หน้าเว็บ

วันจันทร์ที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2556

โรงเรียนที่ดีควรเป็นอย่างไร

โรงเรียนที่ดีควรเป็นอย่างไร
พิทักษ์ โสตถยาคม

เกี่ยวกับงาน: บริษัท นานมีบุ๊คส์ จำกัด จัดงานในโอกาสครบรอบ 20 ปี ในวันที่ 29 พฤศจิกายน 2555 ณ โรงแรมอิมพีเรียลควีนส์ปาร์ค โดยเชิญวิทยากรที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาการศึกษาของไทยและต่างประเทศมาร่วมเสวนา และเชิญผู้บริหารการศึกษาทั้งภาครัฐและเอกชนเข้าร่วม วิทยากร ประกอบด้วย ศ.นพ.เกษม วัฒนชัย, Mr. Rolf Schulze, คุณสุวดี จงสถิตย์วัฒนา, Prof. Dr. Peter Fauser, คุณพารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา, คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา, ดร.เบญจลักษณ์ น้ำฟ้า, ศ.ดร.ศิริชัย กาญจนวาสี, ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ และ Dr.Norbert Spitz

สาระจากเวที: เป็นการนำเสนอสาระสำคัญจากวิทยากรในงานสัมมนาครั้งนี้ ดังนี้

1. นพ.เกษม วัฒนชัย ประธานการสัมมนาและกล่าวปาฐกถาเปิดงานหัวข้อ การพัฒนาการศึกษาของไทยอย่างยั่งยืน มีสาระโดยสรุปดังนี้
            (1.1) ได้อ้างอิงจากหนังสือคำพ่อสอน หน้า 16 ถือเป็นพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีใจความว่าการศึกษาต้องเน้น 3 ส่วนคือ ความรู้ ความดี และทำงานเป็น ซึ่งโรงเรียนและระบบการศึกษาจะต้องฝึกฝนเด็ก รวมถึงให้ฝึกแก้ปัญหาและการเผชิญความยากลำบาก
            (1.2) โรงเรียนเป็นสถานที่ผลิตคนดีเพื่อคนไทย ซึ่งคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ก็ต้องมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อผลิตครูที่ดีเพื่อไปผลิตคนดีสู่สังคมไทย ได้ยกตัวอย่างโรงเรียนบางมูลนากภูมิวิทยาคม อ.บางมูลนาก จ.พิจิตร เป็นตัวอย่างโรงเรียนที่เน้นคุณธรรมความซื่อสัตย์ รับผิดชอบ จิตอาสา โดยผู้เกี่ยวข้องทุกระดับได้แปลงคุณธรรม 3 ประการนี้ให้เป็นพฤติกรรมที่ทุกคนจะแสดงออก ทั้งคณะกรรมการสถานศึกษา ผู้บริหาร ครู และนักเรียน อย่างด้านความซื่อสัตย์นักเรียนจะไม่ลอกการบ้าน นำไปสู่การติวกันเอง ส่วนจิตอาสาก็ทำให้เกิดชมรมมากกว่า 100 ชมรม ครูก็กวดวิชาให้เด็กเรียนอ่อน ผลที่เห็นในปีนี้พบว่านักเรียนสอบเข้าเรียนระดับมหาวิทยาลัยได้มากขึ้น ดังนั้น โรงเรียนที่ดีก็คือ โรงเรียนที่ผลิตคนดีสู่สังคมไทย
            (1.3) ฟันธงว่า กระทรวงศึกษาธิการต้องกระจายอำนาจออกไป มิฉะนั้นพื้นที่มืด (dark area) ในกระทรวงจะมากขึ้น เช่น การอาศัยพรรคพวกในการแต่งตั้งผู้บริหารโรงเรียน ซึ่งก็ไม่มีใครเข้าไปดำเนินการได้ จึงเสนอให้มีการทำวิจัย 3 เรื่อง คือ เรื่องการฉ้อราษฎร์บังหลวงในระบบการศึกษา เรื่องวินัยและการลงโทษครูที่ไม่ดีให้ออกไปนอกระบบการศึกษา เรื่องการป้องกันการใช้พื้นที่การศึกษาเป็นพื้นที่ทางการเมือง ทั้งหัวคะแนนและคอรัปชั่น  ซึ่งถ้าแก้ไขได้ก็จะสามารถนำเงินมาพัฒนาการศึกษาได้อีกมาก
            (1.4) การทดสอบระดับชาติ (National Test) เห็นได้ชัดว่าขาดการเอาใจใส่ของผู้บริหารระดับชาติ และมีการโจมตีผลการสอบ O-NET ว่าออกข้อสอบไม่ดี และแก้ตัว จึงควรใช้ผลการทดสอบระดับชาติเป็นเพียงเป็นเครื่องมือที่นำมาใช้ปรับปรุงการศึกษา
            (1.5) เขตพื้นที่การศึกษาที่มีรองผู้อำนวยการเขตจำนวนมาก แต่ตอบไม่ได้ว่าทำอะไร จึงจำเป็นต้องปรับปรุงให้เล็กลงและเข้มแข็งมากขึ้น
            (1.6) สรุปได้ว่า โรงเรียนต้องการครูที่ยิ่งใหญ่เพื่อขับเคลื่อนโรงเรียนที่ดี (school need great teacher to drive good school)

