หน้าเว็บ

วันพฤหัสบดีที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2557

ปฏิรูปการเรียนรู้สู่ผู้เรียน: เสนอต่อที่ประชุมผู้บริหารระดับสูง สพฐ.

พิทักษ์ โสตถยาคม

วันนี้ (อังคารที่ 9 ธันวาคม 2557) ผมได้รับมอบหมายจากผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา (ดร.พิธาน พื้นทอง) ให้นำเสนอเรื่องเพื่อทราบเกี่ยวกับโครงการปฏิรูปการเรียนรู้สู่ผู้เรียน ต่อที่ประชุมผู้บริหารระดับสูง สพฐ. แต่เนื่องจากมีเวลานำเสนอจำกัด จึงได้แนะนำเอกสารสรุปโครงการและนำเสนอเพียงภาพรวม ภายใน 2 นาที ดังนี้



1. ข้อมูลโครงการ โครงการปฏิรูปการเรียนรู้สู่ผู้เรียน เป็นโครงการนำร่องการกระจายอำนาจที่ผูกโยงกับความรับผิดชอบ ให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาผลักดันและขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนให้เกิดผลและเปลี่ยนแปลงเชิงบวกอย่างเป็นรูปธรรม ตามนโยบายของ รมว.ศธ. ซึ่งเลขาธิการ กพฐ.ได้ให้การสนับสนุนการดำเนินงานอย่างเต็มที่ ขณะนี้มีสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาที่อยู่ในระยะแรกของการดำเนินงาน จำนวน 20 เขต กระจายอยู่ในทุกภูมิภาคทั่วประเทศ

2. กลุ่มเป้าหมาย จำนวนเขตพื้นที่การศึกษาที่จะเข้าร่วมโครงการตลอด 3 ปีของการดำเนินงานโครงการ แต่ละปีแบ่งเป็น 2 ระยะ รวม 6 ระยะ ครอบคลุม 225 เขต ดังนี้ ระยะที่ 1 จำนวน 20 เขต ระยะที่ 2-5 จำนวน 40 เขต และระยะที่ 6 จำนวน 45 เขต  แต่ละเขตจะมีจำนวนโรงเรียนกลุ่มเป้าหมายช่วงเริ่มต้น 15 โรงเรียนต่อเขต


3. แนวความคิดโครงการ มุ่งเน้นการปลดล็อกสิ่งที่เป็นอุปสรรคของการพัฒนาคุณภาพ ปรับระบบการบริหารจัดการใหม่ และปรับระบบสนับสนุนส่งเสริมการทำงานของครูและบุคลากรใหม่ การปรับการเรียนเปลี่ยนการสอน โดยส่งเสริมให้โรงเรียนและสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาใช้การชี้แนะ (Coaching) การจัดวงสนทนาทบทวนการปฏิบัติ (After-action review: AAR) และการเดินสังเกตการสอนของครู (Learning Walk) เพื่อให้ได้ข้อมูลจากสภาพการทำงานจริง มาปรับปรุงพัฒนาคุณภาพผู้เรียน ในด้านความรู้ ทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ความเป็นพลเมืองไทยที่ดี และความสุข 
  

4. การวิจัยติดตามประเมินผลอย่างเป็นระบบ ประกบไปตลอดระยะเวลาดำเนินงานโครงการ ซึ่งจะมีหน่วยงานอื่นเป็นผู้ดำเนินการ อาทิ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ส่วน สพฐ. จะส่งเสริม สพท.ให้วิจัยเพื่อการเรียนรู้ และได้มีการเชิญศึกษานิเทศก์มาร่วมประชุมสร้างความเข้าใจร่วมกันในแนวทางการวิจัยเพื่อการเรียนรู้แล้ว เมื่อวันที่ 3-4 ธันวาคม 2557 มีรองศาสตราจารย์ ดร.ดุษฎี โยเหลา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยพฤติกรรมศาสตร์ มาช่วยเชื่อมโยงและสังเคราะห์กรอบความคิดจากแผนงาน/ โครงการวิจัยที่ศึกษานิเทศก์นำเสนอ ดังแผนภาพ  
แผนภาพ สังเคราะห์แนวทางการวิจัยจากการนำเสนอของศึกษานิเทศก์ โดย รศ.ดร.ดุษฎี โยเหลา

---------------------------

คิดหลังคุยกับ รมช.ศธ.

คิดหลังคุยกับ รมช.ศธ.
พิทักษ์ โสตถยาคม
11 ธ.ค. 2557

สิ่งที่ผมนำมาคิดต่อหลังจากสนทนากับ รมช.ศธ. (พลเอก สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์) และคณะ ย้อนมองปรากฏการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในสำนักงานเขตพื้นที่และโรงเรียนนำร่องในโครงการปฏิรูปการเรียนรู้สู่ผู้เรียน เพื่อตั้งประเด็นสำหรับการร่วมคิดและพัฒนาการดำเนินงานของผู้เกี่ยวข้องในโอกาสต่อไป ดังนี้


1. กรรมาธิการยกร่างปลดล็อก  การปลดล็อกปัญหาอุปสรรคที่รุมเร้าขัดขวางการเรียนรู้ของผู้เรียน ถือเป็นเรื่องดีที่ควรทำอย่างยิ่ง หากสังเคราะห์องค์ความรู้จากผลการวิจัยที่ผ่านมา อาจไม่ต้องใช้เวลาเนิ่นนานนัก และรวมกับการวิเคราะห์วิจัยจากประสบการณ์การปฏิบัติของผู้คนที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาเพิ่มเติม นำมาผ่านกระบวนการคิดพิจารณาร่วมกันของผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญและผู้ทรงคุณวุฒิ น่าจะได้ข้อสรุปที่ออกมาเป็นกฎระเบียบและคำสั่งเพื่อขจัดอุปสรรค ผลักดันการกระจายอำนาจ และความรับผิดชอบทางการศึกษาไปยังสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและโรงเรียนได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยเทียบเคียงกับกระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่มีประธานกรรมาธิการและกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ อันที่จริงก็มีความจำเป็นในขณะนี้อย่างมาก เพราะ รมว.ศธ.จะต้องลงนามในคำสั่งมอบอำนาจ/ กระจายอำนาจให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษากลุ่มนำร่อง 20 เขต ไปดำเนินการ ดังนั้น การจะออกคำสั่งเรื่องการกระจายอำนาจไปยังสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาจึงต้องผ่านการคิดพิจารณาอย่างรอบคอบและใช้ผลการวิจัยและข้อค้นพบที่ผ่านมาเป็นฐาน

2. แนวคิดไม่ใหม่-ไม่ยาก แนวคิดที่ต้องการปรับการเรียนการสอนไม่ใช่เรื่องใหม่ จากการร่วมสัมมนาปฏิบัติการปฏิรูปการเรียนรู้สู่ผู้เรียน หรือเรียกว่า Coaching Lab เป็นการแนะนำเรื่องการตั้งวงทำ AAR ทบทวนการทำงานของครูประจำสัปดาห์ และการแนะให้ผู้บริหารโรงเรียนเก็บข้อมูลการสอนของครูให้เป็น และนำสิ่งที่เก็บข้อมูลได้ไปเป็นประเด็นสนทนาในวง AAR ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ไม่ได้ให้ความสำคัญและปฏิบัติอย่างเป็นวิถีชีวิต ดังนั้น หากโรงเรียนปกป้องเวลาของครูและจัดสรรเวลาเพื่อทำ AAR เป็นประจำทุกสัปดาห์ และมีการติดตามผลอย่างจริงจัง ก็จะเกิดผลดีตามสมมติฐานของโครงการ ซึ่งเมื่อเป็นสิ่งดีงามก็ควรส่งเสริมให้โรงเรียนโดยทั่วไปได้นำไปใช้ โดยไม่ต้องสมัครเข้าร่วมโครงการ

3. Trust: ไว้เนื้อเชื่อใจเขต การมอบหมายให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษารับผิดชอบผลที่จะเกิดขึ้นเกี่ยวกับคุณภาพโรงเรียน ควรเชื่อมั่นและไว้วางใจให้ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาแต่ละคนได้ใช้ภาวะผู้นำอย่างเต็มที่ พิสูจน์ฝีมือ ทำเรื่องที่ท้าทายเหล่านี้ให้ประจักษ์ชัด เพราะเมื่อเวลาผ่านไป 3 เดือน 6 เดือน มีการติดตามประเมินผล ก็จะได้รู้อย่างชัดเจนว่า การกระจายอำนาจให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเป็นสิ่งที่ถูกต้องหรือไม่ และจะได้รู้ชัดว่าการจัดการศึกษาของประเทศนี้จะฝากความหวังไว้ที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาได้มากน้อยเพียงใด ฝ่ายติดตามประเมินผลของคณะทำงานส่วนกลางควรทำหน้าที่ติดตามประเมินผลอย่างตรงไปตรงมา เพื่อสะท้อนผลการปฏิบัติงานของเขตพื้นที่การศึกษาที่เชื่อมโยงกับคุณภาพของผู้เรียนและโรงเรียน

