(ร่าง) รายงานการประชุม
การประชุมคณะกรรมการอำนวยการโครงการปฏิรูปการเรียนรู้สู่ผู้เรียน ครั้งที่ ๑ ในวันพฤหัสบดีที่ ๑๖ เมษายน ๒๕๕๘ ณ ห้องประชุมจันทรเกษม กระทรวงศึกษาธิการ
ผู้มาประชุม
๑. พลเรือเอก ณรงค์ พิพัฒนาศัย ประธานกรรมการ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
๒. รองศาสตราจารย์ประภาภัทร นิยม กรรมการ
ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
๓. พลเอก สุทัศน์ กาญจนานนท์กุล กรรมการ
ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (พลเอก สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์)
๔. นายกมล ศิริบรรณ กรรมการ
รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
แทนปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
๕. รองศาสตราจารย์พินิติ รตะนานุกูล กรรมการ
เลขาธิการสภาการศึกษา
๖. นายสุภัทร จำปาทอง กรรมการ
รองเลขาธิการคณะกรรการการอุดมศึกษา
แทนเลขาธิการคณะกรรการการอุดมศึกษา
๗. นายพิธาน พื้นทอง กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ
ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา
รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบเครือข่าย
และการมีส่วนร่วม
ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการสำนักพัฒนา
นวัตกรรมการจัดการศึกษา
และเป็นผู้แทนเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
ผู้ไม่มาประชุม (ติดภารกิจ)
๑. นายกฤษณพงศ์
กีรติกร รองประธานกรรมการ
รองประธานกรรมการรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
๒. พลเอก สุรเชษฐ์
ชัยวงศ์ รองประธานกรรมการ
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
๓. นายธีระเกียรติ
เจริญเศรษฐศิลป์ กรรมการ
ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ
๔. นายอมรวิชช์
นาครทรรพ กรรมการ
ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
๕. เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กรรมการ
๖. เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา กรรมการ
ผู้เข้าร่วมประชุม
๑. นาวาเอก รณัชย์
เทพวัลย์
คณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
๒. นาวาโท ปริทัศน์
นิระฉัตรสุวรรณ์
คณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
๓. นาวาโทหญิง
อรอนงค์ แก้งจงประสิทธิ์
คณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
๔. นางพนิดา
ฐปนางกูร
ผู้ช่วยที่ปรึกษา
รมว.ศธ. (รศ.ประภาภัทร นิยม)
๕. นายบัลลังก์
โลหิตเสถียร
หัวหน้าประชาสัมพันธ์
สำนักงานรัฐมนตรี
๖. นางสาวนวรัตน์
รามสูตร
นักประชาสัมพันธ์ชำนาญการ
สำนักงานรัฐมนตรี
๗. นางบรรเจอดพร
สู่แสนสุข
รองผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา
สพฐ.
๘. นายพิทักษ์
โสตถยาคม
นักวิชาการศึกษาชำนาญการ สพฐ.
๙. นางสาวกมลวรรณ
รอดจ่าย
นักวิชาการศึกษาชำนาญการ สพฐ.
๑๐. นางสาวอภิษฎา ขาวสุทธิ
นักวิชาการศึกษาปฏิบัติการ สพฐ.
๑๑. นางสาววิสนีย์ นุราช
นักวิชาการศึกษาปฏิบัติการ สพฐ.
เริ่มประชุมเวลา ๑๓.๓๐ น.
ระเบียบวาระที่ ๑ เรื่องที่ประธานแจ้งให้ที่ประชุมทราบ
ประธานฯ แจ้งให้ที่ประชุมทราบว่า โครงการปฏิรูปการเรียนรู้สู่ผู้เรียนเป็นโครงการนำร่องที่มุ่งแก้ไขปัญหาความไม่คล่องตัวในการบริหารจัดการของโรงเรียน ที่โรงเรียนไม่ต้องการให้ส่วนกลางเข้าไปควบคุมมากนัก โครงการนี้จึงส่งเสริมให้โรงเรียนบริหารจัดการตนเอง ซึ่งสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ๒๐ เขต ได้เริ่มดำเนินการแล้ว และจะมีการติดตามประเมินผลเป็นระยะๆ จะทำให้ทราบว่า โรงเรียนมีความพร้อมที่จะเป็นนิติบุคคลตามที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ หรือโรงเรียนมีความพร้อมที่จะดูแลตนเองมากน้อยเพียงใด เมื่อดำเนินการแล้วมีการปรับปรุงพัฒนาและได้ผลที่ดีขึ้น ก็จะมีการขยายไปสู่สำนักงานเขตพื้นที่อื่น แต่ถ้าไม่ได้ผลดีก็ยกเลิกและกลับไปสู่ระบบเดิม
ความจำเป็นที่ต้องทำการทดลองนำร่อง เพราะบางเรื่อง เช่น งบประมาณ บุคลากร ไม่สามารถดำเนินการพร้อมกันทั่วประเทศได้ จึงต้องทำจากจุดเล็กๆ ก่อน และการนำร่อง ๓๐๐ โรงเรียน เพื่อวัดผลการเปลี่ยนแปลงให้ชัดเจน โดยอาจเปรียบเทียบกับโรงเรียนข้างเคียงที่ไม่ได้เข้าโครงการ เพื่อเป็นเหตุเป็นผลในการขยายการดำเนินงานในอนาคต นอกจากนั้น การเลือกโรงเรียนนำร่องครั้งนี้ได้ให้เลือกจากโรงเรียนที่มีผลการเรียนรู้ที่ค่อนข้างต่ำ เพื่อที่จะวัดผลการเปลี่ยนแปลงได้อย่างชัดเจนกว่าโรงเรียนที่มีความพร้อมทั้งบุคลากรและงบประมาณอยู่แล้ว
