หน้าเว็บ

วันพฤหัสบดีที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2557

ผลประชุมคณะทำงานติดตามนโยบาย รมว.ศธ. ครั้งที่ 3

ผลประชุมคณะทำงานติดตามการดำเนินงานตามนโยบาย รมว.ศธ. ครั้งที่ 3
พิทักษ์ โสตถยาคม

วันจันทร์ที่ 8 ธันวาคม ๒๕๕๗ เวลา 07.20-08.20 น. ณ ห้องประชุมจันทรเกษม ได้มีการประชุมคณะทำงานติดตามการดำเนินงานตามนโยบาย รมว.ศธ. รองศาสตราจารย์ประภาภัทร นิยม ประธานคณะทำงานแจ้งให้ที่ประชุมทราบว่า ได้ยกร่างแนวทางการปฏิรูปการบริหารจัดการ ตามนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ แบ่งเป็น 3 ส่วน (1) ระบบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อให้ผู้บริหารสถานศึกษาและผู้บริหารเขตพื้นที่การศึกษาผลักดันการปรับการเรียนเปลี่ยนการสอนให้เกิดผลเชิงคุณภาพแก่ผู้เรียน เป็นเรื่องของระบบการเรียนรู้ หลักสูตร การวัดและประเมินผล ซึ่งเกี่ยวข้องกับทุกองค์กรหลัก (2) ระเบียบบริหารข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา เพื่อให้ได้ครูที่มีคุณภาพและการพัฒนาครูประจำการอย่างต่อเนื่องโดยใช้เกณฑ์ผลการเรียนของผู้เรียนเพื่อสะท้อนผลการปฏิบัติงาน ซึ่งเกี่ยวข้องกับ สคบศ. กศศ. คุรุสภา สพฐ. และ สกอ. และ(3) ระเบียบบริหารจัดการงบประมาณ เป็นการทบทวนวิธีการจัดทำแผนงบประมาณให้ปรับสมดุลสัดส่วน ระหว่างส่วนกลางและหน่วยปฏิบัติ โดยคำนึงถึงประโยชน์ของผู้เรียนเป็นสำคัญ ทั้งนี้ ควรให้ผู้รับผิดชอบเรื่องการบริหารจัดการงบประมาณภาพรวมของกระทรวงศึกษาธิการมาให้ข้อมูลต่อคณะทำงานติดตามการดำเนินงานตามนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นอกจากนั้น การปฏิรูประบบบริหารจัดการดังกล่าว จะได้รับข้อมูลและข้อเท็จจริงจากหน่วยปฏิบัติจากสถานศึกษาขั้นพื้นฐานและอาชีวศึกษาเป็นระยะๆ ซึ่งสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาจะเป็นผู้สังเคราะห์ภาพรวมจากกระบวนการปฏิรูปการศึกษาในสถานศึกษาและสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา



นายพิทักษ์ โสตถยาคม คณะทำงานและเลขานุการคณะทำงานติดตามฯ นำเสนอข้อมูลการดำเนินงานตามนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ที่สรุปมาจากเอกสารรายงานผลการดำเนินงานตามนโยบายฯ ของสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และองค์กรหลัก ตามประเด็นนโยบายสำคัญ 4 ด้าน คือ (1) การปฏิรูปการศึกษา (2) ปรากฏการณ์ที่ต้องแก้ไขเร่งด่วน (3) การผลิตและพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา และ (4) การพัฒนาการศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ใน 4 หัวข้อ ประกอบด้วย สิ่งที่ดำเนินการแล้ว ผลการดำเนินงาน อุปสรรคปัญหา และสิ่งที่จะดำเนินการต่อไป ปรากฏว่า มีข้อมูลเพียง 2 ส่วน คือ สิ่งที่ดำเนินการแล้ว และสิ่งที่จะดำเนินการต่อไป ส่วนข้อมูลผลการดำเนินงานและอุปสรรคปัญหาไม่ชัดเจน หรือขาดข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับผลที่เกิดขึ้นจากการดำเนินงานตามนโยบายฯ ซึ่งโครงการ/ กิจกรรมแต่ละประเด็นนโยบาย มีดังนี้

