หน้าเว็บ

วันอาทิตย์ที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

การศึกษาแนวพุทธ: โรงเรียนวิถีพุทธ

การศึกษาแนวพุทธ: โรงเรียนวิถีพุทธ

พิทักษ์ โสตถยาคม

ผมได้รับมอบหมายให้ศึกษาหัวข้อ “แนวคิดการศึกษาแบบพุทธ” เพื่อนำไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเพื่อนร่วมรุ่นผู้นำเพื่อการเปลี่ยนแปลงทางการศึกษาในช่วงต้นเดือนธันวาคม 2556 ผมโชคดีที่ได้หัวข้อนี้เพราะแหล่งข้อมูลอยู่ใกล้ผมมาก ก็คือ ดร.บรรเจอดพร สู่แสนสุข รองผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา สพฐ. ผู้รับผิดชอบและขับเคลื่อน “โรงเรียนวิถีพุทธ” มาตั้งแต่แรกเริ่มนับจากปลายปี 2545 ซึ่งผมมีโอกาสได้พูดคุยและได้ความรู้ความคิดเพื่อมาแบ่งปัน ดังนี้
1. ก่อร่างสร้างนวัตกรรรม โครงการโรงเรียนวิถีพุทธเกิดขึ้นในปลายปี 2545 เป็น 1 ใน 5 ของโครงการโรงเรียนรูปแบบใหม่ของกระทรวงศึกษาธิการ (โครงการโรงเรียนรูปแบบใหม่ 5 รูปแบบ ได้แก่ โรงเรียนในกำกับของรัฐ  โรงเรียนวิถีพุทธ โรงเรียนสองภาษา โรงเรียนใช้ ICT เพื่อการเรียนรู้ และโครงการนำร่องสรรหา พัฒนา และส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษด้านต่างๆ) การศึกษาแนวพุทธอยู่คู่กับสังคมไทยตลอดมา เมื่อริเริ่มโครงการโรงเรียนวิถีพุทธได้ศึกษาแนวทางของ 3 โรงเรียนที่ได้ใช้แนวพุทธเป็นหลักในการจัดการศึกษา ประกอบด้วย โรงเรียนทอสี โรงเรียนรุ่งอรุณ โรงเรียนอนุบาลหนูน้อย (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นโรงเรียนสยามสามไตร) และได้เชิญบุคลากรทั้งสามโรงเรียนมาร่วมเป็นคณะทำงาน มีพระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตโต) เป็นประธาน รวมเรียกชื่อโรงเรียนจัดการศึกษาแนวพุทธว่า “โรงเรียนวิถีพุทธ” นับแต่นั้นมา คณะทำงานนี้มีการประชุมหลายครั้งต่อเนื่อง เพื่อเรียนรู้ร่วมกันและสร้างความเข้าใจในการดำเนินงาน ต่อมามีการเปิดรับโรงเรียนวิถีพุทธรุ่นแรกของโครงการด้วยการประกาศรับสมัคร และมีโรงเรียนอาสาสมัครเข้าร่วม จำนวน 89 โรงเรียน ซึ่งโรงเรียนวิถีพุทธก็คือ “โรงเรียนระบบปกติทั่วไปที่นำหลักธรรมพระพุทธศาสนามาใช้ หรือประยุกต์ใช้ในการบริหาร การพัฒนาผู้เรียนโดยรวมของสถานศึกษา เน้นกรอบการพัฒนาตามหลักไตรสิกขาอย่างบูรณาการ” (สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา, 2548)


2. วิวัฒนาการของการศึกษาแนวพุทธ ผมได้ศึกษาเพิ่มเติมและวิเคราะห์เป็นแผนภาพ timeline ก็ทำให้เห็นได้ว่า ในสมัยก่อนการเรียนรู้ของคนไทยอยู่ใกล้ชิดพุทธศาสนาอย่างมาก เพราะอาศัยวัดเป็นสถานที่เรียนมีพระเป็นผู้สอน หรือเรียนรู้ตามสำนักวิชาชีพต่างๆ การเรียนจะเน้นเรียนรู้เพื่อรู้หนังสือ เรียนวิชาชีพ รวมทั้งบวชเรียนเพื่อศึกษาพระธรรมวินัย และพัฒนาตนเองตามหลักพุทธศาสนา และปรากฏชัดในปี พ.ศ.2418 ที่รัชกาลที่ 5 ทรงอาราธนาให้พระสงฆ์สอนหนังสือไทยในพระอารามหลวงทุกอาราม ซึ่งเมื่อแรกตั้งกระทรวงธรรมการในปี พ.ศ.2435 ก็ยังคงมีลักษณะการเรียนเช่นเดียวกับในอดีต

