หน้าเว็บ

วันพฤหัสบดีที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2556

CSR เพื่อโรงเรียนของ CAT

ความร่วมมือ สพฐ.& กสท. "สื่อสาร เรียนรู้ สู่ชุมชน": เตรียมประเมินผล Up Speed Internet ให้ 76 โรงเรียน

วันที่ 20 มีนาคม 2556 ผมไปร่วมประชุมเพื่่อหารือแนวทางการประเมินผลโครงการ "สื่อสาร เรียนรู้ สู่ชุมชน" ตามโครงการความร่่วมมือครบ 3 ปี ระหว่าง สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT ณ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ถนนแจ้งวัฒนะ ผมไปพร้อมกับศึกษานิเทศก์ 2 ท่าน คือ อาจารย์บุญลักษณ์ พิมพา และอาจารย์เสาวณีย์ สุภรสุข คณะทำงานโครงการโรงเรียนในฝัน (โรงเรียนดีใกล้บ้าน-โรงเรียนดีประจำอำเภอ) สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา ส่วนฝ่าย CAT มี 3 คน ได้แก่ คุณสถาพร ทัศประเสริฐ ผู้จัดการฝ่าย คุณธมิตรชัย บุรีเลิศ และ คุณกัณจรีย์ นาคยศ ฝ่ายประชาสัมพันธ์และสื่อสารองค์กร

สำหรับโครงการความร่วมมือนี้ ได้ลงนามกันไว้ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2553 ในชื่อโครงการ "สื่อสาร เรียนรู้ สู่ชุมชน" ระหว่าง สพฐ. บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) โครงการทำดีทุกวันจากดีแทค และสถาบันไทยพัฒน์ โดยมีวัตถุประสงค์ 4 ข้อคือ (1) ส่งเสริมสนับสนุนการยกระดับมาตรฐานการศึกษาของเยาวชนไทย (2) สนับสนุนการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และประสบการณ์การทำงานเรื่องความรับผิดชอบสังคมตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (3) สนับสนุนการสร้างองค์ความรู้ใหม่ในเรื่องความรับผิดชอบและความพอเพียงในการใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อสร้างสรรค์ประโยชน์ให้สังคม และ(4) ส่งเสริมการสร้างความเข้มแข็งทางด้านการศึกษาในสังคมและขยายเครือข่ายการใช้อินเทอร์เน็ตอย่างมีความรับผิดชอบและความพอเพียง ความเป็นมาของโครงการ ดูได้ที่นี้ >>   เปิดตัวโครงการ CSR “สื่อสาร เรียนรู้ สู่ชุมชน”


ด้วยที่ผมไม่เคยทราบว่า โครงการสื่อสาร เรียนรู้ สู่ชุมชนนี้เป็นอย่างไร จึงขอให้ทีม CAT ช่วยเล่าให้ฟัง ในส่วนของกิจกรรมของ CAT และ สพฐ. จึงทราบว่า โครงการนี้เริ่ม 8 มิถุนายน 2553 นอกจากผู้บริหารหน่วยงานมาลงนาม MOU กันแล้ว ก็ได้เชิญผู้อำนวยการโรงเรียนมาทำพิธีลงนาม MOU ระหว่างโรงเรียนกับสำนักงานบริการลูกค้า กสท.แต่ละจังหวัดด้วย หลังจากนั้น CAT ก็ได้เริ่มดำเนินการ up speed internet ให้กับโรงเรียนทั้ง 76 โรงเรียน จังหวัดละ 1 โรงเรียน เลือกโรงเรียนที่มีสาย optical fiber หรือ "เส้นใยแก้วนำแสง" ผ่านโรงเรียน หลักคิดของเขาก็คือ โรงเรียนใช้ package internet และจ่ายเงินให้ CAT อยู่เท่าใดก็ให้จ่ายเท่าเดิม แต่ CAT จะ up speed internet ให้เร็วขึ้นเท่าศักยภาพของ Hub/ router/ server ของโรงเรียนที่มีและสามารถรองรับได้เพียงใด เช่น จากเดิมความเร็ว 1 Mbps โรงเรียนจ่าย 14,900 บาท/ เดือน ก็เพิ่มให้เป็น 3 Mbps ในราคา 31,100 บาท/ เดือน โดยส่วนต่าง 16,200 บาท/ เดือน ทาง CSR ของ CAT เป็นผู้รับผิดชอบออกให้โรงเรียน เป็นต้น จากข้อมูลการสนับสนุนส่วนต่างในแต่ละเดือน พบว่า CAT สนับสนุนรวม 76 โรงเรียนเป็นเงินทั้งสิ้น 920,121.52 บาท/ เดือน (3 ปี=33,124,374.72 บาท) สนับสนุนต่อโรงเรียนมากที่สุด (MAX) 35,972 บาท/ เดือน, น้อยที่สุด (MIN) 990 บาท/ เดือน และเฉลี่ย (MEAN) 12,107 บาท/ เดือน รายละเอียดแต่ละโรงเรียน ดังแผนภาพ





