หน้าเว็บ

วันอังคารที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2558

AAR เรื่องแผนโรงเรียนกับผู้อำนวยการ สพท. 20 เขต

รายงานการประชุมคณะทำงานติดตามการดำเนินงานตามนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ครั้งที่ 7/ 2558 ในวันศุกร์ที่ 20 กุมภาพันธ์ 2558 ณ ห้องประชุมจันทรเกษม กระทรวงศึกษาธิการ

เริ่มประชุมเวลา 17.00 น.

ระเบียบวาระที่ 1 เรื่องที่ประธานแจ้งให้ที่ประชุมทราบ

รศ.ประภาภัทร นิยม

รศ.ประภาภัทร นิยม ประธานคณะทำงานฯ แจ้งให้ที่ประชุมทราบว่าได้ไปดูงานโรงเรียนต่างๆ ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี และได้พูดคุยกับผู้อำนวยการโรงเรียนและรองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษากลุ่มหนึ่งต่อกรณีแนวทางรองรับการกระจายอำนาจการจัดการศึกษามายังพื้นที่ ที่ขณะนี้ได้บรรจุอยู่ในข้อกฎหมายแล้ว ซึ่งผู้อำนวยการโรงเรียนได้เสนอสุราษฎร์โมเดล อาทิ จะประชุมภาคส่วนต่างๆ ในจังหวัด ตั้งสภาการศึกษาจังหวัดขึ้นมา และเห็นว่าทางพื้นที่ต้องปรับเปลี่ยน ทั้งวัฒนธรรมการทำงาน และวัฒนธรรมการเรียนรู้ 

ข้อสังเกตที่พบจากการลงพื้นที่ครั้งนี้ พบว่า นักเรียนที่เราเห็นว่าเก่ง มักเป็นตัวแทนโรงเรียนมาต้อนรับและอธิบายในฐานการเรียนรู้ต่างๆ แต่เมื่อถามถึงเรื่องอื่นที่ไม่ได้เตรียมมาจะตอบไม่ได้ อันที่จริงน่าจะสามารถให้ความเห็นของตนเองได้บ้าง แต่ไม่สามารถสื่อสารนอกบทที่เตรียมมาได้ สะท้อนว่าเด็กไม่กล้าคิด ไม่มีความรู้รอบตัว หรือเรียนแต่หนังสือ จำ แล้วนำไปสอบ อันที่จริงเด็กมีศักยภาพสูง ถ้าฝึกฝนดีๆ จะเก่ง การเรียนรู้ที่ดีจะต้องตั้งเป้าหมายว่าเรียนไปทำไม ต้องตั้งคำถาม ครูก็ต้องรู้เป้าหมายว่าจัดการเรียนรู้ไปเพื่ออะไร 

สิ่งที่จะขอให้ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาได้เน้นย้ำและช่วยพัฒนาผู้บริหารโรงเรียน ให้สภาพการณ์เหล่านี้หมดไป ได้แก่ ผู้อำนวยการโรงเรียนไม่เข้าใจว่าบทบาทของตนเองในการปฏิรูปการเรียนรู้ในห้องเรียนจะต้องทำอะไรบ้าง มีความเข้าใจผิดว่าผู้อำนวยการโรงเรียนไม่ต้องบริหารงานวิชาการ โค้ชไม่เป็น สังเกตการสอนไม่เป็น ไม่รู้ว่าครูจัดการเรียนรู้บรรลุเป้าหมายหรือไม่ และไม่เข้าใจบทบาทตนเองว่าต้องเป็นผู้นำวิชาการ 

มติที่ประชุม รับทราบ

ระเบียบวาระที่ 2 รับรองรายงานการประชุมคณะทำงานฯ ครั้งที่ 6/2558

ประธานการประชุมขอให้ที่ประชุมศึกษาและรับรองรายงานการประชุมคณะทำงานติดตามการดำเนินงานตามนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ครั้งที่ 6/2558  

มติที่ประชุม รับรองรายงานการประชุม 

ระเบียบวาระที่ 3 เรื่องสืบเนื่อง

3.1 ความก้าวหน้าของการปรับลดงานโครงการจากส่วนกลางที่ดึงครูออกจากผู้เรียน หรือส่งผลกระทบด้านลบต่อคุณภาพการจัดการเรียนการสอน 
นายอำนาจ วิชยานุวัติ

นายอำนาจ วิชยานุวัติ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนการศึกษาขั้นพื้นฐาน สพฐ. ได้รายงานการปรับลดงานโครงการจากส่วนกลางที่ดึงครูออกจากผู้เรียน หรือส่งผลกระทบด้านลบต่อคุณภาพการจัดการเรียนการสอนของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน 4 แนวทางหลัก ดังนี้

1. ลดโครงการจากหน่วยงานต่างๆ สพฐ.ได้สำรวจ MOU ที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานต่างๆ ได้แล้ว 29 ฉบับ แต่สภาพจริงมีกว่า 100 เรื่อง ที่แย่งเวลาเรียนของเด็ก ซึ่งได้รับความกรุณาจากนายแพทย์ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ มูลนิธิสยามกัมมาจล สพฐ.เป็นตัวกลางในการเชิญหน่วยงานเหล่านี้มาพูดคุย จะให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน และจะช่วยกันลดทอนเวลาให้ลงตัว  

2. มีแผนจัดสรรธุรการครบทุกโรงเรียน ปัญหาครูต้องทำงานธุรการและงานในโรงเรียนส่งผลกระทบการเรียนการสอน จึงได้ตั้งงบประมาณจ้างครูธุรการให้ครบทุกโรงเรียน และรวมนักการภารโรงที่ขาดแคลนอยู่ จะจ้างอีกประมาณ 10,000 คน ซึ่งเชื่อว่าสำนักงบประมาณจะรับฟัง ถ้าได้บุคลากรสนับสนุนมาจะสามารถช่วยลดภาระงานของครูลง ทำให้ครูมีเวลาสอนเด็กมากขึ้น

3. ปรับรูปแบบพัฒนาครูไม่ให้กระทบเด็ก ได้รับความกรุณาจาก รมช.ศธ. ปรับรูปแบบวิธีการพัฒนาบุคลากรทั้งระบบ ปรับจากระบบ UTQ ที่มีอยู่ เพื่อครูจะได้ไม่ถูกดึงออกจากห้องเรียน ขณะนี้ได้ตั้งงบประมาณพัฒนาบุคลากร ประมาณ 500,000 คน แล้ว โดยตั้งงบรายหัวไว้คนละ 3,500 บาทต่อปี และส่งเสริมให้ครูพัฒนาจาก shopping list 

4. เพิ่มสัดส่วนการจัดสรรงบประมาณลงเขตและโรงเรียน ส่วนภาพรวมของโครงการที่อยู่ใน สพฐ. พยายามพูดคุยสื่อสารให้สำนักต่างๆ จะจัดสรรงบประมาณลงเขตพื้นที่และโรงเรียน 70% ส่วนเหลือ 30% ให้เป็นส่วนที่สำนักต่างๆ จะบริหารจัดการเองและเติมเต็ม สภาพของการจัดสรรงบประมาณในขณะนี้ สำนักงบประมาณได้จัดสรรแบบแผนงานโครงการ จึงไม่สามารถจัดสรรแบบ Block Grant ได้ ซึ่งวิธีการงบประมาณปัจจุบันยังต้องมีแผนงานโครงการรองรับ สพฐ.ได้หารือกับสำนักงบประมาณหลายรอบ แต่ก็ยังยืนยันแบบเดิมอยู่ จึงจะต้องขับเคลื่อนวิธีการบริหารจัดการงบประมาณเป็นการภายในเอง

ที่ประชุมได้มีความคิดเห็นเพิ่มเติม ดังนี้


นายฤทธา นันทพันธ์

 นายฤทธา  นันทพันธ์ ผอ.สพม. เขต 28: จากข้อมูลที่ รองเลขาธิการ กพฐ. (นายรังสรรค์ มณีเล็ก) ได้แจ้งในที่ประชุมผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา วันที่ 20 กุมภาพันธ์ว่า โดยภาพรวมของการของบประมาณเพื่อคืนครูสู่ห้องเรียนของ สพฐ. เป็นการจัดให้กับโรงเรียนที่มีนักเรียน 1,500 คนขึ้นไป จึงขอเสนอว่า เราควรนำเรียนสำนักงบประมาณว่า ศธ.มีนโยบายสำคัญที่กำลังทดลองนำร่องคือ โครงการปฏิรูปการเรียนรู้สู่ผู้เรียน คืนครูให้นักเรียน เราจะไม่ให้ครูต้องทำงานธุรการใน 300 โรงเรียน ของ 20 เขตนำร่อง และควรจะแยกออกมาจากเขตพื้นที่ทั่วไป จะได้นำมาสนับสนุนโครงการนี้

• นายอำนาจ วิชยานุวัติ ผอ.สนผ. สพฐ.: ควรนำเรียน รมว.ศธ.เพื่อขอใช้งบประมาณเป็นกรณีพิเศษสำหรับโครงการนี้ สำหรับเรื่องการเสนอของบประมาณ ณ วันนี้ (20 ก.พ.) ยังไม่ final อาจขอให้เปิดโปรดแกรมแล้ว key เพิ่มเข้าไป โดยหักลบจากงบเดิมที่ได้อยู่แล้ว อย่างนี้เป็นการทำในลักษณะโครงการนำร่อง แต่ทั้งนี้ก็ต้องตอบโจทย์สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาอื่นๆ อีก 200 กว่าเขตด้วย เพราะสิ่งเหล่านี้ก็เป็นความต้องการของเขาเช่นกัน ฉะนั้น จะต้องเตรียมคำตอบสำหรับข้อคำถามเหล่านี้ด้วย


นายปฐมฤกษ์ มณีเนตร

• นายปฐมฤกษ์  มณีเนตร ผอ.สพป.นครราชสีมา เขต 1: ที่ ผอ.สนผ. ให้ข้อมูลนั้น เป็นงบประมาณปีงบประมาณ 2559 แต่โครงการปฏิรูปการเรียนรู้สู่ผู้เรียนกำลังดำเนินการอยู่ในปีงบประมาณนี้ ซึ่งโรงเรียนได้เสนอแผนปรับปรุงคุณภาพโรงเรียนของบอัตราจ้าง วัสดุอุปกรณ์ สื่อมาแล้ว ทั้งนี้ โรงเรียนเหล่านี้ให้คำมั่นว่า ถ้าได้งบประมาณตามที่ขอแล้วเป้าหมายผู้เรียนทั้ง 4 ด้านก็จะเพิ่มขึ้น

• นายอำนาจ วิชยานุวัติ ผอ.สนผ. สพฐ.: มี 2 วิธีการที่จะได้งบประมาณสำหรับโครงการปฏิรูปการเรียนรู้สู่ผู้เรียนคือ (1) เสนอโครงการปฏิรูปการเรียนรู้สู่ผู้เรียนให้เป็นมติคณะรัฐมนตรี แล้วขอใช้งบกลาง เพื่อทำโครงการนำร่อง (2) ถ้าจะใช้งบประมาณปกติที่มีอยู่แบบเจียดจ่าย ก็ต้องขอนโยบายจาก รมว.ศธ. อาจใช้งบเหลือจ่ายหลังไตรมาส 3 แต่ก็ต้องหลักการรองรับเพื่อดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน


นายนพรัตน์ อู่ทอง

• นายนพรัตน์  อู่ทอง ผอ.สพป.เชียงราย เขต 1: ได้ศึกษาตัวคำสั่งปลดล็อกที่ลงนามโดย รมว.ศธ. ร่วมกับ ผู้อำนวยการโรงเรียน มีข้อสงสัยหนึ่งข้อคือ ให้โรงเรียนสามารถคัดสรร สรรหาบุคลากรได้ โดยโปร่งใส เป็นธรรม ตรวจสอบได้ แต่ไม่มีคำว่า ทั้งนี้ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ ก.ค.ศ.กำหนด จึงสงสัยกันว่าบุคลากรในที่นี้หมายถึงตำแหน่งใด เป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาหรือไม่  เพราะโดยปกติโรงเรียนก็สามารถดำเนินการจัดหาเจ้าหน้าที่ธุรการ หรือครูอัตราจ้าง หรือพนักงานราชการ ได้อยู่แล้ว เมื่อเขียนไว้ในคำสั่งปลดล็อก จึงคิดว่าจะสามารถสอบบรรจุครูและบุคลากรทางการศึกษาได้หรือไม่ เขาฝากมาเรียนถามว่าจะบรรจุข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาได้เองหรือไม่ 


ดร.รังสรรค์ มณีเล็ก

• นายรังสรรค์ มณีเล็ก คณะทำงานและรองเลขาธิการ กพฐ.: สำหรับสิ่งที่เห็นจากเอกสารโครงการคือ มีความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะให้โรงเรียนเลือกครูได้เอง แต่ทุกวันนี้โรงเรียนยังเลือกครูเองไม่ได้ ยังต้องผ่านความเห็นชอบจาก อ.ก.ค.ศ. ดังนั้น ล็อกนี้จึงเป็นที่ต้องการให้ปลดออก แต่ยังไม่สามารถทำได้ในขณะนี้เพราะยังไม่ได้แก้อะไรเลย จุดหมายปลายทางที่อยากได้คือให้สามารถเลือกคนได้เอง ให้โรงเรียนเลือกครูได้เองเหมือนโรงเรียนเอกชน   

• รศ.ประภาภัทร นิยม ประธานคณะทำงานฯ: คำสั่งปลดล็อกนี้มีที่มาจากปัญหาและข้อเสนอจากพื้นที่เอง คำว่า “บุคลากร” ก็กว้าง แต่ถ้าโรงเรียนจะต้องการสอบบรรจุครูเองได้ ก็ควรให้เหตุผลมาว่าอยากให้เป็นแบบไหน กรณีที่เขียนเช่นนี้อาจจะเพื่อกรณีที่โรงเรียนต้องการจะจ้างคนไม่จบสายครู เช่น มีคนสอนฟิสิกส์ได้เก่งแต่ไม่จบสายครูแล้วโรงเรียนอยากได้ ก็จะได้มีวิธีดำเนินการได้ 

