หน้าเว็บ

วันพฤหัสบดีที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ผลการศึกษาดูงานด้านการวิจัย@Japan

ผลการศึกษาดูงานด้านการวิจัย
Benesse Educational Research and Development Center
วันที่ 19 กรกฎาคม 2555
พิทักษ์  โสตถยาคม 

ศูนย์วิจัยและพัฒนาการศึกษาเบเนสเซ เป็นหน่วยงานเอกชนที่จัดทำสื่อและเทคโนโลยีทางการศึกษามีทุนจดทะเบียน 3 พันล้านเยน พนักงาน 3,248 คน และยอดขาย 406.6 พันล้านเยน การศึกษาดูงานครั้งนี้ได้รับการบรรยายสรุปโดยคุณเคนอิชิ อะเรอิ (Ken-ichi Arai) ประธานศูนย์วิจัยและพัฒนาการศึกษาเบเนสเซ ซึ่งประธานศูนย์ฯ ได้เล่าให้ฟังถึงประวัติความเป็นมาของศูนย์ฯ รวมทั้งขอบข่ายการดำเนินงานว่าได้ขยายจากเรื่องไลฟ์สไตล์ และการช่วยเหลือดูแลบุคคล (Nursing Care) เป็นศูนย์ปฏิบัติการวิจัยทางการศึกษา ศูนย์วิจัยการศึกษาเชิงอนาคต และหน่วยงานด้านวิจัยและพัฒนาตั้งแต่ปี 2005 เป็นต้นมา ให้ความสนใจเรื่อง (1) แม่และเด็ก ประกอบด้วยการดูแลเด็ก การอบรมเลี้ยงดู การศึกษาปฐมวัย (2) การศึกษาภาคบังคับและมัธยมศึกษา ประกอบด้วย สื่อการเรียนรู้ ภาษาอังกฤษ การประเมินผลการศึกษา (3) การอุดมศึกษา ประกอบด้วย ทักษะทั่วไป การเชื่อมต่อระหว่างการมัธยมศึกษากับการอุดมศึกษา และการประเมินผลการศึกษา และยังมีการสำรวจด้านการศึกษา เทรนใหม่ๆทางการศึกษาของญี่ปุ่นและสังคมโลก รวมทั้งการจูงใจในการเรียนรู้ ซึ่งผลลัพธ์ของการวิจัยและพัฒนาเป็นประโยชน์ทั้งรัฐบาล นักวิจัย ครู และศูนย์วิจัยและพัฒนาการศึกษาเบเนสเซ รวมทั้งสื่อการเรียนรู้ต่างๆ ด้วย เป้าหมายของศูนย์วิจัยและพัฒนาการศึกษาเบเนสเซ เพื่อนำไปสู่ความอยู่ดีมีสุข (well-being)



สิ่งที่ประธานศูนย์วิจัยและพัฒนาการศึกษาเบเนสเซ ยกขึ้นมานำเสนอทีมงานของเราคือ ผลการสำรวจข้อมูลทางการศึกษา 6 ประเด็น ได้แก่



1. ร้อยละของนักเรียนที่ชอบ (ระดับชอบ-ชอบมาก) วิชาภาษาญี่ปุ่น คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ ในปี 1990, 1996, 2001 และ 2006 ทั้งกลุ่มนักเรียนระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษาตอนต้น และมัธยมศึกษาตอนปลาย ผลเป็นดังนี้ 

(1) ทุกปีที่มีการสำรวจ พบว่า นักเรียนประถมศึกษามากกว่าร้อยละ 50 ชอบวิชาภาษาญี่ปุ่น คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ ส่วนนักเรียนมัธยมศึกษาตอนต้นและมัธยมศึกษาตอนปลายมีร้อยละของผู้ที่ชอบวิชาต่างๆ ไม่ถึงร้อยละ 50 (น้อยสุดร้อยละ 34.7 และมากที่สุดร้อยละ 53.1) ยกเว้นวิทยาศาสตร์เท่านั้นที่นักเรียนมัธยมศึกษาตอนต้นชอบร้อยละ 52.8 (ปี 1996) และร้อยละ 53.1 (ปี 2006)

