ชี้แจงโครงการปฏิรูปการเรียนรู้สู่ผู้เรียนต่อ รมช.ศธ.
พิทักษ์ โสตถยาคม
วันที่ 9 ธันวาคม 2557
เวลา 16.30 น. ดร.พิธาน พื้นทอง ผอ.สนก. และผม
รวม 2 คน ไปให้ข้อมูลเกี่ยวกับโครงการต่อรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
(พลเอก สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์) ตามการประสานงานของทีมงาน รมช.ศธ. ซึ่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
ในฐานะรัฐมนตรีผู้ดูแล สพฐ.โดยตรง รมช.ศธ.ได้เน้นย้ำว่า
เห็นด้วยในหลักการกระจายอำนาจการบริหารจัดการของโครงการ
แต่ขอรับทราบข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินการโครงการ เพื่อช่วยสนับสนุนให้โครงการประสบความสำเร็จอย่างที่มุ่งหวัง
สาระสำคัญของข้อมูลที่เล่าให้ รมช.ศธ. ทราบโดยสรุป มีดังนี้
1. โครงการปฏิรูปการเรียนรู้สู่ผู้เรียน ได้มุ่งตรงไปยังการปฏิรูปที่แท้คือ การสอนของครูและการเรียนรู้ของเด็ก
โดยใช้กระบวนการ Coaching AAR (After-action review) และ Learning
Walk เพื่อนำข้อมูลผลการจัดการเรียนรู้มาร่วมกันคิด ทบทวนไตร่ตรอง
สะท้อนผล และหาแนวทางปรับปรุงการปฏิบัติงานของแต่ละคน เพื่อมุ่งยกระดับคุณภาพผู้เรียนด้านความรู้ทักษะศตวรรษที่
21 ความเป็นพลเมืองไทยที่ดี และความสุขในการเรียนรู้ เขตพื้นที่เป้าหมายระยะแรก
มีจำนวน 20 เขต กิจกรรมเริ่มต้นโครงการจะมี 2 กิจกรรม ได้แก่ จัดสัมมนา Reform Lab เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมในพื้นที่
และจัดสัมมนา Coaching Lab เพื่อนำเสนอหลักคิดของการปฏิรูปการเรียนรู้ในโรงเรียนให้ผู้อำนวยการโรงเรียน
จำนวน 15 คน จาก 15 โรงเรียน และคณะทำงานขับเคลื่อนโครงการของเขต
จำนวน 5 คน รวมเขตละ 20 คน นำไปคิดพิจารณาและประยุกต์ใช้ตามบริบทของแต่ละโรงเรียนและพื้นที่ด้วยตัวเอง
ซึ่งวัตถุประสงค์ 3 ประการของโครงการ ประกอบด้วย (1)
เพื่อนำร่องกระจายอำนาจลงสู่เขตพื้นที่การศึกษา
โดยแก้กฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคในการบริหารจัดการศึกษาระดับโรงเรียน
ด้านการบริหารบุคคล งบประมาณ และการปฏิรูปการเรียนรู้ด้วยตนเอง (2) เพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์การเรียนรู้ในสาระวิชาหลักให้สูงขึ้นกว่าเดิม และพัฒนาผู้เรียนทันทีอย่างรอบด้าน
ทั้งด้านความรู้ ทักษะศตวรรษที่ 21 และความเป็นพลเมืองไทยที่ดี และ (3)
เพื่อติดตามประเมินผลการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม การจัดการเรียนรู้ของครูและการปฏิรูปการเรียนรู้ของผู้เรียนทั้งโรงเรียน โดยใช้เป็นเกณฑ์พิจารณาความดีความชอบของผู้บริหารและครู
2. เขตประถมและมัธยมทำไปเรียนรู้ไปพร้อมกัน หลักคิดของการปฏิรูปการเรียนรู้
การกระจายอำนาจและความรับผิดชอบไปสู่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาของเขตประถมศึกษาและเขตมัธยมศึกษาเป็นสิ่งเดียวกัน
การเริ่มต้นให้เขตดำเนินการในเรื่องการปรับระบบการบริหารจัดการ
การปรับระบบการสนับสนุน และปลดล็อกเพื่อให้ครูมีเวลาจัดการเรียนรู้อย่างมีคุณภาพเพื่อผลสัมฤทธิ์การจัดการเรียนการสอนที่ดีขึ้น
เป็นหลักการเดียวกันที่มุ่งหวังให้เกิดขึ้น ส่วนการปฏิบัติของแต่ละเขตพื้นที่ที่จะนำหลักการนี้ไปดำเนินการ
ก็ขึ้นอยู่กับบริบท ลักษณะของเขตพื้นที่นั้น ขณะนี้คณะทำงานส่วนกลางที่รับผิดชอบโครงการนี้ไม่ได้แยกคณะทำงานขับเคลื่อนโครงการเฉพาะส่วน
สำหรับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.)
และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) แต่จะมีการวิจัย ติดตาม
และประเมินผลว่า เมื่อมอบหมายบทบาทของการขับเคลื่อนคุณภาพไปอยู่ที่เขตโดยการนำของ
ผอ.สพท.แล้ว แต่ละเขตดำเนินการอย่างไร ได้ผลเป็นอย่างไร ซึ่งตามข้อตกลงแรกเริ่มโครงการจะเป็นบทบาทของสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาเข้ามาดำเนินการวิจัยและประเมินผล
ซึ่งก็อยู่ที่การออกแบบการวิจัยและประเมินผลว่า จะออกแบบวิจัยให้เหมาะสมกับการวิเคราะห์และประเมินผลการดำเนินงานของ
สพป. และ สพม. และโรงเรียนในสังกัดนั้นๆ อย่างไร
3. ความจำเป็นของการวิจัยและประเมินผล เป็นที่เห็นพ้องต้องกันแล้วว่า
การจัดการศึกษาต้องกระจายอำนาจการจัดการศึกษาและความรับผิดชอบ ไปยังภาคส่วนต่างๆ
ให้มีส่วนร่วม และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาก็เป็นหน่วยงานที่อยู่ในพื้นที่ทั่วประเทศ
หากมอบหมายภารกิจและความเป็นเจ้าภาพทำงานมุ่งคุณภาพอย่างจริงจัง
น่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงโรงเรียนและการเรียนการสอนได้ แต่นั่นก็เป็นแนวคิดที่ต้องพิสูจน์
ดังนั้น การวิจัยและประเมินผลทุกระยะ
ทุกก้าวย่างของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาจึงต้องมีการวิจัยและประเมินผลประกบติด
เพื่อให้ได้ข้อมูลเชิงประจักษ์ ในการตัดสินใจของกระทรวงศึกษาธิการแบบ evidence-based
decision making ซึ่งจากการตีความสิ่งที่ได้รับฟังจากที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
(รศ.ประภาภัทร นิยม) เข้าใจว่า หลายกลุ่มหลายฝ่ายมีการเสนอข้อมูลเพื่อให้เกิดการกระจายอำนาจ
แต่พบว่าเป็นในเชิงความคิดเห็นมากกว่ามีหลักฐานข้อมูลเชิงประจักษ์ ที่จะช่วยให้กระทรวงตัดสินใจเรื่องนี้อย่างมั่นใจและถูกต้อง
ฉะนั้น จึงมีโครงการปฏิรูปการเรียนรู้สู่ผู้เรียน
เพื่อตั้งต้นที่คุณภาพการเรียนรู้ในห้องเรียนแล้วย้อนกลับไปดูระบบบริหารจัดการและระบบอื่นๆ
ที่เกี่ยวข้องว่าจะต้องปรับปรุงเปลี่ยนแปลงด้านอื่นๆ อย่างไร
ให้เกิดความเชื่อมั่นว่า ถ้าเปลี่ยนแปลงอะไรๆ แล้วจะเกิดคุณภาพที่ผู้เรียนจริงๆ
4. องค์ความรู้เพื่อกระจายอำนาจ แม้ว่าปัจจุบันมีองค์ความรู้เรื่องเกี่ยวกับการกระจายอำนาจอยู่มาก
หากใช้การทบทวนและสังเคราะห์องค์ความรู้ที่มีอยู่
และรู้อยู่แล้วว่าควรกระจายอำนาจเรื่องอะไรอย่างไร
แล้วสั่งการให้มีการดำเนินการอย่างจริงจังในทุกเขตพื้นที่
จะช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลง/ ปฏิรูปการเรียนรู้อย่างที่มุ่งหวังได้เลย
และทุกเขตพื้นที่ทุกโรงเรียนก็ดำเนินการไปพร้อมกัน โดยไม่ต้องรอให้มีการวิจัยและประเมินผลเสร็จก่อน
รวมทั้งไม่ต้องเสียงบประมาณไปจ้างมหาวิทยาลัยหรือผู้เชี่ยวชาญมาวิจัย ติดตาม
และประเมินผลอีก อย่างไรก็ตาม สพฐ.ได้อนุมัติการดำเนินงานปีแรกไว้แล้ว หวังว่า ข้อค้นพบของโครงการที่จะได้ในระยะแรก
(ภายในปีงบประมาณ 2558) ก็น่าจะได้องค์ความรู้ที่จะยืนยันฐานความรู้เดิมได้เป็นอย่างดี
