หน้าเว็บ

วันอังคารที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

Area-based Reform & บทบาทใหม่ของภาครัฐ


เวทีบูรณาการภาครัฐ: ความเป็นไปได้ของ Area-based Reform และบทบาทที่จะเปลี่ยนไปของภาครัฐ

พิทักษ์  โสตถยาคม

          การประชุมเวทีบูรณาการภาครัฐเพื่อขับเคลื่อนคุณภาพการศึกษา วันพุธที่ 8 พฤษภาคม 2556 ณ โรงแรมวังสวนสุนันทา มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา มีผู้เข้าร่วมประชุม จำนวน 53 คน ประกอบด้วยกลุ่มครู ผู้บริหารโรงเรียน ศึกษานิเทศก์ ผู้บริหารสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ผู้นำระดับกลาง รวมทั้งผู้ใส่ใจในการศึกษาและผู้บริหารระดับนโยบาย ได้แก่ ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร, นายคู่บุญ ศกุนตนาค,  นางงามพิศ ลวากร,  น.ส.จตุพร สุทธิวิวัฒน์,  น.ส.จินตนา ด้วงชอุ่ม,  นายจิระประวัติ ชุมสาย ณ อยุธยา,  น.ส.จิรัชญา พายัพ,  ดร.จุฬากรณ์ มาเสถียรวงศ์,  นายชำเรือง เรืองขำ,  นายชุติวัฒน์ สุวัตถิพงศ์,  นายชูชาติ แก้วนอก,  ดร.ณัฐพล ตันเจริญทรัพย์, น.ส.ดวงใจ บุญยะภาส, นายถวิล ศรีใจงาม, นายธีรวุฒิ  เจริญรัมย์, นายนพคุณ เกรียงศักดานุกูล, น.ส.นวลพรรณ ศาสตร์เวช, ดร.นิภาพร กุลสมบูรณ์, ดร.บรรเจอดพร สู่แสนสุข, นายบรรเจิด กลิ่นจันทร์, นายประภาส เขียวแก้ว, น.ส.ปริยาพร ญาณะชัย, นายปิยะบุตร ชลวิจารณ์, น.ส.พัชรา อุบลสวัสดิ์, ผศ.ดร.พัทธนันท์ หรรษาภิรมย์โชค,  นายพิทักษ์ โสตถยาคม,  ดร.พิษณุ ตุลสุข, นางภรณ์ชภัสร์ โสตถยาคม, นางมาลี สืบกระแส, นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์, นางยุวดี นุชทรัพย์, ดร.รัตนา แสงบัวเผื่อน,  ดร.รุ่งอรุณ ไสยโสภณ, น.ส.ลัดดา ตั้งศุภาชัย,  รศ.ลัดดา ภู่เกียรติ, น.ส.ลิลิน ทรงผาสุก, ดร.เลขา ปิยะอัจฉริยะ, ดร.วณี ปิ่นประทีป,  น.ส.วรจรรย์ อังศุธร,  นายวรวัส สบายใจ,  นายวิบูลย์ ทานุชิต,  นายวิริยะ ผลโภค,  นางศรีอัมพร ประทุมนันท์,  นายศิริ  จันบำรุง,  นายสมบูรณ์ รินท้าว, นายสมประสงค์  สิงห์สุวรรณ, ดร.สุธรรม วาณิชเสนี,  นายสุรพล ธรรมร่มดี,  ดร.สุรัฐ ศิลปอนันต์,  นายอดุลย์ ภู่ภัทรางค์,  น.ส.อนีฆา ชัยเนตร,  ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ และนางอริยา พรหมสุภา
          กิจกรรมการประชุมแบ่งได้เป็น 3 ช่วง คือ (1) รับความคิด เป็นการนำเสนอผลการจัดประชุมเวทีที่ผ่านมาให้ผู้เข้าร่วมประชุมรับทราบ ทั้งผลการประชุมของกลุ่มเด็ก กลุ่มการศึกษาทางเลือก กลุ่มภาคเอกชนร่วมจัดการศึกษา และกลุ่มจัดการศึกษาโดยท้องถิ่น รวมทั้งการชี้ให้เห็นความจำเป็นที่จะต้องร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงในวงการการศึกษา และบอกเล่าถึง “โจทย์” หรือข้อพิจารณาในการเสวนาในวันนี้ (2) สร้างความคิด เป็นการระดมความคิดเกี่ยวกับโจทย์ 2 ประการคือ หนึ่ง-ความเคลื่อนไหวและข้อเสนอเชิงยุทธศาสตร์การปฏิรูปการศึกษาในหลายประเทศเป็นไปในทิศทางเดียวกัน นั่นคือ การปฏิรูปที่ใช้พื้นที่เป็นฐาน (Area-based Reform) ทิศทางนี้เหมาะสมกับบริบทประเทศไทยหรือไม่ หรือหากจะผลักดันการปฏิรูปไปในทิศทางนี้จักต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขปัจจัยอะไรบ้าง และสอง-ทิศทางการปฏิรูปที่ใช้พื้นที่เป็นฐานจะเปลี่ยนโฉมหน้าการทำงานภาครัฐไปเป็นหน่วยนโยบาย อำนวยการ สนับสนุน และกำกับติดตามประเมินผลร่วมกับภาคส่วนต่างๆในระดับพื้นที่ (ท้องถิ่น เอกชน ชุมชน หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับเด็ก) ได้อย่างไร สำหรับการประชุมกลุ่มได้แบ่งออกเป็น 6 กลุ่มย่อย เพื่อให้ได้แง่คิดมุมมองที่ครบถ้วน ได้แก่ กลุ่มครู ผู้บริหารโรงเรียน ศึกษานิเทศก์ ผู้บริหารสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ผู้นำระดับกลาง/ หัวหน้ากลุ่ม รวมทั้งผู้ใส่ใจในการศึกษาและผู้บริหารระดับนโยบาย เมื่อแต่ละกลุ่มร่วมกันคิดและสรุปคำตอบ ผ่านมุมมองและประสบการณ์ของสมาชิกกลุ่มแล้ว จึงนำเสนอผลให้ผู้เข้าประชุมทุกคนรับทราบ (3) สะท้อนความคิด เป็นการชี้จุดเน้น เชื่อมโยงประเด็นสำคัญ พร้อมให้ข้อคิด-ข้อสังเกตเพิ่มเติมจากผู้ร่วมเสวนาต่อผลสรุปของกลุ่มย่อย  ผลจากกิจกรรมทั้งสามช่วงมีดังนี้

