โรงเรียนทองสวัสดิ์วิทยาคาร: เชื่อมโยงจากโครงงานสู่วัฒนธรรมวิจัย
พิทักษ์
โสตถยาคม
โรงเรียนทองสวัสดิ์วิทยาคารเป็นโรงเรียนที่จัดการศึกษาภาคบังคับ
เปิดสอนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 – มัธยมศึกษาปีที่ 3 ตั้งอยู่หมู่ที่ 2 ตำบลแม่สะเรียง อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน อยู่ห่างจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาแม่ฮ่องสอน
เขต 2 ระยะทาง 350 เมตร ปีการศึกษา 2555
นี้มีนักเรียน 548 คน มีครู 55 คน นายจำลอง ศรีสวัสดิ์
เป็นผู้อำนวยการโรงเรียนและนายณรงค์ศักดิ์ ศรีเมือง เป็นรองผู้อำนวยการโรงเรียน
เมื่อแรกเข้าร่วมโครงการในปี 2554 มีครูจินดา วงศ์เทพ และครูวารุณี ธรรมขันธ์ เป็นครูแกนนำ ปัจจุบันครูครูจินดาเกษียณอายุราชการและครูวารุณีย้ายโรงเรียน
ดังนั้น ผู้บริหารโรงเรียนจึงมอบหมายให้ครูเขมรักษ์ กุมารสิทธิ์
หัวหน้ากลุ่มบริหารงานวิชาการเป็นแกนนำร่วมกับครูแกนนำอื่นๆ อีก 15 คน ซึ่งครูแกนนำชุดใหม่นี้ได้ร่วมกันสานต่อในการส่งเสริมให้นักเรียนใช้กระบวนการวิจัยในการเรียนรู้
มีศึกษานิเทศก์สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาแม่ฮ่องสอน เขต 2 คือ
นายสมคิด ศรีธร เป็นพี่เลี้ยงให้การสนับสนุน ในการลงพื้นที่ติดตามผลการส่งเสริมให้นักเรียนใช้กระบวนการวิจัยของโรงเรียนทองสวัสดิ์วิทยาคาร
ในวันอังคารที่ 26 กุมภาพันธ์ 2556 มีคณะติดตาม 3 คน ประกอบด้วย อ.วิไล แสงเหมือนขวัญ อ.วงเดือน โปธิปัน และผม ได้พบสภาพการดำเนินงาน ดังนี้
1.
การสังเกตการสอน ห้องเรียนชั้น ป.1 มีนักเรียน
จำนวน 18 คน เป็นชาย 8 คน หญิง 10
คน มีคุณครูปทิมจันทร์ ปันนะ เป็นครูผู้สอน
เรื่องที่สอนวันนี้เป็นเรื่อง สัญลักษณ์และเครื่องหมายที่พบเห็นในชีวิตประจำวัน
กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ชั่วโมงการสอนนี้เป็นชั่วโมงที่ 4 จาก 6 ชั่วโมงตามที่กำหนดไว้ในแผนการจัดการเรียนรู้ แผนการจัดการเรียนรู้นี้มีจุดประสงค์การเรียนรู้
3 ประการคือ (1) นักเรียนบอกความหมายของคำว่าสัญลักษณ์หรือเครื่องหมายได้ถูกต้อง
(2) นักเรียนรู้จักและบอกความหมายของสัญลักษณ์หรือเครื่องหมายต่างๆ
ที่พบเห็นในชีวิตประจำวันและสัญลักษณ์หรือเครื่องหมายแสดงความปลอดภัยและแสดงอันตรายได้
และ(3) นักเรียนปฏิบัติตามสัญลักษณ์หรือเครื่องหมายที่กำหนดได้ถูกต้อง
กิจกรรมการจัดการเรียนรู้ ประกอบด้วย ครูให้นักเรียนแต่ละกลุ่ม ทั้ง 3 กลุ่ม ออกมานำเสนอป้ายสัญลักษณ์และเครื่องหมายต่างๆ คนละป้ายพร้อมทั้งบอกด้วยว่าป้ายนั้นๆ
เป็นป้ายอะไร กลุ่มแรกนำเสนอป้ายสัญลักษณ์ที่พบเห็นบริเวณอาคารสถานที่ กลุ่มที่สองนำเสนอป้ายที่พบเห็นตามท้องถนน
และกลุ่มที่สามนำเสนอป้ายที่พบเห็นบนห่อสินค้า เมื่อนำเสนอหน้าชั้นครบถ้วน
ครูถามให้นักเรียนทบทวนว่า แต่ละกลุ่มไปค้นคว้าหาความรู้เหล่านี้มาจากที่ใด
นักเรียนแต่ละกลุ่มบอกว่าไปถามครูบ้าง ไปค้นจากอินเทอร์เน็ตบ้าง
สังเกตตามท้องถนนและสินค้าต่างๆบ้าง