4. โค้ชนอกเขต ความจำเป็นของตัวช่วยหรือโค้ชภายนอก ความคิดเบื้องต้นของโครงการจะกำหนดให้มีโค้ชภายนอกไปช่วยเขต แต่เมื่อคิดทบทวนถึงหลักคิดของโครงการที่จะให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาได้มีอิสระ สามารถจัดการตัวเองได้ เพื่อทำเป้าหมายและวัตถุประสงค์ให้สำเร็จตามแต่ระยะเวลาที่กำหนด ซึ่งผมเชื่อมั่นว่าเขตทำได้เอง และเชื่อว่าเขตส่วนใหญ่คิดเช่นนี้ ดังนั้น การที่จะกำหนดโค้ชภายนอกแถมไปให้แต่ละเขต จึงควรทบทวนไตร่ตรองเรื่องนี้อีกครั้ง ซึ่งอาจมี 3 ทางเลือก แต่ละทางเลือกมีข้อคิดดังนี้
1) ให้เขตดำเนินการด้วยตนเอง โดยไม่ต้องพึ่งโค้ชภายนอก ข้อดีคือเป็นการพิสูจน์ฝีมือของเขตว่า สามารถรองรับการกระจายอำนาจและความรับผิดชอบจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานได้จริงหรือไม่ อย่างไร
2) จัดโค้ชภายนอกไปให้โดยไม่ต้องถามเขต ข้อดีคือง่ายต่อการจัดการของส่วนกลาง ข้อเสียคือ เขตไม่มีสิทธิมีเสียง และไม่เป็นไปตามหลักการของโครงการที่มุ่งหวังจะให้เขตคิดเองและจัดการตนเอง
3) ถามเขตก่อนว่าต้องการหรือไม่ ถ้าต้องการ เขตจะเลือกแบบใด (3.1) ให้ส่วนกลางจัดโค้ชให้ แล้วแต่ส่วนกลาง (3.2) ให้ส่วนกลางจัดโค้ชให้ แต่มี list รายชื่อโค้ชให้เขตได้เลือก  และ(3.3) เขตจะเลือกโค้ชเอง เป็นโค้ชที่เขตรู้ฝีมือและเชื่อมั่นว่าจะสามารถทำงานร่วมกันได้อย่างดีเพื่อบรรลุเป้าหมายของโครงการที่มุ่งหวัง ซึ่งการเลือกตัดสินใจทางหนึ่งทางใด ก็จะกระทบข้อค้นพบจากการวิจัยและประเมินผลครั้งนี้ด้วย เช่น หากใช้โค้ชภายนอกแล้วการดำเนินการของเขตนั้นประสบความสำเร็จ ก็จะสรุปว่า ที่สำเร็จเพราะมีโค้ชภายนอกไปช่วย แสดงว่าถ้าจะมีการขยายผลการดำเนินการไปยังเขตอื่นๆ ก็จำเป็นต้องจัดหาโค้ชไปช่วยเขตเช่นเดียวกันเขตนำร่อง แต่ในความเป็นจริงอาจไม่จำเป็น เพราะสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาสามารถทำให้บรรลุผลได้ด้วยวิธีการที่เขตคิดเองและดำเนินการด้วยตนเองก็เป็นได้ ดังนั้น หากย้อนไปมองหลักคิดที่จะให้เขตเข้มแข็งอย่างแท้จริง ก็จำเป็นต้องมีกระบวนการทำความรู้จักศักยภาพของบุคลากรในแต่ละเขตพื้นที่ พูดคุยสอบถามแนวทางพัฒนาของเขต รวมถึงศึกษาความต้องการจำเป็นที่เขตต้องการความช่วยเหลือเพิ่มเติมจากภาคีเครือข่ายภายนอก 

5. ได้คุย-ได้คิด การที่มีผู้ตั้งประเด็นคำถาม เช่นเดียวกับที่สนทนาให้ข้อมูล รมช.ศธ. จะทำให้เราได้มีโอกาสได้คิดทบทวน และเกิดความคิดที่จะปรับปรุงพัฒนางานให้ดียิ่งขึ้น ดังนั้น การตั้งวงสนทนา AAR เพื่อปฏิรูปการเรียนรู้ คงไม่ใช่ส่งเสริมให้มีเฉพาะในโรงเรียน ควรจัดวงคุยในทุกระดับ เช่น วงคุยระดับกลุ่มโรงเรียน วงคุยในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา วงคุยระหว่างสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา วงคุยในระดับ สพฐ./ นโยบาย ซึ่งจะทำให้ได้เรียนรู้ระหว่างกันและกระตุ้นให้เกิดความคิดสร้างสรรค์เพื่อพัฒนางานให้ดียิ่งขึ้นด้วย

-----------------------------

โครงการปฏิรูปการเรียนรู้: ชี้แจงต่อ รมช.ศธ.

ชี้แจงโครงการปฏิรูปการเรียนรู้สู่ผู้เรียนต่อ รมช.ศธ.
พิทักษ์  โสตถยาคม

วันที่ 9 ธันวาคม 2557 เวลา 16.30 น. ดร.พิธาน พื้นทอง ผอ.สนก. และผม รวม 2 คน ไปให้ข้อมูลเกี่ยวกับโครงการต่อรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (พลเอก สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์) ตามการประสานงานของทีมงาน รมช.ศธ. ซึ่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะรัฐมนตรีผู้ดูแล สพฐ.โดยตรง รมช.ศธ.ได้เน้นย้ำว่า เห็นด้วยในหลักการกระจายอำนาจการบริหารจัดการของโครงการ แต่ขอรับทราบข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินการโครงการ เพื่อช่วยสนับสนุนให้โครงการประสบความสำเร็จอย่างที่มุ่งหวัง สาระสำคัญของข้อมูลที่เล่าให้ รมช.ศธ. ทราบโดยสรุป มีดังนี้


ที่มาของภาพ: http://goo.gl/3HO4Oy

1. โครงการปฏิรูปการเรียนรู้สู่ผู้เรียน ได้มุ่งตรงไปยังการปฏิรูปที่แท้คือ การสอนของครูและการเรียนรู้ของเด็ก โดยใช้กระบวนการ Coaching AAR (After-action review) และ Learning Walk เพื่อนำข้อมูลผลการจัดการเรียนรู้มาร่วมกันคิด ทบทวนไตร่ตรอง สะท้อนผล และหาแนวทางปรับปรุงการปฏิบัติงานของแต่ละคน เพื่อมุ่งยกระดับคุณภาพผู้เรียนด้านความรู้ทักษะศตวรรษที่ 21 ความเป็นพลเมืองไทยที่ดี และความสุขในการเรียนรู้ เขตพื้นที่เป้าหมายระยะแรก มีจำนวน 20 เขต กิจกรรมเริ่มต้นโครงการจะมี 2 กิจกรรม ได้แก่ จัดสัมมนา Reform Lab เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมในพื้นที่ และจัดสัมมนา Coaching Lab เพื่อนำเสนอหลักคิดของการปฏิรูปการเรียนรู้ในโรงเรียนให้ผู้อำนวยการโรงเรียน จำนวน 15 คน จาก 15 โรงเรียน และคณะทำงานขับเคลื่อนโครงการของเขต จำนวน 5 คน รวมเขตละ 20 คน นำไปคิดพิจารณาและประยุกต์ใช้ตามบริบทของแต่ละโรงเรียนและพื้นที่ด้วยตัวเอง ซึ่งวัตถุประสงค์ 3 ประการของโครงการ ประกอบด้วย (1) เพื่อนำร่องกระจายอำนาจลงสู่เขตพื้นที่การศึกษา โดยแก้กฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคในการบริหารจัดการศึกษาระดับโรงเรียน ด้านการบริหารบุคคล งบประมาณ และการปฏิรูปการเรียนรู้ด้วยตนเอง (2) เพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์การเรียนรู้ในสาระวิชาหลักให้สูงขึ้นกว่าเดิม และพัฒนาผู้เรียนทันทีอย่างรอบด้าน ทั้งด้านความรู้ ทักษะศตวรรษที่ 21 และความเป็นพลเมืองไทยที่ดี และ (3) เพื่อติดตามประเมินผลการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม การจัดการเรียนรู้ของครูและการปฏิรูปการเรียนรู้ของผู้เรียนทั้งโรงเรียน โดยใช้เป็นเกณฑ์พิจารณาความดีความชอบของผู้บริหารและครู

2. เขตประถมและมัธยมทำไปเรียนรู้ไปพร้อมกัน หลักคิดของการปฏิรูปการเรียนรู้ การกระจายอำนาจและความรับผิดชอบไปสู่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาของเขตประถมศึกษาและเขตมัธยมศึกษาเป็นสิ่งเดียวกัน การเริ่มต้นให้เขตดำเนินการในเรื่องการปรับระบบการบริหารจัดการ การปรับระบบการสนับสนุน และปลดล็อกเพื่อให้ครูมีเวลาจัดการเรียนรู้อย่างมีคุณภาพเพื่อผลสัมฤทธิ์การจัดการเรียนการสอนที่ดีขึ้น เป็นหลักการเดียวกันที่มุ่งหวังให้เกิดขึ้น ส่วนการปฏิบัติของแต่ละเขตพื้นที่ที่จะนำหลักการนี้ไปดำเนินการ ก็ขึ้นอยู่กับบริบท ลักษณะของเขตพื้นที่นั้น ขณะนี้คณะทำงานส่วนกลางที่รับผิดชอบโครงการนี้ไม่ได้แยกคณะทำงานขับเคลื่อนโครงการเฉพาะส่วน สำหรับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) แต่จะมีการวิจัย ติดตาม และประเมินผลว่า เมื่อมอบหมายบทบาทของการขับเคลื่อนคุณภาพไปอยู่ที่เขตโดยการนำของ ผอ.สพท.แล้ว แต่ละเขตดำเนินการอย่างไร ได้ผลเป็นอย่างไร ซึ่งตามข้อตกลงแรกเริ่มโครงการจะเป็นบทบาทของสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาเข้ามาดำเนินการวิจัยและประเมินผล ซึ่งก็อยู่ที่การออกแบบการวิจัยและประเมินผลว่า จะออกแบบวิจัยให้เหมาะสมกับการวิเคราะห์และประเมินผลการดำเนินงานของ สพป. และ สพม. และโรงเรียนในสังกัดนั้นๆ อย่างไร

