบและจัดการเรียนรู้แบบ active learning ให้กับนักเรียนได้ ดังนั้น องค์ประกอบแรกนี้เป็นการเน้นย้ำว่า หากต้องการให้ครูจัดการเรียนรู้แบบใด ก็ต้องจัดประสบการณ์เรียนรู้แบบนั้นในการอบรมพัฒนาครู (2) One on One Supervision/ Coaching & Mentoring เป็นการนิเทศ ติดตาม ช่วยเหลืออย่างใกล้ชิดจากผู้ชี้แนะ และการสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง องค์ประกอบนี้ เน้นย้ำว่า การฝึกอบรมเพียงครั้งเดียวไม่เพียงพอที่จะทำให้ครูเปลี่ยนพฤติกรรมการสอนได้ และ (3) Teacher Collaboration เป็นการช่วยให้ครูได้พูดคุย แลกเปลี่ยนเรียนรู้ แบ่งปันประสบการณ์ เป็นเครือข่ายการเรียนรู้ร่วมกัน เติมเต็มให้สังคมของครูที่ค่อนข้างโดดเดี่ยวให้เป็นชุมชน/ สังคมแห่งการเรียนรู้ร่วมกัน

จะเห็นได้ว่า การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการสอนจาก passive learning สู่ active learning ได้อย่างแท้จริง จำเป็นต้องใช้ระยะเวลาและความตั้งใจจริงในการนำหลักคิดของการพัฒนาครูอย่างยั่งยืนนี้ไปสู่การปฏิบัติ อาจกล่าวได้ว่า การพัฒนาครูต้องใช้เวลาในการบ่มเพาะ ต้องให้การสนับสนุนช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง ต้องเปิดโอกาสให้ครูได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน และต้องมีข้อมูลที่เหมาะสมในการสนับสนุนและช่วยเหลือที่ถูกทาง

หากสถาบันผลิตและพัฒนาครู อาทิ มหาวิทยาลัยโดยคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ จับมือกับโรงเรียนและสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาร่วมกันพัฒนาวิชาชีพครู โดยมีเป้าหมายสูงสุดเพื่อพัฒนานักเรียน ก็จะเป็นการช่วยเสริมสร้างให้โรงเรียนกลุ่มเป้าหมายพัฒนาไปสู่การเป็น Professional Development School เป็นการสร้างโอกาสแห่งการเรียนรู้จากการปฏิบัติร่วมกันของคณาจารย์ ผู้บริหารโรงเรียน ครูแกนนำ/ master teacher นิสิตนักศึกษาครู และนักเรียน นับว่าเป็น win-win situation ที่ทุกฝ่ายได้รับประโยชน์ร่วมกันจากการร่วมมือรวมพลังในลักษณะนี้

อย่างไรก็ตาม กระบวนทัศน์ของนักพัฒนาครูมีความสำคัญยิ่งต่อการเสริมสร้าง active learning experience การช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง และการสร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้ของครูให้เป็นจริงได้ จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าข้อคิดเกี่ยวกับการพัฒนาครูข้างต้น จะช่วยหนุนเสริมเติมเต็มมุมมองของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการเรียนรู้ของครู และร่วมมือรวมพลังร่วมพัฒนาวิชาชีพครูสืบไป
------------------------------------------------------------------------
* การอภิปราย เรื่อง การพัฒนาครูอย่างยั่งยืนด้วย Coaching และ Mentoring วันที่ มีนาคม 2556 ณ โรงแรมรามาการ์เด้นส์ จัดโดยสำนักพัฒนาครูและบุคลากรการศึกษาขั้นพื้นฐาน
** รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน/ วิทยากร
*** นักวิชาการศึกษา สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา สพฐ./ ผู้สรุป