หน้าเว็บ

วันศุกร์ที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2556

เรียนรู้ด้วยวิจัย: โรงเรียนอนุบาลเมืองลำพูน จ.ลำพูน

โรงเรียนอนุบาลเมืองลำพูน: ผู้นำเล่น & เน้นปัญหาชุมชน
พิทักษ์ โสตถยาคม

โรงเรียนอนุบาลเมืองลำพูน (บ้านป่าเห็วอภิวงค์ประชานุกูล) เป็นโรงเรียนอนุบาลประจำอำเภอ เปิดสอนระดับชั้นอนุบาลปีที่ 1 – ประถมศึกษาปีที่ 6 ตั้งอยู่หมู่ที่ 5 ตำบลอุโมงค์ อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน อยู่ห่างจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาลำพูน เขต 1  ระยะทาง 14 กิโลเมตร ปีการศึกษา 2555 นี้มีนักเรียน 401 คน มีข้าราชการครู 20 คน ครูอัตราจ้าง 5 คน นายวิลาศ ศรีพายัพ เป็นผู้อำนวยการโรงเรียน ครูแกนนำ จำนวน 2 คน ประกอบด้วย (1) นางจิตสุภัค มานะการ ครูวิทยฐานะชำนาญการพิเศษ สอนกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ปัจจุบันสอนวิทยาศาสตร์ในส่วนของรายวิชาเพิ่มเติม ระดับชั้น ป.4-6 ห้องเรียนละ 1 ชั่วโมง และ (2) นางสาวธีราภรณ์ คำฟู พนักงานราชการ สอนกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ (ภาษาอังกฤษ) ระดับชั้น ป.1-6 นอกจากนั้นยังมี ดร.วิชากร ลังกาฟ้า ศึกษานิเทศก์ชำนาญการพิเศษ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาลำพูน เขต 1 เป็นผู้ให้การสนับสนุนส่งเสริมการจัดการเรียนรู้ของครูอีกด้วย


ในการติดตามผลครั้งนี้มีคณะติดตาม 4 คน ประกอบด้วย อ.วิไล แสงเหมือนขวัญ อ.วงเดือน โปธิปัน อ.สมชัย แซ่เจีย และผม พิทักษ์ โสตถยาคม ได้ติดตามผลการส่งเสริมให้นักเรียนใช้กระบวนการวิจัยของโรงเรียนอนุบาลเมืองลำพูน ในวันศุกร์ที่ 1 มีนาคม 2556 ซึ่งมีกิจกรรมการพูดคุยกับผู้บริหารโรงเรียน การสังเกตการสอนครูแกนนำ และการประชุมสะท้อนผลการเรียนรู้ร่วมกัน ซึ่งมีข้อค้นพบ ดังนี้
1. การสังเกตการสอน การสังเกตการสอนวิชาวิทยาศาสตร์ในรายวิชาเพิ่มเติมของคุณครูจิตสุภัค มานะการ สอนนักเรียนชั้น ป.4 มีนักเรียน จำนวน 26 คน เป็นชาย 11 คน หญิง 15 คน เรื่องที่สอนวันนี้เป็นเรื่อง ขยะในชุมชน ในรายวิชา ว14201 ขยะในชุมชน 1 ซึ่งกิจกรรมต่อเนื่องหลังจากที่นักเรียนได้ไปสำรวจขยะในโรงเรียน/ บ้าน/ ชุมชน ว่าพบเห็นขยะอะไรมากที่สุด และเกิดผลกระทบอย่างไรบ้าง กิจกรรมการจัดการเรียนรู้วันนี้ เป็นการทบทวนการเรียนรู้ในกิจกรรมที่นักเรียนได้ดำเนินการผ่านมา โดยครูนำเสนอด้วย PowerPoint เกี่ยวกับผลสรุปการสำรวจขยะในโรงเรียนจากแบบสำรวจของนักเรียนแต่ละกลุ่ม ซึ่งพบว่าขยะที่มีมากที่สุดคือหลอดดูด