เหตุที่ทาง CAT เชิญทีม สพฐ.ไปหารือกันครั้งนี้ เพราะมิถุนายน 2556 โครงการจะสิ้นสุดเวลา 3 ปี ตามกำหนดแล้ว ทางฝ่ายประชาสัมพันธ์และสื่อสารองค์กรของ CAT ก็เห็นประโยชน์ที่เกิดกับการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชน จึงต้องการเสนอบอร์ด กสท. ภายในเดือนเมษายน 2556 ขอให้ขยายเวลาการดำเนินงานโครงการนี้ออกไปอีก จึงต้องการผลการประเมินการเพิ่มศักยภาพการใช้อินเทอร์เน็ต (Up Speed Internet) จึงขอความอนุเคราะห์ให้ สพฐ.ช่วยดำเนินการให้ เพราะ CAT เคยให้สำนักงานบริการลูกค้า กสท.แต่ละจังหวัดเก็บข้อมูลให้เมื่อต้นปี 2555 แต่ไม่ได้รับผลกลับคืนมามากพอ นอกจากนั้น หาก สพฐ.ประเมินให้ก็จะทำให้เกิดความเชื่อมั่นในผลที่ได้รับมากกว่าที่ CAT ดำเนินการเอง ทั้งนี้ ทาง CAT ไม่ได้ตั้งงบประมาณเพื่อดำเนินการเรื่องประเมินโครงการนี้ไว้เลย

ดังนั้น ทีม สพฐ. 3 คน ตกลงกันว่า เราจะช่วยประเมินผลโครงการนี้ให้ เพราะเห็นว่าโครงการเป็นประโยชน์ต่อผู้เรียนและ CAT ช่วยโรงเรียนมาต่อเนื่อง 3 ปีแล้ว โดยผมจะเป็นผู้กำหนดกรอบและสร้างเครื่องมือประเมิน และอ.บุญญลักษณ์และอ.เสาวณีย์จะเป็นผู้ประสานการเก็บข้อมูลภาคสนามในสัปดาห์หน้าก่อนที่โรงเรียนจะปิดเทอมใหญ่

ทั้งนี้ ทีม สพฐ.และทีม CAT ได้ร่วมหารือกันถึงแนวทางการนำเสนอบอร์ด กสท.ให้เห็นถึงผลดีที่เกิดขึ้นจากโครงการนี้ อาทิ ใช้โอกาสที่ CAT จะฉลองครบรอบ 10 ปี ของการเป็บ บมจ. ประกาศสนับสนุนโครงการนี้ต่อไป โดยเพิ่มทั้งปริมาณและคุณภาพ เช่น เพิ่มโรงเรียนจาก 76 แห่ง เป็น 10 ปี X 10 โรงเรียน จะได้ 100 แห่ง, เพิ่มจำนวนปีสนับสนุนโครงการจาก 3 ปี เป็น 10 ปี หรือ 10 ปี หาร 2 เป็น 5 ปี, CAT กำหนดโรงเรียนสัก 10 โรงเรียน ที่จะส่งเสริมให้มีคุณภาพจนเป็นสามารถเป็นต้นแบบได้, เพิ่มกิจกรรมคุณภาพที่ส่งเสริมการเรียนรู้ของโรงเรียนและชุมชน 10 กิจกรรม เช่น ค่าย, โครงงาน, กิจกรรมใช้ IT สร้างสรรค์, แบ่งปันความรู้สู่ชุมชนรอบโรงเรียน เป็นต้น

