หน้าเว็บ

วันศุกร์ที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2556

Thinking: ข้อคิดผู้ทรงคุณวุฒิ

Thinking: ข้อคิดผู้ทรงคุณวุฒิ

พิทักษ์ โสตถยาคม

การประชุมกลุ่มผู้ทรงคุณวุฒิมาพิจารณากลไกการขับเคลื่อนกระบวนการคิดของ สพฐ. ในวันพฤหัสบดีที่ 12 กันยายน 2556 เวลา 09.00-14.00 น. ณ ห้องประชุม อาคาร สพฐ.5 ชั้น 9 มีผู้ทรงคุณวุิฒิและข้าราชการ สพฐ.เข้าร่วมเสวนา 33 คน ประกอบด้วย อ.พรพิไล เลิศวิชา ดร.เจือจันทร์ จงสถิตอยู่ อ.เพชรชุดา เกษประยูร ศ.ดร.ศิริชัย กาญจนวาสี อ.ขวัญสรวง อติโพธิ ดร.บุญชู ชลัษเฐียร คุณวิริยะ ผลโภค ดร.วิชัย เสวกงาม อ.ศิริวรรณ วงษ์สกุล ดร.นลินี ณ นคร รศ.งามตา วนินทานนท์ ผู้อำนวยการสำนักทดสอบทางการศึกษา (นายกนก อินทรพฤกษ์) ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาครูและบุคลากรการศึกษาขั้นพื้นฐาน (ดร.ชวลิต โพธิ์นคร) ผู้อำนวยการสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา (ดร.ไพรวัลย์ พิทักษ์สาลี) ผู้เชี่ยวชาญด้านวิจัยทางการศึกษา (ดร.วิภาพร นิธิปรีชานนท์) รองผู้อำนวยการสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา (น.ส.กัญนิกา พราหมณ์พิทักษ์)  รองผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา (ดร.บรรเจอดพร สู่แสนสุข) รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 35 (นายกิติชัย วิจิตรสุทร) นายคู่บุญ ศกุลตนาค ดร.ชนาธิป ทุ้ยแป ดร.โชติมา หนูพริก น.ส.นิจสุดา อภินันท์ทาภรณ์ นายปราโมทย์ ขจรภัย นางผาณิต ทวีศักดิ์ ดร.รัตนา แสงบัวเผื่อน นางลำไย สนั่นรัมย์ ดร.วีระเดช เชื้อนาม ดร.สิริมา หมอนไหม นางสุดจิตร์ ไทรนิ่มนวล ดร.อรนุช มั่งมีสุขศิริ น.ส.ดวงใจ บุญยะภาส น.ส.จันทิรา ทวีพลายนต์ และผม-พิทักษ์ โสตถยาคม 


สาระการเสวนาโดยสรุป มีดังนี้

ด้านยุทธศาสตร์การพัฒนาที่ต้องเปลี่ยน
  1. ใช้จังหวัดเป็นฐานการพัฒนา จากปัญหาคุณภาพการศึกษาที่เป็นผลจากการเชื่อมโยงนโยบายจากส่วนกลางสู่การปฏิบัติไม่มีประสิทธิภาพประสิทธิผล สะท้อนปัญหาของการพัฒนาแบบรวมศูนย์ที่มีมาช้านาน ดังนั้น จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนการพัฒนาเน้นการพัฒนาเชิงยุทธศาสตร์ มาใช้จังหวัดเป็นฐาน ซึ่งจังหวัดเป็นมณฑลที่มีทุกอย่าง ไม่ว่าการเมืองหรือนโยบายจะมุ่งเน้นอะไร ก็จะมีผู้ดำเนินการอยู่และสามารถพบเห็นได้ในมณฑลนี้ หากปลุกพลังของการฮึดสู้ จากทุกภาคส่วนในจังหวัด ไม่ว่าจะเป็นมหาวิทยาลัย ภาครัฐ ภาคเอกชน ชุมชน ฯลฯ ให้ร่วมด้วยช่วยกัน งัด/ ยกคุณภาพเด็กขึ้นมาให้ได้ โดยจะต้องมีการสื่อสาร ใช้พลังของช่องทางและเครื่องมือสื่อสารที่มีทั้งหมดเพื่อการผนึกกำลังและสัญญาว่าจะช่วยลูกหลานของเรา