และยังพบขยะประเภทอื่นด้วยแต่มีไม่มาก อาทิ กล่องโฟม เศษเหล็ก กระป๋อง น้ำอัดลม เศษผ้า แล้วนำเสนอข้อมูลแหล่งก่อกำเนิดขยะว่ามีทั้งจากนักเรียน ครู แม่ครัว นักการ แม่ค้า ผู้ปกครอง แขกที่มาเยี่ยมโรงเรียน สัตว์ และสรุปว่าขยะในโรงเรียนมาจากนักเรียนมากที่สุด จากนั้นครูทบทวนว่า นักเรียนได้ใช้แบบเก็บข้อมูล จำนวน 7 ฉบับ ในการทำโครงการสำรวจครั้งนี้ เช่น แบบสำรวจขยะในโรงเรียน แบบสรุปผล แบบสำรวจขยะในชุมชน แบบสรุปการสำรวจขยะในชุมชน จากนั้นครูนำเสนอข้อมูลผลการสำรวจวิธีการกำจัดขยะในชุมชนที่นักเรียนสำรวจพบ จำนวน 26 รายการ และแต่ละรายการมีข้อมูลจากการวิเคราะห์ของนักเรียนว่า เป็นวิธีการกำจัดขยะที่ถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง ครูซักถามนักเรียนบางคนเกี่ยวกับวิธีการกำจัดขยะบางประเภท ได้แก่ วิธีการทำน้ำหมัก การแยกขยะ และผลเสียของการเผาขยะ ช่วงสุดท้าย ครูได้อธิบายว่า ผลจากการสำรวจที่นักเรียนได้ดำเนินการไปแล้ว ท้ายที่สุดนักเรียนจะได้โครงงานคนละ 1 เรื่อง และครูนำตัวอย่างเอกสารรายงานโครงงานของรุ่นพี่ชั้น ป.6 มาให้นักเรียนดูว่าองค์ประกอบของรายงานมีอะไรบ้าง และบอกนักเรียนให้ทราบว่า นักเรียนจะต้องทำผลงาน 3 ชิ้น ได้แก่ (1) แผ่นพับ (2) ฟิวเจอร์บอร์ด (สำหรับจัดแสดงนิทรรศการ) และ(3) เอกสารรายงานโครงงานวิทยาศาสตร์ ประเภทสำรวจ (ให้นักเรียนตั้งชื่อรายงานเอง เช่น วิธีมหัศจรรย์ในการกำจัดขยะ)
2. ผลการพูดคุยกับผู้บริหารโรงเรียน ผอ.วิลาศ ศรีพายัพ ได้เล่าให้ทีมติดตามฟังว่า หลังจากครูแกนนำกลับจากไปร่วมประชุมครั้งแรกของโครงการ โรงเรียนได้นำมาลองทำ และมาคุยกันถึงผลแลปัญหาที่พบ ซึ่งโรงเรียนได้ให้ทำวิชาละ 1 หน่วยการเรียนรู้ และปีการศึกษาต่อไปจะเพิ่มเป็นวิชาละ 2 หน่วยการเรียนรู้ ที่ผ่านมาโรงเรียนได้เผยแพร่การจัดการเรียนรู้ตามจุดเน้นของโครงการไปยังโรงเรียนอื่นๆ เป็นระยะๆ มีการสร้างความเข้าใจให้กับครูโรงเรียนต่างๆ ในวันเสาร์-อาทิตย์ ร่วมกับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาลำพูน เขต 1 รวมทั้งเปิดรับการศึกษาดูงานจากโรงเรียนที่สนใจเพิ่มเติมด้วย เทคนิคการบริหารจัดการโครงการเพื่อเอื้ออำนวยให้ครูพัฒนางานอย่างเต็มที่ก็คือ (1) บรรจุโครงการสร้างวัฒนธรรมการวิจัยไว้ในแผนงานโครงการของโรงเรียน (2) สนับสนุนงบประมาณจัดการเรียนรู้และเขียนรายงานผลการสร้างวัฒนธรรมการวิจัยของในวิชาของครู คนละ 1,000 บาท ในลักษณะกิจกรรมแลกเป้า (นำงานมาส่งจึงได้รับเงิน) (3) สนับสนุนงบประมาณให้พัฒนาสื่อและปรับปรุงบรรยากาศการเรียนรู้ในห้องเรียน ห้องเรียนละ 4,000 บาท (4) จัดเจ้าหน้าที่เพื่อพิมพ์งานให้ครู ซึ่งมีครูประมาณ 50% ได้ใช้บริการเจ้าหน้าที่พิมพ์นี้ (5) การติดตามงานใช้การพูดคุยกันในที่ประชุมทุกเดือน แต่ก็ถือว่าทำได้ไม่เต็มที่นัก รวมทั้งไม่ได้เข้าไปสังเกตการสอนหรือติดตามดูในห้องเรียน