• นายปฐมฤกษ์  มณีเนตร ผอ.สพป.นครราชสีมา เขต 1:  เรื่องนี้เราคุยกันแล้วหลายครั้ง ได้ข้อสรุปว่าทำไม่ได้ ท่าน รมว.ศธ.ก็บอกเองว่าทำไม่ได้ ในคราวประชุมที่โรงแรม Hotel De Moc เพราะมีกฎหมาย มี พ.ร.บ. มีอะไรเยอะ จะทำได้ต้องแก้กฎหมาย ซึ่งตนได้เสนอไว้ให้แก้ไขในคราวนั้นแล้ว   

• นายรังสรรค์ มณีเล็ก: ในคราวประชุมคณะทำงานครั้งก่อน พลเรือเอก เรืองทิพย์ เทียนทอง ได้นำเสนอผลจากการประชุมองค์กรหลัก ท่านบอกว่าการปลดล็อกถ้าขัดต่อระเบียบ และขัดต่อกฎหมาย ท่าน รมว.ศธ.ก็ไม่มีอำนาจไปสั่งการ   

มติที่ประชุม รับทราบ

3.2 ผลการวิเคราะห์แผนปรับปรุงคุณภาพโรงเรียนที่ตอบโจทย์การเรียนรู้

ผลการเสวนาของประธานคณะทำงานติดตามการดำเนินงานตามนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาเกี่ยวกับการปรับปรุงคุณภาพโรงเรียนและแผนเสนอของบประมาณของโรงเรียน มีดังนี้
นายอธิวัฒน์ พันธ์ประชา

1. นายอธิวัฒน์  พันธ์ประชา ผอ.สพป.ราชบุรี เขต 2: การดำเนินงานครั้งนี้เป็นการทำงานในมิติใหม่ที่ต้องค่อยๆ เปลี่ยน ที่ สพป.ราชบุรี เขต 2 เรียกกระบวนการนี้ว่า ทฤษฏีลิงล้างข้าวโพด มีเรื่องจากญี่ปุ่นพบว่า มีลิง 250 ตัว ลิงไปเก็บข้าวโพดที่เปื้อนดินทราย เหมือนการทำงานของครูที่ทำงานไปก็ถูกกร่นด่า ว่า เปลี่ยนแปลงไม่ทันสังคม ฯลฯ เพราะครูและผู้บริหารถูกฝึกมาจากศตวรรษที่ 20 ที่ใช้การบรรยาย แต่ปัจจุบันเด็กเปลี่ยนไปแล้วสู่ศตวรรษที่ 21 แล้ว เราต้องพาครูและผู้บริหารข้ามศตวรรษให้ได้ อย่างโรงเรียน 15 โรงเรียนต้องใช้แรงช่วยเขามาก ที่เขตจะช่วยครู 2,000 คน และเด็ก 60,000 คน ให้ข้ามศตวรรษให้ได้ ครูและผู้บริหารพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงแต่เขานึกไม่ออกว่าจะเปลี่ยนไปเป็นอะไร จะต้องช่วยให้ครูเปลี่ยนไปเป็น “นักจัดการการเรียนรู้” ทำ AAR เป็น สามารถคืนความรู้ให้เด็กได้ ขณะนี้เราทำเว็บไซต์ ข้อมูลจากเว็บไซต์จะเห็นว่าหลายโรงเรียนได้เปลี่ยนการจัดการเรียนรู้บ้างแล้ว เปลี่ยนแปลงไปจากครูสอนความรู้ เป็นสอนทักษะ ซึ่งเป็นหน้าที่ของเราที่จะฝึกให้เขามีทักษะการคิด คิดให้เป็น เด็กที่เราเห็นว่ามีปัญหา เพราะเขาไม่ได้ถูกสอนทักษะ ถูกสอนแต่ความรู้ เราจึงต้องฝึกให้เขามีทักษะในการคิด มีทักษะในการใช้เทคโนโลยี มีทักษะในการเรียนรู้แบบใหม่ การบอกจะไม่ทำให้เขาทำได้ แต่ที่เขตจะใช้การฝึกกระบวนการให้ครูทำได้

2. รศ.ประภาภัทร นิยม:  กระบวนการไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ต้องอาศัยความต่อเนื่อง และผู้อำนวยการโรงเรียนต้องใช้การพาทำ ทิ้งไม่ได้ จนกระทั่งครูรู้สึกว่ามีที่พึ่ง สามารถจะให้คำปรึกษาเมื่อไรก็ได้ บนงานที่เขาทำอยู่ นำเรื่องที่ติดขัดมาพูดคุยกัน เช่น ครูโรงเรียนรุ่งอรุณแม้จะวางเป้าหมายการจัดการเรียนรู้ไว้ชัดแล้ว แต่เมื่อจัดการเรียนรู้ก็อาจยังไม่บรรลุผลที่ตั้งไว้นัก ประเด็นสำคัญคือ จะมีใครไปพบและสังเกตเห็นหรือไม่ เมื่อนำมาพูดคุยกัน ครูฟังและเข้าใจว่าตนเองพลาดอะไร และพร้อมปรับปรุงแก้ไข สิ่งเหล่านี้ผู้อำนวยการโรงเรียนต้องติดตามใกล้ชิด และนี่ไม่ใช่การบอก แต่เป็นการทำงานคู่กันไปพร้อมกับครู จึงมีความเป็นห่วงว่า ผู้อำนวยการโรงเรียนทั้ง 15 โรงเรียนแต่ละเขตจะทำเช่นนี้ได้ไหม

3. นายนพรัตน์  อู่ทอง ผอ.สพป.เชียงราย เขต 1: สำหรับการดำเนินงานของ สพป.เชียงราย เขต 1 ถือเป็นการเริ่มต้นใหม่ พรุ่งนี้ (21 ก.พ.) จะให้ทีมโค้ช มศว ไปคุยกับผู้อำนวยการโรงเรียนและครู ประมาณ 200 คน และคุยกับทีมของเขต คงจะดีขึ้นเป็นลำดับ คงจะรู้บทบาทหน้าที่ และทำกันเป็นมากขึ้น

4. รศ.ประภาภัทร นิยม:  โค้ชภายนอกสามารถช่วยได้ระดับหนึ่งเท่านั้น เอาเข้าจริงๆ การทำอย่างต่อเนื่องทุกวันจึงจะสำเร็จ นั่นคือ ทำโดยผู้อำนวยการโรงเรียน ซึ่งผู้อำนวยการโรงเรียนต้องเป็นมวยมากๆ 

5. นายอธิวัฒน์  พันธ์ประชา ผอ.สพป.ราชบุรี เขต 2: ก่อนที่จะมีทีม coaching ควรจะต้องมีทีม Training ก่อน ที่ สพป.ราชบุรี เขต 2 เรียกว่า ทีมนักสานพลังการเรียนรู้ มีประมาณ 200 คน ค่อยๆ สร้างจากวิทยากรกระบวนการ หรือผู้บริหารที่เก่งๆ มารวมตัวกันทำงานแบบ PLC ช่วยฝึกให้เป็นทีม training ของเขตพื้นที่ ถ้าไม่มีทีม training ก็จะไปคนละทิศละทาง ตนเองได้คุยกับทีมโค้ชของมหาวิทยาลัย เขาก็ช่วยเราไม่ได้ แต่จะมาเรียนรู้กับเรา แล้วเปลี่ยนแปลงไปพร้อมๆ กับเรา เขาจึงจะรู้ว่าจะโค้ชอะไรเราบ้าง สถานการณ์นี้ไม่มีใครรู้ว่าเมื่อเปลี่ยนแปลงแล้วจะเป็นอย่างไร ภาพใหม่ยังไม่เป็นที่รู้จักกัน ประเทศไทยจะมีภาพสำเร็จไม่เหมือนประเทศใดๆ จึงต้องมีกระบวนการเรียนรู้ไปพร้อมกัน โตไปพร้อมกัน และไม่เชื่อว่าจะมีโค้ชหรือผู้ใดมาชี้ให้สำเร็จได้ทันที  


นายวิระ แข็งกสิการ

6. นายวิระ  แข็งกสิการ ผอ.สพป.นครสวรรค์ เขต 3: เห็นด้วยกับท่านอธิวัฒน์ กาลครั้งหนึ่ง สพฐ.มีโครงการ coaching โดยสำนักพัฒนาครูฯ กระจายงบประมาณให้มหาวิทยาลัยใกล้บ้านไปพัฒนาครู ผลออกมาก็คล้ายๆ เดิม แต่สิ่งที่น่าทำมากที่สุดคือ การพัฒนาผู้นำทีมในโรงเรียน ถ้าผู้นำทีมมีบารมีทางวิชาการ มีความเข้มแข็งทางวิชาการ ความศรัทธาบารมีก็จะเกิดขึ้นได้ ในเบื้องต้นคณะของพวกเราได้ใช้โรงเรียนในกลุ่มต่ำ บุคลิกลักษณะของผู้บริหารโรงเรียนก็เป็นอีกมิติหนึ่ง ก็ต้องพัฒนากันไป ถ้าประเมินจากการเป็นผู้นำทางวิชาการก็จะได้สภาพอย่างหนึ่ง

7. รศ.ประภาภัทร นิยม: เห็นประเด็นว่า ถ้าผู้อำนวยการโรงเรียนยอมปรับบทบาทเป็นโค้ชก็จะเป็นความสำเร็จเบื้องต้น แต่ถ้าเขาไม่เต็มใจ ไม่ทำก็ไม่รู้จะทำอย่างไร 

8. นายปฐมฤกษ์  มณีเนตร ผอ.สพป.นครราชสีมา เขต 1: ประเด็นแรก ผู้อำนวยการโรงเรียนที่เราคัดมาไม่อ่อนเกินไป ไม่เก่งเกินไป เป็นพวก “พอกะเทิน” เป็นจุดเริ่มต้น ประเด็นที่สอง แต่ก่อนเราสรรหาผู้บริหาร เราไม่ค่อยได้นักวิชาการ แต่จะได้นักบริหารทั่วไปเยอะ บริหารอาคารสถานที่ บริหารบุคคล และบริหารการเงิน ส่วนบริหารวิชาการจริงๆ ไม่ค่อยมีเท่าไร ตอนนี้เราได้เข้าโครงการปฏิรูปการเรียนรู้สู่ผู้เรียน ผู้บริหารต้องบริหารงานวิชาการเก่ง แต่ก่อน 15 คนของผม แววไม่ค่อยออก ได้รับการพัฒนามาเป็นลำดับ แต่ก่อนจะสั่งจะมอบรองวิชาการหรือครูวิชาการ แต่เดี๋ยวนี้มาเป็นผู้นำสะท้อนความคิดเห็นด้วยตนเอง เห็นว่าขณะนี้ไปได้ดีแล้ว เขตของผมอาจรวมผู้อำนวยการโรงเรียนกับเขตอื่นๆ อาจได้สัก 60-70 คน ให้มาอบรมพัฒนาในเรื่องงานวิชาการ หลักสูตร เทคนิควิธีการจัดการเรียนการสอน การวัดประเมินผล แม้ผู้อำนวยการโรงเรียนเหล่านี้จะมีผลค่าเฉลี่ยโรงเรียนต่ำกว่าค่าเฉลี่ยประเทศหรือต่ำกว่าเขต แต่เขาจะกลายเป็นโค้ชได้ จึงไม่อยากให้ท่านที่ปรึกษา รมว.ศธ. ใจร้อนมากเกินไป เพราะตัวป้อนของเราไม่ดีนัก เราต้องทำให้ได้ใจก่อน ทำให้ได้ทัศนคติที่ดีก่อน เราเริ่มมาถูกทางและดีแล้ว ต่อไปโรงเรียน 300 โรงเรียนประสบความสำเร็จแน่นอน บางเขตอาจจะเร็วได้ แต่จากการไปสังเกตการทำ AAR ของกลุ่มครูและผู้บริหารโรงเรียนใน สพป.นครราชสีมา เขต 1 เริ่มเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีแล้ว 

9. รศ.ประภาภัทร นิยม: เราดูแล 15 โรงเรียนต่อเขต ก็พอทำได้ วันนี้เราต้องมาคุยกันว่าทำไมต้องปฏิรูปการเรียนรู้ในโรงเรียนนั้นๆ แต่ถ้าเราไม่รู้ว่าเราจะไปถึงตรงไหน ก็ไม่รู้ว่าปัญหานั้นจะใช่จริงหรือเปล่า บ้างคิดว่าขาดครู ขาดเงิน แต่จริงๆแล้วอาจมีปัญหาอื่นซ่อนอยู่ แล้วเราไม่ได้ระบุปัญหาสำคัญนั้นขึ้นมา จึงพูดประเด็นเรื่องเหล่านี้ขึ้นมา ให้เห็นว่ายังมีอีกมิติหนึ่งที่ยังไม่ได้พูดถึง มีปัจจัยแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับการทำ AAR ทั้งเรื่องสอบโอเน็ต ฯลฯ ปัจจัยนี้เป็นอุปสรรคกับที่เราตั้งธงกันไว้ เป้าหมายจริงๆ เราอยากให้ ผู้อำนวยการโรงเรียนมีบารมีทางวิชาการ ให้ครูเข้ามาร่วมปฏิรูปการเรียนรู้ศตวรรษที่ 21 แต่ถ้าไปติดเรื่องสอบโอเน็ต ไปติดเรื่องการประกวดกันเยอะมาก ซึ่งปัจจัยแวดล้อมเหล่านี้เราก็ไม่ได้ระบุกันมา เราจะปลูกฝังทักษะศตวรรษที่ 21 กันไม่ได้นัก ถ้ายังทำการประกวดเหล่านี้อยู่ ต้องคิดว่าอะไรเป็นปัจจัยนำเข้า อะไรเป็นอุปสรรค สิ่งเหล่านี้เราอยากทราบว่าแต่ละโรงเรียนเป็นอย่างไร หรือครูในหนึ่งโรงเรียนยังทำวิธีการนี้ไม่ได้เลย หรือเขาอาจต่อต้านด้วย ก็แสดงว่ามีอุปสรรคเยอะ ก็ต้องระบุสภาพปัญหามา เพื่อจะแก้ไขปัญหาเหล่านี้ ดังนั้น โรงเรียนนี้อาจต้องใช้เวลานานกว่าโรงเรียนอื่น และผลที่เกิดขึ้นจะต่างกัน ซึ่งแต่ละโรงเรียนมีจุดตั้งต้นแตกต่างกัน ควรเจาะลงรายโรงเรียนว่าสภาพเป็นอย่างไร ซึ่งเป็นข้อมูลที่จำเป็นที่โรงเรียนจะต้องรู้ตัวเองว่า อะไรหายไป อะไรควรเพิ่มเติมเข้ามา

