หน้าเว็บ

วันพุธที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2556

รู้เขา (เกาหลี)... รู้เรา

รู้เขา (เกาหลี)...รู้เรา...

พิทักษ์ โสตถยาคม

ผมได้เดินทางไปเรียนรู้เรื่องการจัดการศึกษาของเกาหลี ณ ประเทศเกาหลีใต้ ร่วมกับเพื่อนร่วมรุ่น และพี่เลี้ยง (Mentor) หลักสูตรผู้นำเพื่อการเปลี่ยนแปลงทางการศึกษา (Leader for Education Change; LEC) หรือ นปศ.รุ่นที่ 1 ระหว่างวันที่ 19-22 ตุลาคม 2556 คำถามที่ผมถามตนเองคือ เราได้เรียนรู้อะไร มีประโยชน์เพียงใด ในการได้ร่วมกิจกรรมครั้งนี้ ซึ่งประเด็นที่รับรู้ในความคิดมี 3 ประเด็น ดังนี้
1. เปลี่ยนความทุกข์เข็ญเป็นแรงผลักดันการพัฒนา คนเกาหลีมีความเจ็บปวดรวดร้าวจากการเข้าครอบครองของญี่ปุ่น ความสูญเสีย ความแค้น และการได้เอกราชกลับคืน ดังจะเห็นได้จากเรื่องเล่าประวัติศาสตร์และหลักฐานร่องรอยที่พานพบ ส่งผลให้ชนชาติเกาหลีมี “แรงฮึด” มีกำลังแรงใจที่แข็งแกร่ง ในการสร้างความเข้มแข็งให้กับชาติบ้านเมืองของตนอย่างยิ่ง แม้เราจะไม่ได้อยู่ในบรรยากาศและบริบทนั้น แต่ก็คาดได้ว่า คนในชาติเขาคงจะร่วมด้วยช่วยกัน ผนึกกำลังกันเพื่อความก้าวหน้าของประเทศอย่างมาก ซึ่งคนในชาติอื่นที่ไม่ผ่านร้อนผ่านหนาวเช่นเกาหลี ก็คงยากที่จะสร้างชาติจากแรงขับเคลื่อนเพื่อความอยู่รอดและการร่วมมือรวมพลังแบบจริงจังเช่นนั้นได้

2. องค์กรตอบโจทย์ประเทศ องค์กรที่เราได้ไปสัมผัส จำนวน 5 องค์กร ได้แก่ (1) National Institute for Lifelong Education (NILE) (2) Korea University College of Education (3) Pusan National University (PNU) และ APEC Learning Community Builders (ALCoB) (4) Busan International High School และ(5) Korea Science Academy of KAIST (KSA) ถือว่าเป็นเครื่องมือขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็นการตั้งความมุ่งหวังการเรียนรู้ตลอดชีวิตและดำเนินการเพื่อมุ่งสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ อาทิ ภาครัฐจัดเตรียมระบบ “เก็บแต้มการเรียนรู้” (Academic Credit Bank System) ของ NILE เพื่อเอื้ออำนวยการเรียนรู้ตอบสนองผู้เรียนรายบุคคล เติมเต็มการเรียนรู้ให้ครูช่วงปิดเรียน (เฉพาะเดือนที่ 7 และ 12) ทั้งเพื่อคงสถานะครู (Qualification Training) และตอบสนองความสนใจเฉพาะของครู (Job Skill Training) มีกิจกรรมพัฒนาครูด้วย Action Learning, Field Study, Blended Learning, Workshop เน้น Community of Practice & Community Learning การเป็นผู้นำเครือข่ายระหว่างประเทศของ APEC Learning Community Builders (ALCoB) เป็นการทำงานแบบ Public-private Partnership (PPP) มีนัยสำคัญมากของบทบาทประเทศเกาหลีใต้ในภูมิภาคนี้ รวมทั้งการกำหนดทิศทางของโรงเรียนเพื่อปั้นบุคลากรเฉพาะทางเพื่อความก้าวหน้าทางด้านวิทยาศาสตร์ และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของประเทศนี้

3. เสริมสร้างกำลังภายใน ภาพที่เห็นจากแง่มุมต่างๆ ของประเทศเกาหลีใต้ ถูกสลับด้วยภาพของประเทศไทยนับครั้งไม่ถ้วนตลอดระยะเวลาของการศึกษาดูงาน ตระหนักรู้ว่าบ้านเราต้องพัฒนา เห็นว่าการศึกษาและการเรียนรู้เป็นรากฐานสำคัญยิ่งที่จะเป็นพลังสร้างการเปลี่ยนแปลง และก็เห็นว่า ความรู้สึกร่วมของสังคมที่ต้องการการเปลี่ยนแปลงมีส่วนสำคัญยิ่ง พอๆ กับการร่วมมือรวมพลังของประชาสังคมกับผู้นำเพื่อชีวิต สังคม และเศรษฐกิจที่ดีขึ้น ผมรู้สึกว่ามีกำลังภายในเพิ่มขึ้น เหมือนมี “พลังงานศักย์” สะสม พร้อมเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเปลี่ยนแปลงทางการศึกษา นอกจากนั้น การร่วมเดินทางไปด้วยกันของเพื่อนร่วมรุ่นครั้งนี้ ทำให้ได้มิตรภาพ ความสนิทสนมกลมเกลียว และได้เห็นศักยภาพของกันและกันมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะทำให้การประสานเครือข่ายและการส่งต่อความมุ่งมั่นตั้งใจถึงกันได้ง่าย เป็นเพื่อนร่วมทางของการพัฒนา เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้น อย่างน้อยที่สุดก็เปลี่ยนแปลงความคิดและการกระทำของตัวเราเอง       
เมื่อมองการพัฒนาประเทศและการศึกษาของประเทศเกาหลีใต้ ทำให้นึกถึง “สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา” ดังคำกล่าวของ ศ.นพ.ประเวศ วะสี ผมคิดว่านี่คือรูปธรรมของความสำเร็จของการขับเคลื่อนการพัฒนาด้วยพลัง 3 ประสานของ 3 พลัง ได้แก่ พลังทางสังคม พลังทางปัญญา และพลังอำนาจรัฐ ดังนั้น การสร้างการเปลี่ยนแปลงทางการศึกษาของบ้านเรา นอกจากต้องขบคิดถึงพลังทั้งสามนั้นแล้ว ยังต้องสร้างความสัมพันธ์อันดี ความเข้าใจ ความฮึกเหิมใจของผู้เกี่ยวข้องทุกส่วน เพื่อเป็นพลังร่วมเปลี่ยนผ่านไปสู่สิ่งที่ดีกว่า
-----------------------------------------