เมื่อริเริ่มโครงการมีความประสงค์ที่จะศึกษาว่าแต่ละสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาจะสามารถแก้ไขปัญหาคุณภาพการเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง ด้วยงบประมาณและทรัพยากรที่มีอยู่ในปัจจุบันได้มากน้อยเพียงใด ซึ่งได้เน้นย้ำในการประชุมผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ๒๐ เขตแล้วว่า การเพิ่มงบประมาณและบุคลากรตามที่เสนอขอทั้งหมดนั้นไม่ใช่แนวทางที่ต้องการ เพราะไม่สามารถตอบได้อย่างชัดเจนว่า งบประมาณที่ระดมเข้าไปในระบบส่งผลดีต่อคุณภาพการเรียนการสอนเป็นสัดส่วนเท่าใด และถ้าต้องใช้งบประมาณมากแต่รัฐบาลมีงบประมาณจำกัดก็ไม่สามารถจัดสรรให้ได้ทุกโรงเรียน ดังนั้น โรงเรียนควรช่วยเหลือตนเองให้มากที่สุดในการปรับปรุงให้ดีขึ้นภายใต้ทรัพยากรที่มีอยู่ในปัจจุบัน ทั้งนี้ บุคคลสำคัญยิ่งที่จะทำให้เกิดความสำเร็จในการดำเนินการก็คือ ผู้นำ ทั้งผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและผู้อำนวยการโรงเรียน ที่จะต้องเป็นผู้นำที่กล้าเปลี่ยนแปลงและกล้าดำเนินการแก้ไข
สำหรับการประชุมครั้งนี้ขอให้คณะกรรมการร่วมกันให้ข้อคิดเห็นที่จะเป็นประโยชน์ในการแก้ไขปัญหาอุปสรรค และข้อขัดข้อง ในการดำเนินงานโครงการปฏิรูปการเรียนรู้สู่ผู้เรียน
มติ ที่ประชุมรับทราบ
ระเบียบวาระที่ ๒ เรื่องที่เสนอให้ที่ประชุมทราบ
นายพิธาน พื้นทอง แจ้งว่า แนวความคิดพื้นฐานเบื้องต้นของโครงการปฏิรูปการเรียนรู้สู่ผู้เรียน จะเน้นการปฏิรูป ๒ ส่วน คือ (๑) เติมเต็มศักยภาพครู ให้ครูปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการเรียนการสอนให้สอนตามแนวปฏิรูป และ (๒) พยายามให้ครูและโรงเรียนขจัดอุปสรรคที่ทำให้การเรียนการสอนทำได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ สำหรับผลการดำเนินงานที่ผ่านมาในระยะเตรียมการ เป็นการขออนุมัติโครงการ การจัดประชุม ๒ ลักษณะคือ Reform Lab เป็นการปรับกระบวนทัศน์การทำงาน และ Coaching Lab เป็นการเสริมเติมเต็มแนวการพัฒนาครูด้วย AAR และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้ลงนามในคำสั่งแนวทางปฏิบัติตามโครงการปฏิรูปการเรียนรู้สู่ผู้เรียนเพื่อส่งเสริมการกระจายอำนาจการบริหารและการจัดการศึกษารองรับนโยบายการปฏิรูปการศึกษา เมื่อ ๒๗ ธันวาคม ๒๕๕๗
ส่วนระยะดำเนินการในเดือนมกราคม สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาส่วนใหญ่ได้นำแนวทางไปปฏิบัติในโรงเรียน บางเขตมีการลงนาม MOU มีการประชุมผู้เกี่ยวข้อง มีการจัด AAR และปรับการเรียนการสอนของครู ส่วนเดือนกุมภาพันธ์เป็นการจัดทำแผนปรับปรุงคุณภาพโรงเรียนจากพื้นที่ ซึ่งก่อนที่จะให้เขตพื้นที่และโรงเรียนดำเนินการจัดทำแผนฯ คณะทำงานติดตามการดำเนินงานตามนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้ประชุมทางไกลกับผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา จากนั้นสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและโรงเรียนได้ปรับปรุงแผนฯ ส่งมายัง สพฐ. ๓ ครั้ง นอกจากนั้น เป็นการจัดหาทีมโค้ชภายนอกให้ไปทำงานร่วมกันทีมโค้ชภายในเขตพื้นที่และโรงเรียนโดยสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา
มติ ที่ประชุมรับทราบ
ระเบียบวาระที่ ๓ เรื่องที่เสนอให้ที่ประชุมพิจารณา
นายพิธาน พื้นทอง แจ้งว่า ประเด็นเพื่อพิจารณามี ๒ ประเด็นคือ (๑) พิจารณาขยายจำนวนเขตพื้นที่ของโครงการปฏิรูปการเรียนรู้สู่ผู้เรียน ระยะที่ ๒ ตามแผนฯ เดิม ที่จะมีการขยายเพิ่มอีก ๔๐ เขตพื้นที่ ในภาคเรียนที่ ๑ ปีการศึกษา ๒๕๕๘ สถานการณ์ปัจจุบัน ปรากฏว่าสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและโรงเรียนเริ่มดำเนินการในเดือนมกราคม แต่โรงเรียนมีกิจกรรมเตรียมการสอบ O-NET และสอบปลายภาค จึงทำให้การปรับเปลี่ยนการเรียนการสอน การทำ AAR การโค้ช ดำเนินการได้ในระยะเวลาที่จำกัด และที่ผ่านมาโรงเรียนได้ใช้เวลาทำแผนปรับปรุงคุณภาพจนถึงสิ้นภาคเรียน ประกอบกับยังไม่มีการประเมินผลในเชิงคุณภาพของการดำเนินงาน ดังนั้น จึงขอให้ที่ประชุมพิจารณาว่า จะขยายจำนวนสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเพิ่มเติมอีก ๔๐ เขตในภาคเรียนที่ ๑ ปีการศึกษา ๒๕๕๘ หรือจะชะลอการเพิ่มกลุ่มเป้าหมายแต่เพิ่มระยะเวลาทดลองในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา จำนวน ๒๐ เขต ต่อไปอีก ๑ ภาคเรียน และ (๒) พิจารณาแนวทางสนับสนุนงบประมาณตามแผนปรับปรุงคุณภาพโรงเรียน
ที่ประชุมได้แสดงความคิดเห็นและอภิปรายเพิ่มเติมทั้งสองประเด็น ดังนี้
๑. การขยายจำนวนเขตพื้นที่การศึกษาในระยะที่ ๒
รองศาสตราจารย์พินิติ รตะนานุกูล เสนอความเห็นว่า ควรดำเนินการคู่ขนานกันไป ทั้งการดำเนินงานของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเดิม จำนวน ๒๐ เขต และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาใหม่อีก จำนวน ๔๐ เขต เพราะยังมีโรงเรียนที่จำเป็นต้องพัฒนาเรื่องคุณภาพการเรียนรู้อยู่อีกเป็นจำนวนมาก