และทำเรื่องการพัฒนาคุณภาพการเรียนรู้ให้เป็นวิถีชีวิตประจำวัน แล้วผลจากการวัดประเมินก็จะเป็นการรู้เพื่อจะช่วยกันทำให้ดีขึ้น อาทิ เรื่องการคิด ก็สามารถรู้ได้ทันทีในพื้นที่ว่า ใครบ้างที่ชอบคิด โจทย์เพื่อให้เด็กคิดก็จะเป็นเรื่องใกล้ตัวเด็กและจะช่วยให้เด็กเรียนรู้อย่างมีความหมาย  บทบาทของส่วนกลางก็ไปพบพูดคุยกับประชาคมของแต่ละจังหวัด ไปขอดูตัวอย่าง ไปช่วยเชื่อมโยงกับส่วนกลางจากฐานการทำในพื้นที่ แล้วส่วนกลางจะได้ภาพเชิงสังเคราะห์ในภาพรวม หากดำเนินการโดยใช้จังหวัดเป็นฐานส่วนกลางก็จะมีสถานีกลางที่มีความเหมาะเจาะในเรื่องขนาดของจังหวัดและพลังของประชาคม ที่มีความพร้อมที่จะ "เรืองแสงด้วยตนเอง"
  2. ฉะเชิงเทราโมเดล เมื่อปี พ.ศ. 2493 ที่จังหวัดฉะเชิงเทรามีโครงการความร่วมมือระหว่างยูเนสโกกับรัฐบาลไทย พัฒนาโรงเรียนนำร่อง 10 แห่ง ปรับเปลี่ยนการสอนเป็นเน้นเด็กเป็นศูนย์กลาง ถึงชุมชนและวัดเข้ามามีส่วนร่วม ซึ่งเป็นโครงการระดับจังหวัดที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก จึงน่านำประสบการณ์และบทเรียนกรณีนี้มาวิเคราะห์เพื่อประกอบการขับเคลื่อนการพัฒนาการศึกษาที่ใช้จังหวัดเป็นฐาน
  3. ควรให้พื้นที่ได้มีอิสระในการคิดและทำ โดยส่วนกลางควรกำหนดเป้าหมายและบูรณาการการทำงานร่วมกันของสำนักต่างๆ แล้วให้เขตพื้นที่และโรงเรียนได้มีอิสระในการคิดโครงการและดำเนินการให้บรรลุเป้าหมาย โดยมีระบบกำกับติดตามอย่างจริงจัง เข้มแข็ง
  4. เรียนรู้จากมาเลเซีย ประเทศมาเลเซียต้องการให้โรงเรียนเป็น Thinking School ทุกโรงเรียนทั่วประเทศ ภายในระยะเวลา 3 ปี แต่เมื่อคิดพิจารณาแล้ว กลับทำจริงจังเพียง 10 โรงเรียน แบบ Whole School Approach ในลักษณะ Pilot Project ในโครงการ i-Think พบว่า 10 โรงเรียนนี้ขณะนี้พัฒนาเข้าสู่ปีที่ 3 มีผลการพัฒนาที่ดีและหวังให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปสู่โรงเรียนทั่วทั้งประเทศได้ในที่สุด (เว็บไซต์โครงการ i-Think ประเทศมาเลเซีย ดูได้ที่นี่ >> http://goo.gl/vwgGLp )
  5. นำร่องได้บางจุด-ขยายผลมีปัญหา การพัฒนาการคิดและโครงการนำร่องพัฒนาเรื่องต่างๆ ที่ผ่านมา จะเป็นการดำเนินการเฉพาะจุด บางโรงเรียน บางห้องเรียน ก็จะประสบปัญหาไม่สามารถขยายผลให้ครอบคลุมทั่วถึงได้ และหากไปติดตามหรือชมผลงานเด็กในงานนิทรรศการต่างๆ ก็พบว่า มีเด็กเพียงบางกลุ่มถูกเตรียมและซักซ้อมมาเพื่อตอบแบบเฉพาะกิจ นับว่าเป็นข้อจำกัดในเรื่องความทั่วถึง ซึ่งการพัฒนากระบวนการคิดนี้ไม่ใช่เป็นเป้าหมายของการพัฒนาแบบเร็วๆ และเร่งรัด และควรเป็นเป้าหมายระยะยาวที่ต่อเนื่องในทุกยุคทุกสมัย
