หน้าเว็บ

วันเสาร์ที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2556

Leadership for Education Change: มุมมอง ศ.นพ.ประเวศ วะสี

Leadership for Education Change: มุมมอง ศ.นพ.ประเวศ วะสี

พิทักษ์  โสตถยาคม

หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับวันที่ ๒๗ สิงหาคม ๒๕๕๖ ได้ลงข้อมูลเกี่ยวกับโครงการผู้นำเพื่อการเปลี่ยนแปลงทางการศึกษา รุ่นที่ ๑ (Leadership for Education Change: LEC) ในคอลัมน์ข้าราษฎร หรือเรียกหลักสูตรนี้ว่า “นปศ.” เป็นโครงการความร่วมมือระหว่างสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (สป.ศธ.) กับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อพัฒนาผู้นำรุ่นใหม่ที่เน้นการนำแบบรวมหมู่ (Collective Leadership) กัลยาณมิตร และเครือข่าย ที่จะเป็นพลังร่วมเปลี่ยนแปลงการศึกษาให้ดีขึ้น กระบวนการพัฒนาตลอดหลักสูตรระยะยาวประมาณ ๒ ปี คาดว่าจะมี workshop ประมาณ ๖ ครั้ง ครั้งละ ๓ วัน จะเน้นการพัฒนาจากภายใน-วิสัยทัศน์ การใช้สติสนทนา การเติมเต็มโดยวิทยากร/ ผู้ทรงคุณวุฒิ และจะมีการทำ Project ทั้งแบบเดี่ยวและกลุ่ม ผู้เข้าร่วมหลักสูตรนี้มีทั้งสิ้น ๓๖ คน ผ่านการพิจารณาคัดเลือกจาก สสส. และ สป.ศธ. ในอัตราส่วนเท่าๆ กัน ดังนั้น ผู้เข้าร่วมโครงการจึงผสมผสานของบุคลากรภาครัฐและภาคเอกชน สำหรับข้าราชการ สพฐ. ส่วนกลาง ที่ได้รับการคัดเลือกจาก สสส. มี ๒ คน คือ น้องส้ม-กิตยาภรณ์ ประยูรพรหม (สวก.) และผม-พิทักษ์ โสตถยาคม (สนก.) ส่วนผู้ได้รับการคัดเลือกจาก สป.ศธ. จำนวน ๔ คน ได้แก่ พี่สังคม-สังคม จันทร์วิเศษ (สพร.) พี่เหว่า-ธัญนันท์ แก้วเกิด (สนก.) พี่ลำไย-ลำไย สนั่นรัมย์ (สทศ.) และพี่รัตน์-รัตนา แสงบัวเผื่อน (สวก.) ซึ่งเว็บไซต์โครงการ ดังนี้ >> http://lecleader.com/



workshop แรกของโครงการจัดขึ้น ในวันที่ ๒๘-๓๐ มิถุนายน ๒๕๕๖ ณ สถาบันพัฒนาครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา (สคบศ.) มีวิทยากรที่เป็นผู้นำทางความคิดของสังคมไทย จำนวน ๔ คน มากระตุก-กระตุ้นทางปัญญาของผู้เข้าร่วมโครงการ ประกอบด้วย ศ.นพ.ประเวศ วะสี คุณทิชา ณ นคร รศ.วิทยากร เชียงกูล และคุณปิยะบุตร ชลวิจารณ์ ในคราวนี้จะขอนำสาระที่ได้จาก ศ.นพ.ประเวศ วะสี มาแบ่งปัน ดังนี้


ศ.นพ.ประเวศ ได้กล่าวถึงการศึกษา ผู้นำ และการเปลี่ยนแปลงไว้ว่า
๑. การศึกษาสำคัญที่สุดและเป็นเรื่องใหญ่ของมนุษย์ มนุษย์เป็นสัตว์ที่มีศักยภาพในการเรียนรู้สูงสุด อย่างเช่น พระพุทธเจ้าพึ่งตนเองได้อย่างสิ้นเชิง
๒. ผู้นำต้องนำการเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่ลงมือทำด้วยตนเอง ผู้นำจึงต้องมีลักษณะสำคัญ ๓ ส่วนคือ (๑) มีจินตนาการใหญ่ ซึ่งเป็นจินตนาการที่มีพลังมาก ต้องไม่เอาความรู้นำ แต่ใช้จินตนาการนำ เช่น เจ้าชายสิทธัตถะมีจินตนาการก่อนจึงออกไปค้นหา หรือเคนเนดี้ของสหรัฐอเมริกาที่ประกาศในปี ๑๙๖๐ ว่า อเมริกาจะลงดวงจันทร์ใน ๑๐ ปี แล้วในปี ๑๙๖๙ อเมริกาก็สามารถทำได้สำเร็จ (๒) มีวิสัยทัศน์ ต้องมองโลกมองไทย อย่างเช่น มหาวิทยาลัยก็ต้องมีความเป็นผู้นำ วิสัยทัศน์ของมหาวิทยาลัยก็ต้องเชื่อมวิสัยทัศน์ของประเทศ โลกขณะนี้กำลังวิกฤตใหญ่ ทั้งอารยธรรม แนวคิด วิถีชีวิต สังคม ระบบเศรษฐกิจ กลุ่มผลประโยชน์ ซึ่งเป็นปัญหาซับซ้อนในหลายๆ ประเทศ เช่น ประเทศตะวันตกมีการแย่งชิง บริโภคตามใจ และการศึกษานำไปสู่การไม่มีงานทำ ดังนั้น การศึกษาจะต้องนำไปสู่การมีสัมมาชีพ (มีงานทำ) เอาตัวคนเป็นหลัก ไม่ใช่ GDP (๓) สร้างวิสัยทัศน์ร่วม จะต้อง share vision ต้องเป็นผู้นำด้านสื่อสาร เพราะ Great Leader = Great Communicator ทำให้เห็นส่วนรวม สุจริต ฉลาด สื่อสารได้รู้เรื่อง มีเสน่ห์คนอยากฟัง ฟังแล้วมีสุข เช่น พระพุทธเจ้าจะสื่อสารเพื่อสร้างแรงบันดาลใจ
๓. ผู้นำต้องพลิกการมอง ให้สุขภาวะ (กาย จิต สังคม ปัญญา) เป็นเป้าหมายของการพัฒนา สุขภาวะคือดุลยภาพ ต้องบูรณาการ เพราะระบบการศึกษาใหญ่มาก เป็น Ed. for All และ All for Ed. การศึกษารักษาทุกโรค และเป็นเครื่องมือพัฒนาคน ควรเป็นพลังของการพัฒนาชีวิตและสังคม แต่ปัจจุบันดูเหมือนติดกับอะไรบางอย่าง จึงจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนมุมมอง ไม่แยกส่วน เพราะการศึกษาที่แยกส่วน จะมีให้เห็นแบบลู่เรียนดิ่งเดี่ยวเป็นเส้นตรง เรียนจาก ป.๑ สู่มหาวิทยาลัย เป็นการไล่ต้อนเด็กให้มาท่องหนังสือ เป็นการทำจากยอดไม่ใช่จากฐาน การเรียนแบบเอาวิชาเป็นตัวตั้ง ไม่ได้เอาชีวิตเป็นตัวตั้ง จบแล้วไม่มีงานทำ ดังนั้น จึงควรพัฒนาแบบบูรณาการ เอาพื้นที่เป็นตัวตั้ง ลดความเหลื่อมล้ำ ไม่ใช่ใช้ “กรม” เป็นตัวตั้ง การใช้ชุมชน ท้องถิ่น จังหวัด ๘๐,๐๐๐ หมู่บ้าน ๘,๐๐๐ ตำบล เป็นรากฐานรองรับการพัฒนา
๔. ควรเน้นกระบวนการชุมชน มีการดำเนินการ ๕ ส่วน ได้แก่ (๑) สภาผู้นำชุมชน เป็น self-organize ไม่ได้เป็นการแต่งตั้งจากใคร ให้เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติ เป็นประชาธิปไตยชุมชน ไม่ต้องอาศัยการเลือกตั้ง เป็นประชาธิปไตยสมานฉันท์และประชาธิปไตยอรรถประโยชน์ ผู้นำที่เข้าสู่สภาผู้นำชุมชนจะมีทั้งครู ศิลปิน พระ ปราชญ์ชาวบ้าน ฯลฯ (๒) สำรวจข้อมูลชุมชน (๓) ทำแผนที่ชุมชน เพื่อพัฒนาอย่างบูรณาการในพื้นที่ (๔) นำเสนอให้สภาประชาชนได้ดูและพิจารณา (๕) คนทั้งชุมชนช่วยกันขับเคลื่อนแผนของชุมชน สำหรับเรื่องที่จะพัฒนาประกอบไปด้วยด้านเศรษฐกิจ ต้องสร้างสัมมาชีพให้เต็มพื้นที่ ไม่เบียดเบียนตนเอง ผู้อื่น สิ่งแวดล้อม ศีลธรรม ให้รายได้มากกว่ารายจ่าย ด้านจิตใจ ด้านสังคมปัญหาเด็กและเยาวชน ความยากจน ต้องใช้สัมมาชีพช่วย โดย อบต.เป็นเจ้าภาพ ด้านวัฒนธรรม ให้มีกิจกรรมชุมชนที่เป็นการเรียนรู้ข้ามวัย ให้เรียนรู้จากคนทุกคน ช่วยกันพัฒนาเติมเต็มเด็กและเยาวชน ด้านสุขภาพ เช่น หญิงตั้งครรภ์ควรได้ดื่มนมฟรีจากวัวที่ชุมชนเลี้ยงไว้ ด้านการศึกษาต้องเรียนรู้ร่วมกัน ไว้วางใจ เกิดความสุข สร้างสรรค์ ไม่กลัว ไม่ประเมินแบบ สมศ. และด้านประชาธิปไตย
๕. ทิศทางการพัฒนาประเทศจะเป็นแบบชุมชน ท้องถิ่น จังหวัดจัดการตนเอง จัดการคืออิทธิปัญญา นั่นคือ ปัญญาที่เชื่อมโยงสู่ความสำเร็จ ขณะนี้มีจังหวัด ประมาณ ๔๐ จังหวัด กำลังทำเรื่องนี้อยู่ ในการจัดการจะดำเนินการพัฒนาอย่างบูรณาการ มีการพัฒนานโยบาย ที่คนจะต้องรู้ และไม่มีผลประโยชน์
๖. ผู้นำการเปลี่ยนแปลงทางการศึกษาสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ควรเป็นผู้นำรวมหมู่ ลักษณะชุมชนจัดการตนเอง ท้องถิ่นจัดการตนเอง และจังหวัดจัดการตนเอง เป็นการร่วมจัดการศึกษาอย่างบูรณาการ เรียนรู้ร่วมกันในการปฏิบัติ (Interactive learning through action) สำหรับกระบวนทัศน์ใหม่หรือนวัตกรรมการศึกษาต้องเป็นการพัฒนาอย่างยั่งยืน เป็นมิตรกับสังคมและสิ่งแวดล้อม นวัตกรรมทางสังคม ดีกว่า นวัตกรรมทางเทคโนโลยี โจทย์สำคัญของการพัฒนาคือ อย่างไรจึงจะสมดุล ทำอย่างไรที่ดิน ๑ ไร่ จะพอกินพอใช้

สะท้อนคิด  workshop แรกนี้ เน้นกระบวนการสร้างการเปลี่ยนแปลงจากภายใน เริ่มต้นจากการเปลี่ยนที่ตนเองก่อน ก่อนที่จะไปนำคนอื่นให้เปลี่ยนแปลง ตลอด ๓ วันได้มีกิจกรรมฝึกสติ ให้รู้เท่าทันความคิด อารมณ์ จิตใจ ได้รับฟังแง่คิดของวิทยากรทำให้ได้มุมมองที่กว้างขึ้น และการได้เรียนรู้ประสบการณ์ของเพื่อนร่วมรุ่น ทำให้เห็นศักยภาพที่มีอยู่ในตัวของทุกคน และทุกคนก็มีพื้นที่ที่สามารถสร้างคุณค่าให้เกิดขึ้นในหน้าที่การงานอยู่แล้ว แต่การมาร่วมรุ่นกันครั้งนี้ ทำให้เรามองไปข้างหน้าเพื่อประสานความร่วมมือและทำงานร่วมกัน
-----------------------------------------


วันศุกร์ที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2556

เรียนรู้ด้วยวิจัย: โรงเรียนอนุบาลเมืองลำพูน จ.ลำพูน

โรงเรียนอนุบาลเมืองลำพูน: ผู้นำเล่น & เน้นปัญหาชุมชน
พิทักษ์ โสตถยาคม

โรงเรียนอนุบาลเมืองลำพูน (บ้านป่าเห็วอภิวงค์ประชานุกูล) เป็นโรงเรียนอนุบาลประจำอำเภอ เปิดสอนระดับชั้นอนุบาลปีที่ 1 – ประถมศึกษาปีที่ 6 ตั้งอยู่หมู่ที่ 5 ตำบลอุโมงค์ อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน อยู่ห่างจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาลำพูน เขต 1  ระยะทาง 14 กิโลเมตร ปีการศึกษา 2555 นี้มีนักเรียน 401 คน มีข้าราชการครู 20 คน ครูอัตราจ้าง 5 คน นายวิลาศ ศรีพายัพ เป็นผู้อำนวยการโรงเรียน ครูแกนนำ จำนวน 2 คน ประกอบด้วย (1) นางจิตสุภัค มานะการ ครูวิทยฐานะชำนาญการพิเศษ สอนกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ปัจจุบันสอนวิทยาศาสตร์ในส่วนของรายวิชาเพิ่มเติม ระดับชั้น ป.4-6 ห้องเรียนละ 1 ชั่วโมง และ (2) นางสาวธีราภรณ์ คำฟู พนักงานราชการ สอนกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ (ภาษาอังกฤษ) ระดับชั้น ป.1-6 นอกจากนั้นยังมี ดร.วิชากร ลังกาฟ้า ศึกษานิเทศก์ชำนาญการพิเศษ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาลำพูน เขต 1 เป็นผู้ให้การสนับสนุนส่งเสริมการจัดการเรียนรู้ของครูอีกด้วย