10. นายอธิวัฒน์  พันธ์ประชา ผอ.สพป.ราชบุรี เขต 2:  กรณีประกวดแข่งขัน มองว่าเป็นประโยชน์ และไม่น่ารังเกียจอะไร ครูต่างจังหวัดเข้ามาที่เมืองทองธานีและเด็กมีความสุขมาก เห็นสิ่งที่ดีที่เพื่อนทำได้ เป็นครั้งหนึ่งในชีวิตที่มีคุณค่าของพัฒนาการของมนุษย์ แต่ไม่เห็นด้วยที่โรงเรียนจะทุ่มยอมแลกทุกอย่างเพื่อรางวัล แม้เขาไม่เก่งวิชาการ ก็มีทางแยกให้เขาได้แสดงความเก่ง เช่น หัวโขนสุโขทัย ส่วนการสอบโอเน็ตก็ไม่ใช่อุปสรรค แต่เป็นบททดสอบของผู้บริหาร เป็นแบบฝึกหัดว่า เขาจะเป็นผู้นำทางวิชาการระดับโรงเรียนได้หรือไม่ ให้ช่วยกันคิดและเป็นเวทีแลกเปลี่ยนกัน การติวก็เป็นกระบวนการคิดที่เขาพยายามกัน ถือว่าสิ่งเหล่านี้เป็นบันไดขั้นแรกที่เขาจะเป็นผู้นำทางวิชาการ มองว่าทุกอย่างที่ทำนี้ สามารถเสริมการทำงานได้หมด แต่เราต้องมีชุดความรู้ไปช่วยให้เขาสร้างความหมายของสิ่งที่ทำ

11. รศ.ประภาภัทร นิยม: เป็นเรื่องที่ดีที่อภิปรายกัน แต่ก็ยังเห็นต่างและมองไปอีกมุม ถ้าแน่จริง ก็ทำสิ่งเหล่านี้ให้บูรณาการไปในสาระวิชาให้ได้ เช่น ทำหัวโขนแล้วแต่ก็ไม่ได้คะแนนวิชาที่เรียน ควรทำให้เขาเห็นประวัติศาสตร์ เห็นคุณค่าที่แท้จริงของศิลปะชั้นสูงว่า โขนเป็นที่รวมของศาสตร์กี่แขนง ใครเป็นคนคิดขึ้น ทำไมเขาคิดลึกซึ้งได้ขนาดนี้ การปฏิรูปอยู่ตรงนี้ อยู่ตรง Innovation ของผู้สอน แต่ถ้าเข้าไม่เน้นในเรื่องนี้ แต่ไปแข่งขันก็จะเป็นอีกเรื่อง แต่ควรพลิกสู่คุณค่าของสิ่งที่เรียนรู้เรื่องนี้อย่างแท้จริง แล้วเด็กทั้งชั้นจะได้เรียนรู้อะไรอีกมาก เขาจะได้ทำและเรียนรู้เรื่องนี้ด้วยความรู้สึกอีกแบบ ด้วยความเข้าใจอีกแบบ ด้วยมุมมองประเทศชาติอีกแบบ บางทีเรื่องดีๆ เช่นนี้ก็ถูกใช้ไปผิดทาง


นายสายัณห์ ผาน้อย

12. นายสายัณห์ ผาน้อย ผอ.สพป.ขอนแก่น เขต 1:  โครงการนี้เป็นความปรารถนาดีของ รมว.ศธ. และที่ปรึกษา รมว.ศธ. ตนเองได้ประชุมผู้อำนวยการโรงเรียนได้บอกว่า นี่เป็นโอกาสทอง เป็นโอกาสดีที่มีผู้หลักผู้ใหญ่เข้ามาดูแล จึงเป็นนาทีทองที่เราต้องกอบโกย โครงการนี้คงจะไม่เกิดผลเร็วนัก เพราะเป็นเรื่องของการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ต้องใช้เวลาเป็นปี จึงมีข้อเสนอแนะว่าถ้าเราจะขยายผล ควรทิ้งระยะเวลาไว้ช่วงหนึ่งก่อน ถ้าเราไปขยายผลเมษายนอีกชุดหนึ่งจะเร็วไป อีกประเด็นหนึ่ง อยากจะใช้ทฤษฎีระบบ (system approach) input process output ที่ผ่านมาเราค่อนข้างใช้เวลาในการค้นหาปัญหามากเกินไป ตอนนี้เราได้ปัญหามาแล้ว ควรนำมาสังเคราะห์แล้วลงมือทำเลย ดูว่า input อย่างเช่นการแก้ไขกฎหมาย ระเบียบ ก็เป็น input เราก็ตั้งคณะทำงานขึ้นมาพิจารณา หรืองบประมาณจะพอไหมอย่างไร ส่วนกระบวนการ (process) จะทำอย่างไรให้ผู้อำนวยการโรงเรียนเป็นผู้นำทางวิชาการ และผู้นำการเปลี่ยนแปลง สมัยใหม่นี้คือ ผู้บริหารโรงเรียนต้องมี soft skills เป็นทักษะที่ให้คนทำงานสำเร็จ ได้ทั้งคนทั้งใจ ครูต้องเปลี่ยนวิธีการเรียนการสอน รู้หลักสูตร การจัดการเรียนการสอน และการวัดประเมินผล และทักษะกระบวนการนิเทศ เราก็สร้างทีมศึกษานิเทศก์ให้เป็น ทีม coaching ซึ่ง output ก็จะออกมาไม่ช้าก็เร็ว คราวนี้มาพิจารณาเรื่องงบประมาณโรงเรียนเท่าไรจึงจะพอดี ก็ย้อนไปเมื่อปี 2539 สมัยเป็นรอง ผอ.สปจ.ราชบุรี สมัยนายชุมพล ศิลปอาชาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้ให้ ผอ.วีระ ตันตระกูล ไปทำวิจัยว่าทำไมโรงเรียนเอกชนจึงดีกว่าโรงเรียนรัฐ ได้ไปศึกษาโรงเรียนดรุณาราชบุรี ดูเรื่องการบริหารงานบุคคล งบประมาณ เมื่อศึกษาเสร็จยังไม่ทันนำเสนอนายชุมพล ศิลปอาชาก็ถูกปรับออกจากคณะรัฐมนตรีเสียก่อน กรณีนี้เราอาจเอาโรงเรียนเอกชนทั่วไปมาเป็นฐานการพิจารณาเพื่อเทียบเคียงการบริหารจัดการว่า เขาใช้เงินอุดหนุนอย่างไร จัดครูและบุคลากรอย่างไร ซึ่งโรงเรียนต่างๆ ก็จะเข้าใจหากจะดำเนินการกันในแนวทางนี้ ไม่ใช่ว่าให้งบประมาณโรงเรียนในโครงการนี้มากเกินไป และไม่สามารถนำไปใช้กับโรงเรียนอื่นได้ 


นายชลำ อรรถธรรม

13. นายชลำ อรรถธรรม ผอ.สพป.ภูเก็ต: การปฏิรูปครั้งนี้ครูและบุคลากรจะไม่รู้สึกกระตือรือร้นนัก พอบอกว่าโรงเรียนของเราเป็นโรเรียนนำร่องปฏิรูปการเรียนรู้ ก็พูดว่า “คงแป๊บๆ เดี๋ยวก็ไป” ดังนั้น ปัจจัยที่จะให้เกิดการเปลี่ยนแปลง อาจต้องเปลี่ยนตัวผู้บริหารบ้าง โรงเรียนที่เราเลือกเป็นโรงเรียนอ่อนแอ สภาพไม่พร้อม ก็จะเปลี่ยนช้า แต่ผู้บริหารระดับสูงและผู้บริหารสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเราก็ต้องการให้เกิดความยั่งยืนและความต่อเนื่อง ส่วนประเด็นงานศิลปหัตถกรรมฯ ถ้าหากกระบวนการคัดเด็กเข้าแข่งเกิดจากการจัดการเรียนรู้ให้เด็กทุกคนในโรงเรียน ให้ได้ทุกคนได้มีโอกาส ก็เป็นสิ่งที่ดี แต่หลายโรงเรียนก็เลือกเด็กและเตรียมเด็กไปแข่งเป็นการเฉพาะเมื่อเป็นเช่นนี้ก็แย่ ทั้งนี้ จะดีหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับกระบวนการคัดเลือกเด็กเข้าสู่การแข่งขันมากกว่า 

14. นายรังสรรค์ มณีเล็ก: ขอเสนอกึ่งถามกึ่งให้ข้อเสนอแนะเพราะว่าไม่มีโอกาสได้เข้าร่วมประชุมตอนเปิดโครงการ จึงจะเรียนถามว่า โครงการได้กำหนดภาพความสำเร็จของการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็นภาพความสำเร็จที่เกิดขึ้นกับเด็ก ครู ผู้บริหาร สภาพโรงเรียน เราได้กำหนดไว้ชัดเจนหรือไม่ มีความเข้าใจที่ตรงกันทั้งผู้อำนวยการเขตและทีมโค้ชของมหาวิทยาลัยหรือไม่ ถ้าเรามองภาพความสำเร็จไม่ตรงกัน คิดว่าความสำเร็จที่เกิดขึ้นของโครงการอาจจะมีปัญหาเหมือนกัน ภาพความสำเร็จต้องตรงกัน ส่วนวิธีการไปสู่ความสำเร็จน่าจะหลากหลายตามบริบทในแต่ละพื้นที่

15. นายอธิวัฒน์  พันธ์ประชา ผอ.สพป.ราชบุรี เขต 2: ที่ท่านรังสรรค์ได้ถามนี้สำคัญมาก นาทีทองช่วงเวลาที่โรงเรียนกำลังเตรียมการก่อนเปิดภาคเรียนแรกปีการศึกษาหน้า คิดว่าทุกเขตคงสร้างตัวชี้วัดเสร็จแล้ว ตัวชี้วัดต้องมี 4 กลุ่ม คือ ตัวชี้วัดโรงเรียน ที่ สพป.ราชบุรี เขต 2 ให้ครู 353 คน มาร่วมคิดตัวชี้วัด โรงเรียนต้องมีการพัฒนากายภาพและวิชาการ โรงเรียนต้องมีแผนพัฒนาเด็กรายคน ตัวชี้วัดผู้บริหารก็ต้องรู้จักเด็กรายคน ครูต้องสอนทักษะไม่ใช่สอนความรู้ มี 4 ด้าน โรงเรียน ครู ผู้บริหาร เด็ก เด็กสามารถใช้ทักษะการสื่อสารอะไรได้บ้าง มีมาตรฐาน ตัวบ่งชี้ความสำเร็จ ช่วงเวลานี้ควรให้แต่ละเขตได้เปิดโอกาสให้ครูมาทำตัวชี้วัด ซึ่งเรื่องตัวชี้วัดนี้ควรต้องให้ออกจากปากครูเองจึงจะศักดิ์สิทธิ์ 

16. นายสายัณห์ ผาน้อย ผอ.สพป.ขอนแก่น เขต 1:  ที่ท่านรองเลขาธิการ กพฐ.ถามนั้น ในการประชุมครั้งแรกก็มีเป้าหมายความสำเร็จของ 300 โรงเรียน จะต้องมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงขึ้น นักเรียนต้องมีทักษะในศตวรรษที่ 21 เด็กต้องมีความเป็นพลเมืองของโลก และต้องมีการปรับแก้ไขกฎหมายที่เป็นอุปสรรค ไม่ว่าเขตจะไปทำตัวชี้วัดใดก็ไม่พ้นเป้าหมายของโครงการทั้งสี่นี้ เป็นเรื่องที่ดีที่เป็นเรื่องการปรับการเรียนการสอน


นายวีระ พลอยครบุรี

17. นายวีระ พลอยครบุรี ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการศึกษา  สกศ.: ขอรายงานงานที่ สกศ.ได้มีส่วนร่วมใน Coaching Lab ทั้ง 6 ครั้ง ได้เก็บประเด็นต่างๆ มาทำเป็นเอกสารชื่อว่า “สะท้อนปัญหาและทางออกตอบโจทย์ปฏิรูปการศึกษาไทย” ซึ่งเลขาธิการสภาการศึกษาได้เห็นชอบให้จัดพิมพ์แล้วและจะเผยแพร่ต่อไป

