หน้าเว็บ

วันจันทร์ที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2558

การสะท้อนผลจากการร่วมโครงการ Teacher Coaching ของผู้บริหารโรงเรียนและผู้บริหารสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา


วันอาทิตย์ที่ 29 มีนาคม 2558 เวลา 11.00 น. ดร.เจือจันทร์ จงสถิตอยู่ ผู้ประสานงานชุดโครงการ ได้แบ่งกลุ่มเพื่อสนทนากับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับโครงการวิจัยกระบวนการพัฒนาครูด้วยระบบหนุนนำต่อเนื่อง (Teacher Coaching) ประกอบด้วยกลุ่มนักวิจัยจากมหาวิทยาลัย กลุ่มศึกษานิเทศก์ กลุ่มครูผู้สอน กลุ่มผู้นำโรงเรียนและเขตพื้นที่การศึกษา สำหรับกลุ่มผู้นำโรงเรียนและเขตพื้นที่ มีผมเป็น Facilitator ประจำกลุ่ม มีประเด็นเพื่อการสะท้อนผล 5 ประเด็น ได้แก่ (1) บทบาทหน้าที่ที่มีส่วนร่วมในการดำเนินงานโครงการ (2) สิ่งที่พบเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ตัวครู (3) สิ่งที่พบเห็นการเปลี่ยนแปลงของตนเอง (4) ถ้ามีโอกาสทำโครงการนี้ใหม่อีกครั้ง อะไรที่ควรทำ อะไรไม่ควรทำ และอะไรที่น่าทำแต่โครงการยังไม่ได้ทำ และ(5) แนวทางการขยายผล ซึ่งในกลุ่มผู้นำนี้มีผู้บริหารโรงเรียนและผู้บริหารสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา รวม 9 คน ประกอบด้วย

ผู้บริหารโรงเรียน 7 คน ได้แก่ (1) ดร.วีณา หาญใจ ผอ.ร.ร.วิชชานารี จ.ลำปาง (2) ดร.ทิมแก้ว ธรรมรักษ์สกุล ผอ.ร.ร.บ้านโทกหัวช้าง สพป.ลำปาง เขต 1 (3) น.ส.ธิดา พาณิชย์กุล ผอ.ร.ร.วัดยาง ณ รังสี สพป.ลพบุรี เขต 1 (4) นายสำเริง ศรีสิทธิชัยสกุล ผอ.ร.ร.แหลมสิงห์วิทยาคม (อาทรสังขะวัฒนะ 4 อุปถัมภ์) สพม.เขต 17 (5) นายวุฒิพงศ์ วงศ์กวินวุฒิ ผอ.ร.ร.วัดอ้อมน้อย (มิตรครูราษฎร์รังสรรค์) สพป.สมุทรสาคร (6) นายสุทิน นุ่นสงค์ รอง ผอ. (รักษาราชการแทน ผอ.) ร.ร.วัดสุวรรณคีรีวงศ์ สพป.ภูเก็ต (7) น.ส.ฐิตพัฒน์ สตางค์จันทร์ ผอ.ร.ร.บ้านโคกสว่างป่าไม้งาม สพป.เลย เขต 2 ผู้บริหารสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา 2 คน ได้แก่ (1) นายมนตรี สืบสิงห์ รอง ผอ.สพป.ลพบุรี เขต 1 และ (2) นายเศรษฐา เสนะวงศ์ รอง ผอ.สพป.จันทบุรี เขต 1 


