หน้าเว็บ

วันพุธที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2556

ปฏิรูปการเรียนรู้: คิด-คิด-คิด

 ปฏิรูปการเรียนรู้: คิด-คิด-คิด
พิทักษ์ โสตถยาคม

วันอาทิตย์ที่ 18 สิงหาคม 2556 เวลา 15.30-17.00 น. ผมได้เข้าร่วมสังเกตการณ์การประชุมเรื่อง ปฏิรูปการเรียนรู้ทั้งระบบ: ปรับการเรียนเปลี่ยนการสอน ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น งานสัมมนาครั้งนี้จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (นายจาตุรนต์ ฉายแสง) เป็นประธาน มีผู้ทรงคุณวุฒิทางการศึกษาหลายคนเข้าร่วม การประชุมมุ่งพิจารณา 4 ประเด็น คือ (1) ทิศทางและเป้าหมายการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนในแต่ละช่วงวัย (2) ปรับกระบวนทัศน์การจัดการเรียนการสอนที่เน้นทักษะการคิด (3) ปรับการวัดและประเมินผลที่สะท้อนความสามารถของผู้เรียน และ(4) สร้างกลไกการกำกับติดตามอย่างครบวงจร แม้ว่าผมจะไม่ได้เข้าร่วมตั้งแต่ต้น เพราะไปเข้าอบรมโครงการผู้นำเพื่อการเปลี่ยนแปลงทางการศึกษา (นปศ. รุ่นที่ 1) ระหว่าง 15-18 ส.ค. 2556 โดยความร่วมมือของ ศธ. และ สสส. ที่ สคบศ.(วัดไร่ขิง) แต่ก็เห็นประเด็นที่น่าสนใจในช่วงท้ายของการประชุมได้ดังนี้


1.    มุ่งเน้น “ส่งเสริมกระบวนการคิด” โดยจะมี “ตัวช่วย” ในการจัดการเรียนการสอน ทั้ง 5 เรื่อง ได้แก่ (1) หลักสูตร (2) องค์ความรู้การส่งเสริมการคิด (3) การเผยแพร่ความรู้สู่ครู (4) การส่งเสริมของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และ(5) การสนับสนุนของส่วนกลาง รวมทั้งจะมีความชัดเจนในบทบาทของผู้เกี่ยวข้องในการมุ่งเป้าหมายไปที่ความสามารถในการคิดของผู้เรียนและการเป็นส่วนหนุนเสริมการทำหน้าที่ของครู
2.    ใช้การวัดและประเมินผลเป็นตัวขับเคลื่อน หรือ Assessment-Driven Reform ปรับการวัดและประเมินผลระดับชาติ ให้เน้นการคิด จะมีการกำหนดนิยามให้ชัดเจนเข้าใจตรงกัน โดยเครื่องมือวัดผลจะเป็นลักษณะข้อสอบ PISA รวมทั้งให้มีการทดสอบได้มากกว่าปีละ 1 ครั้ง ดังนั้น จะมีคลังข้อสอบที่ส่วนกลางจัดทำขึ้น และจะนำไปสู่การประเมินเพื่อการเรียนรู้ (Assessment for Learning) ในขณะเดียวกันก็จะต้องมีกระบวนการปลูกฝังและพัฒนาความชื่อสัตย์ในการประเมินด้วย
3.    ควรทบทวนมาตรฐานด้านผู้เรียนและให้ได้ข้อยุติร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สพฐ. สทศ. สมศ. ว่าจะยังคงใช้ 6 มาตรฐานนี้อยู่หรือไม่ [ผมเข้าใจว่าคือ มาตรฐานการศึกษาขั้นพื้นฐาน ที่มีมาตรฐานด้านผู้เรียน 6 มาตรฐาน ได้แก่ (1)  ผู้เรียนมีสุขภาวะที่ดีและมีสุนทรียภาพ (2) ผู้เรียนมีคุณธรรม จริยธรรม และค่านิยมที่พึงประสงค์ (3)  ผู้เรียนมีทักษะในการแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง รักการเรียนรู้ และพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง (4)  ผู้เรียนมีความสามารถในการคิดอย่างเป็นระบบ คิดสร้างสรรค์ ตัดสินใจแก้ปัญหาได้อย่างมีสติสมเหตุผล (5) ผู้เรียนมีความรู้และทักษะพื้นฐานที่จำเป็นตามหลักสูตร และ(6)  ผู้เรียนมีทักษะในการทำงาน รักการทำงาน สามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้  และมีเจตคติที่ดีต่ออาชีพสุจริต]
4.    ต้องมีพันธสัญญา (commitment) ของส่วนกลาง เขต และโรงเรียนที่ชัดเจน เป็นเหมือนสิ่งที่ “รับปากแล้วต้องทำ” รวมทั้งมีระบบกลไกการกำกับติดตามแบบครบวงจร ที่ประชุมได้รับทราบการเตรียมใช้กระบวนการ Triple A ของ สพฐ.ในการติดตามผลการดำเนินงานตามนโยบายครั้งนี้ AAA ประกอบด้วย Analyze (นำข้อมูลที่เกี่ยวข้องมาวิเคราะห์ตัวชี้วัดเพื่อขับเคลื่อนการทำงาน 5 ด้าน ได้แก่ ด้านโอกาส, คุณภาพ, การพัฒนาครู, ICT และระบบบริหาร) Alert (นำข้อมูลการปฏิบัติมาแสดงผลเพื่อเฝ้าระวังเป็นสีเขียว-เหลือง-แดง พร้อมใช้การประชุมหา solutions-แนวทางการแก้ไข) Action (ลงมือปฏิบัติเพื่อปรับปรุงการดำเนินงาน) ซึ่งการติดตามผลด้วย Triple A นี้สามารถเรียกดูผ่านระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ใช้ระบบ iOS และ Android ทั้งนี้ อาจผนวก Triple A อยู่ในรายงานประจำปีของโรงเรียนที่เป็นส่วนหนึ่งในการประกันคุณภาพภายใน
5.    จะมีการตั้งวงพูดคุย/ Workshop ของผู้เชี่ยวชาญและคณะทำงาน เพื่อกำหนดแนวทางและกลไกการขับเคลื่อนพัฒนากระบวนการเรียนการสอน เพื่อให้ผู้เรียนสามารถคิด วิเคราะห์ แก้ปัญหา และเรียนรู้ได้ด้วยตนเองอย่างต่อเนื่องในทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ โดยในระยะแรกจะมุ่งเน้นไปที่กลุ่มสาระการเรียนรู้ 4 กลุ่มสาระ ได้แก่ วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ภาษาต่างประเทศ และภาษาไทย