18. นายรังสรรค์ มณีเล็ก: ฟังจาก ผู้อำนวยการเขต 2 ท่าน เห็นว่าภาพความสำเร็จใหญ่ๆ จะตรงกัน แต่เมื่อเจาะลึกอาจไม่ตรงกัน อย่างผลสัมฤทธิ์สูงขึ้น ที่หนึ่งอาจใช้ผลสัมฤทธิ์ที่เป็นเฉพาะ O-NET แต่อีกที่หนึ่งอาจใช้ผลครอบคลุมทุกด้านทั้งหมด แค่นี้ก็ไม่ตรงกันแล้ว ทางคณะทำงานโครงการอาจจะต้องย้ำภาพความสำเร็จที่อยากได้ไปยังผู้เกี่ยวข้องอีกครั้ง ทั้งความสำเร็จระยะสั้น เป็นช่วงๆ อะไรจะเกิดในแต่ละระยะบ้าง ถ้าเราทำอย่างชัดเจนเช่นนี้แล้ว เชื่อได้ว่า 20 เขต 300 โรงเรียนจะสามารถเปลี่ยนแปลงได้ กรณีที่เราอาจไปพบผู้อำนวยการโรงเรียนสักคนหนึ่ง ที่ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร ก็ไม่ใช่ความผิดของเขา แต่คิดว่าใจเขาอยากทำ/ อยากเปลี่ยน และใจเขามาแล้วแต่เขาไม่รู้จะทำอย่างไรให้ตรงกับที่เราอยากได้

19. รศ.ประภาภัทร นิยม: ความสำเร็จไม่มีโพยเฉพาะเจาะจง เพียงจะกระตุ้นว่า Key success หนึ่งคือ performance ของผู้อำนวยการโรงเรียน นี่คือ Key Success โค้ชข้างนอกต้องไปทำให้ผู้อำนวยการโรงเรียนเป็นโค้ชประจำโรงเรียนให้ได้ คิดว่าถ้าทำเช่นนี้ได้จะสำเร็จถึง 60-70 % คิดว่าเขาจะเปลี่ยนได้ แต่อาจมีอะไรบางอย่างไปจำกัดทำเขาให้เปลี่ยนช้า สิ่งนั้นน่าจะคือ ความกลัวและไม่มั่นใจว่า ที่ทำจะใช่หรือไม่ ไม่ใช่เขาไม่มีความสามารถ แต่คิดว่ามีอะไรบางอย่างมากดทับไว้ ต้องช่วยกันไปค้นหา

20. นายอธิวัฒน์  พันธ์ประชา ผอ.สพป.ราชบุรี เขต 2: จุดนี้เราเรียกว่าเป็นจุดคานงัด หาจุดที่เหมาะสมแล้วงัดพลิกได้ การที่จะทำให้ผู้อำนวยการโรงเรียนมีใจที่อยากทำงานนั้น เขาต้องเห็นภาพใหญ่ร่วมกัน เหมือนพระเจ้าตากจะตีเมืองจันท์ จะต้องทุบหม้อข้าวหม้อแกง

21. รศ.ประภาภัทร นิยม: เห็นว่าจริงนะ อย่างที่ไปพบผู้อำนวยการโรงเรียนสิ่งที่เขากลัว คือ กลัวในสิ่งที่ สพฐ.สั่งให้ทำ เขาก็ต้องทำ อย่างนี้เป็นต้น

22. นายนพรัตน์  อู่ทอง ผอ.สพป.เชียงราย เขต 1: ขณะนี้เชื่อว่าทุกเขตใกล้เคียงกันคือ โรงเรียนมีแผนปฏิบัติการ ลงปฏิทิน โรงเรียนมีปฏิทินทำ AAR ทำกันเอง เดือนละ 2 ครั้งบ้าง 4 ครั้งบ้าง เริ่มมีวัฒนธรรมใหม่เกิดขึ้น เคยเชิญผู้อำนวยการโรงเรียนมาประชุม 2-3 ครั้งแล้วเขาขอกลับก่อน ก็ถามว่ากลับไปทำไม เขาบอกว่ารีบกลับไปทำ AAR เราเห็นว่าเริ่มเปลี่ยนแล้ว แต่ที่สังเกตก็มี 2-3 แห่งพบว่า มีอิทธิพลของครูเก่าไปกระทบเรื่องพฤติกรรม มีความเกรงใจ มีเจ้าแม่อยู่ตรงนั้น ยังไม่กล้าเปิดใจ อาจจะต้องค่อยๆ สร้าง อีกเรื่องหนึ่งคือ การนัดหมายไม่เป็นไปตามเวลา จึงไม่สามารถทำตามปฏิทินได้ คิดว่าเมื่อได้คุยกับทีมโค้ชข้างนอก และทีมโค้ชระดับเขตแล้วจะจูนเข้าหากัน อย่างทีมโค้ช มศว ที่เขตเราเลือกนั้น เก่งเรื่องพฤติกรรม ก็เชื่อแน่ว่า ระยะเวลาผ่านไปจะดีขึ้น สำหรับผู้บริหารโรงเรียนเราคุยกันเข้าใจตรงกันแล้วว่า ต้องเป็น CEO on board 

23. รศ.ประภาภัทร นิยม: ที่เรานั่งคุยกันนี้เหมือน AAR กัน ทุกคนก็รู้ว่าเรามาด้วยทิศทางและเป้าหมายที่ตรงกัน ทำได้มากได้น้อยก็ขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัย เชื่อว่า ผู้อำนวยการโรงเรียนฝึกได้ ครูฝึกได้ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาจะต้องไปหาทางทำให้ key success นี้สำเร็จให้ได้ 

24. นายนพรัตน์  อู่ทอง ผอ.สพป.เชียงราย เขต 1: ที่เขตมีการพูดคุยถึงเรื่องการปรับหลักสูตร เพราะในคำสั่ง รมว.ศธ.เรื่องปลดล็อกเรื่องวิชาการ ที่ให้นำแนวปฏิบัติการปรับใช้หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานไปใช้ เพราะเขาเห็นตรงกันว่าหลักสูตรแกนกลาง 2551 ที่กำลังใช้อยู่ในขณะนี้ จะแข็งไป content เยอะไป มาตรฐานเยอะไป ตัวชี้วัดเยอะ จึงอยากจะปรับใช้หลักสูตรแกนกลางให้ยืดหยุ่นและเหมาะสม ได้คุยกันถึงแนวทางการลงผลการเรียนในแบบ ป.พ.

25. รศ.ประภาภัทร นิยม: ครูที่โรงเรียนรุ่งอรุณจะถามคำถามนี้คือ เมื่อให้เรียนแบบนี้แล้วเวลาสอบโอเน็ต 8 กลุ่มสาระทำอย่างไร ก็ตอบว่า วิชาไหนได้ก็ได้ไปเลย วิชาไหนตกก็ตกไปเลย ไม่ต้องห่วง ไม่กังวล เป็นไปตามนั้น แต่เวลานักเรียนเข้ามหาวิทยาลัยก็เข้าได้หมด เรื่องข้อสอบโอเน็ตนี้ เราไม่จำเป็นต้องไปภักดีอะไรมากมาย เน้นวิชาหลักๆ ให้ใช้ได้ก็เพียงพอ ผู้อำนวยการโรงเรียนต้องมีอำนาจในการตัดสินใจในการพาเรือลำน้อยไปให้ได้ 


นายพิทักษ์ โสตถยาคม

26. นายพิทักษ์ โสตถยาคม คณะทำงานและเลขานุการคณะทำงาน: ขอเล่าถึงงานที่ประธานคณะทำงานติดตามฯ ได้มอบหมายให้บุคลากรของเขตพื้นที่ดำเนินการทำแผนปรับปรุงคุณภาพโรงเรียนเสนอขึ้นมา และขออนุญาตพูดแทนท่าน ผอ.พิธาน พื้นทอง เพราะข้อมูลส่งมาอย่างรวดเร็ว กระชั้นชิด ทางเขตก็ลำบากเช่นกันที่จะเตรียมข้อมูลส่งมา และทางเราก็เวลาน้อยมากที่จะประมวลภาพรวมให้เห็นได้ จึงขอนำเรียนให้ทราบว่า ขณะนี้โรงเรียนกรอกข้อมูลใน Template ออนไลน์แล้ว 267 โรงเรียน จาก 300 โรงเรียน ถือว่าเป็นการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพสูงมากทั้ง ผู้อำนวยการเขต ศึกษานิเทศก์ และ ผอ.โรงเรียน ในการเขียนข้อเสนอเพื่อเชื่อมโยงกับสิ่งที่ควรปรับปรุง รวมทั้งได้สรุปเฉพาะรายการของบประมาณระยะสั้น (เทอมหน้า) ระยะกลาง (เทอมสอง) และระยะยาว (2-3 ปีข้างหน้า) แจกแจงออกมาว่าจะมีงบประมาณอะไรบ้าง ซึ่งไม่สามารถนำเรียนตอนนี้ได้หมด จึงขอนำไปประมวลสังเคราะห์นำเสนอในโอกาสต่อไป แต่ในการประชุมนี้จะขอให้ท่าน ผู้อำนวยการเขต ที่ได้เห็นกระบวนการทำงานของศึกษานิเทศก์ และบุคลากรของโรงเรียนแล้ว อาจมีข้อคิดใดที่จะชี้ประเด็นหรือ comment เบื้องต้น เพื่อท่านประธานคณะทำงานฯ จะได้มีข้อมูลเพื่อการประชุมในครั้งต่อไป ก็อาจใช้โอกาสนี้เสนอความคิดความเห็นต่อที่ประชุมได้

27. นายวิระ  แข็งกสิการ ผอ.สพป.นครสวรรค์ เขต 3: ระยะเวลาดำเนินการค่อนข้างจำกัดและเร่งด่วน การสื่อสารในมิติต่างๆ ก็พยายามให้โรงเรียนเสนอและเปิดปลายกว้างว่าแล้วแต่โรงเรียน จะมีความต้องการด้านใดบ้าง อะไรบ้าง เมื่อเปิดโอกาสให้โรงเรียนได้แสดงความรู้สึกนึกคิด และความต้องการไปแล้ว เบื้องต้นเราเป็นนักบริหารก็เชื่อว่าจะได้เป็นส่วนน้อย ถ้าพูดตรงๆ ก็คือ คงจะไม่ได้งบประมาณตามนี้ เพราะกระบวนการทำลักษณะนี้บ่อยครั้ง เขาจะรู้สึกว่าเขาจะได้สิ่งที่เขาเสนอมาตามนี้ เขาก็กระตือรือร้นรีบกลับมาทำ รีบประชุมครู เวลาแทบจะไม่ได้อยู่กับลูกกับเมีย เพื่อให้เสร็จให้ทันเวลา ภาพที่เขาเห็นชัดและใจเขาฟุ้งไปว่าจะได้ ก็จะหายไป แล้วมันก็หายไป และเชื่อว่าก็จะหายไป ไม่ได้อะไรคืนกลับไปสถานศึกษาอย่างที่เขาหวังและที่เขาต้องการ ตนมีความเชื่ออย่างนี้ เพราะเรามีการเสนอของบประมาณแบบนี้มาหลายครั้ง ทั้งในการของบประมาณปกติและการของบประมาณพิเศษ   

28. รศ.ประภาภัทร นิยม: ก่อนที่เราจะมี Template ช่วย ก็มีเหตุมาก่อนหน้านี้คือ เขตไม่ได้ไปไดอะล็อกกับโรงเรียน แต่เป็น one way เสมอ ก็จะเกิดอาการเช่นนั้น แต่ถ้า ผู้อำนวยการเขตไปไดอะล็อกกับผู้อำนวยการโรงเรียนโดยไปคุยว่าสิ่งที่เขาควรเสนอคืออะไร ก็จะไม่หายไป เพราะเป็นเรื่องที่เขาควรจะได้ แต่ถ้าไม่ไดอะล็อกและเป็น one way ตลอด พอ Template ลงไป ก็เพียงช่วยให้ one way สะดวกขึ้นเท่านั้น และไม่ได้สิ่งที่เป็นจริง ท่านก็บอกว่าก็คงจะไม่ได้รับการสนองตอบ แต่ที่เราตั้งใจทำคือ ต้องการที่จะสนองตอบให้ตรงจุด ของสิ่งที่ควรจะเป็น สิ่งที่ควรจะไปแก้ปัญหา แล้วไปทำให้เกิดคุณภาพผู้เรียนได้จริงๆ ตรงนี้จึงต้องการให้สื่อสารให้ชัดๆ และไม่ต้องการให้กลับไป ณ ที่เดิม ก็ได้ให้ถ่าย clip vdo ไปเพื่อบอกกล่าวว่า โรงเรียนควรจะให้ข้อมูลกลับมาอย่างไร จึงจะสะท้อนปัญหาจริง เพื่อคุณภาพผู้เรียนจริงๆ ฉะนั้น จึงจะเกิดการวางแผนฯที่ระบุปัญหาเป็น จะแก้ไขปัญหาได้ ซึ่ง ผู้อำนวยการเขต ทำได้เลยคือ ต้องพูดคุยกับโรงเรียนคุยกันว่าอะไรเหมาะสม อะไรสมเหตุสมผล ต้องคุยกันอย่างมาก ถ้า ผู้อำนวยการเขต ทำได้ตามนี้ อีกหน่อยโรงเรียนก็จะเก่ง จะวางแผนของเขาเป็น รู้ปัญหาของเขา และสามารถบริหารจัดการตัวของเขาได้ ไม่ใช่เป็นลูกที่แบมือขอเงินแต่ไม่รู้เอาไปทำอะไร เราต้องการให้เกิดการฝึกให้โรงเรียนเกิดการวางแผนของเขาเองได้ ซึ่งเชื่อว่าโรงเรียนทำได้แน่นอน  

29. นายพิทักษ์ โสตถยาคม: ขอนำเสนอภาพใน Presentation ในส่วนที่ทำไฮไลท์ในตารางนำเสนอข้อมูลของโรงเรียน จะเห็นว่า โรงเรียนนี้ขอห้องสมุดพร้อมอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ เฉพาะรายการเดียว 1,200,000 บาท แต่ก็ยังไม่ได้ดูว่าเป็นโรงเรียนใด มีจำนวนนักเรียนเท่าใด ซึ่งโรงเรียนนี้ยังมีรายการอื่นๆ ที่เสนอขอมาอีก  ดังนั้น จึงขอปรึกษาว่า เราควรจะมีกรอบ ขอบเขต กติกา ที่จะใช้เป็นเกณฑ์การพิจารณาอย่างไรหรือไม่

