หน้าเว็บ

วันจันทร์ที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2556

โรงเรียนที่ดีควรเป็นอย่างไร

โรงเรียนที่ดีควรเป็นอย่างไร
พิทักษ์ โสตถยาคม

เกี่ยวกับงาน: บริษัท นานมีบุ๊คส์ จำกัด จัดงานในโอกาสครบรอบ 20 ปี ในวันที่ 29 พฤศจิกายน 2555 ณ โรงแรมอิมพีเรียลควีนส์ปาร์ค โดยเชิญวิทยากรที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาการศึกษาของไทยและต่างประเทศมาร่วมเสวนา และเชิญผู้บริหารการศึกษาทั้งภาครัฐและเอกชนเข้าร่วม วิทยากร ประกอบด้วย ศ.นพ.เกษม วัฒนชัย, Mr. Rolf Schulze, คุณสุวดี จงสถิตย์วัฒนา, Prof. Dr. Peter Fauser, คุณพารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา, คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา, ดร.เบญจลักษณ์ น้ำฟ้า, ศ.ดร.ศิริชัย กาญจนวาสี, ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ และ Dr.Norbert Spitz

สาระจากเวที: เป็นการนำเสนอสาระสำคัญจากวิทยากรในงานสัมมนาครั้งนี้ ดังนี้

1. นพ.เกษม วัฒนชัย ประธานการสัมมนาและกล่าวปาฐกถาเปิดงานหัวข้อ การพัฒนาการศึกษาของไทยอย่างยั่งยืน มีสาระโดยสรุปดังนี้
            (1.1) ได้อ้างอิงจากหนังสือคำพ่อสอน หน้า 16 ถือเป็นพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีใจความว่าการศึกษาต้องเน้น 3 ส่วนคือ ความรู้ ความดี และทำงานเป็น ซึ่งโรงเรียนและระบบการศึกษาจะต้องฝึกฝนเด็ก รวมถึงให้ฝึกแก้ปัญหาและการเผชิญความยากลำบาก
            (1.2) โรงเรียนเป็นสถานที่ผลิตคนดีเพื่อคนไทย ซึ่งคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ก็ต้องมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อผลิตครูที่ดีเพื่อไปผลิตคนดีสู่สังคมไทย ได้ยกตัวอย่างโรงเรียนบางมูลนากภูมิวิทยาคม อ.บางมูลนาก จ.พิจิตร เป็นตัวอย่างโรงเรียนที่เน้นคุณธรรมความซื่อสัตย์ รับผิดชอบ จิตอาสา โดยผู้เกี่ยวข้องทุกระดับได้แปลงคุณธรรม 3 ประการนี้ให้เป็นพฤติกรรมที่ทุกคนจะแสดงออก ทั้งคณะกรรมการสถานศึกษา ผู้บริหาร ครู และนักเรียน อย่างด้านความซื่อสัตย์นักเรียนจะไม่ลอกการบ้าน นำไปสู่การติวกันเอง ส่วนจิตอาสาก็ทำให้เกิดชมรมมากกว่า 100 ชมรม ครูก็กวดวิชาให้เด็กเรียนอ่อน ผลที่เห็นในปีนี้พบว่านักเรียนสอบเข้าเรียนระดับมหาวิทยาลัยได้มากขึ้น ดังนั้น โรงเรียนที่ดีก็คือ โรงเรียนที่ผลิตคนดีสู่สังคมไทย
            (1.3) ฟันธงว่า กระทรวงศึกษาธิการต้องกระจายอำนาจออกไป มิฉะนั้นพื้นที่มืด (dark area) ในกระทรวงจะมากขึ้น เช่น การอาศัยพรรคพวกในการแต่งตั้งผู้บริหารโรงเรียน ซึ่งก็ไม่มีใครเข้าไปดำเนินการได้ จึงเสนอให้มีการทำวิจัย 3 เรื่อง คือ เรื่องการฉ้อราษฎร์บังหลวงในระบบการศึกษา เรื่องวินัยและการลงโทษครูที่ไม่ดีให้ออกไปนอกระบบการศึกษา เรื่องการป้องกันการใช้พื้นที่การศึกษาเป็นพื้นที่ทางการเมือง ทั้งหัวคะแนนและคอรัปชั่น  ซึ่งถ้าแก้ไขได้ก็จะสามารถนำเงินมาพัฒนาการศึกษาได้อีกมาก
            (1.4) การทดสอบระดับชาติ (National Test) เห็นได้ชัดว่าขาดการเอาใจใส่ของผู้บริหารระดับชาติ และมีการโจมตีผลการสอบ O-NET ว่าออกข้อสอบไม่ดี และแก้ตัว จึงควรใช้ผลการทดสอบระดับชาติเป็นเพียงเป็นเครื่องมือที่นำมาใช้ปรับปรุงการศึกษา
            (1.5) เขตพื้นที่การศึกษาที่มีรองผู้อำนวยการเขตจำนวนมาก แต่ตอบไม่ได้ว่าทำอะไร จึงจำเป็นต้องปรับปรุงให้เล็กลงและเข้มแข็งมากขึ้น
            (1.6) สรุปได้ว่า โรงเรียนต้องการครูที่ยิ่งใหญ่เพื่อขับเคลื่อนโรงเรียนที่ดี (school need great teacher to drive good school)

2. Mr. Rolf Schulze เอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ประจำประเทศไทย กล่าวปาฐกถาในหัวข้อความร่วมมือด้านการศึกษาระหว่างสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีกับประเทศไทย โดยกล่าวถึงประเด็นการพัฒนาการศึกษาและโรงเรียนที่ดีว่า
            (2.1) การศึกษาเป็นมากกว่าการถ่ายโอนความรู้ แต่คือตัวกระตุ้นศักยภาพทั้งหมดซึ่งเป็นขุมทรัพย์ที่ซ่อนอยู่ในตัวเด็กทุกคน ครูเป็นคนที่ช่วยให้เด็กค้นพบความสามารถและความคิดอ่านพิเศษของตนเอง
            (2.2) เด็กทุกคนมีเมล็ดพันธุ์แห่งความสุขและความสำเร็จอยู่ในตัว ขอเพียงมีสิ่งแวดล้อมและการดูแลที่เหมาะสมก็จะทำให้เมล็ดพันธุ์เหล่านี้ได้พัฒนาไปสู่การเติบโตที่งอกงามได้ โรงเรียนที่ดีจะให้ความใส่ใจสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย ที่ซึ่งเด็กสามารถเติบโตได้อย่างมีศักยภาพ โรงเรียนที่ดีจะส่งเสริมความสงสัยของเด็กๆ และกระตุ้นให้เกิดคำถาม โรงเรียนที่ดีจะมีทางเลือกต่างๆ ให้เด็กเหมือนที่ชีวิตจริงต้องเจอ โรงเรียนที่ดีควรเตรียมความเป็นไปได้ในการเรียนภาษาต่างประเทศด้วย

3. คุณสุวดี จงสถิตย์วัฒนา กรรมการผู้จัดการบริษัท นานมีบุ๊คส์ จำกัด ได้กล่าวถึงจิตวิญญาณของบริษัทที่สืบทอดมาจากผู้เป็นพ่อ ทั้งความขยัน อดทน มุ่งมั่น ไม่ยอมแพ้ต่ออุปสรรค มีความชื่อสัตย์ และรักษาคำมั่นสัญญา รวมทั้งการเห็นคุณค่าของการศึกษา ความรู้ การอ่าน และการตอบแทนคุณแผ่นดิน

4. Prof. Dr. Peter Fauser มหาวิทยาลัยเยนา อดีตโฆษกคณะกรรมการตัดสินรางวัล The German School Award ได้บรรยายพิเศษในหัวข้อโรงเรียนที่ดีควรเป็นอย่างไร โดยเน้นภารกิจของโรงเรียนในการกระตุ้นกระบวนการเรียนรู้ของเด็กด้วยวิธีที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด ดังนั้น จึงจำเป็นต้องเข้าใจเกี่ยวกับการเรียนรู้ และการสนับสนุนการเรียนรู้ โดยเขาได้ฉายรูปภาพเมล็ดกาแฟ 1 เมล็ดแล้วให้ผู้เข้าสัมมนาลองเดาว่า กาแฟครึ่งกิโลกรัมมีเมล็ดกาแฟกี่เมล็ด? ให้เขียนคำตอบบนกระดาษ จากนั้นให้นึกย้อนว่า เราคิดอะไร รู้สึกอย่างไร เราหาคำตอบอย่างไรในกิจกรรมนี้ แล้วให้พูดคุยกับเพื่อนข้างๆ ซึ่ง ศ.เฟาเซอร์ได้ชี้ให้เห็นว่า กิจกรรมนี้ทำให้ได้ความรู้พื้นฐานที่สำคัญของความหมายแห่งการเรียนรู้ และชี้ให้เห็นว่า
            (4.1) เราจะใช้จินตนาการอันมาจากประสบการณ์/ปฏิสัมพันธ์เกี่ยวกับเมล็ดกาแฟ และสมองจะดึงภาพเมล็ดกาแฟที่สมองของเราได้ลดทอนความซับซ้อน ประหนึ่งว่าเมล็ดกาแฟนั้นคล้ายกันทุกเมล็ดออกมาเป็นความคิดหนึ่งให้เรา ซึ่งเป็นความเข้าใจของเราเกี่ยวกับเมล็ดกาแฟ ดังนั้น การเรียนรู้จึงเกี่ยวข้องกับ “จินตนาการ” “ประสบการณ์” และ “ความเข้าใจ” เราต้องเข้าใจว่าประสบการณ์ใหม่ๆ หรือความหมายใหม่ๆ จะเปลี่ยนจินตนาการของเราไปในที่สุด และการเรียนรู้จะเปลี่ยนความนึกคิดหรือจินตนาการ กระบวนการคิด และการรับรู้ของเรา ความเข้าใจเป็นการที่สมองลดทอน หาลักษณะร่วมให้ได้รูปแบบเมล็ดกาแฟแบบหนึ่ง และกะประมาณว่าน้อย-มาก-ค่อนข้างมาก ซึ่งในชีวิตเราใช้จินตนาการ ประสบการณ์ และความเข้าใจอย่างเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันอยู่เสมอเป็นการจัดระเบียบความสัมพันธ์ทางสติปัญญาให้เข้ากับความเป็นจริง อาทิ นักเขียนนิยายดึงความคิดและประสบการณ์ทั้งหมดเพื่อกระตุ้นจินตนาการ ส่วนการทำงานของสมองอีกประการหนึ่งเป็นการคิดเกี่ยวกับคำตอบเพื่อเค้นหาผลสรุปที่ถูกต้องให้ได้ เริ่มจากการสนทนากับตัวเองภายในและอาจปรับเปลี่ยนคำตอบใหม่หลังจากการคิด กรณีนี้เรียกว่า การรู้คิด (metacognition) ซึ่งจะควบคุมและกำหนดวิธีการเรียนรู้และการคิด  
            (4.2) สรุปว่า มิติทั้ง 4 ด้านของโครงสร้างการเรียนรู้คือ จินตนาการ ประสบการณ์ ความเข้าใจ และการรู้คิด ต่างมีอิทธิพลต่อกันไม่สามารถแยกจากกันได้ แต่ละมิติมีความสำคัญไม่เท่ากันขึ้นอยู่กับสถานการณ์/กิจกรรมที่แตกต่างกันแต่ละวันของเรา ซึ่งสิ่งเหล่านั้นจะส่งผลต่อความคิดและการสรุปความคิดรวบยอด โดยสำหรับเด็กจะขึ้นอยู่กับอายุ พัฒนาการ และจุดโฟกัสของเรื่องที่เรียนด้วย รวมทั้งมิติด้านกระบวนการเรียนรู้ที่สำคัญมี 3 ส่วนคือ ส่วนแรกคือ ประสบการณ์ด้านสมรรถภาพ เป็นประสบการณ์ที่จะเข้าใจโลกวัตถุและความท้าทายในโลกได้ดีขึ้น และมีความรู้สึกว่าสามารถกระทำตนได้อย่างมีจุดมุ่งหมายและบรรลุถึงขีดจำกัดได้ ส่วนที่สองคือ ประสบการณ์การเรียนรู้ด้วยตนเอง เป็นประสบการณ์ที่จะไว้วางใจประสิทธิภาพการคิดและการกระทำของตน และส่วนที่สามคือ การบูรณาการ (การเป็นสมาชิกของกลุ่ม) เป็นประสบการณ์ที่จะแบ่งปันการมีตัวตนในโลกท่ามกลางชุมชนของผู้อื่น โดยสามารถเข้าใจผู้อื่นและมีผู้อื่นเข้าใจ
            (4.3) ลักษณะโรงเรียนที่ดีในการพิจารณารางวัลโรงเรียนดีเด่นของเยอรมนี จำนวน 6 ข้อ ประกอบด้วย ด้านสมรรถนะการเรียน เช่น การค้นหาจุดแข็งของเด็กแต่ละคน ไม่ใช่แค่ในวิชาเรียน สร้างโอกาสให้เด็กได้แสดงจุดแข็งของตนเอง ประเมินสมรรถนะการเรียนโดยการอธิบาย ไม่ใช่การตัดสินอย่างทันทีทันใด, ด้านความหลากหลาย เช่น สร้างและพิมพ์แฟ้มผลงานส่วนตัวของนักเรียนและครู ดึงเด็กเข้ามามีส่วนร่วมในทุกขั้นตอนของการทำงาน ดึงคนจากหลากหลายอาชีพเข้ามามีส่วนร่วม, ด้านการสอน/การอบรมในห้องเรียน เช่น ปรับเปลี่ยนจากการบรรยายสู่การเรียนรู้ ฝึกฝนการเรียนรู้แบบร่วมมือกัน ร่วมสังเกตเด็กแต่ละคนเป็นเวลานาน, ด้านความรับผิดชอบ เช่น เด็กๆช่วยเหลือกัน การสนับสนุนของโรงเรียนและริเริ่มให้รางวัลแก่นักเรียน การเรียนรู้ดูแลผู้สูงอายุและคนพิการ, ด้านชีวิตในโรงเรียน เช่น จัดกิจกรรมสาธารณะทั้งการอ่าน คอนเสิร์ต สัมมนาสาธารณะ, และด้านการพัฒนาโรงเรียน เช่น การมีส่วนร่วมของครูในการเป็นผู้นำ การวิเคราะห์และวินิจฉัยการพัฒนา ร่วมมือกับโรงเรียนอื่น และศ.เฟาเซอร์ได้สรุปลักษณะของโรงเรียนที่ดีไว้ 4 ประเด็นคือ ต้องเป็นการเรียนรู้ที่เน้นความเข้าใจ, ความเข้าใจลำดับที่สอง (second order comprehension), กระบวนการร่วมมือในการเรียนรู้ และการพัฒนาโรงเรียนโดยการจัดการคุณภาพและประชาธิปไตย

5. คุณพารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา ผู้อำนวยการใหญ่ดรุณสิกขาลัย ได้บรรยายเรื่อง การศึกษาทางเลือกสู่โลกยุคใหม่ เป็นการนำเสนอลักษณะสำคัญของโรงเรียนดรุณสิกขาลัยที่เน้นการเรียนรู้เพื่อสร้างสรรค์ด้วยปัญญา (constructionism) ด้วยการจัดการเรียนรู้ ขั้นตอนบนฐานคุณธรรมจริยธรรม ดังนี้ คือ (1) เริ่มจากสิ่งที่สนใจ (2) วางแผนบูรณาการ สอดแทรกศิลปะ วิทย์ คณิต และภาษาไทยโดยครู (3) วางแผนร่วมกับผู้เรียน (4) เรียนรู้ด้วยการลงมือทำจริง ทั้งการหาข้อมูล ทดลอง สร้างชิ้นงาน เรียนรู้จากผู้เชี่ยวชาญและของจริง แลกเปลี่ยนเรียนรู้ (5) สรุปความรู้และเก็บบันทึกผลงาน (6) นำเสนอผลงาน (7) การวิเคราะห์ประเมินผลด้วยระบบ DSIL Tracking System ซึ่งเป็นฐานข้อมูลผลงานนักเรียนออนไลน์ (8) การต่อยอดองค์ความรู้ ซึ่งโรงเรียนมีผลการดำเนินงานที่ดีได้รับการรับรองจาก สมศ. และนักเรียนอายุต่ำกว่าเกณฑ์แต่สามารถเข้าเรียนสถาบันอุดมศึกษาได้หลายคน

6. คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา อดีตเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวถึง โรงเรียนที่ดี ประการคือ เน้นดูแลเด็กทุกคนให้ประสบผลสำเร็จและพัฒนาศักยภาพ, เน้นคุณค่าความหลากหลายของเด็กและต่อยอด, เน้นกระบวนการเรียนรู้ (ซึ่งดีกว่าการสอน) นอกจากนั้นยังกล่าวถึงบทบาทของผู้บริหารโรงเรียนจะต้องดูแลให้เด็กประสบความสำเร็จตามศักยภาพของแต่ละคน ต้องพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง และต้องเป็นนักคิดนักค้นคว้านักวิจัยไปพร้อมกันในตัวและทำวิจัยในโรงเรียน และสุดท้ายกล่าวถึงการนำไปสู่การปฏิบัติว่า โจทย์โรงเรียนดีไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ไม่ง่าย ดังนั้น ผู้เกี่ยวข้องจะต้อง (1) เชื่อสิ่งเหล่านี้ เชื่อในคุณค่าของความหลากหลายและการดูแลเด็กทุกคน (2) ต้องมีตัวช่วยหลากหลายทั้งงานวิจัย ทรัพยากร และเครือข่ายโรงเรียนและมหาวิทยาลัย (3) ระบบต้องเปลี่ยนไปด้วย (systemic change) อาทิ ปลอดการเมือง ปลอดธุรกิจ โรงเรียนมีและใช้ข้อมูล ไม่ควรตัดสินโรงเรียนโดยใช้ค่าเฉลี่ยของผลการทดสอบ เพราะจะส่งผลให้โรงเรียนผลักดันเด็กอ่อนออกจากโรงเรียน และสุดท้ายได้กล่าวถึงผลการวิจัยของ PISA เกี่ยวกับปัจจัยที่ทำให้คะแนนต่ำ อาทิ เด็กมาจากครอบครัวด้อยโอกาส เด็กชายเรียนรู้ได้น้อยกว่าเด็กหญิง การให้เด็กตกซ้ำชั้น ส่วนปัจจัยที่ให้คะแนนดี เช่น ผู้ปกครองอ่านหนังสือให้ลูกฟังเป็นประจำ เด็กได้เรียนปฐมวัย เด็กในโรงเรียนเดียวกันช่วยให้เด็กเรียนรู้ได้ดีขึ้น

7. ดร.เบญจลักษณ์ น้ำฟ้า รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวถึง โรงเรียนที่ดีว่าต้องเป็นที่ที่ก่อเกิดความรู้ บ่มเพาะความดี และสร้างความสามารถ โรงเรียนที่ดีดูได้จากนักเรียนอยากไปโรงเรียน ครูสอนเป็นเห็นผลคนยกย่อง ผู้บริหารมีภาวะผู้นำทางวิชาการและการบริหาร ผู้ปกครองอยากส่งลูกเข้าโรงเรียน และชุมชนให้คุณค่าในการสร้างคนดีสู่สังคม ดังนั้น โรงเรียนจะต้องรู้สภาพของเด็ก ช่วยเหลือเติมเต็ม สร้างบรรยากาศการเรียนรู้ที่เป็นมิตร และเน้นกระบวนการเรียนรู้ นอกจากนั้น ยังได้ให้มุมมองต่อการพัฒนาวิชาชีพครูด้วยว่า การจะปรับเปลี่ยนจากสอนแบบ passive เป็น active นั้นไม่ง่าย เพราะครูเห็นตัวอย่างการสอนแบบ passive มาทั้งชีวิต นับตั้งแต่ฟังครูสอนสมัยเป็นเด็ก เห็นเพื่อนครูสอน ได้รับการสอนแบบบอกความรู้จากการอบรมพัฒนาต่างๆ ดังนั้น การพัฒนาครูจึงต้องจัดประสบการณ์การเรียนรู้แบบใหม่ให้กับครูโดยเน้น 3ประการคือ (1)ให้ครูได้เรียนรู้ผ่านประสบการณ์ในฐานะผู้เรียนจากกิจกรรม active learning ให้ครูได้ผ่านประสบการณ์การเป็นผู้เรียนอย่างประจักษ์ด้วยตนเอง (2) ต้องมีการนิเทศช่วยเหลือครูอย่างต่อเนื่อง (coaching) และ(3) มีกลุ่มแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากการปฏิบัติของครู ให้ครูมีเพื่อนร่วมทางในการดำเนินการ

8. ศ.ดร.ศิริชัย กาญจนวาสี คณบดีคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึง โรงเรียนดีและการผลิตครูว่า โรงเรียนจะดีถ้าผู้บริหารใสใจวิชาการและหลักสูตรและครูในชั้นเรียนเปลี่ยนวิธีการสอน สำหรับการ สำหรับการผลิตครูจะต้องเน้นสมรรถนะ ในด้านความรู้ ได้แก่ รู้ความรู้พื้นฐานเฉพาะที่สำคัญ, รู้วิธีการแสวงหาความรู้, รู้กระบวนการจัดการเรียนรู้ ในด้านทักษะ ได้แก่ ทักษะการคิด, ทักษะการสื่อสาร, ทักษะการจัดการ และในด้านลักษณะนิสัย ได้แก่ การรับฟัง-ยอมรับความคิดเห็นของผู้อื่น, รู้คิด(metacognition), และอดทนในการสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้เด็ก นอกจากนั้นยังได้ให้ความคิดเห็นต่อการเรียนรู้ของนักเรียนในปัจจุบันว่า นักเรียนยุคนี้มีลักษณะคิดไว เปลี่ยนไว แต่ไม่ลึก ซึ่งมี ICT เป็นตัวเร่ง การเรียนรู้แบบเดิมส่วนใหญ่เด็กจะเรียนรู้จากครู จากหนังสือ จากสิ่งแวดล้อมที่สัมผัสโดยตรง แต่การเรียนรู้แบบใหม่นี้นักเรียนบางส่วนเรียนจากครู แต่ส่วนใหญ่เรียนรู้ต่อยอดจากครู โดยเรียนรู้นอกห้องเรียนทุกที่ทุกเวลาในโลกเสมือน/ ICT ดังนั้น หน้าที่ของครูพัฒนาการเรียนรู้ของผู้เรียนทั้งสมรรถนะและนิสัย ต้องทำห้องเรียนให้มีชีวิตชีวา สร้างบรรยากาศที่เป็นมิตร จัดการเรียนรู้ที่สร้างสรรค์ ครูควรพูดให้น้อย ให้นักเรียนมีส่วนร่วมเป็น active learner และสรุปในตอนท้ายว่า โรงเรียนที่ดีจะต้องพัฒนาการเรียนรู้ของนักเรียนให้มีมาตรฐาน เหมาะสมกับยุคสมัย เชื่อมโยงการเรียนรู้ในโรงเรียนและนอกโรงเรียน เน้นการมีส่วนร่วม (participation)

9. ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ ผอ.Sasin Institute for Global Affairs (SIGA) กล่าวถึง ทัศนะต่อการศึกษาไทย ดังนี้
            (9.1) การศึกษามีความสำคัญที่จะช่วยให้ขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสูงขึ้น
            (9.2) การจัดการศึกษาของโรงเรียนอยู่ภายใต้บรรยากาศ 5 P ได้แก่ P1-Platform เป็นการเข้าสู่ 21st Century Skills เป็นเรื่องของ mindset, P2- Philosophy เป็นเรื่องของการศึกษาทั่วถึง และ Growth for People, P3-Policy เป็นการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบาย เช่น เปลี่ยน รมว.เท่ากับเปลี่ยนรัฐบาล, P4-Practice, และ P5-Performance
            (9.3) จึงต้องสร้างโรงเรียน School-based เป็น Node ที่เชื่อมโยง non school-based และ learning space ต่างๆ เพื่อสร้างคนไทยให้มี 3 H คือ H1- Happiness H2-Hope และH3- Harmony ซึ่งโรงเรียนจะต้องสร้างเด็กให้ learn to love และ learn to live แล้วจึงค่อย learn to learn และ love to learn
            (9.4) โลกใหม่เป็นโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว เราจึงต้องเรียนรู้ในเรื่องของ “เบรก” และ “คันเร่ง” ซึ่งโลกที่เปลี่ยนไปไม่น่าตื่นเต้นถ้าเราเข้าใจโลก และเรานำพระราชดำรัส “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” มาประยุกต์ใช้ 
            (9.5) กระบวนการเรียนรู้ (learning process) มีความสำคัญมาก จึงควรให้เด็กได้ผ่านการเรียนรู้ 4E ได้แก่ E1- Exploring ให้ไปสำรวจ สร้างจินตนาการ, E2- Experimenting ทดลอง ให้ฝึกที่จะกล้าทำพลาด ให้ล้มเพื่อ learn fast โรงเรียนต้องเป็น Lab ให้เด็กได้ลองผิดลองถูก, E3-  Experiencing สัมผัสประสบการณ์การกล้าตัดสินใจ และE4- Exchange การแลกเปลี่ยนแบ่งปัน ครูจะทำหน้าที่เป็นผู้ประสานการเรียนรู้ (coordination)
            (9.6) การศึกษาจะต้องสร้างสรรค์วัฒนธรรมไทยที่ผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมและเทคโนโลยีให้สมดุลเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ เป็นสุข ทั้งผู้เรียน ครู ผู้ปกครอง

10. Dr.Norbert Spitz ผู้อำนวยการสถาบันเกอเธ่ ประเทศไทย บรรยายเกี่ยวกับการรับมือกับผลการประเมิน PISA ต่ำของประเทศเยอรมนี ซึ่งได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการทดสอบ PISA ว่าเป็นการประเมินผลนักเรียนนานาชาติอายุ 15 ปี ของกลุ่มประเทศ OECD และประเทศอื่นๆ ที่สนใจเข้าร่วม เป็นการประเมินสมรรถนะในการแก้ปัญหาและการประยุกต์ใช้ความรู้ ทุก ๆ  3 ปี ใน 3 วิชาคือ วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และการอ่าน  ซึ่งแต่ละครั้งของการทดสอบจะมีเน้นบางวิชามากกว่าวิชาอื่นและเป็นระบบเช่นนี้ต่อเนื่อง คือ ปี 2000 เน้นการอ่าน, ปี 2003 เน้นคณิตศาสตร์, ปี 2006 เน้นวิทยาศาสตร์ และปี 2009 ก็เน้นการอ่าน กรณีผลการสอบรอบแรกในปี 2000 ของประเทศเยอรมนีพบว่า นักเรียนต่ำกว่ามาตรฐานทั้ง 3 ด้าน และเด็กกลุ่มเด็กที่ได้คะแนนต่ำมีเปอร์เซ็นต์สูงมาก เป็นปรากฏการณ์ที่ช็อกความรู้สึกของคนเยอรมนี จนนิตยสารตีพิมพ์สะท้อนผลการสอบว่า “นักเรียนเยอรมันโง่ใช่ไหม?” หลังจากนั้น จึงมีการปรับปรุงการศึกษาขนานใหญ่ อาทิ เน้นการศึกษาปฐมวัย, พัฒนาคุณภาพครูทั้งความเชี่ยวชาญด้านเนื้อหาและวิธีการสอน ช่วยเหลือนักเรียนรายบุคคลแก่นักเรียนทุกคน เพิ่มจำนวนโรงเรียนที่สอนเต็มวัน ให้อิสระในการดำเนินงานของโรงเรียนและให้โรงเรียนรับผิดชอบมากขึ้น ลงทุนด้านการศึกษามากขึ้น สร้างกลยุทธ์กระตุ้นนักเรียนที่ขาดประสิทธิภาพในการเรียน หลังจากนั้น 10 ปี ผลการประเมินในปี 2009 นักเรียนเยอรมันมีผลการประเมินดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด คณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ดีกว่าค่าเฉลี่ยนานาชาติ ทักษะการอ่านอยู่ระดับปานกลาง และจากผลการประเมินปี 2009 ประเทศเยอรมันก็ได้นำบทเรียนต่างๆ มาปรับปรุงต่อไป อาทิ มุ่งเน้นพัฒนาการอ่าน โดยเฉพาะกลุ่มเด็กผู้ชาย ให้ความสำคัญกับคุณสมบัติของครูมากขึ้น ให้ความสำคัญต่อเด็กที่มาจากครอบครัวอพยพมากขึ้น  ให้ความสำคัญกับโรงเรียนที่มีประชากรมีสถานะทางสังคมด้อย และประเด็นสุดท้ายได้นำเสนอผลการวิจัยของแม็กคินซีย์ (McKinsey) ว่า ปัจจัยสำคัญน้อยต่อคุณภาพโรงเรียนคือ โครงสร้างองค์กร และแหล่งการเงิน ส่วนปัจจัยที่สำคัญมาก ได้แก่ โรงเรียนมีความรับผิดชอบต่อตนเองมากขึ้น คุณภาพการอบรมครู และวิธีการถ่ายทอดเนื้อหาให้เด็กนักเรีย
---------------------------------------

ครูนัดดา: ๓๐ ปีที่รู้จักครูและอยู่ในความทรงจำ

ครูนัดดา: ๓๐ ปีที่รู้จักครูและอยู่ในความทรงจำ

พิทักษ์ โสตถยาคม


ผมได้รับการประสานจากครูท่านหนึ่งที่อยู่โรงเรียนบ้านเกิดว่า ครูนัดดา ครูของผมสมัยประถมต้องการให้ผมเป็นตัวแทนลูกศิษย์กล่าวถึงครูบนเวทีในงานเกษียณอายุราชการ ที่จะจัดขึ้นในวันอาทิตย์ที่ ๒๙ กันยายน ๒๕๕๖ ผมจึงเรียบเรียงความคิดจากความทรงจำเกี่ยวกับครู พร้อมชวนเพื่อนรักสมัยเรียนชั้นประถมคือ อ.ขวัญนภา อินปอง ครูโรงเรียนวัดโตนด สังกัด กทม. ร่วมกล่าวและอ่านกลอนด้วย