การเปลี่ยนแปลงที่น่าจะมีส่วนสำคัญให้การศึกษาห่างวัดและพระ เมื่อมีการกระจายโรงเรียนไปทั่วราชอาณาจักร และผู้สอนเปลี่ยนเป็น “ครู” ในปี พ.ศ.2454 แล้วสภาพการเรียนรู้ของคนไทยที่ยิ่งห่างไกลพระพุทธศาสนาตลอดมาจนรัชกาลที่ 7 ทรงมีพระราชดำริว่าการศึกษาไม่ควรแยกไปจากวัด จึงโปรดเกล้าให้เปลี่ยนชื่อจากกระทรวงศึกษาธิการเป็นกระทรวงธรรมการแทน โดยให้มีหน้าที่ดูแลทั้งการจัดการศึกษาและการศาสนา ผมคิดว่าการปรับเปลี่ยนอาจช่วยให้การศึกษาชำเลืองมองพุทธศาสนาอยู่บ้าง แต่สภาพปัญหามาปรากฏชัดในเหตุผลของการเกิดโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ในปี พ.ศ.2501 ที่ระบุว่า รัฐเน้นพุทธิศึกษาถึง 90% แต่ให้ความสำคัญกับจริยศึกษาเพียง 5% ผมคิดว่าอีก 5% ที่หายไปน่าจะเป็นสัดส่วนของหัตถศึกษา ซึ่งสะท้อนว่า การจัดการศึกษาของเราเน้นเนื้อหาวิชาการเพิ่มขึ้นๆ และให้เรื่องคุณธรรมจริยธรรมหรือคุณลักษณะที่พึงประสงค์ต่างๆ สอดแทรกและบูรณาการอยู่ในการเรียนเนื้อหาวิชาการ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับระดับความใส่ใจและการมุ่งเน้นของโรงเรียนเป็นสำคัญ แต่ด้วยสภาพปัญหาและวิกฤตการณ์คุณธรรมของคนในสังคมไทย จึงมีข้อเสนอให้นำหลักธรรมคำสอนในพุทธศาสนามาใช้อย่างจริงจังในโรงเรียน ก่อเกิดเป็นโครงการโรงเรียนวิถีพุทธในปลายปี พ.ศ.2545 และมุ่งมั่นดำเนินการต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ดังรายละเอียดต่อไปนี้
* ให้โรงเรียนลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์เพื่อยืนยันการร่วมเป็นโรงเรียนวิถีพุทธ

