หน้าเว็บ

วันพฤหัสบดีที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2557

คิดหลังคุยกับ รมช.ศธ.

คิดหลังคุยกับ รมช.ศธ.
พิทักษ์ โสตถยาคม
11 ธ.ค. 2557

สิ่งที่ผมนำมาคิดต่อหลังจากสนทนากับ รมช.ศธ. (พลเอก สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์) และคณะ ย้อนมองปรากฏการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในสำนักงานเขตพื้นที่และโรงเรียนนำร่องในโครงการปฏิรูปการเรียนรู้สู่ผู้เรียน เพื่อตั้งประเด็นสำหรับการร่วมคิดและพัฒนาการดำเนินงานของผู้เกี่ยวข้องในโอกาสต่อไป ดังนี้


1. กรรมาธิการยกร่างปลดล็อก  การปลดล็อกปัญหาอุปสรรคที่รุมเร้าขัดขวางการเรียนรู้ของผู้เรียน ถือเป็นเรื่องดีที่ควรทำอย่างยิ่ง หากสังเคราะห์องค์ความรู้จากผลการวิจัยที่ผ่านมา อาจไม่ต้องใช้เวลาเนิ่นนานนัก และรวมกับการวิเคราะห์วิจัยจากประสบการณ์การปฏิบัติของผู้คนที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาเพิ่มเติม นำมาผ่านกระบวนการคิดพิจารณาร่วมกันของผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญและผู้ทรงคุณวุฒิ น่าจะได้ข้อสรุปที่ออกมาเป็นกฎระเบียบและคำสั่งเพื่อขจัดอุปสรรค ผลักดันการกระจายอำนาจ และความรับผิดชอบทางการศึกษาไปยังสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและโรงเรียนได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยเทียบเคียงกับกระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่มีประธานกรรมาธิการและกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ อันที่จริงก็มีความจำเป็นในขณะนี้อย่างมาก เพราะ รมว.ศธ.จะต้องลงนามในคำสั่งมอบอำนาจ/ กระจายอำนาจให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษากลุ่มนำร่อง 20 เขต ไปดำเนินการ ดังนั้น การจะออกคำสั่งเรื่องการกระจายอำนาจไปยังสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาจึงต้องผ่านการคิดพิจารณาอย่างรอบคอบและใช้ผลการวิจัยและข้อค้นพบที่ผ่านมาเป็นฐาน

2. แนวคิดไม่ใหม่-ไม่ยาก แนวคิดที่ต้องการปรับการเรียนการสอนไม่ใช่เรื่องใหม่ จากการร่วมสัมมนาปฏิบัติการปฏิรูปการเรียนรู้สู่ผู้เรียน หรือเรียกว่า Coaching Lab เป็นการแนะนำเรื่องการตั้งวงทำ AAR ทบทวนการทำงานของครูประจำสัปดาห์ และการแนะให้ผู้บริหารโรงเรียนเก็บข้อมูลการสอนของครูให้เป็น และนำสิ่งที่เก็บข้อมูลได้ไปเป็นประเด็นสนทนาในวง AAR ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ไม่ได้ให้ความสำคัญและปฏิบัติอย่างเป็นวิถีชีวิต ดังนั้น หากโรงเรียนปกป้องเวลาของครูและจัดสรรเวลาเพื่อทำ AAR เป็นประจำทุกสัปดาห์ และมีการติดตามผลอย่างจริงจัง ก็จะเกิดผลดีตามสมมติฐานของโครงการ ซึ่งเมื่อเป็นสิ่งดีงามก็ควรส่งเสริมให้โรงเรียนโดยทั่วไปได้นำไปใช้ โดยไม่ต้องสมัครเข้าร่วมโครงการ

3. Trust: ไว้เนื้อเชื่อใจเขต การมอบหมายให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษารับผิดชอบผลที่จะเกิดขึ้นเกี่ยวกับคุณภาพโรงเรียน ควรเชื่อมั่นและไว้วางใจให้ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาแต่ละคนได้ใช้ภาวะผู้นำอย่างเต็มที่ พิสูจน์ฝีมือ ทำเรื่องที่ท้าทายเหล่านี้ให้ประจักษ์ชัด เพราะเมื่อเวลาผ่านไป 3 เดือน 6 เดือน มีการติดตามประเมินผล ก็จะได้รู้อย่างชัดเจนว่า การกระจายอำนาจให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเป็นสิ่งที่ถูกต้องหรือไม่ และจะได้รู้ชัดว่าการจัดการศึกษาของประเทศนี้จะฝากความหวังไว้ที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาได้มากน้อยเพียงใด ฝ่ายติดตามประเมินผลของคณะทำงานส่วนกลางควรทำหน้าที่ติดตามประเมินผลอย่างตรงไปตรงมา เพื่อสะท้อนผลการปฏิบัติงานของเขตพื้นที่การศึกษาที่เชื่อมโยงกับคุณภาพของผู้เรียนและโรงเรียน