ต่อไปนี้คือ ความทรงจำเกี่ยวกับครู ที่ผมเรียบเรียงเพื่อกล่าวในงานของครู และถ่ายเอกสารแจกผู้มาร่วมงานด้วย...
ครูนัดดา จำปาถิ่น ครูโรงเรียนบ้านเขาถ้ำ อ.ปากท่อ จ.ราชบุรี และจะเกษียณอายุราชการในปีนี้ เป็นครูประจำชั้นของผม ตอนนั้นผมอยู่ชั้น ป.๔ อายุ ๑๐ ขวบ ครูนัดดาก็คงจะอายุ ๓๐ ปี กิตติศัพท์ของครูที่ผมได้ยินตอนอยู่ ป.๓ ก่อนเลื่อนชั้นมาอยู่ ป.๔ ก็คือ ความดุและเข้มงวด เมื่อได้มาอยู่ห้องครูนัดดาจริงๆ ก็สัมผัสได้ถึงความจริงจังและตั้งใจสอน แม้ครูจะดุในสายตาเด็กๆ ทั้งโรงเรียน แต่ครูนัดดาก็ไม่เคยตีผมเลย หากจะมีการลงโทษลูกศิษย์คนอื่นบ้างก็ด้วยความรัก ความเมตตา และจะมีเหตุผลอันสมควรเสมอ
ครูคือผู้ส่งเสริมศิษย์ ช่วงที่ผมอยู่ชั้น ป.๔ ครูปั้นผมให้เป็นตัวแทนไปแข่งขันวาดภาพในงานวิชาการของกลุ่มศุภชัย ในปีเดียวกันนี้ ผมได้รับการคัดเลือกจากโรงเรียนให้ได้รับเกียรติบัตรจากสำนักงานศึกษาธิการเขต ๕ ว่าเป็นผู้มีความประพฤติดี ซึ่งครูบุญ อินปอง ครูใหญ่ในขณะนั้น เป็นผู้ประดับเหรียญดาวทองติดที่หน้าอกให้ผม ซึ่งครูนัดดาเป็นผู้ให้ข้อมูลสำคัญนี้ ร่วมกับคณะครูทั้งโรงเรียน และครูบรรจง ครูประจำชั้น ป.๓ 
พอนึกถึงครูนัดดา ภาพหนึ่งจะปรากฏขึ้นคือ ภาพครูนัดดา หมวกกันน็อค และมอเตอร์ไซค์สีแดง ครูจะมาโรงเรียนแต่เช้าทุกวันตลอดชีวิตราชการ ที่ผมเห็นบ่อยก็ช่วง ๕-๖ ปี ก็ช่วงที่ผมปั่นจักรยานไปโรงเรียนปากท่อพิทยาคม จะพบครูนัดดาขับขี่รถมอเตอร์ไซค์สวนกับผมเสมอๆ 
เสาร์อาทิตย์ก็มักจะเห็นครูนัดดามาโรงเรียนเสมอๆ นอกจากครูจะมาสะสางงานในหน้าที่แล้ว ครูยังให้ความเมตตานำอาหารมาเลี้ยงดูสุนัขหลายตัว ซึ่งเป็นสุนัขที่ถูกคนเอามาปล่อยวัดและพลัดหลงมาที่โรงเรียน 
กิจกรรมการเรียนการสอนที่ยังเห็นชัดเจน ในความทรงจำคือ การประดิษฐ์กระปุกออมสินด้วยแผ่นเฟรมพลาสติกปักไหมพรม และการทำพรมเช็ดเท้าจากเศษผ้าโดยใช้กระสอบป่านเป็นพื้น ภาพของครูนัดดาที่เอาใจใส่ จ้ำจี้จ้ำไชนักเรียนให้คิด ให้อ่าน ให้เขียน และฝึกให้ทำงานเป็น ผมหลับตาลงยังเห็นภาพเพื่อนๆ เข้าแถวเพื่อนำสมุดงานหรือแบบฝึกหัดไปส่งให้ครูตรวจงานเป็นรายบุคคล นักเรียนแต่ละคนจะรู้เลยว่าตนเองทำเรื่องใดถูกต้องแล้วและเรื่องใดที่จะต้องปรับปรุงในทันทีบ้าง เพราะครูจะไม่ปล่อยให้ความไม่เข้าใจหรือทำไม่ได้อยู่กับลูกศิษย์นานเกินไป 
สิ่งที่เห็นจนชินตาคือ ครูเป็นผู้ดูแลงานสหกรณ์โรงเรียน ทั้งจัดซื้อจัดหาสินค้า ดูแลระบบหุ้นการปันผลให้สมาชิก งานการเงินสหกรณ์ และการจัดระบบให้นักเรียนฝึกความรับผิดชอบและให้ได้เรียนรู้งานสหกรณ์ ซึ่งก็เป็นตัวบ่งชี้ที่ชัดเจนในการทุ่มเทฝึกฝนนักเรียน รวมทั้งความซื่อสัตย์สุจริต ตรงไปตรงมาของครูนัดดา นอกจากนั้นยังทำโรงเพาะเห็ดหลังโรงเรียนเพื่อเป็นแหล่งฝึกงานอาชีพให้นักเรียนได้ลงมือทำ การสร้างประสบการณ์ การทำงานจริง ฝึกวินัยและความรับผิดชอบ ในขณะเดียวกันนักเรียนก็มีรายได้ระหว่างเรียนด้วย หากใครเคยทำโรงเพาะเห็ดก็จะทราบดีว่า การทำโรงเพาะเห็ดจะต้องขยัน อดทน และเสียสละเวลาส่วนตัวสูงมาก ซึ่งครูนัดดาทำหลายๆ อย่างได้ในเวลาเดียวกันอย่างน่าอัศจรรย์ ทั้งทำเอง-ดูแลนักเรียน-บริหารจัดการโรงเพาะเห็ด งานสหกรณ์โรงเรียน งานการจัดการเรียนการสอนนักเรียน ฯลฯ 
๑๐ ปีหลังจากที่ผมจบชั้น ป.๖ จากโรงเรียนบ้านเขาถ้ำ ผมกลับมาที่โรงเรียนแห่งนี้อีกครั้งในฐานะครูคนใหม่ของโรงเรียน จากที่เป็นลูกศิษย์ก็เป็นอีกสถานะหนึ่งคือ เพื่อนร่วมงาน ผมได้รับมอบหมายให้เป็นครูประจำชั้น ป.๓ ส่วนครูนัดดาก็ยังคงสอนประจำชั้น ป.๔ ที่เอาใจใส่ดูแลศิษย์อย่างดีเช่นเดิม การเป็นครูไม่ใช่มีเพียงหน้าที่อบรมสั่งสอนศิษย์ ยังมีหน้าที่นอกเหนือจากการสอนอีกมากมาย ผมก็ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่เจ้าหน้าที่พัสดุของโรงเรียน หากใครอยู่โรงเรียนก็จะรู้ว่าเจ้าหน้าที่พัสดุโรงเรียนมีภาระงานมากน้อยเพียงใด แต่ผมไม่เคยรู้สึกว่างานนี้มีความยุ่งยากลำบากใดๆ เลย เพราะผมมีครูนัดดาช่วยเหลือแนะนำ และทำงานต่างๆ ให้เกือบทั้งหมด ผมคิดว่า ไม่ใช่เพียงครูทำหน้าที่เป็นหัวหน้างานพัสดุเท่านั้น แต่ครูคือครูของผมอยู่เสมอตลอดเวลา ดังนั้น ตลอด ๓ ปีที่ผมเป็นครูที่โรงเรียนแห่งนี้ ครูนัดดาคอยเป็นผู้ชี้แนะในฐานะครูของผม คอยชี้นำ ทำเป็นแบบอย่างของการเป็นครูผู้ให้ ผู้ทุ่มเทเพื่อนักเรียน เพื่อโรงเรียน โดยไม่หวังผลตอบแทน  และอีกฐานะหนึ่งคือการเป็นเพื่อนร่วมงานที่คอยให้คำปรึกษาอย่างให้เกียรติ ด้วยความเป็นกัลยาณมิตร 
ผมคิดว่าสิ่งที่ผมเล่ามานี้ เป็นเพียงเสี้ยวหนึ่ง เล็กๆ ในความเป็นครูของครูนัดดาเท่านั้น ในความเป็นจริงแล้วไม่สามารถพรรณนาได้ทั้งหมด อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่าบทกวีของเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ บทนี้ อาจสะท้อนความเป็นครูของครูนัดดาได้อย่างตรงมากที่สุด 
ครูคือใคร 
ใครคือครู        ครูคือใคร        ในวันนี้ 
ใช่อยู่ที่            ปริญญา          มหาศาล 
ใช่อยู่ที่            เรียกว่า           ครูอาจารย์ 
ใช่อยู่นาน        สอนนาน        ในโรงเรียน 
ครูคือผู้            ชี้นำ                ทางความคิด 
ให้รู้ถูก              รู้ผิด                คิดอ่านเขียน 
ให้รู้ทุกข์           รู้ยาก               รู้พากเพียร   
ให้รู้เปลี่ยน        แปลงสู้           รู้สร้างงาน 
ครูคือผู้             ยกระดับ          วิญญาณมนุษย์  
ให้สูงสุด           กว่าสัตว์          เดรัจฉาน 
ปลุกสำนึก        สั่งสม              อุดมการณ์   
มีดวงมาลย์      เพื่อมวลชน     ใช่ตนเอง 
ครูจึงเป็น         นักสร้าง           ที่ใหญ่ยิ่ง     
สร้างคนจริง     สร้างคนกล้า    สร้างคนเก่ง 
สร้างคนให้       ได้เป็นตัว         ของตัวเอง   
ขอมอบเพลง    นี้มา                 บูชาครู
-----------------------------

วันจันทร์ที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2556

Thinking: มุมมอง ผอ.เขต

Thinking: มุมมอง ผอ.เขต

พิทักษ์ โสตถยาคม

วันที่ 14 กันยายน 2556 ซึ่งเป็นวันที่สองของการประชุมผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั้งประเทศ ณ โรงแรมแอมบาสเดอร์ ซิตี้ จอมเทียน เป็นการนำเสนอผลการประชุมกลุ่มของผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ซึ่งกลุ่มที่ได้รับโจทย์ “การพัฒนาความสามารถในการคิดวิเคราะห์” โดยอภิปรายถึงขั้นตอนวิธีการพัฒนาความสามารถในการคิดวิเคราะห์ในระดับเขตพื้นที่การศึกษา จำนวน 4 กลุ่ม กลุ่มละประมาณ 20 คน (สำหรับ 8 กลุ่ม ที่เหลือจะอภิปรายเรื่อง การ Scan การอ่านออกเขียนได้ จำนวน 4 กลุ่ม และเรื่องตัวชี้วัดตามนโยบาย รมว.ศธ. จำนวน 4 กลุ่ม) ผลการนำเสนอที่ีมีรองเลขาธิการ กพฐ. (ดร.กมล รอดคล้าย) เป็นประธาน มีดังนี้