30. รศ.ประภาภัทร นิยม: เคยหารือกันแล้วว่า ต่อให้เรามี Template ที่ดีและวิเศษขนาดไหน ก็คงไม่ใช่ เราพยายามให้เริ่มต้นที่คุณภาพผู้เรียนที่ต้องการจะยกระดับ โดยวิธีอะไรบ้างที่คิดว่าสำคัญและจะทำให้คุณภาพนั้นเกิดขึ้นได้จริง ถ้าเขาขออย่างนี้มาก็ถามว่า ถ้าได้ห้องสมุดมาอย่างนี้แล้ว เด็กจะเปลี่ยนไปอย่างที่วางเป้าหมายไว้จริงหรือไม่ ก็ต้องถามด้วยคำถามธรรมดานี้ สิ่งที่เขาเขียนมานี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่จะคุยกัน ซึ่ง ผู้อำนวยการเขต ต้องเป็นผู้คุย ไม่ใช่คณะทำงานนี้ไปคุย เพราะ ผู้อำนวยการเขต ทราบดีว่า โรงเรียนนี้มีครูกี่คน นักเรียนกี่คน จะมีใครดูแลบริหารจัดการห้องสมุดนี้หรือไม่ ต้องคุยกับเขา นี่เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำเรื่องนี้กัน ทำอย่างไรไม่ให้เกิดอาการมั่ว

31. นายนพรัตน์  อู่ทอง ผอ.สพป.เชียงราย เขต 1:  ตอนนี้ทำมา 2 รอบแล้ว ครั้งแรกวันที่ 11-12 ก.พ. แล้วก็ส่งให้ปรับกลับมาใหม่วันนี้ 20 ก.พ. ขั้นตอนต่อไปจะตัดและปรับเหลือโรงเรียนละเท่าไร  คงต้องถามทาง สพฐ.ว่า วิธีการพิจารณาตัดแผน จะต้องมีคณะกรรมการกลางหรือไม่

32. รศ.ประภาภัทร นิยม: ไม่มีคณะกรรมการกลาง ก็ต้องย้อนกลับไปที่เขตพื้นที่ เขตต้องคุยกับเขา ไม่ใช่อยู่ๆ ก็ตัดเขา โดยที่อธิบายไม่ได้ว่าตัดเพราะอะไร ก็ทำไม่ได้ และไม่ควรทำด้วย เป็นเรื่องที่คุยกันให้รู้เรื่องว่า เอาอะไรแค่ไหน ที่ทำให้ได้คุณภาพเปลี่ยนจริงๆ อยู่ตรงนี้หรือไม่ เน้นกระบวนการแบบนี้ที่เป็นวัฒนธรรมอีกแบบหนึ่ง ที่ท่านไม่เคยทำกันมา สิ่งที่ทำกันมาคือ ได้กระดาษแล้วไม่รู้ความจริง แล้วก็นั่งหัวเราะเยาะสิ่งที่ท่านทำ มาถึงตรงนี้จะ 3 รอบ 4 รอบ 5 รอบ ก็ต้องให้ชัดว่า เรากำลังทำอะไรกันอยู่ เราทำเรื่องที่มีเหตุมีผล พูดจากันชัดเจนหรือไม่ บนโต๊ะนี้หรือใครจะมีอำนาจไปตัด ตัดเขาด้วยเหตุผลอะไร ถ้าเขายืนยันว่า ใช่แน่ถ้าทำแบบนี้แล้วจะเกิดมีคุณภาพจริงขึ้นมา ใครจะกล้าไปตัดงบประมาณเขา จึงได้กล่าวว่า ไม่ว่าเราจะทำ Template ดีขนาดไหน มีเกณฑ์ดีเพียงใด ก็จะยังไม่ใช่คำตอบ คำตอบอยู่ที่ผู้อำนวยการเขตต้องไปคุยกับผู้อำนวยการโรงเรียน 


นายปริญญา ธรเสนา

33. นายปริญญา ธรเสนา ผอ.สพม. เขต 22: เห็นด้วยที่จะให้ผู้อำนวยการเขต และ ผู้อำนวยการโรงเรียนกลับไปคุยกัน หาจุดร่วมที่พอเพียงที่สุด ดีที่สุด แต่ก็ชื่นชมครูและผู้บริหารโรงเรียนที่ตั้งใจจริง บางครั้งอาจเร่งรีบและยังไม่สมบูรณ์เพราะมีเวลาจำกัดที่จะได้ทบทวน และตนมีข้อเสนอว่า อาจนำผลการจัดทำแผนของบางเขตที่ดี เผยแพร่ให้เขตอื่นๆ ได้เรียนรู้และประยุกต์ใช้ด้วย 
  
34. นายสายัณห์ ผาน้อย ผอ.สพป.ขอนแก่น เขต 1:  ก็น่าเห็นใจทุกฝ่าย ทางโรงเรียนก็มีความปรารถนาดีที่ต้องการพัฒนา ที่ขอนแก่นเขต 1 เราประชุมร่วมกัน ข้อสรุปอาจมี 2 วิธีการ (1) ฟันธงโดยคณะกรรมการ เราจะเทียบเคียงกับโรงเรียนเอกชนได้หรือไม่ ว่างบประมาณต่อหัวเท่าไร และอาจมีคณะกรรมการส่วนกลางตัดสินใจ แต่อาจไม่ได้เห็นภาพชัด และไม่ได้พูดคุยกับโรงเรียนให้ชัดเจน (2) กลับไปให้เขตพูดคุยกับโรงเรียนอีกครั้ง  แต่ต้องให้เวลา และกำหนด minimum และ maximum ให้มีมาตรฐาน ไม่ให้แตกต่างกันเยอะใน 300 โรงเรียน ถ้าจะให้สอดคล้องกับความคิดที่ตกผลึกเรื่องสภาการศึกษาจังหวัด ก็อาจเชื่อมโยงกับสภาการศึกษาจังหวัด ให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเป็นฝ่ายเลขานุการ ให้พิจารณาดูว่า 15 โรงเรียนทำแผนตั้งงบประมาณไปนั้นเหมาะสมหรือไม่ คิดว่าเมื่อกลับไปแก้ไขรอบนี้แล้วน่าจะโอเคแล้ว มิฉะนั้น การตีกลับไปกลับมาหลายครั้งจะทำให้หมดกำลังใจและเวลา 

35. รศ.ประภาภัทร นิยม: ขณะนี้เรากำลังจะตัดเสื้อตาม size ของผู้ใส่ เราจึงไม่ทำค่าเฉลี่ยให้ เพราะโรงเรียนที่เดือดร้อนก็เดือดร้อนไม่เท่ากัน แต่หากกำหนดมาตรฐานไว้เท่านี้เท่านั้น ก็ไม่ต้องมานั่งประชุมกัน โดยกำหนดไปเลย ก็เหมือนเดิมทุกอย่าง ตอนนี้ให้ตัดเสื้อพอดีตัว เลือกรองเท้าให้พอดี size จะไม่เอาหรือ วัดตัวไม่เป็นหรืออย่างไร เหมือนวัฒนธรรมบางอย่างครอบงำให้ทำอย่างนี้อยู่เช่นนี้ตลอดกาล ถ้าเป็นเอกชนจะไม่ทำอย่างนี้เลย ถ้าขออะไรต้องมีเหตุผล และต้องพิสูจน์ว่าที่ขอนี้มีเหตุที่มาจริงๆ เพราะเป็นเรื่องตรงไปตรงมา เพราะ 20 เขตพื้นที่นี้เรากำลังอยู่ในโครงการทดลอง ก็จำเป็นต้องทดลองให้คิด ไม่ใช่ว่าเข้าโครงการหนึ่งแล้วได้อะไรไปนิดหนึ่ง แต่ไม่รู้ว่าตอบโจทย์คุณภาพหรือไม่

36. นายชลำ อรรถธรรม ผอ.สพป.ภูเก็ต:  มาตรฐานของคนแต่ละคนแตกต่างกัน บางโรงเรียนขอ 6 ล้านบาท บางโรงเรียนขอ 3.5 แสนบาท เขตจะต้องไปจัดการ เราอาจวางงบประมาณไว้ก้อนหนึ่ง เช่น เขตละ 20 ล้านบาทแล้ว ให้เขตไปบริหารจัดการกันเอง เพราะเรื่องคุณภาพเท่าไรก็ไม่พอ แต่ให้เขตไปบริหารจัดการเองตามความจำเป็นและความต้องการของโรงเรียน


นายนิสิต ชายภักตร์

37. นายนิสิต  ชายภักตร์ ผอ.สพป.สตูล: ทบทวนนิดหนึ่ง ที่ให้ส่งแผนฯครั้งแรกในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ ก็ได้เชิญโค้ชจากมหาวิทยาลัยทักษิณ รองผู้อำนวยการเขต และผู้อำนวยการโรงเรียน มาประชุม แล้วตนเองได้ให้หลักการว่า งบประมาณที่จะขอนั้น ประการแรกต้องตั้งอยู่บนบริบทพื้นฐานของแต่ละโรงเรียน ประการที่สอง ให้สิ่งที่เขียนขอนั้นสามารถปฏิบัติได้จริง ประการที่สามส่งผลต่อคุณภาพผู้เรียน เกิด outputs ถ้าถามว่าเท่าไร ก็บอกว่าอยู่บนหลักความพอเพียง ปัญหาคือไม่มี limit จำได้ว่าในวันประชุมครั้งแรกที่ สพฐ. เกี่ยวกับการเลือกโรงเรียน มอบให้ผู้อำนวยการเขตไปคิด แต่ขอให้ผู้บริหารโรงเรียนมีความมุ่งมั่น ประเด็นปัญหาคือ 300 โรงเรียน เราให้เขาเขียนในบริบทแตกต่างกัน ความต้องการที่แตกต่างกัน การจะตัดเพิ่มเติมต่องบประมาณจึงไม่ง่าย วันนี้จะต้องสะเด็ดให้ได้ว่าจะเอาอย่างไร ถ้าไม่ได้ข้อยุติแล้วจะหวังให้รายงานผลต่อ รมว.ศธ. ได้อย่างไร 


นายต่อศักดิ์ บุญเสือ

38. นายต่อศักดิ์  บุญเสือ ผอ.สพป.ลพบุรี เขต 2: ฟังจากผู้อำนวยการเขตแต่ละท่านนำเสนอก็มองไปในแนวทางเดียวกัน เห็นว่าแผนฯยังไม่เหมาะสม จากการดูการของบประมาณของโรงเรียนแต่ละเขต เป็นการเสนอมาตามใจชอบ บางโรงเรียน 6 ล้านบาท บางโรงเรียน 3 แสนบาท ฉะนั้น จึงจะขอนำกลับไปทบทวน ขอกำหนดระยะเวลาไปทำงานกับโรงเรียน และให้โรงเรียนเสนอมาตามความเหมาะสม ให้โรงเรียนวิเคราะห์ว่าปัญหาเขาคืออะไร  ได้งบประมาณไปจะไปทำอะไร คุณภาพจะเกิดขึ้นแน่หรือไม่

39. นายนพรัตน์  อู่ทอง ผอ.สพป.เชียงราย เขต 1: อยากจะให้มีวิธีการทำงานหลังจากนี้  ขณะนี้ทำแล้ว 2 รอบ ถ้าเขายืนยันอย่างนั้น จะมีข้อยุติอย่างไร จะไม่มีค่ากลางเอาไปวางกรอบเพื่อพิจารณา เราจะกำหนด minimum ก็ไม่ได้ maximum ก็ไม่ได้ ย้อนมา 2 รอบแล้วก็ปรับกันมาแล้ว เมื่อวานผู้อำนวยการโรงเรียนมาดูงานก็นำโน้ตบุ๊คมาทำตอนดูงานด้วย ถ้าส่งกลับไปอีกจะยืดเยื้อ อยากขอให้ช่วยคิดและให้ได้ข้อสรุปเป็นแนวปฏิบัติอย่างชัดเจน

40. นายวิระ  แข็งกสิการ ผอ.สพป.นครสวรรค์ เขต 3: การประชุมนี้เป็นเวทีวิชาการกึ่งบริหาร จึงกล้าพูดว่า เวลาเราทำวิจัยสักเรื่องหนึ่ง กระบวนการที่ใส่ over เกินไป เช่น ใส่งบประมาณมากไป ก็จะมีประเด็นว่างานวิจัยนี้จะไปใช้กับโรงเรียนอื่นได้หรือไม่ อย่างไร ถ้าจะวิจัยกรอบแนวคิดนี้ โรงเรียนต้องใช้ input 1-2-3-4 จะออกมา ก็ชื่นชมท่านประธานฯที่พูดถูกทุกเรื่อง ในมโนคติ หรือความคิดในฝันนี่ถูกทุกเรื่อง ว่า โรงเรียนจะต้องคิดเอง วิเคราะห์เองอย่างนี้ ผู้อำนวยการเขตต้องจัดการสถานศึกษาอย่างนั้นอย่างนี้ เป็นความคิดที่ถูกต้อง ไม่ปฏิเสธ ดูเหมือนว่าท่านจะพูดถึงเรากับเอกชนด้วย ก็ถูกต้อง เพราะเอกชนก็มีมิติคิดอีกแบบหนึ่ง ก็ถูกต้อง ท่านก็พูดเหมือนตำหนิระบบราชการก็ถูกต้องอีก ถูกต้องทุกเรื่อง แต่ที่นำเรียนกับท่าน ก็คือว่า เป็นวิถีของข้าราชการที่อยากให้เสนอ ก็เสนอ เคยมีปีหนึ่งที่น้ำท่วม คนหนึ่งเสนอ 1 ล้านบาท คนหนึ่งเสนอ 2 แสนบาท คนเสนอล้านได้ล้าน คนเสนอแสนได้แสนเลย อย่างนี้เป็นต้น ที่เขาเสนอมาก็เผื่อฟลุ๊คเหมือนกัน ถ้าให้เขากลับไปเสนอใหม่ เขาก็จะเสนอแบบเก่า ผู้อำนวยการเขตจะเอาเชือกไปผูกคอเขาก็ไม่ได้เหมือนกัน ขอนำเรียนตรงๆ ว่า ถ้าเรามีกรอบความคิดในเบื้องต้นว่า จะให้เขตเท่านี้ แล้วเราก็จะไปช่วยกันบริหารได้ แต่ถ้าอยู่ในอากาศหมดจะเป็นภาพเช่นนี้ การทำเช่นนี้ไม่ได้ให้เวลา 1 เดือน 2 เดือน แต่ที่ผ่านมาให้เวลาเพียง 3 วัน 2 วัน 

