หน้าเว็บ

วันเสาร์ที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2556

ภาคเอกชนพัฒนาการศึกษาไทย

เวทีเสวนา Corporate Education
[พิทักษ์ โสตถยาคม]

เวลาตั้งวงพูดคุย-แลกเปลี่ยนเรียนรู้ของผู้ใส่ใจในอนาคตของประเทศเรา ผ่านโจทย์ “การศึกษา & การพัฒนากำลังคน” ...ทุกๆ ครั้ง ผมได้เห็นเจตนา ความมุ่งมั่น และพลังสร้างสรรค์ที่เต็มเปี่ยมของผู้ร่วมวงเสวนา และทุกๆ ครั้ง แต่ละคนก็นำเรื่องดีๆ ที่ได้ผ่านการลงมือทำ มีประสบการณ์ของความสำเร็จและบทเรียนจากความพยายามมาเล่าสู่กันฟัง เรื่องราวเหล่านี้ได้ช่วยขยายมุมมองของผมให้กว้างขึ้น ในขณะเดียวกันก็กลายเป็นโจทย์/ คำถาม “ทำไม...?” “เพราะอะไร...?” ..ต่อไปเช่นกัน...

เวทีวันนี้ (พุธ 24 เม.ย.2556) เป็นเรื่อง “บทบาทภาคเอกชนเพื่อพัฒนาการศึกษาไทย” ผมมาถึงที่ประชุมของสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ถนนแจ้งวัฒนะ เมื่อการประชุมเริ่มไปประมาณ 15 นาที และอยู่ร่วมการประชุมจนถึงเวลา 17.30 น. กิจกรรมการประชุมที่พบมี 3 ช่วง ช่วงแรกเป็นการนำเสนอ “รายงานการศึกษาเบื้องต้นโครงการศึกษาและพัฒนาเครือข่ายภาคเอกชนผู้จัดการศึกษาและสนับสนุนการศึกษา” สนับสนุนโดยมูลนิธิโรงเรียนรุ่งอรุณ ช่วงที่สองเป็นการบอกเล่าการจัดการศึกษาที่ผ่านมาอาทิ โรงเรียนมีชัยพัฒนา (คุณมีชัย วีระไวทยะ) สถาบันเศรษฐกิจพอเพียง/ มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ (ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร) วิทยาลัยเทคโนโลยีปัญญาภิวัฒน์ (คุณพรวิทย์ พัชรินทร์ตนะกุล)  บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (คุณณีรนุช) และช่วงสุดท้ายเป็นการสะท้อนคิดเพื่อก้าวต่อไป

ผมได้ฟังช่วงสุดท้ายของการนำเสนอผลการศึกษาเบื้องต้นฯ เกี่ยวกับข้อสังเกตของนักวิจัยที่พบจาก 4 กรณีศึกษา ได้แก่ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ร.ร.มัธยมมีชัยพัฒนา สถาบันอาศรมศิลป์ และโครงการจัดตั้งสถาบันอุดมศึกษาและ ร.ร.วิทยาศาสตร์ กลุ่ม ปตท. พื้นที่ภาคตะวันออก พบว่าการจัดการเรียนการสอนมีลักษณะเน้นประสบการณ์ตรง เป็นการขยายโอกาสเข้าถึงการศึกษาของประชาชน พัฒนาบุคลากรตรงตามความต้องการกำลังคนของประเทศ เป็นการจัดที่เน้นพึ่งตนเองลดการพึ่งพิงภาครัฐ มีความคล่องตัวในการบริหารจัดการ และใช้เวลาบ่มเพาะผู้สอนให้ตรงแนวทางของสถาบัน และมีคำพูดที่น่าคิดจากการนำเสนอว่า “ภาคมหาวิทยาลัยวิ่งไปสู่ความเป็นธุรกิจ แต่ภาคธุรกิจกำลังสร้างมหาวิทยาลัย”

และจากการนำเสนอผลสังเคราะห์องค์กรเอกชนที่จัดการศึกษาโดย รศ.ประภาภัทร นิยม ทำให้เห็นว่า ภาคเอกชนจัดการศึกษาหลากหลายองค์กรมาก อาจารย์ประภาภัทรจำแนกเป็น 3 กลุ่มคือ (1) กลุ่มที่ทำ CSR และกลายเป็น CIV (Creative Integrated Value) ไปแล้ว เช่น มูลนิธิไทยคม (2) School-BIRD (School-Based Integrated Rural Development Program) เช่น ร.ร.มัธยมมีชัยพัฒนา สถาบันอาศรมศิลป์ มหาวิชชาลัยภูมิปัญญาท้องถิ่น (3) Corporate (Work-based learning) เช่น วิทยาลัยเทคโนโลยีปัญญาภิวัฒน์ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์