u รับความคิด
          ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ กรรมการจัดสมัชชาปฏิรูปเฉพาะประเด็นการศึกษา ได้เกริ่นนำและชี้แจงวัตถุประสงค์ของการประชุมครั้งนี้ โดยสะท้อนภาพวิกฤตการศึกษาไทย เปรียบดั่ง “กบอยู่ในหม้อน้ำร้อน” กว่ากบจะรู้ตัวว่าน้ำอุ่นแสนสบายกลับกลายเป็นน้ำร้อน ก็สายเกินไปที่จะกระโดดหนีตายได้ทัน  และระบุว่าการประชุมครั้งนี้จะเน้นไปที่บทบาทภาครัฐที่เป็นผู้ถือทรัพยากรของรัฐมากที่สุด แต่ภาครัฐจะปรับบทบาทอย่างไร เพื่อพลิกฟื้นวิกฤต-ปรับนโยบายการใช้ทรัพยากรของภาครัฐก่อเกิดประโยชน์สูงสุด นอกจากนั้นยังได้ชี้ให้เห็นว่า ระบบการศึกษาไทยจำเป็นต้องปรับตัว จากนั้นนำเสนอแนวโน้มการศึกษาของนานาชาติ อาทิ การจัดการศึกษาไม่อยู่เฉพาะภาครัฐเท่านั้น มีการกระจาย “ผู้เล่น” มากขึ้น โดยภาครัฐเป็นผู้คุมกติกา การจัดการศึกษาหลากหลายและตอบโจทย์การทำงาน เน้นให้ลงทุนให้เร็วในกลุ่มเด็กปฐมวัยและการดูแลกลุ่มเด็กวัยรุ่น โดยใช้ Outcome-based และ Area-based การพัฒนาครูและผู้บริหารในพื้นที่แทนการ training ด้วย coaching การส่งเสริมดูแลครูดี การประเมินและการทดสอบเป็นแบบอิงพื้นที่ มุ่งเน้นลดความเหลื่อมล้ำด้วยการลงทุนกับโรงเรียนที่มีปัญหา มีระบบฐานข้อมูลการศึกษาที่ใช้เพื่อการส่งต่อ-พัฒนาผู้เรียน รวมทั้งส่งเสริมโรงเรียนในกำกับ ทั้ง Charter School การกระจายอำนาจ และมุ่งเน้นความรับผิดชอบ
          จากนั้นเป็นการนำเสนอผลการประชุมของกลุ่มที่ผ่านมา ได้แก่ (1) เสียงจากกลุ่มเด็กบอกให้ทราบว่า เด็กและเยาวชนต้องการเรียนรู้เพื่อการค้นพบตนเอง ค้นพบอาชีพจากจุดสนใจของตนเอง ต้องการเรียนรู้รากเหง้าวัฒนธรรมและของจริงในท้องถิ่น เด็กอาชีวะต้องการเรียนรู้ภาคปฏิบัติให้มาก เด็ก ม.ปลายต้องการให้มีความใกล้ชิดระหว่างครูและเด็กมากขึ้นรวมทั้งให้หลักสูตรมีวิชาเลือกให้มากขึ้น เด็กการศึกษาทางเลือกไม่ต้องการสอบ O-NET แต่จะใช้การวัดและประเมินผลรูปแบบอื่น เด็กชายขอบ-ไร้สัญชาติยังคงมีปัญหาเรื่องบัตรประชาชนและความเหลื่อมล้ำ เด็กนอกระบบต้องการสังคมที่เอื้อต่อการเรียนรู้และเชื่อมโยงกับอาชีพอนาคต นอกจากนั้นเด็กต้องการมีส่วนร่วมในทุกกระบวนการของการเรียนรู้  (2) เสียงจากกลุ่มการศึกษาทางเลือกบอกให้ทราบว่า ต้องการให้มีการประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจให้ผู้เกี่ยวข้องทุกระดับในการส่งเสริมสนับสนุนการจัดการศึกษาทางเลือก (3) เสียงจากกลุ่มภาคเอกชนร่วมจัดการศึกษาบอกให้ทราบว่า ภาคเอกชนเน้นการศึกษาเพื่อการมีงานทำ จึงต้องการเจรจากับภาครัฐเพื่อผลักดันให้เกิดรูปธรรมโดยเร็ว  และ(4) เสียงจากกลุ่มจัดการศึกษาโดยท้องถิ่น บอกให้ทราบว่า การจัดการศึกษาของโรงเรียนภายใต้การสนับสนุนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกำลังมุ่งตอบโจทย์ชุมชนและเด็กเยาวชนในพื้นที่ รวมทั้งตอบสนองอัตลักษณ์ของท้องถิ่น

