หน้าเว็บ

วันจันทร์ที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2556

Thinking: มุมมอง ผอ.เขต

Thinking: มุมมอง ผอ.เขต

พิทักษ์ โสตถยาคม

วันที่ 14 กันยายน 2556 ซึ่งเป็นวันที่สองของการประชุมผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั้งประเทศ ณ โรงแรมแอมบาสเดอร์ ซิตี้ จอมเทียน เป็นการนำเสนอผลการประชุมกลุ่มของผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ซึ่งกลุ่มที่ได้รับโจทย์ “การพัฒนาความสามารถในการคิดวิเคราะห์” โดยอภิปรายถึงขั้นตอนวิธีการพัฒนาความสามารถในการคิดวิเคราะห์ในระดับเขตพื้นที่การศึกษา จำนวน 4 กลุ่ม กลุ่มละประมาณ 20 คน (สำหรับ 8 กลุ่ม ที่เหลือจะอภิปรายเรื่อง การ Scan การอ่านออกเขียนได้ จำนวน 4 กลุ่ม และเรื่องตัวชี้วัดตามนโยบาย รมว.ศธ. จำนวน 4 กลุ่ม) ผลการนำเสนอที่ีมีรองเลขาธิการ กพฐ. (ดร.กมล รอดคล้าย) เป็นประธาน มีดังนี้


  1. จำเป็นต้องให้ความรู้ครูในเรื่องกระบวนการคิด เพราะปัจจุบันครูมีความเข้าใจไม่ตรงกัน และครูจะต้องรู้ก่อนสอน การพัฒนาครูจำเป็นต้องทำเพื่อใ้ห้เข้าใจตรงกัน แต่ไม่ใช่การอบรม ซึ่งทุกระดับจะต้องมองภาพเดียวกัน ทั้งโรงเรียน เขต และ สพฐ. ข้อเสนอคือ ให้ใช้ชุดฝึก ดังเช่นชุดฝึกในปี 2527 "เปลวเทียนที่ต้านลม" หากจะมีการสร้างความเข้าใจครูควรทำช่วงปิดเรียนเดือนเมษายน จากนั้นให้ครูนำไปใช้สอน แล้วให้ศึกษานิเทศก์ไป Coaching and Mentoring ตามบริบทของครูที่แตกต่างกัน มีเครื่องมือไปช่วยในการตรวจสอบผล ส่วนผู้บริหารโรงเรียนจัดทำแผนการบริหารจัดการที่สอดคล้องบริบท และบริหารจัดการตามชุดฝึกหรือคู่มือนี้   
  2. คัดเลือกโรงเรียนต้นแบบ ที่ดำเนินการได้ประสบผลสำเร็จเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ให้โรงเรียนอื่นในพื้นที่
  3. พัฒนาต่อเนื่องระยะยาว 3-5 ปี อยากให้พูดเรื่องการพัฒนากระบวนการคิดสัก 5 ปี ไม่ควรเปลี่ยนแปลงนโยบายบ่อย ซึ่งถ้าต่อเนื่องเช่นนี้รับรองว่าจะเกิดผลที่้ต้องการ เพราะมีความเืชื่อมั่นในพลังและความจริงจังของคน สพฐ.
  4. จัดการศึกษาต้องให้เด็ก "คิดเป็น" ตามปรัชญาแนวคิดมีความเชื่อว่า คนเกิดมาก็คิดอยู่แล้ว แม้อ่านหนังสือไม่ออกก็คิด แต่เมื่อเข้าสู่การจัดการศึกษาจะต้องสร้างให้เด็กคิดเป็น และต้องทำให้เด็กอ่านได้ด้วย 
  5. สาเหตุที่เด็กคิดไม่เป็น ส่วนหนึ่งมาจากการเลี้ยงดูของผู้ปกครองที่เลี้ยงแบบทนุถนอมเกินไป ให้ทำตามแบบอย่าง และมีข้อห้ามข้อปฏิบัติมาก ส่วนสาเหตุจากครูคือ ครูไม่รู้การคิด เน้นการจำ การจัดการเรียนการสอนไม่ใส่กระบวนการคิด และสำนักงานเขตพื้นที่ไม่มีข้อมูลครูว่า มีครูกี่คนที่ไม่รู้เรื่องการคิด นอกจากนั้นการรับสื่อ ICT ตลอดเวลาก็ไม่เอื้อให้คิด รวมทั้งพื้นฐานเด็กที่ไม่รักการอ่านและการเขียนด้วย
  6. สร้างกระแสขอพลังการมีส่วนร่วมของสังคม และสร้างค่านิยมใหม่ให้เกิดขึ้น เช่น เด็กทำของเล่นเอง
  7. สร้างเครื่องมือจำแนกสมรรถนะครู ควรเ็ป็นบทบาทของ สพฐ.ที่จะดำเนินการพัฒนาเครื่องมือ
  8. พัฒนาครู ควรให้เป็นหน้าที่ของเขตพื้นที่ ที่จะกำหนดวิธีการ กิจกรรมของตนเอง 
  9. สนับสนุนงบพัฒนาแบบ Block Grant โดย สพฐ.เป็นผู้กำหนดเป้าหมาย จัดสรรงบประมาณเป็นก้อน และขอให้เชื่อมั่นเขตและโรงเรียน ซึ่ง สพฐ.สามารถรอดูผลที่เกิดขึ้นได้เลย รวมทั้งผลสอบ PISA ในครั้งต่อไป
  10. จัดทำ Shopping List มี Menu ให้โรงเรียนเลือกใช้ ซึ่ง สพฐ.เป็นผู้ดำเนินการในส่วนนี้
  11. จัดทำ VCD ตัวอย่างครูสอนคิดเก่งๆ เพื่อเผยแพร่แจกจ่าย
  12. กำกับติดตามผลของโรงเรียนแบบเข้ม ด้วยคณะกรรมการของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาหลายคณะ
  13. ให้รางวัลผู้ประสบผลสำเร็จ เพื่อเป็นขวัญกำลังใจของบุคลากรที่สามารถดำเนินการได้บรรลุผล
  14. สำรวจความรู้เรื่องการคิดของครูและผู้บริหาร ควรมีกระบวนการจำแนกระดับความรู้ของครูและผู้บริหาร เมื่อพบว่า คนใดจำเป็นต้องพัฒนา ให้เข้ารับการพัฒนาเฉพาะคน ไม่พัฒนาทุกคนเหมือนกัน
  15. ออกแบบหลักสูตรการพัฒนาครู โดยเริ่มต้นจากการให้ความรู้ครูในเรื่องทักษะการคิด มีช่วงเวลาให้ครูได้ปฏิบัติการสอน 1-12 เดือน แล้วมีการนิเทศติดตาม มีการจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ มีการค้นหาโรงเรียนดีที่เป็นตัวอย่างได้ ซึ่งการพัฒนาควรมีปฏิทินตลอดปี หากมีการอบรมควรจัดในช่วงปิดภาคเรียน ไม่ควรแยกครูออกจากห้องเรียน
  16. จำแนกระดับการคิดของนักเรียน โรงเรียนควรรู้จักเด็กเกี่ยวกับความสามารถในการคิด จะได้ช่วยเสริมเติมเต็มนักเรียนได้อย่างถูกต้องเหมาะสม
  17. จัดทำ "ตัวช่วย" สำหรับครู ควรจัดทำสื่อ นวัตกรรม เครื่องมือวัดและประเมินการคิด กิจกรรมต่างๆ ให้ครูสามารถนำไปใช้ได้สะดวก
ในตอนท้าย เมื่อนำเสนอเสร็จทั้งเรื่องการคิด การอ่าน และตัวชี้วัดแล้ว รองเลขาธิการ กพฐ. (ดร.กมล รอดคล้าย) ได้ฝากสำนักในส่วนกลางให้จัดระบบของการทำงานในส่วนกลาง 3 ส่วน คือ (1) อยากให้คิดแบบ Holistic ให้มองเป็นองค์รวมให้เห็นเป็นภาพรวม ไม่ควรทำเป็นส่วนๆ หรือบอกสำนักงานเขตไปเป็นเรื่องๆ (2) ควรให้ Input ทั้งงบประมาณ สื่ออุปกรณ์ต่างๆ เพื่อให้สำนักงานเขตได้คิดโครงการในพื้นที่ได้เอง และ(3) ควรให้ Reward สำหรับผู้ที่ดำเนินการได้ประสบผลสำเร็จ ซึ่งรางวัลนี้อาจเป็นโล่ หรือให้ไปศึกษาดูงาน หรือให้งบประมาณมากขึ้น ส่วนผู้ที่ยังทำไม่สำเร็จก็จำเป็นต้องเข้าไปพิจารณาช่วยหนุนเสริมบางอย่างเพิ่มเติม เพื่อให้สำนักงานเขตสามารถทำงานได้ดียิ่งขึ้น