  6. พัฒนาการคิดต่อเนื่อง สพฐ.ได้ทำเรื่องการคิดมานาน มีรูปแบบและเครื่องมือวัดแล้ว สามารถเดินหน้าต่อได้เลย และควรต่อเนื่องแม้จะเปลี่ยนรัฐมนตรี

ด้านเป้าหมายและนิยามการคิดต้องชัดเจน
  1. ต้องนิยามการคิดที่ต้องการให้ชัดเจน มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องนิยามการคิดในแบบที่เราต้องการ ที่ให้เกิดขึ้นที่ตัวนักเรียนให้ตรงกันก่อน ว่าเราจะทำการคิดเพื่อให้ได้ผลแบบใด เช่น เราจะทำแบบประเทศญี่ปุ่นหรือไม่ ประเทศญี่ปุ่นใช้เวลาถึง 10 ปี เพื่อพัฒนาให้เด็กสามารถเอาตัวรอดได้ (survival) เมื่อเกิดภัยสึนามิ หรือจะปรับเปลี่ยนให้เด็กมีการคิดในระดับประถมและมัธยมเช่นเดียวกับประเทศชิลี อย่างไรก็ตาม เราคงต้องกำหนดนิยามให้ชัดเจน เพราะถ้าเราทำทั้งหมด เราจะไม่ได้อะไรเลย
  2. ต้องคิดให้ชัด การพัฒนาการคิดจำเป็นต้องคิดให้ัชัดเจนก่อนว่า การคิดคืออะไร มีองค์ประกอบ มีรูปแบบ วิธีการ และเป้าหมายอย่างไร ซึ่งการคิดเป็นกระบวนการทางสมอง มองไม่เห็น จับต้องไม่ได้ ดังนั้น จึงต้องพิจารณาจากการพูด การเขียน และการแสดงออก การคิดที่สำคัญมี 6 อย่าง เช่น การคิดแบบวิทยาศาสตร์ การคิดแก้ปัญหา การคิดสร้างสรรค์ การคิดวิเคราะห์ การคิดอย่างมีวิจารณญาณ และการคิดตัดสินใจ ซึ่งแต่ละการคิดจะมีตัวร่วมกันอยู่ ในการดำเนินการจำเป็นต้องมีตัวชี้วัดการคิดเพื่อการติดตามที่ชัดเจน
  3. ระบุเป้าหมายการคิดแต่ละช่วงวัย การกำหนดเป้าหมายของการคิดที่ต้องการให้เกิดขึ้นกับเด็กในแต่ละช่วงวัยคือะไร มีตัวชี้วัดอะไรบ้าง เมื่อเป้าหมายนี้ชัดเจนแล้วจะช่วยให้นวัตกรรมที่มีอยู่สามารถช่วยครูได้ตรงประเด็นและสอดคล้องกับความต้องการของโรงเรียน
ด้านครูคือหัวใจของการพัฒนา
  1. ครูต้องคิดเป็น-สอนเป็น ครูต้องคิดเป็นก่อนที่จะไปสอนให้เด็กคิด ครูจะต้องมีความสามารถในการสอน จะต้องจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning โดยครูเป็น facilitator เพื่อให้นักเรียนสร้างความรู้ได้เอง การพัฒนาครูจะต้องให้ครูมีความสามารถพื้นฐานและทักษะ เช่น การวิเคราะห์ผู้เรียน ความรู้เรื่องการคิด การสอน (pedagogy) การวัดทักษะการคิด
  2. ต้องวางพื้นฐานที่ครู โดยเฉพาะความเข้าใจ "เด็กคิดเป็น" ต้องให้ครูเข้าใจว่าเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นในตัวเด็ก ไม่ใช่เกิดขึ้นจากการที่ครูยืนพูดอยู่หน้าชั้นเรียนตลอดเวลา เพราะการเรียนรู้จากการฟังครู จะทำให้เด็กจำได้ประมาณ 10% เท่านั้น ดังนั้น จึงควรทุ่มเททรัพยากรและงบประมาณเพื่อพัฒนาครูให้เข้าใจหลักของการจัดการเรียนรู้แบบ Child-centered Approach นอกจากนั้น การพัฒนาครูควรใช้เทคนิคที่ง่าย ให้เห็นว่าการคิดสอดแทรกอยู่ในทุกวิชา ไม่ต้องสอนหรือให้ทฤษฎีมาก แต่ให้ครูทำให้ได้จริงๆ ก่อน
