หน้าเว็บ

วันจันทร์ที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2556

โครงการเพาะพันธุ์ปัญญา: ทักษะครูและศิษย์ในศตวรรษที่ ๒๑

โครงการเพาะพันธุ์ปัญญา: พัฒนาทักษะครูและศิษย์ในศตวรรษที่ ๒๑

พิทักษ์ โสตถยาคม

๙ สิงหาคม ๒๕๕๖ ผมได้รับเชิญไปร่วมลงพื้นที่เรียนรู้ “โครงการเพาะพันธุ์ปัญญา” ที่โรงเรียนขุนหาญวิทยาสรรค์ สังกัด อบจ.ศรีสะเกษ ร่วมกับทีมผู้ทรงคุณวุฒิ สกว. และผู้บริหาร บมจ.ธนาคารกสิกรไทย อาทิ ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช คุณสมหมาย ปาริจฉัตต์ ดร.เจือจันทร์ จงสถิตอยู่ ดร.สีลาภรณ์ บัวสาย รศ.ดร.สุธีระ ประเสริฐสรรพ์ ผศ.ไพโรจน์ คีรีรัตน์ คุณกฤษดา ล่ำซำ ดร.อดิศวร์ หลายชูไทย เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับกิจกรรมการเรียนการสอนแบบ “โครงงานฐานวิจัย” กิจกรรมตลอดวันนี้ประกอบด้วย ภาคเช้าเป็นการบรรยายสรุปโดย รศ.ดร.สุธีระ ประเสริฐสรรพ์ และการเล่าประสบการณ์การสอนโครงงานของครูไสว อุ่นแก้ว (ชีววิทยา) และคณะ [ครูนลินรัตน์ อินต๊ะพันธ์ (ศิลปะ) ครูธวัชชัย บุญหนัก (ฟิสิกส์) และครูวิเศษ สินศิริ (คณิตศาสตร์)]  เสียงสะท้อนจากนักเรียนและผู้ปกครอง และสังเกตการสอน