3. ความจำเป็นของการวิจัยและประเมินผล เป็นที่เห็นพ้องต้องกันแล้วว่า การจัดการศึกษาต้องกระจายอำนาจการจัดการศึกษาและความรับผิดชอบ ไปยังภาคส่วนต่างๆ ให้มีส่วนร่วม และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาก็เป็นหน่วยงานที่อยู่ในพื้นที่ทั่วประเทศ หากมอบหมายภารกิจและความเป็นเจ้าภาพทำงานมุ่งคุณภาพอย่างจริงจัง น่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงโรงเรียนและการเรียนการสอนได้ แต่นั่นก็เป็นแนวคิดที่ต้องพิสูจน์ ดังนั้น การวิจัยและประเมินผลทุกระยะ ทุกก้าวย่างของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาจึงต้องมีการวิจัยและประเมินผลประกบติด เพื่อให้ได้ข้อมูลเชิงประจักษ์ ในการตัดสินใจของกระทรวงศึกษาธิการแบบ evidence-based decision making ซึ่งจากการตีความสิ่งที่ได้รับฟังจากที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รศ.ประภาภัทร นิยม) เข้าใจว่า หลายกลุ่มหลายฝ่ายมีการเสนอข้อมูลเพื่อให้เกิดการกระจายอำนาจ แต่พบว่าเป็นในเชิงความคิดเห็นมากกว่ามีหลักฐานข้อมูลเชิงประจักษ์ ที่จะช่วยให้กระทรวงตัดสินใจเรื่องนี้อย่างมั่นใจและถูกต้อง ฉะนั้น จึงมีโครงการปฏิรูปการเรียนรู้สู่ผู้เรียน เพื่อตั้งต้นที่คุณภาพการเรียนรู้ในห้องเรียนแล้วย้อนกลับไปดูระบบบริหารจัดการและระบบอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องว่าจะต้องปรับปรุงเปลี่ยนแปลงด้านอื่นๆ อย่างไร ให้เกิดความเชื่อมั่นว่า ถ้าเปลี่ยนแปลงอะไรๆ แล้วจะเกิดคุณภาพที่ผู้เรียนจริงๆ

4. องค์ความรู้เพื่อกระจายอำนาจ แม้ว่าปัจจุบันมีองค์ความรู้เรื่องเกี่ยวกับการกระจายอำนาจอยู่มาก หากใช้การทบทวนและสังเคราะห์องค์ความรู้ที่มีอยู่ และรู้อยู่แล้วว่าควรกระจายอำนาจเรื่องอะไรอย่างไร แล้วสั่งการให้มีการดำเนินการอย่างจริงจังในทุกเขตพื้นที่ จะช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลง/ ปฏิรูปการเรียนรู้อย่างที่มุ่งหวังได้เลย และทุกเขตพื้นที่ทุกโรงเรียนก็ดำเนินการไปพร้อมกัน โดยไม่ต้องรอให้มีการวิจัยและประเมินผลเสร็จก่อน รวมทั้งไม่ต้องเสียงบประมาณไปจ้างมหาวิทยาลัยหรือผู้เชี่ยวชาญมาวิจัย ติดตาม และประเมินผลอีก อย่างไรก็ตาม สพฐ.ได้อนุมัติการดำเนินงานปีแรกไว้แล้ว หวังว่า ข้อค้นพบของโครงการที่จะได้ในระยะแรก (ภายในปีงบประมาณ 2558) ก็น่าจะได้องค์ความรู้ที่จะยืนยันฐานความรู้เดิมได้เป็นอย่างดี และอาจนำไปสู่การตัดสินใจเชิงนโยบายในการกระจายอำนาจสู่เขตพื้นที่การศึกษาและโรงเรียนได้อย่างรวดเร็วกว่าที่กำหนดไว้ตามระยะเวลาที่วางไว้ 3 ปีของโครงการ

4. Start โครงการหลังปีใหม่ การปรับการเรียนเปลี่ยนการสอนเพื่อคุณภาพผู้เรียน ยิ่งมีการดำเนินการเร็วได้เพียงใด ย่อมส่งผลดีต่อเด็กแต่ละคน และคุณภาพการศึกษาโดยรวม สอดคล้องกับสโลแกน “ทำก่อน ทำจริง ทำทันที” และเป็นกลุ่มเป้าหมายระยะแรกของโครงการ ที่จะต้องปรับเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อเปลี่ยนแปลงตนเอง แบบ “ระเบิดใน” จึงต้องมีระยะเวลาบ่มเพาะความเข้าใจร่วมกันเพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่วัฒนธรรมการเรียนรู้แบบใหม่ในโรงเรียน รวมทั้งปรับระบบบริหารและการสนับสนุนจากภายนอกไปพร้อมกันด้วย ที่สำคัญจะเป็นพื้นที่ที่จะมีทีมเฝ้าดูการเปลี่ยนแปลงของการทำงานของโรงเรียนและเขตพื้นที่อย่างใกล้ชิด ซึ่งเมื่อเข้าสู่วงรอบการทำงานใหม่ในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2558 จะทำให้ครูและบุคลากรทางการศึกษาของโรงเรียนและเขตพื้นที่มีความพร้อมในการเริ่มต้นด้วยกระบวนการใหม่ อย่างมั่นใจมากขึ้น เพราะได้ลงมือปฏิบัติช่วงหนึ่งแล้วในช่วง 2-3 เดือนก่อนปิดภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2557

5. กระบวนการ AAR (After-action review) การนิเทศภายใน หรือการประชุมร่วมกันของครูเพื่อวิพากษ์วิจารณ์สื่อ แผนการสอน หรือพัฒนาการสอนจะมีอยู่บ้างในบางโรงเรียน แต่สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างเป็นประจำ อย่างสร้างสรรค์ และเป็นวิถีชีวิตปกติของครูในโรงเรียนส่วนใหญ่ของประเทศ ดังนั้น การนำกระบวนการ AAR มาแนะนำให้โรงเรียนและเขตพื้นที่ที่เข้าร่วมโครงการได้รู้จักและนำไปประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับบริบทโรงเรียนเอง จึงเป็นหลักการของการปรับปรุงการเรียนการสอน และจุดเริ่มต้นของการสร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้ใหม่ในโรงเรียน ปรับเปลี่ยนปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันแบบใหม่ เป็นแบบกัลยาณมิตร เกื้อกูลซึ่งกันและกันระหว่างครู และครูกับศิษย์ โรงเรียนจึงต้องสร้างกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากการปฏิบัติร่วมกันอยู่เสมอ หรือสร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (Professional Learning Community: PLC) ให้เกิดขึ้น เพราะถือเป็นการพัฒนาวิชาชีพแบบ on the job training ที่มีประสิทธิผล และหากครูและผู้บริหารโรงเรียนมองเห็นว่า ควรเติมเต็มความรู้และสมรรถนะสำคัญเรื่องใดที่เป็นจุดอ่อนของครู เพื่อให้ครูสามารถจัดการเรียนการสอนให้ดีขึ้น โรงเรียนก็สามารถคิดและตัดสินใจเองว่า จะเติมเต็มเรื่องใด เวลาใด อาจชวนผู้รู้มาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในช่วงเวลา AAR ที่ทุกโรงเรียนจะจัดสรรเวลาไว้ ให้มีช่วง/ ชั่วโมง AAR ในทุกสัปดาห์ หรือจะเติมเต็มในช่วงวันหยุดเพื่อไม่ให้กระทบเวลาจัดการเรียนรู้ของครูและเด็กก็ได้

การสนทนาก็จบลงในเวลาอันจำกัด ทำให้ผมได้เข้าใจในสิ่งที่ ดร.สุรัฐ ศิลปอนันต์ ประธาน กพฐ. กล่าวไว้ในการประชุมผู้บริหารระดับสูง สพฐ. ในวันเดียวกัน (9 ธันวาคม 2557) ว่า งานของเราเป็นส่วนหนึ่งหรือส่วนย่อยของระบบใหญ่หลายชั้น/ หลายระดับ จะต้องเรียนรู้และเข้าใจร่วมกัน และต้องได้รับการสนับสนุนและร่วมมือไปในทิศทางเดียวกัน จึงจะเป็นพลังผลักดันให้งานที่ทำประสบผลสำเร็จ
----------------------------

ผลประชุมคณะทำงานติดตามนโยบาย รมว.ศธ. ครั้งที่ 3

ผลประชุมคณะทำงานติดตามการดำเนินงานตามนโยบาย รมว.ศธ. ครั้งที่ 3
พิทักษ์ โสตถยาคม

วันจันทร์ที่ 8 ธันวาคม ๒๕๕๗ เวลา 07.20-08.20 น. ณ ห้องประชุมจันทรเกษม ได้มีการประชุมคณะทำงานติดตามการดำเนินงานตามนโยบาย รมว.ศธ. รองศาสตราจารย์ประภาภัทร นิยม ประธานคณะทำงานแจ้งให้ที่ประชุมทราบว่า ได้ยกร่างแนวทางการปฏิรูปการบริหารจัดการ ตามนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ แบ่งเป็น 3 ส่วน (1) ระบบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อให้ผู้บริหารสถานศึกษาและผู้บริหารเขตพื้นที่การศึกษาผลักดันการปรับการเรียนเปลี่ยนการสอนให้เกิดผลเชิงคุณภาพแก่ผู้เรียน เป็นเรื่องของระบบการเรียนรู้ หลักสูตร การวัดและประเมินผล ซึ่งเกี่ยวข้องกับทุกองค์กรหลัก (2) ระเบียบบริหารข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา เพื่อให้ได้ครูที่มีคุณภาพและการพัฒนาครูประจำการอย่างต่อเนื่องโดยใช้เกณฑ์ผลการเรียนของผู้เรียนเพื่อสะท้อนผลการปฏิบัติงาน ซึ่งเกี่ยวข้องกับ สคบศ. กศศ. คุรุสภา สพฐ. และ สกอ. และ(3) ระเบียบบริหารจัดการงบประมาณ เป็นการทบทวนวิธีการจัดทำแผนงบประมาณให้ปรับสมดุลสัดส่วน ระหว่างส่วนกลางและหน่วยปฏิบัติ โดยคำนึงถึงประโยชน์ของผู้เรียนเป็นสำคัญ ทั้งนี้ ควรให้ผู้รับผิดชอบเรื่องการบริหารจัดการงบประมาณภาพรวมของกระทรวงศึกษาธิการมาให้ข้อมูลต่อคณะทำงานติดตามการดำเนินงานตามนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นอกจากนั้น การปฏิรูประบบบริหารจัดการดังกล่าว จะได้รับข้อมูลและข้อเท็จจริงจากหน่วยปฏิบัติจากสถานศึกษาขั้นพื้นฐานและอาชีวศึกษาเป็นระยะๆ ซึ่งสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาจะเป็นผู้สังเคราะห์ภาพรวมจากกระบวนการปฏิรูปการศึกษาในสถานศึกษาและสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา



นายพิทักษ์ โสตถยาคม คณะทำงานและเลขานุการคณะทำงานติดตามฯ นำเสนอข้อมูลการดำเนินงานตามนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ที่สรุปมาจากเอกสารรายงานผลการดำเนินงานตามนโยบายฯ ของสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และองค์กรหลัก ตามประเด็นนโยบายสำคัญ 4 ด้าน คือ (1) การปฏิรูปการศึกษา (2) ปรากฏการณ์ที่ต้องแก้ไขเร่งด่วน (3) การผลิตและพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา และ (4) การพัฒนาการศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ใน 4 หัวข้อ ประกอบด้วย สิ่งที่ดำเนินการแล้ว ผลการดำเนินงาน อุปสรรคปัญหา และสิ่งที่จะดำเนินการต่อไป ปรากฏว่า มีข้อมูลเพียง 2 ส่วน คือ สิ่งที่ดำเนินการแล้ว และสิ่งที่จะดำเนินการต่อไป ส่วนข้อมูลผลการดำเนินงานและอุปสรรคปัญหาไม่ชัดเจน หรือขาดข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับผลที่เกิดขึ้นจากการดำเนินงานตามนโยบายฯ ซึ่งโครงการ/ กิจกรรมแต่ละประเด็นนโยบาย มีดังนี้

1. การปฏิรูปการศึกษา ได้แก่ (1) การเสนอแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการปฏิรูปการศึกษากระทรวงศึกษาธิการ (2) การเสนอปรับบทบาทและโครงสร้างของสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาเพื่อให้สอดคล้องกับการปฏิรูปการศึกษา (3) การขับเคลื่อนกรอบคุณวุฒิแห่งชาติสู่การปฏิบัติ (4) การพัฒนาเด็กปฐมวัย 
(5) โครงการปฏิรูปการเรียนรู้สู่ผู้เรียน (6) การพัฒนาการเรียนการสอนประวัติศาสตร์และหน้าที่พลเมือง (7) การพัฒนาหลักสูตร (8) ค่านิยมหลักของคนไทย 12 ประการ (9) โครงการขยายผลการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม (10) การพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษาให้ทันสมัย (11) โครงการเครือข่ายเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อพัฒนาการศึกษา (12) โครงการพัฒนาและขยายบริการของศูนย์เรียนรู้ดิจิทัลระดับชาติด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยี (IPST Learning Space) ที่เชื่อมโยงในระดับประเทศและนานาชาติ (13) โครงการเครือข่ายห้องสมุดมหาวิทยาลัยไทย (14) การพัฒนาโปรแกรมระบบบริหารจัดการเรียนการสอนผ่านระบบเครือข่ายและจัดการเว็บไซต์ (OBECLS) และ (15) การพัฒนาสื่ออิเล็กทรอนิกส์

2. ปรากฏการณ์ที่ต้องแก้ไขเร่งด่วน ได้แก่ (1) เร่งช่วยเหลือเยียวยาฟื้นฟูผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์อุทกภัย (2) เร่งแก้ไขปัญหาความรุนแรงและเหตุทะเลาะวิวาทของนักศึกษาอาชีวศึกษาอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง (3) เร่งสร้างค่านิยมอาชีวศึกษา (4) ทบทวนหลักสูตร การเรียนการสอน ปลูกฝังในเรื่องค่านิยมหลัก (5) เร่งพิจารณาทบทวนการอุดหนุนรายหัวแก่นักเรียน (6) เร่งขยายบทบาทของภาคเอกชนในการมีส่วนร่วมในระบบการศึกษา (7) เร่งปรับระบบการบรรจุครูและการรับรองมาตรฐานวิชาชีพครู (8) เร่งทบทวนมาตรการการจัดกิจกรรมรับน้อง (9) เร่งทบทวนมาตรการความปลอดภัยสำหรับสถาบันการศึกษา และ (10) เร่งดำเนินการตามนโยบายเร่งด่วนของคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับด้านการศึกษา

3. การผลิตและพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา ได้แก่ (1) การเสนอแต่งตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์การผลิตและพัฒนาครู (2) จัดทำแผนงานพัฒนาวิชาชีพครูทั้งระบบ (3) โครงการพัฒนาข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาก่อนแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (4) โครงการนำร่องเพื่อการผลิตและพัฒนาอาจารย์ในสถาบันอุดมศึกษา (5) โครงการพัฒนาอาจารย์ สาขาขาดแคลน ๑๖ สาขา (6) โครงการผลิตครูมืออาชีพ (7) การพัฒนาศักยภาพผู้บริหารและครู (8) โครงการพัฒนาครูอาชีวศึกษาในสถานประกอบการ กลุ่มอาชีพ ยานยนต์และชิ้นส่วน และ (9) โครงการจัดการความรู้เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งชุมชน

4. การพัฒนาการศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ (1) โครงการพัฒนาอาจารย์และบุคลากรสำหรับสถาบันอุดมศึกษาในเขตพัฒนาเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ (2) โครงการทุนอุดมศึกษาเพื่อการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (3) โครงการพัฒนารูปแบบการจัดการศึกษาในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ (4) โครงการพัฒนาการศึกษาในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ (5) โครงการสนับสนุนการจัดการศึกษาของโรงเรียนเอกชนในพื้นที่เสี่ยงภัย (6) การพัฒนาคุณภาพการศึกษา และ (7) การพัฒนาประสิทธิภาพการจัดการศึกษา

ที่ประชุมได้ร่วมแสดงความคิดเห็นต่อสาระสำคัญของรายงานและแนวทางการติดตามการดำเนินงานตามนโยบายฯ สรุปได้ดังนี้

1. จากเอกสารรายงานจะพบว่า ยังขาดสาระสำคัญเกี่ยวกับผลการดำเนินงานและอุปสรรคปัญหาที่ชัดเจน ดังนั้น ควรจะให้โจทย์เพิ่มเติม หรือให้ตัวอย่างในลักษณะ Template ให้ผู้รับผิดชอบขับเคลื่อนนโยบายของแต่ละองค์กรหลักรายงานตามตัวชี้วัด (KPI) และแสดงผลที่เกิดขึ้น ซึ่งตัวชี้วัดดังกล่าวได้มีการตกลงกันไว้แล้วในการประชุมผู้บริหารองค์กรหลัก แต่ยังไม่สะท้อนให้เห็นในเอกสารรายงานการดำเนินงานตามนโยบายฯ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีการเน้นย้ำเรื่องตัวชี้วัด (KPI) ของโครงการต่างๆ ที่อยู่ระหว่างการดำเนินการ และเติมข้อมูลลงในแบบฟอร์มรายงานการติดตามประเมินผลการดำเนินงานตามนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

2. ควรปรับแบบฟอร์มรายงานการติดตามประเมินผลการดำเนินงานตามนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ โดยเพิ่มคอลัมน์นโยบาย แผน/ โครงการ ตัวชี้วัด ผลการประเมิน (ก่อน-ระหว่าง-หลังดำเนินการ) ปัญหาอุปสรรค และสิ่งที่จะดำเนินการต่อไป เพื่อให้การรายงานผลมีความเชื่อมโยงกับนโยบาย และสะท้อนผลที่เกิดขึ้นจากการดำเนินงานอย่างชัดเจน

3. ควรเลือกโครงการใดโครงการหนึ่งที่ดำเนินงานตามนโยบายฯ ในระยะเร่งด่วน และมีความจำเป็นมาพิจารณาก่อน นั่นคือ เรื่อง การทบทวนการอุดหนุนรายหัวแก่นักเรียน ซึ่งจะต้องได้ข้อสรุปที่ชัดเจนโดยเร็วเพื่อประกอบการจัดทำแผนฯ ปี 2559 ให้ทันตามกำหนดในปฏิทินการดำเนินงาน ดังนั้น จึงควรให้ผู้รับผิดชอบหลักในเรื่องการทบทวนการอุดหนุนรายหัวแก่นักเรียนมานำเสนอต่อคณะทำงานติดตามฯ ในสัปดาห์ต่อไป

มติที่ประชุม

1. ให้นำเสนอข้อสังเกตของคณะทำงานติดตามการดำเนินงานตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการต่อที่ประชุมผู้บริหารองค์กรหลัก เพื่อให้ผู้บริหารองค์กรหลักช่วยกำกับ ติดตาม ประเมิน และรายงานผลตามตัวชี้วัด (KPI) ของแผนงานโครงการที่อยู่ในความรับผิดชอบอย่างจริงจัง สม่ำเสมอ และต่อเนื่อง