นาวาโท ปริทัศน์ นิระฉัตรสุวรรณ์ เสนอความเห็นว่า ปัจจัยแห่งความสำเร็จอยู่ที่ผู้อำนวยการโรงเรียน มากกว่าผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ดังนั้น หากต้องการให้เกิดวิธีปฏิบัติที่ดี (good practices) จึงควรขับเคลื่อนมาจากโรงเรียน ด้วยการเปลี่ยนหลักเกณฑ์การเลือกโรงเรียนเข้าร่วมโครงการระยะที่ ๒ กล่าวคือ เลือกโรงเรียนที่มีความพร้อมอยู่แล้ว เพราะหลักการของการเปลี่ยนแปลง (Change) คือ การมีทีมงานที่ดีที่ และได้รับการอบรมให้มีความพร้อม จะทำให้ดีได้ในระยะเวลาอันสั้น ดังนั้น ควรให้ ๒๐ เขตพื้นที่คัดกรองเลือกโรงเรียนที่มีฝีมือเข้ามา จะได้ good practices ๑๕ โรงเรียนใหม่เพื่อไปขับเคลื่อน ๑๕ โรงเรียนเดิม ซึ่งเห็นว่าผู้อำนวยการโรงเรียนที่มีศักยภาพสูงจะสามารถดำเนินการได้บรรลุวัตถุประสงค์ของโครงการมากกว่า
นางพนิดา ฐปนางกูร เสนอความเห็นว่า จากประสบการณ์การประสานงานกับผู้อำนวยการโรงเรียนกลุ่มโรงเรียนขนาดเล็ก พบว่า ผู้อำนวยการโรงเรียนกลุ่มโรงเรียนขนาดเล็กมีความกระตือรือร้นสูง มีความรวดเร็วในการจัดทำและให้ข้อมูลตามที่ร้องขอ มีการประสานงานอย่างรวดเร็วภายในกลุ่มเครือข่ายโรงเรียนขนาดเล็ก รวมทั้งมีความสนใจติดตามสอบถามความคืบหน้าของการดำเนินงานอยู่เสมอ
นายพิทักษ์ โสตถยาคม เสนอความเห็นว่า
(๑) จากการที่ได้รับทราบโจทย์ของ ๒๐ เขตพื้นที่ในการประชุมครั้งแรกๆ ของโครงการ ก็คือ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาจะสามารถยกระดับคุณภาพการเรียนรู้ของโรงเรียน ๑๕ โรงเรียนให้ดีขึ้นด้วยการพัฒนาศักยภาพผู้อำนวยการโรงเรียนได้หรือไม่ อย่างไร ซึ่งเป็นการวัดฝีมือผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาว่าจะสนับสนุนส่งเสริมและผลักดันให้ผู้อำนวยการโรงเรียนทั้ง ๑๕ โรงเรียน เป็นผู้อำนวยการโรงเรียนที่มีพัฒนาการที่ดีขึ้น สามารถทำงานได้อย่างที่คาดหวัง และมีคุณภาพ ดังนั้น การนำร่องครั้งนี้จึงเป็นการให้อิสระกับเขตพื้นที่และผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาระดมสรรพกำลังทั้งมวลหนุนช่วย ๑๕ โรงเรียน ให้มีผลการเรียนรู้ที่ดีขึ้น จะเห็นว่าภาวะผู้นำทางวิชาการของผู้อำนวยสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามีความสำคัญมากเช่นเดียวกับผู้อำนวยการโรงเรียน
(๒) สิ่งที่โครงการปฏิรูปการเรียนรู้สู่ผู้เรียนอยากเห็นคือ โรงเรียนสามารถบริหารจัดการตนเองและดำเนินการปฏิรูปการเรียนรู้ได้ ด้วยการส่งเสริมให้ปรับเปลี่ยนวิธีการบริหารจัดการโดยไม่เพิ่มงบประมาณ ซึ่งสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา จำนวน ๒๐ เขต ถือเป็นพื้นที่วิจัย ที่จะพิสูจน์สมมติฐานการพัฒนาโรงเรียน เพื่อค้นหาข้อค้นพบบางประการเพื่อนำไปใช้กับเขตพื้นที่และโรงเรียนอื่นทั่วประเทศ เช่น ได้คำตอบว่าระบบ coaching ที่ติดตั้งในโรงเรียนควรเป็นอย่างไร ระบบจัดการตนเองของโรงเรียนที่โรงเรียนมีอิสระในการบริหารจัดการการเรียนการสอนควรเป็นอย่างไร ดังนั้น จะเป็นไปได้หรือไม่ที่จะดำเนินการต่อเนื่องต่อไปในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ๒๐ เขต จนได้ข้อค้นพบที่น่าเชื่อถือได้ ก่อนขยายไปยังสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาอื่น ซึ่งเมื่อได้ข้อค้นพบแล้วอาจจะสามารถขยายไปมากกว่า ๔๐ เขตพื้นที่ หรืออาจส่งเสริมให้เขตพื้นที่และโรงเรียนทั่วประเทศดำเนินการปฏิรูปการเรียนรู้ไปพร้อมกัน
นายกมล ศิริบรรณ เสนอความเห็นว่า
(๑) การดำเนินการนำร่องของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั้ง ๒๐ เขต เป็นข้อมูลที่ดีที่จะช่วยให้การดำเนินการของเขตพื้นที่และโรงเรียนอื่นๆ มีแนวทางที่ชัดเจนขึ้น ซึ่งการขยายการดำเนินการต่อไปอีก ๔๐ เขต ถือเป็นการขยายเป้าหมายของการพัฒนาโรงเรียนที่ยังด้อยคุณภาพอยู่ ก็จะได้โรงเรียนนำร่อง ๙๐๐ โรงเรียน หากสามารถเปลี่ยนแปลงได้สำเร็จ ๑๐๐ โรงเรียน ก็น่าพอใจ เพราะพัฒนาจากโรงเรียนไม่พร้อมและเป็นการให้โอกาสโรงเรียนได้พัฒนา
(๒) การเลือกโรงเรียนเข้าร่วมโครงการระยะต่อไป หากเป็นโรงเรียนที่มีความพร้อมอยู่แล้ว หรือเป็นโรงเรียนที่สามารถดูแลตนเองได้ หรือโรงเรียนที่ทำงานเป็นเครือข่ายที่เข้มแข็งอยู่แล้ว ก็จะทำให้สามารถดำเนินการไปสู่จุดมุ่งหมายได้รวดเร็วขึ้น ถ้าดำเนินการแบบโรงเรียนอาสาสมัครก็ยิ่งดีเพราะจะทำให้มีตัวอย่างหลากหลาย อย่างไรก็ตาม การเลือกโรงเรียนที่มีผลการเรียนรู้ต่ำนั้นก็ยังมีความเหมาะสม เพราะเป็นการเอื้อมมือไปช่วยให้โรงเรียนสามารถเดินได้ด้วยตนเอง
รองศาสตราจารย์ประภาภัทร นิยม เสนอความเห็นว่า