ซึ่งได้ผลจากการสนทนาทั้ง 5 ประเด็น ดังนี้ 

1. บทบาทหน้าที่ที่มีส่วนร่วมในการดำเนินงานโครงการ 

  • ได้ศึกษาเป้าหมาย วัตถุประสงค์ของโครงการ เห็นดีและตรงกับความต้องการที่อยากให้ครูเปลี่ยนการสอน ได้เข้าร่วมอบรมทุกครั้งและเรียนรู้ไปพร้อมกับครู ทำหน้าที่เป็นโค้ช คอยฟังครู ช่วยเหลือแนะนำ สังเกตการณ์ทำ PLC โดยไม่ให้ครูรู้ตัวและการส่งเสริม PLC ก็ให้ครูคิดเองว่าจะตั้งวงคุยกันเมื่อไร รวมทั้งคอยติดตามโดยการให้ครูเล่าให้ฟัง และใช้คำถาม โดยจะไม่แนะนำใดๆ ทำให้ครูกล้าที่จะเล่าให้ฟัง
  • เป็นผู้ตัดสินใจเข้าร่วมโครงการ ทำความเข้าใจกับครูที่ไม่เห็นด้วย ได้พิจารณาเลือกครูแกนนำ 5 คน เข้าร่วมโครงการ แม้ว่าโรงเรียนจะมีครูไม่มากแต่ยังรวมพลังกันไม่ได้นัก จึงใช้โอกาสของการเข้าร่วมโครงการนี้ให้ครูได้คุยกันมากขึ้น ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกันทุกเดือน และดำเนินกิจกรรมตามแผนงานโครงการ บทบาทของตนเองในวงการพูดคุยในโรงเรียนคือ การนั่งหัวโต๊ะเป็นประธานการพูดคุย จะฟังครู จะประชุมสัปดาห์ละครั้งในวันพฤหัสบดี ชั่วโมงสุดท้าย ประมาณ 14.30-15.30 น. ระหว่างที่ครูประชุมจะให้นักศึกษาฝึกสอนช่วยดูแลนักเรียน
  • โรงเรียนมีครูจำนวนน้อย (5 คน) เป็นโรงเรียนขนาดเล็ก นักเรียน 60 คน แต่ครูทั้งหมดเป็นครูที่ดี ขยันขันแข็ง บทบาทที่ร่วมในโครงการเริ่มตั้งแต่ศึกษานิเทศก์โทรมาเชิญชวน จึงตัดสินใจมาจูงใจครูให้เห็นชอบเข้าร่วมโครงการ จากนั้นไปร่วมรับฟังการชี้แจง ทำการศึกษาโครงการ และกลับมาจัดกิจกรรมพัฒนานักเรียนให้มีความรับผิดชอบมีทักษะศตวรรษที่ 21 ได้ร่วมวางแผนกับครู คอยกระตุ้น ติดตาม ช่วยครูประเมินนักเรียน ด้วยการเรียกมาพูดคุย และคอยสังเกตพฤติกรรมนักเรียน
  • ปกติครูมัธยมไม่ค่อยอยากรับโครงการ แต่ก็เริ่มที่กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ ทั้ง 4 โรงเรียนมัธยม ในโครงการได้ใช้ผู้อำนวยการโรงเรียนเป็นโค้ช ไปโค้ชต่างโรงเรียน ทำให้ได้เห็นจุดดีของโรงเรียนอื่น กระบวนการโค้ชเริ่มต้นด้วยการนัดหมาย พูดคุยธรรมดา นั่งดูครูสอน นั่งสรุปกัน และให้ข้อเสนอแนะสิ่งที่ครูต้องเติมเต็ม รวมทั้งให้ครูได้ถ่ายวิดีโอและส่งเสริมให้ใช้เทคโนโลยีในการสอน เน้น 5 สมรรถนะหลักสูตร 8 คุณลักษณะ และ 4 ทักษะ ได้แก่ ทักษะตามหลักสูตร ทักษะภาษาและ ICT ทักษะอาชีพ และทักษะชีวิต