41. รศ.ประภาภัทร นิยม: (1) เรื่องให้เวลาคิดนี่น่าสนใจ ให้เวลา 1 เดือนเลยไหม แล้วยังไม่ต้องประเมินผลระยะ 3 เดือน ก็จะท้าทายเหมือนกัน แต่ขอให้ไปฝึกให้โรงเรียนระบุปัญหาของตนเองให้เป็น ให้รู้ปัญหาของตนเองว่าปัญหาที่แท้จริงอยู่ตรงไหน ที่ทำให้คุณภาพยังไม่ได้ แต่ขอให้ทำให้เป็น ก็ถือว่าคุ้มมาก ให้เดือนหนึ่งเลยไปทำงานกันมาให้สมเหตุสมผล เข้าใจกันได้ เพราะทุกคนเป็นผู้นำเป็นผู้บริหารระดับสูง หากทำเรื่องสมเหตุสมผลไม่ได้ แล้วใครจะมาทำ แล้วจะไปหวังให้เด็กเป็นอย่างไร (2) ที่กล่าวหาว่า “มโน” หรือคิดเอาเองนั้น ไม่ใช่และไม่ถูกต้อง เพราะการคิดเช่นนี้อยู่ในโลกแห่งความเป็นจริง การทำโรงเรียนเอกชนได้ต้องรู้ชัดเจนว่าโรงเรียนเราจะเอาอะไร ต้องชัดเจน เช่น พรุ่งนี้จะมีเงินเดือนให้ครูและพนักงาน 200 ชีวิต แล้วเดือนหน้าจะทำอย่างไร และต้องให้เขามีคุณภาพด้วยจะทำอย่างไร นี่คือเรื่องจริงที่มนุษย์ต้องเผชิญ แต่ท่านเป็นมนุษย์ที่ถูกเลี้ยงดูทุกอย่าง ไม่ต้องคิดอะไร มีเงินเลี้ยงดูทั้งปีทั้งชาติ  โลกแห่งความเป็นจริงไม่ได้ใสสะอาดและสวยเช่นนั้น ท่านไม่กล้ามาเผชิญความจริง ท่านต้องหัดทำเรื่องจริงบ้าง ประเทศจะได้เจริญ ส่วนคุณภาพเด็กจะเป็นอย่างไรก็อีกเรื่องหนึ่ง แต่โรงเรียนเอกชนต้องรับผิดชอบ ถ้าเด็กไม่ดีผู้ปกครองเอาเด็กออกหมด โครงการเรานี้เป็นโครงการทดลองก็ควรทดลองเปลี่ยนวิถีใหม่ เพราะในรัฐธรรมนูญเขาเขียนการกระจายอำนาจแล้ว จะไม่ได้อยู่กันอย่างเดิมแน่นอน จะต้องรีบปรับตัว เพราะเขาจะโอนเขตพื้นที่ไปอยู่กับ อบจ. เพราะขณะนี้ไม่มีโมเดลใดที่จะนำมาให้เหตุผลเขาให้ดีกว่าที่จะไปอยู่กับ อบจ. ดังนั้น การทดลองให้เขตพื้นที่ดูแลโรงเรียน 15 โรงเรียน ก็เพื่อให้เขตพื้นที่ทดลองโมเดลจัดการโรงเรียนของตนเองให้ได้คุณภาพแท้จริง   
    
นายธีรวุฒิ พุทธการี

42. นายธีรวุฒิ  พุทธการี ผอ.สพป.ศรีสะเกษ เขต 4: โรงเรียนคิดตามคำถามใน Template ว่า ภาคเรียนแรกผลดูจากอะไร จะทำอะไร ใช้งบประมาณเท่าไร จนถึงปี 2560 เพราะใน Template ตั้งคำถามไว้เช่นนี้ หากกลับไปวิเคราะห์ใหม่ในปี 2558 เพียงภาคเรียนแรก ก็จะชัดเจน 

43. นายปฐมฤกษ์  มณีเนตร ผอ.สพป.นครราชสีมา เขต 1: ขณะนี้ไปถูกทางแล้ว ถ้ากลับไปทำอีกก็ไม่เสียหาย เพราะครูเรายังทำกันไม่เป็น ปี 2558 จะเอาเท่าไร เพื่อให้คุณภาพเพิ่มขึ้น อย่างที่ระบุรายการเดียว 1,200,000 บาท คงมากเกินไป ไม่สามารถให้ได้ คงจะต้องกลับไปชี้แจงอีกครั้งน่าจะดีขึ้น 

44. นายต่อศักดิ์  บุญเสือ ผอ.สพป.ลพบุรี เขต 2:  ถ้าให้เวลา 2 เดือน กว่าจะอนุมัติเดี๋ยวจะใช้เงินไม่ทัน จึงขอเสนอให้กำหนดเวลา 1 เดือนในการปรับปรุงแผนอีกครั้ง

45. นายปริญญา ธรเสนา ผอ.สพม. เขต 22: อยากเสนอให้นำรูปแบบการจัดทำแผนดีๆ ของโรงเรียนในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาอื่นๆ ได้สร้างเครือข่ายและเผยแพร่อย่างเป็นรูปธรรม

46. นายพิทักษ์ โสตถยาคม: หลังจากเสร็จการประชุมวันนี้จะนำแผนฯ ของโรงเรียนที่ส่งมาในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ ทำเป็น PDF แล้วเผยแพร่เผยแพร่ไปยังกลุ่ม line และ email ให้ทุกคนสามารถเปิดเข้าไปศึกษาเรียนรู้ได้อย่างสะดวก ส่วนแผนฯที่เป็น Template นั้น ขณะนี้ก็สามารถคลิกเข้าไปดูแบบ real time ได้อยู่แล้ว 

47. นายรังสรรค์ มณีเล็ก: การให้เอากลับไปคิดและไปทบทวนก็เป็นสิ่งที่ดี เมื่อนำขึ้นมาตรงนี้แล้วก็ยังตัดสินไม่ได้ ต้องให้เขตไปตัดสินเอง ถ้าเราเชื่ออย่างนี้ เราก็ต้องเชื่อเขต เพราะถ้ากลับมาแล้วมาบอกว่า มากเกินไปหรือไม่เอาตามที่เสนอ ก็จะวน และไม่ได้ข้อยุติ

48. รศ.ประภาภัทร นิยม: สุดท้ายก็ต้องเชื่อเขต และถ้าไม่มีเงินจริงๆ ก็ต้องหาวิธีการระดม อันนี้จะทำให้เกิดคุณภาพจริงๆ ตกลงถ้าสิ่งนี้ทำได้จริงคุณภาพเด็กจะเกิดขึ้นจริงๆ ถ้ายืนยันมาอย่างนั้น เขาต้องรับผิดชอบ ทั้งผู้อำนวยการเขตพื้นที่และผู้อำนวยการโรงเรียนต้องรับผิดชอบ ไม่ใช่ไม่มีคนรับผิดชอบ จะต้องไประดมมาให้เขาก็ต้องทำ เพราะเราจะพยายามทำให้เกิดคุณภาพขึ้น เกิดการปฏิรูปการเรียนรู้ได้จริงๆ อย่างไรก็ต้องเชื่อเขา

49. นายรังสรรค์ มณีเล็ก: เกรงว่าเมื่อกลับไปอีกรอบแล้วจะไม่เชื่อ คราวนี้ก็ไม่อยากจะพูดคำนี้ ก็คือ ถ้าเราไม่กำหนด ceiling (เพดาน) เลย เวลาจะขยายผลความเป็นไปได้จะลำบากมาก เพราะภาพใหญ่ของประเทศอย่างสำนักงบประมาณ ก็จะกำหนด ceiling ของงบประมาณ ว่า กระทรวงศึกษาธิการจะให้เท่าไร เราเคยให้เสนอแบบ zero budget/ งบประมาณฐานศูนย์ มีการเสนอมาแบบถล่มทลาย สุดท้ายก็เป็นไปไม่ได้  ดังนั้น จะเป็นไปได้ไหมถ้าเราจะกำหนดเพดานงบประมาณครั้งนี้ให้โรงเรียนและเขตพื้นที่

50. รศ.ประภาภัทร นิยม: สมมติว่ากลไกการบริหารย่อส่วนลงไปอยู่ในระดับเขต หรืออยู่ในระดับจังหวัด ต้องมีโมเดลแบบนี้เกิดขึ้น คงไม่ใช่เปิดแล้วถล่มทลายอย่างนั้น ต้องมีการดูแลกันในระดับเขตพื้นที่ และระดับจังหวัดให้ได้ มิฉะนั้น ก็จะไร้ทิศทางและความหวัง อย่างไรก็ตาม คงจะต้องมีวิธีการบริหารจัดการได้ ถ้าอยู่บนฐานของความจริง ในการขยายผลเราจะต้องเรียนรู้จาก 20 เขตพื้นที่นี้ จะต้องเรียนรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น วิธีการที่มีความเป็นไปได้มากที่สุดในการพัฒนาคุณภาพนั้นอยู่ตรงไหนกันแน่ ต้องคอยมาดูว่า ข้อมูลสุดท้ายที่จะเข้ามาว่าใช่จริงไหม แต่ละเขตต้องรับผิดชอบ จะต้องมีเงื่อนไขกัน 

51. นายรังสรรค์ มณีเล็ก: ถ้าเราไม่ส่งสัญญาณอะไรเลย ปรากฏการณ์ที่เขตหนึ่งอาจมา 5 ล้านบาท อีกเขตหนึ่งอาจมา 30 ล้านบาท ก็จะเป็นไปได้ ที่พูดเช่นนี้เพื่อป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้น เพื่อไม่ให้ต้องนำกลับไปคิดใหม่ ก็จะเสียเวลา แต่ถ้าส่งสัญญาณอะไรไปบ้างก็จะดี 

52. รศ.ประภาภัทร นิยม: 15 โรงเรียน มีจำนวนนักเรียนเท่าไรเรารู้อยู่แล้ว ฉะนั้น จะเสนอมา 5 ล้านบาทหรือ 30 ล้านบาท นั้น จะขึ้นอยู่กับอะไร เป็นเรื่องที่ตอบง่ายมาก ก็ดูจากจำนวนเด็ก จำนวนครู และสิ่งที่จะนำไปใช้

53. นายอำนาจ วิชยานุวัติ ผอ.สนผ. สพฐ.: ภาพ 1 เดือนจะเห็นภาพความรับผิดชอบของโรงเรียนและเขตพื้นที่การศึกษา ซึ่งจะให้ไปดูความเป็นจริง จากจำนวนนักเรียนที่มีและงบประมาณที่เสนอขอ จึงควรดูในรายละเอียด ความรับผิดชอบที่เกิดขึ้นของเขต โรงเรียน และเป้าหมายที่คุณภาพผู้เรียน ครั้งนี้เหมือนเป็นการ Try out เครื่องมือหนึ่งที่ใช้ความไว้เนื้อเชื่อใจกัน เพื่อนำสู่กระบวนการพัฒนาในอนาคต 

54. รศ.ประภาภัทร นิยม: เชื่อถือใน ผู้อำนวยการเขต แต่ขอให้เวลาผู้อำนวยการเขตมากขึ้นไปทำงานกับ ผู้อำนวยการโรงเรียน จะได้พัฒนาบุคลากรของตนเองด้วย ขอให้เสนอมาเพียงปีงบประมาณ 2558 (ถึงกันยายน 2558) นี้เท่านั้น

55. นายนพรัตน์  อู่ทอง ผอ.สพป.เชียงราย เขต 1:  จะถึงขั้นให้คิดรายหัว อนุบาล ประถม ขยายโอกาสรายหัวละเท่าไร หรือมีรายหัวครู เมื่อมีจำนวนเท่าไรก็คูณไปตามนั้นจะดีหรือไม่ มิฉะนั้น ก็จะเกินจะขาด เมื่อได้วงเงินไปเท่าไรก็ทำโครงการพัฒนาตอบโจทย์ไปตามนั้น

56. รศ.ประภาภัทร นิยม: เป็นแนวคิดและเหตุผลเฉพาะแต่ละเขต ท่านอื่นอาจไม่คิดอย่างนี้ก็ได้ ให้หาสูตรของตนเอง มีเหตุมีผลของตนเอง ถ้าเชื่อว่าถ้าทำอย่างนี้ คุณภาพโรงเรียนที่แย่มากจะดีขึ้น ขึ้นอยู่กับวิจารณญาณและตอบโจทย์ให้ได้ ให้โรงเรียนรู้ตัวว่าปัญหาเขาอยู่ที่ไหน และเขาต้องการทำอะไรให้ดีขึ้น นี่คือจุดที่สำคัญที่สุด ต้องฝึกผู้อำนวยการโรงเรียน ไม่ใช่เห็นเขาเป็นแค่เสมียน ต้องให้เขาเติบโตขึ้นเป็นผู้บริหาร ต้องตอบโจทย์ความเป็นจริงให้ได้

57. รศ.ประภาภัทร นิยม: ขอให้แต่ละท่านพูด last word คนละ 2 นาที

58. นายปริญญา  ธรเสนา ผอ.สพม. เขต 22: ยินดีครับและคิดว่าวิธีนี้เป็นการสร้างผู้นำระดับเขตพื้นที่ด้วย เป็นสิ่งที่เราต้องเอาออกจากตัวเรา ให้บุคลากรในเขตเห็นและเชื่อมั่น และเชื่อว่าทำได้ 


