หน้าเว็บ

วันศุกร์ที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2558

ผลประชุมคณะกรรมการอำนวยการโครงการปฏิรูปการเรียนรู้สู่ผู้เรียน 1/ 2558

ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี 129/2558
ผลประชุม คกก.อำนวยการโครงการปฏิรูปการเรียนรู้สู่ผู้เรียน 1/2558
พลเรือเอก ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการอำนวยการโครงการปฏิรูปการเรียนรู้สู่ผู้เรียน ครั้งที่ 1/2558 เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 16 เมษายน 2558 ที่ห้องประชุมจันทรเกษม


รมว.ศึกษาธิการ ในฐานะประธานคณะกรรมการอำนวยการโครงการปฏิรูปการเรียนรู้สู่ผู้เรียน กระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า ที่ประชุมได้รับทราบผลการดำเนินโครงการดังกล่าว เพื่อส่งเสริมการกระจายอำนาจการบริหารและการจัดการศึกษารองรับนโยบายการปฏิรูปการศึกษา โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้กำหนดให้มีสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษานำร่อง 20 เขต โดยแต่ละเขตมีโรงเรียนนำร่อง 15 แห่ง รวมทั้งสิ้น 300โรงเรียน และมีการเตรียมการดำเนินการล่วงหน้ามาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2557 แล้วจึงเริ่มต้นดำเนินการในโรงเรียนนำร่องตั้งแต่เดือนมกราคม 2558 เป็นต้นมา

ผลการดำเนินโครงการในระยะแรกช่วง เดือนที่ผ่านมา (มกราคม-มีนาคม 2558) พบว่า ยังไม่มีผลเป็นรูปธรรมมากนัก เนื่องจากในช่วงแรกเป็นช่วงของการเตรียมการและเตรียมความพร้อม ไม่ว่าจะเป็นการประชุมชี้แจงต่างๆ การนำCoaching Team ลงไปทำความเข้าใจกับผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาและผู้อำนวยการโรงเรียน ประกอบกับมีการสอบปลายภาคและปิดภาคเรียนตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม จากการรายงานผลการดำเนินงานทำให้ที่ประชุมได้รับทราบถึงปัญหาและข้อเสนอแนะต่างๆ จากผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาและผู้อำนวยการโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการทั้ง 20 เขตพื้นที่การศึกษา ซึ่งส่วนใหญ่มีปัญหาด้านการขาดแคลนบุคลากร ทั้งงานธุรการ นักการภารโรง และการขาดแคลนอุปกรณ์การเรียนการสอน ตลอดจนอาคารเรียนและห้องเรียน เช่น ห้องแล็บ ห้องวิทยาศาสตร์ อุปกรณ์เทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งที่ประชุมเห็นว่าความขาดแคลนบางด้าน เช่น ห้องแล็บ อาจจะยังไม่มีความจำเป็นมากนักสำหรับโรงเรียนขนาดเล็ก จึงได้มอบให้ สพฐ.กลับไปสำรวจใหม่อีกครั้งว่ามีความขาดแคลนจริงหรือไม่ ประกอบกับที่ผ่านมา สพฐ. และกระทรวงศึกษาธิการก็ได้ให้การสนับสนุนอุปกรณ์พื้นฐานเบื้องต้นอยู่แล้ว เช่น โครงการขยายผลการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ที่จะช่วยในเรื่องการเรียนการสอนในวิชาที่ขาดแคลนครู เช่นเดียวกับในเรื่องของอาคารเรียนต่างๆ ที่รัฐบาลได้ให้การสนับสนุนงบประมาณโดยเฉพาะงบกระตุ้นเศรษฐกิจสำหรับซ่อมแซมปรับปรุงสถานศึกษา จำนวนกว่า 8,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้มอบให้ สพฐ.ไปทำความเข้าใจกับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาที่เข้าร่วมโครงการว่า กระทรวงศึกษาธิการต้องการให้มีการแก้ไขปัญหาในเชิงการบริหารจัดการเสียก่อน เพราะหลายอย่างสามารถดำเนินการได้โดยไม่ต้องใช้งบประมาณ อาทิ การเสนอของบประมาณในการจัดจ้างนักการภารโรง โดยให้เหตุผลว่าเพื่อให้นักเรียนได้เรียนอย่างเต็มที่นั้น ที่ประชุมเห็นว่าน่าจะไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ เพราะการทำความสะอาดห้องเรียนจะทำหลังเลิกเรียน และหากมีการบริหารจัดการโดยจัดเวรให้นักเรียนทำความสะอาดห้องเรียนก็เป็นการฝึกวินัย ให้เด็กรู้จักการเสียสละ รู้จักหน้าที่ มีความรับผิดชอบ และมีจิตอาสา