          3. ฐานคิดโรงเรียนวิถีพุทธ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา หรือ “ไตรสิกขา” ซึ่งเป็นหัวใจขอพระพุทธศาสนา มาเป็นหลักในการดำเนินการในทุกกิจกรรมในโรงเรียน อาจใช้คำพูดให้ง่ายคือ กิน-อยู่-ดู-ฟังให้เป็น อาทิ ศีล ก็คือข้อปฏิบัติปกติของมนุษย์ ซึ่งก็ไม่ชอบให้ใครว่า ไม่ชอบให้ใครมาทำให้เจ็บ ดังนั้น จึงต้องคิดพิจารณาเอาใจเขามาใส่ใจเรา ไม่ทำร้ายใคร และคำนึงถึงคนอื่นอยู่เสมอ เช่น การจัดบอร์ด/นิทรรศการ ก็คำนึงถึงประโยชน์ของผู้อ่านในแต่ละช่วงวัย หรือการเลือกใช้วัสดุอุปกรณ์ก็ใช้อย่างใส่ใจและเป็นช่วยลดโลกร้อน ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า โรงเรียนวิถีพุทธมุ่งให้เด็กเยาวชนและบุคลากรในโรงเรียน “ยึดมั่นในสิ่งที่ถูกต้องชอบธรรม (Integrity) ดังที่กล่าวไว้ในบทความของศาสตราจารย์ธานินทร์ กรัยวิเชียร องคมนตรี
เพื่อให้มีความกระจ่างชัดในไตรสิกขา ผมจึงศึกษาพจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตโต) ได้ทราบความหมายของสิกขา 3 หรือไตรสิกขา ว่าคือ “ข้อที่จะต้องศึกษา, ข้อปฏิบัติที่เป็นหลักสำหรับศึกษา คือ ฝึกหัดอบรมกาย วาจา จิตใจ และปัญญาให้ยิ่งขึ้นไปจนบรรลุจุดหมายสูงสุดคือพระนิพพาน (1) อธิสีลสิกขา: สิกขาคือศีลอันยิ่ง, ข้อปฏิบัติสำหรับฝึกอบรมในทางความประพฤติอย่างสูง (training in higher morality) (2) อธิจิตตสิกขา: สิกขาคือจิตอันยิ่ง, ข้อปฏิบัติสำหรับฝึกอบรมจิตเพื่อให้เกิดคุณธรรมเช่นสมาธิอย่างสูง (training in higher mentality) (3) อธิปัญญาสิกขา: สิกขาคือปัญญาอันยิ่ง, ข้อปฏิบัติสำหรับฝึกอบรมปัญญาเพื่อให้เกิดความรู้แจ้งอย่างสูง (training in higher wisdom) เรียกง่ายๆ ว่า ศีล สมาธิ ปัญญา (morality, concentration and wisdom) นอกจากนั้นพจนานุกรมนี้ยังระบุไว้ว่า ไตรสิกขา ยังเกี่ยวข้องอีก 2 ส่วน คือ อริยสัจจ์ 4 และมรรคมีองค์ 8 จึงขอยกมาไว้ ณ ที่นี้ด้วย ดังนี้



          4. รูปธรรมของโรงเรียนวิถีพุทธ ในระยะแรกมี KPI ประมาณ 50 ตัว ในด้านกายภาพ การเรียนการสอน และพฤติกรรมพื้นฐาน(วิถีชีวิต) ต่อมาปรับเหลือ 29 ตัว นำไปใช้ในการพิจารณาเลือกโรงเรียนวิถีพุทธชั้นนำ หรือการประเมินผลการปฏิบัติราชการโดย กพร. หากจะสังเกตทั่วๆไป จะเห็นว่าโรงเรียนจะมีกิจกรรมวันพระ (หรือวันที่โรงเรียนกำหนดขึ้นในแต่ละสัปดาห์) คือ ครูใส่เสื้อขาว มีกิจกรรมสวดมนต์ยาว รับประทานมังสวิรัติ ทำบุญใส่บาตร ฟังเทศน์ เป็นการกระทำด้วยความเข้าใจเหตุและผลว่า ทำไปทำไม เพราะเหตุใด ถึงแม้จะถูกมองว่าสิ่งเหล่านี้เป็น “พิธีกรรม” แต่ก็ถือว่ามีความจำเป็น และเป็นตัวช่วย สำหรับผู้ที่ยังไม่สามารถเข้าใจและบรรลุจุดมุ่งหมายได้ในทันที ซึ่งบรรยากาศ ปัจจัย และเงื่อนไขดังกล่าว จะช่วยหล่อหลอมให้จิตใจสงบ พิจารณาเรื่องราวต่างๆ ด้วยใจอันใคร่ครวญได้ดียิ่งขึ้น แม้จะเป็น “เปลือกของพุทธ” ก็ไม่ใช่สิ่งที่ต้องปฏิเสธ แต่ต้องไม่หลงงมงาย และเรียนรู้ให้ถึงแก่นแท้ของไตรสิกขา

