หน้าเว็บ

วันจันทร์ที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

ผลประชุมทางไกลกับ20เขตนำร่อง เรื่อง แผนปรับปรุงคุณภาพโรงเรียน

ผลประชุมกับ ผอ.สพท.20 เขต ในโครงการปฏิรูปการเรียนรู้สู่ผู้เรียน                         ผ่าน VDO CONFERENCE
พิทักษ์ โสตถยาคม

วันพฤหัสบดีที่ 5 กุมภาพันธ์ 2558 เวลาประมาณ 08.00-09.00 น. คณะทำงานติดตามการดำเนินการตามนโยบาย รมว.ศธ. ได้ประชุมทางไกลด้วยระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ เรื่อง School Improvement Plan ร่วมกับ ผอ.สพท. 20 เขต ในโครงการปฏิรูปการเรียนรู้สู่ผู้เรียน มีสาระสำคัญ ดังนี้


ประธานคณะทำงาน (รศ.ประภัทร นิยม) แจ้งผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและผู้อำนวยการโรงเรียนในโครงการปฏิรูปการเรียนรู้สู่ผู้เรียนว่า การประชุมครั้งนี้จะเป็นการขอหารือเรื่องข้อเสนอของโรงเรียนเกี่ยวกับการใช้งบเงินอุดหนุนรายหัวเพื่อพัฒนาคุณภาพโรงเรียน ที่จะช่วยให้มีการพัฒนาที่ส่งผลถึงคุณภาพผู้เรียนอย่างแท้จริง ดังนั้น จึงจะขอให้เขตและโรงเรียนเสนอตัวเลขที่เป็นจริง สำหรับใช้ในเรื่องที่สำคัญจำเป็นต่อการยกระดับคุณภาพผู้เรียน ซึ่งจะนำไปสู่การพิจารณากันต่อไปว่าควรจะเพิ่มงบเงินอุดหนุนรายหัวเท่าใด


ผู้แทนสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาได้แสดงความคิดเห็นต่อประเด็นงบประมาณปี 2558 ที่จะขอให้มีการปรับเปลี่ยนการสนับสนุนงบประมาณ ดังนี้

สพป.ตราด ระบุว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการระดมความคิดว่า งบเงินอุดหนุนรายหัวที่เหมาะสมควรเป็นเท่าใด จะใช้ในการจัดจ้างอัตราจ้างเป็นเงินเท่าใด ซึ่งภายในหนึ่งวันหลังจากการประชุมครั้งนี้ก็สามารถนำเสนอตัวเลข ที่ต้องการ และสามารถตอบโจทย์เรื่องคุณภาพผู้เรียนได้


สพป.ลำปาง เขต 3 ระบุข้อเสนอ 2 ส่วน ส่วนแรก จะขอรับการสนับสนุนงบเงินอุดหนุนรายหัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 25 ส่วนที่สอง งบสนับสนุนบุคลากรธุรการควรให้ตามสัดส่วน หรือตามความเป็นจริง จะทำข้อตกลงกับโรงเรียนเพื่อให้ได้คุณภาพที่ดีขึ้น โดยกำหนดระยะเวลา ตัวชี้วัดได้แก่ ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน คุณภาพผู้เรียนด้านอื่น (ความดี ความสุข ความเป็นพลเมืองดี ทักษะศตวรรษที่ 21) ซึ่งจะต้องใช้เครื่องมือวัดผลอย่างหลากหลาย