  • จากปัญหาคุณภาพผู้เรียนจึงได้เข้าร่วมประชุมเปิดตัวโครงการ ได้ช่วยออกแบบนำสู่โรงเรียน และติดตามผลเห็นครูรับผิดชอบขึ้นและเด็กพัฒนาขึ้น โครงการทำให้ครูตระหนักและเตรียมการมากขึ้น สร้างบรรยากาศในการเรียนรู้ดีขึ้น
  • ได้ร่วมรับทราบนโยบายและดูแลตั้งแต่แรกเริ่ม ในบทบาทผู้แทนเขต ร่วมเป็นทีมโค้ช ทีมวิจัย เชื่อมกับมหาวิทยาลัยกับเขต ได้คัดเลือกโรงเรียนขนาดเล็กเข้าร่วมโดยให้สมัครใจ 
  • ได้รับทราบโครงการ แล้วคุยและมอบให้หัวหน้าวิชาการดำเนินการ ได้ให้การสนับสนุน คอยอำนวยความสะดวก แต่ตนเองไม่ได้ร่วมเป็นโค้ช แต่ได้ให้หัวหน้าวิชาการทำหน้าที่แทน โรงเรียนมีครู 70 คนให้เข้าร่วม 14 คน 
  • โรงเรียนเป็นโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษา เด็กย้าย “low ไป high มา” และถนนหนทางไปโรงเรียนเสี่ยงอันตราย โรงเรียนมีครู 32 คน อัตราจ้าง 13 คน บทบาทที่ได้ร่วมโครงการได้นำเข้าสู่การพิจารณาในที่ประชุมครูได้ชี้แจงให้ครูเห็นพ้องโดยชี้ให้เห็นว่า การมีโค้ชดี ก็คงเหมือนกับนักกีฬาที่ดีเพราะมีโค้ช ครูเริ่มต้นเข้าร่วมโครงการ 13 คน ปัจจุบันเหลือ 9 คน ในโครงการนี้มีโค้ชไปนิเทศทุกเดือน ได้ไปช่วยแก้ปัญหาการเขียนแผนการสอน แก้ปัญหาที่เดิมครูส่วนใหญ่ Print แผนการสอนจากสำนักพิมพ์มาส่ง นอกจากนั้นโค้ชยังช่วยให้มีการบันทึกหลังสอน 5 ประเด็นคือความรู้ของตนเอง วิธีการสอนที่ใช้ สื่อที่ใช้ สื่อ ICT ที่ใช้ และการตอบสนองของผู้เรียน
  • บทบาทตนเองได้คัดเลือกครูและชี้แจงให้ครูชั้น ป.2 และ ป.5 เข้าร่วมโครงการ ได้พูดคุยกับครูเกี่ยวกับปัญหา กระบวนการแก้ไขปัญหาในทุกวันศุกร์ จุดเน้น 3R4C ขับเคลื่อนยากในครูอาวุโส การทำโครงงานเป็นยาขมของครู การที่ ผอ.ร.ร.ทำคู่กับครูช่วยคิดด้วยกันกับครู ทำให้งานเดินไปได้ และการที่มีโค้ชไปโรงเรียนบ่อยๆ เป็นการกระตุ้นครูให้พัฒนางาน หลังจากมหาวิทยาลัยจัดแลกเปลี่ยนเรียนรู้มี VDO นำเสนอผลงานโดยนักเรียน นักเรียนนำเสนอได้ เมื่อนำมาเปิดให้ครูที่โรงเรียนดูก็ได้รับเสียงตอบรับที่ดีจากครูอื่นๆ

