เสวนาข้อค้นพบและบทเรียนจากการพัฒนาครูด้วยระบบหนุนนำต่อเนื่อง
การเสวนาข้อค้นพบและบทเรียนจากการพัฒนาครูด้วยระบบหนุนนำต่อเนื่อง มี ผศ.ดร.เลขา ปิยะอัจฉริยะ เป็นผู้ดำเนินรายการ มีผู้ทรงคุณวุฒิร่วมสะท้อนผล 2 คน ได้แก่ ศ.สุมน อมรวิวัฒน์ และ ผศ.ดร.ไมตรี อินทรประสิทธิ์ มีผู้ร่วมเสวนาจากโครงการต่างๆ จำนวน 5 คน ได้แก่ ดร.ทรงศรี ตุ่นทอง อ.นันทนา ราชเฉลิม ดร.ไพบูลย์ เกตุแก้ว ครูนพดล ครูสิวพร และครูศรีวรรณ ซึ่งมีสาระสำคัญของการเสวนา ดังนี้
ดร.ทรงศรี ตุ่นทอง อาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฎเทพสตรี ได้กล่าวถึงข้อค้นพบของจังหวัดลพบุรีว่า
• มีนักวิจัยหลักและศึกษานิเทศก์ไปด้วยกันตลอด มี ผอ.เขตกำกับงาน รวมทั้ง ผอ.ร.ร.กำกับงานในโรงเรียน
• ใช้การเยี่ยมชั้นเรียน ศึกษาโรงเรียนต้นแบบ ฟัง คิดร่วมกันในเป้าหมายทักษะที่เน้น ทำ AAR ทุกครั้ง
• เริ่มต้นครูใช้แนวทางพัฒนา 1-2 ทักษะ และเรียนรู้ร่วมกัน
• วิธีการโค้ชที่ใช้กับครูแต่ละกลุ่มแตกต่างกัน บางกลุ่มง่ายต่อการเปลี่ยนแปลง สามารถใช้คำถามกระตุ้นก็เกิดการเรียนรู้ได้ บางกลุ่มใช้เวลานานและต้องต่อเนื่อง ข้อค้นพบ โรงเรียนขนาดเล็กทำชุมชนแห่งการเรียนรู้ง่ายกว่าโรงเรียนขนาดใหญ่ และทำ peer coach ได้ง่ายกว่า
• โค้ชต้องฝึกและอดทนมาก ถ้าครูไม่เปลี่ยน จำเป็นต้องใช้ทีมโค้ช ต้องสะท้อนสิ่งที่เกิดขึ้นและแก้ปัญหาร่วมกัน
• ครูปรับเปลี่ยน ครูมีสัมพันธภาพกับเด็กดีขึ้น ครูมีสุขกับการสอน เด็กสุขกับการเรียน
• ครูมีรูปแบบการจัดการเรียนรู้ที่ส่งเสริมทักษะศตวรรษที่ 21 อย่างน้อย 2 ทักษะต่อครู 1 คน (ในโครงการมี 10 ทักษะ)
• ข้อคิด โค้ชต้องชัดในทักษะ ในเป้าหมาย และการวัดประเมินก็ต้องชัดเจน โค้ชต้องมีทักษะการสื่อสารที่ดี โค้ชต้องศึกษาข้อมูลโรงเรียนและข้อมูลพื้นฐานครูก่อนไปโค้ช อาทิ ความสนใจ ภูมิหลังและบริบท ซึ่งศึกษานิเทศก์ช่วยได้มาก
• สิ่งที่เห็นการเปลี่ยนแปลงอีกส่วนคือ ผู้บริหารโรงเรียนเป็นกัลยาณมิตรนิเทศครู ใช้ PDCA ในการทำงาน และพูดคุยกับครูมากขึ้น
• ผลการดำเนินงานพบว่า เด็ก ร้อยละ 75 มีทักษะศตวรรษที่ 21 แต่การคิดอย่างมีวิจารณญาณ และการใช้ ICT ในการสืบค้น บรรลุเพียง ร้อยละ 50
