หน้าเว็บ

วันอังคารที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2556

มหกรรม ศธ.: 3 เดือน 3 งาน

มหกรรม ศธ.: 3 เดือน 3 งาน
พิทักษ์ โสตถยาคม

วันนี้ (8 ต.ค. 2556) ผมได้รับมอบให้เป็นตัวแทนสำนักไปประชุมติดตามความก้าวหน้าการเตรียมการจัดประชุมทางวิชาการ “นวัตกรรมการสอนภาษา การคิดวิเคราะห์ และการสื่อสาร” ณ ห้องประชุมราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ การประชุมวันนี้นับเป็นครั้งที่ 2 ของการประชุมเตรียมงาน ซึ่งในส่วนของ สพฐ. ก็มีผู้แทนเข้าร่วมต่อเนื่องและเตรียมข้อมูลมารายงานความก้าวหน้าแล้ว ได้แก่ ดร.ชวลิต โพธิ์นคร ผอ.สพค. น.ส.นิจสุดา อภินันทาภรณ์ ผอ.สถาบันภาษาไทย สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา และ ดร.ยุวดี อยู่สบาย ผอ.กลุ่มส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพครูและนักเรียน สถาบันภาษาอังกฤษ
การประชุมวันนี้มีปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (นางสุทธศรี วงษ์สมาน) เป็นประธาน มีผู้เข้าร่วมประชุมจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประมาณ 50 คน ประธานได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบว่า ในช่วงไตรมาสแรกของปีงบประมาณนี้ กระทรวงศึกษาจะมีงานประชุมใหญ่ 3 งาน คือ
งานที่ 1 มหกรรม “นวัตกรรมแห่งภาษา” วันที่ 30-31 ตุลาคม 2556 ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ เซ็นทรัลเวิลด์ ราชประสงค์
งานที่ 2 มหกรรม ICT เพื่อการเรียนการสอน วันที่ 13-14 พฤศจิกายน 2556 ณ โรงแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ แจ้งวัฒนะ
งานที่ 3 มหกรรมการศึกษาไทยก้าวไปข้างหน้า วันที่ 26-29 ธันวาคม 2556 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
ดังนั้น ที่ประชุมจึงพิจารณาความเหมาะสมของ (ร่าง) คำสั่งกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการจัดมหกรรมฯ โดยจะมีคณะกรรมการ 4 ฝ่าย ได้แก่ (1) ฝ่ายบริหาร มีรองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (นางผานิตย์ มีสุนทร) เป็นประธาน มี ผอ.สำนักอำนวยการ สป.เป็นกรรมการและเลขานุการ (2) ฝ่ายวิชาการและนิทรรศการ มีรองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (น.ส.จุไรรัตน์ แสงบุญนำ) เป็นประธาน มี ผอ.สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ สป. เป็นกรรมการและเลขานุการ (3) ฝ่ายประชาสัมพันธ์ มีผู้ช่วยปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (นายอดินันท์ ปากบารา) เป็นประธาน มี ผอ.สำนักอำนวยการ สป. เป็นกรรมการและเลขานุการ และ(4) ฝ่ายติดตามประเมินผล มีรองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (นายศุภกร วงศ์ปราชญ์) เป็นประธาน มี ผอ.สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สป. เป็นกรรมการและเลขานุการ ซึ่งที่ประชุมได้มีการเสนอแนะให้ปรับเปลี่ยนกรรมการบ้างในบางคณะ
นอกจากนั้น ที่ประชุมยังได้พิจารณารูปแบบกิจกรรมที่ผู้อำนวยการสำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ สป. นำเสนอ กิจกรรมประกอบด้วยการบรรยายพิเศษโดย รมว.ศธ. การอภิปรายโดยผู้ทรงคุณวุฒิ การเสวนาห้องประชุมย่อย การนำเสนอองค์ความรู้ด้านภาษา การใช้ภาษาในการประกอบอาชีพ การศึกษานอกโรงเรียนกับภาษาอาเซียน การประกวดความสามารถนักเรียน นิทรรศการด้านภาษา การสาธิตการสอบวัดความสามารถทางภาษา และบูธแสดงสื่อการสอนภาษา ซึ่งแต่ละหน่วยงานได้นำเสนอความก้าวหน้าของการเตรียมการ ในส่วนของ สพฐ.ได้ระบุว่าได้เตรียมนำเสนอองค์ความรู้ 5 ส่วน ได้แก่ ภาษาไทย ภาษาจีน ภาษาอังกฤษ ภาษาประเทศใน EU และภาษามาลายู ซึ่งภาษาไทยจะเน้นความภูมิใจในภาษาไทย การอ่านรู้เรื่อง ทวิภาษา BBL และ Montessori ส่วนภาษาอังกฤษจะเน้น Best Practices ของการจัดการเรียนการสอนรูปแบบต่างๆ อาทิ Phonics, การจัดการเรียนสองภาษา, English Program(EP), Mini English Program(MEP), English Integrated Study(EIS), การใช้ Teacher’s kits สำหรับครูไม่จบเอกภาษาอังกฤษ เป็นต้น ซึ่งที่ประชุมได้เสนอกิจกรรมต่างๆ เพิ่มเติม และเสนอให้มีองค์กร หน่วยงานต่างๆ เข้ามาร่วมจัดเพิ่มขึ้น ซึ่งประธานได้นัดประชุมครั้งต่อไปในวันที่ 11 ตุลาคม 2556 เวลา 13.30 น. 