2. สิ่งที่พบเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ตัวครู

  • ครูกล้าพูดกล้าเล่าให้ ผอ.ร.ร.ฟัง ครูเชื่อมั่นในตนเองมากขึ้น สามารถถ่ายทำ VDO กันเองได้ ครูสอนแบบ PBL มากขึ้นต่างจากเดิมที่ใช้การบรรยาย เปลี่ยนมาเป็นใช้คำถามมากขึ้น มีการพานักเรียนไปเรียนนอกห้องมากขึ้น พาไปดูต้นไม้เรียนรู้เรื่องพืช นักเรียนสนุกสนาน มีความสุข ในการสรุปบทเรียนสามารถพูดด้วยความเชื่อมั่นให้เพื่อนๆฟัง 

  • ครูจัดการเรียนการสอนแบบ PBL มากขึ้น ใช้คำถามกระตุ้นเพราะได้รับการฝึกจากมหาวิทยาลัย และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน เด็กเรียนรู้นอกห้องเรียนมากขึ้น เช่น ออกไปเรียนหน่วยการเรียนรู้เรื่องข้าว แต่ไปเจอหอยเชอรี่ เกิดความสนใจ จึงเลือกศึกษาเรื่องหอยเชอรี่ ครูจัดทำ VDO เผยแพร่การสอน เด็กเกิดกระบวนการเรียนรู้ ทำให้เด็กอื่นอยากทำด้วย เกิดการจัดกิจกรรมวันวิชาการของระดับ ป.1-3 และ ป.4-6 นอกจากนั้น โรงเรียนยังได้เป็น Best Practices โรงเรียนขนาดเล็กของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาด้วย 

  • ครูจัดกิจกรรมหลากหลายขึ้น มีความสุขมากขึ้น มีความกระตือรือร้น เด็กได้มีกิจกรรมนำเสนอมากขึ้นกว่าเดิม ครูมีความภูมิใจ รู้สึกว่าสอนง่ายขึ้นเพราะได้หลอมรวมกิจกรรม และการที่มีโค้ชไปดูแลบ่อยๆ ทำให้ครูเข้าใจและเห็นชัดเจนขึ้นไม่สอนโดยการบอก แต่ให้เด็กทำกิจกรรมมากขึ้น 

  • ครูมีการปรับปรุงตนเอง เอาใจใส่ในการวางแผนการสอนล่วงหน้า มีสื่อ มีการใช้ ICT ปรับการเรียนการสอน ปรับการวัดและประเมินผลระหว่างเรียนเมื่อจบการสอนแต่ละแผน ครูที่เข้าร่วมโครงการได้ร่วมคิดในกลุ่มครูคณิตศาสตร์ ทำให้ผล O-NET พัฒนาขึ้น ครูใช้ PBL และมีแผนการขยายไปยังครูในสหวิทยาเขตด้วย และพบว่าครูกล้าแสดงออกมากขึ้นเมื่อมีคนไปดูการสอน

  • ครูตื่นตัว มีความตระหนัก มุ่งมั่นขับเคลื่อนงาน และมีความสุขมากขึ้น และเด็กก็มีความสุขในการเรียนรู้

  • ครูมีวิธีการสอนที่มากขึ้นกว่าเดิม ครูมีความคิดที่จะทำแผนการสอนมากขึ้นกว่าเดิม
  • ครูเปลี่ยนจาก copy แผนการสอน เป็นพัฒนาแผนการสอนด้วยตนเอง ครูสื่อสาร 2 ทางกับเด็กมากขึ้น และพบว่านักเรียนชั้น ป.5-6 ที่เข้าร่วมโครงการมีโครงงานมากขึ้น และได้กระบวนการทำงานมากขึ้น
  • ครูดูแลเด็กใกล้ชิดมากขึ้น ในการติดตามแก้ปัญหาการอ่านไม่ออก และปรับเปลี่ยนให้ครูเลื่อนชั้นตามนักเรียนภายในช่วงชั้น
  • ครูรู้วิธีการวัดประเมินกระบวนการ อาทิ ความคิดสร้างสรรค์ การสื่อสาร โครงงาน

