หน้าเว็บ

วันพฤหัสบดีที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2556

ปฏิรูปการเรียนรู้: หนึ่งเป้าหมาย-หลากหลายวิธี

ปฏิรูปการเรียนรู้หนึ่งเป้าหมาย-หลากหลายวิธี
พิทักษ์ โสตถยาคม

           จากนโยบาย ๑ ใน ๘ ประการของกระทรวงศึกษาธิการที่ประกาศในวันที่ ๑๑ กรกฎาคม ๒๕๕๖  ระบุไว้ว่า เร่งปฏิรูปการเรียนรู้ทั้งระบบให้สัมพันธ์เชื่อมโยงกัน เพื่อให้ผู้เรียนสามารถคิด วิเคราะห์ แก้ปัญหา และเรียนรู้ได้ด้วยตนเองอย่างต่อเนื่อง โดยปฏิรูปให้มีความเชื่อมโยงกันทั้งหลักสูตรและการเรียนการสอน ให้ก้าวทันการเปลี่ยนแปลง และสอดคล้องกับการเรียนรู้ยุคใหม่ เพื่อพัฒนาครู และการพัฒนาระบบการทดสอบ การวัดและประเมินผลที่ได้มาตรฐานและเชื่อมโยงกับหลักสูตรและการเรียนการสอน และการพัฒนาผู้เรียนซึ่งสอดคล้องกับความเป็นจริงที่ประเทศไทยจำเป็นต้องเตรียมเด็ก เยาวชน และคนไทยให้มีความพร้อมที่จะเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเศรษฐกิจ สังคม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม หรือโลกของศตวรรษที่ ๒๑ มิใช่เพียง เรียนรู้เพื่อตั้งรับเท่านั้น ยังต้อง เรียนรู้เพื่อเท่าทันและเป็นผู้นำให้ได้ด้วย จึงจะทำให้ประเทศชาติอยู่รอดและประชาชนอยู่ดีมีสุข ดังนั้น การเรียนรู้ที่เกิดขึ้นในระบบ นอกระบบ และตามอัธยาศัย จึงต้องเสริมสร้างความเข้มแข็งของกระบวนการเรียนรู้ให้กับผู้เรียน ให้เป็นผู้รู้จริง ผ่านการคิดไตร่ตรองและลงมือปฏิบัติด้วยตนเอง จนเกิดความรู้ที่คงทนและทักษะความชำนาญ

            สภาพปัจจุบัน (What is) ของการจัดการเรียนรู้ จะเห็นว่า สภาพการจัดการเรียนการสอนส่วนใหญ่ในระบบโรงเรียน นักเรียนจะได้รับความรู้จากการบอกเล่าของครูและจากหนังสือเรียนเป็นหลัก จุดเน้นของการเรียนการสอนและการวัดผล จึงอยู่ที่ความรู้ความเข้าใจและความสามารถในการจดจำเนื้อหาสาระที่ครูสอนให้ได้มากที่สุด ดังนั้น การเรียนรู้ลักษณะนี้จึงถูกจำกัดไว้เพียงความรู้ในหนังสือเรียนและความรู้ของครูผู้สอน การสอนจึงมีความหมายหลักอยู่ที่การถ่ายทอดความรู้จากครูสู่นักเรียน วิธีการบรรยายให้ความรู้เป็นวิธีสอนยอดนิยมของครู แต่ข้อมูลจากงานวิจัยและปิรามิดของการเรียนรู้จะเห็นว่า วิธีการนี้ก่อให้เกิดความรู้ที่ฝังแน่นคงทนน้อยมาก ข้อมูลเชิงประจักษ์นี้ จึงเป็นที่มาของ สอนมาก รู้น้อยนั่นแสดงว่า ความรู้ที่จำกัดจากหนังสือตำราและครูถ่ายทอดด้วยวิธีการที่ไม่มีประสิทธิผล ทำให้นักเรียนเรียนรู้อยู่ในวงจำกัด รู้เพียงผิวเผิน เมื่อจำเป็นต้องนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในชีวิตปัจจุบัน ทั้งการเรียนและการทำงาน รวมทั้งเมื่อนักเรียนต้องเข้ารับการทดสอบความสามารถระดับชาติและนานาชาติ จึงไม่สามารถดึงความรู้และทักษะที่พึงมีออกมาใช้ได้ ดังนั้น จึงจำเป็นต้อง ปรับการเรียน เปลี่ยนการสอน ในโรงเรียนส่วนใหญ่ของประเทศ เพราะนักเรียนจะเติบโตและอยู่รอดอย่างมีความสุขได้ ไม่ใช่อยู่ที่ ความรู้ในตำราแต่เป็น ความรู้ที่สร้างขึ้นจากการเรียนรู้-การคิด-การปฏิบัติของนักเรียนเอง