  1. จำเป็นต้องให้ความรู้ครูในเรื่องกระบวนการคิด เพราะปัจจุบันครูมีความเข้าใจไม่ตรงกัน และครูจะต้องรู้ก่อนสอน การพัฒนาครูจำเป็นต้องทำเพื่อใ้ห้เข้าใจตรงกัน แต่ไม่ใช่การอบรม ซึ่งทุกระดับจะต้องมองภาพเดียวกัน ทั้งโรงเรียน เขต และ สพฐ. ข้อเสนอคือ ให้ใช้ชุดฝึก ดังเช่นชุดฝึกในปี 2527 "เปลวเทียนที่ต้านลม" หากจะมีการสร้างความเข้าใจครูควรทำช่วงปิดเรียนเดือนเมษายน จากนั้นให้ครูนำไปใช้สอน แล้วให้ศึกษานิเทศก์ไป Coaching and Mentoring ตามบริบทของครูที่แตกต่างกัน มีเครื่องมือไปช่วยในการตรวจสอบผล ส่วนผู้บริหารโรงเรียนจัดทำแผนการบริหารจัดการที่สอดคล้องบริบท และบริหารจัดการตามชุดฝึกหรือคู่มือนี้   
  2. คัดเลือกโรงเรียนต้นแบบ ที่ดำเนินการได้ประสบผลสำเร็จเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ให้โรงเรียนอื่นในพื้นที่
  3. พัฒนาต่อเนื่องระยะยาว 3-5 ปี อยากให้พูดเรื่องการพัฒนากระบวนการคิดสัก 5 ปี ไม่ควรเปลี่ยนแปลงนโยบายบ่อย ซึ่งถ้าต่อเนื่องเช่นนี้รับรองว่าจะเกิดผลที่้ต้องการ เพราะมีความเืชื่อมั่นในพลังและความจริงจังของคน สพฐ.
  4. จัดการศึกษาต้องให้เด็ก "คิดเป็น" ตามปรัชญาแนวคิดมีความเชื่อว่า คนเกิดมาก็คิดอยู่แล้ว แม้อ่านหนังสือไม่ออกก็คิด แต่เมื่อเข้าสู่การจัดการศึกษาจะต้องสร้างให้เด็กคิดเป็น และต้องทำให้เด็กอ่านได้ด้วย 
  5. สาเหตุที่เด็กคิดไม่เป็น ส่วนหนึ่งมาจากการเลี้ยงดูของผู้ปกครองที่เลี้ยงแบบทนุถนอมเกินไป ให้ทำตามแบบอย่าง และมีข้อห้ามข้อปฏิบัติมาก ส่วนสาเหตุจากครูคือ ครูไม่รู้การคิด เน้นการจำ การจัดการเรียนการสอนไม่ใส่กระบวนการคิด และสำนักงานเขตพื้นที่ไม่มีข้อมูลครูว่า มีครูกี่คนที่ไม่รู้เรื่องการคิด นอกจากนั้นการรับสื่อ ICT ตลอดเวลาก็ไม่เอื้อให้คิด รวมทั้งพื้นฐานเด็กที่ไม่รักการอ่านและการเขียนด้วย
  6. สร้างกระแสขอพลังการมีส่วนร่วมของสังคม และสร้างค่านิยมใหม่ให้เกิดขึ้น เช่น เด็กทำของเล่นเอง
  7. สร้างเครื่องมือจำแนกสมรรถนะครู ควรเ็ป็นบทบาทของ สพฐ.ที่จะดำเนินการพัฒนาเครื่องมือ
  8. พัฒนาครู ควรให้เป็นหน้าที่ของเขตพื้นที่ ที่จะกำหนดวิธีการ กิจกรรมของตนเอง 
  9. สนับสนุนงบพัฒนาแบบ Block Grant โดย สพฐ.เป็นผู้กำหนดเป้าหมาย จัดสรรงบประมาณเป็นก้อน และขอให้เชื่อมั่นเขตและโรงเรียน ซึ่ง สพฐ.สามารถรอดูผลที่เกิดขึ้นได้เลย รวมทั้งผลสอบ PISA ในครั้งต่อไป
  10. จัดทำ Shopping List มี Menu ให้โรงเรียนเลือกใช้ ซึ่ง สพฐ.เป็นผู้ดำเนินการในส่วนนี้
  11. จัดทำ VCD ตัวอย่างครูสอนคิดเก่งๆ เพื่อเผยแพร่แจกจ่าย
  12. กำกับติดตามผลของโรงเรียนแบบเข้ม ด้วยคณะกรรมการของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาหลายคณะ
  13. ให้รางวัลผู้ประสบผลสำเร็จ เพื่อเป็นขวัญกำลังใจของบุคลากรที่สามารถดำเนินการได้บรรลุผล
  14. สำรวจความรู้เรื่องการคิดของครูและผู้บริหาร ควรมีกระบวนการจำแนกระดับความรู้ของครูและผู้บริหาร เมื่อพบว่า คนใดจำเป็นต้องพัฒนา ให้เข้ารับการพัฒนาเฉพาะคน ไม่พัฒนาทุกคนเหมือนกัน
  15. ออกแบบหลักสูตรการพัฒนาครู โดยเริ่มต้นจากการให้ความรู้ครูในเรื่องทักษะการคิด มีช่วงเวลาให้ครูได้ปฏิบัติการสอน 1-12 เดือน แล้วมีการนิเทศติดตาม มีการจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ มีการค้นหาโรงเรียนดีที่เป็นตัวอย่างได้ ซึ่งการพัฒนาควรมีปฏิทินตลอดปี หากมีการอบรมควรจัดในช่วงปิดภาคเรียน ไม่ควรแยกครูออกจากห้องเรียน
  16. จำแนกระดับการคิดของนักเรียน โรงเรียนควรรู้จักเด็กเกี่ยวกับความสามารถในการคิด จะได้ช่วยเสริมเติมเต็มนักเรียนได้อย่างถูกต้องเหมาะสม
  17. จัดทำ "ตัวช่วย" สำหรับครู ควรจัดทำสื่อ นวัตกรรม เครื่องมือวัดและประเมินการคิด กิจกรรมต่างๆ ให้ครูสามารถนำไปใช้ได้สะดวก
ในตอนท้าย เมื่อนำเสนอเสร็จทั้งเรื่องการคิด การอ่าน และตัวชี้วัดแล้ว รองเลขาธิการ กพฐ. (ดร.กมล รอดคล้าย) ได้ฝากสำนักในส่วนกลางให้จัดระบบของการทำงานในส่วนกลาง 3 ส่วน คือ (1) อยากให้คิดแบบ Holistic ให้มองเป็นองค์รวมให้เห็นเป็นภาพรวม ไม่ควรทำเป็นส่วนๆ หรือบอกสำนักงานเขตไปเป็นเรื่องๆ (2) ควรให้ Input ทั้งงบประมาณ สื่ออุปกรณ์ต่างๆ เพื่อให้สำนักงานเขตได้คิดโครงการในพื้นที่ได้เอง และ(3) ควรให้ Reward สำหรับผู้ที่ดำเนินการได้ประสบผลสำเร็จ ซึ่งรางวัลนี้อาจเป็นโล่ หรือให้ไปศึกษาดูงาน หรือให้งบประมาณมากขึ้น ส่วนผู้ที่ยังทำไม่สำเร็จก็จำเป็นต้องเข้าไปพิจารณาช่วยหนุนเสริมบางอย่างเพิ่มเติม เพื่อให้สำนักงานเขตสามารถทำงานได้ดียิ่งขึ้น

สะท้อนคิด:
ผมพบว่าผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามีำพลังที่จะขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพในโรงเรียนต่างๆ ในความรับผิดชอบ เสียงที่ได้ยินในการประชุมครั้งนี้บ่งบอกความต้องการความเป็นอิสระในวิธีการคิดและการทำงานในขอบเขตความรับผิดชอบของตนเอง โดยให้ส่วนกลางบอกเป้าหมายปลายทางที่ชัดเจน รวมทั้งให้การสนับสนุนทรัพยากรที่จำเป็น เสียงจากการประชุมสะท้อนเกี่ยวกับบทบาทของโรงเรียน เขตพื้นที่ และส่วนกลางที่มีความชัดเจนพอสมควร พอที่จะใ้ห้เกิดความคิดที่จะร่วมคิดร่วมทำเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางนี้ ที่มีความท้าทายมากๆ ...คงไม่เพียงแต่บางเรื่อง เช่น เรื่องการคิด ควรทำทั้งระบบ กำหนดเป้าหมายแบบองค์รวมดังที่รองเลขาธิการ กพฐ.ได้ชี้แนะไว้ และสร้างกลไกการกำกับติดตาม รวมทั้งสร้างระบบรับผิดชอบในผลที่จะเกิดขึ้น (Accountability) ...ส่วนความชัดเจนในการพัฒนาครู 2-3 เรื่อง ก็คือ ไม่ใช้การอบรมปูพรม ถ้าอบรมควรเป็นช่วงปิดเรียนและบางคนที่จำเป็น มีตัวช่วยครู/Shopping List  และระบบหนุนเสริมการพัฒนาครูอย่างต่อเนื่อง (Teacher Coaching and Mentoring) 
-------------------------------

วันอาทิตย์ที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2556

Thinking: ข้อคิดของผู้บริหาร สพฐ.

Thinking: ข้อคิดของผู้บริหาร สพฐ.

พิทักษ์ โสตถยาคม

วันที่ ๑๓-๑๔ ก.ย. ๒๕๕๖ ผมเข้าร่วมการประชุมสัมมนาผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ ซึ่งเป็นการประชุมครั้งที่ ๔/ ๒๕๕๖ ณ โรงแรมแอมบาสเดอร์ ซิตี้ จอมเทียน จ.ชลบุรี ภารกิจสำคัญของผม ดร.บรรเจอดพร สู่แสนสุข และ ดร.วิภาพร นิธิปรีชานนท์ ก็คือ การนำเสนอประเด็นเกี่ยวกับการขับเคลื่อนการพัฒนากระบวนการคิดต่อที่ประชุม ผอ.เขต เพื่อให้เกิดการวิเคราะห์ วิพากษ์ และรับฟังข้อเสนอแนะ

เรื่องการพัฒนากระบวนการคิดเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญของกระทรวงศึกษาธิการ ดังนั้น สพฐ. โดยเลขาธิการ กพฐ. (ดร.ชินภัทร ภูมิรัตน) เน้นขับเคลื่อนการดำเนินงานให้เป็นรูปธรรม โดยมุ่งพัฒนา ๓ ส่วน คือ (๑) Content เป็นการสังเคราะห์องค์ความรู้ด้านการคิดและให้ครูมีความรู้ความเข้าใจในทฤษฎีการคิด ให้ความสำคัญของ Thinking Theory และ Thinking Tools (๒) Implement เป็นการส่งเสริมให้ครูนำทฤษฎีการคิดไปใช้ในการจัดการเรียนการสอน รวมทั้งค้นหา Best Practices และ(๓) Evaluation & Assessment เป็นการวัดและประเมินผลการพัฒนากระบวนการคิด  

ซึ่งประเด็นที่ ดร.บรรเจอดพร สู่แสนสุข ดร.วิภาพร นิธิปรีชานนท์ และผมได้นำเสนอต่อที่ประชุมผู้บริหารก็คือ การนำเสนอทางเลือก ๓ แนวทาง เพื่อเป็นโจทย์ให้ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาได้ร่วมพิจารณาให้ความคิดเห็น ดังนี้

ทั้งนี้ ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมต่อที่ประชุม ๒ ส่วนคือ (๑) การคิดที่ สพฐ.จะกำหนดเป็นกรอบและมุ่งเน้นคืออะไร และ (๒) ต้นทุนเดิมอะไรบ้างที่ สพฐ.มีอยู่ ดังนี้



หลังจากนำเสนอเสร็จก็เป็นช่วงรับฟังความคิดเห็นของผู้เข้าร่วมประชุม ซึ่งข้อสรุปต่อไปนี้ได้มาจากการประมวลความคิดเห็นของเลขาธิการ กพฐ. (ดร.ชินภัทร ภูมิรัตน) รองเลขาธิการ กพฐ. (ดร.เบญจลักษณ์ น้ำฟ้า) รองเลขาธิการ กพฐ. (ดร.พิษณุ ตุลสุข) และ ผอ.สพป.นนทบุรี เขต ๑ (ดร.สุวิทย์ มูลคำ) ต่อการพัฒนากระบวนการคิด ดังนี้ 
(๑) การพัฒนากระบวนการคิดขึ้นอยู่กับความเข้าใจเกี่ยวกับการคิดของผู้เกี่ยวข้องทุกระดับ อาทิ ครู ผู้บริหาร ดังนั้น จึงควรทบทวนความรู้ความเข้าใจให้ตรงกันว่าทักษะการคิดคืออะไร ลักษณะการคิดคืออะไร และกระบวนการคิดคืออะไร 
(๒) ควรทดสอบกระบวนการคิดของนักเรียนเพื่อให้รู้ว่าต้นทุนเดิมมีอยู่เท่าไร 
(๓) ควรสะสางที่รากเหง้า ก็คือ "ความรู้ความเข้าใจของครู" เพราะครูไม่ได้เรียนเรื่องการพัฒนาการคิดมาโดยตรง ที่ผ่านมาเรามักจะคิดว่าครูรู้แล้ว ดังนั้น ในการพัฒนาจะต้องปรับฐานให้ความรู้พื้นฐานของครูในเรื่องการคิดให้แน่นหนามั่นคงเสียก่อน สิ่งที่จำเป็นต้องรู้คือ baseline เรื่องการคิดของครู อาจใช้ระบบ e-training หรือ e-testing เช่นเดียวกับระบบการสอบใบขับขี่ของบางประเทศ
(๔) ทฤษฎีการพัฒนาการคิดต้องชัด เรามักถูกถามจากผู้ทรงคุณวุฒิต่างประเทศเกี่ยวกับการพัฒนาการคิดของไทยว่า ไทยใช้ทฤษฎีอะไรในการพัฒนาการคิด ดังนั้น ปัญหาการพัฒนาการคิดที่ผ่านมาก็คือ เราไม่ชัดในนิยามทฤษฎี การพัฒนาครูไม่ทั่วถึง และปัญหาเรื่องเครื่องมือการวัดและประเมินผลการคิด
(๕) สถาบันผลิตครูควรออกแบบหลักสูตรเน้นการคิด โดยให้นิสิตนักศึกษาครูได้ฝึกการคิดและมีความเข้มแข็งในการพัฒนากระบวนการคิดของผู้เรียน
(๖) เครื่องมือวัดและประเมินการคิดต้องพร้อมใช้ จำเป็นต้องมีเครื่องมือวัดการคิดที่เป็นมาตรฐาน เพื่อให้รู้ต้นทุนของเด็ก และควรรู้มาตรฐานว่าเด็กระดับชั้นหรือวัยใด ควรจะต้องมีระดับการคิดอย่างไร ซึ่งสถาบันทดสอบทางการศึกษาแ่ห่งชาติ (สทศ) สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ) และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานควรร่วมกันกำหนดให้ชัดเจน
(๗) การจัดการเรียนรู้ต้องเปิดโอกาสให้เด็กคิด การคิดจะเกิดขึ้นได้ดีเมื่อไม่ถูกครอบงำ ต้องอยู่ในบรรยากาศของการเปิดโอกาสให้คิด ซึ่งครูจะต้องออกนอกกรอบ เช่น ครูชาตรี สำราญ ครูต้นแบบปี ๒๕๔๑ "ครูนอกคอก" หรือคุณนิรมล เมธีสุวกุล แห่งบริษัท ป่าใหญ่ครีเอชั่น จำกัด 
(๘) ยกย่องและเผยแพร่ผลงานครูดี ควรมีกระบวนการคัดเลือก รวบรวม แลกเปลี่ยนเทคนิคการสอนที่หลากหลายของครูดีที่มีอยู่เต็มแผ่นดิน
(๙) สื่อเน้นการคิด ควรมีการส่งเสริมให้มีการนำเกมในลักษณะหมากล้อม หรือหมากรุกไทย ให้นักเรียนได้เล่นและเรียนรู้ อาจบรรจุไว้ในงานศิลปหัตถกรรมนักเรียนด้วย
(๑๒) การแสดงผลงานเด็กต้องให้เป็นฝีมือเด็ก มีข้อสังเกตว่าผลงานของนักเรียนที่นำเสนอในงานนิทรรศการต่างๆ จะเป็นฝีมือครูคือ ครูเป็นคนทำมากกว่าที่จะเป็นฝีมือของนักเรียน
(๑๓) การพัฒนากระบวนการคิดต้องเข้าไปอยู่ในวิถีชีวิตครู ซึ่งครูจะต้องปรับเปลี่ยน mindset ตั้งแต่การออกแบบการสอน การปรับการเรียนการสอนเปิดกว้างให้นักเรียนตอบแบบไม่มีผิดไม่มีถูก และปรับกิจกรรมเสริมการเรียนรู้นอกห้องเรียน 

