หน้าเว็บ

วันเสาร์ที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2556

National Test ป.๓: เน้นวัดความสามารถ LNR

National Test ป.๓: เน้นวัดความสามารถ LNR
พิทักษ์  โสตถยาคม

เมื่อพฤหัสบดีที่ ๘ สิงหาคม ๒๕๕๖ ผมร่วมประชุมคณะกรรมการการประเมินคุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐานเพื่อการประกันคุณภาพผู้เรียน ปีการศึกษา ๒๕๕๖ ณ อาคาร สพฐ.๔ ชั้น ๒ ตามการมอบหมายของที่ปรึกษา สพฐ. (นางพจมาน พงษ์ไพบูลย์) คณะกรรมการชุดนี้ มีรองเลขาธิการ กพฐ. เป็นประธาน ผู้อำนวยการสำนักทดสอบทางการศึกษาของ สพฐ. เป็นเลขานุการ นอกจากมีกรรมการจาก สพฐ.เองแล้ว ยังมีผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) สำนักการศึกษากรุงเทพมหานคร กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน และกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นด้วย



ผมขอยกอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ จำนวน ๔ ข้อ ที่ปรากฏอยู่ในคำสั่ง สพฐ.ที่ ๙๖๖/ ๒๕๕๖ เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการประเมินคุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐานเพื่อการประกันคุณภาพผู้เรียน ปีการศึกษา ๒๕๕๖ ดังแผนภาพ



ดร.ไพรวัลย์ พิทักษ์สาลี ผู้อำนวยการสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา ซึ่งได้รับมอบหมายจากรองเลขาธิการ กพฐ. (ดร.เบญจลักษณ์ น้ำฟ้า) ให้เป็นประธานการประชุมครั้งนี้ ได้ให้ที่ประชุมทราบถึงคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการชุดนี้ ผลการประเมินปีการศึกษา ๒๕๕๕ และการเตรียมสอบ O-NET ของนักเรียน ป.๖ และ ม.๓ รวมทั้งให้ที่ประชุมพิจารณาหาข้อสรุป ๒ เรื่อง ได้แก่ (๑) แนวทางการประเมินคุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐานเพื่อการประกันคุณภาพผู้เรียน ปีการศึกษา ๒๕๕๖ และ(๒) ความร่วมมือของสังกัดอื่นในการประเมินในปีการศึกษา ๒๕๕๖ ซึ่งผลเป็นดังนี้

๑.    แนวทางการประเมินคุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐานเพื่อการประกันคุณภาพผู้เรียน ปีการศึกษา ๒๕๕๖ (เป็น National Test หรือเรียกว่า การสอบ NT) ที่ประชุมได้เห็นชอบตามที่สำนักทดสอบทางการศึกษาเสนอ นั่นคือ จะยังคงมุ่งเน้นการประเมินความสามารถของผู้เรียนเช่นปีที่ผ่านมา โดยประเมินความสามารถ ๓ ด้าน ได้แก่ (๑) ความสามารถด้านภาษา (Literacy) (๒) ความสามารถด้านคำนวณ (Numeracy) (๓) ความสามารถด้านเหตุผล (Reasoning abilities) สำหรับกลุ่มเป้าหมายของการประเมินครั้งนี้ ก็คือ นักเรียนชั้น ป.๓ ในสังกัด สพฐ. ทุกคน (ทั้งประเทศ) โดยกำหนดสอบในวันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗ หลังจากที่มีการสอบ O-NET เสร็จเรียบร้อยแล้ว (ปีการศึกษา ๒๕๕๖ สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (องค์การมหาชน) จะจัดสอบ O-NET ในวันที่ ๑-๓ กุมภาพันธุ์ ๒๕๕๗) นอกจากนั้น ยังมีมติให้ สพฐ. ดำเนินการประเมินเพื่อการศึกษาวิจัยในการประเมินความสามารถทั้ง ๓ ด้าน ดังกล่าว ในระดับชั้นเรียนอื่นด้วย ได้แก่ ระดับชั้น ป.๑-๖ ประมาณชั้นเรียนละ ๑๐,๐๐๐ คน
๒.   ความร่วมมือของสังกัดอื่นในการประเมินในปีการศึกษา ๒๕๕๖ ได้ข้อสรุปว่า การสอบในวันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗ จะมีหน่วยงานที่ดูแลการจัดการศึกษาของโรงเรียนสังกัดต่อไปนี้ ได้แก่ สช. ตชด. และ อปท. จะเข้ามามีส่วนร่วมในการประเมินครั้งนี้ เพื่อให้นักเรียนในสังกัดได้รับการทดสอบไปพร้อมๆ กับนักเรียน สพฐ. ทั้งนี้ ให้เตรียมตั้งงบประมาณเพื่อการจัดสอบเป็นเงิน ๔๐ บาท ต่อการเข้าสอบของนักเรียน ๑ คน ส่วน สกอ. และ กทม. ไม่ได้เข้าร่วม แต่สังกัด กทม. ก็ได้มีแผนการประเมินคุณภาพนักเรียนในปีการศึกษานี้เรียบร้อยแล้ว

จากการร่วมประชุมในวันนี้ ทำให้เห็นว่า ขณะนี้ สพฐ. ได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบวิธีการทดสอบระดับชาติ (National Test) มาตั้งแต่ปีที่แล้ว ที่มุ่งเน้นประเมินทักษะความสามารถที่ติดตัวเด็ก ได้แก่ LNR หรือความสามารถด้านภาษา (Literacy)  ความสามารถด้านคำนวณ (Numeracy) ความสามารถด้านเหตุผล (Reasoning abilities) ซึ่งมีความสอดคล้องกับการทดสอบ PISA ที่ไม่ได้เน้นเนื้อหา แต่เน้นที่ความสามารถที่ติดตัวเด็กอยู่ ผมก็เชื่อว่า การเปลี่ยนแปลงการสอบระดับชาติของ สพฐ.นี้ ถือเป็นการคลี่ปม/ ผ่อนคลายเงื่อนไขยากๆ ของการปฏิรูปการศึกษาได้เปลาะหนึ่ง

สำหรับผลการประเมินความสามารถของนักเรียนชั้น ป.๓ ในปีที่ผ่านมาก็ยังไม่ดีนัก ซึ่งแต่ละความสามารถมีคะแนนเฉลี่ยร้อยละ เป็นดังนี้ ด้านความสามารถด้านภาษา (Literacy) ร้อยละ ๔๒.๙๔ ความสามารถด้านคำนวณ (Numeracy) ร้อยละ ๓๗.๔๕ และความสามารถด้านเหตุผล (Reasoning abilities) ร้อยละ ๔๕.๙๒ ซึ่งผลการสอบ NT ป.๓ โดย สพฐ. ก็สอดคล้องไปในทิศทางเดียวกันกับผลการสอบ O-NET ป.๖ ซึ่งจัดสอบโดย สทศ.

ผมได้เข้าไปดูในเว็บไซต์สำนักทดสอบทางการศึกษา สพฐ. เห็นว่ามีการเผยแพร่-ให้ข้อมูลกรอบการประเมิน นิยาม ตัวอย่างเครื่องมือการประเมินไว้เรียบร้อย และทราบว่าได้มอบหมายให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษานำไปสู่โรงเรียนต่างๆ ทั่วประเทศแล้ว จึงขอนำมาสื่อสารให้ทราบ ณ ที่นี้ด้วยครับ