หน้าเว็บ

วันศุกร์ที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2556

เรียนรู้ด้วยวิจัย: โรงเรียนชุมชนบ้านวังดิน จ.ลำพูน

โรงเรียนชุมชนบ้านวังดิน: ก้าวต่อครั้งใหม่ด้วยวิจัยทั้งโรงเรียน
พิทักษ์ โสตถยาคม

โรงเรียนชุมชนบ้านวังดินเป็นโรงเรียนที่จัดการศึกษาระดับปฐมวัยและประถมศึกษา ตั้งอยู่หมู่ที่ 14 ตำบลลี้ อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน อยู่ห่างจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาลำพูน เขต 2 เป็นระยะทาง 66 กิโลเมตร ปีการศึกษา 2555 นี้มีนักเรียน 439 คน มีครูและบุคลากรทางการศึกษา 24 คน ผู้อำนวยการโรงเรียนคือ นายจรินทร์ ศรีสุวรรณ บริหารจัดการทั้งระดับประถมศึกษา ณ โรงเรียนแห่งนี้ ซึ่งมีนักเรียน จำนวน 411 คน และระดับปฐมวัย ซึ่งใช้สถานที่จัดการเรียนรู้อยู่ที่โรงเรียนบ้านลี้ ซึ่งเดิมเป็นโรงเรียนประชาบาล ขณะนี้มีนักเรียน จำนวน 28 คน ตั้งแต่เริ่มเข้าร่วมโครงการในปี 2554 มีครูแกนนำ 2 คน ดำเนินการต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ได้แก่ ครูศุทธินี พุฒิพิพัฒน์ชูพงศ์ เป็นครูประจำชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 โดยใช้กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษาศาสนาและวัฒนธรรมเป็นวิชานำร่องในการให้นักเรียนใช้กระบวนการวิจัย และครูศศิธร สุตานันท์ เป็นครูผู้สอนกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 มีศึกษานิเทศก์สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาลำพูน เขต 2 คือ ศน.ชุลีกร ใหม่เขียว เป็นพี่เลี้ยงให้การนิเทศช่วยเหลือ


