หน้าเว็บ

วันอังคารที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

ร่วมมือปฏิรูปการศึกษา: จะทำอะไร-อย่างไร

ข้อเสนอจากเวทีเสวนา “พลังเครือข่ายปฏิรูปการศึกษาขั้นพื้นฐาน”
 พิทักษ์ โสตถยาคม

สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา ได้จัดประชุมเสวนา “พลังเครือข่ายปฏิรูปการศึกษาขั้นพื้นฐาน” ขึ้น ในวันพฤหัสบดีที่ 7 พฤศจิกายน 2556 เวลา 10.00-14.00 น. มีวัตถุประสงค์ 2 ประการคือ (1) เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้กระบวนการและผลการสนับสนุนการปฏิรูปการศึกษาขององค์กรภาครัฐ และ(2) เพื่อปรึกษาหารือเกี่ยวกับแนวทางการประสานความร่วมมือและรวมพลังเพื่อขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาให้บรรลุเป้าหมายที่มุ่งหวังร่วมกัน การประชุมนี้มีประธานกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (ดร.สุรัฐ ศิลปอนันต์) เป็นประธานการเสวนา ผู้ร่วมประชุมมาจาก 3 กลุ่ม ประกอบด้วย (1) กพฐ. ได้แก่ นายวินัย รอดจ่าย นายสมหมาย ปาริจฉัตต์ นายปราโมทย์ แก้วสุข (2) ผู้บริหารองค์กรเครือข่าย ได้แก่ ดร.สีลาภรณ์ บัวสาย นางเพ็ญพรรณ จิตตะเสนีย์ ดร.ทัศนัย วงศ์พิเศษกุล ดร.ฉวีรัตน์ เกษตรสุนทร นพ.สุภกร บัวสาย ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ และ(3) ผู้บริหารระดับสูง สพฐ./ ผู้แทนสำนัก ได้แก่ น.ส.วีณา อัครธรรม ดร.เกษม สดงาม นายโสภณ โสมดี นางสุกัญญา งามบรรจง น.ส.พจนีย์ เจนพนัส นางภาวนี ธำรงเลิศฤทธิ์ ดร.ชวลิต โพธิ์นคร ดร.พีระ รัตนวิจิตร นายไกร เกษทัน นายสมยศ ศิริบรรณ นางพวงมณี ชัยเสรี นายสมควร วรสันต์ ดร.พิธาน พื้นทอง นางกมลจิตร ดวงศรี นางนุจวดี เจริญเกียรติบวร ดร.บรรเจอดพร สู่แสนสุข นายสังคม จันทร์วิเศษ ดร.อรนุช มั่งมีสุขศิริ น.ส.ดุจดาว ทิพย์มาตย์ นางสุดจิตร์ ไทรนิ่มนวล นายพิทักษ์ โสตถยาคม นายคู่บุญ ศกุนตนาค นางศรีนวล วรสรรพการ นายปราโมทย์ ขจรภัย นายวสันต์ สุทธาวาศ น.ส.ยมนา พินิจ น.ส.วรนุช รุ่งเรืองเจริญกุล นางรัชทิตา เชยกลิ่น น.ส.จันทิรา ทวีพลายนต์ และน.ส.จุฑารัตน์ ก๋องคำ


          ผู้บริหารองค์กรเครือข่าย ทั้งสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.)  ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) และสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ ได้นำเสนอกระบวนการและผลการสนับสนุนการปฏิรูปการศึกษา จากนั้นผู้บริหารองค์กรเครือข่ายและผู้เข้าร่วมประชุมได้ให้ข้อเสนอเพื่อการพัฒนา ดังนี้


