หน้าเว็บ

วันจันทร์ที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2556

ครูนัดดา: ๓๐ ปีที่รู้จักครูและอยู่ในความทรงจำ

ครูนัดดา: ๓๐ ปีที่รู้จักครูและอยู่ในความทรงจำ

พิทักษ์ โสตถยาคม


ผมได้รับการประสานจากครูท่านหนึ่งที่อยู่โรงเรียนบ้านเกิดว่า ครูนัดดา ครูของผมสมัยประถมต้องการให้ผมเป็นตัวแทนลูกศิษย์กล่าวถึงครูบนเวทีในงานเกษียณอายุราชการ ที่จะจัดขึ้นในวันอาทิตย์ที่ ๒๙ กันยายน ๒๕๕๖ ผมจึงเรียบเรียงความคิดจากความทรงจำเกี่ยวกับครู พร้อมชวนเพื่อนรักสมัยเรียนชั้นประถมคือ อ.ขวัญนภา อินปอง ครูโรงเรียนวัดโตนด สังกัด กทม. ร่วมกล่าวและอ่านกลอนด้วย

ต่อไปนี้คือ ความทรงจำเกี่ยวกับครู ที่ผมเรียบเรียงเพื่อกล่าวในงานของครู และถ่ายเอกสารแจกผู้มาร่วมงานด้วย...
ครูนัดดา จำปาถิ่น ครูโรงเรียนบ้านเขาถ้ำ อ.ปากท่อ จ.ราชบุรี และจะเกษียณอายุราชการในปีนี้ เป็นครูประจำชั้นของผม ตอนนั้นผมอยู่ชั้น ป.๔ อายุ ๑๐ ขวบ ครูนัดดาก็คงจะอายุ ๓๐ ปี กิตติศัพท์ของครูที่ผมได้ยินตอนอยู่ ป.๓ ก่อนเลื่อนชั้นมาอยู่ ป.๔ ก็คือ ความดุและเข้มงวด เมื่อได้มาอยู่ห้องครูนัดดาจริงๆ ก็สัมผัสได้ถึงความจริงจังและตั้งใจสอน แม้ครูจะดุในสายตาเด็กๆ ทั้งโรงเรียน แต่ครูนัดดาก็ไม่เคยตีผมเลย หากจะมีการลงโทษลูกศิษย์คนอื่นบ้างก็ด้วยความรัก ความเมตตา และจะมีเหตุผลอันสมควรเสมอ
ครูคือผู้ส่งเสริมศิษย์ ช่วงที่ผมอยู่ชั้น ป.๔ ครูปั้นผมให้เป็นตัวแทนไปแข่งขันวาดภาพในงานวิชาการของกลุ่มศุภชัย ในปีเดียวกันนี้ ผมได้รับการคัดเลือกจากโรงเรียนให้ได้รับเกียรติบัตรจากสำนักงานศึกษาธิการเขต ๕ ว่าเป็นผู้มีความประพฤติดี ซึ่งครูบุญ อินปอง ครูใหญ่ในขณะนั้น เป็นผู้ประดับเหรียญดาวทองติดที่หน้าอกให้ผม ซึ่งครูนัดดาเป็นผู้ให้ข้อมูลสำคัญนี้ ร่วมกับคณะครูทั้งโรงเรียน และครูบรรจง ครูประจำชั้น ป.๓ 
พอนึกถึงครูนัดดา ภาพหนึ่งจะปรากฏขึ้นคือ ภาพครูนัดดา หมวกกันน็อค และมอเตอร์ไซค์สีแดง ครูจะมาโรงเรียนแต่เช้าทุกวันตลอดชีวิตราชการ ที่ผมเห็นบ่อยก็ช่วง ๕-๖ ปี ก็ช่วงที่ผมปั่นจักรยานไปโรงเรียนปากท่อพิทยาคม จะพบครูนัดดาขับขี่รถมอเตอร์ไซค์สวนกับผมเสมอๆ 
เสาร์อาทิตย์ก็มักจะเห็นครูนัดดามาโรงเรียนเสมอๆ นอกจากครูจะมาสะสางงานในหน้าที่แล้ว ครูยังให้ความเมตตานำอาหารมาเลี้ยงดูสุนัขหลายตัว ซึ่งเป็นสุนัขที่ถูกคนเอามาปล่อยวัดและพลัดหลงมาที่โรงเรียน 
กิจกรรมการเรียนการสอนที่ยังเห็นชัดเจน ในความทรงจำคือ การประดิษฐ์กระปุกออมสินด้วยแผ่นเฟรมพลาสติกปักไหมพรม และการทำพรมเช็ดเท้าจากเศษผ้าโดยใช้กระสอบป่านเป็นพื้น ภาพของครูนัดดาที่เอาใจใส่ จ้ำจี้จ้ำไชนักเรียนให้คิด ให้อ่าน ให้เขียน และฝึกให้ทำงานเป็น ผมหลับตาลงยังเห็นภาพเพื่อนๆ เข้าแถวเพื่อนำสมุดงานหรือแบบฝึกหัดไปส่งให้ครูตรวจงานเป็นรายบุคคล นักเรียนแต่ละคนจะรู้เลยว่าตนเองทำเรื่องใดถูกต้องแล้วและเรื่องใดที่จะต้องปรับปรุงในทันทีบ้าง เพราะครูจะไม่ปล่อยให้ความไม่เข้าใจหรือทำไม่ได้อยู่กับลูกศิษย์นานเกินไป 