ในการติดตามผลครั้งนี้มีคณะติดตาม 4 คน ประกอบด้วย อ.วิไล แสงเหมือนขวัญ อ.วงเดือน โปธิปัน อ.สมชัย แซ่เจีย และผม พิทักษ์ โสตถยาคม ได้ติดตามผลการส่งเสริมให้นักเรียนใช้กระบวนการวิจัยของโรงเรียนอนุบาลเมืองลำพูน ในวันศุกร์ที่ 1 มีนาคม 2556 ซึ่งมีกิจกรรมการพูดคุยกับผู้บริหารโรงเรียน การสังเกตการสอนครูแกนนำ และการประชุมสะท้อนผลการเรียนรู้ร่วมกัน ซึ่งมีข้อค้นพบ ดังนี้
1. การสังเกตการสอน การสังเกตการสอนวิชาวิทยาศาสตร์ในรายวิชาเพิ่มเติมของคุณครูจิตสุภัค มานะการ สอนนักเรียนชั้น ป.4 มีนักเรียน จำนวน 26 คน เป็นชาย 11 คน หญิง 15 คน เรื่องที่สอนวันนี้เป็นเรื่อง ขยะในชุมชน ในรายวิชา ว14201 ขยะในชุมชน 1 ซึ่งกิจกรรมต่อเนื่องหลังจากที่นักเรียนได้ไปสำรวจขยะในโรงเรียน/ บ้าน/ ชุมชน ว่าพบเห็นขยะอะไรมากที่สุด และเกิดผลกระทบอย่างไรบ้าง กิจกรรมการจัดการเรียนรู้วันนี้ เป็นการทบทวนการเรียนรู้ในกิจกรรมที่นักเรียนได้ดำเนินการผ่านมา โดยครูนำเสนอด้วย PowerPoint เกี่ยวกับผลสรุปการสำรวจขยะในโรงเรียนจากแบบสำรวจของนักเรียนแต่ละกลุ่ม ซึ่งพบว่าขยะที่มีมากที่สุดคือหลอดดูด และยังพบขยะประเภทอื่นด้วยแต่มีไม่มาก อาทิ กล่องโฟม เศษเหล็ก กระป๋อง น้ำอัดลม เศษผ้า แล้วนำเสนอข้อมูลแหล่งก่อกำเนิดขยะว่ามีทั้งจากนักเรียน ครู แม่ครัว นักการ แม่ค้า ผู้ปกครอง แขกที่มาเยี่ยมโรงเรียน สัตว์ และสรุปว่าขยะในโรงเรียนมาจากนักเรียนมากที่สุด จากนั้นครูทบทวนว่า นักเรียนได้ใช้แบบเก็บข้อมูล จำนวน 7 ฉบับ ในการทำโครงการสำรวจครั้งนี้ เช่น แบบสำรวจขยะในโรงเรียน แบบสรุปผล แบบสำรวจขยะในชุมชน แบบสรุปการสำรวจขยะในชุมชน จากนั้นครูนำเสนอข้อมูลผลการสำรวจวิธีการกำจัดขยะในชุมชนที่นักเรียนสำรวจพบ จำนวน 26 รายการ และแต่ละรายการมีข้อมูลจากการวิเคราะห์ของนักเรียนว่า เป็นวิธีการกำจัดขยะที่ถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง ครูซักถามนักเรียนบางคนเกี่ยวกับวิธีการกำจัดขยะบางประเภท ได้แก่ วิธีการทำน้ำหมัก การแยกขยะ และผลเสียของการเผาขยะ ช่วงสุดท้าย ครูได้อธิบายว่า ผลจากการสำรวจที่นักเรียนได้ดำเนินการไปแล้ว ท้ายที่สุดนักเรียนจะได้โครงงานคนละ 1 เรื่อง และครูนำตัวอย่างเอกสารรายงานโครงงานของรุ่นพี่ชั้น ป.6 มาให้นักเรียนดูว่าองค์ประกอบของรายงานมีอะไรบ้าง และบอกนักเรียนให้ทราบว่า นักเรียนจะต้องทำผลงาน 3 ชิ้น ได้แก่ (1) แผ่นพับ (2) ฟิวเจอร์บอร์ด (สำหรับจัดแสดงนิทรรศการ) และ(3) เอกสารรายงานโครงงานวิทยาศาสตร์ ประเภทสำรวจ (ให้นักเรียนตั้งชื่อรายงานเอง เช่น วิธีมหัศจรรย์ในการกำจัดขยะ)
2. ผลการพูดคุยกับผู้บริหารโรงเรียน ผอ.วิลาศ ศรีพายัพ ได้เล่าให้ทีมติดตามฟังว่า หลังจากครูแกนนำกลับจากไปร่วมประชุมครั้งแรกของโครงการ โรงเรียนได้นำมาลองทำ และมาคุยกันถึงผลแลปัญหาที่พบ ซึ่งโรงเรียนได้ให้ทำวิชาละ 1 หน่วยการเรียนรู้ และปีการศึกษาต่อไปจะเพิ่มเป็นวิชาละ 2 หน่วยการเรียนรู้ ที่ผ่านมาโรงเรียนได้เผยแพร่การจัดการเรียนรู้ตามจุดเน้นของโครงการไปยังโรงเรียนอื่นๆ เป็นระยะๆ มีการสร้างความเข้าใจให้กับครูโรงเรียนต่างๆ ในวันเสาร์-อาทิตย์ ร่วมกับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาลำพูน เขต 1 รวมทั้งเปิดรับการศึกษาดูงานจากโรงเรียนที่สนใจเพิ่มเติมด้วย เทคนิคการบริหารจัดการโครงการเพื่อเอื้ออำนวยให้ครูพัฒนางานอย่างเต็มที่ก็คือ (1) บรรจุโครงการสร้างวัฒนธรรมการวิจัยไว้ในแผนงานโครงการของโรงเรียน (2) สนับสนุนงบประมาณจัดการเรียนรู้และเขียนรายงานผลการสร้างวัฒนธรรมการวิจัยของในวิชาของครู คนละ 1,000 บาท ในลักษณะกิจกรรมแลกเป้า (นำงานมาส่งจึงได้รับเงิน) (3) สนับสนุนงบประมาณให้พัฒนาสื่อและปรับปรุงบรรยากาศการเรียนรู้ในห้องเรียน ห้องเรียนละ 4,000 บาท (4) จัดเจ้าหน้าที่เพื่อพิมพ์งานให้ครู ซึ่งมีครูประมาณ 50% ได้ใช้บริการเจ้าหน้าที่พิมพ์นี้ (5) การติดตามงานใช้การพูดคุยกันในที่ประชุมทุกเดือน แต่ก็ถือว่าทำได้ไม่เต็มที่นัก รวมทั้งไม่ได้เข้าไปสังเกตการสอนหรือติดตามดูในห้องเรียน
3. ผลการประชุมครูผู้สอน จากการประชุมครูแกนนำและครูผู้สนใจ พบว่า ครูเห็นว่าการจัดการเรียนรู้ที่ให้นักเรียนใช้กระบวนการวิจัยเป็นกระบวนการสำคัญที่ต้องปลูกฝัง และการดำเนินการครั้งนี้มีความสอดคล้องกับจุดเน้นของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาในเรื่องห้องเรียนคุณภาพ และการเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ได้ข้อมูลสะท้อนจากที่ประชุมว่า นักเรียนมีเจตคติที่ดีต่อการวิจัย นักเรียนตั้งใจเรียน กล้าแสดงออก ได้ออกไปเรียนรู้ในโลกกว้าง รวมทั้งนักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนดีขึ้นเพราะนักเรียนได้มีโอกาสเรียนรู้ด้วยการลงมือทำ
4. การสะท้อนคิด ขอนำข้อความที่ได้เขียนลงสมุดนิเทศของโรงเรียนอนุบาลเมืองลำพูนในวันนั้น มานำเสนอ ดังนี้
วันนี้ข้าพเจ้านายพิทักษ์ โสตถยาคม นักวิชาการศึกษา สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา สพฐ. กระทรวงศึกษาธิการ ได้มาติดตามผลการใช้กระบวนการวิจัยของนักเรียนโรงเรียนอนุบาลเมืองลำพูน พร้อมด้วย อ.วิไล แสงเหมือนขวัญ อ.วงเดือน โปธิปัน และอ.สมชัย แซ่เจีย กิจกรรมการติดตามในวันนี้ เราได้พูดคุยทำความเข้าใจกับผู้บริหารโรงเรียนเกี่ยวกับการติดตามผลครั้งนี้ว่า มาเพื่อร่วมชื่นชมการปฏิบัติจริง ตามสภาพที่แท้จริงของโรงเรียน ได้สังเกตการณ์สอนของครูจิตสุภัค มานะการ สอนวิทยาศาสตร์ กลุ่มสาระเพิ่มเติม ชั้น ป.4 เห็นถึงความมั่นใจในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ของครู ครูพยายามกระตุ้นให้นักเรียนตอบคำถาม ด้วยคำถามเพื่อการทบทวน กิจกรรมสำรวจปัญหาขยะในโรงเรียนและชุมชน ได้เห็นว่าครูมีใบงานให้เด็กทำ จำนวน 7 ใบงาน ซึ่งมีร่องรอยว่า เด็กๆ ได้ไปสำรวจจริง หลังจากนั้น เราได้พูดคุยกับครู นักเรียน และผู้บริหารโรงเรียนเพิ่มเติม รวมทั้งกิจกรรมสุดท้ายคือ การพูดคุยสะท้อนผลการเรียนรู้ร่วมกับคณะครู จำนวน 7 คน ที่ได้ผ่านการจัดกิจกรรมการเรียนรู้โดยให้นักเรียนใช้กระบวนการวิจัย
สิ่งที่เราค้นพบมีสิ่งดีๆ ที่โรงเรียนได้ดำเนินการหลากหลาย อาทิ ผู้บริหารโรงเรียนกำหนดโครงการสร้างวัฒนธรรมการวิจัยไว้ในแผนงานของโรงเรียน มีการสนับสนุนงบประมาณให้ครูทุกคนในการพัฒนาผลงานการจัดการเรียนรู้ด้วยวิจัย คนละ 1,000 บาท มีการจัดปัจจัยเกื้อหนุนให้ครูรู้สึกสบายใจว่ามีคนช่วยพิมพ์งานคอมพิวเตอร์ ที่คุณครูไม่ถนัด นั่นคือ จัดจ้างครูธุรการมาช่วยพิมพ์ผลงาน นอกจากนั้น โรงเรียนยังเห็นประโยชน์/ คุณค่าของการมีคนภายนอกมาศึกษาดูงาน โดยส่งเสริมให้ครูแกนนำ 2 คน ไปเป็นวิทยากรเผยแพร่ผลการดำเนินงานของโรงเรียนให้โรงเรียนอื่นได้นำไปประยุกต์ใช้ สุดท้ายก็เห็นว่า ครูทุกคนมีผลงานจากการสอน จากการจัดการเรียนรู้ให้นักเรียนใช้กระบวนการวิจัย และการทำวิจัยของครูในลักษณะการวิจัยในชั้นเรียน รวมทั้งการวิจัยแบบ 5 บท ก็มีให้เห็นได้ทั่วไปในโรงเรียนแห่งนี้
            ประเด็นเพิ่มเติมที่อยากเติมเต็มให้การดำเนินงานของนักเรียน ครู และผู้บริหาร ให้นำไปพิจารณาประเด็นต่อไปนี้ร่วมกันระหว่างครูและผู้บริหารโรงเรียน เพื่อให้ตกผลึกเป็นข้อตกลงของโรงเรียน เป็นแบบฉบับของโรงเรียนเอง ดังนี้
·        หัวใจสำคัญของการเรียนรู้ คือ คือ ต้องกระตุ้นให้นักเรียนเกิดความกระหายใคร่รู้ อยากเรียนรู้อย่างแท้จริง เพื่อให้นักเรียนเป็น “ผู้เรียนรู้ (learner)” อย่างเด่นชัด
·        จากการรับฟังความคิดของครู พบว่า ครูมีพลังที่ต้องการพัฒนาผู้เรียนจริงๆ มีเจตนาดี หวังดี อยากให้เด็กเรียนรู้ได้อย่างลึกซึ้ง เพียงแต่ยังรู้สึกไม่มั่นใจ ยังมีคำถามค้างคาใจที่ต้องการให้มีการสร้างความกระจ่าง ดังนั้น จึงอยากเชียร์ให้ผู้บริหารโรงเรียน และคุณครูได้ “ตั้งกลุ่มพูดคุยกัน-แบบกันเอง” ว่า ใครทำดีได้เพียงใด มีความภาคภูมิใจอย่างไร ก็เชื่อว่า บรรยากาศของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้แบบกัลยาณมิตร จะช่วยหนุนเสริมให้เกิดเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ของครูทั้งโรงเรียน ก็เชื่อได้ว่า พลังของครูแต่ละคนจะช่วยเกื้อหนุนให้เกิดการเติมเต็มซึ่งกันและกันอย่างดียิ่ง
·        การพัฒนาผู้เรียนเป็นเรื่องของการดำเนินงานเชิงคุณภาพ ผลงานเด็กที่เกิดขึ้น จึงควรมีวิธีการประเมินด้วยหลักการเชิงคุณภาพด้วย จึงควรศึกษาแนวทางการใช้ระดับคุณภาพ (Rubrics) มาใช้ในการประเมินคุณภาพผู้เรียน มากกว่าเพียงใช้คะแนนสอบแบบเลือกตอบเพียงอย่างเดียว
ขอเป็นกำลังใจ และชื่นชมในการปฏิบัติของคณะครูทุกท่าน หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ผลการดำเนินงานของโรงเรียนที่ดูได้จาก “ตัวเด็ก” จะโดดเด่น เป็นเอกลักษณ์ ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ของโรงเรียนอื่นๆ ต่อไป”
........................................

เรียนรู้ด้วยวิจัย: โรงเรียนชุมชนบ้านวังดิน จ.ลำพูน

โรงเรียนชุมชนบ้านวังดิน: ก้าวต่อครั้งใหม่ด้วยวิจัยทั้งโรงเรียน
พิทักษ์ โสตถยาคม

โรงเรียนชุมชนบ้านวังดินเป็นโรงเรียนที่จัดการศึกษาระดับปฐมวัยและประถมศึกษา ตั้งอยู่หมู่ที่ 14 ตำบลลี้ อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน อยู่ห่างจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาลำพูน เขต 2 เป็นระยะทาง 66 กิโลเมตร ปีการศึกษา 2555 นี้มีนักเรียน 439 คน มีครูและบุคลากรทางการศึกษา 24 คน ผู้อำนวยการโรงเรียนคือ นายจรินทร์ ศรีสุวรรณ บริหารจัดการทั้งระดับประถมศึกษา ณ โรงเรียนแห่งนี้ ซึ่งมีนักเรียน จำนวน 411 คน และระดับปฐมวัย ซึ่งใช้สถานที่จัดการเรียนรู้อยู่ที่โรงเรียนบ้านลี้ ซึ่งเดิมเป็นโรงเรียนประชาบาล ขณะนี้มีนักเรียน จำนวน 28 คน ตั้งแต่เริ่มเข้าร่วมโครงการในปี 2554 มีครูแกนนำ 2 คน ดำเนินการต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ได้แก่ ครูศุทธินี พุฒิพิพัฒน์ชูพงศ์ เป็นครูประจำชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 โดยใช้กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษาศาสนาและวัฒนธรรมเป็นวิชานำร่องในการให้นักเรียนใช้กระบวนการวิจัย และครูศศิธร สุตานันท์ เป็นครูผู้สอนกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 มีศึกษานิเทศก์สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาลำพูน เขต 2 คือ ศน.ชุลีกร ใหม่เขียว เป็นพี่เลี้ยงให้การนิเทศช่วยเหลือ