• โค้ชได้เรียนรู้ทักษะและวิธีการโค้ช โค้ชต้องใจกว้าง อดทน เป็นผู้รับฟังที่ดี พบว่าภาษากายสำคัญกว่าภาษาพูดต้องสนับสนุนเป็นมิตรต่อครู ต้องใช้สัมพันธภาพเชิงเพื่อน ต้องให้ครูเปิดใจยอมรับ โค้ชได้ปรับเปลี่ยนวิธีการจัดการเรียนรู้ของโค้ช ศึกษานิเทศก์ได้เปลี่ยนไปเป็นใจเย็นลง ลดการสั่งการ ใช้การเจาะลึกมากขึ้น ซึ่งรู้มาจากการสะท้อนของครูและศึกษานิเทศก์เอง
นางนันทนา ราชเฉลิม ศึกษานิเทศก์ สพป.เลย เขต 2 สรุปข้อค้นพบจาก การดำเนินการของจังหวัดเลย 4 เรื่อง ดังนี้
1. ตัวโค้ชเป็นเครื่องมือสำคัญมากในการทำงานครั้งนี้ โค้ชจึงต้องเป็นผู้ฟังที่ดี ขจัดอุปสรรคในความคิด จากการเข้าร่วมโครงการนี้ทำให้เห็นว่าศึกษานิเทศก์ควรได้มีโอกาสในการพัฒนาตนเอง เพิ่มคุณภาพการทำงานของตัวศึกษานิเทศก์เองด้วย
2. ครูต้องการนิเทศงานวิชาการมากกว่าเรื่องอื่น โดยเฉพาะการนิเทศเพื่อปลุกจิตวิญญาณครูให้ฮึกเหิม หากครูได้รับการเชิดชูเกียรติจะถามหาศึกษานิเทศก์ ปัจจุบันทำงานต่อเนื่องไม่ได้นัก เพราะโครงสร้างการแบ่งงานของศึกษานิเทศก์เป็นงาน แต่ไม่มีกลุ่มสาระการเรียนรู้ให้ดูแลรับผิดชอบ ศึกษานิเทศก์จึงควรได้รับการพัฒนาทักษะการนิเทศด้วย
3. ผู้บริหารระดับเขตควรต้องเป็นโค้ช เพราะถ้าผู้มีอำนาจโดยตำแหน่งเข้าไปใกล้ชิดกับพื้นที่ทำงานของครู ครูจะมีขวัญกำลังใจเพิ่มขึ้นมาก ดังนั้น ผอ.เขตและรอง ผอ.เขตควรใช้การโค้ชเป็นเครื่องมือในการทำงานด้วย
4. ครูดีมีอยู่ทุกพื้นที่ เมื่อเราลงไปยังพื้นที่จะเห็นว่าครูดีมีอยู่มาก ยิ่งถ้ามุ่งค้นหาก็จะยิ่งพบเจอ
บทเรียนที่ได้คือ น่าจะพัฒนาศึกษานิเทศก์ทุกคนในเรื่องการโค้ช และใช้พื้นที่ของหลายโรงเรียนในโครงการเป็นแหล่งเรียนรู้
ดร.ไพบูลย์ เกตุแก้ว ผอ.โรงเรียนเบญจมเทพอุทิศจังหวัดเพชรบุรี นักเรียน 3,000 กว่าคน ครู 200 คน ครูอาวุโสเปลี่ยนยาก ต้องใช้คนรุ่นใหม่ในการเปลี่ยน โครงการนี้มีครูนำร่อง 16 คน
• ไม่มีศึกษานิเทศก์เขตพื้นที่การศึกษาไปช่วยเลย