1. เรียนรู้จากเครือข่ายและหนุนเสริมเติมต่อ กพฐ. และ สพฐ. ควรนำสิ่งดีที่ภาคีเครือข่ายทำอยู่ มาอุดช่องว่างการทำงาน และปรับตัวในการทำงานของตนเอง เพื่อร่วมเดินทางไปด้วยกันกับองค์กรภายนอกและภายใน ไม่ว่าจะเป็น 5 องค์กรหลัก หรือสำนักต่างๆ ใน สพฐ.ด้วยกัน ต้องประสานกันอย่างเข้มข้น ควรให้ความสำคัญของกระบวนการเรียนรู้ แต่ประเด็นที่ สพฐ.ต้องปรับตัวอย่างมากคือเรื่องของระบบบริหารงานบุคคล ระบบ Intensive และระบบ School Autonomy  นอกจากนั้น กพฐ. และ สพฐ. ควรพิจารณาให้การสนับสนุนช่วยเหลือการดำเนินงานของภาคีเครือข่าย ให้สามารถดำเนินการในสิ่งที่ดีและสร้างสรรค์ต่อไป ซึ่งควรนำผลการประชุมเสวนาพลังเครือข่ายปฏิรูปการศึกษาขั้นพื้นฐานครั้งนี้รายงานต่อที่ประชุม กพฐ. โดยเร็วที่สุด เพื่อทราบและร่วมขบคิดพิจารณาผลักดัน “วิธีปฏิบัติที่ดีและน่าสนใจ” ของภาคีเครือข่ายไปสู่การใช้ประโยชน์ในการจัดจัดการศึกษา
2. องค์กรตัวช่วย บทบาทหลักเกี่ยวกับการจัดการศึกษายังคงเป็นกระทรวงศึกษาธิการ ส่วนภาคีเครือข่ายต่างๆ เป็นเพียงตัวช่วย และผู้หนุนเสริมภารกิจของกระทรวง ไม่ใช่แย่งงานกระทรวงไปทำ และไม่สามารถมีศักยภาพในการจัดการศึกษาทดแทนกระทรวงได้ ดังนั้น องค์กรตัวช่วยจะสามารถสนับสนุนการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาได้ ด้วยการแบ่งส่วนกันทำในงานตามความถนัด แล้วนำมาต่อกัน ดังนี้ หากแบ่งงานออกเป็น 4 ขั้น ประกอบด้วย (1) ขั้นสร้างความรู้ (2) ขั้นเอาความรู้ไปทดลอง (3) ขั้นผลักดันเป็นนโยบาย และ(4) ขั้นดำเนินการให้เป็นไปตามนโยบาย ซึ่งในขั้นที่ 1-2 เป็นความถนัดของภาคีเครือข่ายที่จะทำการวิจัย เมื่อได้ผลแล้วก็ส่งมอบให้กระทรวงศึกษาธิการเพื่อดำเนินการในขั้นที่ 3-4 อย่างไรก็ตาม กระทรวงศึกษาธิการจะเป็นผู้กำหนดโจทย์การวิจัยและรองรับผลการวิจัยไปใช้ จะทำให้การทำงานของภาคีเครือข่ายและกระทรวงศึกษาธิการเชื่อมต่อกันได้อย่างดี
3. ปรับวิธีประเมินครูสู่วิทยฐานะ ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้การทำงานและความก้าวหน้าของครูไม่ก่อให้เกิดคุณภาพผู้เรียน ก็คือ การประเมินเพื่อเลื่อนวิทยฐานะที่ครูต้องเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับ ก.ค.ศ. หรือ อ.ก.ค.ศ. ไม่ไปในทิศทางเดียวกันกับการปฏิรูปการเรียนรู้และคุณภาพผู้เรียนที่คาดหวัง ดังนั้น จึงควรปรับแก้เงื่อนไขการประเมินครูให้เอื้อต่อคุณภาพผู้เรียนในลักษณะเช่นนี้ให้จงได้