            การเรียนรู้ที่ควรจะเป็น (What should be) ซึ่งเป็นการเรียนรู้ที่พึงประสงค์ในศตวรรษที่ ๒๑ นี้ด้วย จะต้องเป็น การเรียนรู้แท้นั่นคือ เป็นการเรียนรู้ที่นักเรียนสร้างความรู้ด้วยตนเอง เป็นการเรียนรู้ด้วยกระบวนการทางปัญญา หรือกระบวนการคิด ในการพิจารณา ไตร่ตรอง วิเคราะห์ จำแนก เปรียบเทียบ ประเมินค่า เกิดการเชื่อมโยงข้อมูลความรู้เดิมกับข้อมูลความรู้ใหม่ และเป็นการเรียนรู้ที่อยู่บนฐานของความสนใจใคร่รู้ของนักเรียน โดยใช้สถานการณ์ในชีวิตจริงที่อยู่รอบตัวมาเป็นโจทย์การเรียนรู้ เพื่อฝึกฝนพัฒนากระบวนการเรียนรู้ให้เข้มแข็งและเป็นการประยุกต์ใช้ความรู้ ไม่เพียงเพื่อการเรียนรู้ของตนเอง ยังเป็นประโยชน์ต่อชุมชนด้วย

            สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้ตระหนักในความสำคัญจำเป็นของความรู้และทักษะที่นักเรียนจะต้องมี จึงกำหนดเป็นเป้าหมายการพัฒนานักเรียนขึ้น เพื่อให้แต่ละโรงเรียนประกันคุณภาพนักเรียน โดยระบุไว้ในมาตรฐานการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศให้ใช้มาตรฐานการศึกษาขั้นพื้นฐานเพื่อการประกันคุณภาพภายในของสถานศึกษา ตั้งแต่ วันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔ ซึ่งเป็นการดำเนินการตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พุทธศักราช ๒๕๔๒ โดยมีมาตรฐานเกี่ยวกับการแสวงหาความรู้และการคิด จำนวน ๒ ใน ๑๕ มาตรฐาน ดังนี้คือ (๑) มาตรฐานที่ ๓ ผู้เรียนมีทักษะในการแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง รักการเรียนรู้ และพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง และ(๒) มาตรฐานที่ ๔ ผู้เรียนมีความสามารถในการคิดอย่างเป็นระบบ คิดสร้างสรรค์ ตัดสินใจแก้ปัญหาได้อย่างมีสติสมเหตุสมผล นั่นแสดงให้เห็นว่า มาตรฐานที่ประกาศใช้ในปี ๒๕๕๔ และนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการในปี ๒๕๕๖ เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

            สำหรับความหลากหลายในวิธีการปฏิบัติเพื่อให้บรรลุนโยบายข้างต้นนั้น แต่ละโรงเรียนมีอิสระที่จะสามารถเลือกวิธีการ หรือกระบวนการที่สอดคล้องกับความถนัด ความสนใจ และต้นทุนเดิมของโรงเรียน เพื่อใช้เป็นกระบวนการหลักในการพัฒนานักเรียนทั้งโรงเรียน หรือครูผู้สอนแต่ละคนเอง ก็สามารถเลือกกระบวนการจัดการเรียนรู้ที่มุ่งให้นักเรียนบรรลุมาตรฐานของกลุ่มสาระการเรียนรู้ และมาตรฐานการศึกษาขั้นพื้นฐานดังกล่าวได้อย่างอิสระ ส่วนหน่วยงานต้นสังกัดทั้ง สพฐ. และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาสามารถให้การสนับสนุน ส่งเสริม เสนอแนะวิธีการ กระบวนการให้ผู้เกี่ยวข้องระดับโรงเรียนนำไปใช้ในการปรับปรุงคุณภาพการจัดการศึกษาได้ด้วย

            หากย้อนไปดูอดีตที่ผ่านมา จะเห็นว่า โรงเรียนและครูได้รับถ่ายทอดและเรียนรู้ที่จะใช้กระบวนการ/ นวัตกรรม/ วิธีการต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง ทุกกระบวนการ/ นวัตกรรมล้วนดีต่อการเรียนรู้ของผู้เรียนทั้งสิ้น แต่ที่ยังไม่เกิดผลสัมฤทธิ์ที่พึงประสงค์ต่อนักเรียนนัก ดูเพียงผิวเผินอาจเห็นว่า ไม่น่ายากเพราะขึ้นอยู่ที่ครูและผู้บริหารโรงเรียนเป็นหลัก แต่เมื่อลองวิเคราะห์และพิจารณาปัจจัยเงื่อนไขหลากหลายส่วนที่เกี่ยวข้อง จะเป็นว่ามีปัจจัยเงื่อนไขที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาคุณภาพนักเรียน ซึ่งมีความซับซ้อน ซ่อนเงื่อน และเชื่อมโยงกันทั้งระบบ หากสนใจปัจจัยและเงื่อนไขความสำเร็จของการจัดการการศึกษาขั้นพื้นฐาน โปรดศึกษาเอกสารประกอบการเสวนาในโอกาสครบรอบ ๑ ทศวรรษ สพฐ.ของ รศ.ดร.สุธรรม วาณิชเสนี (๘ ก.ค. ๒๕๕๖) เหลียวหลัง แลหน้า มองหาอนาคต-ปัจจัยและเงื่อนไขความสำเร็จการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน บทเรียนจากอดีตในทศวรรษที่ผ่านมา และความเป็นไปได้สำหรับอนาคต” <<โปรดคลิกที่นี่>> 