2. ให้ผู้รับผิดชอบแผนงานโครงการตามนโยบายฯ ของแต่ละองค์กรหลักติดตาม ประเมิน และรายงานผลการดำเนินงานอย่างชัดเจน และเป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจเชิงนโยบาย ลงในแบบฟอร์มต่อไปนี้

แบบฟอร์มรายงานการติดตามประเมินผลการดำเนินงานตามนโยบาย รมว.ศธ.
นโยบาย
แผน/
โครงการ
ตัวชี้วัด
(KPI)
ผลการประเมิน
ปัญหาอุปสรรค

สิ่งที่จะดำเนินการต่อไป



ก่อนดำเนินการ
Pre-assessment
ระหว่างดำเนินการ
Formative assessment
หลังดำเนินการ/ ผลลัพธ์
Summative assessment




























3. ให้เรียนเชิญผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ (นายเจตนา แดงอินทวัฒน์) นำเสนอข้อมูลต่อคณะทำงานติดตามการดำเนินงานตามนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในวันจันทร์ที่ 15 ธันวาคม 2557 เวลา 07.00 - 09.00 น. ณ ห้องประชุมจันทรเกษม ใน 2 ประเด็น ได้แก่ (1) ภาพรวมของการบริหารจัดการงบประมาณของกระทรวงศึกษาธิการ และ(2) สรุปการดำเนินงานตามนโยบายเร่งด่วน (ดำเนินการให้เห็นผลใน 3 เดือน) ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ “ข้อ 5 เร่งพิจารณาทบทวนการอุดหนุนรายหัวแก่นักเรียนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานทั้งของภาครัฐและเอกชน การช่วยเหลือค่าอุปกรณ์การเรียนของนักเรียนสายอาชีพ อาชีวศึกษา และการช่วยเหลือเด็กยากจน พิการ และด้อยโอกาส” ตามแบบฟอร์มรายงานการติดตามประเมินผลการดำเนินงานตามนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ดังมติที่ประชุมข้อ 2
--------------------------------------

วันอังคารที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2557

คณะทำงานติดตามนโยบาย รมว.ศธ.: เจาะประเด็น เน้นคุณภาพ

การประชุมคณะทำงานติดตามการดำเนินงาน
ตามนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ครั้งที่ 1
วันพุธที่ 26 พฤศจิกายน 2557 เวลา 13.30 น. ณ ห้องประชุมจันทรเกษม กระทรวงศึกษาธิการ
 พิทักษ์ โสตถยาคม

การประชุมคณะทำงานติดตามการดำเนินงานตามนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการครั้งแรก มีคณะทำงานเข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย รองศาสตราจารย์ประภาภัทร นิยม ประธานคณะทำงาน นายธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ พลเอก สุทัศน์ กาญจนานนท์กุล พลเรือเอก เรืองทิพย์ เทียนทอง พันเอก ดำรงค์ สิมะขจรบุญ รองศาสตราจารย์พินิติ รตะนานุกูล นายอกนิษฐ์ คลังแสง นายรังสรรค์ มณีเล็ก นางสาวอาภรณ์ แก่นวงศ์ นางผานิตย์ มีสุนทร นายพิทักษ์ โสตถยาคม นายภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค และนางสาวรับขวัญ ธรรมาภรณ์พิลาศ

รองศาสตราจารย์ประภาภัทร นิยม ประธานคณะทำงาน แจ้งให้ที่ประชุมทราบว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวง ศึกษาธิการแต่งตั้งคณะทำงานติดตามการดำเนินงานตามนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการคณะนี้ขึ้น เพื่อติดตามงานของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เกี่ยวกับอุปสรรคปัญหาที่เกิดขึ้นจากการนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติและนำไปสู่การแก้ไขปัญหาอุปสรรคอย่างทันเวลาและทันเหตุการณ์ ซึ่งอำนาจหน้าที่ตามคำสั่งมี 4 ประการ คือ (1) กำกับ ติดตามงานที่เป็นนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเพื่อบรรลุตามเป้าหมาย (2) แนะนำ ให้ข้อเสนอแนะหน่วยปฏิบัติในการนำนโยบายไปปฏิบัติ (3) รายงานความก้าวหน้าของการดำเนินงานตามนโยบายฯ ของหน่วยงานต่างๆ ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และ(4) ปฏิบัติงานอื่นๆ ตามที่ได้รับมอบหมาย จากนั้นแจ้งวัตถุประสงค์ของการประชุมในครั้งแรกนี้ว่า เป็นการประชุมเชิงปรึกษาหารือเพื่อร่วมกันเสนอความคิดเกี่ยวกับวิธีการทำงานของคณะทำงานติดตามฯ ให้บรรลุผล นั่นคือ การติดตามการดำเนินงานตามนโยบายให้หน่วยงานต่างๆ ที่รับนโยบายไปปฏิบัติได้ดำเนินการอย่างเต็มที่เต็มกำลังหวังความสำเร็จของนโยบาย ประธานคณะทำงานได้ให้ที่ประชุมได้ร่วมกันเสนอความคิดเกี่ยวกับวิธีการทำงานของคณะทำงานติดตามฯ ที่ประชุมมีแนวความคิดเกี่ยวกับวิธีการติดตามการดำเนินงานตามนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ดังนี้


1. ชี้แนะกำกับทิศ เชื่อมติดระบบเดิม คณะทำงานชุดนี้ควรทำงานในลักษณะของคณะกรรมการกำกับทิศ ของการติดตามและรายงานผลการปฏิบัติตามนโยบายที่สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ (สนย.) สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการดำเนินการอยู่แล้ว แต่คอยช่วยชี้แนะว่า ควรจะสังเคราะห์ข้อมูลที่องค์กรหลักส่งมาอย่างไรและรายงานผลการดำเนินงานและอุปสรรคปัญหาอย่างไร ซึ่งจะเป็นการทำงานที่สอดคล้องกันไปกับระบบของการติดตามและรายงานผลที่มีการวางไว้ก่อนแล้ว ตามหน้าที่ของ สป. ที่ระบุไว้ในหน้า 27 ของเอกสารนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พลเรือเอก ณรงค์ พิพัฒนาศัย ซึ่งมีสาระดังนี้

การขับเคลื่อนและกำกับดูแลการปฏิบัติตามนโยบาย
๑. นโยบายทั่วไปเป็นกรอบแนวทางการดำเนินงานทั้งปวงของทุกหน่วยงานและบุคลากรในสังกัดของ ศธ.
๒. สป. ดำเนินการทบทวนตัวชี้วัด กลยุทธ์ และแผนงาน/โครงการ/กิจกรรม ในแผนปฏิบัติราชการประจำปี ๒๕๕๘ รองรับการดำเนินงานและการติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการปฏิบัตินโยบายของคณะรัฐมนตรีและนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการประจำปี (นโยบายเฉพาะและนโยบายเร่งด่วน) ออกแบบกระบวนการ กลไก และแนวทางการติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผล รวมทั้งสื่อสารถ่ายทอดให้หน่วยปฏิบัติได้รับทราบทิศทางและเป้าหมายที่ชัดเจน เพื่อให้การนำสู่การปฏิบัติเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ให้แล้วเสร็จภายในเดือนแรกของปีงบประมาณ ๒๕๕๘
๓. หน่วยปฏิบัติที่เกี่ยวข้องให้การสนับสนุนและดำเนินการให้เป็นไปตามแนวทางที่กำหนด
๔. สป. ติดตาม ตรวจสอบ ประเมินผล และรายงานสรุปนำเรียนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อกรุณาทราบผลการปฏิบัติตามนโยบาย รวมทั้งปัญหาอุปสรรค ข้อขัดข้อง และข้อเสนอแนะ ดังนี้
๔.๑ จัดทำรายงานและสรุปผลการปฏิบัติตามนโยบายเฉพาะ ในเดือนสุดท้ายทุกไตรมาสของปีงบประมาณ ๒๕๕๘ (ก่อนวันจันทร์สัปดาห์สุดท้ายของเดือน ธ.ค.๕๗ และ มี.ค. มิ.ย. ก.ย.๕๘)
๔.๒ จัดทำรายงานและสรุปผลการปฏิบัติตามนโยบายเร่งด่วน ทุกเดือนตลอด ๓ เดือนแรกของปีงบประมาณ ๒๕๕๘ (ก่อนวันจันทร์สัปดาห์สุดท้ายของเดือน ต.ค. พ.ย. และ ธ.ค.๕๗)
๔.๓ การจัดทำรายงานและสรุปผลการปฏิบัติ ตามข้อ ๔.๑ และ ๔.๒ อาจมีการเปลี่ยนแปลงซึ่งจะมีการสั่งการให้ทราบเพื่อให้การดำเนินการเกิดความเหมาะสมต่อไป
ที่มา: เอกสารนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พลเรือเอก ณรงค์ พิพัฒนาศัย หน้า 26-27