          สุดท้าย ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร ประธานคณะกรรมการจัดสมัชชาปฏิรูปเฉพาะประเด็นการศึกษา ได้ให้ข้อคิดเพิ่มเติมว่า การจัดการศึกษาเพื่อสร้างคนเก่ง คนดี มีความสามารถ มีข้อสรุป 2 ประการคือ (1) การจัดการศึกษาต้องเป็นไปเพื่อประกันการมีงานทำของผู้เรียน (2) การจัดการศึกษาต้องเป็นไปเพื่อสร้าง Character/ สร้างคนให้มีวินัย ซื่อสัตย์ ทำงานเป็น ดังนั้น เราจำเป็นต้องเปลี่ยนโจทย์การจัดการศึกษาใหม่ โดยจะมี “ผู้เล่น” เข้าร่วมจัดการศึกษามากขึ้น จะเกิดผลในทางบวก อาทิ การร่วมกันทำงานระหว่างภาครัฐและเอกชน ภาครัฐและท้องถิ่น ส่วนในทางลบก็จะเกิดกระบวนการไต่สวนภาครัฐขึ้นมา โดยตั้งคำถามว่าทำไมภาครัฐไม่ทำตามหลักการกฎระเบียบที่กำหนดไว้ ซึ่งการระดมความคิดและเสวนาในวันนี้จะช่วยให้เห็นทิศการการปรับเปลี่ยนบทบาทภาครัฐ ที่เป็นไปเพื่อส่งเสริมสนับสนุน  Area-based Reform อย่างเป็นรูปธรรมขึ้น

 v สร้างความคิด
            จากการแบ่งกลุ่ม 6 กลุ่ม เพื่อร่วมกันเสริมสร้างความคิดเกี่ยวกับการปฏิรูปที่ใช้พื้นที่เป็นฐาน (Area-based Reform) และการปรับเปลี่ยนบทบาทของภาครัฐในการเป็นหน่วยนโยบาย ส่งเสริมและกำกับการดำเนินงาน ได้ผลการประชุมดังนี้

