หน้าเว็บ

วันศุกร์ที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2556

เรียนรู้ด้วยวิจัย: โรงเรียนบ้านพวงพยอม จ.พะเยา

โรงเรียนบ้านพวงพยอม: บูรณาการทุกงานสู่การวิจัย
พิทักษ์  โสตถยาคม

โรงเรียนบ้านพวงพยอมเป็นโรงเรียนที่จัดการศึกษาภาคบังคับ เปิดสอนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 – มัธยมศึกษาปีที่ 3 ตั้งอยู่หมู่ที่ 6 ตำบลหงส์หิน อำเภอจุน จังหวัดพะเยา อยู่ห่างจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาพะเยา เขต 2 ระยะทาง 25 กิโลเมตร ปีการศึกษา 2555 นี้มีนักเรียน 167 คน มีข้าราชการครู 16 คน ครูอัตราจ้าง 4 คน นายนิทัศ ใจหลวง เป็นผู้อำนวยการโรงเรียน ตั้งแต่เริ่มเข้าร่วมโครงการในปี 2554 มีครูแกนนำ 2 คน ดำเนินการต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ได้แก่ ครูกัญญาณัฐ มีคง เป็นครูผู้สอนกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย และครูรุ่งนภา บุญวงศ์ เป็นครูกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ครูทั้งสองคนเลือกกลุ่มเป้าหมายเป็นนักเรียนระดับชั้นเดียวกัน นั่นคือ ปีการศึกษา 2554 ดำเนินการกับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ปีการศึกษา 2555 ยังคงดำเนินการกับนักเรียนกลุ่มเดิม ซึ่งปัจจุบันอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 มีศึกษานิเทศก์สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาพะเยา เขต 2 คือ ดร.สกาวรัตน์ ชุ่มเชย เป็นพี่เลี้ยงให้การนิเทศ

การติดตามผลของการส่งเสริมให้นักเรียนใช้กระบวนการวิจัยของโรงเรียนบ้านพวงพะยอม วันพุธที่ 27 กุมภาพันธ์ 2556 มีคณะทำงาน 3 คน ประกอบด้วย อ.วิไล แสงเหมือนขวัญ อ.วงเดือน โปธิปัน และผม พิทักษ์ โสตถยาคม กิจกรรมการติดตามผล ได้แก่ การชี้แจงจุดมุ่งหมายของการติดตามผล การสังเกตการสอน การสัมภาษณ์นักเรียน ครู และผู้บริหารโรงเรียน และการประชุมสะท้อนผลการเรียนรู้ร่วมกัน ซึ่งมีข้อค้นพบ ดังนี้
1. การสังเกตการสอน ห้องเรียนชั้น ม.2 มีนักเรียน จำนวน 19 คน เป็นชาย 9 คน หญิง 10 คน มีคุณครูรุ่งนภา บุญวงศ์ เป็นครูผู้สอน เรื่องที่สอนวันนี้เป็นเรื่อง นัยน์ตาและการมองเห็น กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ สำหรับกิจกรรมการจัดการเรียนรู้ ประกอบด้วย ครูนำกล่อง 1 ใบ มาให้นักเรียนทายว่า อะไรอยู่ข้างใน ซึ่งนักเรียนไม่ทราบ ครูจึงถามว่า ทำอย่างไรจึงจะทราบว่ามีอะไรอยู่ จากนั้นครูให้ตัวแทนนักเรียน 2 คน คลำสิ่งที่อยู่ในกล่องและทาย และนักเรียนบอกว่าถ้าจะให้มั่นใจต้องใช้ตาดู ครูถามให้นักเรียนระบุว่า กิจกรรมนี้ใช้ประสาทสัมผัสทั้ง 5 ตา หู จมูก ลิ้น และกายสัมผัส จากนั้น ครูเน้นว่า ประสาทสัมผัสใดทำให้มองเห็น รวมทั้งถามว่าหากปิดไฟ-เปิดไฟสิ่งใดจะทำให้มองเห็น