• มี coacher ได้แก่ (1) ครูต้นแบบ (2) ผู้เชี่ยวชาญ (คณาจารย์ มรภ.เพชรบุรี) ต้องให้ความรู้มาช่วย ถ้าไม่ให้เดินไม่เป็น (3) นักวิจัย ผู้บริหารเป็นนักวิจัย ผู้บริหารโรงเรียนมีความสำคัญ กระบวนการใช้ 3 ตัวคือ คิดเป็นระบบ km/ plc และจิตตปัญญาศึกษา ครูมีหน้าที่ตั้งคำถามให้เด็กคิดเป็นระบบ ครูทำ PLC ทุกวันพุธ แลกเปลี่ยนสะท้อนกลับร่วมกัน ได้ output คือ ครูนักเรียนเรียนรู้พัฒนาตนเอง แบบ PDCA เด็กเป็นคนดำเนินการเอง ทักษะนักเรียนในศตวรรษที่ 21 คือ เด็กคิดเป็นระบบ คิดเชิงเหตุและผล วิเคราะห์วิจารณ์โดยใช้เหตุผล และเชื่อมโยงความเป็นเหตุผล ทำงานเป็นทีม มีความเอื้ออาทร ใฝ่รู้ใฝ่เรียน (เข้าสืบค้น/มีห้องสมาร์ทคลาสรูม) คิดอย่างมีวิจารณญาณ เด็กใช้ Problem-based Learning (PBL) แยกหอยแครง เครื่องตัดใส้ขนมเปี๊ยะ เครื่องผสมเชื้อเห็ด ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนดีขึ้นมากๆ ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงขึ้นทุกวิชา
• เมื่อครูคุยกันจะพบข้อบกพร่อง และช่วยกันแก้ไข เช่น ลดเวลาทำการบ้านของนักเรียน คุยกันมากขึ้น ได้การทำงานเป็นทีม ได้คุยถึงนักเรียน ได้ช่วยกันแก้ปัญหา ช่วยกันจัดกิจกรรม แล้วนำมาบูรณาการแผนของตนเอง เมื่อคุยกันเกิดการเปลี่ยนความคิดมากขึ้น รวมทั้งมีการคุยกันในกลุ่ม line และกลุ่ม facebook
• เมื่อเปลี่ยนวิธีสอน เด็กบอกว่าสนุกกว่าเดิม นักเรียนไม่ได้นั่งอยู่ที่โต๊ะเช่นเดิม ทำงานกลุ่ม มีการทำงานนอกห้องเรียน มีกิจกรรมมากขึ้น มีวารสาร มีการถ่ายทำ มีการทำละครที่ออกแบบเอง
• เมื่อครูกลับมาคุยกัน ครูจะมีรอยยิ้มมากขึ้น เพราะนักเรียนยิ้มกับเรามากขึ้น
• การจัด PLC แรกเริ่มเดิมทีจะมี ผอ.และนักวิจัย ระยะต่อมาครูจึงนัดคุยกันเอง อาทิ จะออกแบบการวัดผลอย่างไร จะออกแบบกิจกรรมอย่างไร
• บทเรียนที่ได้คือ เมื่อครูเรียนรู้ที่จะแก้ปัญหาร่วมกัน ก็ทำให้ได้เรียนรู้หลายอย่าง ดังนั้น ในการแก้ปัญหาควรแก้ปัญหาร่วมกันกับเพื่อนครู เพราะดีกว่าคิดแก้ปัญหาเพียงคนเดียว
ครูสิวพร จ.ภูเก็ต เป็นครูอยู่โรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษา อยู่ที่อำเภอป่าตอง สอนวิทยาศาสตร์ พบว่าเด็กย้ายเข้าออกบ่อย “หน้า low หาย หน้า high มา” ข้อค้นพบที่พบจากการร่วมโครงการคือ
