Thinking: มุมมอง ผอ.เขต
พิทักษ์ โสตถยาคม
วันที่ 14 กันยายน 2556 ซึ่งเป็นวันที่สองของการประชุมผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั้งประเทศ ณ โรงแรมแอมบาสเดอร์ ซิตี้ จอมเทียน เป็นการนำเสนอผลการประชุมกลุ่มของผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ซึ่งกลุ่มที่ได้รับโจทย์
“การพัฒนาความสามารถในการคิดวิเคราะห์”
โดยอภิปรายถึงขั้นตอนวิธีการพัฒนาความสามารถในการคิดวิเคราะห์ในระดับเขตพื้นที่การศึกษา
จำนวน 4 กลุ่ม กลุ่มละประมาณ 20 คน (สำหรับ 8 กลุ่ม ที่เหลือจะอภิปรายเรื่อง การ Scan
การอ่านออกเขียนได้ จำนวน 4 กลุ่ม และเรื่องตัวชี้วัดตามนโยบาย
รมว.ศธ. จำนวน 4 กลุ่ม) ผลการนำเสนอที่ีมีรองเลขาธิการ กพฐ. (ดร.กมล รอดคล้าย) เป็นประธาน มีดังนี้
- จำเป็นต้องให้ความรู้ครูในเรื่องกระบวนการคิด เพราะปัจจุบันครูมีความเข้าใจไม่ตรงกัน และครูจะต้องรู้ก่อนสอน การพัฒนาครูจำเป็นต้องทำเพื่อใ้ห้เข้าใจตรงกัน แต่ไม่ใช่การอบรม ซึ่งทุกระดับจะต้องมองภาพเดียวกัน ทั้งโรงเรียน เขต และ สพฐ. ข้อเสนอคือ ให้ใช้ชุดฝึก ดังเช่นชุดฝึกในปี 2527 "เปลวเทียนที่ต้านลม" หากจะมีการสร้างความเข้าใจครูควรทำช่วงปิดเรียนเดือนเมษายน จากนั้นให้ครูนำไปใช้สอน แล้วให้ศึกษานิเทศก์ไป Coaching and Mentoring ตามบริบทของครูที่แตกต่างกัน มีเครื่องมือไปช่วยในการตรวจสอบผล ส่วนผู้บริหารโรงเรียนจัดทำแผนการบริหารจัดการที่สอดคล้องบริบท และบริหารจัดการตามชุดฝึกหรือคู่มือนี้
- คัดเลือกโรงเรียนต้นแบบ ที่ดำเนินการได้ประสบผลสำเร็จเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ให้โรงเรียนอื่นในพื้นที่
- พัฒนาต่อเนื่องระยะยาว 3-5 ปี อยากให้พูดเรื่องการพัฒนากระบวนการคิดสัก 5 ปี ไม่ควรเปลี่ยนแปลงนโยบายบ่อย ซึ่งถ้าต่อเนื่องเช่นนี้รับรองว่าจะเกิดผลที่้ต้องการ เพราะมีความเืชื่อมั่นในพลังและความจริงจังของคน สพฐ.
- จัดการศึกษาต้องให้เด็ก "คิดเป็น" ตามปรัชญาแนวคิดมีความเชื่อว่า คนเกิดมาก็คิดอยู่แล้ว แม้อ่านหนังสือไม่ออกก็คิด แต่เมื่อเข้าสู่การจัดการศึกษาจะต้องสร้างให้เด็กคิดเป็น และต้องทำให้เด็กอ่านได้ด้วย
- สาเหตุที่เด็กคิดไม่เป็น ส่วนหนึ่งมาจากการเลี้ยงดูของผู้ปกครองที่เลี้ยงแบบทนุถนอมเกินไป ให้ทำตามแบบอย่าง และมีข้อห้ามข้อปฏิบัติมาก ส่วนสาเหตุจากครูคือ ครูไม่รู้การคิด เน้นการจำ การจัดการเรียนการสอนไม่ใส่กระบวนการคิด และสำนักงานเขตพื้นที่ไม่มีข้อมูลครูว่า มีครูกี่คนที่ไม่รู้เรื่องการคิด นอกจากนั้นการรับสื่อ ICT ตลอดเวลาก็ไม่เอื้อให้คิด รวมทั้งพื้นฐานเด็กที่ไม่รักการอ่านและการเขียนด้วย
- สร้างกระแสขอพลังการมีส่วนร่วมของสังคม และสร้างค่านิยมใหม่ให้เกิดขึ้น เช่น เด็กทำของเล่นเอง
- สร้างเครื่องมือจำแนกสมรรถนะครู ควรเ็ป็นบทบาทของ สพฐ.ที่จะดำเนินการพัฒนาเครื่องมือ
- พัฒนาครู ควรให้เป็นหน้าที่ของเขตพื้นที่ ที่จะกำหนดวิธีการ กิจกรรมของตนเอง
- สนับสนุนงบพัฒนาแบบ Block Grant โดย สพฐ.เป็นผู้กำหนดเป้าหมาย จัดสรรงบประมาณเป็นก้อน และขอให้เชื่อมั่นเขตและโรงเรียน ซึ่ง สพฐ.สามารถรอดูผลที่เกิดขึ้นได้เลย รวมทั้งผลสอบ PISA ในครั้งต่อไป
- จัดทำ Shopping List มี Menu ให้โรงเรียนเลือกใช้ ซึ่ง สพฐ.เป็นผู้ดำเนินการในส่วนนี้