นายชูเกียรติ บุญรอด

59. นายชูเกียรติ บุญรอด รอง ผอ.สพม.เขต 5: วันนี้ทำแผนงบประมาณมาแล้ว ตามที่ได้กำหนดไว้ใน Template ตั้งใจแต่แรกจะขอทบทวนแผนและสร้างความเข้าใจกับโรงเรียนอีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้ได้งบประมาณตามความจำเป็น


นายอารักษ์ พัฒนถาวร

60. นายอารักษ์  พัฒนถาวร ผอ.สพป.พระนครศรีอยุธยา เขต 1: เท่าที่ดูจากแผนของบประมาณมาไม่มากเท่าไร ยิ่ง ผอ.อำนาจบอกว่าจะให้เจ้าหน้าที่ธุรการและนักการภารโรงด้วยแล้ว น่าจะใช้งบประมาณไม่มาก ขออย่าคาดหวัง เพราะทุกคนอยู่ในระบบราชการมานาน ไม่เหมือนกับเอกชน บางเรื่องติดขัดหมด การจะคัดเลือกครูไม่ใช่ง่ายๆ หากอยู่เอกชนจะทำได้หมด เคยพูดกับครูว่า ถ้าการศึกษาจะดีต้องยกให้เอกชนไปบริหาร และรับรองว่าครูจะถูกไล่ออกเกิน 50% เพราะว่า ผมเงินเดือน 6 หมื่นกว่า ไม่ต้องทำอะไร เดินไปเดินมาก็ได้ 6 หมื่นกว่าบาท ปีหน้าก็ขึ้นอีกขั้นครึ่งอย่างต่ำ แต่เอกชนไม่ใช่ ถ้าท่านคาดหวังว่า เราจะทำได้อย่างท่าน ขอบอกได้เลยว่า ทำได้แค่ครึ่งเดียว แต่ด้วยความมุ่งมั่น เท่าที่ดูจาก 20 เขต และโรงเรียนที่เลือกมาก 15 โรงเรียนนั้น ผมเลือกดูจากคนที่มีความมุ่งมั่น อย่าคาดหวังว่าจะได้เงินเท่านั้นเท่านี้ ความสำเร็จอยู่ที่พวกเรามุ่งมั่นตั้งใจ ฉะนั้นเจตนารมณ์ของท่านสำเร็จเกินครึ่งแต่ไม่ถึง 80% แน่นอน

61. นายสายัณห์  ผาน้อย ผอ.สพป.ขอนแก่น เขต 1: มีความตั้งใจ แต่บางอย่างก็ติดขัด ในส่วนของ สพฐ.เอง มีโครงการหลายโครงการ ก็ต้องให้สอดคล้องกันด้วย โรงเรียน 15 โรงเรียนไม่ใช่ว่าจะทำเฉพาะโครงการปฏิรูปฯ นี้อย่างเดียว สพฐ.มีโครงการพัฒนาคุณภาพโดยใช้เทคโนโลยีทางไกล ก็คงต้องผสมกัน รับทุกเรื่อง แต่เราจะเน้นและเข้มข้นในส่วนของเรา เพราะมีบทบาทปกติ และบทบาทปฏิรูป อีกส่วนหนึ่ง คือ โครงการนี้จะต้องทำกำหนดการ และปฏิทินงานให้ชัดเจน เพราะงานต่างๆ ของเขตค่อนข้างเยอะ หากเรามีปฏิทินล่วงหน้า และปฏิบัติตามปฏิทินอย่างเคร่งครัด จะส่งผลให้การปฏิรูปครั้งนี้สำเร็จอย่างดี ถ้าไม่มี schedule เราตั้งหลักไม่ทันจะทำให้งานเสีย

62. รศ.ประภาภัทร นิยม: หากในช่วงปิดเทอมนี้ให้ท่านได้เตรียมครู เตรียมอะไรทุกอย่าง เปิดเทอมทั้งวิธีการโค้ช และอื่นๆ ให้พร้อมเลย เทอมแรกน่าจะได้ผล ดังนั้น ปิดเทอมนี้ให้เตรียมการให้พร้อม

63. นายฤทธา  นันทพันธ์ ผอ.สพม.เขต 28: ได้มีโอกาสรับประทานอาหารกับเลขาธิการ กพฐ. ท่านพูดว่า อ.ประภาภัทรตั้งใจทำงาน ท่านจะให้เรา สพฐ.เป็นคณะทำงานช่วย อ.ประภาภัทร จะให้มีคณะทำงานร่วมช่วย ท่านเลขาธิการเห็นความมุ่งมั่นของอาจารย์และอยากให้มีทีมงานมาช่วยในระดับ สพฐ.ด้วยอีกแรง 

64 นายต่อศักดิ์  บุญเสือ ผอ.สพป.ลพบุรี เขต 2: ทำเต็มที่ วันนี้โรงเรียน 15 โรงเรียนกำลังอบรมอยู่ที่ลพบุรี เรื่องจิตสำนึกของความเป็นครู และงบประมาณจะปรับเสนอมาตามความเหมาะสม   

ว่าที่ร้อยตรี ดร.ทวีศักดิ์ นามศรี

65. ว่าที่ร้อยตรีทวีศักดิ์  นามศรี ผอ.สพป.อุบลราชธานี เขต 3: เห็นว่าเป็นการเปิดให้เราได้ใช้ความรู้ความสามารถเต็มที่ ที่ทาง ศธ.ให้ปัจจัยไป และรับทราบรับรู้ด้วยกันว่าคุณภาพการศึกษาทำยาก แต่อุบลราชธานี เขต 3 พร้อมทำเต็มที่เพื่อแก้ปัญหาให้เด็กชาวอุบลเขต 3 มีพัฒนาการที่ดีขึ้น 

66. นายนพรัตน์  อู่ทอง ผอ.สพป.เชียงราย เขต 1: งบประมาณถ้าสามารถให้กรอบงบประมาณได้ว่าจะให้งบดำเนินงานหรืองบลงทุน หรือจะให้ทั้งสามงบ ถ้าระบุได้ก็จะเป็นการดี เพราะถ้าใส่การลงทุนหนักๆ จะต้องใช้งบเยอะ แต่ถ้าระบุได้ว่าเริ่มแรกให้งบดำเนินงานและค่าตอบแทนใช้สอยวัสดุ ทำโครงการที่ตอบโจทย์ แต่อยู่ในหมวดงบดำเนินงาน ก็จะชัดขึ้น 

67. รศ.ประภาภัทร นิยม: ถ้าบอกว่าไม่มีงบประมาณเลยล่ะ ก็ต้องกลับไปที่เดิมที่ต้องมีเหตุผลมา ให้เขตพื้นที่และโรงเรียนระบุหมวดเงินมาเอง


นายชูเกียรติ ด่านธนะทรัพย์

68. นายชูเกียรติ ด่านธนะทรัพย์ ผอ.สพป.น่าน เขต 1: คิดว่าการปฏิรูปรอบนี้ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เป็นเรื่องยาก วันนี้ไม่แปลกที่เรามีความเห็นแตกต่างกันเยอะ โรงเรียนก็เหมือนเรา เมื่อพูดเรื่องกรอบงบประมาณ จะหาความพอดีไม่ได้ ถ้าโรงเรียนบอกว่าโรงเรียนขาดการเงิน แต่ถ้าใครฟัง รมว.ศธ.วันก่อนที่ Hotel De Moc ก็จะได้คำตอบชัดเจนว่า เป็นไปไม่ได้ที่จะจ้างครูการเงินไปทุกโรงเรียน นี่เป็นเหตุผลหนึ่งที่เราจะขอครูการเงินครูธุรการครบทุกตำแหน่งหรือไม่ ที่มีการเปิดโอกาสให้ไปคิดทบทวนนั้นดีแล้ว ว่าที่โรงเรียนขอเจ้าหน้าที่การเงิน 1 คน พัสดุ 1 คน ธุรการ 1 คน นั้นเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว การให้โอกาสกลับไปทบทวนถูกต้องแล้ว กรอบอาจไม่ได้เกิดขึ้นในที่ประชุมแห่งนี้ แต่เรามีที่ปรึกษาที่เป็นผู้ใหญ่ในนี้หลายท่าน เขตก็จะปรึกษาหารือกันต่อไป

69. นายนิสิต  ชายภักตร์ ผอ.สพป.สตูล: ก้าวมาแล้วก็ต้องเดินต่อไป สิ่งแรกที่อยากจะบอก ผมมีความคิดที่ บางทีข้างบนพูดกับใจที่เราอยากจะคิดนั้นไม่เหมือนกัน เพราะกำลังจะเปิดโรงเรียนย้อนยุค ได้ประกาศใน 15 โรงเรียนนำร่อง เด็กต้องอ่านออกเขียนได้ทุกคนเป็นเรื่องแรก และวันที่ 2 เมษายน จะเปิดย้อนยุคภาคเช้าให้เรียนเลข คัด เลิก ภาคบ่ายจะให้บูรณาการสาระการเรียนรู้ที่เหลือ  ถ้าเด็กอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ แล้วถามว่าคุณภาพจะเกิดขึ้นได้อย่างไร และประทับใจวิทยากรพูดวิชาประวัติศาสตร์เมื่อวานระบุว่า เราไม่ได้ถูกเตรียมความพร้อมแต่ครูสอนเราอ่านออกเขียนได้ทุกคน สำหรับนโยบายของผู้บังคับบัญชาก็สนอง แต่เรื่องอ่านออกเขียนได้นี่ถึงเวลาแล้ว และสตูลเป็นเมืองชายขอบอยู่ในพหุวัฒนธรรม 


นายปรีดี ภูสีน้ำ

70. นายปรีดี ภูสีน้ำ ผอ.สพป.ตราด: จะทำทบทวบงบประมาณอีกรอบหนึ่ง สิ่งที่จะเรียนคือ ครูผู้สอนสำคัญที่จะพัฒนาผู้เรียนให้มีคุณภาพ ก่อนที่จะให้ความรู้ต้องให้ความรักเหมือนลูกเหมือนหลานของตนเอง จะได้ใส่ใจดูแลเด็ก และตราดเลือก มศว ที่มีความเชี่ยวชาญและเป็นศูนย์ที่จะปรับปรุงพฤติกรรมศาสตร์ บริบทของตราดได้ให้แนวทางพัฒนาความรับผิดชอบ มีระเบียบวินัย ใส่ใจบริการของครู ให้แนวทางของครูรับผิดชอบในหน้าที่ สิ่งที่จะไปทบทวนงบประมาณคือ คืนครูให้นักเรียน คือ ให้งบคนที่จะทำหน้าที่สนับสนุนการสอน งานธุรการ การเงิน พัสดุ เพราะครูมักพูดแก้ตัวอยู่เสมอว่า ที่ผลการเรียนเป็นอย่างนั้นอย่างนี้เพราะไม่มีเวลา พร้อมกับมีงานที่ต้องดึงครูออกมา จะไปทบทวนและกลับมาเสนอใหม่

71. นายปฐมฤกษ์  มณีเนตร ผอ.สพป.นครราชสีมา เขต 1: จะกลับไปปรับให้เขาได้วิเคราะห์ปัญหาที่แท้จริง ออกแบบแบบไม่ใช้งบประมาณมากเท่าไร ให้ยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง อยากจะปรับเปลี่ยนความคิดความเชื่อของครู ให้ครูมีความมุ่งมั่นตั้งใจเป็นครูที่แท้จริง ในยุคใหม่ ตัวนี้คิดว่ายาก เพราะไปดูการทำ AAR บางคนก็คึกคัก บางคนก็หน้าบูดหน้าบึ้ง บางโรงเรียนก็ถ่ายวิดีโอให้ครู AAR กัน ก็เสนอกัน คนถูกวิพากษ์บางท่านก็โอเค บางท่านก็รับไม่ได้ ก็ต้องค่อยๆ พัฒนาไปก็จะดีเอง ถ้าทำจุดนี้ได้ ครูจะมีมุมมองกว้าง สำหรับผู้บริหารจะพยายามชักจูงให้เขามีความรู้ทางด้านวิชาการ สามารถไปเป็นโค้ชครูได้ ส่วนงบประมาณก็จะเอาตามอัตภาพ

72. นายวิระ  แข็งกสิการ ผอ.สพป.นครสวรรค์ เขต 3:  โครงการนี้เปิดมิติให้ ผู้อำนวยการเขตได้เห็นมิติของเอกชนได้มาเปรียบเทียบและมีความสุขที่ได้เรียนรู้ และนครสวรรค์ เขต 3 จะทำจริง


นายวิบูลย์ ทานุชิต

73. นายวิบูลย์  ทานุชิต ผอ.สพป.ลำปาง เขต 3: (1) เห็นด้วยที่ขยายเวลาเป็น 1 เดือน เพราะที่ผ่านมาค่อนข้างจะเร่งรีบ (2) เราควรทำปฏิทินงานให้ชัดเจน เพราะเวลาเรามาทำงาน จะมีปัญหาเร่งรีบ (3) ต้องเปลี่ยนเป้าหมายและระยะเวลา 3 เดือนให้ส่งแผน ขอเสนอให้มีการรายงานเป็น 3-3-3 หรือ 3 เดือน(มีนาคม) 6 เดือน (มิถุนายน) 9 เดือน(กันยายน) ก็จะสอดคล้องกับงบประมาณที่เรามีอยู่  

74. รศ.ประภาภัทร นิยม: เห็นด้วยกับ schedule ซึ่ง 3 เดือนแรกจะเอาความชัดเจนของแผนเป็นการรายงาน 3 เดือนแรก และหลังจากนั้นไปรายงานเดือนมิถุนายน 