• สิ่งที่เปลี่ยนแปลงเมื่อเข้าร่วมโครงการ คือ เปลี่ยนเป้าหมายการเรียนการสอน แต่เดิมเน้นความรู้และสอนแต่เนื้อหา เมื่อเข้าร่วมโครงการ อาจารย์มหาวิทยาลัยให้เสนอปัญหา และได้เติมความรู้ และเทคโนโลยีทางการศึกษา แต่ก่อนให้เด็กทดลองในหนังสือเรียน จึงเปลี่ยนเป็นให้เด็กคิดนอกกรอบ เช่น ให้เรียนเรื่องการดูดกลืนแสง ได้ให้นักเรียนตั้งคำถามสิ่งที่สงสัย ได้ข้อคำถามมากมาย คิดได้หลากหลาย และอยากทดลองสีดำในการดูดความร้อน กลุ่มหนึ่งใช้เสื้อสีดา อีกกลุ่มใช้น้ำสีในการทดลอง อีกกลุ่มทำตามบทเรียนในหนังสือ สสวท. ใช้กระดาษพันเทอร์โมมิเตอร์ บ้างใช้ลูกอม/ดินน้ำมัน สุดท้ายนำผลการทดลองมาอภิปรายกัน ได้ทักษะ 3R7C ได้แลกเปลี่ยนกันด้วยวิธีการนำเสนอแตกต่าง เด็กไม่เก่งก็กล้าแสดงออกจากสิ่งที่ทำเอง
• อาจารย์มหาวิทยาลัยบอกว่า แผนการสอนหนึ่งๆ อาจไม่ได้ครบทุกทักษะ แต่หากสอนครบหน่วยการเรียนรู้ก็จะได้ครบทุกทักษะไปเอง
• ผลที่พบคือ มีความสุขทั้งครูและนักเรียน
• บทเรียนที่ได้รับในครั้งนี้ดีมากที่ได้มีการทำ PLC ครูต้องเปิดใจที่จะเปลี่ยนแปลงตนเอง ไม่ปิดกั้นตนเอง ยอมรับฟังความคิดเห็นผู้อื่น ที่โรงเรียนทำ PLC ทุกวันศุกร์ การทำ PLC มี 2 ส่วน คือ cognitive coaching และ peer coaching มีนักวิจัยเข้าไปสังเกต ให้ครูสะท้อนคิด และเติมเต็ม
ครูศรีวรรณ จ.สมุทรสาคร เป็นโรงเรียนสังกัดเทศบาล “โรงเรียนบ้านป่องเหลี่ยม” เปิดสอนชั้นอนุบาลถึง ม.6 นักเรียน 1,500 คน ถ่ายโอนไปสังกัด อบจ. ไม่มีศึกษานิเทศก์ แต่สิ่งที่ได้รับจาก มหาวิทยาลัยมหิดล คือ มีคนดูแล เหมือนมีศึกษานิเทศก์ มีคนชี้แนะ ที่ผ่านมาเราอยู่ในโลกของเรา มีสื่อวัสดุอุปกรณ์พร้อม แต่ไม่ได้ตอบโจทย์ศตวรรษที่ 21 เลย การได้ทำงานร่วมกับอาจารย์มหาวิทยาลัยมหิดลจึงได้มีผู้ชี้นำ
• สิ่งที่เปลี่ยนคือ คิดเปลี่ยน มีทีมเวิร์ค
• ทีมงานโค้ชสำคัญมากให้ช่วยเดินถูกทิศทาง เป็นเพื่อนไม่ใช่โค้ช แนะให้ใช้คำถาม แนะว่าโครงงานที่ถูกต้องเป็นอย่างนี้ แต่สิ่งที่ครูคาใจคือ จะสอนอย่างไร ให้สร้างสรรค์ เอาอะไรมาวัดและประเมิน โค้ชก็แนะนำ ภารกิจครูแต่ละวันมีมาก แต่ถ้ามีใครสักคนมาบอกสัดนิดหนึ่งก็จะทำให้เดินไปตรงทิศตรงทาง
• ผู้บริหารโรงเรียนสำคัญมากที่สุด เพราะอยู่กับโรงเรียน
• ครูเหนื่อยมากในการทำงาน ทีมวิจัยจึงเป็นผู้รู้เชิงลึกมาขมวดให้เรารู้ และแนะให้เรารู้ว่าไปทางนี้ แนะให้ครูนำไปใช้ หาสื่อมาช่วยแนะนำ ทำให้ครูไม่เสียเวลา และเอาเวลาไปอยู่กับผู้เรียนได้มากขึ้น