จากนั้นครูให้นักเรียนตอบว่าเมื่อนักเรียนได้เรียนรู้เรื่องสัญลักษณ์ต่างๆ
แล้ว นักเรียนจะนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างไร
เช่น เครื่องหมายห้ามสูบบุหรี่ นักเรียนตอบว่าห้ามสูบบุหรี่ครับ
ถ้าสูบอาจจะจับเราได้, เครื่องหมายห้ามรถผ่าน นักเรียนตอบว่า
ถ้าขับและไม่หยุดอาจเกิดอุบัติเหตุได้ เป็นต้น และสุดท้ายครูย้ำว่า
ต้องนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน
หลังจากนั้น ครูให้นักเรียนแต่ละกลุ่มคิดเครื่องหมายขึ้นมาใหม่
ไม่ให้ซ้ำกับที่นำเสนอไปแล้ว และให้เวลานักเรียนคิดร่วมกัน 2 นาที นักเรียนรวมกลุ่มคิด จากนั้นแต่ละกลุ่มนำเสนอป้ายที่คิดได้ คือ
กลุ่มที่หนึ่งป้ายห้ามตัดต้นไม้เพราะให้อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมธรรมชาติให้อยู่กับเรานานๆ
กลุ่มที่สองป้ายห้ามจับปลาเพราะจะได้มีความอุดมสมบูรณ์
และกลุ่มที่สามห้ามทิ้งขยะเรี่ยราดเพราะจะไม่สกปรกและไม่มีกลิ่นเหม็น
สุดท้ายครูให้นักเรียนแต่ละกลุ่มดำเนินการทำป้ายตามที่ได้ระบุไว้
และเตรียมเขียนตามคำบอกในวันต่อไป
จากคำที่นักเรียนได้ฝึกอ่านสัญลักษณ์และเครื่องหมายกันในวันนี้
2.
การสัมภาษณ์ครู ครูบอกว่าส่วนดีที่เห็นในวันนี้คือ นักเรียนร่วมกิจกรรมได้ดี
เป็นการจัดกิจกรรมให้นักเรียนได้มีส่วนร่วมและร่วมแสดงความคิดเห็น
ส่วนที่ยังต้องปรับปรุง ได้แก่ (1) สื่อยังไม่เหมาะกับนักเรียน
และเป็นสื่อที่มีขนาดเล็ก การนำเสนอสื่อถือโอนเอน
และเป็นสื่อที่ครูเป็นผู้ทำขึ้นเอง (2) ควรมีการถามต่อและไม่นิ่งเฉยกับคำถามของนักเรียน
(3) ยังไม่ได้ให้นักเรียนตรวจสอบคำตอบ (4) ขั้นให้นักเรียนตั้งคำถามเป็นขั้นที่ยากและต้องใช้เวลา
นอกจากนั้นยังบอกว่าครูได้รับการสนับสนุนจากผู้บริหารโรงเรียนที่ดี อาทิ
สนับสนุนงบประมาณพานักเรียนไปแหล่งเรียนรู้ ให้เบิกสื่อได้ตามความต้องการจำเป็น
3.
การประชุมกลุ่มผู้บริหารและครูแกนนำ ผอ.จำลอง ศรีสวัสดิ์ ได้เล่าให้ฟังว่า
หลังจากได้รับหลักการมาดำเนินการก็มีความเชื่อมั่นในทีมงานแกนนำ
มีการสร้างความตระหนักให้กับคณะครูเพื่อส่งเสริมให้เด็กวิจัย คิดและหาคำตอบ
แต่ไม่สามารถดำเนินการได้เต็มร้อย เพราะมีนโยบายหลายงานเข้ามากระทบ อาทิ
งานศิลปหัตถกรรม, กระตุ้นผลสัมฤทธิ์ (จัดสรรงบให้มาติว O-NET 40 บาท/คน) สิ่งที่ได้สนับสนุนพัฒนาครู
ได้แก่ การอบรมวิจัยให้กับครู มีการจัดเวลาให้ครูนิเทศ (ครูหัวหน้าสายชั้น/
ครูวิชาการสายชั้น) มากขึ้น มีการสนับสนุนงบประมาณส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้
ไม่น้อยกว่า 70% ของงบพัฒนา
เพื่อให้นำไปจัดซื้อสื่อและพานักเรียนไปเรียนรู้แหล่งเรียนรู้
สนับสนุนแหล่งเรียนรู้ด้าน ICT/ Internet และจัดหาหนังสือเข้าห้องสมุด
สนับสนุนให้ครูไปศึกษาดูงานนอกสถานที่
รวมทั้งการให้คำปรึกษาด้านวิชาการให้กับครูใหม่โดยรองผู้อำนวยการโรงเรียน สิ่งที่พบว่ายังต้องปรับปรุงพัฒนาคือ
ครูยังไม่เชื่อมั่นนักที่จะให้เด็กได้คิดค้นหาคำตอบเอง การดำเนินการยังติดขัด
