หน้าเว็บ

วันพฤหัสบดีที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2556

Tablet & คนพิการ

Tablet: การเข้าถึงและใช้ประโยชน์ของคนพิการ


วันนี้ผมได้รับมอบจากผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษาให้เข้าประชุมแทนเกี่ยวกับการหาข้อสรุปและแนวทางในการขับเคลื่อนและแก้ไขปัญหาในเรื่องการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากโครงการแจกแท็บเล็ตให้นักเรียนชั้น ป.1 รายงานต่อคณะอนุกรรมาธิการด้านคนพิการ ในคณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคมและกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการและผู้ด้อยโอกาส วุฒิสภา ใน 3 ประเด็นคือ
  1. การจัดสรรแท็บเล็ตที่ไม่มีนโยบายที่ชัดเจนในส่วนของคนพิการ
  2. นโยบายในเรื่องการจัดสรรในส่วนอุปกรณ์ (hard ware) ที่จะทำให้คนพิการเข้าถึงได้
  3. รูปแบบการจัดสรรข้อมูลที่จะบรรจุลงไว้ในแท็บเล็ตที่ต้องเอื้อต่อคนทุกประเภทและสามารถพัฒนาต่อได้

จากการหารือกันได้ข้อสรุปในแต่ละประเด็น ดังนี้
ประเด็นที่ 1 นโยบายแจกแท็บเล็ต: ที่ประชุมเห็นว่า นโยบายมีความชัดเจนครอบคลุมเด็ก ป.1 ทุกคนอยู่แล้ว แต่ควรเสนอรัฐบาลปรับเป็นจัดเพิ่มให้แก่คนพิการที่กำลังศึกษาอยู่ในระบบการศึกษาทุกคน 
ประเด็นที่ 2 hard ware: ที่ประชุมเห็นว่า แท็บเล็ตไม่สามารถใช้การได้และไม่เหมาะสมสำหรับการใช้งานของคนพิการประเภทหูหนวกและตาบอด เพราะต้องใช้ software/ Apps เฉพาะ และ hard ware ที่มีสมรรถนะสูง จึงเสนอว่า ควรพิจารณา ipad หรือเครื่องที่มีสมรรถนะเทียบเท่า ในการจัดหาให้คนพิการ 
ประเด็นที่ 3 ข้อมูลที่ลงไว้ในตัวเครื่อง: ที่ประชุมเห็นว่า ควรจำแนกประเภทของความพิการออกเป็น 3 กลุ่ม เพื่อจัดหาสื่อ ICT รวมทั้ง content ที่เหมาะสมกับแต่ละกลุ่ม ได้แก่ (1) กลุ่มตาบอด (2) กลุ่มหูหนวก (3) กลุ่มออทิสติก/ บกพร่องทางสติปัญญา

ซึ่งสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ จะได้สนับสนุนให้มี workshop ของคณะทำงานในแต่ละประเด็นให้มีรายละเอียดเพิ่มขึ้น พร้อมวิเคราะห์เหตุผลความจำเป็น เพื่อเสนอ สพฐ. รมว.ศธ. และคณะอนุกรรมาธิการด้านคนพิการ ในคณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคมและกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการและผู้ด้อยโอกาส วุฒิสภาต่อไป

สิ่งที่ผมได้เรียนรู้จากการประชุมวันนี้ คือ


  • ความรู้สึกขณะอยู่ในการประชุมนี้คือ คิดไปข้างหน้าเพื่อประโยชน์ของผู้พิการรายคน/ รายกลุ่ม ความคิดความรู้สึกเช่นนี้ก็คือ การศึกษาที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ เราอยากให้เขาได้รับความสะดวกในการเรียนรู้ และเผชิญโลกได้อย่างดีที่สุดแม้มีภาวะจำกัด สิ่งที่จะให้เขาได้ก็คือ เครื่องมือช่วยในการเรียนรู้ และดีใจที่ข้อเสนอของผมที่เสนอว่า ควรสนับสนุน Tablet ให้กับคนพิการทุกคนเพื่อใช้ในการศึกษาเรียนรู้ มีผู้เห็นด้วยและนำไปสู่การปรับเป็นมติของที่ประชุม
  • ได้เห็นแง่คิด มุมมองของผู้พิการที่โดดเด่น อย่างน้อย 2 คน คือ นายกิติพงศ์ สุทธิ (สมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย) และ ดร.อิศวรา ศิริรุ่งเรื่อง (อาจารย์วิทยาลัยราชสุดา) รู้สึกประทับใจ ทึ่งในการเรียนรู้และพัฒนาตนเองแม้จะพิการสายตา 
  • ได้รับรู้ว่าโปรแกรมช่วยในการเรียนรู้ของผู้พิการทางสายตา อาทิ สื่อ DAISY (หนังสือเสียง แสดงผลคล้ายคาราโอเกะ), อีพลัส (มีอาจารย์บุญเลิศ ที่ NECTEC เป็นวิทยากรให้การอบรม) และได้รู้ว่าผู้พิการทางสายตามีความพึงพอใจในสมรรถนะของ ipad   ว่ามี Apps หลายตัวที่สามารถเอื้อให้ผู้พิการสายตาได้ใช้งานได้เป็นอย่างดี
  • ได้รับรู้ว่า ค่าใช้จ่ายที่สนับสนุนการศึกษาของผู้พิการสูงกว่าคนปกติ 5 เท่า 
  • ได้เรียนรู้การจัดสรรแท็บเล็ตให้นักเรียนในโรงเรียนเอกชน จากตัวแทนสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชน (สช.) ว่า สช.จัดสรรให้โรงเรียน และถือว่าแท็บเล็ตเป็นครุภัณฑ์ของทางราชการ (ซื้อด้วยงบประมาณของรัฐ) ให้โรงเรียนนำไปใช้ในการจัดการเรียนการสอน ไม่ได้ให้กรรมสิทธิ์กับนักเรียนแต่ละคน โดยให้นักเรียนยืมเรียน หากจะนำกลับไปใช้ที่บ้านต้องให้ผู้ปกครองมาทำเรื่องยืม กรณีนักเรียนย้ายออกจากโรงเรียน โรงเรียนจะต้องนำเครื่องแท็บเล็ตมาส่งคืนที่ สช. และ สช.จะเป็นผู้ดำเนินการเรื่องจัดสรรเครื่องให้กับโรงเรียนที่นักเรียนย้ายไปเอง ทั้งนี้เพื่อควบคุมยอดรวมของแท็บเล็ตและลดปัญหาอื่นๆ ที่จะตามมา

-----------------------------------------
* การประชุมคณะกรรมการพิจารณาการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากโครงการแจกแท็บเล็ตให้นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 วันศุกร์ที่ 15 มีนาคม 2556 เวลา 13.00-15.00 น. ณ ห้องประชุมสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ สพฐ. อาคาร สพฐ.2 ชั้น 1