หน้าเว็บ

วันพฤหัสบดีที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2556

ปฏิรูปการเรียนรู้ทั้งระบบ: Cut Out - Keep - Create

ปฏิรูปการเรียนรู้ทั้งระบบ: Cut Out - Keep - Create
พิทักษ์ โสตถยาคม

วันนี้ ๘ ส.ค. ๒๕๕๖ ภาคเช้า ผมร่วมประชุมกลุ่มผู้แทนสำนักใน สพฐ. ที่ดูแลด้านคุณภาพการเรียนรู้ เพื่อเตรียมจัดประชุมโต๊ะกลมในวันที่ ๑๘ ส.ค. ๒๕๕๖ ณ โรงแรมปริ๊นซ์ พาเลซ (ประชุมคู่ขนานกับการประชุม ผอ.สพป./สพม.ทั่วประเทศ) เพื่อเป็นเวทีระดมความคิด-วิเคราะห์-เชื่อมโยง-เสนอแนะการขับเคลื่อนนโยบาย ศธ. สู่การปฏิบัติ ในประเด็น “การปฏิรูปการเรียนรู้ทั้งระบบ” โดยเฉพาะความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันของ ๕ องค์ประกอบของห่วงโซ่คุณภาพ ที่เลขาธิการ กพฐ. (ดร.ชินภัทร ภูมิรัตน) ได้ชี้แนะเป็นกรอบไว้ ได้แก่ (๑) หลักสูตร (๒) การจัดการเรียนการสอน (๓) การวัดและประเมินผล (๔) การนิเทศ และ(๕) การพัฒนาครู/ ผลิตครู ในการประชุมวันนี้มีรองเลขาธิการ กพฐ. (ดร.เบญจลักษณ์ น้ำฟ้า) เป็นประธาน และมีผู้ร่วมประชุม ประมาณ ๒๐ คน อาทิ ที่ปรึกษา สพฐ. (วีณา อัครธรรม) ผอ.สนก. (วันเพ็ญ สุจิปุตโต) ผอ.สวก. (ดร.ไพรวัลย์ พิทักษ์สาลี) ผอ.สทศ. (กนก อินทรพฤกษ์) ผอ.สพค. (ชวลิต โพธิ์นคร) หน.ศูนย์พัฒนาการนิเทศฯ (สมควร วรสันต์)



   สำหรับประเด็นข้อเสนอจากผู้เข้าร่วมประชุม อาทิ
  1. ควรใช้คุณภาพผู้เรียนมาเป็นตัวตั้ง ได้แก่  21st Century Skills การคิด และ PISA รวมทั้งความสามารถด้านภาษา (Literacy) ความสามารถด้านคำนวณ (Numeracy) และความสามารถด้านเหตุผล (Reasoning ability)
  2. ควรวิเคราะห์สภาพบทบาทหน้าที่ของสำนักต่างๆ ของ สพฐ. ใน ๕ องค์ประกอบ ทั้งอดีต ปัจจุบัน และอนาคต
  3. สิ่งที่โรงเรียนปฏิบัติได้ดีมีอยู่เป็นจำนวนมาก แต่ไม่ได้รวบรวมไว้อย่างเป็นระบบ จึงควรนำมาใช้เพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของโรงเรียนที่อยู่ใกล้เคียงกันในพื้นที่เดียวกัน หรืออาจทำเป็น Shopping list กระบวนการเรียนรู้ที่ผ่านการใช้แล้วเกิดผลดี เพื่อให้โรงเรียนที่กำลังค้นหากระบวนการเรียนรู้ “แกนหลัก” ได้พิจารณานำไปใช้ในการปรับการเรียนเปลี่ยนการสอน อาทิ บันได ๕ ขั้นของการเรียนการสอน (5 Steps), Research-based Learning, Project-based Learning, Problem-based Learning
  4. ผู้บริหารโรงเรียนเป็นบุคคลสำคัญในการพัฒนากระบวนการเรียนรู้ในโรงเรียนและคุณภาพผู้เรียน แต่ก็พบว่า ผู้บริหารโรงเรียนไม่ได้ทำหน้าที่นี้อย่างจริงจังนัก
  5. ห่วงโซ่คุณภาพยังไม่ร้อยรัดไปด้วยกัน โดยเฉพาะหลักสูตร การเรียนการสอน และการวัดประเมินผล ดังนั้น การทบทวนและการจัดทำข้อเสนอครั้งนี้ จะทำให้ได้สารสนเทศที่เป็นประโยชน์และนำไปสู่การปรับเปลี่ยนท่าทีในการทำงานของ สพฐ. และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา
  6. ควรวิเคราะห์ว่าปัญหาและอุปสรรคของการปฏิรูปการเรียนรู้ที่ผ่านมาอยู่ที่ใด ใช่อยู่ที่การขับเคลื่อนสู่การปฏิบัติ หรือการบริหารจัดการของโรงเรียน หรือวิธีการสนับสนุนทรัพยากรและการกำกับติดตามงานหรือไม่
  7. การปฏิรูปการเรียนรู้ทั้งระบบ อาจมองนอกเหนือจาก “ในโรงเรียน” เพราะการที่เด็กจะเรียนรู้ได้ดี “นอกโรงเรียน” ก็มีความสำคัญมาก เช่น ความใส่ใจของครอบครัว การสนับสนุนส่งเสริมของชุมชน การมีสื่อสารมวลชนและสังคมเป็นตัวช่วยส่งเสริมการเรียนรู้
  8. ความท้าทายหนึ่งของ สพฐ. ในการตอบโจทย์การปฏิรูปการเรียนรู้ทั้งระบบครั้งนี้คือ การปฏิบัติที่ผ่านมาของเราเองเป็นอุปสรรคต่อการปฏิรูปการเรียนรู้บ้างหรือไม่ ส่วนใดที่เป็นส่วนเอื้ออำนวยและหนุนเสริมให้เกิดการปฏิรูปการเรียนรู้ที่แท้จริง ดังนั้น การได้มีโอกาสทบทวนบทบาท หน้าที่ และภาระงานในอดีตและปัจจุบัน จะทำให้เห็นว่า มีบางส่วนที่มีความสำคัญที่เราต้องทำต่อไป เพราะไม่ทำจะเกิดความเสียหาย แต่ก็จะเห็นว่ามีอีกหลายส่วนที่เราไม่ต้องทำหรือไม่ต้องปฏิบัติเช่นเดิม เพราะโรงเรียน เขต หรือองค์กรเอกชน-ชุมชนมีศักยภาพที่จะทำได้

