หน้าเว็บ

วันเสาร์ที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2556

Leadership for Education Change: มุมมอง ศ.นพ.ประเวศ วะสี

Leadership for Education Change: มุมมอง ศ.นพ.ประเวศ วะสี

พิทักษ์  โสตถยาคม

หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับวันที่ ๒๗ สิงหาคม ๒๕๕๖ ได้ลงข้อมูลเกี่ยวกับโครงการผู้นำเพื่อการเปลี่ยนแปลงทางการศึกษา รุ่นที่ ๑ (Leadership for Education Change: LEC) ในคอลัมน์ข้าราษฎร หรือเรียกหลักสูตรนี้ว่า “นปศ.” เป็นโครงการความร่วมมือระหว่างสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (สป.ศธ.) กับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อพัฒนาผู้นำรุ่นใหม่ที่เน้นการนำแบบรวมหมู่ (Collective Leadership) กัลยาณมิตร และเครือข่าย ที่จะเป็นพลังร่วมเปลี่ยนแปลงการศึกษาให้ดีขึ้น กระบวนการพัฒนาตลอดหลักสูตรระยะยาวประมาณ ๒ ปี คาดว่าจะมี workshop ประมาณ ๖ ครั้ง ครั้งละ ๓ วัน จะเน้นการพัฒนาจากภายใน-วิสัยทัศน์ การใช้สติสนทนา การเติมเต็มโดยวิทยากร/ ผู้ทรงคุณวุฒิ และจะมีการทำ Project ทั้งแบบเดี่ยวและกลุ่ม ผู้เข้าร่วมหลักสูตรนี้มีทั้งสิ้น ๓๖ คน ผ่านการพิจารณาคัดเลือกจาก สสส. และ สป.ศธ. ในอัตราส่วนเท่าๆ กัน ดังนั้น ผู้เข้าร่วมโครงการจึงผสมผสานของบุคลากรภาครัฐและภาคเอกชน สำหรับข้าราชการ สพฐ. ส่วนกลาง ที่ได้รับการคัดเลือกจาก สสส. มี ๒ คน คือ น้องส้ม-กิตยาภรณ์ ประยูรพรหม (สวก.) และผม-พิทักษ์ โสตถยาคม (สนก.) ส่วนผู้ได้รับการคัดเลือกจาก สป.ศธ. จำนวน ๔ คน ได้แก่ พี่สังคม-สังคม จันทร์วิเศษ (สพร.) พี่เหว่า-ธัญนันท์ แก้วเกิด (สนก.) พี่ลำไย-ลำไย สนั่นรัมย์ (สทศ.) และพี่รัตน์-รัตนา แสงบัวเผื่อน (สวก.) ซึ่งเว็บไซต์โครงการ ดังนี้ >> http://lecleader.com/



workshop แรกของโครงการจัดขึ้น ในวันที่ ๒๘-๓๐ มิถุนายน ๒๕๕๖ ณ สถาบันพัฒนาครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา (สคบศ.) มีวิทยากรที่เป็นผู้นำทางความคิดของสังคมไทย จำนวน ๔ คน มากระตุก-กระตุ้นทางปัญญาของผู้เข้าร่วมโครงการ ประกอบด้วย ศ.นพ.ประเวศ วะสี คุณทิชา ณ นคร รศ.วิทยากร เชียงกูล และคุณปิยะบุตร ชลวิจารณ์ ในคราวนี้จะขอนำสาระที่ได้จาก ศ.นพ.ประเวศ วะสี มาแบ่งปัน ดังนี้