โครงการเพาะพันธุ์ปัญญาเป็นโครงการพัฒนายุววิจัย/ นักวิจัยระดับมัธยมศึกษา ควบคู่กับการพัฒนาการจัดการเรียนการสอนของครู ในการจัดการจัดการเรียนรู้ด้วยการวิจัย (research-based learning) ซึ่งเป็นโครงการที่สนับสนุนโดย สกว.และ บมจ.ธนาคารกสิกรไทย เป็นระยะเวลา ๖ ปี เริ่มดำเนินการปี ๒๕๕๕ โดยสนับสนุนงบประมาณฝ่ายละ ๔๐ ล้านบาท รวม ๘๐ ล้านบาท มุ่งพัฒนาโรงเรียน ๘๐ โรงเรียน กระจายอยู่ในจังหวัดต่างๆ รวม ๑๘ จังหวัด (โรงเรียนละ ๑ ห้องเรียน รวม ๘๐ ห้องเรียน) และสนับสนุนโครงการของนักเรียน ห้องเรียนละ ๑๐ โครงการ รวม ๘๐๐ โครงการ ในการบริหารจัดการโครงการได้ให้มีหน่วยจัดการกลางขึ้น รับผิดชอบโดย รศ.ดร.สุธีระ ประเสริฐสรรพ์ มีการอบรมพัฒนาพี่เลี้ยงที่รับผิดชอบช่วยเหลือโรงเรียน จำนวน ๘ ศูนย์พี่เลี้ยง ซึ่งเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย จำนวน ๓๐ คน มหาวิทยาลัย ๗ แห่งที่เป็นศูนย์พี่เลี้ยง ได้แก่ (๑) มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง (๒) มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (๓) มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี (๔) มหาวิทยาลัยศิลปากร (๕) มหาวิทยาลัยมหิดล (๖) มหาวิทยาลัยพะเยา (๗) มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ และ(๘) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ที่ผ่านมามีการอบรมกลุ่มพี่เลี้ยงมาแล้วเป็นระยะเวลา ๖ เดือน มีการประชุมร่วมของกลุ่มพี่เลี้ยงทุกๆ ๓ เดือน
จากการบรรยายสรุปเกี่ยวกับโครงการทำให้ได้ทราบว่า การออกแบบโครงการได้ส่งเสริมกระบวนการ Research-based Learning เรียนรู้นอกห้องเรียน เน้นประเด็นหลักเดียวกันแล้วแตกเป็น ๑๐ โครงการ ในการบูรณาการศาสตร์อย่างหนึ่งอย่างใด ดังนี้ วิทยาศาสตร์-สังคมศาสตร์/ มนุษยศาสตร์-สังคมศาสตร์/ สังคมศาสตร์-เศรษฐศาสตร์ ทั้งนี้หน่วยจัดการกลางจะสนับสนุนชุดความรู้/ หนังสือที่ช่วยให้เชื่อมโยงชีวิตนักเรียน ช่วยหนุนเสริมความรู้ ความคิด(system thinking, critical thinking, วิเคราะห์, สังเคราะห์, มีเหตุผล) และการปฏิบัติ (จิตตปัญญาศึกษา โครงงานบนฐานวิจัย การบูรณาการวิชาและบริบท) สนับสนุนการพัฒนาครูให้รู้การคิดแบบต่างๆ และความรู้ความสามารถในการพัฒนาข้อเสนอโครงการ (proposal) ซึ่งได้ออกแบบกระบวนการทำงานและกำหนดปฏิทินกิจกรรมต่างๆ ไว้ล่วงหน้าตลอดปีการศึกษา การออกแบบโครงการอยู่บนฐานความเชื่อว่า Research-based Learning (RBL) เป็นกระบวนการทางปัญญา (ไม่ใช่เป็นเพียงเครื่องมือสร้างความรู้เท่านั้น) เรียนรู้แบบอิงบริบทจริง การพัฒนาจะไม่ติดยึดเครื่องมือวิจัยสำเร็จรูป จะส่งเสริมให้ครูคิดเอง เน้นบูรณาการวิชา ใช้หลักเหตุผลแบบ Deductive มากกว่า Inductive
ครูไสว อุ่นแก้ว ครูกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ได้เล่าให้ฟังว่า กลุ่มเป้าหมายในโครงการเพาะพันธุ์ปัญญา คือ นักเรียนชั้น ม.๒ จำนวน ๒ ห้องเรียน เริ่มดำเนินการในภาคเรียนที่ ๑/ ๒๕๕๖ (ผ่านมาประมาณ ๒ เดือน) ทีมครูที่ปรึกษาได้ตกลงกันว่า จะลดการสั่งและสอน เพิ่มการเอื้ออำนวยให้เด็กเกิดการเรียนรู้ สร้างพื้นที่ที่ปลอดภัยให้นักเรียน จะพยายามควบคุมอารมณ์ให้สงบ “จะไม่จี๊ด” สร้างความตระหนักให้นักเรียนในการปฏิบัติจนเกิดทักษะและความเข้าใจ ในการเรียนรู้แบบ RBL เช่น ทำผลิตภัณฑ์จากเตยหนาม ซึ่งเป็นการเรียนรู้อย่างบูรณาการ จากการทำโครงงาน ได้เรียนรู้เป็นทีม เกิดความสามัคคี รู้สึกสนุกและผ่อนคลาย ครูไสวเห็นว่า การเรียนรู้เช่นนี้จะทำให้เด็กเกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี จะเติบโตจาก “ราก” ที่แข็งแรง เด็กจะได้เรียนรู้จากสาระการเรียนรู้เพิ่มเติม “โครงงาน” ที่ผ่านมาไม่ค่อยมีเวทีให้นักเรียนได้นำเสนอผลงานที่สร้างสรรค์ขึ้น อย่างรู้คุณค่าและภาคภูมิใจ อาทิ เครื่องล้างไข่ เครื่องคัดแยกมะนาว เครื่องเย็บแผ่นยาง เครื่องสอยมะนาว อุปกรณ์แกะทุเรียน 
เสียงจากผู้ปกครองนักเรียน ชั้น ม.๕ ที่ลูกเคยได้เรียนรู้โครงงานจากครูไสว ได้สะท้อนความรู้สึกว่า ดีใจที่ลูกได้เข้าร่วมโครงการ ได้เห็นความอดทน กล้าพูด รู้จักแบ่งเวลา และมีความรับผิดชอบสูงของลูก แทบไม่อยากเชื่อว่าลูกจะนำเสนอและตอบคำถามได้อย่างชัดเจน ในระหว่างประกวดโครงงาน สิ่งที่ผู้ปกครองเต็มใจให้การสนับสนุนก็เพราะเห็นว่าลูกได้ความรู้ แม้ว่าลูกจะต้องไปพักค้างที่โรงเรียน หรือกลับบ้านไม่ตรงเวลา หรือต้องตระเวนไปเก็บข้อมูล ตัวแทนคุณแม่คนนี้บอกว่า “ใครจะว่าอะไรก็ชั่งเขา แม่ลูกเราเข้าใจกันก็เพียงพอแล้ว”
คณะครูที่ร่วมรับผิดชอบการเรียนรู้ของนักเรียน ชั้น ม.๒ ได้สะท้อนความรู้สึกว่า รู้สึกท้าทายที่จะได้ฝึกทักษะนักเรียนกลุ่มเป้าหมาย ต้องเร่งฝึกฝนนักเรียน ให้นักเรียนนำความรู้ไปใช้ให้ได้ ได้มาทำหน้าที่ครูที่ปรึกษา ได้ทำหน้าที่ตั้งคำถามให้นักเรียนตอบ ทำให้ได้เรียนรู้ไปกับนักเรียนด้วย นอกจากนั้น ยังได้นำความโดดเด่นของธรรมชาติวิชามาช่วยเสริมการเรียนรู้ของนักเรียนด้วย เช่น ศิลปะช่วยให้นักเรียนสามารถสื่อสารความคิดออกมาได้ชัดเจนขึ้น  
          นักเรียนชั้น ม.๕ กลุ่มหนึ่งที่ได้เรียนรู้จากครูไสวมาต่อเนื่องได้เล่าถึงสิ่งที่ได้รับการกระบวนการเรียนรู้เช่นนี้คือ (๑) การเรียนรู้ที่ต้องลำบากในการค้นคว้าและสรุปความรู้เอง ทำให้รู้สึกเห็นคุณค่าของความรู้ที่มีอยู่ในหนังสือมากขึ้น (๒) การเรียนรู้แบบโครงงานทำให้ได้ฝึกให้กล้าในการออกไปเก็บข้อมูล ได้ฝึกพูด และรู้จักจัดการเวลา (๓) การเรียนรู้เช่นนี้ทำให้แสวงหาวิธีการแก้ไขปัญหาหลากหลายวิธีจนสามารถค้นพบวิธีการที่ดีที่สุด เช่น หาวิธีทำมีกรีดยางให้ได้หน้ายางสม่ำเสมอ (๔) เรียนรู้โครงงานยางพาราทำให้ได้เรียนรู้การทำอาชีพของพ่อแม่ เช่น ฝึกกรีดยางจนเป็น ก็สามารถช่วยผู้ปกครองได้ และ (๕) ได้รับประสบการณ์ตรงและฝึกความอดทน