          ซึ่งจะหยิบบางเรื่องที่สำคัญ หรือมีเหตุการณ์ที่น่าสนใจปรากฏขึ้นอย่างชัดเจนนำมาพิจารณาเป็นพิเศษ เช่น สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) กำลังทำเรื่องแนวทางการปรับโครงสร้าง อาจให้ประเด็นคำถามที่จะช่วยให้การทำงานของ สกศ. มีความชัดเจนมากขึ้นอีก อาจตั้งคำถามว่า เมื่อเสนอจัดโครงสร้างเช่นนี้ใครจะอยู่ส่วนไหนอย่างไร จะทำอะไรต่อไป หรือถ้าเป็นนโยบายเร่งด่วน อาจตั้งคำถามว่า ทำอะไร อย่างไร ผลที่สามารถจับต้องได้เป็นอย่างไร นอกจากนั้น คณะทำงานติดตามฯ ชุดนี้ ควรเชื่อมการติดตามงานนโยบายกับผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการให้มากที่สุด เป็นการใช้เครือข่ายการตรวจติดตามงานนโยบายตามกฎหมายให้สอดคล้องไปด้วยกัน
          2. ติดตามเชิงประเด็น มุ่งเน้นเชิงสังเคราะห์ จากคำสั่งที่มอบหมายสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ โดยสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ ในการติดตาม ตรวจสอบ ประเมินผล และรายงานสรุปนำเรียน รมว.ศธ.เพื่อทราบผลการปฏิบัติตามนโยบาย รวมทั้งปัญหาอุปสรรค ข้อขัดข้อง และข้อเสนอแนะ จะเป็นเหมือน “เงาตามตัว” ของ 10 นโยบายเร่งด่วน จะต้องให้ข้อมูลได้ว่ามีโครงการใดบ้าง ตัวชี้วัดเป็นอย่างไร และใครทำ ซึ่งบทบาทของคณะทำงานติดตามฯ ชุดนี้อาจติดตามเชิงประเด็นหรือ Agenda-based  ซึ่งคณะทำงานติดตามฯและฝ่ายเลขานุการสามารถนำมาวิเคราะห์ สังเคราะห์ความก้าวหน้า อุปสรรค และแนวทางแก้ไข รวมทั้งประมวลให้เห็นภาพรวมได้ หรือคณะทำงานติดตามฯ ชุดนี้อาจทำเครื่องมือติดตามนโยบายไปให้ผู้ตรวจราชการช่วยติดตามอีกทางหนึ่งได้

๑๐ นโยบายเร่งด่วน
(ดำเนินการให้เห็นผลใน ๓ เดือน)
๑. เร่งสำรวจและให้ความช่วยเหลือเยียวยา รวมทั้งฟื้นฟูโรงเรียน สถานศึกษา นักเรียน นักศึกษา ครูอาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์อุทกภัย โดยเร็ว
เป้าหมายในการดำเนินนโยบาย :
โรงเรียน สถานศึกษา นักเรียน นักศึกษา ครูอาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา ได้รับการช่วยเหลือเยียวยาและฟื้นฟู ให้สามารถทำการเรียนการสอนได้ตามปกติอย่างรวดเร็ว
๒. เร่งแก้ไขปัญหาความรุนแรงและเหตุทะเลาะวิวาทของนักศึกษาอาชีวะศึกษาอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง
เป้าหมายในการดำเนินนโยบาย :
๒.๑ มีการดำเนินการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อกำหนดมาตรการในการแก้ไขปัญหาที่ชัดเจนและมีการปฏิบัติอย่างจริงจัง
๒.๒ ไม่มีเหตุทะเลาะวิวาทของนักศึกษาอาชีวะศึกษาจนส่งผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนทั่วไป/จำนวนเหตุทะเลาะวิวาทของนักศึกษาอาชีวะศึกษาในช่วง ๓ เดือนลดลงอย่างชัดเจน
๓. เร่งสร้างค่านิยมอาชีวศึกษา ปรับภาพลักษณ์ และกำหนดมาตรการเพื่อจูงใจให้นักเรียนนักศึกษา พ่อแม่และผู้ปกครอง มีความยินดีและส่งเสริมให้บุตรหลานเข้ารับการศึกษาในสายอาชีพอาชีวศึกษาเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะวิชาชีพที่ขาดแคลนและเป็นความต้องการของตลาดแรงงาน
เป้าหมายในการดำเนินนโยบาย :
๓.๑ มีกิจกรรมเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของการศึกษาในสายอาชีพอาชีวศึกษาอย่างต่อเนื่อง
๓.๒ มีการกำหนดแผนงานหรือมาตรการเพื่อจูงใจในการเข้ารับการศึกษาสายอาชีพอาชีวศึกษา โดยเฉพาะวิชาชีพที่ขาดแคลน และมีระบบการติดตาม ควบคุม อย่างเป็นระบบและชัดเจน
๔. ทบทวนหลักสูตร การเรียนการสอน เพื่อให้ผู้เรียนพัฒนากระบวนการคิด วิเคราะห์ มีเวลาทำกิจกรรมเพื่อพัฒนาความรู้ ความสามารถ ทักษะ และประสบการณ์ รวมทั้งปลูกฝังในเรื่องค่านิยมหลัก มีคุณธรรม จริยธรรม สร้างวินัย จิตสำนึกความรับผิดชอบต่อสังคม การยึดมั่นในสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และความภาคภูมิใจในการเป็นคนไทย
เป้าหมายในการดำเนินนโยบาย :
๔.๑ มีแนวทางปรับปรุงหลักสูตรให้เด็กและเยาวชนได้พัฒนากระบวนการคิด ทักษะ ความสามารถอย่างรอบด้านทั้งร่างกาย อารมณ์ สังคมสติปัญญา การปลูกฝังค่านิยม ๑๒ ประการ การเรียนรู้ประสบการณ์จากการทำกิจกรรม ฝึกปฏิบัติอย่างเหมาะสม แต่ละช่วงวัย และการวางพื้นฐานเพื่อการทำงาน การศึกษาเพื่ออาชีพ
๔.๒ นำร่องรูปแบบการบริหารจัดการสถานศึกษาที่ดี และผลักดันกฎหมายที่จะเป็นรากฐานและกลไกการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาระยะยาว
๕. เร่งพิจารณาทบทวนการอุดหนุนรายหัวแก่นักเรียนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานทั้งของภาครัฐและเอกชน การช่วยเหลือค่าอุปกรณ์การเรียนของนักเรียนสายอาชีพ อาชีวศึกษา และการช่วยเหลือเด็กยากจน พิการ และด้อยโอกาส
เป้าหมายในการดำเนินนโยบาย :
๕.๑ มีกระบวนการพิจารณาอย่างรอบคอบและสามารถเสนอขออนุมัติ/เห็นชอบได้ตามขั้นตอนตามกฎหมายและกฎระเบียบที่กำหนด
๕.๒ สามารถให้การอุดหนุนและการช่วยเหลือมีความเหมาะสมกับสภาวะทางเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน
๖. เร่งขยายบทบาทของภาคเอกชนในการมีส่วนร่วมในระบบการศึกษา โดยเฉพาะการจัดทำข้อตกลงระหว่างผู้ประกอบการธุรกิจเอกชนในการให้การสนับสนุนและการรับนักเรียนนักศึกษาเข้าทำงานหลังสำเร็จการศึกษา และการสนับสนุนอื่น ๆ ให้เพิ่มมากขึ้น
เป้าหมายในการดำเนินนโยบาย :
๖.๑ มีแนวทางและมาตรการจูงใจภาคเอกชนให้เข้ามามีส่วนร่วมในระบบการศึกษา
๖.๒ มีการจัดทำข้อตกลงกับผู้ประกอบการธุรกิจเอกชนในการให้การสนับสนุนเพิ่มมากขึ้น
๗. เร่งปรับระบบการบรรจุครูและการรับรองมาตรฐานวิชาชีพครูให้เอื้อต่อการเพิ่มโอกาสให้มีบุคลากรที่มีความรู้และประสบการณ์ที่เหมาะสมเข้ามาในระบบการศึกษาเพิ่มมากขึ้น เพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนครูและบุคลากรอาชีวศึกษา และครูสาขาขาดแคลนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน
เป้าหมายในการดำเนินนโยบาย :
๗.๑ มีกระบวนการพิจารณาอย่างรอบคอบและสามารถเสนอขออนุมัติ/เห็นชอบได้ตามขั้นตอนตามกฎหมายและกฎระเบียบที่กำหนด รวมถึงปรับแก้กฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพ
๗.๒ สามารถปรับระบบการบรรจุครูและการรับรองมาตรฐานวิชาชีพครูให้เอื้อต่อการเพิ่มโอกาสให้มีบุคลากรที่มีความรู้และประสบการณ์เข้ามาในระบบการศึกษาเพิ่มมากขึ้น
๘. เร่งทบทวนมาตรการการจัดกิจกรรมรับน้องของนักเรียนนักศึกษาในสถาบันการศึกษาต่าง ๆ และมาตรการติดตาม ควบคุม การลักลอบการจัดกิจกรรมรับน้องทั้งภายในและภายนอกสถาบันการศึกษา ให้เป็นไปในแนวทางที่สร้างสรรค์ ปลอดภัย ปราศจากการใช้ความรุนแรง การละเมิดและคุกคามทางเพศ รวมทั้งไม่ขัดต่อหลักศีลธรรมขนบประเพณีอันดีงาม และเป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชน โดยให้มีผลบังคับใช้ให้ทุกสถาบัน การศึกษายึดถือเป็นแนวทางปฏิบัติอย่างเคร่งครัด
เป้าหมายในการดำเนินนโยบาย :
๘.๑ มีกระบวนการพิจารณาอย่างรอบคอบและสามารถเสนอขออนุมัติ/เห็นชอบได้ตามขั้นตอนตามกฎหมายและกฎระเบียบที่กำหนด
๘.๒ มีมาตรการและแนวทางที่ชัดเจนและมีผลบังคับใช้ในทางปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม
๙. เร่งทบทวนมาตรการความปลอดภัยสำหรับสถาบันการศึกษาต่าง ๆ เกี่ยวกับการจัดกิจกรรมทัศนศึกษานอกสถานศึกษา และมาตรการความปลอดภัยในการเดินทางและการขนส่งเป็นหมู่คณะของนักเรียน นักศึกษา ครูอาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา โดยให้มีผลบังคับใช้ให้ทุกสถาบันการศึกษายึดถือเป็นแนวทางปฏิบัติอย่างเคร่งครัด
เป้าหมายในการดำเนินนโยบาย :
๙.๑ มีกระบวนการพิจารณาอย่างรอบคอบและสามารถเสนอขออนุมัติ/เห็นชอบได้ตามขั้นตอนตามกฎหมายและกฎระเบียบที่กำหนด
๙.๒ มีมาตรการและแนวทางที่ชัดเจนและมีผลบังคับใช้ในทางปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม
๑๐. เร่งดำเนินการตามนโยบายเร่งด่วนของคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับด้านการศึกษาทั้งที่เป็นหน่วยรับผิดชอบหลักและหน่วยสนับสนุน ให้เห็นผลในทางปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม และเป็นไปตามเป้าหมายและกรอบระยะเวลาที่กำหนด
เป้าหมายในการดำเนินนโยบาย :
๑๐.๑ มีการกำหนดหน่วยงานรับผิดชอบในการดำเนินการตามนโยบายเร่งด่วนที่ชัดเจน
๑๐.๒ มีการกำหนดตัวชี้วัด ค่าเป้าหมาย แผนงาน โครงการ และกิจกรรม รองรับอย่างเป็นรูปธรรม
๑๐.๓ มีระบบการติดตาม ตรวจสอบ ประเมินผล และการรายงานผลที่มีประสิทธิภาพ โดยสามารถรายงานความก้าวหน้าในการดำเนินงานได้อย่างต่อเนื่อง
๑๐.๔ มีระบบการวิเคราะห์และประมวลผล เพื่อกำหนดมาตรการในการแก้ไขปัญหาและลดผลกระทบทางลบได้อย่างรวดเร็ว และสามารถดำเนินการได้ตามเป้าหมายที่กำหนด
๑๐.๕ สามารถให้ข้อมูลที่ถูกต้องและทันสมัยต่อคณะรัฐมนตรีและสังคมได้อย่างรวดเร็ว
ที่มา: เอกสารนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พลเรือเอก ณรงค์ พิพัฒนาศัย หน้า 17-25

