การเตรียมทีม Coaching and Mentoring:
กรณีศึกษาคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
พิทักษ์
โสตถยาคม
อย่างที่ทราบกันว่า โครงการพัฒนาครูโดยใช้กระบวนการสร้างระบบพี่เลี้ยง
coaching and mentoring นี้
เป็นการดำเนินงานตามนโยบายของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จากคำบรรยายของรองเลขาธิการ
กพฐ. (นายอนันต์ ระงับทุกข์) เมื่อ 7 มีนาคม 2556 ในการประชุมสัมมนาเพื่อเตรียมพัฒนาครูระหว่างสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานกับสถาบันอุดมศึกษา
ประจำปี 2556 ณ โรงแรมรามาการ์เด้นส์ ได้เน้นย้ำว่า
สพฐ.สนับสนุนการพัฒนาครู ณ สถานศึกษา เพื่อร่วมสนับสนุนส่งเสริมให้เกิด “ห้องเรียนคุณภาพ”
เป็นการใช้ “พลัง 3 ประสานคือ โรงเรียน เขตพื้นที่ และมหาวิทยาลัย” พัฒนาจากต้นทุน-ฐานเดิมของครูและโรงเรียน
มีเป้าหมายคือการพัฒนาเด็กและเยาวชนในพื้นที่ สิ่งที่คาดหวังว่าจะได้รับจากโครงการนี้
ไม่เพียงประโยชน์เฉพาะบุคลากรกลุ่มเป้าหมายเท่านั้น แต่บุคลากรของมหาวิทยาลัยก็จะได้ทำภารกิจการบริการวิชาการและมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาให้มีคุณภาพ
รวมทั้งมีความเข้าใจในสภาพจริงที่ครูและโรงเรียนเผชิญอยู่ จะช่วยให้สถาบันครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ปรับปรุงการผลิตบัณฑิตครู
ได้ตรงกับความต้องการในการใช้ครูมากยิ่งขึ้น ผมทราบว่า โครงการนี้ได้เกิด 3 ประสานของการพัฒนาในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ
เมื่อวันเสาร์ที่ 27 เมษายน 2556 ที่ผ่านมา ผม และ อ.สมควร วรสันต์
หัวหน้าศูนย์พัฒนาการนิเทศและเร่งรัดคุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้รับความกรุณาและโอกาสจากคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยรองศาสตราจารย์
ดร.สิริพันธุ์ สุวรรณมรรคา ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาการเรียนรู้และวิชาชีพครู และประธานคณะกรรมการดำเนินงานโครงการพัฒนาครูโดยใช้กระบวนการสร้างระบบพี่เลี้ยง
coaching และ mentoring ให้เราได้ไปร่วมเรียนรู้ในกระบวนการประชุมทีมวิทยากรของคณะครุศาสตร์
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก่อนที่จะลงพื้นที่ไปชี้แนะและเสริมกลไกการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในโรงเรียนให้มีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น
สิ่งที่สัมผัสได้ทันทีเมื่อไปถึงห้องประชุม คือ
ชีวิตชีวา-ความกระตือรือร้น-ความมุ่งมั่นตั้งใจของหัวหน้าทีม (รศ.ดร.สิริพันธุ์
สุวรรณมรรคา) ผมนั่งดูก็นึกถึงบรรยากาศรถทัวร์ทัศนศึกษา (หรือแบบชวนกันไปปลูกป่าชายเลน/ ไปออกค่ายอาสา)
ที่ลูกทัวร์ก็รู้สึกตื่นตาตื่นใจ พร้อมไปเรียนรู้ที่ต่างๆ
และตั้งใจฟังหัวหน้าทีมที่ขณะนี้ทำหน้าที่เป็น “ไกด์” เล่าให้ฟัง และให้คำแนะนำทีละส่วน
ทีละขั้น ทีละตอนว่า ทีมของเราจะไปทำอะไร ทำไม และอย่างไร
มีสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาที่ลงนามความร่วมมือกับคณะครุศาสตร์
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำนวน 4 เขต ได้แก่
(1) สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 1 จ.กรุงเทพมหานคร (2) สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา
เขต 42 จ.นครสวรรค์และอุทัยธานี (3) สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาระยอง
เขต 2 และ(4) สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาตราด เพื่อพัฒนาครู ผู้บริหาร และศึกษานิเทศก์ให้มีความสามารถในการชี้แนะ
มีครู ผู้บริหาร และศึกษานิเทศก์ เขตละ 100 คน ยกเว้น สพม.เขต 1 มีจำนวน 203 คน
ซึ่งเป็นบุคลากรในโรงเรียนของ สพม.เขต 1 จำนวน 9 แห่ง, สพม. เขต 42 จำนวน 16 แห่ง,
สพป.ระยอง เขต 2 จำนวน 12 แห่ง, และสพป.ตราด จำนวน 7 แห่ง
นั่งฟังการเตรียมการของทีมวิทยากร ทำให้เห็นว่า ทีมวิทยากรกำลังเตรียมการเพื่อช่วยให้เกิดระบบการชี้แนะขึ้นในพื้นที่
ทั้งระหว่างเพื่อนครูด้วยกันเอง ระหว่างครูกับผู้บริหาร ระหว่างผู้บริหารกับศึกษานิเทศก์
ระหว่างศึกษานิเทศก์กับครู มีการออกแบบการขับเคลื่อนงานได้อย่างน่าสนใจ
โดยหัวหน้าทีมวิทยากรเน้นย้ำว่า ทีมวิทยากรจะพยายามไม่ทำ 3 เรื่อง
เมื่อลงไปในพื้นที่ คือ “ไม่สั่ง ไม่สอน ไม่บอกคำตอบ”
นอกจากโครงการนี้จะเป็นความร่วมมือ 3 ประสาน
ระหว่างมหาวิทยาลัย สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และโรงเรียนแล้ว
การจัดทีมวิทยากรของคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยก็เป็นแบบ 3
ประสานเช่นกันคือ ประกอบด้วยทีมวิทยากร 3 ฝ่าย ได้แก่ (1) อาจารย์จากคณะครุศาสตร์
(2) อาจารย์จากโรงเรียนสาธิต ฝ่ายมัธยม และ(3) อาจารย์จากโรงเรียนสาธิต ฝ่ายประถม รวมจำนวนกว่า
40 คน ถือเป็น “การจัดทัพ” และเตรียมเคลื่อนกำลังพลที่มีความพร้อมมาก
จากการเข้าร่วมประชุมครั้งนี้ ทำให้ผมได้เห็นพลังของการร่วมมือร่วมใจของทีมวิทยากร
มุมมองเชิงบวกของทีมวิทยากรที่เห็นโอกาสทำโครงการนี้ให้เป็น "พลังบวก"
ที่เป็นการประสานคน-ประสานงาน เชื่อมโยงกับภาระงานปกติและความเชี่ยวชาญเฉพาะตัวของอาจารย์แต่ละคนได้อย่างลงตัว
และการแสดงออกที่เห็นได้ในวันนี้ สะท้อนให้เห็นว่า ทุกคนตั้งใจทำงานนี้ เพื่อให้สิ่งที่ดีงามและสร้างสรรค์เกิดขึ้นในห้องเรียนและโรงเรียนของเรา
ซึ่งหัวหน้าศูนย์พัฒนาการนิเทศและเร่งรัดคุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐาน สพฐ. บอกกับผมว่า
เมื่อได้เห็นภาพการทำงานของจุฬาฯ แล้วรู้สึกสบายใจ ซึ่งผมก็เชื่อว่า สิ่งดีๆ
ของการทำงานร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัย เขตพื้นที่การศึกษา
และโรงเรียนในพื้นที่ต่างๆ คงจะเป็นไปในทิศทางเดียวกันนี้
นอกจากนั้น ในปีการศึกษานี้ น่าจะถือได้ว่าเป็น “ปีทองของการนิเทศ”
เพราะนอกจาก สพฐ.จะสนับสนุนโครงการ coaching และ mentoring
ให้ทุกสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประสานความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยตามความต้องการของพื้นที่เองแล้ว
สพฐ.ยังได้สนับสนุนโครงการวิจัยกระบวนการพัฒนาครูด้วยระบบหนุนนำต่อเนื่อง (teacher
coaching) ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) อีกด้วย
ซึ่งจะทำให้ได้องค์ความรู้เกี่ยวกับการชี้แนะและการเป็นพี่เลี้ยง (coaching
and mentoring) รวมทั้งเรื่อง Literacy, Numeracy และ Reasoning Ability ในหลายมิติ เพราะจะมีการพูดคุย-ตีความ-นำไปใช้ในโรงเรียนเป็นจำนวนมาก ซึ่ง สพฐ.จะได้ถอดบทเรียนและสังเคราะห์องค์ความรู้สู่การใช้ประโยชน์ต่อไป ทั้งนี้ ครูและบุคลากรทางการศึกษาในสังกัด สพฐ. จะได้ประโยชน์จากความลึกซึ้งและเป็นที่พึ่งได้ในเชิงวิชาการของอาจารย์มหาวิทยาลัย
ในขณะเดียวกัน อาจารย์มหาวิทยาลัยก็จะได้เรียนรู้การปฏิบัติจริงจากครูและบุคลากรทางการศึกษาด้วยเช่นกัน.