ครูนำรูปภาพสัตว์ 6 ภาพมาให้นักเรียนดูและให้ตอบว่า สัตว์แต่ละชนิดในภาพออกหากินเวลากลางวันหรือกลางคืน ภาพสัตว์ ประกอบด้วย แมว นกฮูก ไก่ นก หมี และพญากระรอกบินหูแดง ครูให้นักเรียนเปรียบเทียบตาของสัตว์ที่หากินทั้งสองเวลาว่ามีความแตกต่างกันอย่างไร นักเรียนร่วมกันตอบว่า ตาของสัตว์ที่หากินเวลากลางคืนจะใหญ่กว่าตาของสัตว์ที่หากินเวลากลางวัน จากนั้นครูถามนักเรียนคิดว่า ดวงตาของเราใช้เพื่ออะไร ประกอบด้วยอะไรบ้าง เรามองเห็นได้เพราะมีปัจจัยอะไรบ้าง แต่นักเรียนตอบได้บ้างไม่ได้บ้าง ครูจึงให้นักเรียนช่วยกันระบุสิ่งที่รู้อยู่แล้วและสิ่งที่ต้องการเรียนรู้ลงในใบงาน KWL (K-เคยเรียนรู้อะไรแล้ว, W-ต้องการเรียนรู้อะไรต่อไป, L-เรียนเสร็จแล้วรู้อะไรเพิ่มเติมบ้าง) โดยให้เวลา 5 นาที เมื่อเขียนเสร็จแล้วครูให้นักเรียนสรุปเป็นของกลุ่ม จะได้คำถามที่นักเรียนอยากรู้เกี่ยวกับตาและการมองเห็น เช่น ดวงตาประกอบด้วยอะไรบ้าง ปัจจัยใดที่ทำให้เรามองเห็น
จากนั้น ครูให้นักเรียนแต่ละกลุ่มประชุมร่วมกันเพื่อวางแผนว่าจะไปค้นคว้าจากที่ใด โดยให้เขียนเป็นแผนการศึกษาหาความรู้ และนำเสนอหน้าชั้น ซึ่งผลจากการวางแผนทำให้เห็นว่า นักเรียนจะไปค้นคว้าจากแหล่งใด ใครรับผิดชอบ และกรอบเวลาเท่าใด รวมทั้งการจัดทำสรุปความรู้ในรูปแบบแผ่นพับ รายงาน เป็นต้น
2. ผลจากพูดคุยกับนักเรียน จากการพูดคุยกับนักเรียน ทำให้เห็นว่า นักเรียนสะท้อนว่า นักเรียนมีความกล้าแสดงออกมากขึ้น ได้มีส่วนร่วมมากขึ้น ได้เรียนรู้การตั้งคำถามได้ชัดเจนยิ่งขึ้น และนักเรียนมีผลงานจากการเรียนรู้และรางวัลจากการประกวดด้วย  
3. ผลจากพูดคุยกับคณะครูและผู้บริหารโรงเรียน ทราบว่า โรงเรียนมีโครงการพัฒนา และกิจกรรมที่โดดเด่นหลากหลาย มีครูแบ่งรับผิดชอบเป็นเจ้าภาพในแต่ละงาน ที่ผ่านมามุ่งเน้นการพัฒนาที่ครูแกนนำ ครูแกนนำได้ดำเนินการภาคเรียนละ 2 หน่วยการเรียนรู้ มีศึกษานิเทศก์ให้การช่วยเหลือใกล้ชิด อย่างสม่ำเสมอ และผู้บริหารโรงเรียนได้ให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ ซึ่งในปีการศึกษาต่อไป ผู้บริหารโรงเรียนและคณะครูจะขยายผลให้นักเรียนเรียนรู้ด้วยกระบวนการวิจัยทั้งโรงเรียน