1. ผู้นำระดับนโยบาย/ ผู้ใส่ใจการศึกษา
          ผู้นำระดับนโยบายและผู้ทรงคุณวุฒิที่ใส่ใจในการศึกษาได้ชี้ประเด็นที่มีความสำคัญต่อการเสวนาร่วมกันในครั้งนี้และการส่งเสริมการใช้พื้นที่เป็นฐานต่อไปในอนาคต นั่นคือ ความเข้าใจที่ตรงกันของ  Area-based Reform การดำเนินงานอาจเริ่มต้นด้วย concept paper ที่ให้ความชัดเจนว่าการปฏิรูปที่ใช้พื้นที่เป็นฐานนี้เป็นระดับใด อาทิ ระดับนโยบาย ระดับการสอนและการเรียนรู้ ระดับการบริหารโรงเรียน เพราะ  Area-based Reform มีความเชื่อมโยงหลายส่วนหลายมิติ ดังนั้น ต้องตอบคำถามเบื้องต้นก่อนว่า Area-based Reform  ดีอย่างไร หน้าตาของ Area-based Reform จะเป็นอย่างไร ทั้งระบบ องค์ประกอบ โครงสร้าง การบริหารจัดการ และกลไกต่างๆ  อย่างไรก็ตาม การเริ่มต้นพูดคุยในครั้งนี้จะทำให้เห็นโอกาสของการสร้างความชัดเจนในการก้าวเดินต่อไป
            1.1 ความเป็นไปได้ของ Area-based Reform
          สิ่งที่เห็นพ้องร่วมกันของกลุ่มผู้นำระดับนโยบายและผู้ทรงคุณวุฒิที่ใส่ใจในการศึกษาคือ ควรทำ Area-based Reform ให้เกิดขึ้นจริง แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องรู้ก่อนว่าอะไรคือ “ล็อก” และจะ “ปลดล็อก” เหล่านั้นได้อย่างไร ซึ่งจำเป็นต้องคิดให้ชัดเจนและมีความละเอียดมากพอ สำหรับข้อเสนอจากวงเสวนาต่อรูปธรรมของการใช้พื้นที่เป็นฐาน ได้แก่ (1) การใช้จังหวัดเป็นฐานเพื่อเป็นกลไกดึงการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมพัฒนา  (2) “เด็กเป็นตัวตั้ง” ต้องพัฒนาคนจัดให้รู้หลักและวิธีการ ซึ่งคนจัดจะต้องเป็นคนที่ใกล้ชิดกับเด็กมากที่สุด ก็คือ “ท้องถิ่น” ท้องถิ่นจะเป็นเจ้าภาพผู้ดูแลการเรียนรู้ของเด็กและรับผิดชอบผลที่เกิดขึ้น (3) Head Office ส่วนกลางจะต้องแข็งแกร่ง  มีความเข้มแข็ง มุ่งมั่นภารกิจในการสร้างชาติที่แท้จริง สิ่งที่ส่วนกลางจะต้องตระหนักอยู่เสมอหากจะทำ “ระบบการศึกษา” เลียนแบบ “ระบบสุขภาพ” ของกระทรวงสาธารณสุข นั่นคือ คุณภาพคนที่แตกต่างกันของกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงศึกษาธิการ (4) ผู้บริหารที่มีภาวะผู้นำถือเป็นหัวใจของการสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นได้จริง เพราะการเปลี่ยนแปลงสู่ Area-based Reform ต้องการผู้นำที่กัดไม่ปล่อย ในอนาคตอาจผลักดันให้มีการเลือกตั้ง “ผู้นำการศึกษา” ทุกระดับ เพื่อเลือกคนดีเข้ามารับผิดชอบจัดการศึกษา (5) ควรมี Pilot Project  ทำเป็น Quick Wins เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าระบบ Area-based Reform ใช้ได้จริง และถอดบทเรียนจากพื้นที่ที่ทำได้นำไปขยายผลให้กว้างขวางสู่พื้นที่อื่น และ (6) ควรมีการทำ Social Movement ขับเคลื่อนให้เป็นกระแสสู่ความสำเร็จ ผู้รับผิดชอบภารกิจนี้จะต้องกัดไม่ปล่อย ผลักดัน ต่อเนื่อง อาจให้สมัชชาสุขภาพดูแลสุขภาวะในมิติการเรียนรู้ด้วย
            1.2 บทบาทที่จะเปลี่ยนไปของภาครัฐ - หน่วยนโยบาย
          ผู้นำระดับนโยบายและผู้ทรงคุณวุฒิที่ใส่ใจในการศึกษาวิเคราะห์ถึงบทบาทภาครัฐที่จะเปลี่ยนจากเดิมไปเป็นหน่วยนโยบาย อำนวยการ สนับสนุน และกำกับติดตามประเมินผลร่วมกับภาคส่วนต่างๆ ในระดับพื้นที่ (ท้องถิ่น เอกชน ชุมชน หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับเด็ก) ดังผู้ทรงคุณวุฒิท่านหนึ่งกล่าวถึงบทบาทใหม่ของกระทรวงศึกษาธิการจะเปลี่ยนไปเป็น “ตัวเล็ก-ใจใหญ่-สมองโต-เพื่อนเยอะ” ซึ่งสาระในวงเสวนาสามารถจำแนกบทบาทภาครัฐได้ 5 ประการ คือ (1) เป็นผู้วางเป้าหมายปลายทางของผู้เรียนให้ชัดเจน อาทิ เด็กคิดเป็น (อาทิ Critical Thinking, Creative Thinking), เด็กเป็นผู้สร้างความรู้และนวัตกรรม ไม่ใช่เพียง “ผู้เสพ”, เด็กรักถิ่นฐานบ้านเกิด (2) เป็นผู้กำหนดนโยบาย Area-based Reform ที่มีความชัดเจน ทั้งการ “ปักธง” ส่งเสริม และติดตามผล (3) เป็นผู้ส่งเสริมและให้บทบาทพื้นที่ในการจัดการศึกษาทุกระดับ อาทิ ระดับเด็กเล็ก ระดับอนุบาล ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน  ระดับอาชีวศึกษา โดยเฉพาะการดึงการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน รวมทั้งการกำหนดให้มีบอร์ดจากภาคส่วนต่างๆ เข้ามาร่วมการจัดการศึกษาในพื้นที่ (4) เป็นผู้ปลดล็อกอุปสรรคที่จะขับเคลื่อนไปเป็น  Area-based Reform และ (5) เป็นผู้สร้างผู้นำ ให้ไปเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ ที่มีความสามารถในการมองเชิงระบบ เห็นผลกระทบต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น  ไม่เร่งคิด-เร่งทำ-ด่วนสรุป ควรใช้ผลวิจัยเป็นฐานในการตัดสินใจ ส่วนผู้นำในระดับนโยบายควรปรับวิสัยทัศน์ - ไม่รวบอำนาจ และเอื้ออำนวยให้เกิด Area-based Reform  