        ผลการประชุม: ประธานที่ประชุมได้มอบหมายให้สำนักที่มีภารกิจเกี่ยวข้อง เป็นเจ้าภาพในการจัดทำเอกสารข้อเสนอแต่ละองค์ประกอบ โดยให้วิเคราะห์ทบทวนเกี่ยวกับสภาพปัจจุบันปัญหา สิ่งที่ดำเนินการอยู่ และแนวทางแก้ไข รวมทั้งให้จัดเวทีพูดคุยกลุ่มเล็ก เพื่อรับฟังข้อเสนอแนะของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ก่อนถึงวันประชุมจริงในวันที่ ๑๘ ส.ค.นี้

        หลังจากประชุมภาคเช้าเสร็จ ทีมสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา (สนก.) ที่มาร่วมประชุมครั้งนี้ จำนวน ๔ คน ได้แก่ ผอ.สนก. (วันเพ็ญ สุจิปุตโต) รอง ผอ.สนก. (ดร.บรรเจอดพร สู่แสนสุข) หัวหน้ากลุ่มวิจัยและส่งเสริมการวิจัย (ดร.วิภาพร นิธิปรีชานนท์) และผม ได้นำประเด็น “กระบวนการเรียนรู้” ที่ได้รับมอบหมายจากที่ประชุมมาหารือกันต่อ ได้ทบทวนสภาพปัจจุบัน อุปสรรค และทางออก เราเห็นตรงกันว่า จะทำประเด็นนี้ได้จะต้องทำส่วนอื่นไปพร้อมกันทั้งระบบ เช่น การกำหนดเป้าหมายที่ตรงกันว่า เราอยากเห็นผู้เรียน/ผู้ที่จะจบจากโรงเรียนเป็นอย่างไรจริงๆ และระบบที่เกี่ยวข้องต้องปรับเปลี่ยนเพื่อมุ่งทำให้สำเร็จ การส่งเสริมความเข้มแข็งและพึ่งตนเองได้ของโรงเรียน โดยเสริมปัจจัยเกื้อหนุนและลดอุปสรรคอย่างจริงใจ ซึ่ง ดร.วิภาพร นิธิปรีชานนท์ ได้อาสานำความคิดจากกลุ่มไปประกอบกับการสืบค้นข้อมูลเพิ่มเติมยกร่างเป็นข้อเสนอต่อไป.