หน้าเว็บ

วันเสาร์ที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2557

แก่นแท้ค่านิยม

แก่นแท้ค่านิยม
พิทักษ์ โสตถยาคม และสมชัย แซ่เจีย

            ค่านิยมหลักของคนไทย 12 ประการที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ประกาศเป็นเป้าหมายการพัฒนาคน (รัฐบาลไทย: ออนไลน์) เป็นคุณลักษณะที่จะมุ่งเน้นและส่งเสริมให้คนไทยยึดถือในวิถีชีวิต การประกาศอย่างชัดเจนเช่นนี้ทำให้ผู้เกี่ยวข้องกับการพัฒนากำลังคนของชาติได้มีโอกาสทบทวนไตร่ตรองว่าค่านิยม ทั้ง 12 ประการ มีความสำคัญจำเป็นต่อการสร้างสรรค์สังคมไทยให้เข้มแข็งมากน้อยเพียงใด ได้สะท้อนคิดต่อประสิทธิผลของวิธีการพัฒนาที่ผ่านมา และนำไปสู่การปรับเปลี่ยนวิธีคิดวิธีปฏิบัติให้ก่อเกิดผลที่จริงแท้และยั่งยืน หากผู้เกี่ยวข้องเห็นพ้องต้องกันก็จะเกิดพลังร่วมของการพัฒนาเพื่อเป้าหมายเดียวกัน ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานและโรงเรียนในสังกัดเป็นส่วนสำคัญยิ่งในการหล่อหลอมพัฒนาเด็กและเยาวชนให้เป็นคนดีมีความสามารถ
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (2557: ออนไลน์) ได้จัดทำแนวปฏิบัติเกี่ยวกับค่านิยมหลัก 12 ประการสู่การปฏิบัติ และสื่อสารหลายวิธีให้ถึงเด็ก ครู และผู้ปกครอง เพื่อชี้ให้เห็นว่าค่านิยมหลัก 12 ประการเป็นเรื่องสำคัญที่ควรปลูกฝังให้เกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชนไทย ครอบคลุมสอดคล้องกับคุณลักษณะที่พึงประสงค์ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 ที่ผู้เกี่ยวข้องพยายามดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งแนวปฏิบัติดังกล่าวนับว่าเป็นประโยชน์อย่างมากในการตัดสินใจเลือกค่านิยมให้เหมาะสมต่อการจัดการเรียนรู้แต่ละระดับชั้น สำหรับบทความนี้จะนำเสนออีกทางเลือกหนึ่งของการนำค่านิยมหลักไปสู่ห้องเรียน เป็นการเลือกค่านิยมที่สำคัญบางข้อมาทำให้เห็นผล และใช้เรื่องเล็กๆ ที่เราเคยมองข้ามมาให้นักเรียนได้เรียนรู้และฝึกกระบวนการทางปัญญา
จุดเริ่มต้นของทางเลือกนี้เกิดขึ้นจากคำถามจุดประกายความคิดของ ดร.สุรัฐ ศิลปอนันต์ ประธานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานที่ว่า ถ้าทำเรื่องค่านิยมหลักให้สำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมจะทำข้อใดที่สำคัญที่สุด อย่างไรจึงได้นำค่านิยมทั้งหมดมาพินิจพิจารณา พบว่า มีข้อหนึ่งที่น่าจะเป็นเหตุให้เกิดผลข้ออื่นๆ ตามมา ข้อนั้นคือข้อ 9 มีสติรู้ตัว รู้คิด รู้ทำ รู้ปฏิบัติตามพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งข้อนี้มุ่งเน้นให้นักเรียน