หน้าเว็บ

วันอาทิตย์ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2558

ข้อมูลเบื้องต้นโครงการ Teacher Coaching

จากชุดโครงการวิจัยและพัฒนาเครือข่ายเชิงพื้นที่เพื่อหนุนเสริมการพัฒนาการเรียนรู้ของเด็กละเยาวชน (Local Learning Enrichment Network : LLEN) ที่ดำเนินการร่วมกันระหว่าง สกว. และ สพฐ. ปี 2553-2555 พบว่า การหนุนเสริมคุณภาพครูเพื่อยกระดับคุณภาพการเรียนรู้ของนักเรียนด้วยระบบ coaching ครู ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงที่ตัวครูทั้งในด้านเจตคติและค่านิยมต่อวิชาชีพครู พฤติกรรมในกระบวนการเรียนการสอนและศักยภาพในการสร้างนวัตกรรมสื่อ จึงนำมาสู่โครงการความร่วมมือต่อเนื่องของ สพฐ. และ สกว. ในปี 2555-2557 ในชื่อ “โครงการวิจัยกระบวนการพัฒนาครูด้วยระบบหนุนนำต่อเนื่อง (Teacher Coaching)” เพื่อขยายผลการยกระดับคุณภาพการจัดการเรียนการสอน โดยยังคงมุ่งเน้นการจัดกิจกรรมหลากหลายที่เหมาะสมและต่อเนื่องด้วยการติดตามการปฏิบัติงาน อาทิ การปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ครูเน้นการเรียนรู้ด้วยการปฏิบัติจริง (Learning by doing) การให้ครูสามารถคิดค้นนวัตกรรมเพื่อจัดการเรียนการสอน การให้ความรู้ในเนื้อหาสาระวิชาเพิ่มเติมในกรณีที่จำเป็น การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้วยกระบวนการ KM การติดตามและนิเทศแบบกัลยาณมิตรที่สถานศึกษา รวมทั้งการจัดกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างครูเพื่อสร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้ในวิชาชีพครูเป็นระยะๆ เพื่อให้ครูได้พัฒนาตนเองต่อเนื่อง เพื่อให้การเปลี่ยนแปลงที่ตัวครูได้ส่งผลต่อความสำเร็จที่ตัวนักเรียนอย่างดียิ่งขึ้น

ชุดโครงการวิจัยกระบวนการพัฒนาครูด้วยระบบหนุนนำต่อเนื่อง (Teacher Coaching) เน้นการสร้างกระบวนการเรียนรู้ การพบปะ แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นร่วมกัน ระหว่างคณะกรรมการกำกับทิศทางโครงการวิจัย กับคณะดำเนินงานในพื้นที่ และระหว่างมหาวิทยาลัยในพื้นที่กับเขตพื้นที่ ได้แก่ คณะครูและผู้บริหาร โดยจะจัดให้มีการหนุนช่วยครูแบบกัลยาณมิตรอย่างต่อเนื่องและวัดผลการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับเด็กนักเรียนในรูปแบบต่างๆ

วัตถุประสงค์
1. เพื่อพัฒนาระบบการติดตามสนับสนุนและพัฒนาครูที่มีประสิทธิผลสอดคล้องกับความต้องการของครูและสามารถส่งผลต่อการยกระดับคุณภาพการเรียนรู้ของนักเรียนได้จริง
2. เพื่อพัฒนารูปแบบและแนวทางการทำงานของหน่วยพี่เลี้ยงในการพัฒนาครู ที่สามารถเชื่อมโยงกับระบบการทำงานของเขตพื้นที่การศึกษาทั้งระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาได้

คณะกรรมการกำกับทิศทาง
ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช
ศ.กิตติคุณ สุมน อมรวิวัฒน์
ศ.ดร. สุวิมล ว่องวาณิช
ดร.สีลาภรณ์ บัวสาย
ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร
ดร.เกษม สดงาม
ผศ.ดร.เลขา ปิยะอัจฉริยะ
คุณปิยะบุตร ชลวิจารณ์
ดร.เจือจันทร์ จงสถิตอยู่
คุณอนันต์ ระงับทุกข์
รศ.ดร.สุธีระ ประเสริฐสรรพ์
ดร.ชวลิต โพธิ์นคร
คุณวีณา อัครธรรม
ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ 