สะท้อนคิด:
จะเห็นได้ว่า แนวโน้มของการพัฒนากระบวนการคิดข้างต้น จะมุ่งพัฒนาครูให้รู้ทฤษฎีการคิด สุดท้ายครูจะมีความเข้าใจที่ตรงกันทั้งประเทศ จะนำไปสู่การสอน และการประเมินผล  ซึ่งผมคิดว่าหากดำเนินการจริงๆ คงต้องพิจารณาเทียบเคียงกับ "การอ่าน" เพราะคนพัฒนาเด็กก็คือ ครูเช่นกัน ...แล้วสาเหตุใดจึงเป็นปัญหาเด็กอ่่านไม่ออก จะระบุว่าสาเหตุหลักที่เป็นปัญหาเพราะครูไม่รู้เกี่ยวกับแนวคิดและวิธีการสอนอ่าน ก็ไม่น่าจะใช่... ความคิดของผมในเบื้องต้นนี้ ตั้งข้อสงสัยว่า อยู่ที่ความใส่ใจของผู้ใหญ่ที่อยู่รอบตัวเด็ก ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ ครู ชุมชน และสังคม ดังนั้น หากเจาะจงเฉพาะครูด้วยการปรับและเติมความเข้าใจทฤษฎีการคิดให้กับครูก็ทำได้ แต่ด้วยวิธีการสื่อสารให้ถึงครูหลายแบบ จุดสำคัญคือ จะมีระบบช่วยให้ครูใส่ใจ และ focus ที่การเรียนรู้ของนักเรียนจริงๆ ได้อย่างไร ซึ่งการส่งเสริมการเรียนรู้ของครูด้วยกระบวนการ Teacher Coaching & Mentoring ที่ใกล้ชิดครู น่าจะมีความสำคัีญยิ่งและเป็นความหวังของการพัฒนา 

-----------------------------




วันศุกร์ที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2556

Thinking: ข้อคิดผู้ทรงคุณวุฒิ

Thinking: ข้อคิดผู้ทรงคุณวุฒิ

พิทักษ์ โสตถยาคม

การประชุมกลุ่มผู้ทรงคุณวุฒิมาพิจารณากลไกการขับเคลื่อนกระบวนการคิดของ สพฐ. ในวันพฤหัสบดีที่ 12 กันยายน 2556 เวลา 09.00-14.00 น. ณ ห้องประชุม อาคาร สพฐ.5 ชั้น 9 มีผู้ทรงคุณวุิฒิและข้าราชการ สพฐ.เข้าร่วมเสวนา 33 คน ประกอบด้วย อ.พรพิไล เลิศวิชา ดร.เจือจันทร์ จงสถิตอยู่ อ.เพชรชุดา เกษประยูร ศ.ดร.ศิริชัย กาญจนวาสี อ.ขวัญสรวง อติโพธิ ดร.บุญชู ชลัษเฐียร คุณวิริยะ ผลโภค ดร.วิชัย เสวกงาม อ.ศิริวรรณ วงษ์สกุล ดร.นลินี ณ นคร รศ.งามตา วนินทานนท์ ผู้อำนวยการสำนักทดสอบทางการศึกษา (นายกนก อินทรพฤกษ์) ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาครูและบุคลากรการศึกษาขั้นพื้นฐาน (ดร.ชวลิต โพธิ์นคร) ผู้อำนวยการสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา (ดร.ไพรวัลย์ พิทักษ์สาลี) ผู้เชี่ยวชาญด้านวิจัยทางการศึกษา (ดร.วิภาพร นิธิปรีชานนท์) รองผู้อำนวยการสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา (น.ส.กัญนิกา พราหมณ์พิทักษ์)  รองผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา (ดร.บรรเจอดพร สู่แสนสุข) รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 35 (นายกิติชัย วิจิตรสุทร) นายคู่บุญ ศกุลตนาค ดร.ชนาธิป ทุ้ยแป ดร.โชติมา หนูพริก น.ส.นิจสุดา อภินันท์ทาภรณ์ นายปราโมทย์ ขจรภัย นางผาณิต ทวีศักดิ์ ดร.รัตนา แสงบัวเผื่อน นางลำไย สนั่นรัมย์ ดร.วีระเดช เชื้อนาม ดร.สิริมา หมอนไหม นางสุดจิตร์ ไทรนิ่มนวล ดร.อรนุช มั่งมีสุขศิริ น.ส.ดวงใจ บุญยะภาส น.ส.จันทิรา ทวีพลายนต์ และผม-พิทักษ์ โสตถยาคม 


สาระการเสวนาโดยสรุป มีดังนี้

ด้านยุทธศาสตร์การพัฒนาที่ต้องเปลี่ยน
  1. ใช้จังหวัดเป็นฐานการพัฒนา จากปัญหาคุณภาพการศึกษาที่เป็นผลจากการเชื่อมโยงนโยบายจากส่วนกลางสู่การปฏิบัติไม่มีประสิทธิภาพประสิทธิผล สะท้อนปัญหาของการพัฒนาแบบรวมศูนย์ที่มีมาช้านาน ดังนั้น จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนการพัฒนาเน้นการพัฒนาเชิงยุทธศาสตร์ มาใช้จังหวัดเป็นฐาน ซึ่งจังหวัดเป็นมณฑลที่มีทุกอย่าง ไม่ว่าการเมืองหรือนโยบายจะมุ่งเน้นอะไร ก็จะมีผู้ดำเนินการอยู่และสามารถพบเห็นได้ในมณฑลนี้ หากปลุกพลังของการฮึดสู้ จากทุกภาคส่วนในจังหวัด ไม่ว่าจะเป็นมหาวิทยาลัย ภาครัฐ ภาคเอกชน ชุมชน ฯลฯ ให้ร่วมด้วยช่วยกัน งัด/ ยกคุณภาพเด็กขึ้นมาให้ได้ โดยจะต้องมีการสื่อสาร ใช้พลังของช่องทางและเครื่องมือสื่อสารที่มีทั้งหมดเพื่อการผนึกกำลังและสัญญาว่าจะช่วยลูกหลานของเรา และทำเรื่องการพัฒนาคุณภาพการเรียนรู้ให้เป็นวิถีชีวิตประจำวัน แล้วผลจากการวัดประเมินก็จะเป็นการรู้เพื่อจะช่วยกันทำให้ดีขึ้น อาทิ เรื่องการคิด ก็สามารถรู้ได้ทันทีในพื้นที่ว่า ใครบ้างที่ชอบคิด โจทย์เพื่อให้เด็กคิดก็จะเป็นเรื่องใกล้ตัวเด็กและจะช่วยให้เด็กเรียนรู้อย่างมีความหมาย  บทบาทของส่วนกลางก็ไปพบพูดคุยกับประชาคมของแต่ละจังหวัด ไปขอดูตัวอย่าง ไปช่วยเชื่อมโยงกับส่วนกลางจากฐานการทำในพื้นที่ แล้วส่วนกลางจะได้ภาพเชิงสังเคราะห์ในภาพรวม หากดำเนินการโดยใช้จังหวัดเป็นฐานส่วนกลางก็จะมีสถานีกลางที่มีความเหมาะเจาะในเรื่องขนาดของจังหวัดและพลังของประชาคม ที่มีความพร้อมที่จะ "เรืองแสงด้วยตนเอง"
  2. ฉะเชิงเทราโมเดล เมื่อปี พ.ศ. 2493 ที่จังหวัดฉะเชิงเทรามีโครงการความร่วมมือระหว่างยูเนสโกกับรัฐบาลไทย พัฒนาโรงเรียนนำร่อง 10 แห่ง ปรับเปลี่ยนการสอนเป็นเน้นเด็กเป็นศูนย์กลาง ถึงชุมชนและวัดเข้ามามีส่วนร่วม ซึ่งเป็นโครงการระดับจังหวัดที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก จึงน่านำประสบการณ์และบทเรียนกรณีนี้มาวิเคราะห์เพื่อประกอบการขับเคลื่อนการพัฒนาการศึกษาที่ใช้จังหวัดเป็นฐาน
  3. ควรให้พื้นที่ได้มีอิสระในการคิดและทำ โดยส่วนกลางควรกำหนดเป้าหมายและบูรณาการการทำงานร่วมกันของสำนักต่างๆ แล้วให้เขตพื้นที่และโรงเรียนได้มีอิสระในการคิดโครงการและดำเนินการให้บรรลุเป้าหมาย โดยมีระบบกำกับติดตามอย่างจริงจัง เข้มแข็ง
  4. เรียนรู้จากมาเลเซีย ประเทศมาเลเซียต้องการให้โรงเรียนเป็น Thinking School ทุกโรงเรียนทั่วประเทศ ภายในระยะเวลา 3 ปี แต่เมื่อคิดพิจารณาแล้ว กลับทำจริงจังเพียง 10 โรงเรียน แบบ Whole School Approach ในลักษณะ Pilot Project ในโครงการ i-Think พบว่า 10 โรงเรียนนี้ขณะนี้พัฒนาเข้าสู่ปีที่ 3 มีผลการพัฒนาที่ดีและหวังให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปสู่โรงเรียนทั่วทั้งประเทศได้ในที่สุด (เว็บไซต์โครงการ i-Think ประเทศมาเลเซีย ดูได้ที่นี่ >> http://goo.gl/vwgGLp )
  5. นำร่องได้บางจุด-ขยายผลมีปัญหา การพัฒนาการคิดและโครงการนำร่องพัฒนาเรื่องต่างๆ ที่ผ่านมา จะเป็นการดำเนินการเฉพาะจุด บางโรงเรียน บางห้องเรียน ก็จะประสบปัญหาไม่สามารถขยายผลให้ครอบคลุมทั่วถึงได้ และหากไปติดตามหรือชมผลงานเด็กในงานนิทรรศการต่างๆ ก็พบว่า มีเด็กเพียงบางกลุ่มถูกเตรียมและซักซ้อมมาเพื่อตอบแบบเฉพาะกิจ นับว่าเป็นข้อจำกัดในเรื่องความทั่วถึง ซึ่งการพัฒนากระบวนการคิดนี้ไม่ใช่เป็นเป้าหมายของการพัฒนาแบบเร็วๆ และเร่งรัด และควรเป็นเป้าหมายระยะยาวที่ต่อเนื่องในทุกยุคทุกสมัย
  6. พัฒนาการคิดต่อเนื่อง สพฐ.ได้ทำเรื่องการคิดมานาน มีรูปแบบและเครื่องมือวัดแล้ว สามารถเดินหน้าต่อได้เลย และควรต่อเนื่องแม้จะเปลี่ยนรัฐมนตรี