75. นายอธิวัฒน์  พันธ์ประชา ผอ.สพป.ราชบุรี เขต 2: เราวิเคราะห์กันว่าเรามีความจน 3 อย่าง หนึ่งคือ จนใจ สองจนปัญญา สามจนเงิน เราวิเคราะห์กันว่าจนเงินเป็นอันดับท้ายสุด จนใจกับจนปัญญายังก้ำกึ่ง บางคนบอกว่าเราจนปัญญามากสุด บางคนบอกจนใจมากสุด แต่ทุกคนมองว่าเงินสำคัญ แต่ไม่ใช่ที่สุด ดังนั้น ถึงแม้เราจะได้เงินเท่าที่อยากได้ แต่ถ้าไม่สามารถแก้ไขปัญหาจนใจกับจนปัญญาได้คงจะทำงานยากเหมือนกัน ที่เขตจะต้องไปแก้ปัญหาเรื่องจนสองเรื่องเป็นหลัก

76. นายชลำ  อรรถธรรม ผอ.สพป.ภูเก็ต: เมื่อเริ่ม Reform Lab เรามีพันธสัญญากันมากมาย จะจูงไม้จูงมือกัน ร่วมไม้ร่วมมือกัน ทำตำราภาษาไทยกันเอง จะจัดการศึกษาแบบรับผิดชอบร่วมกัน เชื่อว่าจะไปได้ จะร่วมสร้างเด็กให้มีความซื่อสัตย์ รับผิดชอบ มีมารยาทที่ดีงาม 

นายมนต์ชัย วุฒิพงศ์

77. นายมนต์ชัย วุฒิพงศ์ รอง ผอ.สพป.สุราษฏร์ธานี เขต 1: ได้ประชุม ผู้อำนวยการโรงเรียน 3 ครั้ง ทำความเข้าใจร่วมกัน และได้จัดแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันทุกโรงเรียนทั้ง 15 โรงเรียน สำหรับเรื่อง Template ได้วิเคราะห์ปัญหา และจัดตั้งงบประมาณให้สอดคล้องกับสภาพปัญหา ส่วนจะให้กลับไปทำความเข้าใจใหม่อีกครั้ง ก็นับว่าจะเป็นโอกาสที่ดี 

78. นายธีรวุฒิ  พุทธการี ผอ.สพป.ศรีสะเกษ เขต 4:  ขับเคลื่อนได้เยอะ เพราะมีโครงการดีๆ เข้าไปในพื้นที่เยอะ มีการนำโรงเรียนที่ขับเคลื่อนได้ดีมาทำ PLC กัน มีการประชุมแล้ว 5 ครั้ง ได้ตั้งเป้าหมายที่คุณภาพผู้เรียน 3 เรื่อง คือ การอ่านออกเขียนได้ พฤติกรรม และคุณลักษณะที่พึงประสงค์/ค่านิยม  ซึ่งเชื่อว่าคุณภาพจะขึ้นอยู่ที่ความมุ่งมั่นตั้งใจเป็นสำคัญ และที่โรงเรียนตั้งงบประมาณมาเยอะเพราะ Template ให้เสนอถึงปี 2560 และกลัวว่าจะได้งบประมาณน้อย


นายอดุลย์ กองทอง

79. นายอดุลย์ กองทอง ผอ.สพป.อำนาจเจริญ: เลือกทีมโค้ชเป็นศึกษานิเทศก์ ตั้งเป้าหมายให้ผู้เรียนมีคุณภาพในระดับที่สูงขึ้น มีการกำหนดให้โค้ช 1 คน ดูแลโรงเรียน 1 โรงเรียน มีการสร้างความตระหนักและสร้างความเข้าใจให้ครูแล้ว

80. นายวีระ พลอยครบุรี: สกศ.ได้รับมอบหมายให้มีบทบาทวิจัยและติดตามผลโครงการนี้ ในคำสั่งของ รมว.ศธ. มีข้อหนึ่งคือให้ สพท.จัดทำรายงานเสนอต่อ สพฐ.และ สกศ. ถ้า สพท.มีรายงานใดให้ส่งให้ สกศ.ด้วยเพราะจะนำไปเป็นประเด็นการวิจัย ขณะนี้ สกศ. ตั้งคณะทำงานขึ้นมาชุดหนึ่งแล้ว และคงจะลงพื้นที่ติดตามผลในโอกาสต่อไป

81. นายพิทักษ์ โสตถยาคม: ขอให้สิทธิ์พาดพิงเกี่ยวกับการกำหนด Template ให้มีระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ก็เพราะเวลาการวิเคราะห์ปัญหาเรื่องคุณภาพ อาจมีปัญหาที่ไม่สามารถเห็นแล้วแก้ไขได้ทันทีในระยะสั้นๆ เช่น ปัญหาเด็กที่อยู่ในบริบทชุมชนที่ไม่พร้อมทำให้เด็กมีสุขภาวะไม่ดี มีภาวะทุพโภชนาการ ก็ไม่สามารถแก้ไขได้ใน 3-5 เดือน หรือ 1 ปี จึงเปิดช่องทางนี้ไว้ให้โรงเรียนได้เติมสิ่งที่อยากทำระยะยาวในช่องนั้นได้

82. รศ.ประภาภัทร นิยม: ขอบคุณทุกท่าน จากการฟังก็เชื่อได้ว่าโครงการนี้ไปได้แน่นอน และแต่ละเขตก็ตั้งใจเต็มที่ และมีวิธีการของตนเอง เมื่อลงไปดูแล้วจะพบเองว่าของจริงเป็นอย่างไร ดังนั้น วิธีการที่ส่งเข้ามาในระยะเวลาที่ขยาย 1 เดือน ถ้าเป็นไปได้น่าจะทยอยอนุมัติไปได้เป็นรายเขต ใครเสร็จก่อนพร้อมก่อนก็ส่งมา

83. นายพิทักษ์ โสตยาคม: ขอเรียนถามในเชิงการปฏิบัติ เพราะถ้าเราเชื่อมั่นใน ผู้อำนวยการเขตและ ผู้อำนวยการโรงเรียนที่จะไปคุยกันแล้ว เมื่อเขตพื้นที่เสนอแผนฯขึ้นมา กระบวนการควรจะเป็นอย่างไร เช่น จะต้องมีการเชิญ ผู้อำนวยการเขต มาพูดคุยนำเสนอต่อคณะกรรมการที่เราจะตั้งขึ้นก่อนที่จะอนุมัติหรือไม่ จะขอให้ช่วยขยายความในกระบวนการที่จะต้องทำต่อ

84. รศ.ประภาภัทร นิยม: ทีม สนก. ท่าน ผอ.พิธาน ก็น่าจะมี one stop อยู่ตรงนี้ไหม มิฉะนั้นคนที่ไม่เข้าใจโครงการก็จะยากเหมือนกัน ต้องถาม ผอ.พิธาน


ดร.พิธาน พื้นทอง

85. นายพิธาน พื้นทอง ผอ.สนก. สพฐ.: เป็นความลำบากใจ 2 อย่าง หนึ่ง ถ้าเราวิเคราะห์แล้วไม่ค่อยเห็นด้วยกับที่เสนอมาจะดำเนินการอย่างไร สองถ้าวิเคราะห์แล้วเห็นด้วย แล้วจะต้องใช้วงเงินจำนวนหนึ่ง แต่เราไม่ได้ตั้งงบประมาณส่วนนี้ไว้จะทำอย่างไร จะใช้เงินหมวดไหนอย่างไร 

86. นายอำนาจ วิชยานุวัติ: ควรมีคณะกรรมการชุดเล็กมากลั่นกรองวิเคราะห์ความเป็นไปได้ วิเคราะห์เชิงปริมาณและคุณภาพเบื้องต้น อาจให้ได้ไม่ 100% อาจให้เบื้องต้น แต่ต้องดูสถานการณ์ความเป็นไปได้ เป็นไปไม่ได้ว่าถ้าส่งก่อนได้ก่อนจะมีปัญหาในอนาคต ควรมีเวลาชัดเจน ดูภาพรวม

87. รศ.ประภาภัทร นิยม: สนก.จะมีคณะกรรมการได้ไหม เช่นมีคณะกรรมการใกล้ชิดเป็นเบื้องต้น อาจเชิญทาง สนผ.เข้ามาร่วมด้วย แล้วมาตกลงเรื่องเกณฑ์การพิจารณากลั่นกรองแล้ว คุยกับ สนผ. แล้วเสนอเลขาธิการ กพฐ. ขั้นตอนจะได้ไม่มาก

88. นายรังสรรค์ มณีเล็ก: ถ้ามีการกำหนดเกณฑ์ในการพิจารณาโครงการที่ส่งเข้ามา ควรจะมีการแจ้งเกณฑ์ให้เขตทราบ เพราะได้ถามตั้งแต่ครั้งแรกว่า ถ้าให้ไปทำแล้วดูเหตุดูผล เราก็ต้องเชื่อเขต แต่ถ้าไม่ให้ลักลั่นกันมากเราก็จะคุยกันภายในทั้ง 20 เขต หลังจากนี้ 

89. รศ.ประภาภัทร นิยม: แต่ไม่ใช่กลับไปที่ศูนย์และย้อนกลับไปที่เดิมอีก ซึ่งเกณฑ์ของคณะกรรมการกลั่นกรองไม่ได้ลงไปในรายละเอียดของโครงการมากนัก เช่น ดูว่าวัตถุประสงค์ชัดไหม วงเงินที่ขอมาสมเหตุสมผลในการตอบวัตถุประสงค์หรือไม่ และเป้าหมายชัดเจนหรือไม่ ซึ่งมีอยู่ไม่กี่เกณฑ์ อาจไม่ต้องย้อนไปที่ ผู้อำนวยการเขต ให้มาคุยเรื่องเกณฑ์อีก 

มติที่ประชุม ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาขอเวลาทบทวนแผนปรับปรุงคุณภาพโรงเรียนอีกครั้ง ภายใน 1 เดือน และจะส่งกลับมายังสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งในการดำเนินการครั้งนี้ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาจะช่วยกลั่นกรองให้ได้แผนปรับปรุงคุณภาพของโรงเรียนที่มีความตรงกับสภาพปัจจุบันปัญหา มีแนวทางการพัฒนา และเสนองบประมาณที่จำเป็นต้องใช้อย่างเหมาะสม รวมทั้งสามารถรับประกันกระบวนการและผลที่จะเกิดขึ้นได้ 

เลิกประชุมเวลา 20.4๐ น.

------------------------------------
ผู้มาประชุม ได้แก่ รองศาสตราจารย์ประภาภัทร นิยม ประธานคณะทำงาน, นายรังสรรค์ มณีเล็ก คณะทำงาน, นายสกุลชัย ลัพกิตโร (แทนนายอกนิษฐ์ คลังแสง) คณะทำงาน, นายวีระ พลอยครบุรี (แทนรองศาสตราจารย์พินิติ รตะนานุกูล) คณะทำงาน, นายพิทักษ์  โสตถยาคม คณะทำงานและเลขานุการ, นายภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค ผู้ช่วยเลขานุการ, และนางสาวรับขวัญ ธรรมาภรณ์พิลาศ  ผู้ช่วยเลขานุการ

ผู้ไม่มาประชุม (ติดภารกิจ) ได้แก่ นายธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ คณะทำงาน, พลเอก สุทัศน์ กาญจนานนท์กุล คณะทำงาน, พลเรือเอก เรืองทิพย์ เทียนทอง คณะทำงาน, พันเอก ดำรงค์ สิมะขจรบุญ คณะทำงาน, นายอมรวิชช์ นาครทรรพ คณะทำงาน, นางผานิตย์ มีสุนทร คณะทำงาน, และนางสาวอาภรณ์ แก่นวงศ์ คณะทำงาน


ผู้เข้าร่วมประชุม นายพิธาน พื้นทอง ทปษ.สพฐ./ ผอ.สนก.สพฐ., นายอำนาจ วิชยานุวัติ ผอ.สนผ.สพฐ., นายสายัณห์ ผาน้อย ผอ.สพป.ขอนแก่น เขต 1, นายนพรัตน์  อู่ทอง ผอ.สพป.เชียงราย เขต 1, นายปรีดี ภูสีน้ำ ผอ.สพป.ตราด, นายปฐมฤกษ์  มณีเนตร ผอ.สพป.นครราชสีมา เขต 1, นายวิระ แข็งกสิการ ผอ.สพป.นครสวรรค์ เขต 3, นายชูเกียรติ ด่านธนะทรัพย์ ผอ.สพป.น่าน เขต 1, นายอารักษ์  พัฒนถาวร  ผอ.สพป.พระนครศรีอยุธยา เขต 1, นายชลำ  อรรถธรรม ผอ.สพป.ภูเก็ต, นายอธิวัฒน์  พันธ์ประชา ผอ.สพป.ราชบุรี เขต 2, นายต่อศักดิ์  บุญเสือ ผอ.สพป.ลพบุรี เขต 2, นายวิบูลย์  ทานุชิต ผอ.สพป.ลำปาง เขต 3, นายธีรวุฒิ  พุทธการี ผอ.สพป.ศรีสะเกษ เขต 4, นายนิสิต  ชายภักตร์  ผอ.สพป.สตูล, นายอดุลย์ กองทอง ผอ.สพป.อำนาจเจริญ, ว่าที่ร้อยตรีทวีศักดิ์  นามศรี ผอ.สพป.อุบลราชธานี เขต 3, นายปริญญา  ธรเสนา ผอ.สพม. เขต 22, นายฤทธา  นันทพันธ์  ผอ.สพม. เขต 28, นายมนต์ชัย วุฒิพงศ์ รอง ผอ.สพป.สุราษฎร์ธานี เขต 1, นายชูเกียรติ บุญรอด  รอง ผอ.สพม.เขต 5, นางนงนุช อุทัยศรี ผอ.กลุ่มนิเทศฯ สพป.ระยอง เขต 2, นางพนิดา ฐปนางกูร ฝ่ายเลขานุการที่ปรึกษา รมว.ศธ., นางสาวอุษา ชูชาติ นักวิชาการศึกษา สกศ., และคณะทำงานเขตพื้นที่การศึกษา (สังเกตการณ์)