ข้อคิดจากผู้ทรงคุณวุฒิ
ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช:
(๑) การเรียนรู้เช่นนี้คือ Project-based Learning นักเรียนได้ลงมือทำจริง ไม่ใช่เรียนแบบผิวเผิน
(๒) มี ๓ อย่างที่ควรทำเพื่อให้การเรียนรู้ลงลึกมากขึ้น ได้แก่ หนึ่ง-ให้เขียน Diary สะท้อนความคิดความรู้สึกเกี่ยวกับงานนั้นด้วยตนเอง ถือว่าเป็น Personal Journal สอง-Present นำเสนอผลของโครงงานหลากหลาย และสังเคราะห์ความเข้าใจ สาม-ทำ Group Reflection หรือ AAR เพื่อให้รู้รอบด้าน
(๓) ในการจัดการเรียนรู้ครูจะต้องตั้งความหวังว่า จะให้นักเรียนได้รับและเรียนรู้ทฤษฎีใด มีการยกทฤษฎีนั้นๆ มาให้นักเรียนได้วิเคราะห์วิพากษ์ เพราะชิ้นงานที่นักเรียนจัดทำขึ้นนั้น ไม่ใช่เครื่องการันตีว่านักเรียนจะได้เรียนรู้ลึก
(๔) เป้าหมายในการจัดการศึกษามี ๕ ด้านคือ ปัญญา อารมณ์ สังคม จิตวิญญาณ และร่างกาย ซึ่งในการเรียนรู้แต่ละครั้งต้องตรองดูว่า นักเรียนได้ครบถ้วนทุกด้านหรือไม่
(๕) ครูควรร่วมกันตั้งเป้าหมายและประเมินการเรียนรู้ว่า สิ่งที่นักเรียนได้เรียนรู้นั้นตรงกับที่ต้องการหรือไม่ ซึ่งวิธีการประเมินควรเอาแนวมาจาก PISA เป็นการอิงความเข้าใจ ไม่ใช่อิงความรู้ ดังนั้น ครูควรเลิกสอนความรู้ แต่ควรไปโค้ชให้นำความรู้ไปใช้จริง
(๖) เรียนแบบโครงงานต้องไม่เป็นภาระเพิ่มขึ้น จะต้องให้เป็นส่วนหนึ่งของการเรียนตามปกติ ไม่ใช่สิ่งที่เพิ่มขึ้น ต้องอยู่ในงานปกติ ไม่ว่าโครงงานใดๆ ก็จะได้ทุกกลุ่มสาระ เช่น โครงงานทำนา ชั้น ป.๕-๖ ของโรงเรียนรุ่งอรุณ ทำให้นักเรียนได้กลอนดลใจจากงานที่เรียนรู้อย่างงดงาม ข้อเสนอเพื่อให้เป็นการเรียนรู้ปกติก็คือ Project-based Learning + Journal/Diary & Present & Group Reflection
(๗) ควรใช้ Flipped Classroom
(๘) สถาบันผลิตครู ควรนำใช้เปลี่ยนวิธีการผลิตครู ให้ได้ครู 21st century skills ก็คือ ครูที่สอนแบบไม่สอน