การติดตามการส่งเสริมการใช้กระบวนการวิจัยของโรงเรียนชุมชนบ้านวังดิน ในวันพฤหัสบดีที่ 28 กุมภาพันธ์ 2556 มีคณะติดตาม จำนวน 4 คน ประกอบด้วย อ.วิไล แสงเหมือนขวัญ อ.วงเดือน โปธิปัน อ.สมชัย แซ่เจีย และผม พิทักษ์ โสตถยาคม ได้สร้างความเข้าใจในจุดมุ่งหมายของการติดตามผลครั้งนี้ให้กับผู้บริหารโรงเรียน การสังเกตการสอน การสัมภาษณ์นักเรียน ครู และผู้บริหารโรงเรียน และการประชุมสะท้อนผลการเรียนรู้ร่วมกัน ซึ่งมีข้อค้นพบ ดังนี้
            1. การสังเกตการสอน ห้องเรียนชั้น ป.5 มีนักเรียน จำนวน 15 คน เป็นชาย 7 คน หญิง 8 คน มีคุณครูศศิธร สุตานันท์ เป็นครูผู้สอน กิจกรรมวันนี้เป็นการนำเสนอโครงงานภาษาไทยรายบุคคล ระยะเวลาที่สังเกตการสอนคือ 10.40-11.25 น. โดยครูให้นักเรียนนำโครงงาน (เอกสารรายงานโครงงาน) ที่จะนำเสนอหน้าชั้นขึ้นมา จากนั้นให้นักเรียนร่วมกันตั้งเกณฑ์ประเมินการนำเสนอโครงงาน ครูชี้แนะว่าอาจจะมีเกณฑ์การนำเสนอและรูปเล่ม แล้วให้นักเรียนแสนอว่าจะประเมินอะไรบ้าง นักเรียนเสนอประเด็นที่จะประเมิน ได้แก่ ความตั้งใจในการทำงาน, ข้อมูลถูกต้อง, ชิ้นงานสะอาดเรียบร้อย, ข้อมูลครบถ้วนตามหัวข้อ, สรุปได้ใจความ ครูถามว่ายังมีอะไรเพิ่มเติมอีก แล้วช่วยตะล่อมประเด็นซ้ำซ้อน เช่น “ข้อมูลถูกต้องครบถ้วนตรงตามหัวข้อ” จากนั้นสอบถามนักเรียนว่า เราจะดูจากอะไรที่จะแสดงให้เห็นว่าระดับ 4-3-2-1 เป็นอย่างไร เช่น การพูดนำเสนอ ระดับ 4 เป็นพูดชัดเจน ถูกอักขระ ไม่เขินอาย ระดับ 3 พูดติดๆ ขัดๆ ระดับ 2 พูดแบบขอไปที และระดับ 1 พูดไม่รู้เรื่องเลย จากนั้น ครูให้นักเรียนทุกคนจดเกณฑ์การใช้คะแนนนี้ไว้เพื่อใช้ในการประเมินการนำเสนอโครงงานของเพื่อนๆ สรุปมี 4 ประเด็น ประเด็นละ 4 คะแนน รวม 16 คะแนน
ครูให้นักเรียนออกมานำเสนอทั้งสิ้น 4 คน แต่ละคนนำเสนอโครงงานตามลำดับดังนี้คือ (1) การเขียนเรื่องจากภาพพาเพลิน (2) โครงสี่ที่ต้องการ (3) สะกดถูกอ่านได้ใจความ และ(4) สำนวนสุภาษิตคิดสนุก โดยนักเรียนแต่ละคนออกไปหน้าชั้นตามการเรียกชื่อของครู และอ่านสิ่งที่เขียนไว้ในเอกสารรายงานให้เพื่อนฟัง โดยเฉพาะ 1-2 หน้าแรกของรายงานโครงการ ซึ่งอ่านตามหัวข้อดังนี้ คือ ชื่อโครงงาน ที่มาและความสำคัญ วัตถุประสงค์ ขอบเขต วิธีการศึกษา ผลการศึกษา การนำไปใช้ประโยชน์ และเอกสารอ้างอิง จากนั้น นำเสนอผลงานที่ได้จากการทำโครงงาน เช่น การเขียนเรื่องจากภาพพาเพลิน ก็นำเสนอผลงานครั้งละหน้ากระดาษ แต่ละหน้ากระดาษประกอบด้วยภาพ 1 ภาพ ชื่อภาพและเนื้อหาสาระอธิบายภาพนั้นๆ และในช่วงท้ายของกิจกรรมการเรียนรู้วันนี้ คุณครูเขียนตาราง 5 คอลัมน์ลงในกระดาษ ฉายขึ้นจอ (คุณครูใช้ Visualizer) คอลัมน์แรกเป็นชื่อกรรมการ ถัดไปเป็นชื่อนักเรียนคนที่ 1-4 ที่นำเสนอวันนี้ เพื่อให้นักเรียนทุกคนในชั้นร่วมประเมินเพื่อน และครูจะประเมินสรุปอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งครูบอกว่า หากใครมีผลการประเมินดีจะได้รับรางวัลเป็นหนังสือ 5 สหายพจญภัย
2. ผลการพูดคุยกับผู้บริหารและครู ผู้บริหารโรงเรียนเห็นประโยชน์ของการดำเนินโครงการ ได้สะท้อนภาพการเริ่มต้นโครงการในระยะแรกว่า ครูมีปัญหาการกระตุ้นให้เรียนตั้งคำถามและการดำเนินงาน จึงหารือกับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและเชิญวิทยากรมาสร้างความเข้าใจให้ครูทั้งโรงเรียน และได้รับการนิเทศช่วยเหลือครูจากศึกษานิเทศก์อย่างใกล้ชิด ผลที่พบเห็นในปีแรกคือ ผลดีที่เกิดกับนักเรียนชั้น ป.1 ห้องของครูแกนนำ ปีที่ 2 จึงขยายสู่ครู 6 คน และปีที่ 3 มีแผนที่จะขยายสู่ครูทุกคน โดยกำหนดให้ครูแกนนำทำอย่างน้อย 1 กลุ่มสาระ ครูเครือข่ายที่เริ่มในปีที่ 2 ทำ 1 หน่วย และครูแนวร่วมที่จะเข้าร่วมปีที่ 3 จะให้ทำอย่างน้อย 1 แผน ผลที่เกิดกับครูแกนนำที่ผู้บริหารโรงเรียนสังเกตได้คือ ครูมีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการจัดการเรียนรู้เพื่อให้เด็กเรียนรู้ได้เอง ส่วนครูสะท้อนว่า ตรงกับธรรมชาติการสอนวิทยาศาสตร์ที่เน้นให้นักเรียนค้นหาคำตอบ แต่ก็ไม่ง่ายที่จะตะล่อมเด็ก และกระบวนการวิจัยจำเป็นต้องใช้เวลาให้เด็กได้เรียนรู้อย่างลึกซึ้ง จากความไม่เข้าใจในแนวทางการพัฒนา ความซับซ้อนที่ได้รับถ่ายทอดที่ผ่านๆ มา และผลดีที่เกิดจากการทดลองปฏิบัติของครูในโรงเรียน ทำให้ครูและผู้บริหารเห็นว่า จะลดความซับซ้อนของการปฏิบัติและมุ่งให้นักเรียนใช้กระบวนการวิจัย 4 ขั้นโดยตรง และจะเข้าใจและปฏิบัติได้ง่าย
3. การสะท้อนคิด ขอนำข้อความที่ได้เขียนลงในสมุดนิเทศมานำเสนอ ดังนี้
            “วันนี้ข้าพเจ้านายพิทักษ์ โสตถยาคม นักวิชาการศึกษา สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา สพฐ. พร้อมด้วย อ.วิไล แสงเหมือนขวัญ อ.วงเดือน โปธิปัน และ อ.สมชัย แซ่เจีย ได้มาติดตามการใช้กระบวนการวิจัยของนักเรียนโรงเรียนชุมชนบ้านวังดิน สพป.ลำพูน เขต 2 เพื่อศึกษาสภาพการดำเนินงานของครู ผู้บริหาร และร่วมชื่นชมความก้าวหน้าของการพัฒนาผู้เรียน กิจกรรมที่คณะติดตามได้ดำเนินการในวันนี้คือ การพูดคุยชี้แจงเป้าหมายเจตนาของการติดตามผลครั้งนี้ ให้ผู้บริหารโรงเรียนได้รับทราบว่า การมาวันนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อดูกระบวนการดำเนินงานของโรงเรียนในฐานะเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจ ตามการแนะนำของทีมภาค ได้เข้าสังเกตการณ์สอนของครูศศิธร สุตานันท์ ครูสอนภาษาไทย ชั้น ป.5 มีนักเรียนในชั้นวันนี้ จำนวน 15 คน เพราะตรงกับวันแข่งขันกีฬากลุ่มโรงเรียน นักเรียนส่วนหนึ่งต้องไปร่วมแข่งกีฬา ได้เห็นความมุ่งมั่นตั้งใจในการจัดการเรียนรู้ของครู ครูเปิดโอกาสให้นักเรียนได้คิด-ทำ-นำเสนอในลักษณะโครงงาน นอกจากนั้น คณะติดตามยังได้สัมภาษณ์ครู ผู้บริหาร และนักเรียน รวมทั้งได้ประชุมครูแกนนำกลุ่มเครือข่ายแนวร่วม ได้เห็นถึงความสนใจที่อยากจะพัฒนาผู้เรียนให้มีคุณภาพ ทุกคนแสดงให้เห็นถึงความพยายาม ซึ่งหากได้มีโอกาสได้พูดคุยทำความเข้าใจร่วมกัน แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันบ่อยๆ คาดหวังได้อย่างยิ่งว่า โรงเรียนชุมชนบ้านวังดิน จะสามารถมีผลผลิต “ผู้เรียน” ที่มีทักษะการเรียนรู้และคุณลักษณะที่ดี โดดเด่น เป็นเอกลักษณ์ ขอชื่นชมผู้บริหารโรงเรียน คณะครูที่ได้ร่วมกันพัฒนาผู้เรียนด้วยความเข้มแข็งตลอดมา และจะร่วมกันสร้างสรรค์บรรยากาศการเรียนรู้ให้ผู้เรียนได้ใช้วงจรการวิจัย 4 ขั้นตอนบ่อยๆ จนกลายเป็นวัฒนธรรมการวิจัย ขอเป็นกำลังใจ...”
.....................................................

เรียนรู้ด้วยวิจัย: โรงเรียนบ้านพวงพยอม จ.พะเยา

โรงเรียนบ้านพวงพยอม: บูรณาการทุกงานสู่การวิจัย
พิทักษ์  โสตถยาคม

โรงเรียนบ้านพวงพยอมเป็นโรงเรียนที่จัดการศึกษาภาคบังคับ เปิดสอนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 – มัธยมศึกษาปีที่ 3 ตั้งอยู่หมู่ที่ 6 ตำบลหงส์หิน อำเภอจุน จังหวัดพะเยา อยู่ห่างจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาพะเยา เขต 2 ระยะทาง 25 กิโลเมตร ปีการศึกษา 2555 นี้มีนักเรียน 167 คน มีข้าราชการครู 16 คน ครูอัตราจ้าง 4 คน นายนิทัศ ใจหลวง เป็นผู้อำนวยการโรงเรียน ตั้งแต่เริ่มเข้าร่วมโครงการในปี 2554 มีครูแกนนำ 2 คน ดำเนินการต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ได้แก่ ครูกัญญาณัฐ มีคง เป็นครูผู้สอนกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย และครูรุ่งนภา บุญวงศ์ เป็นครูกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ครูทั้งสองคนเลือกกลุ่มเป้าหมายเป็นนักเรียนระดับชั้นเดียวกัน นั่นคือ ปีการศึกษา 2554 ดำเนินการกับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ปีการศึกษา 2555 ยังคงดำเนินการกับนักเรียนกลุ่มเดิม ซึ่งปัจจุบันอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 มีศึกษานิเทศก์สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาพะเยา เขต 2 คือ ดร.สกาวรัตน์ ชุ่มเชย เป็นพี่เลี้ยงให้การนิเทศ

การติดตามผลของการส่งเสริมให้นักเรียนใช้กระบวนการวิจัยของโรงเรียนบ้านพวงพะยอม วันพุธที่ 27 กุมภาพันธ์ 2556 มีคณะทำงาน 3 คน ประกอบด้วย อ.วิไล แสงเหมือนขวัญ อ.วงเดือน โปธิปัน และผม พิทักษ์ โสตถยาคม กิจกรรมการติดตามผล ได้แก่ การชี้แจงจุดมุ่งหมายของการติดตามผล การสังเกตการสอน การสัมภาษณ์นักเรียน ครู และผู้บริหารโรงเรียน และการประชุมสะท้อนผลการเรียนรู้ร่วมกัน ซึ่งมีข้อค้นพบ ดังนี้
1. การสังเกตการสอน ห้องเรียนชั้น ม.2 มีนักเรียน จำนวน 19 คน เป็นชาย 9 คน หญิง 10 คน มีคุณครูรุ่งนภา บุญวงศ์ เป็นครูผู้สอน เรื่องที่สอนวันนี้เป็นเรื่อง นัยน์ตาและการมองเห็น กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ สำหรับกิจกรรมการจัดการเรียนรู้ ประกอบด้วย ครูนำกล่อง 1 ใบ มาให้นักเรียนทายว่า อะไรอยู่ข้างใน ซึ่งนักเรียนไม่ทราบ ครูจึงถามว่า ทำอย่างไรจึงจะทราบว่ามีอะไรอยู่ จากนั้นครูให้ตัวแทนนักเรียน 2 คน คลำสิ่งที่อยู่ในกล่องและทาย และนักเรียนบอกว่าถ้าจะให้มั่นใจต้องใช้ตาดู ครูถามให้นักเรียนระบุว่า กิจกรรมนี้ใช้ประสาทสัมผัสทั้ง 5 ตา หู จมูก ลิ้น และกายสัมผัส จากนั้น ครูเน้นว่า ประสาทสัมผัสใดทำให้มองเห็น รวมทั้งถามว่าหากปิดไฟ-เปิดไฟสิ่งใดจะทำให้มองเห็น
ครูนำรูปภาพสัตว์ 6 ภาพมาให้นักเรียนดูและให้ตอบว่า สัตว์แต่ละชนิดในภาพออกหากินเวลากลางวันหรือกลางคืน ภาพสัตว์ ประกอบด้วย แมว นกฮูก ไก่ นก หมี และพญากระรอกบินหูแดง ครูให้นักเรียนเปรียบเทียบตาของสัตว์ที่หากินทั้งสองเวลาว่ามีความแตกต่างกันอย่างไร นักเรียนร่วมกันตอบว่า ตาของสัตว์ที่หากินเวลากลางคืนจะใหญ่กว่าตาของสัตว์ที่หากินเวลากลางวัน จากนั้นครูถามนักเรียนคิดว่า ดวงตาของเราใช้เพื่ออะไร ประกอบด้วยอะไรบ้าง เรามองเห็นได้เพราะมีปัจจัยอะไรบ้าง แต่นักเรียนตอบได้บ้างไม่ได้บ้าง ครูจึงให้นักเรียนช่วยกันระบุสิ่งที่รู้อยู่แล้วและสิ่งที่ต้องการเรียนรู้ลงในใบงาน KWL (K-เคยเรียนรู้อะไรแล้ว, W-ต้องการเรียนรู้อะไรต่อไป, L-เรียนเสร็จแล้วรู้อะไรเพิ่มเติมบ้าง) โดยให้เวลา 5 นาที เมื่อเขียนเสร็จแล้วครูให้นักเรียนสรุปเป็นของกลุ่ม จะได้คำถามที่นักเรียนอยากรู้เกี่ยวกับตาและการมองเห็น เช่น ดวงตาประกอบด้วยอะไรบ้าง ปัจจัยใดที่ทำให้เรามองเห็น
จากนั้น ครูให้นักเรียนแต่ละกลุ่มประชุมร่วมกันเพื่อวางแผนว่าจะไปค้นคว้าจากที่ใด โดยให้เขียนเป็นแผนการศึกษาหาความรู้ และนำเสนอหน้าชั้น ซึ่งผลจากการวางแผนทำให้เห็นว่า นักเรียนจะไปค้นคว้าจากแหล่งใด ใครรับผิดชอบ และกรอบเวลาเท่าใด รวมทั้งการจัดทำสรุปความรู้ในรูปแบบแผ่นพับ รายงาน เป็นต้น
2. ผลจากพูดคุยกับนักเรียน จากการพูดคุยกับนักเรียน ทำให้เห็นว่า นักเรียนสะท้อนว่า นักเรียนมีความกล้าแสดงออกมากขึ้น ได้มีส่วนร่วมมากขึ้น ได้เรียนรู้การตั้งคำถามได้ชัดเจนยิ่งขึ้น และนักเรียนมีผลงานจากการเรียนรู้และรางวัลจากการประกวดด้วย  
3. ผลจากพูดคุยกับคณะครูและผู้บริหารโรงเรียน ทราบว่า โรงเรียนมีโครงการพัฒนา และกิจกรรมที่โดดเด่นหลากหลาย มีครูแบ่งรับผิดชอบเป็นเจ้าภาพในแต่ละงาน ที่ผ่านมามุ่งเน้นการพัฒนาที่ครูแกนนำ ครูแกนนำได้ดำเนินการภาคเรียนละ 2 หน่วยการเรียนรู้ มีศึกษานิเทศก์ให้การช่วยเหลือใกล้ชิด อย่างสม่ำเสมอ และผู้บริหารโรงเรียนได้ให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ ซึ่งในปีการศึกษาต่อไป ผู้บริหารโรงเรียนและคณะครูจะขยายผลให้นักเรียนเรียนรู้ด้วยกระบวนการวิจัยทั้งโรงเรียน