            สุดท้าย ขอเชื่อมโยงนโยบายในปี ๒๕๕๖ ที่เน้น ให้ผู้เรียนสามารถคิด วิเคราะห์ แก้ปัญหา และเรียนรู้ได้ด้วยตนเองอย่างต่อเนื่อง กับสิ่งที่การศึกษาขั้นพื้นฐานมีต้นทุนเดิมที่ทำอยู่ ซึ่งมีเป้าหมายเจตนาเพื่อให้นักเรียนทำได้ ทำเป็น เช่นจุดเน้นปีนี้ ดังนี้

            ๑. บันได ๕ ขั้นของการเรียนการสอน เป็นกระบวนการที่ส่งเสริมดำเนินการในโรงเรียนมาตรฐานสากล ปี ๒๕๕๕ ของ สพฐ. ขั้นที่ ๑ ตั้งคำถาม/สมมุติฐาน (Hypothesis Formulation) ขั้นที่ ๒ สืบค้นความรู้ (Searching for Information) ขั้นที่ ๓ สรุปองค์ความรู้ (Knowledge Formation) ขั้นที่ ๔ สื่อสารและนำเสนอ (Effective Communication) และขั้นที่ ๕ บริการสังคมและจิตสาธารณะ (Public Service) และเป็นขอบข่ายงานที่ปรากฏอยู่ใน TOR เพื่อการพัฒนาครูโดยใช้ระบบ Coaching and Mentoring ในปี ๒๕๕๖ ทุกสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ
            ๒. กระบวนการวิจัย ๔ ขั้นตอน เป็นกระบวนการที่ส่งเสริมดำเนินการในโรงเรียนโครงการสร้างวัฒนธรรมการวิจัย ปี ๒๕๕๔ ประกอบด้วย ขั้นที่ ๑ ตั้งคำถาม ขั้นที่ ๒ เตรียมการค้นหาคำตอบ ขั้นที่ ๓ ดำเนินการค้นหาและตรวจสอบคำตอบ และขั้นที่ ๔ สรุปและนำเสนอผลการค้นหาคำตอบ
            ๓. โครงงานคุณธรรม หรือ Project-based Learning (PBL) เป็นกระบวนการที่ส่งเสริมให้ดำเนินการในโรงเรียนวิถีพุทธและโรงเรียนทั่วไป มีการประกวดโครงงานคุณธรรมระดับประเทศมาอย่างต่อเนื่อง ประกอบด้วย ๖ ขั้นตอน ได้แก่ ขั้นตอนที่ ๑ การตระหนักรู้และพิจารณาเลือกหัวเรื่องหรือประเด็นปัญหา ขั้นตอนที่ ๒ การรวบรวมประมวลข้อมูลและองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้อง ขั้นตอนที่ ๓ การจัดทำร่างโครงงาน ขั้นตอนที่ ๔ การดำเนินการโครงงาน ขั้นตอนที่ ๕ การสรุปประเมินผลและเขียนรายงาน ขั้นตอนที่ ๖ การนำเสนอโครงงาน รายละเอียดโปรดศึกษาคู่มือโครงงานคุณธรรมเฉลิมพระเกียรติ พุทธชยันตีเฉลิมราช ปีการศึกษา ๒๕๕๔ <<โปรดคลิกที่นี่>>
            ๔. Research-based Learning (RBL) เป็นกระบวนการที่ส่งเสริมให้โรงเรียนดำเนินการโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ในโครงการยุววิจัยต่างๆ เช่น ยุววิจัยประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ยุววิจัยยางพารา ยุววิจัยเศรษฐกิจชุมชน
            ๕. โครงสร้างทักษะกระบวนการคิด เป็นกระบวนการที่ส่งเสริมให้โรงเรียนการคิดนำร่อง จำนวน ๓๕๐ โรงเรียน ดำเนินการในช่วงวิกฤตผลการคิดวิเคราะห์ในปี ๒๕๕๐-๒๕๕๒ ในโครงการขับเคลื่อนการคิดสู่ห้องเรียน ประกอบด้วยกระบวนการ ๔ ขั้นตอน ได้แก่ (๑) การรวบรวมและเลือกข้อมูล (Gathering) (๒) การจัดกระทำข้อมูล (Processing) (๓) การประยุกต์ใช้ความรู้ (Applying) และ(๔) การกำกับตนเอง/ เรียนรู้ได้เอง (Self-regulating) ภายใต้โครงการขับเคลื่อนการคิดสู่ห้องเรียน ยังมีโครงการวิจัยย่อย อาทิ
            ๕.๑ การจัดการเรียนรู้โดยใช้ทักษะการแก้ปัญหาอนาคต (Future Problem Solving) เพื่อพัฒนาความสามารถในการคิดแก้ปัญหาและคิดสร้างสรรค์ของผู้เรียน โดย ศาสตราจารย์ ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช และคณะนักวิจัยจากวชิราวุธวิทยาลัย
            ๕.๒ การวิจัยและพัฒนารูปแบบการขับเคลื่อนการสอนคิดสู่ห้องเรียนแบบสอดแทรกในการจัดการเรียนการสอน โดยบริติช เคานซิล ประเทศไทย
            ๕.๓ การพัฒนาการคิดทางคณิตศาสตร์ของนักเรียนด้วยวิธีการวิจัยและพัฒนาแผนการสอน (Lesson Study) และวิธีการแบบเปิด (Open Approach) โดยศูนย์วิจัยคณิตศาสตร์ศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ไมตรี อินทร์ประสิทธิ์ และคณะ)
            ๕.๔ การพัฒนาการจัดการเรียนการสอนโดยใช้ปัญหาเป็นฐาน (problem-based Learning) เพื่อขับเคลื่อนการคิดสู่ห้องเรียน โดยมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ (รองศาสตราจารย์ ดร.อัญชลี ชยานุวัตร และคณะ)
            ๕.๕ การสังเคราะห์รูปแบบ เทคนิค วิธีการ กระบวนการ นวัตกรรมการจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาการคิดของผู้เรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยศูนย์พัฒนาวิชาชีพครู คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (รองศาสตราจารย์ ดร.สิริพันธุ์ สุวรรณมรรคา และคณะ) สนใจศึกษาผลการวิจัยผ่านฐานข้อมูล <<โปรดคลิกที่นี่>>
            ๕.๖ การพัฒนาเครื่องมือวัดและประเมินผลการคิดของผู้เรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยศูนย์ทดสอบและประเมินเพื่อพัฒนาการศึกษาและวิชาชีพ คณะครุศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ศาสตราจารย์ ดร.ศิริชัย กาญจนวาสี และคณะ) สนใจรายงานการวิจัย  <<โปรดคลิกที่นี่>>