หน่วยงานร่วมพัฒนาในพื้นที่ 9 จังหวัด ประกอบด้วย

1. สมุทรสาคร: โครงการวิจัยและพัฒนาครูในจังหวัดสมุทรสาครด้วยระบบหนุนนำต่อเนื่อง เพื่อยกระดับคุณภาพการจัดการเรียนรู้ ที่ส่งเสริมองค์ความรู้และทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ของนักเรียน [ม.มหิดล, สพม.10, สช., อปท., สพป.สมุทรสาคร (ร.ร.มัธยม 4 แห่ง/ ร.ร.ประถม 9 แห่ง)]

2. เพชรบุรี: โครงการการพัฒนาทักษะนักเรียนแห่งศตวรรษที่21โดยการพัฒนาครูด้วยระบบหนุนนำต่อเนื่องและทุนในพื้นที่ของจังหวัดเพชรบุรี [มรภ.เพชรบุรี, สพม.10, สพป.เพชรบุรี เขต 1 (ร.ร.มัธยม 8 แห่ง/ ร.ร.ประถม 14 แห่ง)]

3. ลพบุรี: โครงการวิจัยและพัฒนากระบวนการพัฒนาครูด้วยระบบหนุนนำต่อเนื่องที่ส่งเสริมทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ของนักเรียนในจังหวัดลพบุรี [มรภ.เทพสตรี, สพม.5, สพป.ลพบุรี เขต 1 (ร.ร.มัธยม 5 แห่ง/ ร.ร.ประถม 14 แห่ง)]

4. ลำปาง: โครงการการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การเรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ของนักเรียนในจังหวัดลำปางด้วยกระบวนการพัฒนาครูแบบหนุนนำต่อเนื่อง [มรภ.ลำปาง, สพม.35, สพป.ลำปาง เขต 1 (ร.ร.มัธยม 8 แห่ง/ ร.ร.ประถม 12 แห่ง)]

5. นครนายก: โครงการพัฒนาครูด้วยระบบหนุนำต่อเนื่องเพื่อเสริมสร้างผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและทักษะในศตวรรษที่ 21 ของนักเรียนจังหวัดนครนายก [มศว, สพม.7, สพป.นครนายก (ร.ร.มัธยม 7 แห่ง/ ร.ร.ประถม 12 แห่ง)]

6. จันทบุรี: โครงการวิจัยกระบวนการพัฒนาครูด้วยระบบหนุนนำต่อเนื่องเพื่อพัฒนาทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ของนักเรียนในจังหวัดจันทบุรี [มรภ.รำไพพรรณี, สพม.17, สพป.จันทบุรี เขต 1 (ร.ร.มัธยม 4 แห่ง/ ร.ร.ประถม 11 แห่ง)]

7. กำแพงเพชร: โครงการวิจัยกระบวนการพัฒนาครูด้วยระบบหนุนนำต่อเนื่องเพื่อยกระดับคุณภาพ การเรียนรู้ของนักเรียนจังหวัดกำแพงเพชร [มรภ.กำแพงเพชร, สพม.41, สพป.กำแพงเพชร เขต 1 (ร.ร.มัธยม 10 แห่ง/ ร.ร.ประถม 15 แห่ง)]

8. เลย: การพัฒนากระบวนการหนุนนำครูอย่างต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ของนักเรียน ในเขตพื้นที่จังหวัดเลย [มรภ.เลย, สพม.19, สพป.เลย เขต 2 (ร.ร.มัธยม 5 แห่ง/ ร.ร.ประถม 13 แห่ง)] 

9. ภูเก็ต: โครงการพัฒนารูปแบบการพัฒนาวิชาชีพครูด้านความรู้เนื้อหาผนวกวิธีสอนบูรณาการเทคโนโลยีสารสนเทศของครูระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาเพื่อการจัดการเรียนรู้ตามศตวรรษที่ 21 ด้วยระบบหนุนนำอย่างต่อเนื่อง ในเขตพื้นที่การศึกษา จังหวัดภูเก็ต [มรภ.ภูเก็ต, สพม.14, สพป.ภูเก็ต (ร.ร.มัธยม 5 แห่ง/ ร.ร.ประถม 10 แห่ง)]

--------------------------------