สิ่งที่ได้เรียนรู้-สะท้อนคิด

1. หนึ่งโครงการ "สื่อสาร เรียนรู้ สู่ชุมชน" นี้เป็นของหนึ่งหน่วยงานคือ CAT ที่ทำ CSR มาสนับสนุนภาคการศึกษาและโรงเรียนของเรา โดยหวังส่งเสริมพัฒนาคุณภาพการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชน เพราะอยากเห็นเด็กในวันนี้เป็นผู้ใหญ่ที่ดีมีความสามารถในวันหน้า ซึ่งโครงการดีเช่นนี้ยังมีอีกหลายโครงการ หลายองค์กรที่ดำเนินการโครงการ CSR  ภายใต้การส่งเสริมของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กระทรวงการคลัง ร่วมกับ สพฐ. ดำเนินโครงการยกระดับมาตรฐานการศึกษาของเยาวชนไทย และได้จัดสัมมนาชี้แจงโครงการให้กลุ่มรัฐวิสาหกิจในช่วงต้นปี 2553 ณ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง โดยมี นางดนุชา ยินดีพิธ รอง ผอ.สคร. เป็นประธาน ร่วมกับ ดร.ชินภัทร ภูมิรัตน์ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ดร.อรทัย มูลคำ ผอ.สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา และนายปิยบุตร ชลวิจารณ์ อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรี ประจำกระทรวงศึกษาธิการ...ผมเคยสัมผัสความร่วมมือเช่นนี้บ่อยมาก เมื่อครั้งช่วยงานโรงเรียนในฝันในฝ่ายภาคีเครือข่ายอุปถัมภ์ ร่วมกับ อ.พวงเพชร กันยาบาล ขณะนั้นผู้ดูแลเชิงนโยบายของโรงเรียนในฝันเป็น ผู้ช่วยรัฐมนตรีปิยะบุตร ชลวิจารณ์ ท่านได้เอาใจใส่และให้ความสำคัญในการแสวงหาผู้สนับสนุน ไปให้ข้อมูลเชิญชวนให้บริษัท หน่วยงานรัฐวิสาหกิจต่างๆ ด้วยตนเอง ผมก็เป็นฝ่ายสนับสนุนข้อมูลจึงได้ไปด้วยหลายที่ เช่น ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ธนาคารอาคารสงเคราะห์ การประปานครหลวง ศรีไทยซุปเปอร์แวร์ ธนาคารกรุงเทพ ฯลฯ ผมจึงได้เห็นว่า แม้จะมีมาตรการให้ 1 ได้ 2 ในเชิงภาษีแล้ว แต่ก็มีองค์กรให้ความสนใจมาช่วยสนับสนุนโรงเรียนไม่ทุกองค์กร ดังนั้น สิ่งที่ CAT ดำเนินโครงการ "สื่อสาร เรียนรู้ สู่ชุมชน"  มาครบ 3 ปี จึงเป็นเรื่องที่น่าชื่นชมยินดีมาก

2. โครงการ CSR เป็นโครงการจิตอาสา แบ่งปันเพื่อสังคมชุมชนขององค์กร/ หน่วยงานต่าง ๆ อย่างโครงการนี้ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ก็ได้อาสาช่วยสนับสนุนโรงเรียนของเรามา คิดเป็นมูลค่ากว่า 33 ล้านบาท ดังนั้น เราทีม สพฐ. 3 คน คือ อ.บุญญลักษณ์ พิมพา อ.เสาวณีย์ สุภรสุข และผม จึงอาสาช่วยทำประเมินผลโครงการนี้ให้ เพื่อดูว่า ผู้บริหารโรงเรียนและครูมีความพึงพอใจและนักเรียนได้รับประโยชน์มากน้อยเพียงใด เป็นการร่วมด้วยช่วยกัน เพื่อสร้างสรรค์สังคมแบ่งปันให้มากยิ่งขึ้น

3. ครั้งนี้ ผมไปประชุมที่บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) เป็นส่วนของอาคารบริหาร สังเกตเห็นว่า เกือบทุกพื้นที่ว่าง (ที่คนเห็นได้ง่าย) จะไม่ปล่อยให้พื้นที่นั้นว่างเปล่า แต่บริษัทได้นำวิสัยทัศน์องค์กร พันธกิจองค์กร เป้าหมายองค์กร สิ่งที่สะท้อนวัฒนธรรมขององค์กร ข้อความจากคำสัมภาษณ์/ คำกล่าวของผู้บริหารระดับสูงขององค์กรที่ต้องการผลักดันองค์กรไปทิศทางไหนก็ถูกยกมาแปะไว้ที่ผนัง-ต้นเสาของอาคารสำนักงานทั่วไป เป็นการติดที่ออกแบบมาอย่างดี สวยงาม สะดุดตา น่าอ่าน ...ผมเห็นแล้วรู้สึกดี รับรู้ได้เลยว่า องค์กรมุ่งไปทิศทางใด องค์กรเน้นอะไร และคาดหวังอะไรจากพนักงานในองค์กร จึงคิดว่า แนวทางนี้ก็เป็นอีกหนึ่งที่ดี ในการสร้างบรรยากาศขององค์กรให้รู้สึกเป็นหนึ่งเดียว ให้เกิดความกระตือรือร้น และมุ่งสู่วิสัยทัศน์ขององค์กรร่วมกัน น่านำมาประยุกต์ใช้บ้าง