1. การปฏิรูปการศึกษา ได้แก่ (1) การเสนอแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการปฏิรูปการศึกษากระทรวงศึกษาธิการ (2) การเสนอปรับบทบาทและโครงสร้างของสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาเพื่อให้สอดคล้องกับการปฏิรูปการศึกษา (3) การขับเคลื่อนกรอบคุณวุฒิแห่งชาติสู่การปฏิบัติ (4) การพัฒนาเด็กปฐมวัย 
(5) โครงการปฏิรูปการเรียนรู้สู่ผู้เรียน (6) การพัฒนาการเรียนการสอนประวัติศาสตร์และหน้าที่พลเมือง (7) การพัฒนาหลักสูตร (8) ค่านิยมหลักของคนไทย 12 ประการ (9) โครงการขยายผลการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม (10) การพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษาให้ทันสมัย (11) โครงการเครือข่ายเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อพัฒนาการศึกษา (12) โครงการพัฒนาและขยายบริการของศูนย์เรียนรู้ดิจิทัลระดับชาติด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยี (IPST Learning Space) ที่เชื่อมโยงในระดับประเทศและนานาชาติ (13) โครงการเครือข่ายห้องสมุดมหาวิทยาลัยไทย (14) การพัฒนาโปรแกรมระบบบริหารจัดการเรียนการสอนผ่านระบบเครือข่ายและจัดการเว็บไซต์ (OBECLS) และ (15) การพัฒนาสื่ออิเล็กทรอนิกส์

2. ปรากฏการณ์ที่ต้องแก้ไขเร่งด่วน ได้แก่ (1) เร่งช่วยเหลือเยียวยาฟื้นฟูผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์อุทกภัย (2) เร่งแก้ไขปัญหาความรุนแรงและเหตุทะเลาะวิวาทของนักศึกษาอาชีวศึกษาอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง (3) เร่งสร้างค่านิยมอาชีวศึกษา (4) ทบทวนหลักสูตร การเรียนการสอน ปลูกฝังในเรื่องค่านิยมหลัก (5) เร่งพิจารณาทบทวนการอุดหนุนรายหัวแก่นักเรียน (6) เร่งขยายบทบาทของภาคเอกชนในการมีส่วนร่วมในระบบการศึกษา (7) เร่งปรับระบบการบรรจุครูและการรับรองมาตรฐานวิชาชีพครู (8) เร่งทบทวนมาตรการการจัดกิจกรรมรับน้อง (9) เร่งทบทวนมาตรการความปลอดภัยสำหรับสถาบันการศึกษา และ (10) เร่งดำเนินการตามนโยบายเร่งด่วนของคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับด้านการศึกษา

3. การผลิตและพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา ได้แก่ (1) การเสนอแต่งตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์การผลิตและพัฒนาครู (2) จัดทำแผนงานพัฒนาวิชาชีพครูทั้งระบบ (3) โครงการพัฒนาข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาก่อนแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (4) โครงการนำร่องเพื่อการผลิตและพัฒนาอาจารย์ในสถาบันอุดมศึกษา (5) โครงการพัฒนาอาจารย์ สาขาขาดแคลน ๑๖ สาขา (6) โครงการผลิตครูมืออาชีพ (7) การพัฒนาศักยภาพผู้บริหารและครู (8) โครงการพัฒนาครูอาชีวศึกษาในสถานประกอบการ กลุ่มอาชีพ ยานยนต์และชิ้นส่วน และ (9) โครงการจัดการความรู้เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งชุมชน

4. การพัฒนาการศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ (1) โครงการพัฒนาอาจารย์และบุคลากรสำหรับสถาบันอุดมศึกษาในเขตพัฒนาเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ (2) โครงการทุนอุดมศึกษาเพื่อการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (3) โครงการพัฒนารูปแบบการจัดการศึกษาในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ (4) โครงการพัฒนาการศึกษาในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ (5) โครงการสนับสนุนการจัดการศึกษาของโรงเรียนเอกชนในพื้นที่เสี่ยงภัย (6) การพัฒนาคุณภาพการศึกษา และ (7) การพัฒนาประสิทธิภาพการจัดการศึกษา

ที่ประชุมได้ร่วมแสดงความคิดเห็นต่อสาระสำคัญของรายงานและแนวทางการติดตามการดำเนินงานตามนโยบายฯ สรุปได้ดังนี้