สพป.ระยอง เขต 2 ระบุข้อเสนอ 3 ส่วน ได้แก่ (1) ขอรับการสนับสนุนค่าสาธารณูปโภคแยกออกมาต่างหาก ซึ่งโรงเรียนขนาดเล็กมีค่าใช้จ่ายต่อหัวสูงกว่า ดังนั้น จึงขอเพิ่มเป็น 600 บาท/คน/ปี (2) ขอเพิ่มงบเงินอุดหนุนรายหัว 25% (3) ของบสนับสนุนการพัฒนาครูเป็น 15,000 บาท/ คน/ ปี ให้ครูนำไปใช้พัฒนาตนเอง โดยให้ครูทำ Individual Development Plan ตามความจำเป็นของครู ซึ่งสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาจะให้โรงเรียนจัดทำแผนการใช้งบประมาณและพิจารณาดูว่าเป็นแผนการทำงานที่ส่งผลต่อคุณภาพหรือไม่ แล้วทำ MOU และเขตพื้นที่ติดตามผลเป็นระยะตามข้อตกลง MOU ส่วนการพัฒนาครูจะติดตามจาก ID plan เมื่อดำเนินการเช่นนี้คาดวังได้ว่าผลผลิตที่จะดีขึ้น ทั้งเด็กเป็นคนดีมากขึ้น เป็นพลเมืองดี มีทักษะศตวรรษที่ 21 มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนที่สูงขึ้น ใน 3 ด้านด้านวิชาการ วิชาชีพ และวิชาชีวิต ทั้งนี้ จะกำหนดตัวชี้วัดที่ชัดเจนและส่งให้ผู้เกี่ยวข้องได้รับทราบ

สพป.อำนาจเจริญ ระบุว่า ขอรับการสนับสนุนงบประมาณที่นอกเหนือจากงบเงินอุดหนุนรายหัว เพื่อใช้ในการพัฒนาตามความจำเป็นของแต่ละโรงเรียน โรงเรียนละ 1,000,000 บาท (หนึ่งล้านบาท) เพื่อใช้เป็นค่าสาธารณูปโภค ค่าจ้างบุคลากรพิเศษ เช่น ครูต่างประเทศ เพราะปัจจุบันทั้ง 15 โรงเรียน ไม่มีครูต่างประเทศ นอกจากนั้น จะให้ครูมีเวลาจัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้มากขึ้น ซึ่งได้บอกความต้องการนี้และแสดงความคิดเห็นในทุกเวทีว่า ต้องการให้มีเจ้าหน้าที่ธุรการการเงินพัสดุ มาทำงานแทนครู รวมทั้งต้องการครูบรรณารักษ์ที่จะปรับปรุงห้องสมุดให้เป็นห้องสมุดมีชีวิต

สพป.นครราชสีมา เขต 1 ระบุว่า งบเงินอุดหนุนรายหัวที่ได้รับ จะขาดในส่วนค่าสาธารณูปโภค การพัฒนาการเรียนการสอน สื่อวัสดุอุปกรณ์ ครูพี่เลี้ยงเด็กปฐมวัย ครูต่างประเทศ ดังนั้น จึงขอเสนอให้เพิ่มงบเงินอุดหนุนรายหัว 100% ซึ่งประถมศึกษาควรเพิ่มเป็น 4,000 บาท มัธยมศึกษาเพิ่มเป็น 5,000 บาท ซึ่งจะทำให้   การเรียนการสอนดีขึ้นและจะเห็นผลที่เด็ก