คิดเป็นหรือส่งเสริมความสามารถในการคิด คาดการณ์ และควบคุมตนเองให้ปฏิบัติตนเหมาะสมกับกาลเทศะ ซึ่งสอดคล้องกับดวงเดือน พันธุมนาวิน, โกศล มีคุณ, และงามตา วนินทานนท์ (2556: 35) ระบุว่า มีผลงานวิจัยจำนวนมากยืนยันว่า จิตลักษณะเช่นนี้เป็นจิตลักษณะสำคัญที่สุดในคนที่มีพฤติกรรมของคนดีและคนเก่ง และสำคัญต่อพฤติกรรมแทบทุกประเภทของบุคคล
            ขอยกพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชเกี่ยวกับการมีสติรู้ตัวและปัญญารู้คิด ที่ได้พระราชทานพรปีใหม่ พ.ศ. 2552 แก่ประชาชนชาวไทย เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ.2551 ความว่า
            ความสุขความเจริญนี้ เป็นสิ่งที่พึงปรารถนาอย่างยิ่งของคนเรา แต่ความสุขความเจริญนั้น จะสำเร็จผลเป็นจริงได้ ก็ด้วยการที่ทุกคนตั้งตนอยู่ในความไม่ประมาท มีสติรู้ตัวและปัญญารู้คิดกำกับอยู่ตลอดเวลา กล่าวคือ ไม่ว่าจะประพฤติปฏิบัติการใด ก็ใช้สติปัญญาพิจารณาไตร่ตรองจนถ้วนถี่ ให้เห็นกระจ่างถึงผลดี ผลเสีย ทั้งใกล้ไกล ทุกแง่ทุกมุม ความรู้ความเข้าใจชัดถึงผลดีผลเสีย ย่อมจะทำให้แต่ละคนเล็งเห็นแนวทางปฏิบัติที่ถูกต้องว่าสิ่งใดควรละเว้น และสิ่งใดควรปฏิบัติ เพื่อให้บังเกิดผล เป็นประโยชน์ที่แท้จริงและยั่งยืน ทั้งแก่ส่วนตัวและส่วนรวม (Royal Thai Embassy, Singapore: ออนไลน์)
เมื่ออ่านอย่างวิเคราะห์พระบรมราโชวาทองค์นี้แล้ว ยิ่งเห็นชัดเจนถึงความสำคัญจำเป็นและคุณค่าที่แท้จริงของคนที่มีสติรู้ตัวและปัญญารู้คิดกำกับอยู่ตลอดเวลา ดังนั้น ผู้รับผิดชอบในการจัดการศึกษาจึงควรน้อมนำพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาปฏิบัติ และปลูกฝังให้ปรากฏชัดกับนักเรียนตั้งแต่วัยเยาว์ โดยเริ่มฝึกสังเกต และพิจารณาเหตุและผลของการกระทำจากประเด็นเล็กๆ ใกล้ตัว และสร้างการเรียนรู้ให้กับนักเรียนจากสถานการณ์ต่างๆ ที่พบเจอในกิจวัตรประจำวัน
                            แผนภาพ ค่านิยมข้อ 9 ส่งผลต่อค่านิยมข้ออื่น

การฝึกให้นักเรียนใช้สติรู้ตัวและปัญญารู้คิดอย่างยั่งยืนนั้น จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนเงื่อนไขและปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูและนักเรียนเสียใหม่ จากวัฒนธรรมเชิงอำนาจและวัฒนธรรมการเลียนแบบ มาเป็นวัฒนธรรมการเรียนรู้ที่เคารพในความเป็นมนุษย์ ดังนั้น ครูจะเปลี่ยนจากการดุด่าเฆี่ยนตี หรือพร่ำสั่งสอนนักเรียนอยู่ตลอดเวลาว่า ต้องทำอะไรอย่างไร หรือห้ามทำอะไรอย่างไร เปลี่ยนเป็นการส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ด้วยการสังเกตการกระทำของตนเอง