          3. มีข้อมูลใช้เป็นฐาน สะท้อนงานองค์กรหลัก ที่ผ่านมาทุกยุคสมัยจะมีการแต่งตั้งคณะทำงานติดตามการดำเนินงานตามนโยบายฯ ซึ่งความสำเร็จของนโยบายและการติดตามขึ้นอยู่ที่นโยบายเหล่านั้นมีการขับเคลื่อนที่ชัดเจนหรือไม่ ทั้งแผนการขับเคลื่อน กิจกรรมหลัก เจ้าภาพหลัก/ รองที่จะเป็นหน่วยยุทธศาสตร์ มีตัวชี้วัดและการติดตามชัดเจน มีกระบวนการติดตามเป็นระยะ อาจรายงานด้วยเอกสารหรือผ่าน ICT แบบ formative และ summative หรืออาจติดตามแบบเสริมแรง อย่างไรก็ตาม จำเป็นต้องวางระบบยุทธศาสตร์การขับเคลื่อน การติดตามและรายงานทุกระยะ จะต้องมีการติดตามให้ทำจริงตามแผน ซึ่งในการประชุมผู้บริหารองค์กรหลักจะต้องพูดคุยกันด้วยข้อมูล มีการส่งข้อมูลให้ศึกษาก่อนประชุม หรือสามารถเรียกดูข้อมูลได้ตลอดเวลา ทั้งนี้ เจ้าภาพหลัก/ องค์กร จะเป็นผู้รับผิดชอบติดตามและรายงานผลตามนโยบาย เช่น สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษามีการกำหนดให้รองเลขาธิการ ที่ปรึกษา แบ่งความรับผิดชอบนโยบายเร่งด่วนกัน โดยมีระบบกำกับติดตามรายงานผลแบบ real time ณ ส่วนกลาง
          4. ตามเรื่องที่มอบหมาย จับต้องได้เป็นรูปธรรม ควรติดตามนโยบายที่ รมว.ศธ.ที่มอบให้องค์กรหลักไปดำเนินการในโอกาสวาระต่างๆ และการมอบหมายในที่ประชุมองค์กรหลัก ให้ติดตามว่ามีการดำเนินการจริงหรือไม่อย่างไร ตัวอย่างประเด็นที่ รมว.ศธ.เป็นห่วงและให้เร่งดำเนินการ อาทิ การลดกิจกรรมกระทบเวลาเรียน 65 กิจกรรม การพัฒนาครูแบบ Hotel-based Training  การส่งเสริม Coaching  การลดการไปดูงานต่างประเทศ ไม่เพิ่มชั่วโมงเรียนหน้าที่พลเมือง การอุดหนุนรายหัวของอาชีวะ การปรับโครงสร้างองค์กร ค่านิยมหลัก 12 ประการ ดังนั้น ควรเน้นการติดตามนโยบายที่จับต้องได้ วัดผลได้ชัดเจน ถ้ามองในมุมของสื่อมวลชน/ นักข่าวจะมองการติดตามนโยบายในเชิง Activity-based จะตั้งคำถามว่ากระทรวงทำอะไรบ้าง คำตอบจะต้องเป็นรูปธรรม อาทิ Coaching การกระจายอำนาจ 20 เขต Hotel-based Training จะผลิตและพัฒนาครูอย่างไรมาแทนครูที่จะเกษียณสองแสนคน  จึงควรวิเคราะห์ว่านโยบายใดบ้าง ที่เป็นรูปธรรม จากเอกสารเล่มนโยบาย/ นโยบายเร่งด่วน และจากผลการประชุมผู้บริหารองค์กรหลักของกระทรวงศึกษาธิการ/ การสั่งการพิเศษ ซึ่งสำนักงานรัฐมนตรี (สร.) กระทรวงศึกษาธิการได้มีการสรุปประเด็นการมอบนโยบายของ รมว.ศธ.ไว้ทุกครั้ง จึงควรนำมาให้คณะทำงานติดตามฯ ได้รับทราบ
นอกจากนั้น ควรมีการรายงานข้อมูลจากทุกองค์กรหลัก และต้องสังเคราะห์ข้อมูลที่ได้จากการรายงาน ซึ่งในการประชุมผู้บริหารองค์กรหลักทุกเช้าวันพุธ มักจะมีประเด็นข้อสั่งการเพิ่ม หรือปรับวิธีการสั่งการใหม่จากนโยบายเดิม ดังนั้น อาจจะต้องมีผู้ติดตาม ทั้งตามนโยบายและตามปรากฏการณ์ (สั่งการพิเศษ) โดยการออกแบบฟอร์มติดตามงาน ส่งให้ผู้บริหารองค์กรหลักภายหลังการประชุมผู้บริหารองค์กรหลัก ให้แต่ละองค์กรเติมและสรุปว่า ในนโยบายที่มอบนั้นมีมาตรการอะไร มีความสำเร็จอะไร และมีอุปสรรคอะไร หรือเป็นแบบฟอร์มที่มี 4 คอลัมน์ ประกอบด้วย ชื่อโครงการที่ดำเนินการ สิ่งที่ดำเนินการอยู่ อุปสรรคปัญหา และผลการดำเนินงาน
          5. รายงานตรงประเด็น เป็นประโยชน์ จากการวิเคราะห์รายงานผลการดำเนินงานตามนโยบายที่มีการจัดทำแล้ว จำนวน 1 ฉบับ พบว่า การรายงานดังกล่าว มองไม่เห็นว่าอะไรคืออุปสรรคของการดำเนินงาน หลายเรื่องยังไม่มีระบบการดูแลความคืบหน้าของการดำเนินงาน ดังนั้น คณะทำงานชุดนี้ควรหยิบยกบางอุปสรรคปัญหามาพิจารณา รวมทั้งให้ข้อเสนอแนะต่อการจัดทำรายงานปกติของสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สป.ศธ. ให้มีการสังเคราะห์ข้อมูลมาจัดทำเป็นรายงานมีประโยชน์ต่อ รมว.ศธ. ที่แสดงให้เห็นทั้งความสำเร็จ ปัญหาอุปสรรคและการปรับเข้าสู่เป้าหมาย รวมทั้งคณะทำงานติดตามฯ ควรเน้นการติดตามผลของนโยบาย ระยะ 3 เดือน/ นโยบายเร่งด่วน โดยติดตามดูว่าเป็นไปตามนโยบายจริงหรือไม่ บรรลุผลหรือไม่ แล้วจัดแถลงผลการดำเนินงานตามนโยบาย ซึ่งการประชุมของคณะทำงานติดตามฯ ชุดนี้เป็นลักษณะ “เวทีตามการบ้าน” จึงควรกำหนด/ บรรจุวาระที่ต้องติดตามให้ชัดเจนก่อนการประชุม ควรติดตามดูการดำเนินงานขององค์กรหลักและผู้รับผิดชอบขับเคลื่อนนโยบายบางเรื่องบางประเด็นที่สำคัญ หากพบว่า หน่วยงานต่างๆ มีเอกสารรายงานที่เป็นรูปเล่ม ขอให้ฝ่ายเลขานุการจัดเก็บเล่มเอกสารไว้ใช้อ้างอิง
          6. ตอบโจทย์ให้ตรงเฟส ยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนนโยบายไปสู่การเรียนรู้ตลอดชีวิตที่สอดคล้องกับนโยบายด้านการศึกษาของนายกรัฐมนตรี รมว.ศธ. และกรรมาธิการการศึกษาและกีฬา แบ่งออกได้เป็น 6 ด้าน ได้แก่ (1) โอกาสทางการศึกษา (2) คุณภาพและสวัสดิการทางการศึกษา (3) ครูและบุคลากรทางการศึกษา (4) การจัดการศึกษาในภาคใต้ (5) การปรับโครงสร้างและการบริหารจัดการ และ (6) การนำเสนอผลการดำเนินงานและนโยบายเร่งด่วนอื่นๆ ซึ่งแต่ละด้านจะมีหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบอย่างชัดเจน จึงควรกำกับติดตามให้ตรงกับโจทย์ที่ตั้งไว้แต่แรก สำหรับภาพรวมของนโยบาย รมว.ศธ. สามารถนำเสนอให้เห็นภาพรวมเป็นระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ได้ดังนี้


ที่มา: การวิเคราะห์ของคณะทำงาน รมว.ศธ.