สพป.ขอนแก่น เขต 1 ระบุว่า ขอให้ปรับงบเงินอุดหนุนรายหัวระดับปฐมวัย ประถมศึกษา และมัธยมศึกษา จาก 1,700 บาท 1,900 บาท และ 3,500 บาท เป็น 3,000 บาท 5,000 บาท และ 7,000 บาท ตามลำดับ เหตุผลคือ ปัจจุบันไม่พอจ่ายเพราะใช้จ่ายค่าสาธารณูปโภคด้วย ขอเสนอให้สนับสนุนค่าใช้จ่ายค่าสาธารณูปโภค แยกออกจากงบเงินรายหัวในปีงบประมาณต่อไป ส่วนจะสนับสนุนเท่าไรจึงจะเหมาะสมคงจะได้พิจารณากันในโอกาสต่อไป นอกจากนั้น ควรสนับสนุนให้มีเจ้าหน้าที่ธุรการประจำแต่ละโรงเรียน โรงเรียนละ 1 คน อาจจัดสรรงบประมาณให้โรงเรียนดำเนินการจ้างเองก็ได้ ซึ่งก็เป็นไปตามหลักโรงเรียนนิติบุคคล เพราะปัจจุบันเจ้าหน้าที่ธุรการที่จัดให้ 1 คน ต่อหลายโรงเรียน ทำให้งานที่ทำไม่ต่อเนื่อง ขณะที่เจ้าหน้าที่ธุรการไปทำงานโรงเรียนอื่น ครูผู้สอนก็ต้องทำแทนเจ้าหน้าที่ธุรการ ส่วนการจัดสรรงบเงินอุดหนุนควรจัดสรรงบประมาณให้โรงเรียนให้ครบทั้ง 100% ของงบเงินอุดหนุนที่โรงเรียนจะได้รับ เพราะปัจจุบันกว่างวดที่สองจะจัดสรรมาก็เข้าสู่ภาคเรียนที่ 2 ในเดือนธันวาคมแล้ว

สพม. เขต 28 ระบุว่า จะขอให้โรงเรียนนำร่องในโครงการปฏิรูปการเรียนรู้สู่ผู้เรียนเขียนโครงการพิเศษ เพื่อยกระดับคุณภาพ ทำเป็นแผนปฏิบัติการรายโรงเรียน เสนอของบประมาณเพิ่มเติม ซึ่งจะมีการกำหนดตัวชี้วัด การติดตามประเมินผลให้ชัดเจน ส่วนหากมีการเพิ่มงบเงินอุดหนุนรายหัว ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ดี เพราะปัจจุบันไม่เพียงพอ

สพม. เขต 22 ระบุว่า ขอให้จัดสรรงบประมาณให้โรงเรียนขนาดเล็กเป็นงบเงินอุดหนุนทั้งหมด เพื่อใช้จ่ายในทุกกิจกรรมของโรงเรียน ไม่ว่าจะเป็น จ่ายค่าสาธารณูปโภค จ้างเจ้าหน้าที่ธุรการ จ้างเจ้าหน้าที่บรรณารักษ์ งบพัฒนาด้าน ICT รวมทั้งงบก่อสร้างด้วย เพื่อให้การบริหารจัดการในโรงเรียนขนาดเล็กมีความสะดวกในการบริหารจัดการ

สุราษฏร์ธานี เขต 1 ระบุว่า ได้มีการพูดคุยปรึกษากันหลายครั้งแล้วในเรื่องงบประมาณ อยากให้มีการคืนครูให้นักเรียนจริงๆ ให้มีการจัดจ้างครูพี่เลี้ยง เจ้าหน้าที่ธุรการ ครูต่างประเทศ โดยจะทำแผนการดำเนินการเป็นรายโรง เพื่อขอรับการสนับสนุน รวมทั้งจะแสดงให้เห็นด้วยว่าจะใช้เครื่องมือใดในการพัฒนาครูและนักเรียน

อุบลราชธานี เขต 3 ระบุว่า  ขอเสนอให้ปรับงบเงินอุดหนุนรายหัวจากเดิมเป็น 3,500 บาท 5,000 บาท และ 7,000 บาท และขอให้แยกการจัดสรรเป็นงบบุคลากร งบห้องปฏิบัติการต่างๆ ทั้งนี้จะนำเสนอเป็นรายโรงเรียน


ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ ได้เชื่อมโยงภาพการจัดการใหม่ของการปฏิรูปการศึกษา 3 ระบบ ได้แก่ (1) ระบบการบริหารใหม่ (2) ระบบทรัพยากรใหม่ และ(3) ระบบการจัดการเรียนรู้ใหม่ ซึ่งระบบการบริหารจัดการแบบใหม่ที่จะช่วยส่งเสริมให้ผู้บริหารโรงเรียนและครู อาทิ ระบบ coaching ระบบการจูงใจ ระบบลดภาระงานธุรการของครู ส่วนระบบทรัพยากรใหม่ ที่จะสนับสนุนให้โรงเรียน จะต้องโยงกับ 6 เรื่องที่เป็นความรู้สากล ที่ทำให้เกิด 6 เรื่องสำคัญนี้แล้ว จะการจัดการศึกษาจะมีประสิทธิภาพสูง ซึ่งการคิดเรื่องทรัพยากรที่จะเพิ่มขึ้น จะต้องเชื่อมต่อภาพ การเปลี่ยนแปลงของเด็กที่ส่งผ่านการปฏิบัติของครูได้ ในที่สุดก็ต้องมีงานวิจัยที่ศึกษาลงรายละเอียดสามารถเคาะออกมาเป็นบาท/สตางค์ว่า จะต้องใช้ค่าใช้จ่ายเท่าใด เช่นเดียวกับ 30 บาทรักษาทุกโรค เพื่อทำให้ 6 เรื่องนี้เกิดขึ้นจริง

สำหรับระบบการเรียนรู้ใหม่ จะต้องทำให้เกิด 6 เรื่องสำคัญ ได้แก่ (1) ครูมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับเด็ก (2) ครูทำงานกับครอบครัวของเด็กได้ หรือเปิดพื้นที่ให้ผู้ปกครองเข้ามามีส่วนร่วม (3) การเรียนรู้จะไม่เรียนแบบบอกความรู้ แต่จะท้าทาย ให้ปฏิบัติจริง เน้นการอภิปราย (4) ครูมีวิธีการมองเด็กให้ออก สามารถช่วยเหลือเด็กที่มีความต้องการพิเศษได้ (5) ครูมีสมรรถนะในเรื่องการวัดผลเพื่อพัฒนาผู้เรียน โดยใช้การสังเกตไปจนถึงสามารถออกข้อสอบได้อย่างดี และ (6) มีระบบเพื่อนช่วยเพื่อน หรือ peer tutoring ดังนั้น จะต้องไม่เพียงพูดคุยเพียงเรื่องทรัพยากร ต้องต่อภาพให้เป็นเชิงระบบ  และคิดต่อไปว่าเมื่อได้ทรัพยากรแล้วจะจัดการอย่างไรให้มีประสิทธิภาพ คุณภาพ จะต้องการสิ่งที่จำเป็นอื่นๆ ด้วยหรือไม่ อาทิ ความรู้ ทักษะ หรือการมีส่วนร่วมของกรรมการสถานศึกษา ฯลฯ


ประธานคณะทำงาน (รศ.ประภัทร นิยม) ได้สรุปผล ให้ข้อสังเกต และนัดหมายการดำเนินงานต่อไป ดังนี้

1. ให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาแต่ละเขตสนับสนุนและส่งเสริมให้โรงเรียนทั้ง 15 โรงเรียน จัดทำและนำเสนอแผนการดำเนินงานเป็นรายโรงเรียน ตามความจำเป็นอย่างชัดเจน เกี่ยวกับงบเงินอุดหนุนรายหัวที่จะใช้ในปีงบประมาณ 2558 (ที่เหลืออยู่ประมาณ 8 เดือน) แสดงให้เห็นว่าต้องการเท่าใด และผลลัพธ์ที่จะเกิดกับตัวเด็กจะเป็นอย่างไร จำเป็นต้องแสดงตัวชี้วัดความสำเร็จ (Key Performance Indicator: KPI) ที่ผู้เรียนอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน และคุณภาพผู้เรียนด้านอื่นๆ ซึ่งขอให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษารวบรวมและจัดส่งข้อเสนอของโรงเรียนในโครงการปฏิรูปการเรียนรู้สู่ผู้เรียนส่งให้สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา สพฐ. ภายในสัปดาห์หน้า (วันพุธที่ 11 กุมภาพันธ์ 2558เพราะจะนำข้อสรุปที่ได้รับจาก 20 เขตพื้นที่ เข้าสู่การพิจารณาของคณะทำงานติดตามการดำเนินงานตามนโยบาย รมว.ศธ. ในการประชุมครั้งต่อไปในวันพฤหัสบดีที่ 12 กุมภาพันธ์ 2558)