ศ.นพ.ประเวศ ได้กล่าวถึงการศึกษา ผู้นำ และการเปลี่ยนแปลงไว้ว่า
๑. การศึกษาสำคัญที่สุดและเป็นเรื่องใหญ่ของมนุษย์ มนุษย์เป็นสัตว์ที่มีศักยภาพในการเรียนรู้สูงสุด อย่างเช่น พระพุทธเจ้าพึ่งตนเองได้อย่างสิ้นเชิง
๒. ผู้นำต้องนำการเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่ลงมือทำด้วยตนเอง ผู้นำจึงต้องมีลักษณะสำคัญ ๓ ส่วนคือ (๑) มีจินตนาการใหญ่ ซึ่งเป็นจินตนาการที่มีพลังมาก ต้องไม่เอาความรู้นำ แต่ใช้จินตนาการนำ เช่น เจ้าชายสิทธัตถะมีจินตนาการก่อนจึงออกไปค้นหา หรือเคนเนดี้ของสหรัฐอเมริกาที่ประกาศในปี ๑๙๖๐ ว่า อเมริกาจะลงดวงจันทร์ใน ๑๐ ปี แล้วในปี ๑๙๖๙ อเมริกาก็สามารถทำได้สำเร็จ (๒) มีวิสัยทัศน์ ต้องมองโลกมองไทย อย่างเช่น มหาวิทยาลัยก็ต้องมีความเป็นผู้นำ วิสัยทัศน์ของมหาวิทยาลัยก็ต้องเชื่อมวิสัยทัศน์ของประเทศ โลกขณะนี้กำลังวิกฤตใหญ่ ทั้งอารยธรรม แนวคิด วิถีชีวิต สังคม ระบบเศรษฐกิจ กลุ่มผลประโยชน์ ซึ่งเป็นปัญหาซับซ้อนในหลายๆ ประเทศ เช่น ประเทศตะวันตกมีการแย่งชิง บริโภคตามใจ และการศึกษานำไปสู่การไม่มีงานทำ ดังนั้น การศึกษาจะต้องนำไปสู่การมีสัมมาชีพ (มีงานทำ) เอาตัวคนเป็นหลัก ไม่ใช่ GDP (๓) สร้างวิสัยทัศน์ร่วม จะต้อง share vision ต้องเป็นผู้นำด้านสื่อสาร เพราะ Great Leader = Great Communicator ทำให้เห็นส่วนรวม สุจริต ฉลาด สื่อสารได้รู้เรื่อง มีเสน่ห์คนอยากฟัง ฟังแล้วมีสุข เช่น พระพุทธเจ้าจะสื่อสารเพื่อสร้างแรงบันดาลใจ
๓. ผู้นำต้องพลิกการมอง ให้สุขภาวะ (กาย จิต สังคม ปัญญา) เป็นเป้าหมายของการพัฒนา สุขภาวะคือดุลยภาพ ต้องบูรณาการ เพราะระบบการศึกษาใหญ่มาก เป็น Ed. for All และ All for Ed. การศึกษารักษาทุกโรค และเป็นเครื่องมือพัฒนาคน ควรเป็นพลังของการพัฒนาชีวิตและสังคม แต่ปัจจุบันดูเหมือนติดกับอะไรบางอย่าง จึงจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนมุมมอง ไม่แยกส่วน เพราะการศึกษาที่แยกส่วน จะมีให้เห็นแบบลู่เรียนดิ่งเดี่ยวเป็นเส้นตรง เรียนจาก ป.๑ สู่มหาวิทยาลัย เป็นการไล่ต้อนเด็กให้มาท่องหนังสือ เป็นการทำจากยอดไม่ใช่จากฐาน การเรียนแบบเอาวิชาเป็นตัวตั้ง ไม่ได้เอาชีวิตเป็นตัวตั้ง จบแล้วไม่มีงานทำ ดังนั้น จึงควรพัฒนาแบบบูรณาการ เอาพื้นที่เป็นตัวตั้ง ลดความเหลื่อมล้ำ ไม่ใช่ใช้ “กรม” เป็นตัวตั้ง การใช้ชุมชน ท้องถิ่น จังหวัด ๘๐,๐๐๐ หมู่บ้าน ๘,๐๐๐ ตำบล เป็นรากฐานรองรับการพัฒนา