- จัดทำ VCD ตัวอย่างครูสอนคิดเก่งๆ เพื่อเผยแพร่แจกจ่าย
- กำกับติดตามผลของโรงเรียนแบบเข้ม ด้วยคณะกรรมการของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาหลายคณะ
- ให้รางวัลผู้ประสบผลสำเร็จ เพื่อเป็นขวัญกำลังใจของบุคลากรที่สามารถดำเนินการได้บรรลุผล
- สำรวจความรู้เรื่องการคิดของครูและผู้บริหาร ควรมีกระบวนการจำแนกระดับความรู้ของครูและผู้บริหาร เมื่อพบว่า คนใดจำเป็นต้องพัฒนา ให้เข้ารับการพัฒนาเฉพาะคน ไม่พัฒนาทุกคนเหมือนกัน
- ออกแบบหลักสูตรการพัฒนาครู โดยเริ่มต้นจากการให้ความรู้ครูในเรื่องทักษะการคิด มีช่วงเวลาให้ครูได้ปฏิบัติการสอน 1-12 เดือน แล้วมีการนิเทศติดตาม มีการจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ มีการค้นหาโรงเรียนดีที่เป็นตัวอย่างได้ ซึ่งการพัฒนาควรมีปฏิทินตลอดปี หากมีการอบรมควรจัดในช่วงปิดภาคเรียน ไม่ควรแยกครูออกจากห้องเรียน
- จำแนกระดับการคิดของนักเรียน โรงเรียนควรรู้จักเด็กเกี่ยวกับความสามารถในการคิด จะได้ช่วยเสริมเติมเต็มนักเรียนได้อย่างถูกต้องเหมาะสม
- จัดทำ "ตัวช่วย" สำหรับครู ควรจัดทำสื่อ นวัตกรรม เครื่องมือวัดและประเมินการคิด กิจกรรมต่างๆ ให้ครูสามารถนำไปใช้ได้สะดวก
ในตอนท้าย เมื่อนำเสนอเสร็จทั้งเรื่องการคิด การอ่าน และตัวชี้วัดแล้ว รองเลขาธิการ กพฐ. (ดร.กมล รอดคล้าย) ได้ฝากสำนักในส่วนกลางให้จัดระบบของการทำงานในส่วนกลาง 3 ส่วน คือ (1) อยากให้คิดแบบ Holistic ให้มองเป็นองค์รวมให้เห็นเป็นภาพรวม ไม่ควรทำเป็นส่วนๆ หรือบอกสำนักงานเขตไปเป็นเรื่องๆ (2) ควรให้ Input ทั้งงบประมาณ สื่ออุปกรณ์ต่างๆ เพื่อให้สำนักงานเขตได้คิดโครงการในพื้นที่ได้เอง และ(3) ควรให้ Reward สำหรับผู้ที่ดำเนินการได้ประสบผลสำเร็จ ซึ่งรางวัลนี้อาจเป็นโล่ หรือให้ไปศึกษาดูงาน หรือให้งบประมาณมากขึ้น ส่วนผู้ที่ยังทำไม่สำเร็จก็จำเป็นต้องเข้าไปพิจารณาช่วยหนุนเสริมบางอย่างเพิ่มเติม เพื่อให้สำนักงานเขตสามารถทำงานได้ดียิ่งขึ้น
สะท้อนคิด:
ผมพบว่าผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามีำพลังที่จะขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพในโรงเรียนต่างๆ ในความรับผิดชอบ เสียงที่ได้ยินในการประชุมครั้งนี้บ่งบอกความต้องการความเป็นอิสระในวิธีการคิดและการทำงานในขอบเขตความรับผิดชอบของตนเอง โดยให้ส่วนกลางบอกเป้าหมายปลายทางที่ชัดเจน รวมทั้งให้การสนับสนุนทรัพยากรที่จำเป็น เสียงจากการประชุมสะท้อนเกี่ยวกับบทบาทของโรงเรียน เขตพื้นที่ และส่วนกลางที่มีความชัดเจนพอสมควร พอที่จะใ้ห้เกิดความคิดที่จะร่วมคิดร่วมทำเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางนี้ ที่มีความท้าทายมากๆ ...คงไม่เพียงแต่บางเรื่อง เช่น เรื่องการคิด ควรทำทั้งระบบ กำหนดเป้าหมายแบบองค์รวมดังที่รองเลขาธิการ กพฐ.ได้ชี้แนะไว้ และสร้างกลไกการกำกับติดตาม รวมทั้งสร้างระบบรับผิดชอบในผลที่จะเกิดขึ้น (Accountability) ...ส่วนความชัดเจนในการพัฒนาครู 2-3 เรื่อง ก็คือ ไม่ใช้การอบรมปูพรม ถ้าอบรมควรเป็นช่วงปิดเรียนและบางคนที่จำเป็น มีตัวช่วยครู/Shopping List และระบบหนุนเสริมการพัฒนาครูอย่างต่อเนื่อง (Teacher Coaching and Mentoring)
-------------------------------