(2) เมื่อพิจารณากลุ่มนักเรียนที่ชอบแต่ละวิชา พบว่า นักเรียนประถมศึกษาชอบวิชาต่างๆ มากกว่ากลุ่มนักเรียนมัธยมศึกษาตอนต้น และกลุ่มนักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลาย นอกจากนั้นพบว่า กลุ่มนักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายมีร้อยละของความชอบวิชาต่างๆ น้อยที่สุด ยกเว้นวิชาภาษาญี่ปุ่นที่นักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายชอบมากกว่านักเรียนมัธยมศึกษาตอนต้น 

(3) เมื่อพิจารณาวิชาวิทยาศาสตร์ พบว่า นักเรียนประถมศึกษามีความชอบถึงร้อยละ 68.2-71.4 ซึ่งมากกว่าความชอบวิชาภาษาญี่ปุ่นและคณิตศาสตร์ ส่วนนักเรียนมัธยมศึกษาตอนต้นและมัธยมศึกษาตอนปลายก็มีร้อยละของนักเรียนที่ชอบเพิ่มขึ้นในแต่ละช่วงปีที่มีการสำรวจ

(4) ร้อยละของนักเรียนประถมศึกษาชอบคณิตศาสตร์ในปี 2006 มากกว่าปี 1990 และนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้นชอบคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ในปี 2006 พอๆ กันกับปี 1996


2. ร้อยละของนักเรียนที่เข้าใจ (เข้าใจระดับมาก-เข้าใจ 70%) วิชาภาษาญี่ปุ่น คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ ในปี 1990, 1996, 2001 และ 2006 ทั้งกลุ่มนักเรียนระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษาตอนต้น และมัธยมศึกษาตอนปลาย ผลเป็นดังนี้ (1) นักเรียนประถมศึกษาจำนวนมากที่มีความเข้าใจบทเรียนวิชาต่างๆ ในปี 2006 มากกว่าแต่ละปีที่มีการสำรวจที่ผ่านๆ มา (2) นักเรียนมัธยมศึกษาตอนต้นและมัธยมศึกษาตอนปลายมีความเข้าใจบทเรียนวิชาต่างๆ เพิ่มมากขึ้นจากช่วงปีที่ผ่านมา


3. ร้อยละของครูที่รู้สึกมั่นใจในการสอนวิชาต่างๆ จากการสำรวจในปี 2007 ซึ่งในเอกสารนำเสนอผลว่า (1) ครูผู้สอนวิชาคณิตศาสตร์มีความมั่นใจในการสอนมากถึงร้อยละ 86 (2) ความมั่นใจในการสอนภาษาญี่ปุ่นมีความสัมพันธ์ระดับมากกับประสบการณ์การสอนของครู ในทางกลับกันความมั่นใจในการสอนวิทยาศาสตร์มีความสัมพันธ์ระดับน้อยกับประสบการณ์การสอน


4. ผลสำรวจปี 2009 เกี่ยวกับไลฟ์สไตล์ของนักเรียนประถมศึกษาและมัธยมศึกษาตอนต้นในการใช้งานคอมพิวเตอร์ในแต่ละสัปดาห์ ทั้งการใช้ที่บ้านและที่โรงเรียน พบว่า (1) นักเรียนร้อยละ 60 ใช้คอมพิวเตอร์ที่บ้าน และมีอัตราเพิ่มขึ้นจากปี 2004 (2) นักเรียนมากกว่าร้อยละ 70 ไม่ได้ใช้คอมพิวเตอร์ที่โรงเรียน ซึ่งข้อมูลสอดคล้องกันทั้งนักเรียนประถมศึกษาและมัธยมศึกษา


5. ผลการสำรวจปี 2008 เกี่ยวกับกิจกรรมการใช้ ICT ของนักเรียน ใน 6 กิจกรรม ได้แก่ การค้นหาข้อมูลจากอินเทอร์เน็ต, การดาวน์โหลดเพลง, การศึกษาซอฟแวร์ทางการศึกษา, การดูคลิปวิดีโอ, การเล่นเกมออนไลน์, การซื้อสินค้าออนไลน์ ผลเป็นดังนี้ (1) นักเรียนประถมศึกษาร้อยละ 80 และนักเรียนมัธยมศึกษาตอนต้นและมัธยมศึกษาตอนปลายร้อยละ 90 ใช้คอมพิวเตอร์ในการสืบค้นข้อมูลจากอินเทอร์เน็ต (2) นักเรียนมัธยมศึกษาตอนต้นและมัธยมศึกษาตอนปลายร้อยละ 70 ดูคลิปวิดีโอ และ(3) ไม่มีนักเรียนประถมศึกษาใช้ ICT ใน 3 กิจกรรม คือ ดูคลิปวิดีโอ, เล่นเกมออนไลน์ และซื้อสินค้นออนไลน์