  3. ความสำเร็จอยู่ที่การสื่อสารกับครู วิธีการสื่อสารเพื่อที่จะ empowerment ครู ให้สามารถวางแผนและคิดได้เองได้อย่างไร ซึ่งไม่ต้องอบรมให้เสียงบประมาณ ให้ครูมีแรงจูงใจอยากทำ-อยากขับเคลื่อนการพัฒนาด้วยตัวครูเอง ทำให้ครูพึ่งตนเองได้ หาวิธีสื่อสารให้ครูรู้ KPI  เกิดพลังที่จะช่วยกันจัดการเรียนรู้ที่เน้นการคิด และรู้ว่าจะช่วยกันได้อย่างไร รู้ถึงการสร้างสิ่งเร้าให้เด็กคิดได้อย่างไร เช่น การตั้งคำถาม ที่สำคัญคือ ต้องช่วยกันให้ "สติ" ครู ไม่ให้ตื่นเต้น/ตื่นตระหนก
  4. ควรต่อยอดต้นทุนเดิม ไม่อบรมแบบ Mass ในการพัฒนาครูไม่ควรใช้การอบรมเพราะจะได้ผลน้อย ควรคิดพิจารณาให้ลึกซึ้งในวิธีการพัฒนาอย่างมีกลยุทธ น่าจะต่อยอดต้นทุนที่มีและบูรณาการขยายการพัฒนาจาก Project เดิมที่ทำอยู่ เช่น เพิ่มจำนวนครูกลุ่มเป้าหมายในโครงการ Problem-based Learning หรือ Project-based Learning หรือ BBL เป็นต้น แต่สิ่งที่ควรมุ่งเน้นคือ ครูต้องเป็นผู้กระตุ้น และตั้งคำถามให้เด็กได้คิดเอง ได้เรียนรู้อย่างครบกระบวนการ และให้เด็กเรียนรู้จากการได้ลงมือปฏิบัติ
  5. ผลิตครูให้รู้ถ่องแท้ การพัฒนาโดยใช้การอบรมครูให้ทำได้เป็นไปได้ยาก มีผู้กล่าวเทียบเคียงกับปัญหาครูไม่รู้เรื่องการวัดผลว่า เป็นไปได้ยากมากที่จะอบรมระยะสั้นๆให้รู้การวัดผล...ชาติหนึ่งเราก็ทำไม่ได้ ดังนั้น สถาบันอุดมศึกษาจะต้องมุ่งเน้นให้เกิดความเข้าใจที่ถ่องแท้ในขณะที่ยังเป็นนิสิตนักศึกษาครู โดยเฉพาะ 2 เรื่องสำคัญคือ การวัดผล และการจัดการเรียนรู้
  6. ฟันธง "ครู" สำคัญสุด เด็กจะคิดได้ดีอยู่ที่ครู จะต้องช่วยให้ครูสอนให้เป็น ช่วยครูให้ได้อยู่กับเด็กเพื่อสอนอย่างใส่ใจ ช่วยครูให้นำความรู้ที่ได้จากการอบรมจำนวนมากไปใช้ในการสอน และการพัฒนาครูก็ไม่ควรใช้การอบรมแล้ว ควรใช้ Coaching and Mentoring แต่ผู้เป็นโค้ชหรือ mentor ต้องมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง และการพัฒนาก็ไม่ควรทุ่มไปกับสื่อ ควรขับเคลื่อนด้วยคำถามของครูในการสอนเด็กในห้องเรียน
  7. ให้รู้สึกว่าง่าย-อยู่ในชีวิตประจำวัน ควรทำให้ครูรู้สึกว่าง่ายและมีอยู่แล้วในชีวิตประจำวัน ช่วยนำวิธีการปฏิบัติที่ง่ายๆ ส่งให้ครู ช่วยให้ครูยืนด้วยจิตที่มั่นคง-ทำด้วยใจ และต้องเชื่อว่าครูสอนได้ เพราะการคิดอยู่ที่วิธีการ อยู่ที่น้ำเสียง เทคนิค และลีลาของครูในการทำให้เด็กคิด เราควรเน้นมาตรฐานหลักสูตรที่มีอยู่แล้วและส่งเสริมให้นำไปใช้-ทำให้ครบ อย่าประดิษฐ์วาทกรรมหรือใช้คำใหม่ๆที่จะทำให้ครูรู้สึกสับสน กรณีการคิดนี้เราอาจเก็บชื่อหรือประเภทการคิดไว้กับกลุ่มนักวิชาการที่ส่วนกลาง แล้วส่งเทคนิควิธีการที่ปรับเป็นวิธีปฏิบัติแบบง่ายๆ ส่งให้ครูใช้...เหมือนกับการร้องเพลง แม้เราจะจำชื่อเพลงไม่ได้ แต่เราก็ร้องได้