            จะเห็นได้ว่า ความพยายามพัฒนาคุณภาพนักเรียนมีมาอย่างต่อเนื่อง มีกรณีที่น่าสนใจของโรงเรียนที่ปฏิบัติได้ดีมีอยู่จำนวนมาก รวมทั้ง สพฐ.และภาคีเครือข่ายมีกระบวนการ/ นวัตกรรม/ วิธีการที่หลากหลายให้โรงเรียนและครูเลือกไปประยุกต์ใช้พัฒนาผู้เรียน สิ่งสำคัญคือ สิ่งที่มีอยู่เหล่านี้จะต่อยอดเชื่อมโยงให้กลายเป็นพลังเพื่อขับเคลื่อนคุณภาพการศึกษาได้อย่างไร ทางเลือกหนึ่งคือ เราจะพิจารณาระบบหลักสูตร การเรียนการสอน และการประเมินผล ร่วมกับการพิจารณาระบบอื่นๆ ที่เชื่อมโยงส่งผลถึงกัน โดยคิดต่อจากข้อเสนอของ รศ.ดร.สุธรรม วาณิชเสนี ที่สรุปจากงานวิจัย Thailand K-12 Education System: Progress and Failure ไว้ว่า ปัจจัยความสำเร็จของการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ๓ ประการ ในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้แก่ มุมมองการศึกษาเชิงระบบ นโยบายและกลยุทธ์ที่มาจากการวิเคราะห์ระบบการศึกษา และการบริหารจัดการการดำเนินการ ที่ดำเนินโดยความร่วมมือของจตุภาคี บนเงื่อนไขของการสร้างความหมายและคุณค่าร่วมกัน การสร้างความสามารถของระบบการศึกษาอย่างต่อเนื่อง การส่งเสริมการเรียนรู้ในการรับผิดชอบและความเป็นอิสระในการบริหารจัดการ การพัฒนาความสามารถในการสร้างความรู้ และการให้การสนับสนุนในการดำเนินการ
----------------------------------