ด้านเป้าหมายและนิยามการคิดต้องชัดเจน
  1. ต้องนิยามการคิดที่ต้องการให้ชัดเจน มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องนิยามการคิดในแบบที่เราต้องการ ที่ให้เกิดขึ้นที่ตัวนักเรียนให้ตรงกันก่อน ว่าเราจะทำการคิดเพื่อให้ได้ผลแบบใด เช่น เราจะทำแบบประเทศญี่ปุ่นหรือไม่ ประเทศญี่ปุ่นใช้เวลาถึง 10 ปี เพื่อพัฒนาให้เด็กสามารถเอาตัวรอดได้ (survival) เมื่อเกิดภัยสึนามิ หรือจะปรับเปลี่ยนให้เด็กมีการคิดในระดับประถมและมัธยมเช่นเดียวกับประเทศชิลี อย่างไรก็ตาม เราคงต้องกำหนดนิยามให้ชัดเจน เพราะถ้าเราทำทั้งหมด เราจะไม่ได้อะไรเลย
  2. ต้องคิดให้ชัด การพัฒนาการคิดจำเป็นต้องคิดให้ัชัดเจนก่อนว่า การคิดคืออะไร มีองค์ประกอบ มีรูปแบบ วิธีการ และเป้าหมายอย่างไร ซึ่งการคิดเป็นกระบวนการทางสมอง มองไม่เห็น จับต้องไม่ได้ ดังนั้น จึงต้องพิจารณาจากการพูด การเขียน และการแสดงออก การคิดที่สำคัญมี 6 อย่าง เช่น การคิดแบบวิทยาศาสตร์ การคิดแก้ปัญหา การคิดสร้างสรรค์ การคิดวิเคราะห์ การคิดอย่างมีวิจารณญาณ และการคิดตัดสินใจ ซึ่งแต่ละการคิดจะมีตัวร่วมกันอยู่ ในการดำเนินการจำเป็นต้องมีตัวชี้วัดการคิดเพื่อการติดตามที่ชัดเจน
  3. ระบุเป้าหมายการคิดแต่ละช่วงวัย การกำหนดเป้าหมายของการคิดที่ต้องการให้เกิดขึ้นกับเด็กในแต่ละช่วงวัยคือะไร มีตัวชี้วัดอะไรบ้าง เมื่อเป้าหมายนี้ชัดเจนแล้วจะช่วยให้นวัตกรรมที่มีอยู่สามารถช่วยครูได้ตรงประเด็นและสอดคล้องกับความต้องการของโรงเรียน
ด้านครูคือหัวใจของการพัฒนา
  1. ครูต้องคิดเป็น-สอนเป็น ครูต้องคิดเป็นก่อนที่จะไปสอนให้เด็กคิด ครูจะต้องมีความสามารถในการสอน จะต้องจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning โดยครูเป็น facilitator เพื่อให้นักเรียนสร้างความรู้ได้เอง การพัฒนาครูจะต้องให้ครูมีความสามารถพื้นฐานและทักษะ เช่น การวิเคราะห์ผู้เรียน ความรู้เรื่องการคิด การสอน (pedagogy) การวัดทักษะการคิด
  2. ต้องวางพื้นฐานที่ครู โดยเฉพาะความเข้าใจ "เด็กคิดเป็น" ต้องให้ครูเข้าใจว่าเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นในตัวเด็ก ไม่ใช่เกิดขึ้นจากการที่ครูยืนพูดอยู่หน้าชั้นเรียนตลอดเวลา เพราะการเรียนรู้จากการฟังครู จะทำให้เด็กจำได้ประมาณ 10% เท่านั้น ดังนั้น จึงควรทุ่มเททรัพยากรและงบประมาณเพื่อพัฒนาครูให้เข้าใจหลักของการจัดการเรียนรู้แบบ Child-centered Approach นอกจากนั้น การพัฒนาครูควรใช้เทคนิคที่ง่าย ให้เห็นว่าการคิดสอดแทรกอยู่ในทุกวิชา ไม่ต้องสอนหรือให้ทฤษฎีมาก แต่ให้ครูทำให้ได้จริงๆ ก่อน
  3. ความสำเร็จอยู่ที่การสื่อสารกับครู วิธีการสื่อสารเพื่อที่จะ empowerment ครู ให้สามารถวางแผนและคิดได้เองได้อย่างไร ซึ่งไม่ต้องอบรมให้เสียงบประมาณ ให้ครูมีแรงจูงใจอยากทำ-อยากขับเคลื่อนการพัฒนาด้วยตัวครูเอง ทำให้ครูพึ่งตนเองได้ หาวิธีสื่อสารให้ครูรู้ KPI  เกิดพลังที่จะช่วยกันจัดการเรียนรู้ที่เน้นการคิด และรู้ว่าจะช่วยกันได้อย่างไร รู้ถึงการสร้างสิ่งเร้าให้เด็กคิดได้อย่างไร เช่น การตั้งคำถาม ที่สำคัญคือ ต้องช่วยกันให้ "สติ" ครู ไม่ให้ตื่นเต้น/ตื่นตระหนก
  4. ควรต่อยอดต้นทุนเดิม ไม่อบรมแบบ Mass ในการพัฒนาครูไม่ควรใช้การอบรมเพราะจะได้ผลน้อย ควรคิดพิจารณาให้ลึกซึ้งในวิธีการพัฒนาอย่างมีกลยุทธ น่าจะต่อยอดต้นทุนที่มีและบูรณาการขยายการพัฒนาจาก Project เดิมที่ทำอยู่ เช่น เพิ่มจำนวนครูกลุ่มเป้าหมายในโครงการ Problem-based Learning หรือ Project-based Learning หรือ BBL เป็นต้น แต่สิ่งที่ควรมุ่งเน้นคือ ครูต้องเป็นผู้กระตุ้น และตั้งคำถามให้เด็กได้คิดเอง ได้เรียนรู้อย่างครบกระบวนการ และให้เด็กเรียนรู้จากการได้ลงมือปฏิบัติ
  5. ผลิตครูให้รู้ถ่องแท้ การพัฒนาโดยใช้การอบรมครูให้ทำได้เป็นไปได้ยาก มีผู้กล่าวเทียบเคียงกับปัญหาครูไม่รู้เรื่องการวัดผลว่า เป็นไปได้ยากมากที่จะอบรมระยะสั้นๆให้รู้การวัดผล...ชาติหนึ่งเราก็ทำไม่ได้ ดังนั้น สถาบันอุดมศึกษาจะต้องมุ่งเน้นให้เกิดความเข้าใจที่ถ่องแท้ในขณะที่ยังเป็นนิสิตนักศึกษาครู โดยเฉพาะ 2 เรื่องสำคัญคือ การวัดผล และการจัดการเรียนรู้
  6. ฟันธง "ครู" สำคัญสุด เด็กจะคิดได้ดีอยู่ที่ครู จะต้องช่วยให้ครูสอนให้เป็น ช่วยครูให้ได้อยู่กับเด็กเพื่อสอนอย่างใส่ใจ ช่วยครูให้นำความรู้ที่ได้จากการอบรมจำนวนมากไปใช้ในการสอน และการพัฒนาครูก็ไม่ควรใช้การอบรมแล้ว ควรใช้ Coaching and Mentoring แต่ผู้เป็นโค้ชหรือ mentor ต้องมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง และการพัฒนาก็ไม่ควรทุ่มไปกับสื่อ ควรขับเคลื่อนด้วยคำถามของครูในการสอนเด็กในห้องเรียน
  7. ให้รู้สึกว่าง่าย-อยู่ในชีวิตประจำวัน ควรทำให้ครูรู้สึกว่าง่ายและมีอยู่แล้วในชีวิตประจำวัน ช่วยนำวิธีการปฏิบัติที่ง่ายๆ ส่งให้ครู ช่วยให้ครูยืนด้วยจิตที่มั่นคง-ทำด้วยใจ และต้องเชื่อว่าครูสอนได้ เพราะการคิดอยู่ที่วิธีการ อยู่ที่น้ำเสียง เทคนิค และลีลาของครูในการทำให้เด็กคิด เราควรเน้นมาตรฐานหลักสูตรที่มีอยู่แล้วและส่งเสริมให้นำไปใช้-ทำให้ครบ อย่าประดิษฐ์วาทกรรมหรือใช้คำใหม่ๆที่จะทำให้ครูรู้สึกสับสน กรณีการคิดนี้เราอาจเก็บชื่อหรือประเภทการคิดไว้กับกลุ่มนักวิชาการที่ส่วนกลาง แล้วส่งเทคนิควิธีการที่ปรับเป็นวิธีปฏิบัติแบบง่ายๆ ส่งให้ครูใช้...เหมือนกับการร้องเพลง แม้เราจะจำชื่อเพลงไม่ได้ แต่เราก็ร้องได้
  8. ทฤษฎีการคิดสู่การปฏิบัติ หากกล่าวถึงทฤษฎีในการจัดการเรียนรู้มีจำนวนมาก น่าสนใจ และดีทั้งหมด แต่ครูไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร ครูสับสน ดังนั้น ควรสร้างความเข้าใจให้ครูให้ง่ายที่สุด แต่การนำรูปแบบ หรือ Model ใดๆ มาให้ครูไทยใช้ จากประสบการณ์ที่ผ่านมาพบว่า ครูไทยมีเงื่อนไขอื่นๆ จำนวนมาก ที่เป็นอุปสรรคทำให้ไม่ประสบความสำเร็จในการนำทฤษฎีและรูปแบบมาใช้  เช่น แบบอย่างที่ครูพบตลอดชีิวิตการเรียนรู้เป็นแบบ Teacher-centered Approach ภาพที่จำติดตาคือ ครู/ อาจารย์ยืนบอกความรู้อยู่หน้ากระดาน 
  9. ใช้พลังการสื่อสารให้ครูอยากดู-อยากตาม-อยากใช้ ควรใช้ช่องทางการสื่อการให้ถึงครูในทุกช่องทาง และพัฒนาวิธีการสื่อสารให้น่าสนใจ น่าติดตาม น่าใช้ และไม่ให้เรื่องการคิดเป็นยาขมของครู มีเอกสารที่อ่านง่าย
  10. ทำให้เกื้อประโยชน์ครู การทำให้ครูดำเนินการจริงจัง ควรคำนึงถึงผลประโยชน์ที่ครูจะได้รับและตอบโจทย์ความต้องการของครูด้วย เช่น การเชื่อมกับการประเมินวิทยะฐานะ ส่วนการพัฒนาระยะยาวจะต้องพัฒนาความตระหนักของครูว่า ครูเป็นวิชาชีพชั้นสูง ต้องทำหน้าที่ด้วยจิตวิญญาณครู
  11. พัฒนาครูเน้นการคิด สพฐ.โดยสำนักพัฒนาครูฯ ได้ระบุว่า ต่อจากนี้จะให้มีการคิดมากขึ้น จะใช้ระบบแบบขายตรงเพื่อให้ 3 ปีพัฒนาครูให้ครบ 4 แสนคน จะใช้ระบบ e-coaching และ e-training และจะใช้แนวคิด Solo Taxonomy มาใช้เพื่อยกระดับคะแนน PISA 
ด้านตัวช่วยครูและเทคนิควิธีการที่เอื้อต่อการจัดการเรียนรู้
  1. ควรมี Menu/ Shopping List และคู่มือช่วยครู ควรมีการรวบรวมเทคนิค วิธีการเพื่อสนับสนุนการสอนของครู เช่น BBL หมวกหกใบ พร้อมมีข้อแนะนำในการใช้นวัตกรรมต่างๆ อาทิ มีการระบุว่าเหมาะสมกับวัยของผู้เรียนวัยใด
  2. ควรใช้การเขียนพัฒนาการคิด ใน journal ต่างประเทศได้แนะนำให้ใช้การเขียนมาพัฒนาการคิด เพราะเด็กจะได้สังเคราะห์และสร้างผลงานออกมา เด็กจะได้พัฒนาการคิดมากกว่าการอ่านและการฟัง แม้ว่าการอ่านและการฟังจะสามารถกระตุ้นการคิดได้ด้วย แ่ต่ผู้เรียนก็จะยังเป็น Passive Learner อยู่ ดังนั้น ครูทุกคนจะสามารถใช้การสอนการเขียน มาช่วยฝึกการคิดได้ในทุกวิชา ซึ่งจะทำให้เด็กได้ฝึกการคิดเป็นประจำสม่ำเสมอ
  3. ใช้นิทานพัฒนาจิตให้คิดได้-คิดดี-คิดเป็น ศูนย์วิจัยระบบพฤติกรรมไทย สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานได้วิจัยและพัฒนานวัตกรรมนิทานเพื่อพัฒนาจิตลักษณะแก่เด็กไทย  มีนิทานที่พัฒนาขึ้น จำนวน 20 เรื่อง เป็นการพัฒนาจิตลักษณะ 4 ด้าน ด้านละ 5 เรื่อง จิตลักษณะ 4 ด้าน ได้แก่ ความเชื่ออำนาจในตน แรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ การใช้เหตุผลเชิงจริยธรรม และลักษณะมุ่งอนาคต-ควบคุมตน โดยกลุ่มตัวอย่างเป็นนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 และมัธยมศึกษาปีที่ 2 ซึ่งนวัตกรรรมนิทานนี้สามารถช่วยพัฒนาจิตลักษณะใฝ่ดีและใฝ่สำเร็จได้
  4. ควรใช้คำถามมุ่งให้คิดระดับสูง ครูควรใช้คำถามกระตุ้นการคิดระดับสูง ที่มากว่าความรู้ความจำ แต่ปัญหาของครูคือ ยังตั้งคำถามไม่เป็น
  5. บรรยากาศเอื้อให้คิด Bloom กล่าวว่า อารมณ์มีผลต่อการคิด ควรจัดบรรยากาศการเรียนรู้ที่ดีและเอื้อต่อการคิดดี ดังนั้น ครูต้องใช้อุบาย ใช้คำถาม ใช้วิธีการจัดสภาพแวดล้อมให้เกื้อหนุน
  6.  ควรบูรณาการสู่สาระการเรียนรู้ การพัฒนาการคิดควรบูรณาการในเนื้อหาวิชาที่สอน ไม่ใช่เป็นแบบ content free ซึ่งจะต้องนำการคิด/วิธีคิดไปอยู่ในวิธีการเรียนรู้ของนักเรียน
  7. อ่านไม่ได้ ไม่ใช่คิดไม่เป็น การอ่านหนังสือไม่ออก เช่น เด็กเล็ก ไม่ได้เป็นเครื่องบ่งบอกว่า เด็กคิดไม่เป็น ฉะนั้น ในการประเมินการคิด จะต้องไม่ดูเฉพาะการแสดงออกทางการอ่าน การเขียนเท่านั้น ควรใช้การสังเกตและการให้บอกเล่าสิ่งที่เด็กคิด ก็จะเป็นสิ่งสะท้อนให้เห็นถึงการคิดของเด็กได้
  8. กระบวนทัศน์ 7 ประการ เพื่อให้นักเรียนคิดเป็นและสอดคล้องกับการทำงานของสมอง ได้แก่ (1) ให้ความสำคัญกับการสร้างกระบวนการเรียนรู้ (learning process) แทนที่จะเน้นแต่คำตอบ (2) หาวิธีกระตุ้นให้คิดและให้เวลาที่สมองจะใช้ในการคิด (3) ป้อนคำถามที่กระตุ้นให้สมองคิด (4) ใช้เครื่องมือช่วยให้เด็กพัฒนาวิธีคิด (5) สร้างกระบวนการเรียนรู้ที่ต้องใช้การปฏิสัมพันธ์ระหว่างนักเรียน (6) สร้างกระบวนการเรียนรู้ที่เป็นเงื่อนไขให้นักเรียนใช้ทักษะ (skills transfer) ในบริบทต่างๆ และ(7) เปลี่ยน learning environment เพื่อสร้างบรรยากาศที่กระตุ้นการคิด  
สะท้อนคิด:
ข้อคิดเห็นจากการเสวนาครั้งนี้สร้างความสบายใจได้ระดับหนึ่ง ที่ทิศทางการพัฒนาจะใช้พื้นที่เป็นฐาน เริ่มต้นจากสิ่งที่ครูมีและต่อยอดพัฒนา ได้เห็นหลายกรณีตัวอย่างที่ดี และข้อเสนอแนะเชิงสร้างสรรค์จำนวนมาก และรู้สึกโล่งใจแทนครู ที่เวทีนี้ไม่มีข้อเสนอ "จับครูมาสอบ" เพื่อวัดระดับการคิดของครู ผมคิดว่าการพัฒนาที่เริ่มต้นจาก "เข้าใจ-เข้าถึง-พัฒนา" empowerment ด้วยความเป็นกัลยาณมิตร คิดถึงใจเขา(ครู) ใจเรา น่าจะเป็นแนวทางที่ถูกต้อง
--------------------------------------