สิ่งที่เห็นจนชินตาคือ ครูเป็นผู้ดูแลงานสหกรณ์โรงเรียน ทั้งจัดซื้อจัดหาสินค้า ดูแลระบบหุ้นการปันผลให้สมาชิก งานการเงินสหกรณ์ และการจัดระบบให้นักเรียนฝึกความรับผิดชอบและให้ได้เรียนรู้งานสหกรณ์ ซึ่งก็เป็นตัวบ่งชี้ที่ชัดเจนในการทุ่มเทฝึกฝนนักเรียน รวมทั้งความซื่อสัตย์สุจริต ตรงไปตรงมาของครูนัดดา นอกจากนั้นยังทำโรงเพาะเห็ดหลังโรงเรียนเพื่อเป็นแหล่งฝึกงานอาชีพให้นักเรียนได้ลงมือทำ การสร้างประสบการณ์ การทำงานจริง ฝึกวินัยและความรับผิดชอบ ในขณะเดียวกันนักเรียนก็มีรายได้ระหว่างเรียนด้วย หากใครเคยทำโรงเพาะเห็ดก็จะทราบดีว่า การทำโรงเพาะเห็ดจะต้องขยัน อดทน และเสียสละเวลาส่วนตัวสูงมาก ซึ่งครูนัดดาทำหลายๆ อย่างได้ในเวลาเดียวกันอย่างน่าอัศจรรย์ ทั้งทำเอง-ดูแลนักเรียน-บริหารจัดการโรงเพาะเห็ด งานสหกรณ์โรงเรียน งานการจัดการเรียนการสอนนักเรียน ฯลฯ 
๑๐ ปีหลังจากที่ผมจบชั้น ป.๖ จากโรงเรียนบ้านเขาถ้ำ ผมกลับมาที่โรงเรียนแห่งนี้อีกครั้งในฐานะครูคนใหม่ของโรงเรียน จากที่เป็นลูกศิษย์ก็เป็นอีกสถานะหนึ่งคือ เพื่อนร่วมงาน ผมได้รับมอบหมายให้เป็นครูประจำชั้น ป.๓ ส่วนครูนัดดาก็ยังคงสอนประจำชั้น ป.๔ ที่เอาใจใส่ดูแลศิษย์อย่างดีเช่นเดิม การเป็นครูไม่ใช่มีเพียงหน้าที่อบรมสั่งสอนศิษย์ ยังมีหน้าที่นอกเหนือจากการสอนอีกมากมาย ผมก็ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่เจ้าหน้าที่พัสดุของโรงเรียน หากใครอยู่โรงเรียนก็จะรู้ว่าเจ้าหน้าที่พัสดุโรงเรียนมีภาระงานมากน้อยเพียงใด แต่ผมไม่เคยรู้สึกว่างานนี้มีความยุ่งยากลำบากใดๆ เลย เพราะผมมีครูนัดดาช่วยเหลือแนะนำ และทำงานต่างๆ ให้เกือบทั้งหมด ผมคิดว่า ไม่ใช่เพียงครูทำหน้าที่เป็นหัวหน้างานพัสดุเท่านั้น แต่ครูคือครูของผมอยู่เสมอตลอดเวลา ดังนั้น ตลอด ๓ ปีที่ผมเป็นครูที่โรงเรียนแห่งนี้ ครูนัดดาคอยเป็นผู้ชี้แนะในฐานะครูของผม คอยชี้นำ ทำเป็นแบบอย่างของการเป็นครูผู้ให้ ผู้ทุ่มเทเพื่อนักเรียน เพื่อโรงเรียน โดยไม่หวังผลตอบแทน  และอีกฐานะหนึ่งคือการเป็นเพื่อนร่วมงานที่คอยให้คำปรึกษาอย่างให้เกียรติ ด้วยความเป็นกัลยาณมิตร 
ผมคิดว่าสิ่งที่ผมเล่ามานี้ เป็นเพียงเสี้ยวหนึ่ง เล็กๆ ในความเป็นครูของครูนัดดาเท่านั้น ในความเป็นจริงแล้วไม่สามารถพรรณนาได้ทั้งหมด อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่าบทกวีของเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ บทนี้ อาจสะท้อนความเป็นครูของครูนัดดาได้อย่างตรงมากที่สุด 
ครูคือใคร 
ใครคือครู        ครูคือใคร        ในวันนี้ 
ใช่อยู่ที่            ปริญญา          มหาศาล 
ใช่อยู่ที่            เรียกว่า           ครูอาจารย์ 
ใช่อยู่นาน        สอนนาน        ในโรงเรียน 
ครูคือผู้            ชี้นำ                ทางความคิด 
ให้รู้ถูก              รู้ผิด                คิดอ่านเขียน 
ให้รู้ทุกข์           รู้ยาก               รู้พากเพียร   
ให้รู้เปลี่ยน        แปลงสู้           รู้สร้างงาน 
ครูคือผู้             ยกระดับ          วิญญาณมนุษย์  
ให้สูงสุด           กว่าสัตว์          เดรัจฉาน 
ปลุกสำนึก        สั่งสม              อุดมการณ์   
มีดวงมาลย์      เพื่อมวลชน     ใช่ตนเอง 
ครูจึงเป็น         นักสร้าง           ที่ใหญ่ยิ่ง     
สร้างคนจริง     สร้างคนกล้า    สร้างคนเก่ง 
สร้างคนให้       ได้เป็นตัว         ของตัวเอง   
ขอมอบเพลง    นี้มา                 บูชาครู
-----------------------------