ผู้บริหารโรงเรียนวิเคราะห์ว่าสาเหตุมาจากการที่ครูขาดการยอมรับตนเองและผู้ที่มาให้การนิเทศ
(ครูวิชาการ/ ผู้บริหารโรงเรียน) ซึ่งก็เป็นปัญหาเช่นเดียวกันกับกรณี
พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ระบุให้ครูทำวิจัยในชั้นเรียน แต่ครูก็ยังไม่สามารถทำได้
แม้จะพยายามแต่สุดท้ายกลับเข้าสู่วัฒนธรรมการทำงานเดิมที่คุ้นเคย สิ่งที่ต้องการเพิ่มเติมเพื่อการพัฒนาครูคือ
ต้องการผู้มานิเทศช่วยเหลือ ชี้แนะให้ครูเกิดความเชื่อมั่นที่จะดำเนินการ
นอกจากนั้น คณะครูได้ช่วยกันพิจารณาว่า
“โรงเรียนมีกิจกรรมอะไรที่ทำอยู่เดิม ที่เป็นกิจกรรมที่ช่วยให้เด็กๆ ได้แสดงพลัง
ได้คิด” ก็พบว่า โรงเรียนมีโครงงาน ทั้งโครงงานวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์
มีกิจกรรมที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญที่ให้เด็กได้ตั้งคำถาม เริ่มจากสิ่งที่อยากรู้และแสวงหาความรู้เอง
นอกจากนั้นยังมีโครงงานของ ป.4-6 และม.ต้น ปีละประมาณ 10 โครงงานต่อห้องเรียน
กิจกรรมชุมนุม และกิจกรรมการเรียนรู้ในวิชาเพิ่มเติม จากนั้น ศน.สมคิด ศรีธร ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการนิเทศว่า
ศึกษานิเทศก์ของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาแม่ฮ่องสอน เขต 2 มีน้อย
(7 คน)
สิ่งที่ได้ช่วยสนับสนุนพัฒนาโรงเรียนภายหลังจากที่ได้คัดเลือกโรงเรียนร่วมโครงการแล้ว
ได้มีการประชุมครูพัฒนาข้อเสนอโครงการ นำครูเข้าร่วมประชุมเขียนแผน แต่ก็มีความสับสนในส่วนของการระบุว่า
จะต้องเขียนแผนการสอนให้มี 4 ขั้นตอน ส่วนการนิเทศทำได้เพียง
2-3 ครั้ง
4.
การสะท้อนคิดของทีมติดตามผล
จากการสังเกตการสอนครูผู้สอนชั้น
ป.1
ได้เห็นความมุ่งมั่นตั้งใจในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ของครู
ได้เห็นความกล้าแสดงออก & ร่วมมือในการเรียนรู้ของเด็กๆ
เป็นที่น่าชื่นชมมาก และจากการพูดคุยกับครูและผู้บริหารได้เห็นถึงความตั้งใจของคณะครูที่มุ่งหวังให้ลูกศิษย์ได้เรียนรู้ที่ดีขึ้น
ได้เห็นว่า โรงเรียนมีต้นทุนที่ดีมาก ที่ครูทำอยู่ ทั้ง “โครงงาน”
“การเรียนรู้ผู้เรียนเป็นสำคัญ” “กิจกรรมให้เด็กเรียนรู้เอง” ซึ่งสามารถนำมาเชื่อมโยง
ต่อยอดกับโครงการสร้างวัฒนธรรมการวิจัยได้อย่างดี
มีข้อเสนอแนะเพิ่มเติมให้โรงเรียนสร้างระบบนิเทศภายใน
ให้ตั้ง “กลุ่มครูพูดคุยกัน” รวมทั้งการนำมาตรฐาน ตัวชี้วัดมาวิเคราะห์ร่วมกัน
และหลอมรวม บูรณาการ และร่วมกันจัดการเรียนรู้ ให้เด็กบรรลุมาตรฐาน- ไม่สอนตามแบบเรียนสำนักพิมพ์เท่านั้น
สิ่งที่จะเป็นความมั่นใจให้ครูว่าแนวทางที่ดำเนินการถูกต้องหรือไม่ ก็คือ
การร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน มาวิเคราะห์ มาวิพากษ์ร่วมกัน
และให้ตกผลึกเป็นความเข้าใจร่วมกัน แล้วสิ่งที่ตกลงกันนั้น จะเป็นคำตอบว่าอะไรถูก/
อะไรดีที่สุดสำหรับโรงเรียน
------------------------------------------