2. ผู้นำระดับกลาง
            กลุ่มผู้นำระดับกลางที่อยู่ในหน่วยงานระดับนโยบายได้สะท้อนให้เห็นปัจจัยที่เป็นเงื่อนไขความสำเร็จของการกระจายอำนาจ นั่นคือ กระบวนการได้มาและการปฏิบัติหน้าที่อย่างสุจริต-ปลอดการเมืองและผลประโยชน์พวกพ้องของ (1) ผู้นำ และ (2) คณะกรรมการ/ องค์คณะบุคคล/ บอร์ดที่อยู่ในระบบ Area-based Reform ทุกระดับ
            2.1 ความเป็นไปได้ของ Area-based Reform
            ปัจจัยสำคัญของการปฏิรูปที่ใช้พื้นที่เป็นฐาน (Area-based Reform) ตามมุมมองของกลุ่มผู้นำระดับกลาง ประกอบด้วย 5 ประการ คือ (1) การมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาของพื้นที่ ต้องเกิดจากการมีส่วนร่วมอย่างบริสุทธิ์ใจ คำนึงถึงผลประโยชน์ของผู้เรียนเป็นสำคัญ พึงระวังผู้มามีส่วนร่วมที่เป็น “คนของใคร”  (2) การคัดเลือกผู้นำ/ ผู้บริหารให้ได้คนดี คนเก่ง โดยเฉพาะการแต่งตั้งบุคคลเข้าสู่ตำแหน่งต้องปลอดการเมือง และไม่ถูกครอบงำจากอำนาจต่างๆ (3) การมีคณะกรรมการหลายฝ่าย มาจากหลากหลายกลุ่ม เพื่อให้เกิดการคานอำนาจซึ่งกันและกัน (4) การจัดสรรงบประมาณลงสู่พื้นที่ในสัดส่วนที่มากขึ้น และ (5) สร้างผู้นำชุมชนที่มีวิสัยทัศน์ ในทุกกลุ่มทุกระดับ ทั้งระดับหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ และจังหวัด
            2.2 บทบาทที่จะเปลี่ยนไปของภาครัฐ - หน่วยนโยบาย
          บทบาทของภาครัฐที่ควรดำเนินการคือ (1) ทบทวน-สร้างความเข้าใจ-สร้างความตระหนักในบทบาทภาครัฐ ที่ระบุไว้ในกฎระเบียบที่มีอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องออกระเบียบกฎเกณฑ์ใหม่ เพราะที่ผ่านมาไม่ได้ทำตามกฎระเบียบ แต่กลับทำตรงกันข้าม  หรือ ปากว่าตาขยิบ (2) มีระบบการติดตาม ตรวจสอบ ประกันคุณภาพภายใน มี “คานงัด” หรือมีคณะกรรมการตรวจสอบที่เข้มแข็ง เป็น “หนูตัวที่อาสาไปแขวนกระดิ่งที่คอแมว” ให้ข้อเสนอแนะและระดมความคิด-ร่วมแก้ปัญหาอย่างต่อเนื่อง

3. ผู้นำระดับเขตพื้นที่
            3.1 ความเป็นไปได้ของ Area-based Reform
          กลุ่มผู้นำระดับเขตพื้นที่การศึกษาเห็นว่า การปฏิรูปที่ใช้พื้นที่เป็นฐานมีความเหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย เพราะบริบทของแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกัน อาทิ สภาพปัจจุบันปัญหา ความต้องการ ความพร้อม ซึ่งปัจจัยที่จะช่วยให้การปฏิรูปที่ใช้พื้นที่เป็นฐานเกิดขึ้นได้จริง จะต้องมี (1) การกระจายอำนาจมากกว่ามอบอำนาจ ทั้งระดับเขตพื้นที่และโรงเรียน (2) สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาจะต้องเป็นนิติบุคคล (3) ปัจจัยทางด้านนโยบาย-การเมืองต้องเอื้ออำนวย (4) การสร้างความพร้อมและสร้างความเข้มแข็งให้กับผู้เกี่ยวข้อง ทั้งองค์คณะบุคคล ครอบครัว ชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (5) เน้นการมีส่วนร่วมและความรับผิดชอบตามหลักธรรมาภิบาล และ(6) มุ่งเน้นคุณภาพผู้เรียนเป็นสำคัญ
            3.2 บทบาทที่จะเปลี่ยนไปของภาครัฐ - หน่วยนโยบาย
          กลุ่มผู้นำระดับเขตพื้นที่การศึกษาเห็นว่า หน่วยนโยบายของภาครัฐด้านการศึกษาควร (1) ลด/ เลิกการสั่งการ เปลี่ยนมาเป็นหน่วยที่คอยให้การสนับสนุน (2) ให้ระดับพื้นที่เป็นหน่วยปฏิบัติงานจริงๆ ทำงานตลอดแนว ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมประเมิน (3) ควรแยกบทบาทหน้าที่ให้ชัดเจนของหน่วยงานระดับนโยบาย (ส่วนกลาง) และหน่วยงานระดับปฏิบัติ (พื้นที่) และ (4) ควรบูรณาการทุกภาคส่วนให้มีส่วนร่วมอย่างจริงจัง