จะเห็นได้ว่าการประชุมวันนี้ เป็นการกระตุ้นความคิดและสร้างความเข้าใจร่วมกัน ของหน่วยงานและภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องในการขับเคลื่อนนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ ถือเป็นกระบวนการ “ตั้งโจทย์” เพื่อนำไปร่วมคิด ร่วมทำเพื่อให้สิ่งที่เป็นความพยายามมาอย่างยาวนานได้เกิดขึ้นและเป็นจริง

สะท้อนคิด: กระทรวงศึกษาธิการหยิบเรื่อง “การส่งเสริมกระบวนการคิด” มาเอาจริงอีกครั้ง จำเป็นต้องหากลยุทธ์การขับเคลื่อนใหม่เพื่อสื่อสารเรื่องการคิดให้ไปถึงครูผู้สอนให้เร็วที่สุด ให้เกิดความเข้าใจที่ชัดเจน สามารถวิเคราะห์การสอนของตนเองได้ ว่าสอดคล้องกับการสอนที่เน้นการคิดมากน้อยเพียงใด วิเคราะห์ผู้เรียนแต่ละคนได้ว่ามีระดับความสามารถในการคิดเพียงใด และเห็นเส้นทางการพัฒนาเพื่อยกระดับความสามารถในการคิดให้สูงขึ้น จนครูสามารถปรับปรุงหน่วยการเรียนรู้และแผนการจัดการเรียนรู้ให้ผู้เรียนได้ฝึกฝนพัฒนาการคิด นำไปสู่การสอนจริงจนเกิดความมั่นใจ และครูใช้การจัดการเรียนการสอนที่เน้นการคิดอย่างเป็นวิถีชีวิต เป็นประจำสม่ำเสมอ เพราะการเรียนการสอนระดับห้องเรียนเป็น Focal Point ของการพัฒนากระบวนการคิด สำหรับการพัฒนาครูจะต้องมีเป้าหมายเพื่อช่วยให้ครูเกิดแรงจูงใจภายใน ค้นพบแรงบันดาลใจด้วยตนเอง เข้าใจและตระหนักด้วยตนเองในเหตุผลความจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนแปลงตนเองและการจัดการเรียนการสอน รวมทั้งควรมีระบบการช่วยเหลือพัฒนาครูแบบหนุนนำต่อเนื่อง ที่มากเพียงพอ ที่จะทำให้กระบวนการเปลี่ยนผ่านมีประสิทธิผล  ไม่เกิดขึ้นเพียงลำพัง หรือตามยถากรรม อาจใช้ระบบการชี้แนะและการเป็นพี่เลี้ยง (coaching and mentoring) ที่เรามีต้นทุนเดิมอยู่แล้วเป็นตัวช่วยหนึ่ง ซึ่งเมื่อครูจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่เน้นการคิดแล้ว เชื่อได้ว่า ปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูและผู้เรียน จะเปลี่ยนไปอย่างมีนัยสำคัญ

------------------------------------------------