(๑) ข้อมูลขณะนี้ยังไม่มากพอที่จะตัดสินใจว่า จะขยายจำนวนเขตพื้นที่ในโครงการปฏิรูปการเรียนรู้สู่ผู้เรียนเพิ่มเติมหรือไม่
(๒) ควรให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั้ง ๒๐ เขต ได้นำแนวทางการปรับการเรียนการสอนลงสู่การปฏิบัติในห้องเรียนในภาคเรียนที่ ๑ ปีการศึกษา ๒๕๕๘ และให้มีการประเมินผลการดำเนินการและการจัดการเรียนการสอน
(๓) การขยายจำนวนเขตพื้นที่เป้าหมาย หากต้องรอผลการประเมินการดำเนินงานของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาในระยะแรกก็ต้องใช้เวลานาน อาจจะต้องเริ่มดำเนินการระยะที่ ๒ ในปีการศึกษาถัดไป ดังนั้น ควรเริ่มดำเนินการทดลองนำร่อง ระยะที่ ๒ ในภาคเรียนที่ ๑ ปีการศึกษา ๒๕๕๘ ด้วยวิธีการและกลุ่มเป้าหมายที่แตกต่างจากเดิม แต่วัตถุประสงค์เดียวกัน นั่นคือ พิจารณาเลือกโรงเรียนเข้าร่วมโครงการ จากโรงเรียนที่แสดงเจตจำนงเข้าร่วมโครงการ เช่น กลุ่มโรงเรียนขนาดเล็ก เนื่องจากโรงเรียนมีความต้องการการปลดล็อกบางประการ เช่น การผ่อนคลายด้านการบริหารจัดการสู่การบริหารจัดการที่ยืดหยุ่น และความต้องการการผ่อนคลายด้านหลักสูตรให้สามารถดำเนินการได้อย่างสอดคล้องกับบริบทของโรงเรียนและชุมชน
(๔) ควรประเมินผลการดำเนินการเบื้องต้นของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ๒๐ เขต ไม่ใช่เป็นการประเมินเพื่อตัดสินว่าควรจะขยายหรือไม่ควรขยายจำนวนเพิ่มจำนวนเขตพื้นที่ในโครงการ แต่เป็นการประเมินเพื่อให้รู้ทิศทางและข้อขัดข้องในการทำงาน โดยประเมินการสื่อสารระหว่างส่วนกลางกับเขตพื้นที่และโรงเรียน เกี่ยวกับความเข้าใจในโจทย์ที่ได้รับ วิธีการแปลความหมายโจทย์หรือเป้าหมายของการดำเนินงาน และสาเหตุที่ทำให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนในการจัดทำแผนและงบประมาณเพื่อการปรับปรุงคุณภาพการปฏิรูปการเรียนรู้ รวมทั้งประเมินสิ่งที่ได้ดำเนินการแล้ว และสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในโรงเรียน
(๕) ควรเตรียมข้อมูลของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาที่จะดำเนินการในระยะที่ ๒ จำนวน ๔๐ เขต ไว้ล่วงหน้า โดยให้พิจารณากลุ่มโรงเรียนที่มีความพร้อม กระตือรือร้น และอยากทำด้วยตนเอง ให้เป็นโรงเรียนกลุ่มเป้าหมายของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาใหม่ด้วย เพราะอาจจะเป็น success cases ที่ประสบความสำเร็จได้ง่ายกว่าและจะได้ข้อค้นพบที่ดีในการขยายผลต่อไป นอกจากนั้น จะให้เสนอแผนฯ ด้วยวิธีการปรับปรุงการบริหารจัดการ โดยไม่ต้องเน้นการเสนอของบประมาณ และอาจจะเปิดกว้างให้โรงเรียนบริหารจัดการตนเอง ซึ่งจะให้พิจารณาเลือกใช้นวัตกรรมอะไรก็ได้ในการพัฒนาการเรียนการสอน โดยไม่จำเป็นต้องรอคำแนะนำจากส่วนกลาง
พลเอก สุทัศน์ กาญจนานนท์กุล เสนอความเห็นว่า
(๑) การปรับปรุงพัฒนาคุณภาพโรงเรียนจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพิจารณาจากสภาพปัจจุบันปัญหาที่แท้จริง แต่มีบางสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาจัดทำแผนฯและเสนองบประมาณโดยใช้การประมาณการ เช่น สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต ๒๘ และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอำนาจเจริญ อาจสะท้อนให้เห็นได้ว่า เขตพื้นที่และโรงเรียนยังไม่พร้อมดำเนินการปรับปรุงแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง ดังนั้น หากจะเพิ่มจำนวนเขตพื้นที่การศึกษาอีก ๔๐ เขตพื้นที่ จึงควรคำนึงถึงความพร้อมและความเข้าใจในแนวทางการพัฒนาของโรงเรียนและเขตพื้นที่การศึกษาด้วย
(๒) หากจะพัฒนาโรงเรียนที่มีความพร้อมอยู่แล้ว หรือเครือข่ายโรงเรียนและครูที่มีความสนใจ เน้นการทำงานแบบ Network ซึ่งเป็นแนวทางที่น่าสนับสนุนการดำเนินการ แต่ควรแยกเป็นอีกโครงการหนึ่ง เพราะแนวทางดำเนินการแตกต่างจากโครงการเดิม ที่เป็นการบริหารจัดการจากส่วนกลางไปยังผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา แล้วให้ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาใช้ศักยภาพในการบริหารจัดการโรงเรียน
นางบรรเจอดพร สู่แสนสุข ให้ความเห็นว่า จากข้อมูลการสมัครใจเข้าร่วมโครงการของผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา จำนวน ๑๕๓ เขต จากเขตพื้นที่ทั้งหมด ๒๒๕ เขต ได้ตัดสินใจเลือก ๒๐ เขต ให้ดำเนินการระยะที่ ๑ และเตรียมรายชื่อไว้อีก ๔๐ เขต สำหรับการดำเนินการระยะที่ ๒ ดังนั้น หากมีแนวทางการทำงานใหม่กับโรงเรียนที่มีความพร้อมและสมัครใจ ก็สามารถทำได้โดยให้เป็นโรงเรียนที่สังกัดอยู่ในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ๔๐ เขตดังกล่าว นอกจากนั้น หากจำเป็นต้องมีวิทยากรลงไปสร้างความเข้าใจกับเขตพื้นที่และโรงเรียน ก็สามารถทำได้รวดเร็วขึ้นกว่าการดำเนินการระยะแรกที่ใช้วิทยากรชุดเดียว เพราะขณะนี้มีทีมโค้ชของมหาวิทยาลัย/ องค์กร จำนวน ๗ ทีม ที่จะสามารถดำเนินการได้