ดังนั้น หากโรงเรียนใดได้ทบทวนแล้วเห็นว่ามีความจำเป็นจริงๆ ที่จะต้องใช้งบประมาณในเรื่องของโครงสร้างพื้นฐานหรือการจัดจ้างบุคลากร ให้ สพฐ.นำเสนอต่อที่ประชุมได้พิจารณาครั้งต่อไปในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม 2558 ซึ่งจะได้พิจารณาถึงการขยายการดำเนินงานโครงการรุ่นที่ 2 ไปยังอีก 40 เขตพื้นที่การศึกษาตามที่ได้ประกาศไว้

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวด้วยว่า เร็วๆ นี้ ตนจะได้หารือกับ สพฐ. เกี่ยวกับการผ่อนคลายการใช้หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 ซึ่งเป็นการปรับกรอบเวลาที่กำหนดไว้ในโครงสร้างเวลาเรียนทั้ง 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ เพื่อให้สถานศึกษานำไปปรับใช้ให้เกิดความยืดหยุ่นในการจัดการเรียนการสอน โดยจะเปลี่ยนเป็นการกำหนดเป้าหมายในแต่ละชั้นเรียนแทน เช่น จบชั้น ป.1 ควรจะต้องอ่านออกเขียนได้ คิดเลขเป็น ทั้งนี้เพื่อให้โรงเรียนสามารถออกแบบวิธีการจัดการเรียนการสอนโรงเรียนได้เอง แต่จะต้องตอบสนองกับเป้าหมายที่กำหนดไว้


ทั้งนี้ โครงสร้างเวลาเรียนตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2551 ในปัจจุบัน  ได้กำหนดกรอบโครงสร้างเวลาเรียนรวม สำหรับระดับประถมศึกษาไม่น้อยกว่า 1,000 ชั่วโมงต่อปี ดังนี้
รายวิชาพื้นฐาน 840 ชั่วโมงต่อปี แบ่งเป็น ภาษาไทย ป.1 - 3 จำนวน 200 ชั่วโมงต่อปี ป.4 - 6 จำนวน 160 ชั่วโมงต่อปี  คณิตศาสตร์ ป.1 - 3 จำนวน 200 ชั่วโมงต่อปี ป.4 - 6 จำนวน 160 ชั่วโมงต่อปี วิทยาศาสตร์ ป.1 - 6 จำนวน 80 ชั่วโมงต่อปี  สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ป.1 - 6 จำนวน 120 ต่อปี  สุขศึกษาและพลศึกษา ป.1 - 6 จำนวน 80 ชั่วโมงต่อปี  ศิลปะ ป.1 - 6 จำนวน 80 ชั่วโมงต่อปี  การงานอาชีพและเทคโนโลยี ป.1 - 3 จำนวน 40 ชั่วโมงต่อปี ป.4 - 6 จำนวน 80 ชั่วโมงต่อปีและภาษาต่างประเทศ (ภาษาอังกฤษ) ป.1 - 3 จำนวน 40 ชั่วโมงต่อปี ป.4 - 6 จำนวน 80 ชั่วโมงต่อปี กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน 120 ชั่วโมงต่อปี  รายวิชา/กิจกรรมเพิ่มเติม ไม่น้อยกว่า 40 ชั่วโมงต่อปี


นวรัตน์ รามสูต
บัลลังก์ โรหิตเสถียร
สรุป/รายงาน
16/4/2558


ที่มาของข้อมูล: http://www.moe.go.th/websm/2015/apr/129.html