ในช่วงท้ายของการประชุม ผมได้เสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับการประชาสัมพันธ์และประโยชน์ของการจัดมหกรรมเพื่อขับเคลื่อนนโยบาย 2 ประเด็นคือ
(1) การกำหนดกิจกรรมในพื้นที่ต่อเนื่อง ควรมีการกำหนดแนวทางการใช้ประโยชน์จากการจัดมหกรรมเพิ่มเติม โดยเฉพาะการเพิ่มคุณค่าและประโยชน์ของการจัดงานต่อเด็กเยาวชน และประชาชนส่วนรวม เช่น ในการประชาสัมพันธ์งานครั้งนี้ อาจระบุว่า หลังจากงานวันที่ 30-31 ตุลาคมนี้ผ่านไป 1 สัปดาห์ สถานศึกษาทุกแห่ง ทุกสังกัด ทั่วประเทศ จะจัดโปรแกรม/ กิจกรรม/ ค่าย เพื่อให้บริการทางวิชาการแก่ชุมชน โดยฝีมือนักเรียน/นักศึกษา เช่น นักเรียน ชั้น ม.3 ในโรงเรียนมัธยมจัดทำค่ายนักคิดเพื่อให้บริการน้องๆ ประถมศึกษาในชุมชนรอบโรงเรียน หรือนักเรียน ชั้น ป.6 จัดกิจกรรมละครสร้างสรรค์แก่เด็กด้อยโอกาส หรือนักเรียนชั้น ม.6 บำเพ็ญประโยชน์ช่วยครูระดับประถมศึกษาจัดซ่อมเสริมให้เด็กที่มีปัญหาการอ่าน เป็นต้น อาจตั้งเป็นประเด็นประชาสัมพันธ์ว่า “1 สถานศึกษา 1 กิจกรรมบริการชุมชน” ซึ่งนอกจากจะทำให้วิธีปฏิบัติที่ดี/ ภูมิปัญญาของครู ที่มีอยู่เดิมได้รับความสำคัญ และเป็นการต่อยอดจากฐานเดิมของครูและโรงเรียนแล้ว ยังเป็นการปลุกพลังของการมีส่วนร่วมเพื่อขับเคลื่อนนโยบายไปพร้อมกันด้วย
(2) การสร้างระบบคลังความรู้เพื่อขับเคลื่อนนโยบาย ควรมีระบบ ICT ฐานข้อมูล หรือเว็บไซต์รองรับ Clip VDO ในทุกการเสวนา ทุกปาถกฐา ทุกเทคนิควิธีหรือเคล็ดลับของการพัฒนาคุณภาพการศึกษา เพื่อให้เป็นมหกรรมหรือนิทรรศการ “ค้างปี” ใครสนใจเมื่อไรก็สามารถเข้ามาศึกษาหาความรู้ได้ทุกที่ ทุกเวลา

-------------------------------