ชี้ชวนให้คิดพิจารณาด้วยตนเองว่า การทำและไม่ทำอะไรส่งผลให้เกิดอะไรตามมา และทำไมจึงเป็นเช่นนั้น เพื่อรู้ถึงเหตุและผลหรือหลักการอันจะนำไปสู่การตัดสินใจอย่างมีวิจารณญาณว่าควรทำอะไร อย่างไรได้ด้วยตนเอง การที่ครูตั้งคำถามเพื่อถามหาเหตุ หาผลเช่นนี้ จะทำให้นักเรียนได้คิดอย่างเป็นเหตุเป็นผล มองเห็นเหตุเห็นผลตลอดจนผลกระทบที่จะเกิดขึ้นตามมาทั้งปัจจุบันและอนาคตในแง่มุมต่างๆ ไม่ว่าต่อตนเองและบุคคลอื่น
การจัดโอกาสให้นักเรียนได้เรียนรู้ดังที่กล่าวมา ครูสามารถนำสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิตจริง ที่เคยมองข้ามว่าเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ มาใช้เป็นบทเรียนที่มีความหมายสำหรับการเสริมสร้างค่านิยมได้เป็นอย่างดี อาทิ นักเรียนส่งเสียงดังขณะรับประทานอาหาร วิ่งเล่นและส่งเสียงดังในห้องเรียน เข้าแถวไม่เป็นระเบียบเรียบร้อย ยกโต๊ะเก้าอี้เสียงดังโครมคราม สะท้อนถึงการขาดระเบียบวินัย หรือไม่สามารถควบคุมพฤติกรรมของตนให้เหมาะสมกับกาลเทศะได้ ซึ่งวิธีการที่ครูส่วนใหญ่ใช้จัดการกับพฤติกรรมของนักเรียน มักจะใช้วิธีการกำกับ สั่งการ ดุด่าเฆี่ยนตี ซึ่งการกระทำดังกล่าวสะท้อนให้เห็นการใช้อำนาจ อันจะส่งผลให้นักเรียนซึมซับความรุนแรง รอคำสั่ง และปฏิบัติตามเพราะความเกรงกลัวมากกว่าการปฏิบัติอย่างมีสติรู้คิด ดังนั้น ครูควรหยิบยกสถานการณ์ปัญหาเหล่านี้ขึ้นมาพูดคุย ให้นักเรียนทบทวนและสังเกต โดยครูตั้งคำถามเกี่ยวกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นว่าเกิดอะไรขึ้น อย่างไร ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น เหตุการณ์หรือการกระทำดังกล่าวส่งผลกระทบต่อใครอย่างไร  และสุดท้ายเมื่อรู้เช่นนี้แล้วเราควรทำอะไรหรือไม่ควรทำอะไรอย่างไร ทำไมจึงทำเช่นนั้น ตัวอย่างคำถาม เช่น ถ้าเราจะให้การรับประทานอาหารมีเสียงดังน้อยที่สุด เราจะทำอย่างไร จากนั้นให้นักเรียนเป็นผู้กำหนดแนวทางแก้ไขและสร้างข้อตกลงร่วมกัน 
การฝึกให้นักเรียนทำด้วยความเข้าใจที่ถ่องแท้ เห็นผลดีผลเสียที่จะเกิดขึ้นจากการกระทำของตน จะทำให้นักเรียนรู้สึกเห็นคุณค่าของการกระทำนั้นๆ ซึ่งจะมีความหมายและดีกว่าการกระทำเพราะมีคำสั่ง หรือทำเพราะกลัวถูกลงโทษ หรือแม้แต่ทำเพราะต้องการสิ่งตอบแทน การฝึกดังกล่าวเป็นกระบวนการเรียนรู้ด้วยตนเองผ่านกระบวนการทางสังคม ส่งเสริมให้เด็กรู้จักการสร้างข้อตกลงกฎกติกาการอยู่ร่วมกันทีละเล็กละน้อยจากสถานการณ์จริง ครูฝึกให้นักเรียนเรียนรู้ที่จะประเมินทบทวนข้อตกลงและกติกา ว่าสามารถปฏิบัติตามที่ตกลงกันไว้ได้หรือไม่ ซึ่งจะทำให้นักเรียนค่อยๆ ปรับตัว เรียนรู้ที่จะปกครองตนเอง ปกครองดูแลกันเอง สามารถสะท้อนคิดด้วยตนเองและแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเพื่อนในกลุ่มได้ เมื่อนักเรียนผ่านการฝึกฝนตามแนวทางที่กล่าวมา จะทำให้นักเรียนปฏิบัติอย่างรู้คุณค่า ซึ่งการปลูกฝังคุณลักษณะดังกล่าวอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอจะค่อยๆ สั่งสมและก่อเกิดเป็นค่านิยมที่ดีงามติดตัวนักเรียนจนเติบโตเป็นพลเมืองที่ดีในอนาคต
การฝึกนักเรียนให้มีสติรู้ตัวและปัญญารู้คิดดังกล่าวให้ได้นั้น ครูจะต้องลดบทบาทของการกำกับให้นักเรียนต้องทำตามที่ครูบอก/สั่ง ขณะเดียวกันครูจะต้องสร้างบรรยากาศของการเรียนรู้และอยู่ร่วมกันอย่างอบอุ่นเป็นกัลยาณมิตร โดยนำวิถีประชาธิปไตยที่สังคมพึงปรารถนา มาเสริมสร้างให้เด็กได้เรียนรู้และอยู่ร่วมกัน ภายใต้วิถีประชาธิปไตยที่ถูกต้องตั้งแต่เล็กอย่างแยบยล ส่งเสริมให้นักเรียนได้เรียนรู้ร่วมกัน ให้นักเรียนฝึกการคิด ฝึกความเชื่อมั่นในตนเอง ให้ได้แสดงความคิดอย่างมีเหตุมีผล ถึงแม้จะเป็นเรื่องเล็กน้อยก็ตาม นอกจากนั้นควรฝึกให้นักเรียนได้สร้างกฎกติกาที่ควรปฏิบัติและไม่ควรปฏิบัติร่วมกันด้วยกระบวนการกลุ่ม การที่นักเรียนได้เรียนรู้จากกฎกติกาที่สร้างขึ้นเองอย่างมีเหตุมีผล จะทำให้เขาจะยึดถือกฎกติกา ครูควรชี้ชวนให้นักเรียนเห็นถึงผลดีผลเสียที่เกิดจากการปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติตามข้อตกลง และให้ทบทวนตนเองในการปฏิบัติตามข้อตกลงอย่างสม่ำเสมอ  โดยครูจะไม่ใช้อำนาจ แต่จะใช้สถานการณ์ให้นักเรียนมองเห็นปัญหา นอกจากนั้น การทำงานร่วมกันเป็นกลุ่ม กลุ่มละ 4-5 คน จะเป็นการฝึกนักเรียนให้รับฟังความคิดของคนอื่น กล้าแสดงความคิดเห็นของตนเอง เรียนรู้ที่จะปรับความคิดและไม่ยืนกรานในความคิดของตนเอง แต่พร้อมปรับเปลี่ยนอย่างมีเหตุมีผลโดยคำนึงถึงความรู้สึกนึกคิดของผู้อื่น รู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา ตลอดจนคำนึงถึงประโยชน์ของส่วนรวมเป็นสำคัญ
เมื่อนักเรียนอยู่ในบรรยากาศของการอำนวยการการเรียนรู้ของครู ครูให้การชี้แนะเป็นที่ปรึกษา ไม่ปล่อยให้นักเรียนทำกิจกรรมตามลำพัง ซึ่งอาจเกิดความเสียหาย นอกลู่นอกทาง และไม่เกิดผลตามที่คาดหวังได้ หากสังคมเล็กๆ ในห้องเรียนและโรงเรียนที่ครูและศิษย์มีความรัก ความเอื้ออาทร แบ่งปัน ให้อภัย รู้จักการเคารพซึ่งกันและกัน เคารพในกฎกติกา รู้จักใช้สติปัญญาหาเหตุผล ในการไตร่ตรองสิ่งต่างๆ จัดการความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ไม่ใช้อารมณ์ความรุนแรง