4. การสะท้อนคิดของทีมติดตามผล ขอยกข้อความที่ได้บันทึกไว้ในสมุดนิเทศวันที่ 27 กุมภาพันธ์ มานำเสนอ ดังนี้
            “วันนี้ข้าพเจ้า นายพิทักษ์ โสตถยาคม นักวิชาการศึกษา สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา สพฐ. กระทรวงศึกษาธิการ ได้มาพร้อมกับ อ.วิไล แสงเหมือนขวัญ และ อ.วงเดือน โปธิปัน มาติดตามผลการใช้กระบวนการวิจัยในการเรียนรู้ของนักเรียนโรงเรียนบ้านพวงพะยอม สพป.พะเยา เขต 2 ว่า นักเรียนในโรงเรียนโดยเฉพาะห้องเรียนของครูแกนนำ มีพฤติกรรมการเรียนรู้เปลี่ยนแปลงไปสู่ “การเรียนรู้ด้วยตนเอง” โดยมีครูคอยให้คำชี้แนะ กระตุ้น ส่งเสริมให้มีโอกาสได้ใช้กระบวนการวิจัยบ่อยครั้ง เป็นประจำหรือไม่
            กิจกรรมการติดตามครั้งนี้ ได้ร่วมพูดคุยชี้แจงเป้าหมายเจตนาในการมานิเทศติดตามครั้งนี้ว่า มาเพื่อร่วมชื่นชมสิ่งดีๆ ที่ครูแกนนำ ผู้บริหาร และคณะครูทำอยู่ ได้เข้าสังเกตการสอนคุณครูรุ่งนภา บุญวงศ์ สอนวิทยาศาสตร์ ชั้น ม.2 ได้เห็นความมุ่งมั่นตั้งใจจัดการเรียนรู้ให้ลูกศิษย์ของคุณครู ได้เห็นการสอนที่เปี่ยมด้วยความเชื่อมั่นในตนเองของครู ได้เห็นความพยายามสร้างสรรค์กิจกรรมการเรียนรู้ให้เด็กๆ สามารถทำได้-ได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมอย่างดี เห็นถึงแนวโน้มที่ดีที่จะพัฒนาต่อเนื่อง จนสามารถเป็นแบบอย่างดีๆ ให้ครูอื่นๆ ได้เรียนรู้ด้วยได้อย่างดี นอกจากนั้น ได้สัมภาษณ์ผู้บริหาร ครู และนักเรียน ให้ทุกฝ่ายได้สะท้อนผลการดำเนินการจัดการเรียนรู้ พบว่า ครู ผู้บริหารเป็นบุคคลที่เปิดกว้างที่พร้อมรับแนวคิด และเชื่อมโยงให้เข้ากับการปฏิบัติของตนเองได้อย่างน่าชื่นชม และสุดท้าย ได้ร่วมพูดคุยสะท้อนผลจากสิ่งที่ได้พบ ได้ฟังเสียงของผู้บริหารและคณะครูส่วนใหญ่ของโรงเรียน
คณะของเราได้ชี้ประเด็นให้ผู้เข้าร่วมประชุมเห็นชัดขึ้นว่า สิ่งดีๆ ที่โรงเรียนมีอยู่อย่างมากในสภาพจริงที่เป็นอยู่นี้ หากสามารถนำมาวิเคราะห์ความเหมือน ความต่างของ “เป้าหมาย” ที่ผู้เรียนจะได้รับจากกิจกรรมโครงการต่างๆ ที่โรงเรียนทำอยู่ ก็จะเห็นหัวใจสำคัญคือ การปรับเปลี่ยนกระบวนการเรียนรู้ของผู้เรียนให้เป็นผู้สร้างความรู้ได้ด้วยตนเองให้ได้ โดยครูเป็นผู้เอื้อ-เกื้อหนุน และจัดประสบการณ์การเรียนรู้ให้นักเรียนได้เกิดความกระหายใคร่รู้ เกิดแรงบันดาลใจที่จะแสวงหาความรู้อย่างต่อเนื่อง หากจูนความคิดของครูและบุคลากรของโรงเรียนให้เห็นดีในแนวทางนี้ร่วมกัน เชื่อเหลือเกินว่า การจะมุ่งยกระดับผลสัมฤทธิ์ที่ยังไม่พึงประสงค์นัก จากผลการประเมิน สมศ. รอบ 2 น่าจะได้รับการยกระดับได้ไม่ยากนัก และจะเป็นการร่วมแรงร่วมใจของผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน
ประเด็นที่เห็นในเวลาจำกัด หากครูและผู้บริหารจะนำไปพิจารณาไตร่ตรองว่า ควรประยุกต์ให้นักเรียนใช้กระบวนการวิจัยไปสู่การดำเนินการของโรงเรียนได้อย่างไร ก็อาจจะมีประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณภาพ โดยพิจารณาประเด็นต่อไปนี้ ได้แก่ (1) ทำทั้งโรงเรียน (2) ทำทุกกิจกรรม-เชื่อมโยงกับสิ่งต่างๆ ที่โรงเรียนมีอยู่ (3) ทำจากฐานเดิมที่ครูคุ้นเคย (4) ทุ่มเทยกระดับผลสัมฤทธิ์จากผล สมศ. รอบ 2 (5) ทำให้ครบวงจร 4 ขั้นตอนวิจัย ให้ฝังอยู่ในสมองเด็ก เน้นจุดประกายให้เด็กอยากค้นคว้า (6) ทำอย่างบูรณาการ เช่น วิทย์ ม.2 และภาษาไทย ม.2 จะบูรณาการกันอย่างไร เช่น กรณีนักเรียนเขียนรายงานผล (7) ควรตั้งทีมพูดคุยปรึกษาหารือกันอย่างต่อเนื่อง (8) ทรีตเม้นท์ – อยากให้ดำเนินการด้วยความตั้งใจ ให้มั่นใจว่า ผลที่เกิดขึ้นมาจากสิ่งที่เรามุ่งจัดกระทำให้เกิดนั้นจริงๆ และ (9) ทำมุ่งเน้นที่เด็ก ให้ครูเรียนรู้คู่ขนานไปพร้อมกับเด็ก ทั้ง 9 ประเด็นนี้ หลายประเด็นโรงเรียนทำได้ดีอยู่แล้ว จึงขอเชียร์ให้ร่วมกันคิดวิพากษ์ ทบทวนสิ่งที่ทำอยู่ให้ดียิ่งๆ ขึ้นต่อไป ขอเป็นกำลังใจให้ และขอบคุณที่ได้การต้อนรับอย่างดียิ่ง”

.................................................

เรียนรู้ด้วยวิจัย: โรงเรียนทองสวัสดิ์วิทยาคาร จ.แม่ฮ่องสอน

โรงเรียนทองสวัสดิ์วิทยาคาร: เชื่อมโยงจากโครงงานสู่วัฒนธรรมวิจัย

พิทักษ์ โสตถยาคม

โรงเรียนทองสวัสดิ์วิทยาคารเป็นโรงเรียนที่จัดการศึกษาภาคบังคับ เปิดสอนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 – มัธยมศึกษาปีที่ 3 ตั้งอยู่หมู่ที่ 2 ตำบลแม่สะเรียง อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน  อยู่ห่างจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาแม่ฮ่องสอน เขต 2 ระยะทาง 350 เมตร ปีการศึกษา 2555 นี้มีนักเรียน 548 คน มีครู 55 คน  นายจำลอง ศรีสวัสดิ์ เป็นผู้อำนวยการโรงเรียนและนายณรงค์ศักดิ์ ศรีเมือง เป็นรองผู้อำนวยการโรงเรียน
เมื่อแรกเข้าร่วมโครงการในปี 2554 มีครูจินดา วงศ์เทพ และครูวารุณี ธรรมขันธ์ เป็นครูแกนนำ ปัจจุบันครูครูจินดาเกษียณอายุราชการและครูวารุณีย้ายโรงเรียน ดังนั้น ผู้บริหารโรงเรียนจึงมอบหมายให้ครูเขมรักษ์ กุมารสิทธิ์ หัวหน้ากลุ่มบริหารงานวิชาการเป็นแกนนำร่วมกับครูแกนนำอื่นๆ อีก 15 คน ซึ่งครูแกนนำชุดใหม่นี้ได้ร่วมกันสานต่อในการส่งเสริมให้นักเรียนใช้กระบวนการวิจัยในการเรียนรู้ มีศึกษานิเทศก์สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาแม่ฮ่องสอน เขต 2 คือ นายสมคิด ศรีธร เป็นพี่เลี้ยงให้การสนับสนุน ในการลงพื้นที่ติดตามผลการส่งเสริมให้นักเรียนใช้กระบวนการวิจัยของโรงเรียนทองสวัสดิ์วิทยาคาร ในวันอังคารที่ 26 กุมภาพันธ์ 2556  มีคณะติดตาม 3 คน ประกอบด้วย อ.วิไล แสงเหมือนขวัญ อ.วงเดือน โปธิปัน และผม ได้พบสภาพการดำเนินงาน ดังนี้