2. Mr. Rolf Schulze เอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ประจำประเทศไทย กล่าวปาฐกถาในหัวข้อความร่วมมือด้านการศึกษาระหว่างสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีกับประเทศไทย โดยกล่าวถึงประเด็นการพัฒนาการศึกษาและโรงเรียนที่ดีว่า
            (2.1) การศึกษาเป็นมากกว่าการถ่ายโอนความรู้ แต่คือตัวกระตุ้นศักยภาพทั้งหมดซึ่งเป็นขุมทรัพย์ที่ซ่อนอยู่ในตัวเด็กทุกคน ครูเป็นคนที่ช่วยให้เด็กค้นพบความสามารถและความคิดอ่านพิเศษของตนเอง
            (2.2) เด็กทุกคนมีเมล็ดพันธุ์แห่งความสุขและความสำเร็จอยู่ในตัว ขอเพียงมีสิ่งแวดล้อมและการดูแลที่เหมาะสมก็จะทำให้เมล็ดพันธุ์เหล่านี้ได้พัฒนาไปสู่การเติบโตที่งอกงามได้ โรงเรียนที่ดีจะให้ความใส่ใจสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย ที่ซึ่งเด็กสามารถเติบโตได้อย่างมีศักยภาพ โรงเรียนที่ดีจะส่งเสริมความสงสัยของเด็กๆ และกระตุ้นให้เกิดคำถาม โรงเรียนที่ดีจะมีทางเลือกต่างๆ ให้เด็กเหมือนที่ชีวิตจริงต้องเจอ โรงเรียนที่ดีควรเตรียมความเป็นไปได้ในการเรียนภาษาต่างประเทศด้วย

3. คุณสุวดี จงสถิตย์วัฒนา กรรมการผู้จัดการบริษัท นานมีบุ๊คส์ จำกัด ได้กล่าวถึงจิตวิญญาณของบริษัทที่สืบทอดมาจากผู้เป็นพ่อ ทั้งความขยัน อดทน มุ่งมั่น ไม่ยอมแพ้ต่ออุปสรรค มีความชื่อสัตย์ และรักษาคำมั่นสัญญา รวมทั้งการเห็นคุณค่าของการศึกษา ความรู้ การอ่าน และการตอบแทนคุณแผ่นดิน