ดร.สีลาภรณ์ บัวสาย: น่าสนใจและน่าชื่นชมในกระบวนการเรียนรู้ ที่เด็กเป็นคนตั้งโจทย์ และเป็นโจทย์จากชีวิตจริง เป็นการสอนโดยใช้คำถาม และให้ทบทวนตนเอง ซึ่งเด็กจะเกิดการเรียนรู้ในทุกขณะของการค้นหาคำตอบ

คุณสมหมาย ปาริจฉัตต์: ได้เห็นถึงการปรับกระบวนการเรียนรู้ เป็นการวิจัยที่ไม่ขึ้นหิ้ง ข้อมูลยืนยันชัดเจนว่า เด็กดีขึ้น ถือเป็นทางออกของการศึกษาไทย เห็นครูไสวแล้วนึกถึงครูเรฟ เอสควิท (Rafe Esquith) ผู้เขียนหนังสือครูนอกกรอบกับห้องเรียนนอกแบบ ซึ่งคำสำคัญคือ สอนน้อยเรียนให้มาก (Teach Less Learn More) ได้เห็นครูมีความมั่นใจ และหากมีผู้บริหารโรงเรียนช่วยให้การสนับสนุนจะไปได้ดี และควรช่วยขยายให้มีครูเช่นนี้ให้มากขึ้น