2. ในวันพุธที่ 11 กุมภาพันธ์ 2558 ขอให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและโรงเรียนแต่ละโรงเรียนเสนอมาด้วยว่า จะขอให้ลด/ หยุดโครงการจากส่วนกลางโครงการใดบ้าง ซึ่งเป็นโครงการที่เขตและโรงเรียนเห็นว่า ไม่ต้องการเสียเวลาไปกับโครงการอะไรบ้าง ซึ่งถ้าได้ทราบจะช่วยให้ตัดสินใจของหน่วยงานส่วนกลางที่จะปรับเปลี่ยนงบประมาณโครงการนั้นๆ มาใช้สนับสนุน/ เสริมการดำเนินงานในส่วนที่โรงเรียนและเขตพื้นที่จัดทำข้อเสนอมา

3. จากการที่ประธานคณะทำงาน (รศ.ประภาภัทร นิยม) ได้ไปดูคุณภาพห้องเรียนของโรงเรียนในโครงการปฏิรูปการเรียนรู้สู่ผู้เรียน พบว่า

3.1 แต่ละโรงเรียนยังไม่ได้เริ่มต้นดำเนินการนัก กรณีที่พบเห็นคือ ครูสอนตามหนังสือ และเมื่อสอบถามว่า เด็กกำลังเรียนรู้อะไร กำลังสอนนักเรียนให้รู้เรื่องใด ตอบได้เพียงว่าสอนถึงหน้าใดของหนังสือเรียน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าครูไม่ได้ทำแผนการสอน และจะคาดหวังไม่ได้เลยว่า จะเห็นผลการเปลี่ยนแปลงที่ตัวเด็ก อย่างที่ทุกเขตพื้นที่ระบุตัวชี้วัดมานั้นได้อย่างไร เพราะครูไม่รู้จะวัดผลอะไร ที่ใด ดังนั้น ผู้บริหารโรงเรียนจะต้องเข้าไปดูแลใกล้ชิด ให้รู้ ให้เห็นว่า ครูสอนอะไร ทำอะไร อย่างไร ผู้อำนวยการโรงเรียนต้องเป็นผู้นำ “เบอร์หนึ่ง (number one)” ต้องเดินดูห้องเรียนจริงจัง ซึ่งไม่จำเป็นต้องรอศึกษานิเทศก์  หรือทีมโค้ชไปช่วย

          3.2 สภาพการจัดการเรียนการสอนด้วยระบบการเรียนรู้ทางไกลผ่านดาวเทียม พบว่า ครูให้นักเรียนเรียนพลศึกษาผ่านโทรทัศน์ ทั้งๆ ที่ตัวครูเองต้องการพานักเรียนไปเรียนพลศึกษาที่สนามของโรงเรียน แต่ก็ไม่กล้าพาออกไป เพราะบอกว่าเป็นนโยบายของ สพฐ. ที่กำหนดให้ใช้ให้เรียนจากรายการโทรทัศน์ทางไกลผ่านดาวเทียม ประเด็นเช่นนี้สะท้อนให้เห็นถึงระดับความเอาใจใส่ในคุณภาพการจัดการเรียนการสอนที่แท้จริงของผู้บริหารโรงเรียน ดังนั้น จึงควรเน้นย้ำให้โรงเรียนได้ใช้วิจารณญาณในการใช้อย่างเหมาะสมและคุ้มค่า