ประธานฯ สรุปว่า
(๑) ให้นำผลการดำเนินงานของโรงเรียนและสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาระยะที่ ๑ มาให้คณะกรรมการอำนวยการโครงการปฏิรูปการเรียนรู้สู่ผู้เรียนพิจารณา ประมาณปลายเดือนพฤษภาคม ๒๕๕๘ เพื่อร่วมกันกำหนดช่วงเวลาเริ่มต้นดำเนินงานระยะที่ ๒ ของโครงการฯ ที่จะในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา จำนวน ๔๐ เขต
(๒) หากมีการดำเนินการระยะที่ ๒ จะปรับเปลี่ยนวิธีการทำความเข้าใจกับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและโรงเรียนให้แตกต่างจากการดำเนินการระยะที่ ๑ โดยอาจใช้ทีมโค้ชที่มีอยู่หลายทีมในการดำเนินการ และให้มีกระบวนการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องตรงกัน
(๓) หากมีโรงเรียนที่ประสงค์และเสนอตัวที่จะเข้าร่วมโครงการฯ ขอให้เป็นโรงเรียนที่อยู่ในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษากลุ่มเป้าหมาย ในระยะที่ ๒ จำนวน ๔๐ เขต
๒. แผนปรับปรุงคุณภาพและแนวทางสนับสนุนงบประมาณให้โรงเรียน
นายพิธาน พื้นทอง แจ้งว่า
(๑) จุดมุ่งหมายของการที่ให้โรงเรียนเสนอแผนปรับปรุงคุณภาพก็เพื่อให้เสนอแนวทางการพัฒนาการเรียนการสอน และการปรับเปลี่ยนวิธีการจัดการเรียนรู้ แต่โรงเรียนได้เสนอแนวทางการพัฒนาเรื่องอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น การจัดทำห้องสมุด การจัดซื้อสื่อและอุปกรณ์ ICT การจ้างเจ้าหน้าที่ธุรการ ดังนั้น อาจกล่าวได้ว่า แผนปรับปรุงคุณภาพที่เขตพื้นที่ส่งมายังไม่ตอบโจทย์การปฏิรูปการเรียนรู้มากนัก
(๒) ที่ผ่านมา สพฐ.ยังไม่ได้จัดสรรงบประมาณให้โรงเรียน มีเพียงข้อเสนอขึ้นมาว่า ถ้าโรงเรียนได้รับจัดสรรงบประมาณตามที่เสนอขอแล้วจะทำให้การดำเนินงานดีขึ้น ส่วนงบประมาณ ๗๙ ล้านบาท เป็นงบดำเนินงานโครงการตามปกติ อาทิ เป็นงบค่าใช้จ่ายในการจัดประชุม ค่าใช้จ่ายในการเดินทางเข้าร่วมประชุมสัมมนาของบุคลากร ค่าใช้จ่ายในการนิเทศติดตาม ค่าใช้จ่ายในการสนับสนุนโค้ชภายนอก
นางบรรเจอดพร สู่แสนสุข แจ้งว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานอนุมัติงบประมาณเพื่อดำเนินงานโครงการปฏิรูปการเรียนรู้สู่ผู้เรียนไว้ ๗๙ ล้านบาท ขณะนี้ใช้ไปแล้ว ๒๓ ล้านบาท เป็นการโอนให้เขตพื้นที่นำไปบริหารจัดการโรงเรียน จัดจ้างทีมโค้ช และเป็นค่าใช้จ่ายในการเดินทางร่วมการประชุมสัมมนาของบุคลากรเขตพื้นที่ คงเหลือ ๕๖ ล้านบาท เตรียมไว้สำหรับการดำเนินการเพิ่มเติมในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา จำนวน ๔๐ เขต
นายสุภัทร จำปาทอง เสนอความเห็นว่า โรงเรียนที่ผลสัมฤทธิ์ต่ำและมีความขาดแคลนทรัพยากร ควรมี Third Party มาทำหน้าที่ mentor คอยช่วยวิเคราะห์ผลการประเมินตนเองและแนวทางการพัฒนาที่โรงเรียนจัดทำขึ้น รวมทั้งให้คำแนะนำข้อเสนอโครงการและแผนฯ ที่จัดส่งมายังส่วนกลาง และควรมีการกลั่นกรองและบทวิเคราะห์แผนปรับปรุงคุณภาพด้วย
นายพิทักษ์ โสตถยาคม แจ้งว่า mentor หรือทีมโค้ชในโครงการนี้ทำหน้าที่ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาในการพัฒนาผู้อำนวยการโรงเรียนให้สามารถเป็นโค้ชตัวจริง หรือให้เป็น CEO on board ให้ผู้อำนวยการโรงเรียนสามารถติดตั้งระบบ Coaching และ AAR ในโรงเรียนของตนเองให้ได้ กล่าวคือทีมโค้ชมีภารกิจหลักในการช่วยเขตเตรียมผู้นำโรงเรียนให้ทำงานเหล่านี้ได้ ซึ่งไม่ได้ระบุให้ช่วยดูแลเรื่องแผนปรับปรุงคุณภาพ
สำหรับผลการวิเคราะห์แผนปรับปรุงคุณภาพที่ปรากฏในเอกสารสรุปข้อมูลงบประมาณทั้ง ๒๐ เขต จะพบว่า สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาที่เสนอของบประมาณมากที่สุดคือ สพป.ราชบุรี เขต ๒ จำนวน ๕๓,๓๘๕,๐๐๐ บาท รองลงมาคือ สพป.ลพบุรี เขต ๒ จำนวน ๔๐,๖๖๐,๐๗๐ บาท ซึ่งที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รองศาสตราจารย์ประภาภัทร นิยม) ได้นัดหารือเกี่ยวกับแผนและงบประมาณกับผู้อำนวยการ สพป.ราชบุรี เขต ๒ และลพบุรี เขต ๒ แล้ว เมื่อวันที่ ๒๖ มีนาคม ๒๕๕๘ ในครั้งนั้นได้วิเคราะห์แผนฯ ปรากฏว่า