การติดตามการส่งเสริมการใช้กระบวนการวิจัยของโรงเรียนชุมชนบ้านวังดิน ในวันพฤหัสบดีที่ 28 กุมภาพันธ์ 2556 มีคณะติดตาม จำนวน 4 คน ประกอบด้วย อ.วิไล แสงเหมือนขวัญ อ.วงเดือน โปธิปัน อ.สมชัย แซ่เจีย และผม พิทักษ์ โสตถยาคม ได้สร้างความเข้าใจในจุดมุ่งหมายของการติดตามผลครั้งนี้ให้กับผู้บริหารโรงเรียน การสังเกตการสอน การสัมภาษณ์นักเรียน ครู และผู้บริหารโรงเรียน และการประชุมสะท้อนผลการเรียนรู้ร่วมกัน ซึ่งมีข้อค้นพบ ดังนี้
            1. การสังเกตการสอน ห้องเรียนชั้น ป.5 มีนักเรียน จำนวน 15 คน เป็นชาย 7 คน หญิง 8 คน มีคุณครูศศิธร สุตานันท์ เป็นครูผู้สอน กิจกรรมวันนี้เป็นการนำเสนอโครงงานภาษาไทยรายบุคคล ระยะเวลาที่สังเกตการสอนคือ 10.40-11.25 น. โดยครูให้นักเรียนนำโครงงาน (เอกสารรายงานโครงงาน) ที่จะนำเสนอหน้าชั้นขึ้นมา จากนั้นให้นักเรียนร่วมกันตั้งเกณฑ์ประเมินการนำเสนอโครงงาน ครูชี้แนะว่าอาจจะมีเกณฑ์การนำเสนอและรูปเล่ม แล้วให้นักเรียนแสนอว่าจะประเมินอะไรบ้าง นักเรียนเสนอประเด็นที่จะประเมิน ได้แก่ ความตั้งใจในการทำงาน, ข้อมูลถูกต้อง, ชิ้นงานสะอาดเรียบร้อย, ข้อมูลครบถ้วนตามหัวข้อ, สรุปได้ใจความ ครูถามว่ายังมีอะไรเพิ่มเติมอีก แล้วช่วยตะล่อมประเด็นซ้ำซ้อน เช่น “ข้อมูลถูกต้องครบถ้วนตรงตามหัวข้อ” จากนั้นสอบถามนักเรียนว่า เราจะดูจากอะไรที่จะแสดงให้เห็นว่าระดับ 4-3-2-1 เป็นอย่างไร เช่น การพูดนำเสนอ ระดับ 4 เป็นพูดชัดเจน ถูกอักขระ ไม่เขินอาย ระดับ 3 พูดติดๆ ขัดๆ ระดับ 2 พูดแบบขอไปที และระดับ 1 พูดไม่รู้เรื่องเลย จากนั้น ครูให้นักเรียนทุกคนจดเกณฑ์การใช้คะแนนนี้ไว้เพื่อใช้ในการประเมินการนำเสนอโครงงานของเพื่อนๆ สรุปมี 4 ประเด็น ประเด็นละ 4 คะแนน รวม 16 คะแนน
ครูให้นักเรียนออกมานำเสนอทั้งสิ้น 4 คน แต่ละคนนำเสนอโครงงานตามลำดับดังนี้คือ (1) การเขียนเรื่องจากภาพพาเพลิน (2) โครงสี่ที่ต้องการ (3) สะกดถูกอ่านได้ใจความ และ(4) สำนวนสุภาษิตคิดสนุก โดยนักเรียนแต่ละคนออกไปหน้าชั้นตามการเรียกชื่อของครู และอ่านสิ่งที่เขียนไว้ในเอกสารรายงานให้เพื่อนฟัง โดยเฉพาะ 1-2 หน้าแรกของรายงานโครงการ ซึ่งอ่านตามหัวข้อดังนี้ คือ ชื่อโครงงาน ที่มาและความสำคัญ วัตถุประสงค์ ขอบเขต วิธีการศึกษา ผลการศึกษา การนำไปใช้ประโยชน์ และเอกสารอ้างอิง จากนั้น นำเสนอผลงานที่ได้จากการทำโครงงาน เช่น การเขียนเรื่องจากภาพพาเพลิน ก็นำเสนอผลงานครั้งละหน้ากระดาษ แต่ละหน้ากระดาษประกอบด้วยภาพ 1 ภาพ ชื่อภาพและเนื้อหาสาระอธิบายภาพนั้นๆ และในช่วงท้ายของกิจกรรมการเรียนรู้วันนี้ คุณครูเขียนตาราง 5 คอลัมน์ลงในกระดาษ ฉายขึ้นจอ (คุณครูใช้ Visualizer) คอลัมน์แรกเป็นชื่อกรรมการ ถัดไปเป็นชื่อนักเรียนคนที่ 1-4 ที่นำเสนอวันนี้ เพื่อให้นักเรียนทุกคนในชั้นร่วมประเมินเพื่อน และครูจะประเมินสรุปอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งครูบอกว่า หากใครมีผลการประเมินดีจะได้รับรางวัลเป็นหนังสือ 5 สหายพจญภัย
