หน้าเว็บ

วันพฤหัสบดีที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2556

วิจัยและพัฒนาระบบพฤติกรรมไทย: Research and Movement

วิจัยและพัฒนาระบบพฤติกรรมไทย: Research and Movement

พิทักษ์ โสตถยาคม

          วันนี้ (พุธที่ ๒๘ สิงหาคม ๒๕๕๖) ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา (น.ส.วันเพ็ญ สุจิปุตโต) มอบหมายให้ผมไปร่วมประชุมคณะกรรมการแห่งชาติเพื่อการวิจัยและพัฒนาระบบพฤติกรรมไทย ครั้งที่ ๑/ ๒๕๕๖ ณ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ซึ่งคณะกรรมการแห่งชาติชุดนี้คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบแต่งตั้งเมื่อวันที่ ๑๕ มกราคม ๒๕๕๖ ประกอบด้วยคณะกรรมการ จำนวน ๒๓ คน มีเลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธาน องค์ประกอบของกรรมการ ๓ ส่วนคือ (๑) ประธานกรรมการสภาวิจัยแห่งชาติ ๓ คน จากสาขาปรัชญา สังคมวิทยา และการศึกษา (๒) ผู้แทนหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ๑๒ คน ได้แก่ ผู้แทนเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผู้แทนผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ผู้แทนเลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน รองเลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ที่ปรึกษาด้านการวิจัยทางสังคมศาสตร์ ผู้แทนสภาองค์การพัฒนาเด็กและเยาวชน ผู้แทนกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ผู้แทนเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ผู้แทนเลขาธิการคณะกรรมการอาชีวศึกษา ผู้แทนสำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และเจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติเป็นเลขานุการและผู้ช่วยเลขาธิการ (๓) ผู้ทรงคุณวุฒิ ๗ คน ได้แก่ ศ.ดร.จรรจา สุวรรณทัต ศ.ดร.ดวงเดือน พันธุมนาวิน ดร.เย็นใจ เลาหวณิช ศ.ดร.นงลักษณ์ วิรัชชัย รศ.ดร.พรรณทิพย์ ศิริวรรณบุศย์ รศ.ดร.โสภา (ชูพิชัยกุล) ชปิลมันน์ รศ.ดร.ธีระพร อุวรรณโณ



          การประชุมวันนี้มีเรื่องเข้าสู่วาระเพื่อพิจารณา ๓ เรื่อง ได้แก่ (๑) ทิศทางและนโยบายการดำเนินงานของศูนย์วิจัยและพัฒนาระบบพฤติกรรมไทย (ศวพท.) ปัจจุบันและอนาคต (๒) การตัดสินรางวัลด้านการวิจัยและพัฒนาระบบพฤติกรรมไทย ประจำปี ๒๕๕๖ และ(๓) สรุปผลการดำเนินงาน ศวพท. ประจำปีงบประมาณ ๒๕๕๖ และการต่อวาระฝ่ายบริหารทางวิชาการ ศวพท. นอกจากนั้นยังมีเรื่องเพื่อทราบ ๒ เรื่อง คือ เรื่องความก้าวหน้าการสังเคราะห์งานวิจัยพฤติกรรมไทย และความก้าวหน้าการจัดทำยุทธศาสตร์การวิจัยและพัฒนาระบบพฤติกรรมไทย ซึ่งในบทความนี้จะขอนำเสนอเพียงสาระของการประชุมในวาระแรกเกี่ยวกับ “ทิศทางและนโยบายการดำเนินงานของศูนย์วิจัยและพัฒนาระบบพฤติกรรมไทย (ศวพท.) ปัจจุบันและอนาคต” ดังนี้

          ปัจจุบันศูนย์วิจัยและพัฒนาระบบพฤติกรรมไทย (ศวพท.) มี ศ.ดร.ดวงเดือน พันธุมนาวิน เป็นผู้อำนวยการบริหารทางวิชาการ รศ.ดร.โกศล มีคุณ รองผู้อำนวยการบริหารทางวิชาการ และ รศ.งามตา วนินทานนท์ รองผู้อำนวยการบริหารทางวิชาการ ได้นำเสนอกรอบบทบาท/หน้าที่ของ ศวพท.ในปัจจุบันและอนาคตต่อที่ประชุม ที่ประชุมได้ร่วมพิจารณาและให้ข้อสังเกตหลายประเด็น โดยผมได้ให้ข้อสังเกตเกี่ยวกับความสอดคล้องครบถ้วนของอำนาจหน้าที่ตามมติคณะรัฐมนตรีกับบทบาทหน้าที่ ที่ ศวพท. กำหนดเป็นกรอบการดำเนินงานไว้ และได้เสนอแนวทางการดำเนินงานของ ศวพท.ให้สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาของประเทศ เช่น ศวพท. จะช่วยนำองค์ความรู้และกระบวนการวิจัยที่เข้มแข็งของ ศวพท. ไปหนุนเสริมการพัฒนาประเทศด้านเด็กและเยาวชน ที่มีกระทรวงศึกษาธิการเป็นแกนหลักอยู่ในขณะนี้ได้อย่างไร หรือจะลงไปร่วมวงพูดคุย-ทำงานร่วมกันกับคณะทำงาน สพฐ. ศธ. ในจุดเน้นด้านการพัฒนาการเรียนการสอน การคิด วิเคราะห์ การเรียนรู้ด้วยตนเอง และการพัฒนาความสามารถด้านการอ่าน ทั้งนี้ หากแนวทางการดำเนินงานเป็นเช่นนี้ ผมก็อาสาเป็นผู้ประสานการทำงานระหว่าง ศวพท. และคณะทำงาน สพฐ. ศธ.  ส่วนผู้ทรงคุณวุฒิที่เข้าร่วมประชุมได้แสดงความคิดเห็นโดยสรุป ดังนี้