          5. การสร้างความเข้าใจในโครงการโรงเรียนวิถีพุทธให้ผู้เกี่ยวข้อง จะเน้นให้ “เห็นถึงคุณค่า” ก่อน เพราะบุคลากรที่เกี่ยวข้องทุกคนเป็นชาวพุทธเช่นกัน ทั้งครู ผู้บริหารโรงเรียน ศึกษานิเทศก์ ฯลฯ ทุกคนเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนชาวพุทธ ซึ่งจะมีความรู้ความเข้าใจในศาสนาที่ตนเองนับถือมากบ้างน้อยบ้าง ดังนั้น การร่วมดำเนินงานโครงการโรงเรียนวิถีพุทธ จึงให้ความสำคัญของการเรียนรู้และพัฒนาตนเอง โดยมีตัวชี้วัด (KPI) ของโครงการเป็นกรอบและเครื่องมือของการดำเนินงาน และการขับเคลื่อนงานจะสื่อสารการดำเนินงานผ่านศึกษานิเทศก์ผู้ประสานงานประจำสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและเว็บไซต์โครงการอย่างต่อเนื่องตลอดมา หากสนใจรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการโรงเรียนวิถีพุทธ โปรดศึกษาที่เว็บไซต์นี้ http://www.vitheebuddha.com/main.php

         เมื่อศึกษามาถึงตรงจุดนี้ ทำให้เห็นถึง “เป้าหมาย” และ “วิธีการ” ของการศึกษาแนวพุทธ ที่การศึกษาไทยควรจะใช้เป็นหลักในการจัดการศึกษา ซึ่งเป็นภูมิปัญญาและรากเหง้าของการศึกษาและสังคมไทย ผมนึกถึงสำนวนไทยได้ 2 สำนวนคือ “ไก่ได้พลอย” เราอยู่กับสิ่งที่มีค่า แต่ไม่รู้คุณค่า จึงไม่เกิดประโยชน์แต่อย่างใด และ “ใกล้เกลือกินด่าง” อยู่ใกล้สิ่งที่ดีมีคุณค่า แต่มองไม่เห็นคุณค่านั้น กลับไปหลงชื่นชมกับสิ่งอื่นที่ด้อยกว่า และผมคิดว่าวิถีพุทธนี้เป็นคำตอบหลัก/ คำตอบหนึ่ง ที่จะช่วยให้ความห่วงใยที่อาจารย์ชัยวัฒน์ ถิระพันธุ์ ที่กล่าวไว้ว่า “ความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีภายนอกมีมากเพียงใด เราต้องพัฒนาเทคโนโลยีภายในจิตใจคนให้เท่าทัน ...ต้องมีความฉลาดทางจิตวิญญาณ (Spiritual Intelligent) ...ต้องสร้างสติสัมปชัญญะ (Sensibility) ให้เกิดขึ้น” ซึ่งผมเห็นถึงความสอดคล้องกันอย่างยิ่งของแนวพุทธและธรรมชาติของ System Thinking ก็คือ สรรพสิ่งทั้งหลายล้วนมาแต่เหตุ และสรรพสิ่งเชื่อมโยงกันและเป็นอนิจจัง ซึ่งการได้ศึกษาค้นคว้าครั้งนี้ นอกจากจะทำให้ได้เรียนรู้การศึกษาแนวพุทธแล้ว ยังทำให้ผมอยากค้นหาความหมายและสร้างความเข้าใจในวิถีพุทธให้มากยิ่งขึ้นอีกด้วย

บรรณานุกรม
กระทรวงศึกษาธิการ. (2556). 120 ปี กระทรวงศึกษาธิการกับการศึกษาไทย. กรุงเทพมหานคร:       
           สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ.
ธานินทร์ กรัยวิเชียร. (2553). บทความพิเศษ เรื่อง “การยึดมั่นในสิ่งที่ถูกต้องชอบธรรม”. นนทบุรี: สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน.
บรรเจอดพร สู่แสนสุข. (2556). โรงเรียนวิถีพุทธ. สัมภาษณ์. วันพุธที่ 30 ตุลาคม 2556.    
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตโต). (2553). พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม. นนทบุรี:                บริษัท เอส.อาร์.พริ้นติ้ง แมส โปรดักส์ จำกัด
สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา. (2555). สารานุกรมวิชาชีพครู เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธันวาคม 
           2555. กรุงเทพมหานคร: สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา.
สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา. (2548). แนวทางการดำเนินงานโรงเรียนวิถีพุทธ. 
           กรุงเทพมหานครโรงพิมพ์องค์การรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์ (ร.ส.พ.).