อ.ประภาภัทรยังได้วิเคราะห์ให้เห็นว่า เมื่อภาคเอกชนจัดการศึกษา จะมองเป้าหมายของผู้เรียนแตกต่างจากการจัดการศึกษาโดยทั่วไป ซึ่งเป้าหมายชัดเจนว่าผู้เรียนจะต้องมีงานทำ ทำงานเป็น เป็นผู้นำ พึ่งตนเองได้ มีกิจการเป็นของตนเอง และพยายามปลดล็อค/ ปรับแก้ปัญหาหลายๆ ส่วน เช่น การให้ตีค่าการเรียนเพียงรับใบปริญญา หรือเรียนแล้วเอาไปใช้งานไม่ได้ ก็จะมุ่งปรับให้เป็นเรียนได้ทุกวัย มีความยืดหยุ่น ให้สอดคล้องกับชีวิตความเป็นจริง อาจารย์ยกตัวอย่าง มหาวิทยาลัยไคสต์ (KAIST-Korea Advanced Institute of Science & Technology) ซึ่งปี 2012 อยู่ในอันดับ 24 ของ World University Rankings ในด้าน Engineering and Technology ได้รับการยอมรับจากชาวเกาหลีว่าเป็นมหาวิทยาลัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ดีที่สุดของประเทศ โดยที่มหาวิทยาลัยนี้ได้นำ big problem ของประเทศมาเป็นโจทย์ของมหาวิทยาลัยและช่วยตอบโจทย์ประเทศ มี 6 หน่วยวิจัยที่มีการทำงานอย่างบูรณาการและมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกันอย่างเข้มข้น 

นอกจากนั้น อาจารย์ยังได้นำผลการพูดคุยระหว่างสถาบันที่จัดการศึกษาของภาคเอกชน เห็นตรงกันว่าจะประสานความร่วมมือกันทุกรูปแบบ จะขยายขอบเขตความร่วมมือกัน บนฐานของความเคารพซึ่งกันและกัน  จะเพิ่มช่องทาง โอกาส และทางเลือกให้ผู้เรียนมากขึ้น และพัฒนาต้นแบบการศึกษาสู่การศึกษาตลอดชีวิตให้มากขึ้น