1. จากเอกสารรายงานจะพบว่า ยังขาดสาระสำคัญเกี่ยวกับผลการดำเนินงานและอุปสรรคปัญหาที่ชัดเจน ดังนั้น ควรจะให้โจทย์เพิ่มเติม หรือให้ตัวอย่างในลักษณะ Template ให้ผู้รับผิดชอบขับเคลื่อนนโยบายของแต่ละองค์กรหลักรายงานตามตัวชี้วัด (KPI) และแสดงผลที่เกิดขึ้น ซึ่งตัวชี้วัดดังกล่าวได้มีการตกลงกันไว้แล้วในการประชุมผู้บริหารองค์กรหลัก แต่ยังไม่สะท้อนให้เห็นในเอกสารรายงานการดำเนินงานตามนโยบายฯ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีการเน้นย้ำเรื่องตัวชี้วัด (KPI) ของโครงการต่างๆ ที่อยู่ระหว่างการดำเนินการ และเติมข้อมูลลงในแบบฟอร์มรายงานการติดตามประเมินผลการดำเนินงานตามนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

2. ควรปรับแบบฟอร์มรายงานการติดตามประเมินผลการดำเนินงานตามนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ โดยเพิ่มคอลัมน์นโยบาย แผน/ โครงการ ตัวชี้วัด ผลการประเมิน (ก่อน-ระหว่าง-หลังดำเนินการ) ปัญหาอุปสรรค และสิ่งที่จะดำเนินการต่อไป เพื่อให้การรายงานผลมีความเชื่อมโยงกับนโยบาย และสะท้อนผลที่เกิดขึ้นจากการดำเนินงานอย่างชัดเจน

3. ควรเลือกโครงการใดโครงการหนึ่งที่ดำเนินงานตามนโยบายฯ ในระยะเร่งด่วน และมีความจำเป็นมาพิจารณาก่อน นั่นคือ เรื่อง การทบทวนการอุดหนุนรายหัวแก่นักเรียน ซึ่งจะต้องได้ข้อสรุปที่ชัดเจนโดยเร็วเพื่อประกอบการจัดทำแผนฯ ปี 2559 ให้ทันตามกำหนดในปฏิทินการดำเนินงาน ดังนั้น จึงควรให้ผู้รับผิดชอบหลักในเรื่องการทบทวนการอุดหนุนรายหัวแก่นักเรียนมานำเสนอต่อคณะทำงานติดตามฯ ในสัปดาห์ต่อไป

มติที่ประชุม

1. ให้นำเสนอข้อสังเกตของคณะทำงานติดตามการดำเนินงานตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการต่อที่ประชุมผู้บริหารองค์กรหลัก เพื่อให้ผู้บริหารองค์กรหลักช่วยกำกับ ติดตาม ประเมิน และรายงานผลตามตัวชี้วัด (KPI) ของแผนงานโครงการที่อยู่ในความรับผิดชอบอย่างจริงจัง สม่ำเสมอ และต่อเนื่อง

2. ให้ผู้รับผิดชอบแผนงานโครงการตามนโยบายฯ ของแต่ละองค์กรหลักติดตาม ประเมิน และรายงานผลการดำเนินงานอย่างชัดเจน และเป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจเชิงนโยบาย ลงในแบบฟอร์มต่อไปนี้

แบบฟอร์มรายงานการติดตามประเมินผลการดำเนินงานตามนโยบาย รมว.ศธ.
นโยบาย
แผน/
โครงการ
ตัวชี้วัด
(KPI)
ผลการประเมิน
ปัญหาอุปสรรค

สิ่งที่จะดำเนินการต่อไป



ก่อนดำเนินการ
Pre-assessment
ระหว่างดำเนินการ
Formative assessment
หลังดำเนินการ/ ผลลัพธ์
Summative assessment




























3. ให้เรียนเชิญผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ (นายเจตนา แดงอินทวัฒน์) นำเสนอข้อมูลต่อคณะทำงานติดตามการดำเนินงานตามนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในวันจันทร์ที่ 15 ธันวาคม 2557 เวลา 07.00 - 09.00 น. ณ ห้องประชุมจันทรเกษม ใน 2 ประเด็น ได้แก่ (1) ภาพรวมของการบริหารจัดการงบประมาณของกระทรวงศึกษาธิการ และ(2) สรุปการดำเนินงานตามนโยบายเร่งด่วน (ดำเนินการให้เห็นผลใน 3 เดือน) ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ “ข้อ 5 เร่งพิจารณาทบทวนการอุดหนุนรายหัวแก่นักเรียนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานทั้งของภาครัฐและเอกชน การช่วยเหลือค่าอุปกรณ์การเรียนของนักเรียนสายอาชีพ อาชีวศึกษา และการช่วยเหลือเด็กยากจน พิการ และด้อยโอกาส” ตามแบบฟอร์มรายงานการติดตามประเมินผลการดำเนินงานตามนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ดังมติที่ประชุมข้อ 2
--------------------------------------