๔. ควรเน้นกระบวนการชุมชน มีการดำเนินการ ๕ ส่วน ได้แก่ (๑) สภาผู้นำชุมชน เป็น self-organize ไม่ได้เป็นการแต่งตั้งจากใคร ให้เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติ เป็นประชาธิปไตยชุมชน ไม่ต้องอาศัยการเลือกตั้ง เป็นประชาธิปไตยสมานฉันท์และประชาธิปไตยอรรถประโยชน์ ผู้นำที่เข้าสู่สภาผู้นำชุมชนจะมีทั้งครู ศิลปิน พระ ปราชญ์ชาวบ้าน ฯลฯ (๒) สำรวจข้อมูลชุมชน (๓) ทำแผนที่ชุมชน เพื่อพัฒนาอย่างบูรณาการในพื้นที่ (๔) นำเสนอให้สภาประชาชนได้ดูและพิจารณา (๕) คนทั้งชุมชนช่วยกันขับเคลื่อนแผนของชุมชน สำหรับเรื่องที่จะพัฒนาประกอบไปด้วยด้านเศรษฐกิจ ต้องสร้างสัมมาชีพให้เต็มพื้นที่ ไม่เบียดเบียนตนเอง ผู้อื่น สิ่งแวดล้อม ศีลธรรม ให้รายได้มากกว่ารายจ่าย ด้านจิตใจ ด้านสังคมปัญหาเด็กและเยาวชน ความยากจน ต้องใช้สัมมาชีพช่วย โดย อบต.เป็นเจ้าภาพ ด้านวัฒนธรรม ให้มีกิจกรรมชุมชนที่เป็นการเรียนรู้ข้ามวัย ให้เรียนรู้จากคนทุกคน ช่วยกันพัฒนาเติมเต็มเด็กและเยาวชน ด้านสุขภาพ เช่น หญิงตั้งครรภ์ควรได้ดื่มนมฟรีจากวัวที่ชุมชนเลี้ยงไว้ ด้านการศึกษาต้องเรียนรู้ร่วมกัน ไว้วางใจ เกิดความสุข สร้างสรรค์ ไม่กลัว ไม่ประเมินแบบ สมศ. และด้านประชาธิปไตย
๕. ทิศทางการพัฒนาประเทศจะเป็นแบบชุมชน ท้องถิ่น จังหวัดจัดการตนเอง จัดการคืออิทธิปัญญา นั่นคือ ปัญญาที่เชื่อมโยงสู่ความสำเร็จ ขณะนี้มีจังหวัด ประมาณ ๔๐ จังหวัด กำลังทำเรื่องนี้อยู่ ในการจัดการจะดำเนินการพัฒนาอย่างบูรณาการ มีการพัฒนานโยบาย ที่คนจะต้องรู้ และไม่มีผลประโยชน์
๖. ผู้นำการเปลี่ยนแปลงทางการศึกษาสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ควรเป็นผู้นำรวมหมู่ ลักษณะชุมชนจัดการตนเอง ท้องถิ่นจัดการตนเอง และจังหวัดจัดการตนเอง เป็นการร่วมจัดการศึกษาอย่างบูรณาการ เรียนรู้ร่วมกันในการปฏิบัติ (Interactive learning through action) สำหรับกระบวนทัศน์ใหม่หรือนวัตกรรมการศึกษาต้องเป็นการพัฒนาอย่างยั่งยืน เป็นมิตรกับสังคมและสิ่งแวดล้อม นวัตกรรมทางสังคม ดีกว่า นวัตกรรมทางเทคโนโลยี โจทย์สำคัญของการพัฒนาคือ อย่างไรจึงจะสมดุล ทำอย่างไรที่ดิน ๑ ไร่ จะพอกินพอใช้

สะท้อนคิด  workshop แรกนี้ เน้นกระบวนการสร้างการเปลี่ยนแปลงจากภายใน เริ่มต้นจากการเปลี่ยนที่ตนเองก่อน ก่อนที่จะไปนำคนอื่นให้เปลี่ยนแปลง ตลอด ๓ วันได้มีกิจกรรมฝึกสติ ให้รู้เท่าทันความคิด อารมณ์ จิตใจ ได้รับฟังแง่คิดของวิทยากรทำให้ได้มุมมองที่กว้างขึ้น และการได้เรียนรู้ประสบการณ์ของเพื่อนร่วมรุ่น ทำให้เห็นศักยภาพที่มีอยู่ในตัวของทุกคน และทุกคนก็มีพื้นที่ที่สามารถสร้างคุณค่าให้เกิดขึ้นในหน้าที่การงานอยู่แล้ว แต่การมาร่วมรุ่นกันครั้งนี้ ทำให้เรามองไปข้างหน้าเพื่อประสานความร่วมมือและทำงานร่วมกัน
-----------------------------------------