โรงเรียนใน สพป.ราชบุรี เขต๒ เสนอของบประมาณแบ่งเป็น ๒ ส่วนเช่นเดียวกันทุกโรงเรียน ส่วนแรกเป็นการเสนอจัดจ้างเจ้าหน้าที่ธุรการ ๑ คน เจ้าหน้าที่การเงิน ๑ คน และนักการภารโรง ๑ คน และส่วนที่สองเป็นการเสนอขอรับการสนับสนุนเงินอุดหนุนรายหัวนักเรียนระดับปฐมวัย ๓,๐๐๐ บาท/คน/ปี ระดับประถมศึกษา ๕,๐๐๐ บาท/คน/ปี ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ๗,๐๐๐ บาท/คน/ปี มีเหตุผลในการเสนอของบประมาณ ๓ ประการคือ (๑) จ้างเจ้าหน้าที่สนับสนุนเพื่อทำหน้าที่เชิงธุรการแทนครู ให้ครูใช้เวลาสอนนักเรียนอย่างเต็มที่ (๒) จ้างนักการภารโรงเพื่อลดเวลาที่นักเรียนใช้ทำความสะอาดโรงเรียนและกระทบเวลาเรียนลง และ(๓) ของบอุดหนุนรายหัวเพิ่มเติมเพื่อนำไปใช้ในการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ สื่อวัสดุอุปกรณ์การเรียน และห้องปฏิบัติการให้มีความพร้อมเพื่อการเรียนรู้ แต่ไม่ได้ระบุผลที่จะเกิดขึ้นและการรับประกันผลการดำเนินงานหากได้รับการสนับสนุนตามที่เสนอขอ
ส่วนโรงเรียนใน สพป.ลพบุรีเขต ๒ เสนอของบประมาณแบ่งออกเป็น ๕ ลักษณะได้แก่ (๑) จ้างบุคคล เช่น จ้างครู จ้างเจ้าหน้าที่ จ้างวิทยากรพิเศษ (๒) ทำห้องปฏิบัติการกลุ่มสาระการเรียนรู้ต่างๆ (๓) จัดหาสื่อ ICT/ Multimedia (๔) อบรมพัฒนาบุคลากร และ(๕) สร้างอาคารเรียน มีเหตุผลในการเสนอของบประมาณ ๒ ประการคือ (๑) แก้ไขปัญหาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำ ได้แก่ ผล O-NET ต่ำ อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ อ่านและเขียนไม่คล่อง ขาดทักษะการเรียนรู้ ขาดนิสัยรักการอ่าน การเรียนรู้ข้ามวัฒนธรรม ทักษะชีวิต ทักษะการคิด ทักษะกระบวนการ ทักษะ ICT ทักษะการสื่อสารภาษาอังกฤษ ทักษะอาชีพ ความบกพร่องทางการเรียนรู้ ปัญหาสุขภาพ ขาดคุณธรรมจริยธรรม (๒) แก้ปัญหาครูมีเวลาใส่ใจนักเรียนน้อย โดยระบุผลที่จะได้รับและรับรองผลที่จะเกิดขึ้น อาทิ นักเรียน ๑๐๐% อ่านออกเขียนได้, นักเรียน ๑๐๐% มีนิสัยใฝ่รู้ใฝ่เรียน, นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์เพิ่มขึ้นอย่างน้อย ๕-๗%, นักเรียนที่บกพร่องทางการเรียนรู้ ๑๐๐% มีทักษะและพัฒนาการดีขึ้น, นักเรียนมีทักษะการคิดเพิ่มขึ้น ๑๐๐%, นักเรียนมีทักษะ ICT เพิ่มขึ้น ๑๐๐%, นักเรียนมีพัฒนาการทางร่างกายเป็นเป็นตามเกณฑ์มาตรฐาน ๑๐๐%
ผลการหารือได้ข้อเสนอ ๒ ข้อ ได้แก่ (๑) เสนอให้จัดสรรงบประมาณเพื่อจัดจ้างเจ้าหน้าที่ธุรการ วุฒิ ปวส. อัตราเงินเดือน เดือนละ ๑๒,๐๐๐ บาท โรงเรียนละ ๑ อัตรา โดยในปีงบประมาณ ๒๕๕๘ ให้จัดสรรงบประมาณเพื่อจ้าง เป็นเวลา ๕ เดือน (พฤษภาคม-กันยายน ๒๕๕๘) และ(๒) เสนอให้จัดสรรงบประมาณสนับสนุนการพัฒนากระบวนการจัดการเรียนการสอนแบบลงมือปฏิบัติและการพัฒนาครูในแนวการจัดการเรียนการสอนแบบลงมือปฏิบัติ โดยให้คิดงบประมาณที่จะจัดสรรให้โรงเรียนด้วยฐานจำนวนนักเรียนของแต่ละโรงเรียน ประมาณ ๑,๐๐๐ บาท/คน/ภาคเรียน
นายกมล ศิริบรรณ ให้ความเห็นว่า
(๑) แผนงานที่โรงเรียนเสนอขอรับการสนับสนุนงบประมาณ หากเป็นเรื่องการพัฒนาการเรียนรู้ของผู้เรียนที่แต่ก่อนส่วนกลางเป็นผู้ดำเนินการให้ แต่ขณะนี้โรงเรียนจะขอเป็นผู้ดำเนินการเอง เพราะจะทำให้ตรงกับความต้องการและมาตรฐานของโรงเรียนมากกว่า ก็ควรให้การสนับสนุน และการดำเนินการเรื่องงบประมาณก็เพียงย้ายงบประมาณที่จะดำเนินการโดยส่วนกลางไปให้โรงเรียน
(๒) ควรมีการผ่อนคลายหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพราะจะช่วยให้โรงเรียนมีความมั่นใจในการดำเนินการปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับธรรมชาติของผู้เรียน และบริบทของโรงเรียน เช่น ชั่วโมงเรียนภาษาไทยของชั้น ป.๑-๒ จะสอนได้มากกว่า ๒๐๐ ชั่วโมงตามที่หลักสูตรฯกำหนด เพื่อจะได้ใช้เวลาแก้ไขการอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ของผู้เรียน นอกจากนั้น ควรให้ครูได้ยืดหยุ่นวิธีการสอนด้วย เช่น การสอนอ่าน ครูมักติดกรอบว่าจะต้องสอนเป็นคำ แต่ควรสอนอ่านแบบแจกลูกสะกดคำ นักเรียนจึงจะอ่านได้อย่างแตกฉาน
พลเอก สุทัศน์ กาญจนานนท์กุล ให้ความเห็นว่า โครงการฯ จะดำเนินการ ๒ ส่วนคือ การปรับเปลี่ยนการบริหารจัดการ และการเพิ่มงบประมาณให้โรงเรียน หากผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียนดีขึ้นจะสามารถตอบได้อย่างไรว่า เป็นผลมาจากการปรับเปลี่ยนการบริหารจัดการหรืองบประมาณที่เพิ่มขึ้น
ประธานฯ เน้นว่า สิ่งที่อยากเห็นคือ ความสามารถในการปรับปรุงการบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพได้มากขึ้น ภายใต้สภาวะแวดล้อมเดิม นั่นคือ ด้วยบุคลากรและงบประมาณจำนวนเท่าที่มีอยู่ ไม่ใช่แก้ปัญหาการขาดแคลนครูด้วยการของบประมาณจ้างครูเพิ่ม ขาดเจ้าหน้าที่ธุรการแก้ปัญหาด้วยการของบประมาณจ้างเจ้าหน้าที่ธุรการ กรณีโรงเรียนไม่มีเจ้าหน้าที่ธุรการ และจำเป็นที่ครูต้องทำงานธุรการ จะปรับการบริหารจัดการอย่างไรไม่ให้เสียการเรียนการสอน แต่สามารถจัดการงานธุรการได้ เช่น วิเคราะห์ว่างานธุรการที่สำคัญจำเป็นต้องทำจริงๆ มีปริมาณเท่าไร จะลดงานธุรการส่วนใดลง หรือเพิ่มความรู้และขีดความสามารถให้ครูทำได้อย่างถูกต้อง ดีขึ้น เร็วขึ้นกว่าเดิมได้หรือไม่ หรือครูคนใดต้องทำงานธุรการช่วงหลังเลิกเรียนอีก ๑-๒ ชั่วโมง ก็อาจให้ค่าล่วงเวลา (overtime) เพื่อเป็นกำลังใจให้ครูคนนั้นเพราะต้องทำงานหนักกว่าคนอื่น เป็นต้น สำหรับสิ่งที่ส่วนกลางจะช่วยผ่อนคลายได้ อาทิ