สะท้อนคิดจากการได้เรียนรู้: ผมได้รับรู้สิ่งดีอย่างน้อย ๓ ประการ และเห็นถึงความท้าทาย ๑ ประการ ดังนี้
          สิ่งดีที่เห็น ๓ ประการ ได้แก่ (๑) ครูไสว ได้สะท้อนให้เห็นลักษณะของครูที่สังคมมุ่งหวังหลายประการ อาทิ ครูที่มีความเชื่อมั่น เข้มแข็ง ลึกซึ้งในกระบวนการที่ผ่านการปฏิบัติมาอย่างชำนาญ มีความใส่ใจและเกาะติดการเรียนรู้ของผู้เรียน มีความสามารถในการมองเห็นภาพรวมและลงลึกในกระบวนการเรียนรู้ที่คาดหวัง มีการคิดไตร่ตรอง ทบทวน และปรับวิธีปฏิบัติของตนอยู่เสมอ มีความระมัดระวังไม่ให้การกระทำของตนเองไปปิดกั้นความคิดสร้างสรรค์ของผู้เรียน และมีลักษณะของโค้ชที่ดี (๒) คณะครูที่ร่วมทีมในโครงการนี้ทั้ง ๔ คน มีความตั้งมั่นในหลักการที่จะไม่ให้อารมณ์โกรธเข้ามาปะปนในการจัดการเรียนรู้ จะคอยสะกิดเตือนกัน รวมทั้งพยายามนำจุดเด่นของแต่ละคนมาเป็นพลังเสริมทีมครูและสนับสนุนการเรียนรู้ของผู้เรียน และ(๓) การให้ผู้เรียนมาเข้าค่ายเพื่อเรียนรู้โครงงานนั้น หากตัดประเด็นเรื่องภาระงานที่เพิ่มขึ้น ก็จะเห็นเชิงเปรียบเทียบกับกีฬา จะพบว่าการเข้าค่ายกีฬาก็เพื่อฝึกฝนทักษะการเล่นเพื่อให้ชนะในเกม ส่วนการเข้าค่ายโครงงานก็เป็นการฝึกฝนกระบวนการเรียนรู้เพื่อให้ชนะตนเองและเตรียมทักษะไปใช้ในชีวิตจริง
          สิ่งที่ผมเห็นว่าเป็นความท้าทาย ๑ ประการ ของโครงการลักษณะนำร่องเช่นนี้ก็คือ การขยายวิธีปฏิบัติแบบครูไสวให้กระจายและฝังอยู่ในกระบวนการจัดการเรียนรู้ของครูทั้งโรงเรียน โดยเริ่มต้นจากโรงเรียนที่มีครูแกนนำ ครูต้นแบบ ก่อนที่จะขยายไปสู่โรงเรียนอื่นๆ หรือพื้นที่อื่นๆ ดังที่ผู้ทรงคุณวุฒิได้เปรียบเทียบโครงการพัฒนาครูเช่นนี้เป็น “น้ำยาอุทัยทิพย์” ที่จะค่อยๆ เหยาะให้สีของน้ำ (ครูทั่วไปอีก ๕ แสนคน) ให้เปลี่ยนวิธีสอนในลักษณะนี้ ดังนั้น ผลกระทบของโครงการจะต้องพิจารณาว่า สีของน้ำยาอุทัยทิพย์ไปสร้างสีสันให้กับครูอื่นเพียงใด และตัวชี้ความสำเร็จ
ก็ควรเห็นได้จากน้ำที่อยู่ในตุ่มเดียวกันนี้ (ครูในโรงเรียนเดียวกัน) ก็ควรเรียนรู้และปรับเปลี่ยนก่อน เพราะอยู่ใกล้ได้สัมผัสโดยตรง สำหรับโรงเรียนขุนหาญวิทยาสรรค์นี้มีหลายปัจจัยเอื้อต่อความสำเร็จหลายประการ อาทิ มีนักวิชาการ อาจารย์มหาวิทยาลัยเข้ามาร่วมพัฒนาใกล้ชิด มีครูไสวที่ทำเป็นแบบอย่าง โรงเรียนสังกัด อบจ.ศรีสะเกษที่น่าจะมีความคล่องตัวในการบริหารจัดการสู่การเปลี่ยนแปลง เป็นต้น

-----------------------------------------