4. Prof. Dr. Peter Fauser มหาวิทยาลัยเยนา อดีตโฆษกคณะกรรมการตัดสินรางวัล The German School Award ได้บรรยายพิเศษในหัวข้อโรงเรียนที่ดีควรเป็นอย่างไร โดยเน้นภารกิจของโรงเรียนในการกระตุ้นกระบวนการเรียนรู้ของเด็กด้วยวิธีที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด ดังนั้น จึงจำเป็นต้องเข้าใจเกี่ยวกับการเรียนรู้ และการสนับสนุนการเรียนรู้ โดยเขาได้ฉายรูปภาพเมล็ดกาแฟ 1 เมล็ดแล้วให้ผู้เข้าสัมมนาลองเดาว่า กาแฟครึ่งกิโลกรัมมีเมล็ดกาแฟกี่เมล็ด? ให้เขียนคำตอบบนกระดาษ จากนั้นให้นึกย้อนว่า เราคิดอะไร รู้สึกอย่างไร เราหาคำตอบอย่างไรในกิจกรรมนี้ แล้วให้พูดคุยกับเพื่อนข้างๆ ซึ่ง ศ.เฟาเซอร์ได้ชี้ให้เห็นว่า กิจกรรมนี้ทำให้ได้ความรู้พื้นฐานที่สำคัญของความหมายแห่งการเรียนรู้ และชี้ให้เห็นว่า
            (4.1) เราจะใช้จินตนาการอันมาจากประสบการณ์/ปฏิสัมพันธ์เกี่ยวกับเมล็ดกาแฟ และสมองจะดึงภาพเมล็ดกาแฟที่สมองของเราได้ลดทอนความซับซ้อน ประหนึ่งว่าเมล็ดกาแฟนั้นคล้ายกันทุกเมล็ดออกมาเป็นความคิดหนึ่งให้เรา ซึ่งเป็นความเข้าใจของเราเกี่ยวกับเมล็ดกาแฟ ดังนั้น การเรียนรู้จึงเกี่ยวข้องกับ “จินตนาการ” “ประสบการณ์” และ “ความเข้าใจ” เราต้องเข้าใจว่าประสบการณ์ใหม่ๆ หรือความหมายใหม่ๆ จะเปลี่ยนจินตนาการของเราไปในที่สุด และการเรียนรู้จะเปลี่ยนความนึกคิดหรือจินตนาการ กระบวนการคิด และการรับรู้ของเรา ความเข้าใจเป็นการที่สมองลดทอน หาลักษณะร่วมให้ได้รูปแบบเมล็ดกาแฟแบบหนึ่ง และกะประมาณว่าน้อย-มาก-ค่อนข้างมาก ซึ่งในชีวิตเราใช้จินตนาการ ประสบการณ์ และความเข้าใจอย่างเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันอยู่เสมอเป็นการจัดระเบียบความสัมพันธ์ทางสติปัญญาให้เข้ากับความเป็นจริง อาทิ นักเขียนนิยายดึงความคิดและประสบการณ์ทั้งหมดเพื่อกระตุ้นจินตนาการ ส่วนการทำงานของสมองอีกประการหนึ่งเป็นการคิดเกี่ยวกับคำตอบเพื่อเค้นหาผลสรุปที่ถูกต้องให้ได้ เริ่มจากการสนทนากับตัวเองภายในและอาจปรับเปลี่ยนคำตอบใหม่หลังจากการคิด กรณีนี้เรียกว่า การรู้คิด (metacognition) ซึ่งจะควบคุมและกำหนดวิธีการเรียนรู้และการคิด  
            (4.2) สรุปว่า มิติทั้ง 4 ด้านของโครงสร้างการเรียนรู้คือ จินตนาการ ประสบการณ์ ความเข้าใจ และการรู้คิด ต่างมีอิทธิพลต่อกันไม่สามารถแยกจากกันได้ แต่ละมิติมีความสำคัญไม่เท่ากันขึ้นอยู่กับสถานการณ์/กิจกรรมที่แตกต่างกันแต่ละวันของเรา ซึ่งสิ่งเหล่านั้นจะส่งผลต่อความคิดและการสรุปความคิดรวบยอด โดยสำหรับเด็กจะขึ้นอยู่กับอายุ พัฒนาการ และจุดโฟกัสของเรื่องที่เรียนด้วย รวมทั้งมิติด้านกระบวนการเรียนรู้ที่สำคัญมี 3 ส่วนคือ ส่วนแรกคือ ประสบการณ์ด้านสมรรถภาพ เป็นประสบการณ์ที่จะเข้าใจโลกวัตถุและความท้าทายในโลกได้ดีขึ้น และมีความรู้สึกว่าสามารถกระทำตนได้อย่างมีจุดมุ่งหมายและบรรลุถึงขีดจำกัดได้ ส่วนที่สองคือ ประสบการณ์การเรียนรู้ด้วยตนเอง เป็นประสบการณ์ที่จะไว้วางใจประสิทธิภาพการคิดและการกระทำของตน และส่วนที่สามคือ การบูรณาการ (การเป็นสมาชิกของกลุ่ม) เป็นประสบการณ์ที่จะแบ่งปันการมีตัวตนในโลกท่ามกลางชุมชนของผู้อื่น โดยสามารถเข้าใจผู้อื่นและมีผู้อื่นเข้าใจ
            (4.3) ลักษณะโรงเรียนที่ดีในการพิจารณารางวัลโรงเรียนดีเด่นของเยอรมนี จำนวน 6 ข้อ ประกอบด้วย ด้านสมรรถนะการเรียน เช่น การค้นหาจุดแข็งของเด็กแต่ละคน ไม่ใช่แค่ในวิชาเรียน สร้างโอกาสให้เด็กได้แสดงจุดแข็งของตนเอง ประเมินสมรรถนะการเรียนโดยการอธิบาย ไม่ใช่การตัดสินอย่างทันทีทันใด, ด้านความหลากหลาย เช่น สร้างและพิมพ์แฟ้มผลงานส่วนตัวของนักเรียนและครู ดึงเด็กเข้ามามีส่วนร่วมในทุกขั้นตอนของการทำงาน ดึงคนจากหลากหลายอาชีพเข้ามามีส่วนร่วม, ด้านการสอน/การอบรมในห้องเรียน เช่น ปรับเปลี่ยนจากการบรรยายสู่การเรียนรู้ ฝึกฝนการเรียนรู้แบบร่วมมือกัน ร่วมสังเกตเด็กแต่ละคนเป็นเวลานาน, ด้านความรับผิดชอบ เช่น เด็กๆช่วยเหลือกัน การสนับสนุนของโรงเรียนและริเริ่มให้รางวัลแก่นักเรียน การเรียนรู้ดูแลผู้สูงอายุและคนพิการ, ด้านชีวิตในโรงเรียน เช่น จัดกิจกรรมสาธารณะทั้งการอ่าน คอนเสิร์ต สัมมนาสาธารณะ, และด้านการพัฒนาโรงเรียน เช่น การมีส่วนร่วมของครูในการเป็นผู้นำ การวิเคราะห์และวินิจฉัยการพัฒนา ร่วมมือกับโรงเรียนอื่น และศ.เฟาเซอร์ได้สรุปลักษณะของโรงเรียนที่ดีไว้ 4 ประเด็นคือ ต้องเป็นการเรียนรู้ที่เน้นความเข้าใจ, ความเข้าใจลำดับที่สอง (second order comprehension), กระบวนการร่วมมือในการเรียนรู้ และการพัฒนาโรงเรียนโดยการจัดการคุณภาพและประชาธิปไตย

5. คุณพารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา ผู้อำนวยการใหญ่ดรุณสิกขาลัย ได้บรรยายเรื่อง การศึกษาทางเลือกสู่โลกยุคใหม่ เป็นการนำเสนอลักษณะสำคัญของโรงเรียนดรุณสิกขาลัยที่เน้นการเรียนรู้เพื่อสร้างสรรค์ด้วยปัญญา (constructionism) ด้วยการจัดการเรียนรู้ ขั้นตอนบนฐานคุณธรรมจริยธรรม ดังนี้ คือ (1) เริ่มจากสิ่งที่สนใจ (2) วางแผนบูรณาการ สอดแทรกศิลปะ วิทย์ คณิต และภาษาไทยโดยครู (3) วางแผนร่วมกับผู้เรียน (4) เรียนรู้ด้วยการลงมือทำจริง ทั้งการหาข้อมูล ทดลอง สร้างชิ้นงาน เรียนรู้จากผู้เชี่ยวชาญและของจริง แลกเปลี่ยนเรียนรู้ (5) สรุปความรู้และเก็บบันทึกผลงาน (6) นำเสนอผลงาน (7) การวิเคราะห์ประเมินผลด้วยระบบ DSIL Tracking System ซึ่งเป็นฐานข้อมูลผลงานนักเรียนออนไลน์ (8) การต่อยอดองค์ความรู้ ซึ่งโรงเรียนมีผลการดำเนินงานที่ดีได้รับการรับรองจาก สมศ. และนักเรียนอายุต่ำกว่าเกณฑ์แต่สามารถเข้าเรียนสถาบันอุดมศึกษาได้หลายคน

6. คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา อดีตเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวถึง โรงเรียนที่ดี ประการคือ เน้นดูแลเด็กทุกคนให้ประสบผลสำเร็จและพัฒนาศักยภาพ, เน้นคุณค่าความหลากหลายของเด็กและต่อยอด, เน้นกระบวนการเรียนรู้ (ซึ่งดีกว่าการสอน) นอกจากนั้นยังกล่าวถึงบทบาทของผู้บริหารโรงเรียนจะต้องดูแลให้เด็กประสบความสำเร็จตามศักยภาพของแต่ละคน ต้องพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง และต้องเป็นนักคิดนักค้นคว้านักวิจัยไปพร้อมกันในตัวและทำวิจัยในโรงเรียน และสุดท้ายกล่าวถึงการนำไปสู่การปฏิบัติว่า โจทย์โรงเรียนดีไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ไม่ง่าย ดังนั้น ผู้เกี่ยวข้องจะต้อง (1) เชื่อสิ่งเหล่านี้ เชื่อในคุณค่าของความหลากหลายและการดูแลเด็กทุกคน (2) ต้องมีตัวช่วยหลากหลายทั้งงานวิจัย ทรัพยากร และเครือข่ายโรงเรียนและมหาวิทยาลัย (3) ระบบต้องเปลี่ยนไปด้วย (systemic change) อาทิ ปลอดการเมือง ปลอดธุรกิจ โรงเรียนมีและใช้ข้อมูล ไม่ควรตัดสินโรงเรียนโดยใช้ค่าเฉลี่ยของผลการทดสอบ เพราะจะส่งผลให้โรงเรียนผลักดันเด็กอ่อนออกจากโรงเรียน และสุดท้ายได้กล่าวถึงผลการวิจัยของ PISA เกี่ยวกับปัจจัยที่ทำให้คะแนนต่ำ อาทิ เด็กมาจากครอบครัวด้อยโอกาส เด็กชายเรียนรู้ได้น้อยกว่าเด็กหญิง การให้เด็กตกซ้ำชั้น ส่วนปัจจัยที่ให้คะแนนดี เช่น ผู้ปกครองอ่านหนังสือให้ลูกฟังเป็นประจำ เด็กได้เรียนปฐมวัย เด็กในโรงเรียนเดียวกันช่วยให้เด็กเรียนรู้ได้ดีขึ้น

7. ดร.เบญจลักษณ์ น้ำฟ้า รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวถึง โรงเรียนที่ดีว่าต้องเป็นที่ที่ก่อเกิดความรู้ บ่มเพาะความดี และสร้างความสามารถ โรงเรียนที่ดีดูได้จากนักเรียนอยากไปโรงเรียน ครูสอนเป็นเห็นผลคนยกย่อง ผู้บริหารมีภาวะผู้นำทางวิชาการและการบริหาร ผู้ปกครองอยากส่งลูกเข้าโรงเรียน และชุมชนให้คุณค่าในการสร้างคนดีสู่สังคม ดังนั้น โรงเรียนจะต้องรู้สภาพของเด็ก ช่วยเหลือเติมเต็ม สร้างบรรยากาศการเรียนรู้ที่เป็นมิตร และเน้นกระบวนการเรียนรู้ นอกจากนั้น ยังได้ให้มุมมองต่อการพัฒนาวิชาชีพครูด้วยว่า การจะปรับเปลี่ยนจากสอนแบบ passive เป็น active นั้นไม่ง่าย เพราะครูเห็นตัวอย่างการสอนแบบ passive มาทั้งชีวิต นับตั้งแต่ฟังครูสอนสมัยเป็นเด็ก เห็นเพื่อนครูสอน ได้รับการสอนแบบบอกความรู้จากการอบรมพัฒนาต่างๆ ดังนั้น การพัฒนาครูจึงต้องจัดประสบการณ์การเรียนรู้แบบใหม่ให้กับครูโดยเน้น 3ประการคือ (1)ให้ครูได้เรียนรู้ผ่านประสบการณ์ในฐานะผู้เรียนจากกิจกรรม active learning ให้ครูได้ผ่านประสบการณ์การเป็นผู้เรียนอย่างประจักษ์ด้วยตนเอง (2) ต้องมีการนิเทศช่วยเหลือครูอย่างต่อเนื่อง (coaching) และ(3) มีกลุ่มแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากการปฏิบัติของครู ให้ครูมีเพื่อนร่วมทางในการดำเนินการ