          7. วิเคราะห์รายงาน ดูการปฏิบัติ การกำกับดูแลการดำเนินงาน แบ่งเป็น 3 แนวทาง คือ (1) การวิเคราะห์รายงาน (2) การเยี่ยมเยือน เป็นการตรวจอย่างไม่เป็นทางการหรือการนิเทศ โดยลงไปดูภาคสนาม และ (3) การตรวจ เป็นการกำกับติดตามอย่างเป็นทางการ ซึ่งในบทบาทหน้าที่ของคณะทำงานติดตามฯ ชุดนี้ อาจใช้การวิเคราะห์รายงาน และการลงไปเยี่ยมเยือนดูการปฏิบัติในภาคสนาม อาทิ การติดตามโครงการขยายผลการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมได้ให้ส่งรายงาน และลงไปตรวจดู ก็จะพบจุดที่สามารถช่วยเสนอแนะเพื่อการปรับปรุงวิธีการติดตั้งและการใช้งานในระดับโรงเรียนได้
          8. ประชุมคณะทำงาน ทุกวันจันทร์ 07.00 น. ควรมีการกำหนดรายละเอียดการทำงานของคณะทำงานติดตามฯ เกี่ยวกับวาระการประชุม ความถี่ของการประชุม และกำหนดนัดหมายเวลาที่จะประชุม ซึ่งควรประชุมในช่วงเวลาที่ไม่กระทบภารกิจประจำวันของคณะทำงานแต่ละคน จึงกำหนดประชุมวันจันทร์ของทุกสัปดาห์ เวลา 07.00 - 09.00 น. ณ ห้องประชุมจันทรเกษม กระทรวงศึกษาธิการ สำหรับวิธีการทำงานอาจให้คณะทำงานที่เป็นผู้แทนองค์กรหลักดำเนินการติดตามงานองค์กรที่สังกัดด้วยตนเองด้วย แล้วกลับมารายงานต่อที่ประชุมคณะทำงานติดตามฯ และ/หรือเตรียมข้อมูลให้เลขาธิการนำไปรายงานต่อที่ประชุมผู้บริหารองค์กรหลัก ซึ่งการรายงานความก้าวหน้าของการนำนโยบายไปปฏิบัติถูกบรรจุไว้ในระเบียบวาระที่ 2 ของการประชุมผู้บริหารองค์กรหลักอยู่แล้ว
          9. เช็คการตีความ ตามเชิงคุณภาพ การติดตามการดำเนินงานควรดำเนินการ (1) ติดตามเชิงประเด็นว่า มีการตีความนโยบายไปสู่การปฏิบัติอย่างไร มีอุปสรรคและการแก้ไขอย่างไร เน้นการติดตามรับรู้ผลในเชิงคุณภาพ แต่ควรมีการจัดลำดับความสำคัญ เชื่อมโยงกับระยะเวลา และใช้ในการวางแผนติดตาม (2) กำกับดูแลให้เกิดผลจริง ไม่ผิดเพี้ยน และมีการช่วยแก้ไขให้ทันท่วงที (3) การรายงานผลให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกัน ให้พูดตรงกัน และตรงเจตนารมณ์ของนโยบาย รวมทั้ง ควรรายงานข้อมูลบางประเด็นที่สำคัญให้ รมว.ศธ.ทราบล่วงหน้าก่อนประชุมผู้บริหารองค์กรหลักในทุกสัปดาห์  
          10. เจาะลึกประเด็นร้อนการปฏิรูป ควรจัดลำดับความสำคัญในประเด็นที่สังคมรอคอยและจับตามอง สาธารณชนสนใจ รัฐบาลให้ความสำคัญ ดังนั้น จึงต้องจับกระแสสังคม เลือกประเด็น Hot Issue แล้วรายงานว่าสิ่งที่แต่ละองค์กรทำอยู่เป็นจำนวนมากนั้น ได้ผลแท้จริงหรือไม่ เพียงใด ซึ่งแต่ละองค์กรหลักควรรายงานผลเข้ามายังคณะทำงานติดตามฯ สำหรับประเด็น Hot Issue และสังคมคาดหวังคือเรื่อง “ปฏิรูปการศึกษา” ควรระบุระยะเร่งด่วน ระยะกลาง และระยะยาว อาจจำแนกเป็นด้านนโยบาย ด้านบริหารจัดการ (หลักสูตร, การบรรจุแต่งตั้ง,..) ด้านพัฒนา  การเรียนการสอน ฯลฯ  ดังนั้น เรื่องสำคัญหลักๆ คือ (1) การปฏิรูปการศึกษา (2) ปรากฏการณ์/ปัญหาเฉพาะหน้า (3) การผลิตและพัฒนาครู และ(4) การศึกษาในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งการปฏิรูปการศึกษามีหลายเรื่อง อาทิ ICT/ Smart Classroom การผลิตครู หลักสูตร โครงสร้าง ฯลฯ ควรเลือกบางประเด็นที่สำคัญมาติดตามในเชิงลึก
          11. สังเคราะห์ข้อมูลเดิม ประมวลเติมตามประเด็น การรายงานผลการดำเนินงานตามนโยบายของสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ (สนย.) สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ที่ผ่านมามีการรายงาน ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2557 ซึ่งสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (สลน.) ได้มีการจัดประชุมผู้เกี่ยวข้องกับการรายงานเข้าร่วมประชุมแนวทางการรายงาน มีแบบฟอร์มให้บันทึกข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินการ ปัญหาอุปสรรค และผู้รับผิดชอบ เป็นการรายงานโครงการสำคัญของรัฐบาลโดยสำนักงานเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ เป็นผู้กำหนดแนวทางให้ว่าเรื่องใดควรติดตามและรายงานบ้าง อาทิ  โครงการขยายผลการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม โครงการปฏิรูปการเรียนรู้สู่ผู้เรียน สำหรับการรายงานรอบต่อไปจะรายงาน ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน โดยกระทรวงศึกษาธิการจะรับผิดชอบข้อ 4 ของนโยบายรัฐบาล สำหรับช่องทางการรายงานขององค์กรหลักในกระทรวงศึกษาธิการจะมีการรายงานผ่านเว็บไซต์มายัง สนย. ทั้งนี้ จะขอให้ สนย. สังเคราะห์สรุปโครงการสำคัญและสถานการณ์ปัจจุบันของโครงการตามนโยบาย รมว.ศธ. เพื่อนำเข้าที่ประชุมคณะทำงานติดตามฯ ในวันจันทร์ โดยจะประชุมครั้งแรกวันที่ 1 ธันวาคม 2557 เวลา 07.00 น.

ที่ประชุมมีมติเห็นชอบแนวทางการทำงาน กรอบการรายงาน และวันเวลานัดหมายการประชุม ดังนี้
1. แนวทางการทำงานของคณะติดตามการดำเนินงานตามนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ จะมุ่งเน้นกำกับทิศทางการปฏิบัติของหน่วยงานต่างๆ ให้ตรงตามเจตนารมณ์ของนโยบาย เกิดผลจริงเป็นรูปธรรมประจักษ์ชัด เชื่อมโยงระบบการกำกับติดตามและรายงานผลที่มีอยู่เดิมให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และมีประโยชน์สูงสุดต่อการตัดสินใจบนฐานข้อมูลของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
2. ประเด็นนโยบายสำคัญที่จะติดตามการดำเนินงาน จำนวน 4 ด้าน คือ (1) การปฏิรูปการศึกษา (2) ปรากฏการณ์ที่ต้องแก้ไขเร่งด่วน (3) การผลิตและพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา และ (4) การพัฒนาการศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และอื่นๆ ที่อาจจะเปลี่ยนแปลงหรือเพิ่มเติมภายหลัง
3. แบบฟอร์มรายงานผลการดำเนินงานตามนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อให้สังเคราะห์สรุปในแต่ละสัปดาห์ จากข้อมูลที่องค์กรหลักส่งให้สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และ/ หรือจากข้อมูลการดำเนินงานขององค์กรหลัก ที่รวบรวมโดยคณะทำงานติดตามฯ ที่เป็นผู้แทนองค์กรหลัก หรือฝ่ายเลขานุการคณะทำงานติดตามฯ ดังนี้

ประเด็น
ชื่อโครงการ
สิ่งที่ดำเนินการแล้ว
ผลการดำเนินงาน
อุปสรรคปัญหา
สิ่งที่จะดำเนินการต่อไป
(1) การปฏิรูปการศึกษา





(2) ปรากฏการณ์ที่ต้องแก้ไขเร่งด่วน





(3) การผลิตและพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา





(4) การพัฒนาการศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้







4. กำหนดวัน เวลา และสถานที่ประชุมคณะทำงานติดตามการดำเนินงานตามนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในทุกเช้าวันจันทร์ เวลา 07.00 - 09.00 น. ณ ห้องประชุมจันทรเกษม อาคารราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ
--------------------------------------