1. การสังเกตการสอน ห้องเรียนชั้น ป.1 มีนักเรียน จำนวน 18 คน เป็นชาย 8 คน หญิง 10 คน มีคุณครูปทิมจันทร์ ปันนะ เป็นครูผู้สอน เรื่องที่สอนวันนี้เป็นเรื่อง สัญลักษณ์และเครื่องหมายที่พบเห็นในชีวิตประจำวัน กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ชั่วโมงการสอนนี้เป็นชั่วโมงที่ 4 จาก 6 ชั่วโมงตามที่กำหนดไว้ในแผนการจัดการเรียนรู้ แผนการจัดการเรียนรู้นี้มีจุดประสงค์การเรียนรู้ 3 ประการคือ (1) นักเรียนบอกความหมายของคำว่าสัญลักษณ์หรือเครื่องหมายได้ถูกต้อง (2) นักเรียนรู้จักและบอกความหมายของสัญลักษณ์หรือเครื่องหมายต่างๆ ที่พบเห็นในชีวิตประจำวันและสัญลักษณ์หรือเครื่องหมายแสดงความปลอดภัยและแสดงอันตรายได้ และ(3) นักเรียนปฏิบัติตามสัญลักษณ์หรือเครื่องหมายที่กำหนดได้ถูกต้อง กิจกรรมการจัดการเรียนรู้ ประกอบด้วย ครูให้นักเรียนแต่ละกลุ่ม ทั้ง 3 กลุ่ม ออกมานำเสนอป้ายสัญลักษณ์และเครื่องหมายต่างๆ คนละป้ายพร้อมทั้งบอกด้วยว่าป้ายนั้นๆ เป็นป้ายอะไร กลุ่มแรกนำเสนอป้ายสัญลักษณ์ที่พบเห็นบริเวณอาคารสถานที่  กลุ่มที่สองนำเสนอป้ายที่พบเห็นตามท้องถนน และกลุ่มที่สามนำเสนอป้ายที่พบเห็นบนห่อสินค้า เมื่อนำเสนอหน้าชั้นครบถ้วน ครูถามให้นักเรียนทบทวนว่า แต่ละกลุ่มไปค้นคว้าหาความรู้เหล่านี้มาจากที่ใด นักเรียนแต่ละกลุ่มบอกว่าไปถามครูบ้าง ไปค้นจากอินเทอร์เน็ตบ้าง สังเกตตามท้องถนนและสินค้าต่างๆบ้าง จากนั้นครูให้นักเรียนตอบว่าเมื่อนักเรียนได้เรียนรู้เรื่องสัญลักษณ์ต่างๆ แล้ว  นักเรียนจะนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างไร เช่น เครื่องหมายห้ามสูบบุหรี่ นักเรียนตอบว่าห้ามสูบบุหรี่ครับ ถ้าสูบอาจจะจับเราได้, เครื่องหมายห้ามรถผ่าน นักเรียนตอบว่า ถ้าขับและไม่หยุดอาจเกิดอุบัติเหตุได้ เป็นต้น และสุดท้ายครูย้ำว่า ต้องนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน
หลังจากนั้น ครูให้นักเรียนแต่ละกลุ่มคิดเครื่องหมายขึ้นมาใหม่ ไม่ให้ซ้ำกับที่นำเสนอไปแล้ว และให้เวลานักเรียนคิดร่วมกัน 2 นาที นักเรียนรวมกลุ่มคิด จากนั้นแต่ละกลุ่มนำเสนอป้ายที่คิดได้ คือ กลุ่มที่หนึ่งป้ายห้ามตัดต้นไม้เพราะให้อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมธรรมชาติให้อยู่กับเรานานๆ กลุ่มที่สองป้ายห้ามจับปลาเพราะจะได้มีความอุดมสมบูรณ์ และกลุ่มที่สามห้ามทิ้งขยะเรี่ยราดเพราะจะไม่สกปรกและไม่มีกลิ่นเหม็น สุดท้ายครูให้นักเรียนแต่ละกลุ่มดำเนินการทำป้ายตามที่ได้ระบุไว้ และเตรียมเขียนตามคำบอกในวันต่อไป จากคำที่นักเรียนได้ฝึกอ่านสัญลักษณ์และเครื่องหมายกันในวันนี้
2. การสัมภาษณ์ครู ครูบอกว่าส่วนดีที่เห็นในวันนี้คือ นักเรียนร่วมกิจกรรมได้ดี เป็นการจัดกิจกรรมให้นักเรียนได้มีส่วนร่วมและร่วมแสดงความคิดเห็น ส่วนที่ยังต้องปรับปรุง ได้แก่ (1) สื่อยังไม่เหมาะกับนักเรียน และเป็นสื่อที่มีขนาดเล็ก การนำเสนอสื่อถือโอนเอน และเป็นสื่อที่ครูเป็นผู้ทำขึ้นเอง (2) ควรมีการถามต่อและไม่นิ่งเฉยกับคำถามของนักเรียน (3) ยังไม่ได้ให้นักเรียนตรวจสอบคำตอบ (4) ขั้นให้นักเรียนตั้งคำถามเป็นขั้นที่ยากและต้องใช้เวลา นอกจากนั้นยังบอกว่าครูได้รับการสนับสนุนจากผู้บริหารโรงเรียนที่ดี อาทิ สนับสนุนงบประมาณพานักเรียนไปแหล่งเรียนรู้ ให้เบิกสื่อได้ตามความต้องการจำเป็น 
3. การประชุมกลุ่มผู้บริหารและครูแกนนำ ผอ.จำลอง ศรีสวัสดิ์ ได้เล่าให้ฟังว่า หลังจากได้รับหลักการมาดำเนินการก็มีความเชื่อมั่นในทีมงานแกนนำ มีการสร้างความตระหนักให้กับคณะครูเพื่อส่งเสริมให้เด็กวิจัย คิดและหาคำตอบ แต่ไม่สามารถดำเนินการได้เต็มร้อย เพราะมีนโยบายหลายงานเข้ามากระทบ อาทิ งานศิลปหัตถกรรม, กระตุ้นผลสัมฤทธิ์ (จัดสรรงบให้มาติว O-NET 40 บาท/คน) สิ่งที่ได้สนับสนุนพัฒนาครู ได้แก่ การอบรมวิจัยให้กับครู มีการจัดเวลาให้ครูนิเทศ (ครูหัวหน้าสายชั้น/ ครูวิชาการสายชั้น) มากขึ้น มีการสนับสนุนงบประมาณส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ ไม่น้อยกว่า 70% ของงบพัฒนา เพื่อให้นำไปจัดซื้อสื่อและพานักเรียนไปเรียนรู้แหล่งเรียนรู้ สนับสนุนแหล่งเรียนรู้ด้าน ICT/ Internet และจัดหาหนังสือเข้าห้องสมุด สนับสนุนให้ครูไปศึกษาดูงานนอกสถานที่ รวมทั้งการให้คำปรึกษาด้านวิชาการให้กับครูใหม่โดยรองผู้อำนวยการโรงเรียน สิ่งที่พบว่ายังต้องปรับปรุงพัฒนาคือ ครูยังไม่เชื่อมั่นนักที่จะให้เด็กได้คิดค้นหาคำตอบเอง การดำเนินการยังติดขัด ผู้บริหารโรงเรียนวิเคราะห์ว่าสาเหตุมาจากการที่ครูขาดการยอมรับตนเองและผู้ที่มาให้การนิเทศ (ครูวิชาการ/ ผู้บริหารโรงเรียน) ซึ่งก็เป็นปัญหาเช่นเดียวกันกับกรณี พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ระบุให้ครูทำวิจัยในชั้นเรียน แต่ครูก็ยังไม่สามารถทำได้ แม้จะพยายามแต่สุดท้ายกลับเข้าสู่วัฒนธรรมการทำงานเดิมที่คุ้นเคย สิ่งที่ต้องการเพิ่มเติมเพื่อการพัฒนาครูคือ ต้องการผู้มานิเทศช่วยเหลือ ชี้แนะให้ครูเกิดความเชื่อมั่นที่จะดำเนินการ
นอกจากนั้น คณะครูได้ช่วยกันพิจารณาว่า “โรงเรียนมีกิจกรรมอะไรที่ทำอยู่เดิม ที่เป็นกิจกรรมที่ช่วยให้เด็กๆ ได้แสดงพลัง ได้คิด” ก็พบว่า โรงเรียนมีโครงงาน ทั้งโครงงานวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ มีกิจกรรมที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญที่ให้เด็กได้ตั้งคำถาม เริ่มจากสิ่งที่อยากรู้และแสวงหาความรู้เอง นอกจากนั้นยังมีโครงงานของ ป.4-6 และม.ต้น ปีละประมาณ 10 โครงงานต่อห้องเรียน กิจกรรมชุมนุม และกิจกรรมการเรียนรู้ในวิชาเพิ่มเติม จากนั้น ศน.สมคิด ศรีธร ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการนิเทศว่า ศึกษานิเทศก์ของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาแม่ฮ่องสอน เขต 2 มีน้อย (7 คน) สิ่งที่ได้ช่วยสนับสนุนพัฒนาโรงเรียนภายหลังจากที่ได้คัดเลือกโรงเรียนร่วมโครงการแล้ว ได้มีการประชุมครูพัฒนาข้อเสนอโครงการ นำครูเข้าร่วมประชุมเขียนแผน แต่ก็มีความสับสนในส่วนของการระบุว่า จะต้องเขียนแผนการสอนให้มี 4 ขั้นตอน ส่วนการนิเทศทำได้เพียง 2-3 ครั้ง
4. การสะท้อนคิดของทีมติดตามผล
จากการสังเกตการสอนครูผู้สอนชั้น ป.1 ได้เห็นความมุ่งมั่นตั้งใจในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ของครู ได้เห็นความกล้าแสดงออก & ร่วมมือในการเรียนรู้ของเด็กๆ เป็นที่น่าชื่นชมมาก และจากการพูดคุยกับครูและผู้บริหารได้เห็นถึงความตั้งใจของคณะครูที่มุ่งหวังให้ลูกศิษย์ได้เรียนรู้ที่ดีขึ้น ได้เห็นว่า โรงเรียนมีต้นทุนที่ดีมาก ที่ครูทำอยู่ ทั้ง “โครงงาน” “การเรียนรู้ผู้เรียนเป็นสำคัญ” “กิจกรรมให้เด็กเรียนรู้เอง” ซึ่งสามารถนำมาเชื่อมโยง ต่อยอดกับโครงการสร้างวัฒนธรรมการวิจัยได้อย่างดี
มีข้อเสนอแนะเพิ่มเติมให้โรงเรียนสร้างระบบนิเทศภายใน ให้ตั้ง “กลุ่มครูพูดคุยกัน” รวมทั้งการนำมาตรฐาน ตัวชี้วัดมาวิเคราะห์ร่วมกัน และหลอมรวม บูรณาการ และร่วมกันจัดการเรียนรู้ ให้เด็กบรรลุมาตรฐาน- ไม่สอนตามแบบเรียนสำนักพิมพ์เท่านั้น สิ่งที่จะเป็นความมั่นใจให้ครูว่าแนวทางที่ดำเนินการถูกต้องหรือไม่ ก็คือ การร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน มาวิเคราะห์ มาวิพากษ์ร่วมกัน และให้ตกผลึกเป็นความเข้าใจร่วมกัน แล้วสิ่งที่ตกลงกันนั้น จะเป็นคำตอบว่าอะไรถูก/ อะไรดีที่สุดสำหรับโรงเรียน
------------------------------------------

Coaching and Mentoring: ระบบพัฒนาการคิดของครู

Coaching and Mentoring: ระบบพัฒนาการคิดของครู
พิทักษ์ โสตถยาคม
ภาคเรียนที่ผ่านมา (เมษายน-สิงหาคม ๒๕๕๖) ผมได้รับโอกาสร่วมเป็นโค้ชกับทีมโค้ชของคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในโครงการพัฒนาครูโดยใช้กระบวนการสร้างระบบการชี้แนะและการเป็นพี่เลี้ยง (Coaching and Mentoring)  ตามความร่วมมือระหว่างสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) โดยสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต ๔๒ กับคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อให้ครู ผู้บริหารโรงเรียน และศึกษานิเทศก์ มีความสามารถในการพัฒนาคุณภาพงานในหน้าที่ ไปสู่การยกระดับคุณภาพการเรียนรู้ของนักเรียน  รูปแบบการพัฒนาเน้น On the job training และให้มีระบบสนับสนุนแบบ Coaching & Mentoring  เพื่อส่งเสริมจิตวิญญาณ อุดมการณ์ของความเป็นครู และการพัฒนาผู้เรียนให้มีความรู้ความสามารถด้าน Literacy, Numeracy, Reasoning Ability และ ๕ Steps ในการจัดการเรียนรู้ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช ๒๕๕๑
ผมรับผิดชอบเป็นตัวช่วยเสริมสร้างระบบการชี้แนะและการเป็นพี่เลี้ยงของโรงเรียน จำนวน ๒ แห่ง จากโรงเรียนกลุ่มเป้าหมายการพัฒนาทั้งสิ้น จำนวน ๑๖ แห่ง ของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต ๔๒ โรงเรียนหนึ่งเป็นโรงเรียนมัธยมศึกษาขนาดใหญ่ มีนักเรียนประมาณ ๒,๔๐๐ คน อีกโรงเรียนหนึ่งเป็นโรงเรียนมัธยมศึกษาขนาดกลางที่มีนักเรียนประมาณ  ๙๐๐ คน มีครู ผู้บริหารโรงเรียน และศึกษานิเทศก์ที่เกี่ยวข้องกับ ๒ โรงเรียน เรียนรู้ไปด้วยกัน จำนวน ๑๒ คน กิจกรรมที่ผมเข้าไปร่วม workshop ๒ วัน ในช่วงเริ่มต้นโครงการ (๑-๒ พ.ค. ๒๕๕๖) ไปนิเทศติดตามด้วยระบบสนับสนุนแบบ Coaching & Mentoring  จำนวน ๒ ครั้ง (๑๔ มิ.ย. และ ๑๗ ก.ค. ๒๕๕๖) ระหว่างนั้น ผมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้เข้าร่วมโครงการทั้ง ๒ โรงเรียน ผ่านเว็บไซต์ชุมชนแห่งการเรียนรู้เพื่อพัฒนาวิชาชีพครู (Educational Professional Learning Community) http://www.edu-prof.net/ พิจารณาแผนการจัดการเรียนรู้ และบล็อกการเรียนรู้ของผู้เข้าร่วมโครงการ

สิ่งสำคัญที่ผมได้เรียนรู้หลักของการโค้ชจากหัวหน้าโค้ช (รศ.ดร.สิริพันธุ์ สุวรรณมรรคา) ก็คือ โค้ชจะไม่ทำ ๓ อย่างคือ (๑) ไม่สั่ง (๒) ไม่สอน (๓) ไม่บอกคำตอบ และจะทำ ๓ อย่างคือ (๑) ให้กำลังใจ (๒) ชวนคิด และ(๓) เชียร์ทำ เมื่อผมได้ลงพื้นที่ไปนิเทศติดตามโรงเรียนที่รับผิดชอบ ๒ โรงเรียน ด้วยระบบสนับสนุนแบบ Coaching & Mentoring  ก็มุ่งเน้น “การเสริมสร้างพลังอำนาจของชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพครู” ให้เกิดพลังความคิดที่ได้จากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน เมื่อโค้ชยึดมั่นในหลักการไม่ทำ ๓ อย่าง และจะทำ ๓ อย่างนั้นแล้ว ระบบและกระบวนการโค้ชจึงช่วยกระตุ้นให้ครูได้คิด ได้ไตร่ตรองค้นคว้าหาคำตอบ หรือตั้งสมมติฐานเพื่อพิสูจน์ในโอกาสต่อไป ต่อไปนี้เป็นบทสนทนาที่ผมได้พูดคุยกับครูรายบุคคล ขณะลงพื้นที่ไปโค้ชผู้เข้าร่วมโครงการ จำนวน ๑๒ คน เป็นครั้งแรก ในวันที่ ๑๔ มิถุนายน ๒๕๕๖

. ผอ.
เราพบ ผอ.ในเช้าวันพฤหัสบดีที่ ๑๔ มิ.ย. เวลาประมาณ ๐๘.๒๐ น. ณ ห้องทำงานของ ผอ. ขณะที่ทีมโค้ชไปถึงโรงเรียนก่อนหน้านั้นประมาณ ๒๐ นาที ผอ.บอกว่า เช้านี้เข้าไปติดต่องานที่สำนักงานเขตก่อนที่จะเดินทางมาโรงเรียนจึงมาช้าหน่อย แล้วสอบถามถึงการสถานที่พักแรมของทีมโค้ช จากนั้น ผอ.ก็นั่งอ่านงานต่างๆ ที่อยู่บนโต๊ะ ขณะนั้น ผมได้ยินรอง ผอ.ประกาศเสียงตามสายของโรงเรียนเชิญครูตามรายชื่อที่ประกาศให้มาร่วมประชุมที่ห้องประชุมใกล้ห้อง ผอ. จากนั้นเวลา ๐๘.๔๕ น. เราได้รับแจ้งว่าคุณครูทุกท่านมาพร้อมแล้ว และเชิญทีมเราไปที่ห้องประชุม ผอ.กล่าวสั้นๆ ช่วงเริ่มประชุมว่า พร้อมรับคำแนะนำจากทีมโค้ช ผมจึงตั้งคำถามเริ่มต้นคุย ดังนี้

โค้ช: ขอให้ท่าน ผอ.เล่าว่าที่ผ่านมาเป็นอย่างไรบ้าง
ผอ.: ได้กระตุ้นรองฯ และครู ถามว่าทำถึงไหนแล้ว และติดตาม
รอง ผอ.: ขอเสริมท่าน ผอ. หลังจากกลับมาก็มีการประชุมที่ห้องนี้ มีการดู VDO lesson study และตอบ blog

หลังจากที่ ผอ.นั่งรับฟังการสนทนาระหว่างโค้ชและครู ตั้งแต่ ๐๘.๔๕-๑๑.๐๐ น. ผอ.กล่าวในตอนท้ายของการประชุมว่า... วันนี้เข้าใจมากขึ้น แล้ววงจร ๒ จะดีขึ้นมาก ที่ผ่านมาทำแบบหลวมๆ จากนี้ ผอ.ก็จะเข้ามาศึกษาข้อมูล (โครงการ) ให้มากขึ้นนอกจากนั้นยังเห็นประโยชน์ของโครงการนี้ที่ ผอ.มองว่าเป็นเรื่องเดียวกันกับ IS (Independent Study) ที่ต้องดำเนินการในฐานะโรงเรียนมาตรฐานสากล

สะท้อนคิดกรณี ผอ.
แรกๆ ผอ.ดูเฉยๆ ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินงานโครงการน้อยมาก ส่วนใหญ่จะมอบให้รองฯ และครูดำเนินการกันไป ซึ่งแสดงถึงการมีส่วนร่วมในเชิงความคิด และการนำองค์กรยังไม่มากนัก หลังจากผ่านไป ๒ ชั่วโมงของการสนทนาพูดคุย ผอ.ได้สะท้อนความคิดว่า ผอ.มีความเข้าใจมากขึ้น และตั้งใจจะศึกษาลงลึกเกี่ยวกับโครงการให้มากขึ้น จะจัดทำแผนและดำเนินการให้กระชับและมีโฟกัสมากขึ้น
ผมรู้สึกพึงพอใจที่เห็นความคิด ความเข้าใจของ ผอ.เช่นนี้ แต่มีประเด็นหนึ่งคือ ผอ.ยังไม่มีคู่บัดดี้ (ร.ร.นี้มีผู้เข้าร่วมโครงการ ๙ คน จับคู่ได้ ๔ คู่ เหลือ ผอ.หนึ่งคน) ดังนั้น อาจขอให้ ศน.ประจำโรงเรียนมาเป็นคู่บัดดี้ร่วมเรียนรู้กับท่าน ผอ.