4. ต้องการผู้นำที่เข้าใจ-เปิดใจ ผู้นำเป็นปัจจัยสำคัญของการพัฒนาคุณภาพ ในการสร้างและนำนวัตกรรมไปสู่การปฏิบัติ ที่ผ่านมาพบว่า ผู้นำและบุคลากรที่เกี่ยวข้องในระดับต่างๆ ไม่เข้าใจที่ดีพอในการประสานความร่วมมือกับภาคีเครือข่าย รวมทั้งไม่เปิดใจเรียนรู้และร่วมพัฒนาไปด้วยกันนัก จึงทำให้รูปแบบและวิธีการที่ดี  ไม่สามารถเกิดประโยชน์ในทางปฏิบัติได้เต็มที่ ดังนั้น จึงควรสร้างความเข้าใจร่วมกันและปรับตัวขับเคลื่อนการพัฒนาไปพร้อมกันกับภาคีเครือข่าย ผู้นำระดับนโยบายควรเข้าไปเป็นเพื่อนร่วมทาง ร่วมเรียนรู้ และเป็นโค้ชให้กับผู้นำระดับปฏิบัติ ควบคู่กับการสั่งการตามปกติ รวมทั้ง เสริมพลังอำนาจ (empowerment) ให้ผู้นำในพื้นที่ให้ทำงานเต็มความสามารถ เป็น “การสร้างแม่ทัพในพื้นที่” ให้เกิดขึ้นเต็มแผ่นดิน
5. ต้องการผู้นำที่เอาจริงและต่อเนื่อง เมื่อเอ่ยถึงผู้นำระดับนโยบาย เรามักจะนึกถึงฝ่ายการเมืองหรือรัฐมนตรี ซึ่งมีการปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา และส่งผลกระทบต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษาเช่นปัจจุบัน แต่การศึกษาจำเป็นต้องมีผู้นำระดับสูงที่เป็นหลัก มี commitment ที่จะดำเนินนโยบายและทิศทางการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เป็นเวลา 4-8 ปี ซึ่งคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) คือผู้นำที่ทุกฝ่ายให้ความเชื่อมั่นและเป็นความหวังใหม่ในการทำให้ “เรือนิ่ง” และการจัดการก็จำเป็นต้อง “นิ่ง-จริงจัง-ต่อเนื่อง” ด้วยเช่นกัน เพื่อดำเนินไปสู่สภาวะความสำเร็จของการปฏิรูปการศึกษา

6. ทำเรื่องสำคัญและจำเป็นจริงในการปฏิรูปการศึกษา สิ่งที่คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ควรพิจารณาดำเนินการคือ เน้นเรื่องที่สร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบได้จริง ที่เป็นเรื่องสำคัญบางเรื่อง แต่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพโดยรวม โดยใช้วงจรการวิจัยและผลักดันเป็นนโยบาย อาทิ เรื่องคุณภาพครู เรื่องประสิทธิภาพโรงเรียน อาจลงไปทำตั้งแต่ที่มา/การเข้าสู่ตำแหน่งผู้บริหารโรงเรียน การบริหารจัดการโรงเรียน ผู้บริหารโรงเรียนมีความสามารถมากขึ้น ลดช่องว่างระหว่างโรงเรียนคุณภาพต่ำให้ขยับมาใกล้โรงเรียนคุณภาพสูง
7. เน้น 4 คานงัด จากสถิติพบว่า มีเด็กจำนวนมากที่การเรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็น “การเรียน(ในระบบ)ครั้งสุดท้ายในชีวิต” โดยเฉพาะกลุ่มเด็กด้อยโอกาส ซึ่งทิศทางการยกระดับคุณภาพการศึกษาในประเทศต่างๆ พบว่า สามารถยกระดับคุณภาพได้ด้วยการให้ความใส่ใจในการเรียนรู้และการพัฒนากลุ่มเด็กด้อยโอกาสและเด็กไม่เก่ง ดังนั้น หนึ่งใน “คานงัด” ของคุณภาพการศึกษา ก็คือ การช่วยกลุ่มเด็กด้อยโอกาส นอกจากนั้น บทเรียนจากการปฏิรูปการศึกษาทั่วโลกยังให้ความสำคัญกับอีก 3 คานงัด ได้แก่ การช่วยครู ที่เปลี่ยนจาก training ในลักษณะ “อบรมแบบพรมน้ำมนต์” เป็น coaching and mentoring การปรับระบบวัดผล ต้องเปลี่ยนจากการสอบในลักษณะ “เดิมพันสูง” หรือเพื่อการตัดสิน ไปเป็นการประเมินเพื่อการพัฒนา การสร้างระบบข้อมูลเพื่อ monitor การศึกษา โดยสร้างระบบที่เชื่อมโยงกับห้องเรียนและโรงเรียน รู้ละเอียดในสถานการณ์ของครูและนักเรียน เพื่อให้ผู้หนุนนำช่วยเหลือสามารถรู้และช่วยได้ทันท่วงที