ผศ.ดร.เลขา ปิยะอัจฉริยะ ให้ข้อสังเกตจากผู้ร่วมเสวนาว่า
1. กระทรวงศึกษาธิการยังไม่ได้ดูแลโรงเรียนครบทุกสังกัด แต่ถ้าไม่ใช่กระทรวงศึกษาธิการแล้วจะเป็นผู้ใด
2. โรงเรียนสามารถยืนอยู่บนขาของตนเองได้ ไม่ต้องรอนโยบายเบื้องบน เพราะรู้จักเด็กดี
ศ.สุมน อมรวิวัฒน์ กรรมการกำกับทิศทางโครงการ
• โครงการนี้เน้นการฟังมากกว่าการพูด การที่จะพัฒนาคุณภาพของครู ถ้าครูมาพบกันและมาฟังกัน ฟังที่คนอื่นพูด อย่างตั้งใจลึกซึ้ง จะเริ่มต้นด้วยจิตตปัญญาที่ฟังอย่างลึกซึ้ง ได้ฟังตั้งแต่เริ่มเสนอโครงการจนปิดโครงการ ได้รู้จักนักวิจัย 9 โครงการ ทำให้เห็นว่า ถ้าอาจารย์มหาวิทยาลัยไม่เปลี่ยนไปไม่รอด อาจารย์มหาวิทยาลัยก็ได้เรียนรู้ ได้บทเรียน และมั่นใจว่า 9 คณะจะต่อยอดในสไตล์ของตนเองได้ต่อไป
• เริ่มต้นด้วยใจเปิดใจฟังกัน และลงมือทำอย่างเต็มใจแล้ว สิ่งที่เห็นอีกอย่าง คือ การเสริมพลัง การคิดบวก เช่น ทีมลำปางบอกว่าสำเร็จด้วย 7 ใจ
• อันที่จริง Teacher Coaching ไม่ใช้วิธีสอน แต่มีกระบวนการขั้นตอนชัดเจน ไม่ได้ทำได้เฉพาะการนิเทศ ทำได้ในการพัฒนาผู้นำทางการศึกษา และผู้บริหาร โดยจะต้องเปลี่ยนสถาบันวัดไร่ขิง มาเป็นกระบวนการพัฒนาศักยภาพมนุษย์
• ที่เด่นคือ การสะท้อนคิด ที่เหมาะสมกับวัฒนธรรมองค์กร ฝึกสะท้อนคิดช่วยสร้างเจตคติที่ดี เพราะคนเราไม่มีใครชอบให้วิจารณ์ตนเอง แต่การสะท้อนคิดจะทำให้เห็นประโยชน์ของการวิจารณ์จากผู้อื่น
• แต่ละทีม 9 ทีม มีหลักการเฉพาะของตนเอง
• โครงการนี้เน้นการนิเทศฉันกัลยาณมิตร เปิดใจ ได้การนิเทศแบบกัลยาณมิตร (1) ทุกคนทุกกลุ่มมีศักยภาพในตน (มีดี) เราเชื่อว่า ถ้านิเทศอย่างกัลยาณมิตรเชื่อว่าทุกคนมีศักยาภาพในตนเอง (ความสามารถ ความรู้ และทักษะ) (2) เชื่อว่าทุกคนมีศักยภาพแตกต่างกัน ต้องยอมรับในความแตกต่างกันนั้น อาจารย์มหาวิทยาลัยรู้ทฤษฎีเยอะแต่ปฏิบัติน้อย ผู้บริหารรู้อย่างละนิดหน่อย (3) ต้องเชื่อว่านักเรียนมีจุดเริ่มต้นไม่เท่ากัน แต่ต้องได้รับการพัฒนาสูงสุดในศักยภาพในตน พัฒนามนุษย์ที่ให้ชีวิตไม่เหมือนเดิม (4) เป็นโครงการที่ทำแล้วรู้สึกปลอดภัย ไม่มีอำนาจบีบคั้น