. รอง ผอ.
รอง ผอ.เป็นรองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการของโรงเรียน ได้เล่าให้ทีมโค้ชฟังว่า หลังจากกลับมาก็มีการประชุมที่ห้องนี้ มีการดู VDO lesson study และตอบ blog ส่วนคู่บัดดี้ของรอง ผอ.คือ ครูคนที่ ๙ ครูผู้สอนภาษาไทย ครูคนที่ ๙ บอกว่า ท่านรองฯมีภาระงานเยอะ แต่ก็จะช่วยให้คำแนะนำได้ และรองฯ ก็ชื่นชมครูคนที่ ๙ ว่าเป็นครูดีที่ได้รับเลือกให้เป็นครูประกายเพชร (ได้ยินว่าเกี่ยวข้องกับทีวีไกลกังวล) ซึ่งรองฯ ไม่ห่วงอยู่แล้ว

โค้ชมองว่า เมื่อครูมีคู่บัดดี้และพูดคุยกันเกี่ยวกับ ความสามารถในการสอนใน ๔ จุดเน้น ซึ่งรองฯ ก็สามารถช่วยครูคนที่ ๙ ในเรื่องนี้ได้ แล้วครูคนที่ ๙ จะช่วยรองฯในประเด็นใด เพราะคู่บัดดี้ต้องมีทั้ง give & take ผมจึงตั้งคำถามกับรองฯ ดังนี้

โค้ช: ถ้าครูดูกันที่ความสามารถในการสอน แล้วกรณีรองฯล่ะจะดูประเด็นใด
รอง ผอ.: การสนับสนุนครู
โค้ช: นั่นแสดงว่า รองฯช่วยครูคนที่ ๙ ในเรื่องความสามารถในการสอน และครูคนที่ ๙ ช่วยรองฯในเรื่อง ความสามารถในการสนับสนุน นิเทศช่วยเหลือครู ดังนั้น ในการทำงานของคู่บัดดี้คู่นี้ รองฯก็จะได้ทำหน้าที่นิเทศช่วยเหลือครู โดยมีครูคนที่ ๙ เป็นกรณีศึกษา ให้รองฯ ได้ทดลองใช้วิธีการสนับสนุนต่างๆ และดูผลที่เกิดขึ้น และครูคนที่ ๙ จะเป็นกระจกสะท้อนการทำหน้าที่นี้ของรองฯ ให้ดียิ่งขึ้น

สะท้อนคิดกรณีรอง ผอ.
ผมรับรู้ได้ว่าท่านรองฯ มองเห็นเป้าหมายการทำงานร่วมกันของคู่บัดดี้ชัดเจนขึ้น มีประเด็นที่จะมุ่งเน้นเกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ของรองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ ที่ต้องนิเทศ สนับสนุนส่งเสริมครู คาดหวังว่าพบกันครั้งหน้า จะมีผลการทำงานร่วมกันของรองฯ และครูคนที่ ๙ มานำเสนอให้ได้ชื่นชมกัน

. ครูคนที่ ๑ 
ครูคนที่ ๑ เป็นครูคณิตศาสตร์และหัวหน้ากลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ ซึ่งเป็นที่พึ่งทางวิชาการให้กับครูในกลุ่มสาระ ครูเล่าให้ฟังว่า ได้สอนร่วมกันกับครูคนที่ ๒ คู่บัดดี้มาร่วม ๓ ปีแล้ว โดยปีแรกครูคนที่ ๑ เป็นผู้สอนและครูคนที่ ๒ เป็นผู้นั่งอยู่หลังห้อง ทำหน้าที่สังเกต บันทึกรายละเอียดการสอน GSP (Geometer’s Sketchpad) ของครูคนที่ ๑ ปีต่อมาครูคนที่ ๒ ทำหน้าที่สอนหน้าชั้นบ้าง และครูคนที่ ๑ จะนั่งอยู่หลังห้องสังเกต และคอยช่วยเสริมเติมเต็มการสอนของครูคนที่ ๒ ซึ่งในระหว่างการสนทนานี้ ครูคนที่ ๒ ก็ขอบคุณฝ่ายบริหารที่ให้โอกาสเรียนรู้จากครูคนที่ ๑ ทั้งๆ ที่จำนวนหน่วยกิตวิชานี้น้อยมาก (๐.๕ หน่วยกิต) แต่ใช้ครูถึง ๒ คน

ครูคนที่ ๑ ได้เล่าถึงการทำงานร่วมกันของคู่บัดดี้ว่า ได้ช่วยให้คำแนะนำอยู่เสมอ อาทิ เมื่อสังเกตเห็นครูคนที่ ๒ สอนสามเหลี่ยมโดยนำไม้มาประกอบการสอน จึงแนะว่าให้ใช้ GSP มาสอนเพราะ GSP มีเครื่องมือของโปรแกรมที่เอื้อให้นักเรียนได้เข้าใจได้ง่ายขึ้น

สิ่งที่ครูคนที่ ๑ สะท้อนเกี่ยวกับการใช้ ๕ steps ว่า ส่วนใหญ่ครูคนที่ ๑ จะใช้ขั้นที่ ๑-๔ เป็นปกติไม่มีปัญหา แต่คิดว่าจะมีปัญหาในขั้นที่ ๕ การบริการสังคม จะสอนอย่างไร

ครูคนที่ ๑ บอกว่า ตอนสมัครเข้าร่วมโครงการไม่ทราบว่าจะต้องมาจับคู่บัดดี้ และมีกิจกรรมติดตามต่อเนื่อง มิฉะนั้นจะมอบหมายให้ครูรุ่นใหม่เข้าร่วมอบรม เพราะขณะนี้ภาระงานของโรงเรียนค่อนข้างหนัก ครูกลุ่มสาระคณิตศาสตร์ต้องกระจายตัวไปรับผิดชอบช่วยงานโรงเรียนฝ่ายต่างๆ และกลุ่มสาระคณิตศาสตร์ยังต้องทำคลังข้อสอบมาตรฐานในลักษณะข้อสอบ O-NET ด้วย ซึ่งบุคลากรที่ต้องทำก็เป็นชุดเดียวกัน

สะท้อนคิดกรณีครูคนที่ ๑ 
การทำงานร่วมกันระหว่างคู่บัดดี้น่าจะราบรื่น เพราะได้ดำเนินการแบบ team teaching มาก่อนหน้านี้

ต่อจากนี้ก็คงจะได้เจาะลึก และพูดคุยกันมากขึ้นในจุดเน้นของโครงการ ๔ เรื่อง จากคำถามที่ไม่ทราบว่าจะทำอย่างไร และหนักใจในขั้นที่ ๕ เมื่อจบจากวงเสวนาผมรู้สึกได้ว่าความหนักใจเปลี่ยนเป็นความเข้าใจและเห็นแนวทางการประยุกต์ใช้ในการทำงานร่วมกันของคู่บัดดี้

ในฐานะโค้ชไม่รู้สึกหนักใจเลย เพราะครูคนที่ ๑ เป็นครูที่มีศักยภาพสูง เป็นที่พึ่งของโรงเรียน และเป็นตัวอย่างให้กับครูอื่นๆ เสมอมา

. ครูคนที่ ๒ 
ครูคนที่ ๒ เป็นครูผู้สอนคณิตศาสตร์รุ่นใหม่ของโรงเรียน สอนชั้น ม.๑ ในรายวิชาคณิตศาสตร์เพิ่มเติม จากคำบอกเล่าของครู ทำให้รับรู้ได้ว่า คุณครูคนที่ ๒ เป็นคนที่เปิดรับ เรียนรู้จากครูคนที่ ๑ มาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการจัดการเรียนรู้โดยใช้ GSP ดังนั้น การทำงานร่วมกันกับคู่บัดดี้คือ ครูคนที่ ๑ จึงไม่น่าเป็นห่วง เพราะสอนคู่กัน พูดคุยปรึกษากันมาตลอด ๓ ปี

ครูคนที่ ๒ ได้บอกถึงความลำบากหากจะต้องใช้ ๕ steps โดยเฉพาะขั้นที่ ๕ ในบางเรื่อง อาทิ ลำดับอนุกรม และได้เล่าให้ฟังว่า การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนใน ๑ ชั่วโมง จะสามารถสอนได้เพียง ๓ ขั้นแรกเท่านั้น จึงต้องให้นักเรียนไปทำอีก ๒ ขั้น นอกเวลาเรียน ดังนั้น หากจะสอนทั้ง ๕ ขั้นให้ครบ น่าจะใช้เวลาสักชั่วโมงครึ่ง และมีคำถามว่า จำเป็นต้องสอน ๕ steps ทุกแผนหรือไม่ หรือต้องให้นักเรียนทำขั้นที่ ๕ ทุกแผนหรือไม่ ผมจึงชวนคุย ดังนี้
โค้ช: (โยนคำถามนี้เข้าไปในวงสนทนา) กลับไปที่ประเด็นที่ครูคนที่ ๘ ได้เปิดประเด็นไว้เรื่องทุกแผนไม่ทุกแผน ตรงนั้นได้ความคิดอย่างไรครับ
ครูคนที่ ๘ : ไม่จำเป็นต้องทุกแผน เห็นว่าควรเป็นหน่วยการเรียนรู้
โค้ช: ซึ่งครูคนที่ ๒ ก็คงได้เห็นทางเลือกว่า จะใช้ ๕ steps อย่างไร ก็ขอให้ลองพิจารณาดู
โค้ช: คราวนี้ลองมาพิจารณาการเรียนรู้ในขั้นที่ ๕ การบริการชุมชนสังคม พี่ๆ คิดว่า คำว่า ชุมชนในที่นี้คืออะไร ชุมชนที่เล็กที่สุดมีขนาดเท่าไร และชุมชนที่ใหญ่ที่สุดมีขนาดเท่าไร ยกตัวอย่างว่า ผม ครูคนที่ ๑ และ ผอ. เราสามคนนี้รวมตัวกันถือเป็นชุมชนไหม แล้วชุมชนมีกี่ขนาดและระดับครับ
ครู: ในห้องเรียน
ครู: ในโรงเรียน
ครู: คนในครอบครัวของเขา
ครู: ในหมู่บ้าน
ครู: เว็บไซต์ โลก
โค้ช: จากคำตอบของพี่ๆ แสดงว่า เราเห็นมิติของชุมชนแบบใหญ่สุดคือ สังคมโลก และค่อยๆ เล็กลงเป็น โรงเรียน ห้องเรียน หรือแม้แต่ครอบครัวตนเอง ดังนั้น เวลาเราจะให้นักเรียนเรียนรู้ขั้นที่ ๕ เราก็สามารถให้นักเรียนพิจารณาเลือกได้ และพี่ๆ คิดว่าจะเลือกอย่างไรครับ
ครู: ดูธรรมชาติของเรื่องที่เรียนว่า จะใช้ชุมชนระดับใด

สะท้อนคิดกรณีครูคนที่ ๒ 
แรกๆ สังเกตเห็นความกังวลในการให้นักเรียนเรียนรู้ขั้นที่ ๕ แต่เมื่อได้ฟัง ได้คิด ในการร่วมเสวนากันใน ๒ ชั่วโมงนี้แล้ว ครูน่าจะเข้าใจว่าขั้นที่ ๕ นำความรู้ไปสู่การบริการชุมชนสังคมเป็นอย่างไร

นั่นแสดงว่า ครูรู้ว่าชุมชนมีหลายระดับ และเป็นการเรียนรู้-ได้คำตอบจากการพูดคุย-ไตร่ตรองตอบคำถาม ซึ่งไม่เพียงครูคนที่ ๒ เท่านั้นที่เห็นแนวทาง ยังช่วยให้ครูอื่นๆ ได้รู้เห็นเช่นนั้นไปด้วย

. ครูคนที่ ๓ 
ครูคนที่ ๓ เป็นครูผู้สอนภาษาอังกฤษ ชั้น ม.๔ และเป็นหัวหน้ากลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาอังกฤษ จับคู่บัดดี้กับครูคนที่ ๔ ซึ่งเป็นครูผู้สอนภาษาอังกฤษ เป็น ผอ.ศูนย์ ERIC ของโรงเรียน

ครูคนที่ ๓ เล่าถึงการทำงานร่วมกันกับคู่บัดดี้ว่า ได้แอบดู แอบได้ยินเสียงจากการสอนของครูคนที่ ๔ เพราะสอนห้องเรียนติดกัน ได้รู้ว่าครูคนที่ ๔ สอนให้นักเรียนนำเสนองานแบบคู่บ้าง แบบกลุ่มบ้าง แต่แผนการสอนที่จะใช้เป็นสื่อกลางเพื่อการพูดคุยกัน ขณะนี้อยู่ระหว่างการเขียนแผนและส่งให้กันดู

สำหรับสัมพันธภาพระหว่างคู่บัดดี้ ครูคนที่ ๔ ซึ่งเป็นคู่บัดดี้ของครูคนที่ ๓ เล่าให้ฟังว่า ครูคนที่ ๓ เป็นเพื่อนที่สนิทกัน ครั้งที่ไปเข้า workshop ก็ได้นอนห้องเดียวกัน ดีใจที่ได้มีโอกาสทำงานร่วมกันอีกครั้งก่อนเกษียณ นอกจากนั้น ลูกของครูคนที่ ๓ ก็เป็นลูกศิษย์ปัจจุบันของครูคนที่ ๔ ด้วย

สะท้อนคิดกรณีครูคนที่ ๓ 
ผมยังไม่ได้ทราบความเข้าใจและสภาพการปฏิบัติของครูคนที่ ๓ นัก จากการสังเกตคำบอกเล่าของครูคนที่ ๓ ทำให้เห็นว่า ครูทั้งสองยังไม่ได้สังเกตกันอย่างเป็นจริงเป็นจัง ดูได้จากการ แอบดู แอบได้ยิน

สังเกตเห็นว่าครูคนที่ ๓ จะนิ่งๆ และพูดน้อย แต่เมื่อจบการสนทนาพูดคุยครั้งนี้เห็นว่าครูคนที่ ๓ มีความผ่อนคลายมากขึ้น

ซึ่งผมคาดหวังว่า ครูคนที่ ๓ จะมีความเข้าใจในจุดเน้น ๔ เรื่อง เช่นเดียวกับครูท่านอื่นๆ และการทำงานร่วมกันกับบัดดี้คงจะมีการตระเตรียมให้การทำงานร่วมกันได้รัดกุมมากยิ่งขึ้น

. ครูคนที่ ๔ 
ครูคนที่ ๔ เป็นครูสอนภาษาอังกฤษและหัวหน้าศูนย์ ERIC ของโรงเรียน กำลังจะจบปริญญาเอก ได้เล่าให้ฟังว่า ครูสอนนักเรียนโดยเน้นอ่านเขียน ซึ่งตรงกับ literacy การสอนจะเน้นเรื่องใกล้ตัว และแผนเป็นแบบ ๕ steps แต่ก็มีอุปสรรคในขั้นที่ ๕ ที่จะมุ่งให้เด็กอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ครูคนที่ ๔ ให้ความสนใจความแตกต่างระหว่างบุคคล โดยให้นักเรียนทำ self study progress ซึ่งจะเห็น literacy และ reasoning ability และเห็น leadership ของเด็กชัดเจน