  8. ทฤษฎีการคิดสู่การปฏิบัติ หากกล่าวถึงทฤษฎีในการจัดการเรียนรู้มีจำนวนมาก น่าสนใจ และดีทั้งหมด แต่ครูไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร ครูสับสน ดังนั้น ควรสร้างความเข้าใจให้ครูให้ง่ายที่สุด แต่การนำรูปแบบ หรือ Model ใดๆ มาให้ครูไทยใช้ จากประสบการณ์ที่ผ่านมาพบว่า ครูไทยมีเงื่อนไขอื่นๆ จำนวนมาก ที่เป็นอุปสรรคทำให้ไม่ประสบความสำเร็จในการนำทฤษฎีและรูปแบบมาใช้  เช่น แบบอย่างที่ครูพบตลอดชีิวิตการเรียนรู้เป็นแบบ Teacher-centered Approach ภาพที่จำติดตาคือ ครู/ อาจารย์ยืนบอกความรู้อยู่หน้ากระดาน 
  9. ใช้พลังการสื่อสารให้ครูอยากดู-อยากตาม-อยากใช้ ควรใช้ช่องทางการสื่อการให้ถึงครูในทุกช่องทาง และพัฒนาวิธีการสื่อสารให้น่าสนใจ น่าติดตาม น่าใช้ และไม่ให้เรื่องการคิดเป็นยาขมของครู มีเอกสารที่อ่านง่าย
  10. ทำให้เกื้อประโยชน์ครู การทำให้ครูดำเนินการจริงจัง ควรคำนึงถึงผลประโยชน์ที่ครูจะได้รับและตอบโจทย์ความต้องการของครูด้วย เช่น การเชื่อมกับการประเมินวิทยะฐานะ ส่วนการพัฒนาระยะยาวจะต้องพัฒนาความตระหนักของครูว่า ครูเป็นวิชาชีพชั้นสูง ต้องทำหน้าที่ด้วยจิตวิญญาณครู
  11. พัฒนาครูเน้นการคิด สพฐ.โดยสำนักพัฒนาครูฯ ได้ระบุว่า ต่อจากนี้จะให้มีการคิดมากขึ้น จะใช้ระบบแบบขายตรงเพื่อให้ 3 ปีพัฒนาครูให้ครบ 4 แสนคน จะใช้ระบบ e-coaching และ e-training และจะใช้แนวคิด Solo Taxonomy มาใช้เพื่อยกระดับคะแนน PISA 
ด้านตัวช่วยครูและเทคนิควิธีการที่เอื้อต่อการจัดการเรียนรู้
  1. ควรมี Menu/ Shopping List และคู่มือช่วยครู ควรมีการรวบรวมเทคนิค วิธีการเพื่อสนับสนุนการสอนของครู เช่น BBL หมวกหกใบ พร้อมมีข้อแนะนำในการใช้นวัตกรรมต่างๆ อาทิ มีการระบุว่าเหมาะสมกับวัยของผู้เรียนวัยใด
  2. ควรใช้การเขียนพัฒนาการคิด ใน journal ต่างประเทศได้แนะนำให้ใช้การเขียนมาพัฒนาการคิด เพราะเด็กจะได้สังเคราะห์และสร้างผลงานออกมา เด็กจะได้พัฒนาการคิดมากกว่าการอ่านและการฟัง แม้ว่าการอ่านและการฟังจะสามารถกระตุ้นการคิดได้ด้วย แ่ต่ผู้เรียนก็จะยังเป็น Passive Learner อยู่ ดังนั้น ครูทุกคนจะสามารถใช้การสอนการเขียน มาช่วยฝึกการคิดได้ในทุกวิชา ซึ่งจะทำให้เด็กได้ฝึกการคิดเป็นประจำสม่ำเสมอ