และอาจนำไปสู่การตัดสินใจเชิงนโยบายในการกระจายอำนาจสู่เขตพื้นที่การศึกษาและโรงเรียนได้อย่างรวดเร็วกว่าที่กำหนดไว้ตามระยะเวลาที่วางไว้
3 ปีของโครงการ
4. Start โครงการหลังปีใหม่ การปรับการเรียนเปลี่ยนการสอนเพื่อคุณภาพผู้เรียน
ยิ่งมีการดำเนินการเร็วได้เพียงใด ย่อมส่งผลดีต่อเด็กแต่ละคน
และคุณภาพการศึกษาโดยรวม สอดคล้องกับสโลแกน “ทำก่อน ทำจริง ทำทันที”
และเป็นกลุ่มเป้าหมายระยะแรกของโครงการ
ที่จะต้องปรับเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อเปลี่ยนแปลงตนเอง แบบ “ระเบิดใน”
จึงต้องมีระยะเวลาบ่มเพาะความเข้าใจร่วมกันเพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่วัฒนธรรมการเรียนรู้แบบใหม่ในโรงเรียน
รวมทั้งปรับระบบบริหารและการสนับสนุนจากภายนอกไปพร้อมกันด้วย
ที่สำคัญจะเป็นพื้นที่ที่จะมีทีมเฝ้าดูการเปลี่ยนแปลงของการทำงานของโรงเรียนและเขตพื้นที่อย่างใกล้ชิด
ซึ่งเมื่อเข้าสู่วงรอบการทำงานใหม่ในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา
2558 จะทำให้ครูและบุคลากรทางการศึกษาของโรงเรียนและเขตพื้นที่มีความพร้อมในการเริ่มต้นด้วยกระบวนการใหม่
อย่างมั่นใจมากขึ้น เพราะได้ลงมือปฏิบัติช่วงหนึ่งแล้วในช่วง 2-3 เดือนก่อนปิดภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2557
5. กระบวนการ AAR (After-action
review) การนิเทศภายใน หรือการประชุมร่วมกันของครูเพื่อวิพากษ์วิจารณ์สื่อ
แผนการสอน หรือพัฒนาการสอนจะมีอยู่บ้างในบางโรงเรียน แต่สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างเป็นประจำ อย่างสร้างสรรค์
และเป็นวิถีชีวิตปกติของครูในโรงเรียนส่วนใหญ่ของประเทศ ดังนั้น การนำกระบวนการ AAR มาแนะนำให้โรงเรียนและเขตพื้นที่ที่เข้าร่วมโครงการได้รู้จักและนำไปประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับบริบทโรงเรียนเอง
จึงเป็นหลักการของการปรับปรุงการเรียนการสอน และจุดเริ่มต้นของการสร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้ใหม่ในโรงเรียน ปรับเปลี่ยนปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันแบบใหม่ เป็นแบบกัลยาณมิตร เกื้อกูลซึ่งกันและกันระหว่างครู และครูกับศิษย์ โรงเรียนจึงต้องสร้างกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากการปฏิบัติร่วมกันอยู่เสมอ
หรือสร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (Professional Learning
Community: PLC) ให้เกิดขึ้น เพราะถือเป็นการพัฒนาวิชาชีพแบบ on
the job training ที่มีประสิทธิผล และหากครูและผู้บริหารโรงเรียนมองเห็นว่า
ควรเติมเต็มความรู้และสมรรถนะสำคัญเรื่องใดที่เป็นจุดอ่อนของครู เพื่อให้ครูสามารถจัดการเรียนการสอนให้ดีขึ้น
โรงเรียนก็สามารถคิดและตัดสินใจเองว่า จะเติมเต็มเรื่องใด เวลาใด
อาจชวนผู้รู้มาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในช่วงเวลา AAR ที่ทุกโรงเรียนจะจัดสรรเวลาไว้
ให้มีช่วง/ ชั่วโมง AAR ในทุกสัปดาห์
หรือจะเติมเต็มในช่วงวันหยุดเพื่อไม่ให้กระทบเวลาจัดการเรียนรู้ของครูและเด็กก็ได้
----------------------------