ครูคนที่ ๔ : ขอถามว่าจะเอาขั้นที่ ๕ ขึ้นก่อนได้หรือไม่ และตนเองสนใจจะเปรียบเทียบ ๒ แบบ แบบแรกเป็นการจัดการเรียนการสอนแบบเรียงขั้นที่ ๑-๕ และแบบที่ ๒ จะเรียงเริ่มจากขั้นที่ ๕ ก่อน
โค้ช: น่าสนใจมากเลยที่พี่คิดจะเปรียบเทียบ ๒ แบบ ก่อนจะเริ่มต้นลองพิจารณาว่า แต่ละแบบเป็นอย่างไร หากเป็นกระบวนการเดิมจะเริ่มต้นที่ step -๕ ก็แสดงว่า ขั้นที่ ๑-๔ นักเรียนจะเริ่มด้วยคำถามและหาคำตอบ จนได้ความรู้ความเข้าใจชุดหนึ่งขึ้นมา ด้วยตัวของเขาเอง แล้วนักเรียนจึงนำความรู้ที่ได้นั้น ไปเผยแพร่สู่ชุมชนและสังคม คราวนี้เมื่อพี่จะเริ่มต้นด้วยขั้นที่ ๕ คำถามคือ นักเรียนจะนำความรู้ลักษณะใดไปสู่ชุมชน ไปเผยแพร่ หรือบริการสังคม จะเป็นความรู้ที่สดใหม่ ที่ได้จากการสรุปของเด็กเอง หรือเป็นความรู้ที่มีอยู่แล้วในตำรา หรือที่ปรากฏในหนังสือ ตรงนี้ก็อยากฝากไว้ให้เป็นประเด็นเพื่อพิจารณา อย่างไรก็ตาม ผมก็สนับสนุนและเชียร์ให้พี่ลองนำ ๒ แบบนี้ไปลองปฏิบัติพิสูจน์ดู
ครูคนที่ ๔ : พี่ได้โพสต์เข้าไปในเว็บไซต์แล้ว แต่ไม่เห็นมีใครตอบกลับเลย
โค้ช: ตอบกลับมาแล้วครับ ในเรื่อง learning to question ที่พี่มีคำถามอยู่ ๕ ข้อ ใช่ไหมครับ (ครูคนที่ ๔ พยักหน้า) ผมเขียนไปว่า น่าสนใจมาก และมีคำถามถามพี่ไว้ในเว็บว่า คำถามทั้ง ๕ ข้อที่เขียนไว้นั้น ใครเป็นคนตั้งคำถาม ครูหรือนักเรียน ...เมื่อลองพิจารณาจุดเน้นในโครงการนี้ทั้ง Literacy, Numeracy, Reasoning Ability และ ๕ steps เราต้องการให้ใครเป็นผู้แสดงออกซึ่งความสามารถเหล่านี้
ครู: นักเรียน
โค้ช: แสดงว่า ขั้นต่างๆ ของ ๕ steps นักเรียนจะเป็นผู้ทำพฤติกรรมนั้น ดังนั้น ผู้ตั้งคำถามในขั้นที่ ๑ ก็คือ
ครู: นักเรียน
โค้ช: นั่นคือ ครูไม่ใช่เป็นผู้ตั้งคำถามหลักเพื่อการเรียนรู้ของนักเรียน แต่ครูจะเป็นผู้ถามคำถามเพื่อกระตุ้น หรือ build อารมณ์ให้นักเรียนเกิดคำถาม และกระหายใคร่รู้ ในประเด็นคำถามที่จะเกิดขึ้นจากเด็ก คำถามนี้ต้อง ออกมาจากปากของเด็กเด็กจะเป็นผู้พูดเอง

ในช่วงพูดคุยหลังรับประทานอาหารกลางวัน ครูคนที่ ๔ บอกกับผมว่า พี่รู้แล้ว พี่จะเปลี่ยนจากที่พี่ตั้งคำถาม ๕ ข้อนั้น เป็นจะให้เด็กคิดคำถามของเขากันเอง จากภาพที่พี่นำมาให้ดู

สะท้อนคิดกรณีครูคนที่ ๔ 
ผมรู้สึกดีมากเลยกับคำบอกเล่าจากปากครูคนที่ ๔ ที่บอกว่า จะปรับเปลี่ยนวิธีการจัดการเรียนรู้ของตนเองใหม่ เป็นให้เด็กตั้งคำถามเอง ผมถือว่าเป็น เสียงสวรรค์แสดงความเข้าใจใน ๕ steps ของครูคนที่ ๔ ที่น่าพึงพอใจมาก ส่วนความเข้าใจเรื่องอื่นๆ ไม่น่าห่วงนัก อาทิ บทเรียนเรื่องต่อไปเด็กจะได้เรียนเรื่อง Numeracy

ในการทำงานร่วมกับบัดดี้ก็น่าติดตาม เพราะการแสดงออกให้เห็นถึงความเชื่อมั่นในกันและกันของครูทั้งสอง ประกอบกับความเข้าใจเรื่องต่างๆ ในช่วงตั้งวงคุยกันครั้งนี้น่าจะทำให้มีผลการปฏิบัติที่น่าสนใจ

. ครูคนที่ ๕ 
ครูคนที่ ๕ ในวัย ๕๒ ปี สอนสังคมศึกษาระดับชั้น ม.๖ วันนี้ครูเล่าให้ฟังว่า ได้สอนนักเรียนไปเรียบร้อยแล้วเมื่อคาบที่ ๔ เรื่อง การประกันภัยรถ (การทำ พ.ร.บ.) ให้นักเรียนรู้กฎหมายที่เกี่ยวกับ พ.ร.บ. ให้รู้ว่าใครควรเป็นผู้ทำ พ.ร.บ. และตั้งใจจะให้เด็กนำความรู้ที่ได้เรียนนี้ไปเผยแพร่ให้ผู้ปกครอง ซึ่งในขั้นตอนการสอนจะถามนักเรียนว่าขี่มอเตอร์ไซด์ไหม มี พ.ร.บ.ไหม ถ้าประสบอุบัติเหตุจะทำอย่างไร แล้วถามนักเรียนว่าใครเคยประสบอุบัติเหตุบ้าง ถ้าไปโรงพยาบาลต้องจ่ายเงินเองไหม พบว่ามีเด็กบางคนเคยประสบอุบัติเหตุต้องไปโรงพยาบาลและต้องจ่ายเงินเอง ครูจึงบอกไปว่า ทำไมไม่เบิก จากนั้นถามว่า ใครรู้จัก พ.ร.บ.บ้าง รู้ไหมว่าทำไมจึงทำ แล้วให้เด็กตอบคำถาม ชี้ชวนให้เห็นว่า พ.ร.บ.สำคัญ สุดท้ายได้ให้นักเรียนอ่านเอกสารประกอบการเรียน เรื่อง พ.ร.บ. และให้นักเรียนทำแบบฝึกหัดโดยให้วิเคราะห์กรณีศึกษา ๒๐ ข้อ และให้พิจารณาว่าใครจะเป็นผู้ต้องทำ พ.ร.บ.

ครูคนที่ ๕ บอกว่าชั่วโมงแรกสอนได้ ๓ ขั้น ครูจะถามๆ นักเรียนก็จะใช้เหตุผลมาคุยกัน ให้ศึกษาเอกสารและสรุป ส่วนชั่วโมงที่ ๒-๓ จะให้เรียนรู้ต่อไปว่า ทำ พ.ร.บ.แล้วได้อะไร และจะเรียกร้องสินไหมทดแทนอย่างไร รวมทั้งจะให้เรียนขั้นที่ ๔-๕ โดยให้นำเสนอความรู้ต่อชุมชน

ครูคนที่ ๕ พูดถึงลักษณะการสอนของตนเองว่า เป็นการสอนโดยตั้งคำถามในลักษณะ ชอนไชไปถึงไส้ส่วนการทำงานกับบัดดี้ก็บอกว่า โชคดีที่เป็นคู่บัดดี้ที่คุยกันได้ตลอดอยู่แล้ว เมื่อได้ฟังครูคนที่ ๕ เล่าให้ฟัง ผมชวนคุยดังนี้
โค้ช: ใครเป็นผู้ตั้งคำถาม
ครูคนที่ ๕ : ครู
โค้ช: กระบวนการเรียนรู้ ๕ steps นั้น ตั้งแต่ตั้งคำถามในขั้นที่ ๑ จนถึงขั้นที่ ๕ learning to service เจตนาเขาจะให้เป็นการแสดงออกของใคร
ครูคนที่ ๕ : นักเรียน
โค้ช: แล้วเด็กที่เรียนวันนี้จะได้ฝึกตั้งคำถามช่วงไหนบ้าง
ครูคนที่ ๕ : เมื่อครูถามนักเรียน นักเรียนก็จะสงสัย และเกิดมีคำถามขึ้นในใจ
โค้ช: เราจะรู้ว่าเด็กเกิดคำถามขึ้น หรือตั้งคำถามได้แล้วนั้น จะทำให้เห็นอย่างชัดเจนขึ้นได้อย่างไร
ครูคนที่ ๕ : ให้เขียน
โค้ช: การเขียนจะทำให้เราได้หลักฐานเชิงประจักษ์ และสามารถตรวจสอบได้อย่างดีเลยว่า เด็กตั้งคำถามได้ดีเพียงใด
ครูคนที่ ๕ : จะทำเพียง ๑ ห้องเรียนได้หรือไม่
โค้ช: พี่คิดว่า ๑ ห้องเรียนกับทุกห้องเรียนจะแตกต่างกันอย่างไร
ครูคนที่ ๕ : จำนวนนักเรียนจะเยอะเกินไป พี่คิดว่าการทำงานของเราเป็นแบบวิจัยปฏิบัติการ ครูต้องใส่ใจเด็กมากๆ
โค้ช: แล้วพี่คิดว่า กี่ห้องจึงจะทำได้ดี
ครูคนที่ ๕ : ๑ ห้องเรียน

สะท้อนคิดกรณีครูคนที่ ๕ 
บุคลิกลักษณะของครูคนที่ ๕ เป็นผู้เรียนรู้เร็ว และเป็นผู้กระตุ้นการเรียนรู้ของนักเรียนด้วยคำถามที่ดีมาก สถานการณ์ที่นำมาให้นักเรียนได้เรียนรู้ก็เป็นเรื่องสำคัญจำเป็นใกล้ตัว

ครูคนที่ ๕ มีวิธีการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการเรียนรู้ของเด็กในชั้นเรียนด้วยการบันทึกพฤติกรรมที่โดดเด่นของนักเรียน ตอนหลังครูเห็นเองว่า การเก็บข้อมูลที่พบตามธรรมชาติ อาจไม่ครบถ้วน เพียงพอ ต่อการตอบว่าประเด็นที่เป็นจุดเน้นดีขึ้นหรือไม่เพียงใด ครูจึงคิดว่าจะปรับระบบการเก็บข้อมูลสภาพเริ่มต้นของนักเรียนแบบใหม่ ซึ่งผมคิดว่านี่เป็นนิมิตหมายที่ดีมาก

. ครูคนที่ ๖ 
ครูคนที่ ๖ ในวัย ๕๐ ปี สอนสังคมศึกษาระดับชั้น ม.๔/๑ เมื่อเริ่มพูดคุยครูได้เล่าให้ฟังว่าได้ใช้ ๕ steps เป็นพื้นฐานในการสอนอยู่แล้ว การทำงานระหว่างคู่บัดดี้ได้เอาแผนการสอนมาดูกัน มาคุยกัน แต่ยังไม่ได้สังเกตการสอน ตั้งใจว่าจะสังเกตในสัปดาห์หน้า

ครูบอกสภาพปัจจุบันของนักเรียนว่า นักเรียนยังไม่พร้อมในส่วนของการให้เหตุผล ก็ได้คุยกับคู่บัดดี้ว่า จะหาวิธีการช่วยให้เด็กคิดให้ได้ และสะท้อนการจัดการเรียนการสอนของตนเองว่า เป็นคนใจร้อน ชอบบอกเฉลยคำตอบให้นักเรียน นอกจากนั้น ครูมีความสนใจในโครงงานคุณธรรมเป็นพิเศษ นักเรียนทุกคนจะได้ทำโครงงานคุณธรรม ปีการศึกษาละ ๑ เรื่อง และถ้าใครทำได้ดีจะส่งเข้าประกวดระดับชาติ

แผนการสอนของครูคนที่ ๖ ที่เตรียมไว้เป็นเรื่องโครงสร้างทางสังคม จำนวน ๒ ชั่วโมง เริ่มต้นด้วยครูตั้งประเด็นจากภาพครอบครัวและกลุ่มคน ครูถามนักเรียนว่า ภาพนี้เชื่อมโยงกับโครงสร้างทางสังคมอย่างไร ให้นักเรียนช่วยกันสรุปประเด็น จากนั้นให้นักเรียนศึกษาค้นคว้าตามที่ครูกำหนด อาทิ โครงสร้างทางสังคมคืออะไร ประกอบด้วยอะไรบ้าง ลักษณะเป็นอย่างไร ฯ ซึ่งให้เด็กไปค้นเป็นกลุ่ม บันทึก และสรุปเป็นผังความคิด ส่วนชั่วโมงที่ ๒ จะให้ส่งตัวแทนกลุ่มไปนำเสนอให้เพื่อนฟัง จากนั้นก็ช่วยกันสรุป และนำไปจัดป้ายนิเทศที่บอร์ดหน้าห้องเรียน
โค้ช: ในการเรียนรู้เรื่องนี้ นักเรียนจะได้ตั้งคำถามในช่วงใดบ้าง
ครูคนที่ ๖ : ในช่วงที่ฟังเพื่อนนำเสนอ พี่จะให้เพื่อนนักเรียนถามผู้นำเสนอ มิฉะนั้นก็จะให้ผู้นำเสนอเป็นผู้ถามเพื่อน
โค้ช: ถ้าพิจารณา ๕ steps ขั้นการตั้งคำถามจะอยู่ช่วงใด
ครูคนที่ ๖ : ขั้นแรก
โค้ช: ทำไมจึงอยู่ขั้นแรก
ครูคนที่ ๖ : คงจะให้เด็ก เอ๊ะ!เอง คล้ายกับที่เคยทำในโครงการ SEET เลย

สะท้อนคิดกรณีครูคนที่ ๖ 
ครูคนที่ ๖ ได้เห็นความเชื่อมโยงของการให้เด็กสงสัย และ เอ๊ะ!เอง จากการทำงานโครงการ SEET ทำให้การเดินหน้าต่อไปน่าจะราบรื่นยิ่งขึ้น จุดที่ครูคุ้นเคยจากการสอนโครงงานคุณธรรมน่าจะทำให้กระบวนการพาเด็กเรียนรู้ ๕ steps เป็นไปอย่างมั่นใจ สิ่งที่ครูเห็นเองแล้วว่า ตนเองเป็นครูที่อยากบอกความรู้ให้เด็ก แทนที่จะให้เด็กได้คิด และเรียนรู้ผ่านประสบการณ์การเรียนรู้ของตนเอง ตรงจุดนี้เป็นสิ่งที่ท้าทายครูคนที่ ๖ มากๆ ในการปรับเปลี่ยนตนเอง และใช้โอกาสการเข้าร่วมโครงการนี้ ฝึกฝนตนเอง

ในช่วงที่ครูบอกว่า ได้ให้เด็กตั้งคำถามจากช่วงที่เพื่อนนำเสนอ ผมก็น่าจะใช้โอกาสนี้ชี้ให้เห็นว่า จะเริ่มต้นวงจรการเรียนรู้ ๕ steps จากจุดนี้ก็ได้ เด็กๆ จะได้ประเด็นที่ค้างคาใจ อยากเรียนรู้ต่อ แล้วครูจึงให้นักเรียนใช้เป็นโจทย์การสืบค้นจนได้ข้อสรุปที่ลึกซึ้งขึ้น จนนำไปสู่ขั้นที่ ๕ ได้อย่างดี