2. ผลการพูดคุยกับผู้บริหารและครู ผู้บริหารโรงเรียนเห็นประโยชน์ของการดำเนินโครงการ ได้สะท้อนภาพการเริ่มต้นโครงการในระยะแรกว่า ครูมีปัญหาการกระตุ้นให้เรียนตั้งคำถามและการดำเนินงาน จึงหารือกับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและเชิญวิทยากรมาสร้างความเข้าใจให้ครูทั้งโรงเรียน และได้รับการนิเทศช่วยเหลือครูจากศึกษานิเทศก์อย่างใกล้ชิด ผลที่พบเห็นในปีแรกคือ ผลดีที่เกิดกับนักเรียนชั้น ป.1 ห้องของครูแกนนำ ปีที่ 2 จึงขยายสู่ครู 6 คน และปีที่ 3 มีแผนที่จะขยายสู่ครูทุกคน โดยกำหนดให้ครูแกนนำทำอย่างน้อย 1 กลุ่มสาระ ครูเครือข่ายที่เริ่มในปีที่ 2 ทำ 1 หน่วย และครูแนวร่วมที่จะเข้าร่วมปีที่ 3 จะให้ทำอย่างน้อย 1 แผน ผลที่เกิดกับครูแกนนำที่ผู้บริหารโรงเรียนสังเกตได้คือ ครูมีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการจัดการเรียนรู้เพื่อให้เด็กเรียนรู้ได้เอง ส่วนครูสะท้อนว่า ตรงกับธรรมชาติการสอนวิทยาศาสตร์ที่เน้นให้นักเรียนค้นหาคำตอบ แต่ก็ไม่ง่ายที่จะตะล่อมเด็ก และกระบวนการวิจัยจำเป็นต้องใช้เวลาให้เด็กได้เรียนรู้อย่างลึกซึ้ง จากความไม่เข้าใจในแนวทางการพัฒนา ความซับซ้อนที่ได้รับถ่ายทอดที่ผ่านๆ มา และผลดีที่เกิดจากการทดลองปฏิบัติของครูในโรงเรียน ทำให้ครูและผู้บริหารเห็นว่า จะลดความซับซ้อนของการปฏิบัติและมุ่งให้นักเรียนใช้กระบวนการวิจัย 4 ขั้นโดยตรง และจะเข้าใจและปฏิบัติได้ง่าย
3. การสะท้อนคิด ขอนำข้อความที่ได้เขียนลงในสมุดนิเทศมานำเสนอ ดังนี้
            “วันนี้ข้าพเจ้านายพิทักษ์ โสตถยาคม นักวิชาการศึกษา สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา สพฐ. พร้อมด้วย อ.วิไล แสงเหมือนขวัญ อ.วงเดือน โปธิปัน และ อ.สมชัย แซ่เจีย ได้มาติดตามการใช้กระบวนการวิจัยของนักเรียนโรงเรียนชุมชนบ้านวังดิน สพป.ลำพูน เขต 2 เพื่อศึกษาสภาพการดำเนินงานของครู ผู้บริหาร และร่วมชื่นชมความก้าวหน้าของการพัฒนาผู้เรียน กิจกรรมที่คณะติดตามได้ดำเนินการในวันนี้คือ การพูดคุยชี้แจงเป้าหมายเจตนาของการติดตามผลครั้งนี้ ให้ผู้บริหารโรงเรียนได้รับทราบว่า การมาวันนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อดูกระบวนการดำเนินงานของโรงเรียนในฐานะเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจ ตามการแนะนำของทีมภาค ได้เข้าสังเกตการณ์สอนของครูศศิธร สุตานันท์ ครูสอนภาษาไทย ชั้น ป.5 มีนักเรียนในชั้นวันนี้ จำนวน 15 คน เพราะตรงกับวันแข่งขันกีฬากลุ่มโรงเรียน นักเรียนส่วนหนึ่งต้องไปร่วมแข่งกีฬา ได้เห็นความมุ่งมั่นตั้งใจในการจัดการเรียนรู้ของครู ครูเปิดโอกาสให้นักเรียนได้คิด-ทำ-นำเสนอในลักษณะโครงงาน นอกจากนั้น คณะติดตามยังได้สัมภาษณ์ครู ผู้บริหาร และนักเรียน รวมทั้งได้ประชุมครูแกนนำกลุ่มเครือข่ายแนวร่วม ได้เห็นถึงความสนใจที่อยากจะพัฒนาผู้เรียนให้มีคุณภาพ ทุกคนแสดงให้เห็นถึงความพยายาม ซึ่งหากได้มีโอกาสได้พูดคุยทำความเข้าใจร่วมกัน แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันบ่อยๆ คาดหวังได้อย่างยิ่งว่า โรงเรียนชุมชนบ้านวังดิน จะสามารถมีผลผลิต “ผู้เรียน” ที่มีทักษะการเรียนรู้และคุณลักษณะที่ดี โดดเด่น เป็นเอกลักษณ์ ขอชื่นชมผู้บริหารโรงเรียน คณะครูที่ได้ร่วมกันพัฒนาผู้เรียนด้วยความเข้มแข็งตลอดมา และจะร่วมกันสร้างสรรค์บรรยากาศการเรียนรู้ให้ผู้เรียนได้ใช้วงจรการวิจัย 4 ขั้นตอนบ่อยๆ จนกลายเป็นวัฒนธรรมการวิจัย ขอเป็นกำลังใจ...”
.....................................................