4. โค้ชนอกเขต ความจำเป็นของตัวช่วยหรือโค้ชภายนอก ความคิดเบื้องต้นของโครงการจะกำหนดให้มีโค้ชภายนอกไปช่วยเขต แต่เมื่อคิดทบทวนถึงหลักคิดของโครงการที่จะให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาได้มีอิสระ สามารถจัดการตัวเองได้ เพื่อทำเป้าหมายและวัตถุประสงค์ให้สำเร็จตามแต่ระยะเวลาที่กำหนด ซึ่งผมเชื่อมั่นว่าเขตทำได้เอง และเชื่อว่าเขตส่วนใหญ่คิดเช่นนี้ ดังนั้น การที่จะกำหนดโค้ชภายนอกแถมไปให้แต่ละเขต จึงควรทบทวนไตร่ตรองเรื่องนี้อีกครั้ง ซึ่งอาจมี 3 ทางเลือก แต่ละทางเลือกมีข้อคิดดังนี้
1) ให้เขตดำเนินการด้วยตนเอง โดยไม่ต้องพึ่งโค้ชภายนอก ข้อดีคือเป็นการพิสูจน์ฝีมือของเขตว่า สามารถรองรับการกระจายอำนาจและความรับผิดชอบจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานได้จริงหรือไม่ อย่างไร
2) จัดโค้ชภายนอกไปให้โดยไม่ต้องถามเขต ข้อดีคือง่ายต่อการจัดการของส่วนกลาง ข้อเสียคือ เขตไม่มีสิทธิมีเสียง และไม่เป็นไปตามหลักการของโครงการที่มุ่งหวังจะให้เขตคิดเองและจัดการตนเอง
3) ถามเขตก่อนว่าต้องการหรือไม่ ถ้าต้องการ เขตจะเลือกแบบใด (3.1) ให้ส่วนกลางจัดโค้ชให้ แล้วแต่ส่วนกลาง (3.2) ให้ส่วนกลางจัดโค้ชให้ แต่มี list รายชื่อโค้ชให้เขตได้เลือก  และ(3.3) เขตจะเลือกโค้ชเอง เป็นโค้ชที่เขตรู้ฝีมือและเชื่อมั่นว่าจะสามารถทำงานร่วมกันได้อย่างดีเพื่อบรรลุเป้าหมายของโครงการที่มุ่งหวัง ซึ่งการเลือกตัดสินใจทางหนึ่งทางใด ก็จะกระทบข้อค้นพบจากการวิจัยและประเมินผลครั้งนี้ด้วย เช่น หากใช้โค้ชภายนอกแล้วการดำเนินการของเขตนั้นประสบความสำเร็จ ก็จะสรุปว่า ที่สำเร็จเพราะมีโค้ชภายนอกไปช่วย แสดงว่าถ้าจะมีการขยายผลการดำเนินการไปยังเขตอื่นๆ ก็จำเป็นต้องจัดหาโค้ชไปช่วยเขตเช่นเดียวกันเขตนำร่อง แต่ในความเป็นจริงอาจไม่จำเป็น เพราะสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาสามารถทำให้บรรลุผลได้ด้วยวิธีการที่เขตคิดเองและดำเนินการด้วยตนเองก็เป็นได้ ดังนั้น หากย้อนไปมองหลักคิดที่จะให้เขตเข้มแข็งอย่างแท้จริง ก็จำเป็นต้องมีกระบวนการทำความรู้จักศักยภาพของบุคลากรในแต่ละเขตพื้นที่ พูดคุยสอบถามแนวทางพัฒนาของเขต รวมถึงศึกษาความต้องการจำเป็นที่เขตต้องการความช่วยเหลือเพิ่มเติมจากภาคีเครือข่ายภายนอก 

5. ได้คุย-ได้คิด การที่มีผู้ตั้งประเด็นคำถาม เช่นเดียวกับที่สนทนาให้ข้อมูล รมช.ศธ. จะทำให้เราได้มีโอกาสได้คิดทบทวน และเกิดความคิดที่จะปรับปรุงพัฒนางานให้ดียิ่งขึ้น ดังนั้น การตั้งวงสนทนา AAR เพื่อปฏิรูปการเรียนรู้ คงไม่ใช่ส่งเสริมให้มีเฉพาะในโรงเรียน ควรจัดวงคุยในทุกระดับ เช่น วงคุยระดับกลุ่มโรงเรียน วงคุยในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา วงคุยระหว่างสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา วงคุยในระดับ สพฐ./ นโยบาย ซึ่งจะทำให้ได้เรียนรู้ระหว่างกันและกระตุ้นให้เกิดความคิดสร้างสรรค์เพื่อพัฒนางานให้ดียิ่งขึ้นด้วย

-----------------------------