4. ศึกษานิเทศก์
            4.1 ความเป็นไปได้ของ Area-based Reform
            กลุ่มศึกษานิเทศก์เห็นว่า การปฏิรูปที่ใช้พื้นที่เป็นฐาน (Area-based Reform) มีความเหมาะสมกับบริบทประเทศไทย เพราะการใช้พื้นที่เป็นฐานจะทำให้การทำงานใกล้ชิดชุมชน เข้าใจสภาพปัญหาความต้องการของชุมชน สามารถระดมสรรพกำลังและทรัพยากรได้ง่ายกว่า ซึ่งพื้นที่ในที่นี้น่าจะหมายถึง จังหวัด ต้องการให้หนึ่งจังหวัดเป็นหนึ่งเขตพื้นที่ ก็จะทำให้เกิดการทำงานอย่างบูรณาการและประสานงานกับหน่วยงานอื่นได้ง่ายขึ้น สำหรับปัจจัยที่จะช่วยให้การปฏิรูปที่ใช้พื้นที่เป็นฐาน (Area-based Reform) ประสบผลสำเร็จ จำเป็นต้อง (1) ภาครัฐลดการกำหนดนโยบายการศึกษาจากส่วนกลางลง และเปิดโอกาสให้พื้นที่มีส่วนในการกำหนดนโยบายการศึกษาของพื้นที่ โดยกำหนดสัดส่วน พื้นที่ต่อส่วนกลาง เป็น 70 : 30 ซึ่งต้องสอดคล้องกับงบประมาณและอัตรากำลัง (2) มีการกำหนดเป้าหมายการศึกษาชาติร่วมกัน โดยเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมทั้งระดับชาติและพื้นที่ (3) มีการกำหนดความรับผิดชอบร่วมกัน โดยมีบทบาทหน้าที่และมาตรการความรับผิดชอบที่ชัดเจน อาทิ ตัวผู้เรียน ครอบครัว ชุมชน โรงเรียน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  (4) มีการกำหนดมาตรฐาน ตัวชี้วัดความสำเร็จที่ชัดเจนของพื้นที่ที่สอดคล้องกับมาตรฐานชาติ (5) พัฒนาบุคลากรทุกระดับ โดยเฉพาะผู้บริหารและครูให้เข้าใจเป้าหมาย มาตรฐาน และตัวชี้วัดความสำเร็จ (6) มีมาตรการสนับสนุน เช่น กฎระเบียบ งบประมาณของพื้นที่  อัตรากำลัง และ (7) การศึกษาต้องปลอดการเมือง โดยมีมาตรการทางกฎหมายและมาตรการทางสังคมคอยกำกับดูแล
            4.2 บทบาทที่จะเปลี่ยนไปของภาครัฐ - หน่วยนโยบาย
          กลุ่มศึกษานิเทศก์เห็นว่า บทบาทที่จะเปลี่ยนไปของภาครัฐเพื่อให้เกิดการปฏิรูปที่ใช้พื้นที่เป็นฐาน (Area-based Reform) จะต้อง (1) มีกฎหมายที่กำหนดมาตรการความรับผิดชอบของภาครัฐที่ชัดเจน ในการปฏิบัติตามแนวทางการปฏิรูปที่ใช้พื้นที่เป็นฐาน โดยอาจมีการปรับ แก้ หรือตรากฎหมายขึ้นมาใหม่ ซึ่งต้องระบุความผิดหากละเลยไม่ปฏิบัติตาม (2) ให้ภาคประชาชน ประชาสังคมสามารถรวมตัวเข้าชื่อ ยื่นถอดถอนเอาผิดกับผู้รับผิดชอบถ้าไม่ปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง (3) ภาครัฐต้องมีการกำหนดแผนอย่างชัดเจนที่จะลดบทบาทลงแค่ไหน ภายในเมื่อไร (4) พื้นที่ต้องสร้างความเข้มแข็ง โปร่งใส ให้ส่วนกลางเห็นถึงศักยภาพ โดยมีทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการสร้างความเข้มแข็ง (5) ลดงบประมาณของภาครัฐในส่วนกลางไปให้พื้นที่ให้มาก เป็นสัดส่วนส่วนกลางต่อพื้นที่ เป็น 30 : 70 โดยการจัดสรรงบประมาณควรขึ้นอยู่กับสภาพปัญหาและความต้องการจำเป็น ไม่ใช่ขึ้นกับจำนวนคนหรือความกว้างของพื้นที่ (6) พื้นที่ต้องแสวงหาวิธีการ นวัตกรรมในการทำงานเพื่อไปสู่เป้าหมายความสำเร็จของแต่ละพื้นที่ (7) บทบาทของภาครัฐต้องเพิ่มบทบาทในการกำกับ ติดตาม สนับสนุน ส่งเสริม ตรวจสอบ ควบคุมมาตรฐานการผลิต และลดบทบาทในการกำหนดนโยบายส่วนใหญ่ให้เหลือเพียงนโยบายหลัก ลดการกำหนดโครงการต่างๆ และการกำหนดวิธีการทำงาน เปิดโอกาสให้พื้นที่คิดค้น แสวงหาแนวทางการทำงานที่เหมาะสมกับบริบท สภาพปัญหา และความต้องการ (8) มีการประเมินผลการปฏิบัติงานทุกระดับ ที่สอดคล้องกับเป้าหมายความสำเร็จของงานด้วยวิธีที่โปร่งใส เป็นธรรม (9) ใช้มาตรการทางสังคมเป็นตัวกำกับติดตามการทำงานของภาครัฐให้มากขึ้น เช่น กลุ่มพ่อแม่ ผู้ปกครอง สื่อ (10) ต้องสร้างความเข้มแข็งให้แก่ประชาชน ให้ทราบถึงสิทธิหน้าที่ การเข้าถึงสิทธิ และการรักษาสิทธิ (11) ต้องเร่งสร้างค่านิยมเชิงคุณธรรม จริยธรรมให้แก่ผู้ปฏิบัติงาน บุคลากร ครู นักเรียน นักศึกษา ผู้ปกครอง อาทิ ความสำนึกรับผิดชอบ ความละอายเกรงกลัวต่อบาป จิตสาธารณะ การใฝ่รู้ใฝ่เรียน การแข่งขั้นในการทำความดี การคัดเลือกคนดีเข้าสู่หน่วยงาน/ โรงเรียน (12) มีการพัฒนาครูบุคลากรทางการศึกษาอย่างต่อเนื่องและจัดอัตรากำลังให้สอดคล้องกับแนวโน้มการเจริญเติบโตของประชากร และการพัฒนาประเทศ และ(13) การกำหนดเป้าหมาย การผลิตกำลังคนควรให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด โดยมีการวางแผนร่วมกันทุกระดับ ตั้งแต่ระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา อาชีวศึกษา และอุดมศึกษา โดยสถานศึกษา มหาวิทยาลัยต้องปฏิบัติตาม ไม่ต่างคนต่างทำ