8. ศ.ดร.ศิริชัย กาญจนวาสี คณบดีคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึง โรงเรียนดีและการผลิตครูว่า โรงเรียนจะดีถ้าผู้บริหารใสใจวิชาการและหลักสูตรและครูในชั้นเรียนเปลี่ยนวิธีการสอน สำหรับการ สำหรับการผลิตครูจะต้องเน้นสมรรถนะ ในด้านความรู้ ได้แก่ รู้ความรู้พื้นฐานเฉพาะที่สำคัญ, รู้วิธีการแสวงหาความรู้, รู้กระบวนการจัดการเรียนรู้ ในด้านทักษะ ได้แก่ ทักษะการคิด, ทักษะการสื่อสาร, ทักษะการจัดการ และในด้านลักษณะนิสัย ได้แก่ การรับฟัง-ยอมรับความคิดเห็นของผู้อื่น, รู้คิด(metacognition), และอดทนในการสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้เด็ก นอกจากนั้นยังได้ให้ความคิดเห็นต่อการเรียนรู้ของนักเรียนในปัจจุบันว่า นักเรียนยุคนี้มีลักษณะคิดไว เปลี่ยนไว แต่ไม่ลึก ซึ่งมี ICT เป็นตัวเร่ง การเรียนรู้แบบเดิมส่วนใหญ่เด็กจะเรียนรู้จากครู จากหนังสือ จากสิ่งแวดล้อมที่สัมผัสโดยตรง แต่การเรียนรู้แบบใหม่นี้นักเรียนบางส่วนเรียนจากครู แต่ส่วนใหญ่เรียนรู้ต่อยอดจากครู โดยเรียนรู้นอกห้องเรียนทุกที่ทุกเวลาในโลกเสมือน/ ICT ดังนั้น หน้าที่ของครูพัฒนาการเรียนรู้ของผู้เรียนทั้งสมรรถนะและนิสัย ต้องทำห้องเรียนให้มีชีวิตชีวา สร้างบรรยากาศที่เป็นมิตร จัดการเรียนรู้ที่สร้างสรรค์ ครูควรพูดให้น้อย ให้นักเรียนมีส่วนร่วมเป็น active learner และสรุปในตอนท้ายว่า โรงเรียนที่ดีจะต้องพัฒนาการเรียนรู้ของนักเรียนให้มีมาตรฐาน เหมาะสมกับยุคสมัย เชื่อมโยงการเรียนรู้ในโรงเรียนและนอกโรงเรียน เน้นการมีส่วนร่วม (participation)

9. ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ ผอ.Sasin Institute for Global Affairs (SIGA) กล่าวถึง ทัศนะต่อการศึกษาไทย ดังนี้
            (9.1) การศึกษามีความสำคัญที่จะช่วยให้ขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสูงขึ้น
            (9.2) การจัดการศึกษาของโรงเรียนอยู่ภายใต้บรรยากาศ 5 P ได้แก่ P1-Platform เป็นการเข้าสู่ 21st Century Skills เป็นเรื่องของ mindset, P2- Philosophy เป็นเรื่องของการศึกษาทั่วถึง และ Growth for People, P3-Policy เป็นการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบาย เช่น เปลี่ยน รมว.เท่ากับเปลี่ยนรัฐบาล, P4-Practice, และ P5-Performance
            (9.3) จึงต้องสร้างโรงเรียน School-based เป็น Node ที่เชื่อมโยง non school-based และ learning space ต่างๆ เพื่อสร้างคนไทยให้มี 3 H คือ H1- Happiness H2-Hope และH3- Harmony ซึ่งโรงเรียนจะต้องสร้างเด็กให้ learn to love และ learn to live แล้วจึงค่อย learn to learn และ love to learn
            (9.4) โลกใหม่เป็นโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว เราจึงต้องเรียนรู้ในเรื่องของ “เบรก” และ “คันเร่ง” ซึ่งโลกที่เปลี่ยนไปไม่น่าตื่นเต้นถ้าเราเข้าใจโลก และเรานำพระราชดำรัส “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” มาประยุกต์ใช้ 
            (9.5) กระบวนการเรียนรู้ (learning process) มีความสำคัญมาก จึงควรให้เด็กได้ผ่านการเรียนรู้ 4E ได้แก่ E1- Exploring ให้ไปสำรวจ สร้างจินตนาการ, E2- Experimenting ทดลอง ให้ฝึกที่จะกล้าทำพลาด ให้ล้มเพื่อ learn fast โรงเรียนต้องเป็น Lab ให้เด็กได้ลองผิดลองถูก, E3-  Experiencing สัมผัสประสบการณ์การกล้าตัดสินใจ และE4- Exchange การแลกเปลี่ยนแบ่งปัน ครูจะทำหน้าที่เป็นผู้ประสานการเรียนรู้ (coordination)
            (9.6) การศึกษาจะต้องสร้างสรรค์วัฒนธรรมไทยที่ผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมและเทคโนโลยีให้สมดุลเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ เป็นสุข ทั้งผู้เรียน ครู ผู้ปกครอง