8. คิดใหญ่ เริ่มเล็ก การเริ่มต้นดำเนินงานอาจมุ่งไปที่กลุ่มเครือข่ายโรงเรียนจำนวนหนึ่งในแต่ละพื้นที่ ในลักษณะโครงการวิจัยและพัฒนา 3-5 ปี เพราะเมื่อเป็นโครงการวิจัยและพัฒนาจะเป็นเสมือน “ของขลัง” ไม่มีใครมารบกวนหรือล้มเลิก ซึ่งสามารถกำหนดโจทย์การวิจัยเพื่อพัฒนา จะได้ตัวแบบ และสามารถมี commitment ในการดำเนินการร่วมกันของภาคีเครือข่ายได้ดี อาจใช้จังหวัดบางจังหวัดที่มีการดำเนินงานของภาคีเครือข่ายทับซ้อนกันอยู่ และใช้จังหวัดเหล่านั้นเป็นจุดเริ่มต้นของความร่วมมือระหว่างกันครั้งใหม่
9. ใช้พื้นที่เป็นฐานของความร่วมมือ การพูดคุยเพื่อให้เกิดความร่วมมือระหว่างองค์กร ควรลงไปสร้างข้อตกลงในพื้นที่ปฏิบัติงานจริง แล้วพัฒนาไปสู่งาน/ โครงการที่จะลงนามความร่วมมือระหว่างหน่วยงานในพื้นที่ มีรายละเอียดต่างๆ ทั้งกิจกรรมที่จะทำ  งบประมาณที่จะใช้ หรือผลผลิตที่จะได้ ซึ่งการพูดคุยระดับหน่วยปฏิบัติจะมีความเป็นไปได้สูงกว่าการพูดคุยของผู้บริหารระดับนโยบายในส่วนกลาง
10. ปรับการจัดการใหม่ ที่ผ่านมาภาพที่ปรากฏให้เห็นของกระทรวงศึกษาธิการ “ใช้เงินเยอะ ได้ผลน้อย” ต้องปรับเปลี่ยนเป็น “ใช้เงินน้อย ได้ผลเยอะ” และการบริหารจัดการแบบแนวตั้ง “แท่ง” ควรปรับเปลียนเป็นการจัดการแบบแนวนอน “ตัดขวาง” ซึ่งในการปรับเปลี่ยนควรจัดทำเป็นโครงการวิจัยและพัฒนาระยะยาว เพื่อทดลองเรียนรู้รูปแบบใหม่ในการบริหารจัดการ อาจทำความร่วมมือกับ สกว. หรือ สสค. ซึ่งจะทำให้ได้ทราบปัจจัยเงื่อนไขเชิงระบบที่จำเป็นต้องเปลี่ยนจากฐานงานวิจัย


11. สร้างนโยบายใหม่บนฐานวิจัย ควรให้มีนักวิชาการของ สพฐ. และภาควิชาการ เพื่อตั้งเป็นกลุ่ม Policy Think Tank ที่มีความเป็นกลางและมีอิสระพอสมควร ในการทำหน้าที่วิจัยและพัฒนานโยบาย ทดลอง และนำเสนอนโยบายให้ สพฐ. หรือแม้แต่การวิจัยสถาบัน (Institutional Research)
12. ควรปฏิรูปทั้งโรงเรียน บทเรียนที่ได้จากความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายที่ผ่านมา พบว่า การพัฒนาเพียงบางประเด็น หรือมุ่งเน้นพัฒนาครูบางคน เมื่อโครงการจบ จะไม่ได้รับการสานต่อจากผู้บริหารโรงเรียน ดังนั้น ในการดำเนินการควรขับเคลื่อนไปพร้อมกันทั้งโรงเรียน โดยผู้บริหารและครูทุกคน อย่างต่อเนื่อง จริงจัง และมุ่งเน้นไปที่การเรียนการสอน