6. ผลการสำรวจเกี่ยวกับการเรียนรู้ของนักเรียนประถมศึกษาที่โรงเรียนและที่บ้าน จำนวน 6 เมือง จาก 6 ประเทศ ได้แก่ อเมริกา (วอชิงตัน ดี ซี) อังกฤษ (ลอนดอน) ฟินแลนด์ (เฮลซิงกิ) จีน (ปักกิ่ง) เกาหลีใต้ (โซล) และญี่ปุ่น (โตเกียว) ในประเด็นต่างๆ อาทิ วิชาที่ชอบ, การใช้เวลาในการเรียน เป็นต้น แต่ในส่วนที่คุณเคนอิชิ อะเรนำมายกตัวอย่างมี 2 ประเด็นคือ (1) เห็นด้วยหรือไม่กับข้อความ “ใครที่มีความพยายามมักจะได้รับรางวัลตอบแทน” และ (2) เห็นด้วยหรือไม่กับข้อความ “ฉันเห็นว่ามีการแข่งขันสูงในสังคมปัจจุบัน”  เขาชี้ให้เห็นว่านักเรียนโตเกียวเห็นด้วยทั้งสองประเด็นน้อยกว่านักเรียนจากเมืองอื่น

นอกจากนำเสนอภาพรวมของการดำเนินงานของศูนย์ฯ แล้ว  ประธานศูนย์ฯ ได้ให้เจ้าหน้าที่ที่ดูแลโครงการด้าน ICT มาเล่าให้ฟังด้วยว่า ทางศูนย์ฯ ได้จัดทำ LMS (Learning Management System) ซึ่งเป็นระบบบริหารจัดการการเรียนการสอน เขาเรียกระบบนี้ว่า Plus I ในระบบนี้มีส่วนของบทเรียน การฝึกปฏิบัติ ผลการเรียน และตัวช่วยต่างๆ เขาบอกว่า ระบบนี้เมื่อเปรียบเทียบกับแบบปกติ (แบบ Paper) แล้วดีกว่า และเขาได้สร้างเกม social networks  ขึ้นมา เป็นเกมที่เล่นง่าย เป็นช่องทางให้เด็กได้สื่อสารกับเพื่อน มีภารกิจให้เด็กได้เก็บแต้ม มีเป้าหมายเล็กๆ ให้เด็กได้บรรลุ มีโบนัส เพื่อให้จูงใจให้เด็กได้เล่นต่อ ซึ่งเขาก็มีโจทย์วิจัยว่า เกมนี้จะช่วยกระตุ้นให้เด็กเรียนรู้และใช้ ICT (เกม และPlus i) อย่างต่อเนื่องหรือไม่ อย่างไร และผลก็ออกมาดี เด็กเกรด 7 สามารถสื่อสารกับเพื่อนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และมีผลการเรียนรู้เนื้อหาวิชาได้ดีขึ้นด้วย