          3.3 สภาพการจัดการเรียนรู้ของโรงเรียนที่มีห้องเรียนขนาดเล็ก พบว่า ห้องเรียนมีกิจกรรมไม่หลากหลาย ครูสอนอยู่ในโหมดแบบเดิม ใช้การบอก อธิบาย ถึงแม้ว่าจะตั้งใจสอนก็ตาม ควรเปิดพื้นที่ให้ผู้เรียนได้แสดงความคิด มีกิจกรรมที่ท้าทาย มีพื้นที่การเรียนรู้ที่จะทำให้นักเรียนและครูได้ใช้ศักยภาพอย่างเต็มที่ ซึ่งการเปิดพื้นที่เช่นนี้เป็นสิ่งที่ต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในห้องเรียนอย่างแท้จริง 
   
มติที่ประชุม

ให้ ผอ.สพท.ทั้ง 20 เขต สนับสนุนให้โรงเรียนดำเนินการ 2 ส่วน ดังนี้

1. จัดทำแผนปรับปรุงคุณภาพโรงเรียน (School Improvement Plan) เป็นรายโรง แล้วเขตนำเสนอมายัง สพฐ. (สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา) ภายในวันพุธที่ 11 กุมภาพันธ์ 2558 ซึ่งแผนฯ ที่จะจัดทำขึ้นนี้ ขอให้ใช้กรอบความพอเพียง (หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง) และเมื่อเสนอใช้งบประมาณในรายการใด จะต้องอธิบายด้วยว่าจะนำสู่ผลและคุณภาพแท้จริงได้อย่างไร จะออกแบบการวัดผลเพื่อสะท้อนคุณภาพที่โรงเรียนระบุไว้ในแผนฯ นั้นได้อย่างไร รวมทั้งเมื่อจัดทำแผนฯ เสนอมาแล้ว จะถือเป็น commitment ของผู้เกี่ยวข้อง ที่จะเอาใจใส่ทำให้เกิดคุณภาพแท้จริง ซึ่งในการอธิบายว่าแผนปรับปรุงคุณภาพโรงเรียนจะตอบโจทย์คุณภาพเพียงใดนั้น อาจพิจารณาแผนฯ โยงกับ 6 เรื่องสำคัญของโรงเรียนดีมีประสิทธิภาพต่อไปนี้แล้วหรือไม่ ได้แก่  (1) ครูมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับเด็ก       (2) ครูทำงานกับครอบครัวของเด็กได้ หรือเปิดพื้นที่ให้ผู้ปกครองเข้ามามีส่วนร่วม (3) การเรียนรู้จะไม่เรียนแบบบอกความรู้ แต่จะท้าทาย ให้ปฏิบัติจริง เน้นการอภิปราย (4) ครูมีวิธีการมองเด็กให้ออก สามารถช่วยเหลือเด็กที่มีความต้องการพิเศษได้ (5) ครูมีสมรรถนะในเรื่องการวัดผลเพื่อพัฒนาผู้เรียน โดยใช้การสังเกตไปจนถึงสามารถออกข้อสอบได้อย่างดี และ (6) มีระบบเพื่อนช่วยเพื่อน หรือ peer tutoring  

2. จัดทำข้อเสนอว่า จะขอให้ สพฐ./ ศธ. ลดหรือหยุดโครงการจากส่วนกลางโครงการใดบ้าง ซึ่งถ้าลดหรือหยุดโครงการที่ส่งผลกระทบเชิงลบต่อคุณภาพการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนแล้ว จะทำให้ครูและผู้บริหารโรงเรียนสามารถดำเนินการพัฒนาคุณภาพการจัดการเรียนการสอนได้อย่างเต็มที่ ต่อเนื่อง สามารถรับประกันคุณภาพของตนเองได้ โดยไม่ต้องพะวงหรือเสียเวลาไปกับโครงการเหล่านั้น ทั้งนี้ ขอให้ส่งภายในวันพุธที่ 11 กุมภาพันธ์ 2558 เช่นเดียวกัน


----------------------------