ปราศจากอำนาจ ไว้ใจนักวิจัย และไว้ใจผู้นิเทศ (สำเร็จ) (5) วิธีการสั่งการแล้วทิ้งใช้ไม่ได้ ใช้กระบวนการทางบวก พูดคุย และตั้งใจฟัง เป็นสูตรสำเร็จของการนิเทศเลย ศึกษานิเทศควรพูดน้อยฟังมาก (6) ผู้วิจัยต้องทำ Needs Assessment ต้องเตรียมการใหม่ ต้องปรับ ทำใหม่ อาจารย์สุมนเป็นกรรมการกำกับทิศต้องฟัง ห้ามขาด ถ้ากลับไปสอนนิเทศที่จุฬาฯอีกครั้ง ก็จะสอนได้ดีกว่าเดิมเยอะเป็นแน่ รู้สึกมีความสุขมากในการเรียนรู้จากโครงการนี้ (7) ความเชื่ออีกคือ “หนุนนำต่อเนื่อง” หนุนเพื่อเสริมพลังทางบวก ต้องต่อเนื่อง อย่าสั่งแล้วทิ้ง สกว.จัดงบประมาณอย่างฉลาด ละเอียด กรรรมการกำกับทิศก็ตาม นักวิจัยได้ lesson learned เชื่อว่าแม้ สกว.ไม่ให้ทุน และ สพฐ.ไม่ได้ให้การสนับสนุนต่อ ก็เชื่อว่าทุกคนจะมีกำลังใจทำต่อไป
ผศ.ดร.ไมตรี อินทรประสิทธิ์ คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
• การฟัง ต้องฟังมากที่สุด
• Teacher Coaching ไม่ใช่วิธีสอน แต่เป็นกระบวนการ
• ต้องสะท้อนคิด (Reflection)
• เรื่องเรียนรู้ร่วมกันเป็นหัวใจสำคัญ เพื่อการเปลี่ยนแปลง เช่นเดียวกับที่ญี่ปุ่นใช้การฟังและสะท้อนคิด เขาทำมา 140 ปี เขาเจอปัญหาครูสอนไม่เป็น แต่สุดท้ายก็เห็นพลังแห่งการเรียนรู้ร่วมกัน
• คำว่า “นิเทศ” ไม่ต้องเปลี่ยนก็ได้ ญี่ปุ่นเน้น “เรียนรู้ร่วมกัน” แต่ต้องหาพื้นที่เรียนรู้ร่วมกันให้เจอ ทุกฝ่ายมีพื้นที่ทำงานและเรียนรู้ร่วมกันต่อเนื่อง สิ่งสำคัญคือ ความเชี่ยวชาญภาคปฏิบัติ
• ที่ผ่านมาเป็นระบบจากบนลงล่าง ความหมายของการนิเทศ จะได้สั้นสุด ทำอะไรกับครูก็ได้ให้ถึงเด็ก เอาอำนาจตามตัวละครไปถึงเด็กเร็วๆ ให้ไปร่วมกัน ญี่ปุ่นใช้ฮันเซ คือ การสะท้อนคิด ....ไม่มีอะไรยากเท่าการตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงของการคิด
• ต้องมีพื้นที่ที่ปลอดภัย
• เรียนรู้ร่วมกัน หาพื้นที่ชัดๆ และตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลง
ผศ.ดร.เลขา ปิยะอัจฉริยะ สรุปว่า แม้วันนี้จะสรุปจบโครงการแล้ว แต่การดำเนินงานยังคงทำกันต่อไป เพื่อร่วมตอบโจทย์ การรวมพลังและปลดล็อก คืนความสุขให้ผู้เรียนในประเทศไทย
----------------------------------