๑. ควรเพิ่มบทบาทของ ศวพท. ในการสังเคราะห์องค์ความรู้จากการวิจัย การผลักดันผลงานวิจัยสู่การปฏิบัติ อาจดำเนินการด้วยการวิจัยและพัฒนา และการติดตามประเมินผลการวิจัย
๒. ควรเพิ่มอำนาจหน้าที่ในการประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ รวมทั้งควรเพิ่มจุดเน้นไม่เพียงเฉพาะวิธีวิจัยเชิงปริมาณเท่านั้น ควรเพิ่มวิธีวิจัยเชิงคุณภาพด้วย เพราะสังคมศาสตร์เป็นเรื่องของ Individual Differences และควรเน้นการพัฒนากลุ่มคนอื่นที่นอกเหนือจากเด็กวัยเรียน เช่น นักการเมือง แม่บ้าน เกษตรกร พนักงานเอกชน
๓. ควรกระตุ้นให้การวิจัยทางสังคมศาสตร์และพฤติกรรมศาสตร์ขยายไปสู่การใช้จริง เป็นที่ยอมรับระดับประเทศ และผู้เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมและผลักดัน
๔. การนำงานวิจัยทางสังคมศาสตร์ไปใช้ ทำได้ยากกว่างานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่มีผลผลิตเป็นวัตถุสิ่งของ จะเห็นกรณีที่ รัฐบาลมีนโยบายหลายส่วนออกมา แต่ก็แก้ปัญหาสังคมได้ยาก เพราะเป็นเรื่องของมนุษย์ที่มีความซับซ้อน และเมื่อเป็นสังคม (มนุษย์หลายคน) ก็ยากยิ่งขึ้นอีก ดังนั้น จึงต้องนำ “จุดบอด” ของการวิจัยที่ไม่สามารถนำไปสู่การปฏิบัติได้ มาแก้ไข ซึ่งต้องพิจารณาสาเหตุที่หลากหลาย สุดท้ายอาจต้องสร้างและพัฒนากลุ่ม “ผู้นำ” เพื่อแก้ปัญหาและพัฒนาควบคู่กันไป
๕. ปัญหาสังคมไทยถึงขั้นวิกฤต จึงไม่ควรมุ่งแก้ แต่ควรเน้นป้องกันและพัฒนาแบบองค์รวม ทั้งร่างกาย จิตใจ สติปัญญา (คิดเป็น ฉลาด ทันคน) อารมณ์ (ควบคุมตนเอง ยอมรับความเป็นจริง) และสังคม (อยู่ร่วมกันได้) ดังนั้น หากจะพัฒนาสังคม ก็จำเป็นต้องเริ่มต้นพัฒนาที่ร่างกาย จิตใจ สติปัญญา และอารมณ์ก่อน จึงจำเป็นต้องมีการดำเนินการเชิงรุก และตั้งเป้าหมายของการพัฒนาแบบองค์รวม
๖. กรณีการแก้ไขปัญหาสังคมโดยใช้การรณรงค์เป็นเครื่องมือและประสบผลสำเร็จมีให้เห็น อย่างน้อย ๒ กรณี คือ หมอประกิต วาทีสาธกกิจ ที่ทุ่มเทรณรงค์เรื่องการไม่สูบบุหรี่ได้สำเร็จ และคุณมีชัย วีระไวทยะ ที่รณรงค์เรื่องการใช้ถุงยางอนามัยได้สำเร็จ ดังนั้น การรณรงค์จึงเป็นเครื่องมือที่สามารถนำมาใช้ได้
๗. ศวพท.ควรมีการสังเคราะห์องค์ความรู้ให้หน่วยงานที่ทำหน้าที่กำหนดนโยบาย เช่น สภาพัฒน์ เพื่อเสนอทางออกในการแก้ไขปัญหาสังคม หรือเสนอแนะให้หน่วยงานไปขับเคลื่อนสู่การปฏิบัติ อาทิ การมุ่งไปที่ครอบครัว ศึกษาวัฒนธรรมการเลี้ยงดูเด็ก และพัฒนาพฤติกรรมการเลี้ยงดูเด็กของสังคมไทย  อย่างไรก็ตาม ศวพท./ วช. ยินดีให้บริการจัดหาองค์ความรู้เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานกำหนดนโยบายและการปฏิบัติ หากมีการร้องขอ
๘. ประเทศไทยจำเป็นต้องมีการประชุมเพื่อกำหนดให้ชัดเจนว่า เราต้องการเด็กและเยาวชนไทยเป็นอย่างไร จากนั้น จึงดำเนินการเชิงรุก ในการพัฒนาเด็กและเยาวชนให้มีคุณลักษณะที่ต้องการ
๙. เรามีงานวิจัยจำนวนมาก แต่นำเอาไปใช้ไม่ได้ เช่น เราจะพัฒนาคนให้มีลักษณะแต่ละข้อที่กำหนดขึ้น จะพัฒนาอย่างไร ดังนั้น จึงควรเน้นการวิเคราะห์  สังเคราะห์ผลงานวิจัย และหาลู่ทางนำไปใช้ ซึ่งทิศทางจะเป็นไปในลักษณะร่วมสร้าง ร่วมพัฒนา เป็นเครือข่ายการทำงานร่วมกันของผู้เกี่ยวข้อง
๑๐. ปัญหาสังคมและพฤติกรรมเป็น multidisciplinary จึงต้องบูรณาการการทำงานร่วมกัน จึงมีความจำเป็นจะต้องจัดทำเป็นยุทธศาสตร์ที่มีความสอดคล้องกับนโยบายการพัฒนาประเทศ  โดยควรมีแผนแม่บทการพัฒนาพฤติกรรมไทย และกำหนดเจ้าภาพหลักของการพัฒนาที่ชัดเจน  อย่างไรก็ตาม การพัฒนาด้านเด็กและเยาวชนที่ผ่านมา ก็มีแผนแม่บทในการพัฒนาเยาวชนให้เก่ง ดี สุข ต่อเนื่องมาตลอด ๒๕ ปี
๑๑. ที่ผ่านมา ศวพท. ทำการประมวลองค์ความรู้จากงานวิจัย ตามประเด็น/ Issue ที่มีความสำคัญต่อการพัฒนา โดยจัดทำเป็นวารสารจิตพฤติกรรมศาสตร์ ซึ่งก็พบว่า มีงานวิจัยจำนวนมากในประเด็นนั้น แต่สามารถหยิบผลงานวิจัยมาใช้ได้เพียง ๒๕ เปอร์เซ็นต์ เท่านั้น อย่างไรก็ตาม ผู้ทรงคุณวุฒิได้ให้ข้อสังเกตว่า การประมวลความรู้ออกมาเป็นวารสารก็เป็น “การขึ้นหิ้ง” ชนิดหนึ่ง หากจะผลักดันสู่การนำไปใช้ จะต้องนำผลงานวิจัยมาพิจารณาและให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและอยากใช้ผลได้นำไปใช้จริงในงานปัจจุบัน
๑๒. แนวทางหนึ่งของการผลักดันผลการวิจัยสู่การใช้ประโยชน์  โดยกำหนดให้ ศวพท. เป็นเจ้าภาพหลักระดมผู้มีส่วนเกี่ยวข้องมาคิดและทำร่วมกัน อาจตั้งงบประมาณไว้ ๒๕ ล้านบาท แบ่งงบประมาณออกเป็น ๒ ส่วน ส่วนแรก ๑๕ ล้านบาท จัดสรรเป็นงบวิจัยและพัฒนาของทีมวิจัย ๕ ทีม เป็นการใช้หลักวิชาและทำตามข้อค้นพบที่สังเคราะห์ได้จากการวิจัย เช่น งานวิจัยพบว่า พ่อแม่ผู้ปกครองต้องปฏิบัติตนเช่นไรในการเลี้ยงดูเด็กก็ต้องดำเนินการตามผลวิจัยจริงจัง ซึ่ง ๕ ทีม ประกอบด้วย (๑) ทีมวิจัยและพัฒนาเด็กปฐมวัย (๓ ขวบ) (๒) ทีมวิจัยและพัฒนานักเรียนชั้น ป.๑ (๓) ทีมวิจัยและพัฒนานักเรียนชั้น ป.๔ (๔) ทีมวิจัยและพัฒนานักเรียนชั้น ม.๑ และ (๕) ทีมวิจัยและพัฒนานักเรียนชั้น ม.๔ ส่วนงบประมาณส่วนที่สอง จำนวน ๑๐ ล้านบาท เป็นงบประชาสัมพันธ์ออกสื่อสารมวลชน เพื่อสร้างการเรียนรู้จากโรงเรียนและหมู่บ้านต้นแบบ

เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติสรุปว่า การวิจัยที่จะนำไปสู่การใช้ประโยชน์ได้นั้น จะต้องเสริมสร้างพฤติกรรมการทำงานร่วมกันของคนต่างสำนัก ต่าง school เสริมสร้างการยอมรับซึ่งกันและกัน จนเกิดความเชื่อมั่นในผลงานวิจัย แล้วผลการวิจัยก็จะถูกใช้ประโยชน์จากความเชื่อมั่นที่เกิดขึ้น สำหรับทิศทางและนโยบายการดำเนินงานของ ศวพท. ประกอบด้วย (๑) จะต้องมียุทธศาสตร์ที่สอดคล้องกับการพัฒนาประเทศ โดยพิจารณาว่าประเทศจะเน้นการพัฒนาด้านใด แล้ววิเคราะห์ว่า เรื่องที่จะทำนั้น มีองค์ความรู้แล้วหรือไม่ ถ้ายังไม่มี ศวพท.จะหาให้ ซึ่งจะต้องนำจุดเน้นการพัฒนาประเทศมาจัดทำนโยบายและยุทธศาสตร์การวิจัยพฤติกรรมไทย (๒) ต้องเชิญผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholders) มามีส่วนร่วมวิเคราะห์ปัญหา (๓) ต้องเชิญผู้เกี่ยวข้องเข้ามาร่วมทำงาน ไม่เฉพาะทางด้านสังคมศาสตร์เท่านั้น จะต้องมีคนทางด้านวิทยาศาสตร์ร่วมด้วย (๔) การพัฒนานักวิจัย จะต้องจัดทำฐานข้อมูลนักวิจัยที่ระบุความเชี่ยวชาญของนักวิจัยนั้นๆ ให้เป็นปัจจุบันและอยู่บนฐานของงานวิจัยและผลงานเชิงประจักษ์ (๕) ต้องสร้างช่องทางการจัดการความรู้ มีกระบวนการถ่ายทอดให้นำไปใช้ประโยชน์ให้ได้ และ (๖) ต้องมีระบบการเผยแพร่ข้อมูลองค์ความรู้ที่ให้ผู้สนใจเข้าถึงข้อมูลได้ง่าย
         