 ข้อคิด-ข้อสังเกต

1.ลักษณะการวิจัยของภาคเอกชนมีเป้าหมายในเชิงธุรกิจเพื่อให้หน่วยงานมีผลประกอบการที่ดี และมีรายได้จากการขายสินค้นหรือจากการบริการ ดังนั้น จะเห็นว่า เมื่อบริษัทต้องการขายผลิตภัณฑ์ใด เขาก็จะศึกษาวิจัย และเก็บข้อมูล เพื่อนำมาสนับสนุนแนวคิดและคุณสมบัติของผลิตภัณฑ์ที่บริษัทสร้างขึ้น กรณีนี้ก็เช่นกัน บริษัทมี LMS หนึ่งตัว และต้องการขายระบบบริหารจัดการการเรียนการสอนนี้ให้กับผู้เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมพัฒนาเด็ก ทั้งกลุ่มผู้ปกครองและหน่วยงานทางการศึกษา เขาจึงเก็บข้อมูลทั้งเรื่องลักษณะการใช้คอมพิวเตอร์ของเด็ก ศึกษาสิ่งจูงใจให้เด็กหันมาสนใจ LMS ตัวนี้มากขึ้น ศึกษาความชอบ/ความเข้าใจในวิชาที่เด็กเรียน ฯลฯ ทั้งนี้เพื่อบริษัทได้ข้อมูลเพื่อนำมาปรับปรุงการดำเนินธุรกิจของตนเองให้สามารถตอบสนองความสนใจและความต้องการของกลุ่มลูกค้าได้ดีขึ้น และบริษัทน่าจะทำกำไรจากการดำเนินธุรกิจมากขึ้นด้วย

2.ทีมงานที่ร่วมคณะไปดูงานด้วยกัน ได้พูดถึงประเด็น/ โจทย์/ เรื่อง ที่ สพฐ. ควรจะดำเนินการวิจัย บ้างก็เห็นว่าควรวิจัยด้าน ICT/ Tablet/ เกมแบบใดจะเหมาะกับเด็กแต่ละวัย บ้างก็เห็นว่าไม่ควรรีบสรุปว่าควรจะทำเรื่องใด แต่ควรศึกษาปัญหาที่แท้จริงของเด็กไทยแล้วค่อยหาหนทางพัฒนา ซึ่งผมเห็นด้วยกับการมองไปถึงลักษณะเด็กไทยที่จะอยู่รอดในสังคม เด็กจะต้องมีทักษะการเรียนรู้ที่เข้มแข็ง ทักษะต่างๆ ที่เขาพูดกันเกี่ยวกับศตวรรษที่ 21 สิ่งสำคัญคือเราต้องช่วยให้เด็กมีลักษณะเช่นนั้น ซึ่งผู้เกี่ยวข้องต้องปรับเปลี่ยนบทบาททั้งครู ผู้ปกครอง ผู้บริหาร และผู้เกี่ยวข้องอื่นๆ ดังนั้น การวิจัยจึงควรกำหนดโจทย์เพื่อมุ่งเป้าหมายไปที่การสนับสนุนส่งเสริมเด็กให้มีทักษะเหล่านั้น

3.สิ่งที่น่าสนใจคือ การสำรวจในประเด็นสำคัญๆ อย่างต่อเนื่อง เขาสำรวจทุก 5-6 ปี/ครั้ง ซึ่งทำให้ได้ข้อมูลและแนวโน้มชัดเจน ผมเห็นการเก็บข้อมูลแบบนี้ในบ้านเราเหมือนกัน ที่ทำโดย ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ สถาบันรามจิตติ ที่มีการติดตามสภาวการณ์ด้านเด็กและเยาวชนไทย แต่ทีมงานที่ไปด้วยกันก็ตั้งข้อสังเกตว่า ประเด็นที่บริษัทนี้สำรวจเป็นประเด็นเชิงบวก ซึ่งต่างจากประเด็นที่สถาบันรามจิตติที่เป็นประเด็นเชิงลบ อย่างที่ประชุมผู้บริหารระดับสูงของ สพฐ. ในสัปดาห์นี้ก็มีเรื่องการติดตามสภาวการณ์การเบิกจ่ายงบประมาณของสำนักต่างๆ ซึ่งทำโดย สคส. ซึ่งก็ทำให้เกิดความตื่นตัวและกระตือรือร้นในการเร่งดำเนินการเบิกจ่ายงบประมาณได้ดี ดังนั้น การสำรวจประเด็นทางการศึกษาที่เรามุ่งสนใจเป็นระยะๆ ก็เป็นเรื่องที่น่าพิจารณาดำเนินการ เช่น อาจเริ่มจากประเด็นฮอต “แท็ปเล็ต” โดยสำรวจจากเด็กเกี่ยวกับลักษณะการใช้ เวลาที่ใช้ เรื่องที่เรียน ความชอบ ฯลฯ ข้อมูลที่ได้จากเด็กจากทุกเขต ก็จะทำให้เห็นภาพการขับเคลื่อนเรื่องนี้ในโรงเรียนและห้องเรียน


--------------------------------------------