5. ผู้บริหารโรงเรียน
            5.1 ความเป็นไปได้ของ Area-based Reform
            กลุ่มผู้บริหารโรงเรียนเห็นพ้องกันว่า การปฏิรูปที่ใช้พื้นที่เป็นฐาน (Area-based Reform) มีความเป็นไปได้ในบริบทประเทศไทย ควรดำเนินการนำร่องในบางพื้นที่ก่อน ทั้งนี้เงื่อนไขที่จะช่วยให้การดำเนินการประสบผลสำเร็จ จะต้อง (1) ผู้บริหารต้องเป็นผู้นำเชิงรุกเน้นวิชาการ มีภาวะผู้นำ และกล้าเปลี่ยนแปลง ครูต้องมีคุณภาพ (2) การกระจายงบประมาณและทรัพยากรต่างๆ สู่พื้นที่อย่างเป็นธรรมและเหมาะสม (3) การมีส่วนร่วมของผู้ปกครองมีความสำคัญอย่างยิ่ง (4) ต้องมีการปลดล็อกระดับนโยบาย เช่น การให้สถานศึกษาพิจารณาคัดเลือกครูได้เอง (5) มีการจำแนกโรงเรียนตามระดับคุณภาพ และให้การสนับสนุนส่งเสริมให้สอดคล้องตามบริบทและสภาพปัจจุบันของโรงเรียน รวมทั้งใช้ผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมในการประเมินผล
            5.2 บทบาทที่จะเปลี่ยนไปของภาครัฐ - หน่วยนโยบาย
          บทบาทของภาครัฐที่จะเปลี่ยนแปลงไปตามมุมมองของกลุ่มผู้บริหารโรงเรียน ประกอบด้วย (1) ต้องผลักดันให้เกิดโรงเรียนนิติบุคคลอย่างแท้จริง โดยการให้อำนาจอย่างเต็มที่แล้วตรวจสอบผลงานเชิงประจักษ์ในด้านคุณภาพ (2) มีการจำกัดอำนาจทางการเมือง (3) มีการนำร่องโรงเรียนนิติบุคคล ส่งเสริมให้โรงเรียนที่ประสบผลสำเร็จได้นำเสนอผลที่เกิดขึ้นให้สาธารณชนได้รับทราบอย่างต่อเนื่อง และ(4) คัดคนเก่งที่มีใจอาสามาเป็นครู

6. ครูผู้สอน
            6.1 ความเป็นไปได้ของ Area-based Reform
            กลุ่มครูผู้สอนเห็นด้วยที่จะปฏิรูปการศึกษาโดยใช้พื้นที่เป็นฐาน ซึ่งเห็นว่าไม่ควรเน้นพื้นที่เป็นฐานเท่านั้น ควรพิจารณาแบบผสมผสานระหว่างส่วนกลางและพื้นที่ อาทิ (1) หลักสูตร ควรเป็นแบบผสมผสาน โดยมีแกนกลางเป็นหลักและพื้นที่ท้องถิ่นเป็นส่วนเสริม (2) การวัดและประเมินผลควรกำหนดเป็นสัดส่วนที่ชัดเจนระหว่างส่วนกลางและท้องถิ่น ข้อมูลการวัดและประเมินผลระดับโรงเรียนจะต้องเอื้ออำนวยให้มีการนำเสนอผลการเรียนที่เป็นส่วนของพื้นที่ให้ปรากฏในโปรแกรมการวัดและประเมินผลของโรงเรียน (3) โรงเรียนจะต้องสร้างความเข้าใจให้นักเรียนและผู้ปกครองรับรู้เกี่ยวกับการผสมผสานการเรียนรู้ท้องถิ่น ไม่ได้มุ่งผลสัมฤทธิ์แต่ฝ่ายเดียว  และปรับเปลี่ยนค่านิยมของผู้เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะค่านิยมของผู้ปกครองที่มุ่งให้นักเรียนเข้ามหาวิทยาลัย (4) ควรให้การสนับสนุนงบประมาณให้เพียงพอต่อการพัฒนา (5) ควรมีข้าราชการครูที่เพียงพอในการสอน และผลักดันให้เกิดการจัดการเรียนรู้จริง
            6.2 บทบาทที่จะเปลี่ยนไปของภาครัฐ - หน่วยนโยบาย
          กลุ่มครูผู้สอนเห็นว่าภาครัฐควร (1) ให้การสนับสนุนทรัพยากร บุคลากร ความช่วยเหลือเพิ่มขึ้น และลดการแทรกแซงการใช้อำนาจที่มิชอบ (2) ภาครัฐควรวางเป้าหมายการจัดการศึกษาในระยะยาว เช่น จัดทำแผน 5 ปี จะช่วยให้การจัดการศึกษาไทยต่อเนื่อง มิใช่เปลี่ยนแปลงตามรัฐมนตรีที่เปลี่ยนบ่อย และ (3) สร้างภาคีเครือข่ายในชุมชน ทั้งรัฐ เอกชน บ้าน วัดมาร่วมเป็นวิทยากร เป็นเครือข่ายร่วมสนับสนุนโรงเรียน