(๑) การจัดสรรงบประมาณให้โรงเรียนที่เร็วขึ้น หรือจัดสรรงบประมาณที่โรงเรียนจะต้องได้รับในแต่ละปี ไปให้โรงเรียนในคราวเดียว เพื่อโรงเรียนจะได้มีความคล่องตัวในการบริหารจัดการ
(๒) ให้อำนาจในการอนุมัติและตัดสินใจในเรื่องที่ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรง และเป็นเรื่องที่จะช่วยให้คุณภาพการเรียนการสอนดีขึ้นอย่างสอดคล้องกับสภาพปัจจุบันปัญหาของพื้นที่ นั่นคือ ส่วนกลางจะให้อิสระในการตัดสินใจและให้เกิดความรับผิดชอบต่อผลที่จะตามมาให้มากขึ้น
(๓) การผ่อนคลายหลักสูตร โดยให้ยึดจุดมุ่งหมายที่ผู้เรียน แต่ยืนหยุ่นเวลาเรียน
ส่วนเรื่องของการเสนอขอเพิ่มงบประมาณอยากให้เขตพื้นที่และโรงเรียนนำมาพิจารณาเป็นลำดับสุดท้าย
รองศาสตราจารย์ประภาภัทร นิยม ให้ความเห็นว่า
(๑) ในการดำเนินการให้มีการทบทวนแผนปรับปรุงคุณภาพแต่ละครั้ง ได้พยายามอย่างยิ่งที่จะให้โรงเรียนเสนอในเรื่องที่เป็นหัวใจของการปฏิรูปการเรียนรู้ในห้องเรียน เกี่ยวกับการเรียนการสอน การผ่อนคลายหลักสูตรฯ การปรับวิธีการทำงานของครู การปรับวิธีการประเมินนักเรียน การพัฒนากิจกรรมการเรียนการสอนประเภท Hands-on activities ฯลฯ สุดท้ายเรื่องที่เสนอก็เป็นเรื่องการขาดเจ้าหน้าที่ธุรการ ขาดงบประมาณที่จะจ้างครูพิเศษในวิชาที่ขาดแคลนอยู่ เป็นต้น แสดงว่าโรงเรียนยังมีความต้องการพื้นฐานเหล่านี้อยู่ ดังนั้น ควรนำความต้องการพื้นฐานที่โรงเรียนเสนอมานี้ให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานพิจารณาว่ามีแผนพัฒนาแต่ละปีงบประมาณแล้วหรือไม่อย่างไร อย่างไรก็ตาม โรงเรียนก็ยืนยันว่า ถ้าได้สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้โรงเรียนพัฒนาขึ้นได้จริง ดังนั้น จะต้องมีการสื่อสาร เจรจา เพื่อปรับความเข้าใจในเรื่องนี้อีก ให้เน้นสิ่งที่ดำเนินการแล้วส่งผลกระทบต่อคุณภาพการจัดการเรียนการสอนแท้จริง
(๒) มีกรณีเขตพื้นที่การศึกษาและโรงเรียนร่วมกันดำเนินการได้ดีควรมีการศึกษาติดตามและนำมาเผยแพร่ อาทิ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาภูเก็ตได้ร่วมกันพัฒนาการเรียนการสอนภาษาไทย โดยทำตำราการสอนภาษาไทยขึ้นมาเอง
(๓) การกำหนดหลักสูตรฯ ในปี ๒๕๔๔ ถือว่าใช้ได้ เพราะเป็น performance standards แต่ละช่วงชั้น แต่เมื่อปรับปรุงหลักสูตรฯ ปี ๒๕๕๑ กำหนดตัวชี้วัดทั้ง ๑๒ ระดับชั้น ทำให้บริหารจัดการยาก จึงควรปรับปรุงใหม่
รองศาสตราจารย์พินิติ รตะนานุกูล ให้ความเห็นว่า
(๑) การปฏิรูปการเรียนรู้ในโรงเรียนที่มีคุณภาพการเรียนรู้ต่ำและมีความขาดแคลนจำเป็นต้องใช้ระยะเวลาเพิ่มในการพัฒนา
(๒) ที่ผ่านมากกระทรวงศึกษาธิการได้จ้างเจ้าหน้าที่ธุรการเวียนไปตามโรงเรียนต่างๆ อยู่แล้ว ฉะนั้น การขาดแคลนเจ้าหน้าที่ธุรการจึงไม่น่าเป็นปัญหาที่รุนแรงมากนัก
(๓) กุญแจแห่งความสำเร็จในที่นี้คือ การบริหารจัดการของผู้อำนวยการโรงเรียน ทำอย่างไรให้ผู้อำนวยการโรงเรียนรู้วิธีการบริหารจัดการเรื่องการปฏิรูปการเรียนรู้และมุ่งผลสัมฤทธิ์เป็นหลัก ภายใต้ทรัพยากรที่มีอยู่ จึงควรค้นหาผู้บริหารโรงเรียนที่มีความสามารถในการบริหารจัดการโรงเรียนลักษณะนี้จนประสบผลสำเร็จให้เป็นที่ประจักษ์
(4) ควรใช้ประโยชน์ของเทคโนโลยี อาทิ DLTV เข้ามาช่วยในการปฏิรูปการเรียนรู้และการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของโรงเรียน
(5) ในการจัดทำแผนปรับปรุงคุณภาพที่เสนอมา ควรมีส่วนที่แสดงให้เห็นว่า ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและผู้อำนวยการโรงเรียนได้มีความพยายามดำเนินการในเรื่องต่างๆ อย่างเต็มที่แล้ว แต่มีอุปสรรคด้านต่างๆ จึงจำเป็นต้องเสนอแผนฯ เข้ามา หากดำเนินการเช่นนี้จะทำให้เป็นการดำเนินการที่ตรงวัตถุประสงค์มากกว่า
(6) ที่ผ่านมากระทรวงศึกษาธิการได้จัดสรรงบไทยเข้มแข็งให้พัฒนาอาคารสถานที่ พัฒนา ICT และโครงสร้างพื้นฐานไปแล้ว จึงควรให้มีการเช็คข้อมูล ถ้าขาดแคลนจริงอาจใช้งบพัฒนาที่ สพฐ. มีอยู่ แต่หากทับซ้อนกับโครงการและงบประมาณที่จัดสรรลงไปก่อนหน้านี้ก็ควรมีการทบทวน
(7) การผ่อนคลายหลักสูตรฯ ควรกำหนดกรอบให้โรงเรียนสามารถบริหารจัดการเองเพื่อให้เป็นไปตามกรอบหลักสูตรฯ เช่น ชั้น ป.๑ กำหนดให้นักเรียนต้องอ่านคล่องเขียนคล่อง
ประธานฯ ให้ความเห็นว่า
(๑) งบประมาณรวมของแต่ละเขตพื้นที่การศึกษาที่มีความแตกต่างกันมาก ทั้งที่มีโรงเรียนเป้าหมายเท่ากัน แสดงให้เห็นถึงแนวคิดการดำเนินงานไม่สอดคล้องและไม่เป็นไปในแนวทางเดียวกัน