13. จุดประกายและตามไปเชียร์ ประเด็นที่สำคัญในการหนุนเสริมคนทำงานด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจ ก็คือ การจุดประกาย ทำให้เกิดแรงบันดาลใจในการทำงาน “ไฟติด” แล้วลงติดตามไปช่วยเชียร์ ให้เกิดความฮึกเหิมมุ่งทำสิ่งที่ได้ทำอยู่อย่างต่อเนื่องและดียิ่งขึ้น นอกจากการร่วมชื่นชม ให้กำลังใจ ให้การยอมรับในสิ่งดีที่เขาทำอยู่ หรือจะใช้สื่อสารมวลชนที่มีอยู่มาเป็นเครื่องมือเพื่อให้เกิดความภาคภูมิใจและมีแรงใจในการทำดี นอกจากนั้น การลงไปยังพื้นที่ของผู้นำระดับนโยบาย จะทำให้ได้รับทราบปัจจัยเงื่อนไขของการทำได้หรือไม่ได้ของผู้ปฏิบัติ และจะได้ข้อเสนอเพื่อนำกลับมาปรับแนวทางการขับเคลื่อนนโยบายให้สามารถสู่การปฏิบัติได้อย่างราบรื่น
14. ขับเคลื่อนด้วยพลังแห่งความชื่นชม เมื่อโรงเรียนดำเนินงานโครงการที่เป็นการปลูกฝังคุณธรรม ให้เป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องเกิดและปรากฏชัดในตัวผู้เรียน แล้วมีผู้บริหารระดับสูง ผู้นำองค์กร หรือผู้ใหญ่ในบ้านเมืองลงไปในพื้นที่ ไปเยี่ยมชมกระบวนการและผลที่เกิดขึ้น ได้ช่วยให้ครู ผู้บริหาร และบุคลากรที่เกี่ยวข้องมีความภาคภูมิใจ มีพลังแรงใจในการมุ่งมั่น ดำเนินงานต่อด้วยความมั่นใจและกระตือรือร้น ดังนั้น การให้ความสำคัญของผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ การหนุนเสริมการดำเนินงาน และการลงไปชื่นชมผลที่เกิดขึ้นที่โรงเรียนของผู้นำองค์กร จึงมีส่วนสำคัญยิ่งในกระบวนการพัฒนาบุคลากรและคุณภาพผู้เรียน
15. เปลี่ยนการบริหารจัดการครู อุปสรรคเชิงงบประมาณของการพัฒนาการศึกษาคือ งบบุคลากรแต่ละปีใช้ประมาณ 80% ส่วนงบพัฒนามีจำกัดและมีความสัมพันธ์กับคุณภาพผู้เรียนน้อย สิ่งที่น่าสนใจในการพัฒนาครูคือ ไม่ควรให้ความสำคัญในการพัฒนาครูเพียงมาตรการระยะสั้น เช่น coaching หรือ Professional Learning Community (PLC) เท่านั้น ควรให้ความสำคัญกับมาตรการระยะยาวด้วย เช่น การตั้งเป้าหมายในการลดงบประมาณจาก 80% ให้เหลือ 50% ภายในเวลา 5-10 ปี เพื่อนำงบประมาณมาพัฒนาคุณภาพ หรือการจัดทำแผนระยะยาวเกี่ยวกับบริหารจัดการครูและบุคลากร (Personnel Administration Plan) มีความจำเป็นที่ต้องสร้างความชัดเจนเกี่ยวกับสภาพปัจจุบันมีครูกี่ช่วงวัยหรือกี่รุ่น แต่ละรุ่นจะต้องเติมและพัฒนาอย่างไร รวมทั้งการรับคนที่จะเข้าไปเป็นครู และการปลดล็อคให้สามารถโยกย้ายหรือเกลี่ยครู ไปยังโรงเรียนที่ขาดแคลน ซึ่งอาจต้องมีการทำวิจัยในประเด็นเหล่านี้ก่อน