10. Dr.Norbert Spitz ผู้อำนวยการสถาบันเกอเธ่ ประเทศไทย บรรยายเกี่ยวกับการรับมือกับผลการประเมิน PISA ต่ำของประเทศเยอรมนี ซึ่งได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการทดสอบ PISA ว่าเป็นการประเมินผลนักเรียนนานาชาติอายุ 15 ปี ของกลุ่มประเทศ OECD และประเทศอื่นๆ ที่สนใจเข้าร่วม เป็นการประเมินสมรรถนะในการแก้ปัญหาและการประยุกต์ใช้ความรู้ ทุก ๆ  3 ปี ใน 3 วิชาคือ วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และการอ่าน  ซึ่งแต่ละครั้งของการทดสอบจะมีเน้นบางวิชามากกว่าวิชาอื่นและเป็นระบบเช่นนี้ต่อเนื่อง คือ ปี 2000 เน้นการอ่าน, ปี 2003 เน้นคณิตศาสตร์, ปี 2006 เน้นวิทยาศาสตร์ และปี 2009 ก็เน้นการอ่าน กรณีผลการสอบรอบแรกในปี 2000 ของประเทศเยอรมนีพบว่า นักเรียนต่ำกว่ามาตรฐานทั้ง 3 ด้าน และเด็กกลุ่มเด็กที่ได้คะแนนต่ำมีเปอร์เซ็นต์สูงมาก เป็นปรากฏการณ์ที่ช็อกความรู้สึกของคนเยอรมนี จนนิตยสารตีพิมพ์สะท้อนผลการสอบว่า “นักเรียนเยอรมันโง่ใช่ไหม?” หลังจากนั้น จึงมีการปรับปรุงการศึกษาขนานใหญ่ อาทิ เน้นการศึกษาปฐมวัย, พัฒนาคุณภาพครูทั้งความเชี่ยวชาญด้านเนื้อหาและวิธีการสอน ช่วยเหลือนักเรียนรายบุคคลแก่นักเรียนทุกคน เพิ่มจำนวนโรงเรียนที่สอนเต็มวัน ให้อิสระในการดำเนินงานของโรงเรียนและให้โรงเรียนรับผิดชอบมากขึ้น ลงทุนด้านการศึกษามากขึ้น สร้างกลยุทธ์กระตุ้นนักเรียนที่ขาดประสิทธิภาพในการเรียน หลังจากนั้น 10 ปี ผลการประเมินในปี 2009 นักเรียนเยอรมันมีผลการประเมินดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด คณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ดีกว่าค่าเฉลี่ยนานาชาติ ทักษะการอ่านอยู่ระดับปานกลาง และจากผลการประเมินปี 2009 ประเทศเยอรมันก็ได้นำบทเรียนต่างๆ มาปรับปรุงต่อไป อาทิ มุ่งเน้นพัฒนาการอ่าน โดยเฉพาะกลุ่มเด็กผู้ชาย ให้ความสำคัญกับคุณสมบัติของครูมากขึ้น ให้ความสำคัญต่อเด็กที่มาจากครอบครัวอพยพมากขึ้น  ให้ความสำคัญกับโรงเรียนที่มีประชากรมีสถานะทางสังคมด้อย และประเด็นสุดท้ายได้นำเสนอผลการวิจัยของแม็กคินซีย์ (McKinsey) ว่า ปัจจัยสำคัญน้อยต่อคุณภาพโรงเรียนคือ โครงสร้างองค์กร และแหล่งการเงิน ส่วนปัจจัยที่สำคัญมาก ได้แก่ โรงเรียนมีความรับผิดชอบต่อตนเองมากขึ้น คุณภาพการอบรมครู และวิธีการถ่ายทอดเนื้อหาให้เด็กนักเรีย
---------------------------------------