3. สิ่งที่พบเห็นการเปลี่ยนแปลงของตนเอง 

  • ฟังมากขึ้น แต่ก่อนคนอื่นพูดยังไม่ทันจบ ก็จะพูดต่อ และเปลี่ยนเป็นใช้คำถามมากขึ้น มองเห็นว่าครูแต่ละคนมีความเก่งคนละอย่าง มองในจุดดีของครู ได้เรียนรู้จากครูจากการเล่าของครู การฟังครูช่วยสร้างความภูมิใจให้ครู ซึ่งหลักการโค้ชคือ ให้ฟังและยอมรับครู ให้ฝึกฝน และนำมาลองปฏิบัติ
  • ใจเย็นมากขึ้น เพราะได้รับการฝึกฝนจากโค้ช เป็นการฝึกที่สลับบทบาทการเป็นโค้ช และผู้ถูกโค้ชกัน เน้นฟังเยอะๆ เดิม ผอ.จะเป็นคนให้ข้อมูลข่าวสารจากเขตในการประชุม แต่เปลี่ยนเป็นให้มีการสะท้อนกลับจากครูเพิ่มเติม ให้ครูได้มีโอกาสให้เหตุให้ผล แล้วเราก็รู้ว่า ไม่ใช่ครูมีปัญหา แต่เขามีเหตุผลความจำเป็นของเขา เมื่อรับฟังกัน เพื่อนครูก็เข้าใจกันมากขึ้น ทำให้รวมกันเป็นทีมได้ และกลายเป็นโรงเรียนแถวหน้าได้ และผล O-NET สูงกว่าค่าเฉลี่ยประเทศ 5-6 กลุ่มสาระ 2 ปีซ้อน
  • ติดตามพฤติกรรมครูและนักเรียนมากขึ้น เพราะเมื่อเข้าร่วมโครงการจะต้องเตรียมคำตอบสำหรับผู้คนที่จะมาถามหาผล โดยเฉพาะการเตรียมตอบคำถามอาจารย์มหาวิทยาลัย
  • เมื่อมีคนเข้ามาร่วมในโครงการทำให้เราเปลี่ยน เพราะต้องระวังตัวมากขึ้น 
  • ไม่รู้ว่าตนเองเปลี่ยนหรือเปล่า ได้ทำงานร่วมกันศึกษานิเทศก์ไปเปิดงาน 2-3 งาน เรียนรู้โครงการเพราะจะต้องไปกล่าวเปิดงาน เตรียมอ่าน จาก google เพื่อมีความรู้และจะได้สร้างศรัทธาให้กับผู้ฟังได้ การเรียนรู้ทำให้เราไม่ใช้อำนาจในการทำงาน แต่ใช้ความสัมพันธ์แบบพี่ๆ น้องๆ และทำให้ให้ความสำคัญกับโรงเรียนมากขึ้น อยากรู้เรื่องคุณภาพ และอยากเห็นโมเดลการทำงาน
  • ไม่เปลี่ยนเท่าไรนัก แต่ให้ความสำคัญมากขึ้น ในการทำงานเป็นทีม ใช้จุดเด่นของแต่ละคน เรียนรู้กันในทีม เกิดความคิด/ผุดไอเดียขึ้น และการทำเครือข่ายวิชาการได้เน้นให้ความสำคัญเรื่อง Coaching 
  • ไม่ค่อยเปลี่ยนเท่าไร เพราะไม่ได้อยู่ใกล้ชิดนัก และมอบให้หัวหน้าวิชาการดูแล
  • ได้ทำงานแบบมีส่วนร่วม ในการประชุมหารือการทำงานกับครู
  • เข้าใจครูมากขึ้น มีเป้าหมายที่ตัวนักเรียน รู้จักเด็กเกือบทุกคน เมื่อไล่จากเด็กจะกระตุ้นครูเอง เปลี่ยนจากการคุยเรื่องแผนการสอน ตามแผนการสอนและ ป.พ. เป็นการคุยเรื่องเด็ก เกิดความสัมพันธ์กับครูดีขึ้น

4. ถ้ามีโอกาสทำโครงการนี้ใหม่อีกครั้ง อะไรที่ควรทำ อะไรไม่ควรทำ และอะไรที่น่าทำแต่ยังไม่ได้ทำ 