. ครูคนที่ ๗ 
ครูคนที่ ๗ เป็นครูผู้สอนวิทยาศาสตร์ ชั้น ม.๒ และครั้งนี้เจาะจงสนใจห้อง ม.๒/๕ ระหว่างการสนทนาคุณครูได้เปิดเอกสารวิเคราะห์เปรียบเทียบความเหมือนของ ๕E กับ ๕ steps โดยระบุว่าแต่ละขั้นตรงกันอย่างไร ครูคนที่ ๗ ได้เขียนแผนการสอนเสร็จและส่งให้บัดดี้ดูแล้ว แต่บัดดี้ยังไม่ได้ให้ข้อเสนอแนะกลับมา ซึ่งครูคนที่ ๗ ก็บอกว่าได้สอดแทรกจุดเน้นของโครงการไว้อย่างครอบคลุม
โค้ช: เราจะรู้ได้อย่างไรว่า สิ่งที่เรามุ่งเน้นนั้นเกิดขึ้นในตัวเด็กแล้ว หรือเราจะรู้ได้อย่างไรว่าเด็กแต่ละคนมีสภาพเริ่มต้นก่อนพัฒนาระดับใด
ครูคนที่ ๗ : ใช้การทดสอบก่อนเรียนและหลังเรียน
โค้ช: ใช้แบบทดสอบดูเหมือนจะเหมาะกับการวัดประเมินเนื้อหาสาระความรู้จากบทเรียน เราจะดูจากอย่างอื่นได้อีกไหม
ครูคนที่ ๗ : ก็ใช้ rubrics ซึ่งในเอกสารคู่มือการสอนและหลักสูตรจะมี rubrics ให้ดูเป็นแนวทางอยู่แล้ว
โค้ช: ถ้าใช้ rubrics ในการเก็บข้อมูลจุดเน้นตามโครงการของเราจริงๆ แล้วโรงเรียนของเราจะใช้ rubrics กี่ระดับ
ผอ.: ส่วนใหญ่จะใช้ ๔ ระดับนะ
โค้ช: ทั้งโรงเรียนจะใช้ ๔ ระดับ ดังที่ ผอ.เสนอนี้เลยหรือไม่ เช่น อาจมีระดับดีมาก ดี พอใช้ และปรับปรุง หรือจะให้ครูแต่ละคู่บัดดี้ไปออกแบบกันเอง ...เอาเป็นว่าขอให้พี่ๆ ลองไปพูดคุยพิจารณาและตกลงกัน หากได้ข้อสรุปอย่างไร ขอให้ส่งไปให้เรารู้ด้วยทาง edu-prof.net
โค้ช: ผมขอแชร์วิธีการจัดทำ rubrics เพื่อเขียนคำอธิบายว่าแต่ละระดับของ rubrics จะเขียนอย่างไร ขอให้ลองพิจารณาตัวอย่างนี้ สมมติว่า ครูตรวจผลงานการเขียนของนักเรียนในห้อง เราต้องการแบ่งระดับคุณภาพออกเป็น ๔ ระดับ เราก็นำตะกร้ามา ๔ ใบ เรียงตะกร้าดีมาก ดี พอใช้ ปรับปรุง จากนั้นก็เริ่มอ่านผลงานนักเรียนที่ละชิ้น ก็จะจำแนก (โยน) ลงแต่ละตะกร้าได้ เมื่ออ่านและแบ่งกลุ่มผลงานออกเป็น ๔ กองแล้ว ก็นำผลงานนักเรียนแต่ละกองมาพิจารณาลักษณะร่วม แล้วเขียนลักษณะสำคัญของผลงานกองนั้นๆ เป็นคำอธิบายคุณภาพของแต่ละระดับนั้น หากเราทำเช่นนี้ เราก็จะมีระดับคุณภาพที่เป็นภาษาของเราเอง และเมื่อเราจะนำไปใช้จริงในอนาคต เราก็จะเข้าใจได้ง่าย สามารถจำแนกผลงานนักเรียนได้จริง
ครูคนที่ ๗ : ในเรื่อง Numeracy คิดว่ามีระดับคุณภาพอยู่แล้ว ซึ่งสามารถนำมาใช้ได้เลย

ครูคนที่ ๗ บอกว่า ได้เข้าไปดูในเว็บไซต์ชุมชนแห่งการเรียนรู้ ไปดูการตอบคำถามของโค้ชจุฬาฯ ก็พบว่า โค้ชจะไม่บอกคำตอบเลย และสะท้อนความคิดว่า หลังจากพูดคุยกันวันนี้ก็ช่วยให้ได้เข้าใจมากยิ่งขึ้น

สะท้อนคิดกรณีครูคนที่ ๗ 
ครูคนที่ ๗ เป็นครูที่ active มาก ได้เข้าเว็บไปเรียนรู้วิธีการโค้ช และได้ข้อสรุปว่า โค้ชจะไม่บอกคำตอบ จะต้องพิจารณาและตัดสินใจเอง ดังนั้น จึงทำให้การสนทนากันวันนี้ ครูคนที่ ๗ จะจับทิศทางการชี้แนะของโค้ชได้ว่า จะต้องเป็นผู้คิดกันเอง

จากที่เห็นครูคนที่ ๗ วิเคราะห์ ๕E กับ ๕ steps ก็แสดงให้เห็นว่าเป็นผู้มีกระบวนการคิดไตร่ตรอง เชื่อมโยงจากฐานเดิมที่ตนเองคุ้นเคยอยู่ นับว่า เป็นกรณีที่น่าสนใจที่น่าคาดหวังได้ว่า ผลการปฏิบัติของครูคนที่ ๗ จะโดดเด่นทีเดียว

๑๐. ครูคนที่ ๘ 
ครูคนที่ ๘ เป็นครูผู้สอนวิทยาศาสตร์ชั้น ม.๔/๑ เป็นคู่บัดดี้กับครูคนที่ ๗ ครูคนที่ ๘ เริ่มต้นเสวนาด้วยคำถามว่าจะวัดประเมินความซื่อสัตย์ ความรับผิดชอบ ความใฝ่ดีอย่างไรรวมทั้งคำถามว่า ขั้นที่ ๕ และ ๕ steps จำเป็นต้องใช้ทุกแผนหรือไม่
โค้ช: ตามความคิดของพี่ พี่คิดว่า น่าจะเป็นอย่างไร ต้องทุกแผนหรือไม่
ครูคนที่ ๘ : น่าจะเป็นหน่วยการเรียนรู้มากกว่า อาจเป็น ๓-๔ ชั่วโมง
โค้ช: (หันไปถามพี่ๆ รอบวง) พี่ๆ คิดว่าใช้เป็นหน่วยได้ไหม
ครู: ได้
โค้ช: ถ้าเป็นเช่นนั้น พี่ก็ ลุยได้เลยครับ

สะท้อนคิดกรณีครูคนที่ ๘ 
จากคำบอกเล่าของครูคู่บัดดี้บอกว่า ครูคนที่ ๘ รับผิดชอบงานหลายอย่าง มีภาระงานมาก จึงทำให้ยังไม่ได้พิจารณาแผนการสอนที่ส่งให้ดู

จากการสังเกตจากคำถามของครูคนที่ ๘ ก็ทำให้คาดเดาได้ว่า ครูกำลังอยู่ระหว่างการเริ่มต้นเรียนรู้เพื่อลงมือทำ ดังนั้น จึงจะต้องใช้เวลาสักระยะในการทำความเข้าใจจุดเน้นต่างๆ ของโครงการร่วมกับคู่บัดดี้

๑๑. ครูคนที่ ๙ 
ครูคนที่ ๙ เป็นครูหัวหน้ากลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย สอนภาษาไทยชั้น ม.๖ เจาะจงห้องเรียน ม.๖/๑ ในโครงการนี้ เริ่มต้นพูดคุยด้วยการตัดพ้อว่า ได้ถูกให้จับคู่กับรอง ผอ. แต่ก็คิดว่าจะทำงานร่วมกันได้ราบรื่น

ครูคนที่ ๙ บอกว่า ได้ฟังอย่าง deep listening เห็นตลอดการสนทนาครั้งนี้ เป็นลักษณะครูเราถามเอง ตอบกันเอง ก็เกิดความเข้าใจ และรู้สึกสบายใจ ยิ่งรู้ว่า แผนการสอนที่จะใช้ในโครงการนี้ครูสามารถใช้แผนการสอนเดิมมาปรับเพิ่มได้ และโน้ตว่า ในแผนการสอนช่วงใดเน้นอะไร

ครูคนที่ ๙ เล่าให้ฟังว่า ตนเองยังไปไม่ถึง ๕ steps และยังไม่รู้จะใช้อย่างไร แต่ก็ happy มาก ที่อยู่ในบรรยากาศการพูดคุยเช่นนี้ ทำให้เข้าใจมากขึ้น นอกจากนั้นยังบอกว่า วิชาภาษาไทยเรื่องการอ่านการเขียนหรือ literacy จะมี ๓ แบบ คือ (๑) การอธิบาย (๒) การบรรยาย และ(๓) การพรรณนา ถ้าจะนำมาเน้นในโครงการนี้ก็จะเน้นที่การอธิบาย แล้วนักเรียนจะได้ใช้เหตุผลด้วย ในเรื่องการใช้เหตุผลก็เป็นบทเรียนโดยตรงของการเรียนระดับชั้น ม.๖ ตั้งใจจะให้นักเรียนได้วิเคราะห์ว่าอะไรเป็นโฆษณาชวนเชื่อ หรือเป็นโฆษณาธรรมดา
โค้ช: น่าสนใจมากเลย เรื่องการโฆษณาชวนเชื่อ ถ้ามีตัวอย่างโฆษณาชวนเชื่อหลายๆ ชิ้น หลายๆ ผลิตภัณฑ์ ให้นักเรียนพิจารณา จะเชื่อมกับขั้นแรกของ ๕ steps ได้หรือไม่
รูคนที่ ๙ : ขอบคุณมาก รู้แล้วว่าจะใช้เรื่องโฆษณาชวนเชื่อนี่แหละให้นักเรียนเรียนรู้ ๕ steps ได้เลย

สะท้อนคิดกรณีครูคนที่ ๙ 
จากการสังเกตและสนทนากับครูคนที่ ๙ เห็นว่าครูคนที่ ๙ จับประเด็นและเรียนรู้ได้รวดเร็วมาก มีความเข้าใจและเชื่อมโยงจุดเน้นของโครงการได้อย่างดี

คำพูดของครูคนที่ ๙ ทำให้ทีมโค้ชของเรารู้สึกดี เพราะสะท้อนว่า เราพยายามไม่บอก-ไม่สั่ง-ไม่สอน จากคำพูดของครูคนที่ ๙ ที่ว่า ครูเราถามกันเอง ตอบกันเองรวมทั้งความรู้สึกสบายใจของครูคนที่ ๙ ในการทำภารกิจในโครงการนี้

การทำงานร่วมกับบัดดี้ก็ไม่น่ามีปัญหา เพราะรอง ผอ.มีความรู้สึกชื่นชมในความเป็นครูคนที่ ๙ เห็นได้จากที่รองฯ เล่าให้ฟังว่า ครูคนที่ ๙ ได้รับรางวัลครูประกายเพชร และครูคนที่ ๙ ก็พร้อมรับการเติมเต็มจากรองฯ รวมทั้งพร้อมเป็นกระจกส่องสะท้อนการสนับสนุนช่วยเหลือจากรองฯ เช่นกัน

๑๒. ศน.
ศน. เป็นศึกษานิเทศก์ประจำโรงเรียน จำนวน ๒ โรงเรียนนี้ และเป็นโค้ชดูแลการเรียนรู้ของครูผู้บริหาร จำนวน ๒ โรงเรียน และศึกษานิเทศก์อีก ๒ คน ตลอดโครงการนี้

การลงภาคสนามครั้งนี้ ทีมโค้ชของเราแบ่งกันไปคนละสาย ซึ่งทำให้ ผมและ ศน.ไม่ได้ไปโรงเรียนเดียวกัน จึงมีข้อมูลการนิเทศของ ศน.ไม่มากนัก

หลังจากแต่ละสายของทีมโค้ชเสร็จภารกิจการไปโรงเรียนและเรามาพบกันในช่วงที่จะเดินทางกลับกรุงเทพฯ นี่คือบทสนทนาระหว่างเรา
ศน.: โรงเรียนทั้งสอง (ที่พี่เป็นศึกษานิเทศก์ประจำโรงเรียน) เป็นอย่างไรบ้าง
โค้ช: ครูเข้าใจว่า ๕ steps เป็นขั้นตอนการสอนของครู และครูเป็นผู้ทำบทบาทนั้นเอง ดังนั้น ครูก็จะเป็นผู้ตั้งคำถาม และนักเรียนเป็นผู้ตอบ
ศน.: เหรอ! (แสดงความตกใจ แล้วหันไปบอกสมาชิกทีมโค้ชทุกคนที่กำลังขึ้นรถตู้เตรียมเดินทางกลับ) เราน่าจะแลกเปลี่ยนเรียนรู้/ KM กันหน่อยไหม
โค้ช: (เห็นว่าจังหวะไม่เอื้ออำนวย-ฝนจะตก-จะต้องเดินทางไกล) เราแลกเปลี่ยนกันต่อในเว็บ เพราะจะต้องออกเดินทางแล้ว

สะท้อนคิดกรณี ศน.
จากการพูดคุยเกี่ยวกับข้อมูลครูของโรงเรียนที่ ศน.ดูแล เมื่อทราบจุดที่ควรพัฒนาของครูจากมุมมองของเราแล้ว ศน.ให้ความสนใจ และแสดงให้เห็นว่า ต้องการให้มีการตั้งวงคุยแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของโค้ชทั้งสองสาย เพื่อ share and learn ร่วมกัน และจะได้ไปช่วยครูในโอกาสต่อไป ทำให้ผมรู้สึกสบายใจ ที่เห็นความกระตือรือร้น และความสนใจใคร่รู้ในการเรียนรู้ของครู

ด้วยศักยภาพที่สูงมากของ ศน. ในบทบาทการทำหน้าที่ศึกษานิเทศก์ประจำโรงเรียนควบคู่กันไปกับการเป็นโค้ชของทีมโค้ช จุฬาฯ ทำให้ผมรู้สึกว่าโชคดีที่จะได้เรียนรู้จากศึกษานิเทศก์ที่เอาใจใส่ครู และการนิเทศช่วยเหลือครูจากการทำงานร่วมกันของเรา

ประเด็นที่จะปรึกษา ศน. ก็คือ เรื่องบัดดี้ของ ผอ. ว่าใครจะเป็นคู่เรียนรู้กับ ผอ. เพราะในโรงเรียนมีผู้เข้าร่วมโครงการ ๙ คน จับคู่กันแล้ว ๔ คู่ จึงเหลือ ๑ คน คือ ผอ. ที่ยังไม่มีคู่

จะเห็นว่า การสร้างระบบการชี้แนะและการเป็นพี่เลี้ยง (coaching & mentoring) ที่มุ่งให้ครู ผู้บริหาร และศึกษานิเทศก์จับคู่/ จับกลุ่มเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างเป็นระบบร่วมกัน ในจุดเน้นทั้ง ๔ เรื่องของ สพฐ. ได้แก่ Literacy Numeracy Reasoning ability และ 5 Steps และมีกระบวนการนิเทศติดตามอย่างจริงจัง ทั้งการลงพื้นที่เรียนรู้ในสถานที่และบริบทจริง และการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการสื่อสารมาเป็นเครื่องมือสำคัญที่คอยติดตามและเชื่อมโยงผลการปฏิบัติงานและเป็นการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกัน จุดสำคัญคือ การเช็คความเข้มแข็งของชุมชนการเรียนรู้ที่มีอยู่ในโรงเรียน เพราะถ้าระบบของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ภายในโรงเรียนดำรงอยู่ได้อย่างมีพลัง ก็จะทำให้สามารถหมุนเกลียวของการเรียนรู้จากการปฏิบัติเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพครู
---------------------------------------