สะท้อนคิด:
ผมพบว่าผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามีำพลังที่จะขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพในโรงเรียนต่างๆ ในความรับผิดชอบ เสียงที่ได้ยินในการประชุมครั้งนี้บ่งบอกความต้องการความเป็นอิสระในวิธีการคิดและการทำงานในขอบเขตความรับผิดชอบของตนเอง โดยให้ส่วนกลางบอกเป้าหมายปลายทางที่ชัดเจน รวมทั้งให้การสนับสนุนทรัพยากรที่จำเป็น เสียงจากการประชุมสะท้อนเกี่ยวกับบทบาทของโรงเรียน เขตพื้นที่ และส่วนกลางที่มีความชัดเจนพอสมควร พอที่จะใ้ห้เกิดความคิดที่จะร่วมคิดร่วมทำเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางนี้ ที่มีความท้าทายมากๆ ...คงไม่เพียงแต่บางเรื่อง เช่น เรื่องการคิด ควรทำทั้งระบบ กำหนดเป้าหมายแบบองค์รวมดังที่รองเลขาธิการ กพฐ.ได้ชี้แนะไว้ และสร้างกลไกการกำกับติดตาม รวมทั้งสร้างระบบรับผิดชอบในผลที่จะเกิดขึ้น (Accountability) ...ส่วนความชัดเจนในการพัฒนาครู 2-3 เรื่อง ก็คือ ไม่ใช้การอบรมปูพรม ถ้าอบรมควรเป็นช่วงปิดเรียนและบางคนที่จำเป็น มีตัวช่วยครู/Shopping List  และระบบหนุนเสริมการพัฒนาครูอย่างต่อเนื่อง (Teacher Coaching and Mentoring) 
-------------------------------