  • สิ่งที่ควรทำ ได้แก่ (1) การทำอย่างต่อเนื่องเพราะมีประโยชน์จริง ให้ควรให้เป็นกระบวนการที่ฝังอยู่ในเขตพื้นที่ (2) ควรขยายไปยังโรงเรียนอื่น ในกลุ่มโรงเรียนหรือกลุ่มเครือข่าย นอกจากนั้นควรขยายในโรงเรียนตนเองให้ครบทั้งระบบ ทุกระดับชั้น (3) ควรให้ผู้บริหารโรงเรียนมาร่วมโค้ชอย่างจริงจัง (4) ควรมีโค้ชประจำทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ (5) ควรเน้นทักษะศตวรรษที่ 21 (6) ไม่ควรบอกว่าอะไรดี อะไรไม่ดี อะไรผิด อะไรถูก ไม่ตำหนิ และ (7) ควรเป็นนโยบายให้รับรู้ทุกโรงเรียนให้ปรับกระบวนการเรียนการสอน 
  • สิ่งที่ไม่ควรทำ ได้แก่ (1) การจัดผู้รับผิดชอบไม่ควรเป็นฝ่ายบุคลากร แต่ควรเป็นศึกษานิเทศก์/ กลุ่มนิเทศเพราะจะตรงกับภารกิจมากกว่า (2) สถานที่ที่จัดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ควรไปมาสะดวกและมีที่จอดรถเพียงพอ 
  • สิ่งที่น่าทำแต่ยังไม่ได้ทำ ได้แก่ (1) บางเขตพื้นที่การศึกษามาร่วมเพียงรับรู้ช่วงแรกเท่านั้น ควรมาร่วมอย่างจริงจึง จะทำให้ความเชื่อมโยงระหว่างโรงเรียน สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และมหาวิทยาลัยร้อยรัดกันมากขึ้น (2) ควรเผยแพร่ข้อมูลโครงการให้สาธารณชนได้รับรู้มากขึ้น (3) โครงการนี้ครูจะเป็นผู้ถูกโค้ชตลอด แต่ควรให้ครูได้โค้ชกันเองบ้าง (4) ควรมีการติดตาม Output ของโครงการนี้ระยะยาว เพื่อพิสูจน์ผลที่เกิดจากโครงการว่าดีจริงแท้เพียงใด และ (5) โรงเรียนดำเนินงานโครงการนี้ที่ชั้น ป.2 และ ป.4 จึงควรเริ่มดำเนินการตั้งแต่ระดับปฐมวัย

5. แนวทางการขยายผล

  • จะขยายภายในโรงเรียน ดังนี้ (1) จากครูแกนนำ 4-5 คน ไปยังครู 50 คน (2) ขยายในกลุ่มสาระการเรียนรู้ 
  • ขยายไปยังโรงเรียนในเครือข่าย จะใช้โครงสร้างเครือข่ายที่มีอยู่เดิม ให้ครูที่เป็นประธานวิชาการออกไปโค้ชโรงเรียนในเครือข่าย แต่ก็ไม่ง่ายนักที่จะขยายในกลุ่มโรงเรียน เพราะมีปัจจัยของการยอมรับกันและกันของ ผอ.ร.ร.ว่า จะยอมรับกันหรือไม่ แต่จะง่ายกว่าถ้าขยายในโรงเรียนตนเอง 
  • เผยแพร่ในการนำเสนอผลงานของโรงเรียนภายในเขตพื้นที่การศึกษา
  • ให้ศึกษานิเทศก์นำผลงานของโครงการไปนำเสนอในที่ประชุมของเขตพื้นที่
  • บรรจุในแผนพัฒนาของเขตพื้นที่/ สหวิทยาเขต โดยกำหนดให้มีโค้ชประจำเขต โรงเรียนละ 2 คน ให้มีกรรมการขับเคลื่อนวิชาการในการยกระดับผลสัมฤทธิ์
  • ขอให้ สพฐ.ส่งเสริมนโยบายของเขตในการขยายผล โดยใช้โรงเรียนชั้นนำที่มีอยู่เป็นทีมขับเคลื่อน 

----------------------------