  3. ใช้นิทานพัฒนาจิตให้คิดได้-คิดดี-คิดเป็น ศูนย์วิจัยระบบพฤติกรรมไทย สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานได้วิจัยและพัฒนานวัตกรรมนิทานเพื่อพัฒนาจิตลักษณะแก่เด็กไทย  มีนิทานที่พัฒนาขึ้น จำนวน 20 เรื่อง เป็นการพัฒนาจิตลักษณะ 4 ด้าน ด้านละ 5 เรื่อง จิตลักษณะ 4 ด้าน ได้แก่ ความเชื่ออำนาจในตน แรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ การใช้เหตุผลเชิงจริยธรรม และลักษณะมุ่งอนาคต-ควบคุมตน โดยกลุ่มตัวอย่างเป็นนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 และมัธยมศึกษาปีที่ 2 ซึ่งนวัตกรรรมนิทานนี้สามารถช่วยพัฒนาจิตลักษณะใฝ่ดีและใฝ่สำเร็จได้
  4. ควรใช้คำถามมุ่งให้คิดระดับสูง ครูควรใช้คำถามกระตุ้นการคิดระดับสูง ที่มากว่าความรู้ความจำ แต่ปัญหาของครูคือ ยังตั้งคำถามไม่เป็น
  5. บรรยากาศเอื้อให้คิด Bloom กล่าวว่า อารมณ์มีผลต่อการคิด ควรจัดบรรยากาศการเรียนรู้ที่ดีและเอื้อต่อการคิดดี ดังนั้น ครูต้องใช้อุบาย ใช้คำถาม ใช้วิธีการจัดสภาพแวดล้อมให้เกื้อหนุน
  6.  ควรบูรณาการสู่สาระการเรียนรู้ การพัฒนาการคิดควรบูรณาการในเนื้อหาวิชาที่สอน ไม่ใช่เป็นแบบ content free ซึ่งจะต้องนำการคิด/วิธีคิดไปอยู่ในวิธีการเรียนรู้ของนักเรียน
  7. อ่านไม่ได้ ไม่ใช่คิดไม่เป็น การอ่านหนังสือไม่ออก เช่น เด็กเล็ก ไม่ได้เป็นเครื่องบ่งบอกว่า เด็กคิดไม่เป็น ฉะนั้น ในการประเมินการคิด จะต้องไม่ดูเฉพาะการแสดงออกทางการอ่าน การเขียนเท่านั้น ควรใช้การสังเกตและการให้บอกเล่าสิ่งที่เด็กคิด ก็จะเป็นสิ่งสะท้อนให้เห็นถึงการคิดของเด็กได้
  8. กระบวนทัศน์ 7 ประการ เพื่อให้นักเรียนคิดเป็นและสอดคล้องกับการทำงานของสมอง ได้แก่ (1) ให้ความสำคัญกับการสร้างกระบวนการเรียนรู้ (learning process) แทนที่จะเน้นแต่คำตอบ (2) หาวิธีกระตุ้นให้คิดและให้เวลาที่สมองจะใช้ในการคิด (3) ป้อนคำถามที่กระตุ้นให้สมองคิด (4) ใช้เครื่องมือช่วยให้เด็กพัฒนาวิธีคิด (5) สร้างกระบวนการเรียนรู้ที่ต้องใช้การปฏิสัมพันธ์ระหว่างนักเรียน (6) สร้างกระบวนการเรียนรู้ที่เป็นเงื่อนไขให้นักเรียนใช้ทักษะ (skills transfer) ในบริบทต่างๆ และ(7) เปลี่ยน learning environment เพื่อสร้างบรรยากาศที่กระตุ้นการคิด  
สะท้อนคิด:
ข้อคิดเห็นจากการเสวนาครั้งนี้สร้างความสบายใจได้ระดับหนึ่ง ที่ทิศทางการพัฒนาจะใช้พื้นที่เป็นฐาน เริ่มต้นจากสิ่งที่ครูมีและต่อยอดพัฒนา ได้เห็นหลายกรณีตัวอย่างที่ดี และข้อเสนอแนะเชิงสร้างสรรค์จำนวนมาก และรู้สึกโล่งใจแทนครู ที่เวทีนี้ไม่มีข้อเสนอ "จับครูมาสอบ" เพื่อวัดระดับการคิดของครู ผมคิดว่าการพัฒนาที่เริ่มต้นจาก "เข้าใจ-เข้าถึง-พัฒนา" empowerment ด้วยความเป็นกัลยาณมิตร คิดถึงใจเขา(ครู) ใจเรา น่าจะเป็นแนวทางที่ถูกต้อง
--------------------------------------