3. ผลการประชุมครูผู้สอน จากการประชุมครูแกนนำและครูผู้สนใจ พบว่า ครูเห็นว่าการจัดการเรียนรู้ที่ให้นักเรียนใช้กระบวนการวิจัยเป็นกระบวนการสำคัญที่ต้องปลูกฝัง และการดำเนินการครั้งนี้มีความสอดคล้องกับจุดเน้นของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาในเรื่องห้องเรียนคุณภาพ และการเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ได้ข้อมูลสะท้อนจากที่ประชุมว่า นักเรียนมีเจตคติที่ดีต่อการวิจัย นักเรียนตั้งใจเรียน กล้าแสดงออก ได้ออกไปเรียนรู้ในโลกกว้าง รวมทั้งนักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนดีขึ้นเพราะนักเรียนได้มีโอกาสเรียนรู้ด้วยการลงมือทำ
4. การสะท้อนคิด ขอนำข้อความที่ได้เขียนลงสมุดนิเทศของโรงเรียนอนุบาลเมืองลำพูนในวันนั้น มานำเสนอ ดังนี้
วันนี้ข้าพเจ้านายพิทักษ์ โสตถยาคม นักวิชาการศึกษา สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา สพฐ. กระทรวงศึกษาธิการ ได้มาติดตามผลการใช้กระบวนการวิจัยของนักเรียนโรงเรียนอนุบาลเมืองลำพูน พร้อมด้วย อ.วิไล แสงเหมือนขวัญ อ.วงเดือน โปธิปัน และอ.สมชัย แซ่เจีย กิจกรรมการติดตามในวันนี้ เราได้พูดคุยทำความเข้าใจกับผู้บริหารโรงเรียนเกี่ยวกับการติดตามผลครั้งนี้ว่า มาเพื่อร่วมชื่นชมการปฏิบัติจริง ตามสภาพที่แท้จริงของโรงเรียน ได้สังเกตการณ์สอนของครูจิตสุภัค มานะการ สอนวิทยาศาสตร์ กลุ่มสาระเพิ่มเติม ชั้น ป.4 เห็นถึงความมั่นใจในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ของครู ครูพยายามกระตุ้นให้นักเรียนตอบคำถาม ด้วยคำถามเพื่อการทบทวน กิจกรรมสำรวจปัญหาขยะในโรงเรียนและชุมชน ได้เห็นว่าครูมีใบงานให้เด็กทำ จำนวน 7 ใบงาน ซึ่งมีร่องรอยว่า เด็กๆ ได้ไปสำรวจจริง หลังจากนั้น เราได้พูดคุยกับครู นักเรียน และผู้บริหารโรงเรียนเพิ่มเติม รวมทั้งกิจกรรมสุดท้ายคือ การพูดคุยสะท้อนผลการเรียนรู้ร่วมกับคณะครู จำนวน 7 คน ที่ได้ผ่านการจัดกิจกรรมการเรียนรู้โดยให้นักเรียนใช้กระบวนการวิจัย