w สะท้อนความคิด
          ดร.เลขา ปิยะอัจฉริยะ ได้สะท้อนความคิดจากการรับฟังการนำเสนอผลการระดมความคิดของกลุ่มต่างๆ  ว่า เห็นบทบาทของภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษามากขึ้น เป็นการศึกษาเพื่อปวงชนทั้งการศึกษาในระบบ นอกระบบ และตามอัธยาศัย เห็นถึงแนวโน้มของการปฏิรูปที่ใช้พื้นที่เป็นฐาน (Area-based Reform) เน้นปวงชนเพื่อการศึกษาเป็นการบูรณาการทุกภาคส่วน โดยมี concept เป็นการศึกษาตลอดชีวิต เน้นคุณภาพผู้เรียน มีคำสำคัญที่พบในการนำเสนอ ได้แก่ คุณภาพบุคลากร งบประมาณ การบริหารจัดการ คุณภาพผู้เรียนเป็นสำคัญ/ เด็กเป็นตัวตั้ง มีการตั้งคำถามถึงความรับผิดชอบกรณีเด็กไม่บรรลุผล และผู้ทรงคุณวุฒิไม่เห็นด้วยกับคำกล่าวที่ว่า กระทรวงศึกษาธิการไม่ต้องสั่งการหรือไม่ควรสั่งนโยบาย โดยอธิบายว่า การสั่งการมีความจำเป็นต้องมีอยู่ แต่ควรปรับเปลี่ยนจากการสั่งการแบบเผด็จการ เป็นการสั่งการแบบให้มีส่วนร่วม และต้องมีความชัดเจนว่าจะมีส่วนร่วมแบบใด และเห็นด้วยที่กระทรวงศึกษาธิการต้องเล็กลง แต่พันธกิจสำคัญมากขึ้น เป็นการใช้หลักธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการ สุดท้าย การจัดการศึกษาไทยจะต้องไม่สร้างความทุกข์ให้กับเด็ก ควรเป็นการจัดการศึกษาเพื่อสร้างสุข-ไม่เครียด
          นอกจากนั้น ผู้ทรงคุณวุฒิบางท่าน ตั้งประเด็นเรื่อง การคัดเลือกบุคคลไปเป็น “ผู้นำ” เข้าสู่ระบบการศึกษาที่ผ่านมานั้น มีความเหมาะสมแล้วหรือไม่  ผู้ทรงคุณวุฒิบางท่านตั้งคำถามถึงความเหลื่อมล้ำ-ไม่เป็นธรรมในการจัดสรรทรัพยากรให้โรงเรียนขนาดเล็กเปรียบเทียบกับโรงเรียนขนาดใหญ่กรณีเจ้าหน้าที่ธุรการโรงเรียน
         

          กล่าวโดยสรุป การประชุมเวทีบูรณาการภาครัฐเพื่อขับเคลื่อนคุณภาพการศึกษาครั้งนี้ ได้ข้อสรุปที่เกิดจากการสร้างความรู้ความคิดร่วมกันเพื่อตอบโจทย์ 2 ข้อ ได้ข้อสรุปว่า การปฏิรูปการศึกษาโดยใช้พื้นที่เป็นฐาน (Area-based Reform) มีความเป็นไปได้ในประเทศไทย ภายใต้การปรับเปลี่ยนบทบาทใหม่ของภาครัฐ อย่างน้อย 2 ประการคือ (1) การเตรียมคนให้พร้อม ทั้งการสร้างผู้นำการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ การพิจารณาคัดเลือกคนดีมีใจเพื่อส่วนรวมเข้ามาเป็นคณะกรรมการในพื้นที่ การเสริมสร้างความเข้าใจให้บุคลากรที่เกี่ยวข้องในบทบาทหน้าที่ของตนเองและหน่วยงาน สร้างความตระหนักถึงความรับผิดชอบของผู้เกี่ยวข้องต่อผลที่เกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชน (2) การวางระบบกลไกให้เอื้ออำนวยและสนับสนุนการบริหารจัดการที่ใช้พื้นที่เป็นฐาน  ทั้งกฎ ระเบียบ หลักเกณฑ์ต่างๆ ปรับแก้เพิ่มเติมและปลดล็อกอุปสรรคให้การดำเนินงานคล่องตัว การป้องกันการใช้อิทธิพลเพื่อประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้อง การกระจายอำนาจที่ผูกพันกับความรับผิดชอบสู่หน่วยจัดการศึกษาในพื้นที่อย่างจริงจัง  สร้างระบบถ่วงดุล “คานงัด” ที่มีตัวตนและตรวจสอบจริงจัง