          สะท้อนความคิด :
          จากการร่วมประชุมเพื่อพิจารณาทิศทางการดำเนินงานของศูนย์วิจัยและพัฒนาระบบพฤติกรรมไทย ทำให้ได้เรียนรู้ว่า ประเด็นเรื่องการนำผลการวิจัยไปใช้ประโยชน์ในการสร้างการเปลี่ยนแปลงในระดับบุคคลและสังคม ยังคงมีอุปสรรคหลายส่วน ทำให้นึกถึงการวิจัยปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม (Participatory Action Research) รวมทั้งการวิจัยและการขับเคลื่อน (Research and Movement) ที่ดำเนินการไปพร้อมกันหรือต่อเนื่องกัน การดึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการพัฒนาเข้าเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการวิจัย จะทำให้ความรู้ติดอยู่กับตัวผู้มีส่วนร่วมและเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นระบบไปพร้อมกัน

          เช่นเดียวกันกับการวิจัยเพื่อพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษา ที่มีผู้มีส่วนเกี่ยวข้องหลายฝ่าย อาทิ ครูผู้สอน ผู้บริหารโรงเรียน ผู้ปกครอง ชุมชนที่อยู่ในแต่ละพื้นที่รอบโรงเรียน และมีห้องเรียนเป็นฐานของการพัฒนาผู้เรียน จึงมีความจำเป็นที่นักวิจัยทางพฤติกรรมศาสตร์ต้องลงไปในพื้นที่ คลุกวงใน และทำงานใกล้ชิดกับกลุ่มเป้าหมายทั้งครูและผู้เรียนให้มาก มากพอที่จะสร้างการยอมรับ สร้างการมีส่วนร่วมพัฒนา และสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นร่วมกัน เพราะคุณค่าของนักวิจัยที่มีหลักคิด-หลักปฏิบัติ ที่อยู่บนฐานวิชาการ มีหลักการและแนวคิดทฤษฎีรองรับ จะช่วยเติมเต็มความรู้สู่ผู้ปฏิบัติได้อย่างดี และในขณะเดียวกับประสบการณ์ของนักปฏิบัติ ก็จะช่วยเสริมความเข้มแข็งในแง่คิดมุมมองของนักวิจัยเพื่อให้ทำงานได้สอดคล้องกับความเป็นจริงยิ่งขึ้น
-----------------------------