4. การสะท้อนคิดของทีมติดตามผล ขอยกข้อความที่ได้บันทึกไว้ในสมุดนิเทศวันที่ 27 กุมภาพันธ์ มานำเสนอ ดังนี้
            “วันนี้ข้าพเจ้า นายพิทักษ์ โสตถยาคม นักวิชาการศึกษา สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา สพฐ. กระทรวงศึกษาธิการ ได้มาพร้อมกับ อ.วิไล แสงเหมือนขวัญ และ อ.วงเดือน โปธิปัน มาติดตามผลการใช้กระบวนการวิจัยในการเรียนรู้ของนักเรียนโรงเรียนบ้านพวงพะยอม สพป.พะเยา เขต 2 ว่า นักเรียนในโรงเรียนโดยเฉพาะห้องเรียนของครูแกนนำ มีพฤติกรรมการเรียนรู้เปลี่ยนแปลงไปสู่ “การเรียนรู้ด้วยตนเอง” โดยมีครูคอยให้คำชี้แนะ กระตุ้น ส่งเสริมให้มีโอกาสได้ใช้กระบวนการวิจัยบ่อยครั้ง เป็นประจำหรือไม่
            กิจกรรมการติดตามครั้งนี้ ได้ร่วมพูดคุยชี้แจงเป้าหมายเจตนาในการมานิเทศติดตามครั้งนี้ว่า มาเพื่อร่วมชื่นชมสิ่งดีๆ ที่ครูแกนนำ ผู้บริหาร และคณะครูทำอยู่ ได้เข้าสังเกตการสอนคุณครูรุ่งนภา บุญวงศ์ สอนวิทยาศาสตร์ ชั้น ม.2 ได้เห็นความมุ่งมั่นตั้งใจจัดการเรียนรู้ให้ลูกศิษย์ของคุณครู ได้เห็นการสอนที่เปี่ยมด้วยความเชื่อมั่นในตนเองของครู ได้เห็นความพยายามสร้างสรรค์กิจกรรมการเรียนรู้ให้เด็กๆ สามารถทำได้-ได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมอย่างดี เห็นถึงแนวโน้มที่ดีที่จะพัฒนาต่อเนื่อง จนสามารถเป็นแบบอย่างดีๆ ให้ครูอื่นๆ ได้เรียนรู้ด้วยได้อย่างดี นอกจากนั้น ได้สัมภาษณ์ผู้บริหาร ครู และนักเรียน ให้ทุกฝ่ายได้สะท้อนผลการดำเนินการจัดการเรียนรู้ พบว่า ครู ผู้บริหารเป็นบุคคลที่เปิดกว้างที่พร้อมรับแนวคิด และเชื่อมโยงให้เข้ากับการปฏิบัติของตนเองได้อย่างน่าชื่นชม และสุดท้าย ได้ร่วมพูดคุยสะท้อนผลจากสิ่งที่ได้พบ ได้ฟังเสียงของผู้บริหารและคณะครูส่วนใหญ่ของโรงเรียน
คณะของเราได้ชี้ประเด็นให้ผู้เข้าร่วมประชุมเห็นชัดขึ้นว่า สิ่งดีๆ ที่โรงเรียนมีอยู่อย่างมากในสภาพจริงที่เป็นอยู่นี้ หากสามารถนำมาวิเคราะห์ความเหมือน ความต่างของ “เป้าหมาย” ที่ผู้เรียนจะได้รับจากกิจกรรมโครงการต่างๆ ที่โรงเรียนทำอยู่ ก็จะเห็นหัวใจสำคัญคือ การปรับเปลี่ยนกระบวนการเรียนรู้ของผู้เรียนให้เป็นผู้สร้างความรู้ได้ด้วยตนเองให้ได้ โดยครูเป็นผู้เอื้อ-เกื้อหนุน และจัดประสบการณ์การเรียนรู้ให้นักเรียนได้เกิดความกระหายใคร่รู้ เกิดแรงบันดาลใจที่จะแสวงหาความรู้อย่างต่อเนื่อง หากจูนความคิดของครูและบุคลากรของโรงเรียนให้เห็นดีในแนวทางนี้ร่วมกัน เชื่อเหลือเกินว่า การจะมุ่งยกระดับผลสัมฤทธิ์ที่ยังไม่พึงประสงค์นัก จากผลการประเมิน สมศ. รอบ 2 น่าจะได้รับการยกระดับได้ไม่ยากนัก และจะเป็นการร่วมแรงร่วมใจของผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน
ประเด็นที่เห็นในเวลาจำกัด หากครูและผู้บริหารจะนำไปพิจารณาไตร่ตรองว่า ควรประยุกต์ให้นักเรียนใช้กระบวนการวิจัยไปสู่การดำเนินการของโรงเรียนได้อย่างไร ก็อาจจะมีประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณภาพ โดยพิจารณาประเด็นต่อไปนี้ ได้แก่ (1) ทำทั้งโรงเรียน (2) ทำทุกกิจกรรม-เชื่อมโยงกับสิ่งต่างๆ ที่โรงเรียนมีอยู่ (3) ทำจากฐานเดิมที่ครูคุ้นเคย (4) ทุ่มเทยกระดับผลสัมฤทธิ์จากผล สมศ. รอบ 2 (5) ทำให้ครบวงจร 4 ขั้นตอนวิจัย ให้ฝังอยู่ในสมองเด็ก เน้นจุดประกายให้เด็กอยากค้นคว้า (6) ทำอย่างบูรณาการ เช่น วิทย์ ม.2 และภาษาไทย ม.2 จะบูรณาการกันอย่างไร เช่น กรณีนักเรียนเขียนรายงานผล (7) ควรตั้งทีมพูดคุยปรึกษาหารือกันอย่างต่อเนื่อง (8) ทรีตเม้นท์ – อยากให้ดำเนินการด้วยความตั้งใจ ให้มั่นใจว่า ผลที่เกิดขึ้นมาจากสิ่งที่เรามุ่งจัดกระทำให้เกิดนั้นจริงๆ และ (9) ทำมุ่งเน้นที่เด็ก ให้ครูเรียนรู้คู่ขนานไปพร้อมกับเด็ก ทั้ง 9 ประเด็นนี้ หลายประเด็นโรงเรียนทำได้ดีอยู่แล้ว จึงขอเชียร์ให้ร่วมกันคิดวิพากษ์ ทบทวนสิ่งที่ทำอยู่ให้ดียิ่งๆ ขึ้นต่อไป ขอเป็นกำลังใจให้ และขอบคุณที่ได้การต้อนรับอย่างดียิ่ง”

.................................................