(๒) ตัวเลขที่บ่งชี้หลายอย่างแสดงถึงงบประมาณที่สูงมากและมีความเป็นไปได้น้อยมากที่กระทรวงศึกษาธิการจะสามารถให้การสนับสนุนได้ตามที่เสนอขอ เช่น สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาขอนแก่น เขต ๑ เฉลี่ยค่าใช้จ่ายของนักเรียน ๑ คน เป็นเงิน ๑๑,๖๙๑ บาท ที่จะใช้จ่ายในช่วงเวลา ๕-๖ เดือน จึงควรให้เขตพื้นที่ได้ทบทวนใหม่ว่าอะไรคือความจำเป็นที่แท้จริง
(๓) ขณะนี้งบกระตุ้นเศรษฐกิจที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานได้รับ จำนวน ๘,๐๐๐ ล้านบาท ได้เริ่มจัดสรรลงไปในพื้นที่แล้ว ซึ่งน่าจะเพียงพอที่จะเติมเต็มในประเด็นความจำเป็นเร่งด่วนของโรงเรียน
(๔) การของบประมาณเพื่อจัดซื้อจัดหาอุปกรณ์เพิ่มเติมและปรับสภาพแวดล้อมใหม่นั้น นับว่าไม่ตรงกับวัตถุประสงค์ที่มุ่งหวังของการดำเนินงาน นอกจากนั้น สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานได้จัดซื้อสื่อให้โรงเรียนขนาดเล็กทุกโรงเรียนกว่า ๑๕,๐๐๐ โรงเรียน รวมทั้งจัดหาอุปกรณ์การสอนทางไกลผ่านดาวเทียม มีโทรทัศน์ทุกห้องเรียน มีจานดาวเทียม ด้วยงบประมาณหลายพันล้านบาท ถือได้ว่าโรงเรียนขนาดเล็กทุกโรงเรียนได้รับอุปกรณ์พื้นฐานเหล่านี้ครบถ้วนแล้ว
(๕) การปฏิรูปการเรียนการสอน โดยครูปรับการเรียนการสอนให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งไม่จำเป็นที่จะต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก หรือมีวัตถุสิ่งของมาก แต่คุณภาพการเรียนการสอนและคุณภาพผู้เรียนอยู่ที่ขีดความสามารถของครูและผู้บริหารโรงเรียน รวมทั้งความสนใจใส่ใจนักเรียนของครูผู้สอน ซึ่งเงินไม่ใช่ปัจจัยหลักหรือวิธีการแก้ปัญหาที่ดีที่สุด แต่บางกรณีต้องใช้เงินเพราะมีความจำเป็นจริงก็สามารถจัดสรรให้ได้
(๖) ควรฝึกเด็กให้ทำเวรหลังเวลาเรียน ต้องบอกเหตุบอกผล ไม่ใช่สั่งให้เด็กทำ ต้องให้เรียนรู้ที่จะทำด้วยความเข้าใจ ทำอย่างมีความหมายว่าทำเพื่ออะไร เป็นการฝึกความรับผิดชอบ ให้รู้หน้าที่ รู้จักความเสียสละ และมีจิตอาสา สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่แค่เพียงให้เด็กกวาดพื้น แต่เป็นการสร้างวินัยตั้งแต่เด็ก ซึ่งไม่จำเป็นต้องจ้างนักการภารโรง แต่เป็นการบริหารจัดการแบบไม่ใช้เงินมาแก้ปัญหาและยังได้สอนและสร้างการเรียนรู้ให้นักเรียนไปในคราวเดียวกัน
ประธานฯ สรุปว่า
(๑) จะประสานให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานเร่งดำเนินการประกาศปลดล็อกหลักสูตรฯ ให้มีความยืดหยุ่นเรื่องเวลาเรียนมากขึ้น เพื่อให้โรงเรียนและสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาได้มีเวลาเตรียมความพร้อมและดำเนินการได้ในปีการศึกษา ๒๕๕๘ ซึ่งหลักสูตรฯ จะกำหนดเป็นเป้าประสงค์หลักไว้ว่าเด็กแต่ละระดับชั้นจะสามารถทำอะไรได้บ้าง แล้วให้โรงเรียนไปคิดวิธีการปฏิบัติให้บรรลุเป้าประสงค์ที่กำหนดนั้น
(๒) ให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานสร้างความเข้าใจให้ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและผู้อำนวยการโรงเรียนทราบว่า กระทรวงศึกษาธิการขอให้ใช้งบประมาณเท่าที่มีอยู่ในปัจจุบันในการปรับปรุงคุณภาพการเรียนการสอน โดยเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการให้ดีขึ้น หากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและโรงเรียนยังเห็นว่ามีความจำเป็นจริงที่จะต้องใช้งบประมาณ ก็อาจเสนอสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานเพื่อพิจารณาสนับสนุนบางส่วนตามความจำเป็นและเท่าที่จะสามารถจัดสรรให้ได้
มติ ที่ประชุมพิจารณาแล้วมีมติว่า (๑) ให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานและสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษานำเสนอรายงานผลตามบทบาทที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานโครงการฯ เพื่อประกอบการพิจารณาขยายจำนวนเขตพื้นที่การศึกษาในระยะที่ ๒ ในการประชุมคณะกรรมการอำนวยการโครงการปฏิรูปการเรียนรู้สู่ผู้เรียนครั้งต่อไปในปลายเดือนพฤษภาคม ๒๕๕๘ (๒) ให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและโรงเรียนใช้งบประมาณเท่าที่มีอยู่ในปัจจุบัน เน้นการปรับปรุงประสิทธิภาพการบริหารจัดการ และการพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนโดยไม่เพิ่มงบประมาณ แต่หากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและโรงเรียนทบทวนแล้ว พบว่า มีความจำเป็นจริงที่จะต้องใช้งบประมาณ ให้เสนอสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานพิจารณาสนับสนุนบางส่วนตามความจำเป็นและเท่าที่จะสามารถจัดสรรให้ได้
เมื่อไม่มีกรรมการท่านใดเสนอเรื่องใด ๆ แล้ว ประธานฯ ได้กล่าวขอบคุณแล้วปิดการประชุม
เลิกประชุมเวลา ๑๖.๔๐ น.
นายพิทักษ์ โสตถยาคม
ผู้จดรายงานการประชุม