ยังมีความเห็นจากวงเสวนาหลากหลาย แต่ก็มีทิศทางไปในแนวทางเดียวกันคือ เป้าหมายของการจัดการศึกษาเป็นการเตรียมผู้เรียนให้พร้อมทำงาน มีทักษะจำเป็น มีคุณลักษณะที่พึงประสงค์ วิธีการจัดการศึกษาจะต้องเปลี่ยน รวมทั้งผู้จัดการศึกษาก็ต้องเปลี่ยน-ปรับเปลี่ยนความคิดของผู้จัดการศึกษาเดิม และเพิ่มกลุ่มผู้จัด/ ส่งเสริมผู้จัดการศึกษาภาคเอกชน ชุมชนที่มีศักยภาพ โดยภาครัฐสนับสนุนและเอื้ออำนวยให้ดำเนินการได้อย่างราบรื่น ...ต่อไปนี้เป็นบางความเห็นที่สะท้อนจากเวทีการเสวนา
  • การศึกษาให้ค่าปริญญาที่ไม่มีความหมาย แข่งขายปริญญา แต่ไม่ขายความรู้, ครูมีวุฒิได้เงินเดือนสูง แต่ไม่ช่วยให้เด็กเรียนรู้ดีขึ้น, ครูสอนอาชีพไม่รู้-ไม่ทันวิทยาการที่ก้าวหน้าและไม่มีเครื่องมือที่ทันสมัย จึงหวังที่จะสอนเด็กให้เท่าทันได้ยาก จึงคาดหวังกับภาคเอกชน ที่จะมี Corporate University 
  • ความจริงที่ต้องยอมรับก็คือ รัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการไม่สามารถสนองความต้องการของสังคมได้ทั้งหมด เราคงจะไม่ไปแขวนคอ ศธ. เพราะเขาถูกต่อว่ามามากแล้ว
  • การศึกษาอยู่กับผู้จัด (supply side) มากไป ควรเปลี่ยนเป็น demand side
  • แต่เดิมตีค่าเด็กจากผู้ได้เกรดสูง ตีตราเด็กเกรดต่ำ เมื่อเด็กเรียนแบบ Work-based learning เด็กจะต้องพิสูจน์ตนเองจากการปฏิบัติจริง จะได้ฝึกความอดทน ซื่อสัตย์ ให้รู้หน้าที่ในการให้บริการ เพราะถึงอย่างไรก็ต้องมีวันเริ่มแรกที่เด็กต้องทำงาน การเรียนเช่นนี้เป็นการฝึกความพร้อม ความอดทน
  • แต่ละคนมายืนอยู่ทุกวันนี้ ต้องถามตนเองว่า 100% ในความรู้ความสามารถปัจจุบัน เป็นผลหรือได้มาจากโรงเรียนและมหาวิทยาลัยกี่เปอร์เซ็นต์ และเปอร์เซ็นต์ที่เป็นกล่องดำที่เหลือนั้นคืออะไร เป็นส่วนที่เรียนรู้จากที่ใด?
  • ไม่ควรอุ้มกระทรวงศึกษาธิการต่อ เพราะภาษีของประเทศจำนวนมากที่ทุ่มให้ใช้ในการพัฒนาการศึกษา บัดนี้ เห็นชัดเจนแล้วว่าไม่มีประสิทธิผล ผลสัมฤทธิ์ตกต่ำ ดังนั้น จะเป็นไปได้ไหมที่จะแบ่งสัดส่วนทรัพยากรที่กระทรวงศึกษาธิการเคยได้ ไปให้กับองค์กรที่สามารถทำได้ดีและมีประสิทธิผลมากกว่า
  • ระดับการมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาของภาคเอกชนมีหลายระดับ ทั้งระดับนโยบายมีคณะกรรมการร่วม ระดับปฏิบัติทำเป็น career technical education เชื่อมโยงอาชีพในมัธยมศึกษาตอนต้น มี industrial sector มาร่วมกำหนดทักษะที่ต้องการให้ผู้เรียนเรียน  ระดับประเมินมีคณะกรรมการประเมินอย่างอิสระ มีตัวชี้วัดด้านผลกระทบที่ชัดเจน ระดับเครือข่ายมีการนำโปรแกรมการจัดการศึกษามาแลกเปลี่ยนกัน
  • ได้เห็นโครงการเตรียมคนเข้าสู่อาเซียนส่วนใหญ่จะเป็นการสอนภาษาอังกฤษ จึงมีคำถามว่า ต่อให้ประชาชนเก่งภาษาอังกฤษเท่ากับชาวอังกฤษประชาชนและประเทศชาติของเราจะอยู่รอดไหม เราควรพัฒนาเตรียมคนของเราอย่างไรกันแน่ ดังนั้น การเข้า AEC ควรเตรียมโดยการทำวิจัยก่อนว่า AEC มีผลกระทบกับใครอย่างไรบ้าง มิใช่อะไรๆ ก็อบรมภาษาอังกฤษ ยังมีภาษาจีน ภาษาพม่า และอื่นๆ อีกที่จะเป็นสำหรับคนบางกลุ่มบางพื้นที่
  • ควรมีสถาบันวิจัยและพัฒนาการศึกษาไทย ให้มีอิสระ เหมือนก่อนหน้านี้มี สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ทำหน้าที่วิจัยให้ข้อเสนอเพื่อการพัฒนาสาธารณสุข


จากการนั่งฟังการเสวนาในเวทีนี้ เห็นการเคลื่อนตัวของภาคเอกชนในการลุกขึ้นมาจัดการศึกษา และเป็นการจัดการศึกษาที่มาจากจิตวิญญาณของนักพัฒนา ทุกแห่งมีปรัชญาแนวคิดความเชื่อของการทำสถานศึกษาที่น่าทึ่งและน่าคารวะ การมีสถานศึกษาหลากหลาย ตอบโจทย์ความต้องการ ข้อจำกัด ของกลุ่มเป้าหมายต่างๆ ได้มากเท่าไร ก็ทำให้ประชาชนมีทางเลือกมากขึ้น และผมเห็นว่าหน่วยงานองค์กรที่ให้ความสำคัญและจัดการศึกษาที่มีคุณภาพเหล่านี้มีจำนวนมากพอ... มากพอที่จะต่อรองทรัพยากรจากรัฐ ให้หันมาสนับสนุนส่งเสริมสถานศึกษาที่นอกเหนือจากของภาครัฐ อย่างเป็นระบบ จริงจัง และชัดเจน โดยเฉพาะสัดส่วนของงบประมาณจากภาษีประชาชน.