ย่อมจะทำให้เกิดความเอื้ออาทร รักสามัคคีสมานฉันท์ในหมู่คณะขึ้นเรื่อยๆ ถ้าทำอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอเช่นนี้ นักเรียนจะเข้าใจเรื่องสิทธิและเสรีภาพจากการปฏิบัติจริง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการออกแบบของครู รวมทั้งบุคลากรทั้งโรงเรียนต้องพูดเป็นภาษาเดียวกัน ดำเนินการไปในทิศทางเดียวกัน สิ่งที่สำคัญก็คือ ครูต้องเชื่อว่านักเรียนสามารถเรียนรู้ด้วยตนเองและเปลี่ยนแปลงได้ ฉลาดเลือกหยิบเอาสถานการณ์ที่นักเรียนประสบพบเจอมาให้นักเรียนเรียนรู้ ลดบทบาทจากครูผู้พร่ำบ่นสั่งสอนไปเป็นครูผู้อำนวยการการเรียนรู้ เรียนรู้ที่จะอดทนรอคอย เรียนรู้ที่จะฟังเสียงเด็ก ติดตามฝึกฝนต่อเนื่องจนนักเรียนมีพฤติกรรมที่ดีขึ้น รวมทั้งเป็นต้นแบบที่ดี สร้างสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการเรียนรู้ และร่วมมือกับผู้ปกครองในการหล่อหลอมนักเรียนสู่เป้าหมายเดียวกัน
จะเห็นได้ว่า การนำสถานการณ์เล็กๆ ที่ดูไม่น่าสำคัญและมักมองข้าม มาเป็นประเด็นการเรียนรู้ ฝึกฝนการมีสติรู้ตัวและปัญญารู้คิด ทำให้นักเรียนมีกระบวนการทางปัญญาที่เข้มแข็ง ถ้าหากปราศจากข้อ 9 มีสติรู้ตัว รู้คิด รู้ทำ รู้ปฏิบัติตามพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนี้แล้ว ก็มองไม่เห็นว่านักเรียนจะรู้ซึ้งถึงค่านิยมหลักที่เหลืออีก 11 ประการ ได้อย่างยั่งยืนถาวรอยู่ในความรู้สึกนึกคิดและสติปัญญาของนักเรียนได้อย่างไร  จึงกล่าวได้ว่า ค่านิยมข้อ 9 นี้เป็นเหตุสำคัญของการเกิดค่านิยมข้ออื่นๆ หรือ “แก่นแท้ค่านิยม” ที่ควรส่งเสริมให้นักเรียนทำเป็นกิจวัตร จนเกิดเป็นวิถีชีวิต และวัฒนธรรมการเรียนรู้ต่อไป
---------------------------------------------

รายการอ้างอิง
ดวงเดือน พันธุมนาวิน, โกศล มีคุณ, และงามตา วนินทานนท์.  (2556).  ครูกับการเสริมสร้างจริยธรรมแก่นักเรียน: คำถาและคำตอบ.  กรุงเทพฯ: ศูนย์วิจัยและพัฒนาระบบพฤติกรรมไทย สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ.
รัฐบาลไทย.  (2557).  คสช. กำหนด 12 ค่านิยมหลักของคนไทย เพื่อสร้างสรรค์ประเทศไทยให้เข้มแข็ง. สืบค้น เมื่อ 14 ตุลาคม 2557, จาก http://goo.gl/uLLL53   
Royal Thai Embassy, Singapore.  (2552). HIS MAJESTY KING BHUMIBOL ADULYADEJ'S NEW YEAR ADDRESS 2009สืบค้น เมื่อ 14 ตุลาคม 2557, จาก http://goo.gl/qR3qWV 
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน. (2557).  แนวปฏิบัติเกี่ยวกับค่านิยมหลัก 12 ประการสู่การปฏิบัติ. สืบค้น เมื่อ 14 ตุลาคม 2557, จาก http://goo.gl/0kLMuh