สิ่งที่เราค้นพบมีสิ่งดีๆ ที่โรงเรียนได้ดำเนินการหลากหลาย อาทิ ผู้บริหารโรงเรียนกำหนดโครงการสร้างวัฒนธรรมการวิจัยไว้ในแผนงานของโรงเรียน มีการสนับสนุนงบประมาณให้ครูทุกคนในการพัฒนาผลงานการจัดการเรียนรู้ด้วยวิจัย คนละ 1,000 บาท มีการจัดปัจจัยเกื้อหนุนให้ครูรู้สึกสบายใจว่ามีคนช่วยพิมพ์งานคอมพิวเตอร์ ที่คุณครูไม่ถนัด นั่นคือ จัดจ้างครูธุรการมาช่วยพิมพ์ผลงาน นอกจากนั้น โรงเรียนยังเห็นประโยชน์/ คุณค่าของการมีคนภายนอกมาศึกษาดูงาน โดยส่งเสริมให้ครูแกนนำ 2 คน ไปเป็นวิทยากรเผยแพร่ผลการดำเนินงานของโรงเรียนให้โรงเรียนอื่นได้นำไปประยุกต์ใช้ สุดท้ายก็เห็นว่า ครูทุกคนมีผลงานจากการสอน จากการจัดการเรียนรู้ให้นักเรียนใช้กระบวนการวิจัย และการทำวิจัยของครูในลักษณะการวิจัยในชั้นเรียน รวมทั้งการวิจัยแบบ 5 บท ก็มีให้เห็นได้ทั่วไปในโรงเรียนแห่งนี้
            ประเด็นเพิ่มเติมที่อยากเติมเต็มให้การดำเนินงานของนักเรียน ครู และผู้บริหาร ให้นำไปพิจารณาประเด็นต่อไปนี้ร่วมกันระหว่างครูและผู้บริหารโรงเรียน เพื่อให้ตกผลึกเป็นข้อตกลงของโรงเรียน เป็นแบบฉบับของโรงเรียนเอง ดังนี้
·        หัวใจสำคัญของการเรียนรู้ คือ คือ ต้องกระตุ้นให้นักเรียนเกิดความกระหายใคร่รู้ อยากเรียนรู้อย่างแท้จริง เพื่อให้นักเรียนเป็น “ผู้เรียนรู้ (learner)” อย่างเด่นชัด
·        จากการรับฟังความคิดของครู พบว่า ครูมีพลังที่ต้องการพัฒนาผู้เรียนจริงๆ มีเจตนาดี หวังดี อยากให้เด็กเรียนรู้ได้อย่างลึกซึ้ง เพียงแต่ยังรู้สึกไม่มั่นใจ ยังมีคำถามค้างคาใจที่ต้องการให้มีการสร้างความกระจ่าง ดังนั้น จึงอยากเชียร์ให้ผู้บริหารโรงเรียน และคุณครูได้ “ตั้งกลุ่มพูดคุยกัน-แบบกันเอง” ว่า ใครทำดีได้เพียงใด มีความภาคภูมิใจอย่างไร ก็เชื่อว่า บรรยากาศของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้แบบกัลยาณมิตร จะช่วยหนุนเสริมให้เกิดเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ของครูทั้งโรงเรียน ก็เชื่อได้ว่า พลังของครูแต่ละคนจะช่วยเกื้อหนุนให้เกิดการเติมเต็มซึ่งกันและกันอย่างดียิ่ง
·        การพัฒนาผู้เรียนเป็นเรื่องของการดำเนินงานเชิงคุณภาพ ผลงานเด็กที่เกิดขึ้น จึงควรมีวิธีการประเมินด้วยหลักการเชิงคุณภาพด้วย จึงควรศึกษาแนวทางการใช้ระดับคุณภาพ (Rubrics) มาใช้ในการประเมินคุณภาพผู้เรียน มากกว่าเพียงใช้คะแนนสอบแบบเลือกตอบเพียงอย่างเดียว
ขอเป็นกำลังใจ และชื่นชมในการปฏิบัติของคณะครูทุกท่าน หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ผลการดำเนินงานของโรงเรียนที่ดูได้จาก “ตัวเด็ก” จะโดดเด่น เป็นเอกลักษณ์ ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ของโรงเรียนอื่นๆ ต่อไป”
........................................