16. สร้างประสบการณ์การเรียนรู้ใหม่และให้ทางเลือกแก่ครู มีครูจำนวนมากที่ต้องการเปลี่ยนแปลงการสอนของตนเอง ให้เป็นไปในแนวทางปฏิรูปการเรียนรู้ แต่ปัญหาของครูคือ ครูนึกไม่ออกว่าการสอนที่ต้องการให้ครูเปลี่ยนไปนั้นเป็นอย่างไร เพราะไม่เคยเห็นและได้รับประสบการณ์ตรงของการเรียนรู้แบบ Active Learning  ตลอดชีวิตของการเป็นนักเรียนและการทำงานของครู ครูพบเห็นแต่การจัดการเรียนรู้แบบ Passive Learning ดังนั้น การพัฒนาครูจึงควรเสริมสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ใหม่แบบ Active Learning เพื่อครูจะได้รับรู้ถึงความหมายและคุณค่าของการเรียนรู้เช่นนี้และปรับเปลี่ยนการสอนของตนเองเพื่อศิษย์ รวมทั้งการแสวงหาตัวอย่างหรือวิธีการปฏิบัติที่ดีที่หลากหลายให้ครูได้เลือกนำไปปรับใช้ในการสอน
17. ปรับวิธีการนำนโยบายสู่การปฏิบัติ ที่ผ่านมาจะพบเห็นวิธีการนำนโยบายสู่การปฏิบัติใน pattern เดิม อาทิ จัดทำเอกสาร สั่งการ ประชุม หรือจัด Event ซึ่งพบว่าไม่ได้ผลที่น่าพอใจนัก จึงควรหานวัตกรรมของการขับเคลื่อนนโยบาย หรือแนวทาง Implement นโยบายที่สามารถคาดหวังการเปลี่ยนแปลงระดับการปฏิบัติได้จริง
18. ห้องเรียน-ครอบครัว-สังคม ร่วมพัฒนาเด็ก สิ่งที่ภาคีเครือข่ายจะร่วมด้วยช่วยพัฒนาเด็ก ไม่ควรเน้นไปที่ห้องเรียนเพียงอย่างเดียว เพราะความรู้จากห้องเรียนจะติดตัวเด็กประมาณ 1 ใน 3 จึงควรให้ความสำคัญกับพื้นที่การเรียนรู้ของเด็กอีก 2 ใน 3 ส่วน ก็คือการเรียนรู้จากครอบครัวและสังคม ดังนั้น มีความจำเป็นต้องมีเจ้าภาพที่ชัดเจนและร่วมมือกันให้มากยิ่งขึ้น
19. ใช้หนังสือเป็นเครื่องมือสร้างคน การหนุนเสริมการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชนด้วยการมีหนังสือดีๆ ให้เด็กอ่าน เพิ่มเติมหนังสือที่เด็กอยากอ่านในโรงเรียน หรือการสนับสนุนห้องสมุดมีชีวิต รวมทั้งการย่อยผลงานวิจัยที่ดีมีประโยชน์ในรูปแบบนิทรรศการให้ไปสู่โรงเรียนและการนำไปใช้ประโยชน์ในการเรียนรู้และต่อยอด
20. พัฒนาทักษะการเรียนรู้-สร้างแรงบันดาลใจ การพัฒนาคุณภาพผู้เรียนไม่ควรมุ่งเน้นเพียงผลสัมฤทธิ์ หรือคุณธรรมจริยธรรมเท่านั้น ควรให้ความสำคัญกับทักษะการเรียนรู้ด้วย ควรส่งเสริมให้ครูให้ความสำคัญในมิติการจัดการเรียนรู้ศิลปะ ดนตรี กีฬา และเสริมสร้างแรงบันดาลใจในการเรียนรู้ให้เด็ก เพราะไม่ควรมุ่งไปที่การสอนของครูเป็นหลัก ควรช่วยให้ผู้เรียนได้มีความอยากรู้อยากเรียน มีแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ที่ดี ก็จะทำให้เกิดคุณภาพที่ต้องการได้ง่าย ดังนั้น จึงควรให้ความสำคัญของการปรับเปลี่ยนความคิด เจตคติในการเรียนรู้ และสร้างแรงบันดาลใจในการเรียนรู้ของผู้เรียน ซึ่งจะเป็นหนึ่งในแรงหนุนสำคัญให้เกิดคุณภาพการศึกษา
------------------------------------------