วันพฤหัสบดีที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2556

Thinking: เตรียมจัดเสวนาขับเคลื่อนการพัฒนากระบวนการคิด

Thinking: เตรียมจัดเสวนาขับเคลื่อนการพัฒนากระบวนการคิด

พิทักษ์ โสตถยาคม

ผมได้รับมอบหมายให้ประสานการจัดประชุมผู้ทรงคุณวุฒิมาพิจารณากลไกการขับเคลื่อนกระบวนการคิดของ สพฐ. ในวันพฤหัสบดีที่ ๑๒ กันยายน ๒๕๕๖ การจัดประชุมเสวนาครั้งนี้ไ้ด้รับโจทย์และข้อมูลมาว่า กระทรวงศึกษาธิการ โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (นายจาตุรนต์ ฉายแสง) จะปฏิรูปการเรียนรู้ ซึ่งเรื่องหนึ่งคือการมุ่งเน้นพัฒนาการคิด วิเคราะห์ การเรียนรู้ด้วยตนเองของนักเรียน และ สพฐ. ก็เป็นกำลังหลักในการร่วมขับเคลื่อนการพัฒนากระบวนการคิดนี้ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (ดร.ชินภัทร ภูมิรัตน) จึงได้กำหนดกรอบการดำเนินการไว้ว่า "มุ่งไปที่การพัฒนาสมรรถนะครู เพื่อให้มีความรู้เกี่ยวกับทฤษฎีการคิด สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการจัดการเรียนการสอน รวมทั้งการวัดและประเมินกระบวนการคิดของผู้เรียนได้" โดยมอบให้รองเลขาธิการ กพฐ. (ดร.เบญจลักษณ์ น้ำฟ้า) ให้คำปรึกษาสำนักพัฒนาครูและบุคลากรการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพค.) สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา (สนก.) สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา (สวก.) และสำนักที่เกี่ยวข้อง ในการเสนอแต่งตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนการพัฒนากระบวนการคิด ทั้งนี้ รองเลขาธิการ กพฐ. (ดร.เบญจลักษณ์ น้ำฟ้า) ได้มอบหมายให้ สนก.จัดประชุมเพื่อพิจารณากลไกการขับเคลื่อนการพัฒนากระบวนการคิดครั้งนี้ เพื่อดำเนินภารกิจให้เป็นรูปธรรมอย่างมีประสิทธิภาพ 

สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษาได้วางกำหนดการประชุมเสวนาครั้งนี้ไว้ ๒ ช่วง คือ ช่วงแรก เป็นการนำเสนอตามกรอบการดำเนินการที่ประกอบด้วยการให้องค์ความรู้เกี่ยวกับทฤษฎีการคิดกับครู ให้ครูนำไปใช้ในการจัดการเรียนรู้ และการวัดประเมินผลสอดคล้องสัมพันธ์กับการคิด และช่วงที่สอง เป็นการเปิดอภิปรายเพื่อรับฟังข้อเสนอแนะจากผู้ทรงคุณวุฒิที่เข้าร่วมประชุม สำหรับผู้ทรงคุณวุฒิที่สามารถปรับตารางนัดหมายภารกิจต่างๆ และกรุณาตอบรับเข้าร่วมประชุมเสวนา ในวันที่ ๑๒ กันยายน ๒๕๕๖ เวลา ๐๙.๐๐-๑๔.๐๐ น.ณ ห้องประชุม อาคาร สพฐ.๕ ชั้น ๙ มีดังนี้




สะท้อนคิด:
การจัดประชุมเสวนาครั้งนี้ในวันพฤหัสบดีที่ ๑๒ กันยายน ๒๕๕๖ ซึ่งผมมีเวลาในการเตรียมการเพียง ๓ วัน คือจันทร์-พุธ ต้องขอบคุณหัวหน้าทีมคือ ดร.บรรเจอดพร สู่แสนสุข รองผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา ที่ร่วมคิดร่วมทำเคียงบ่าเคียงไหล่ ดร.วิภาพร นิธิปรีชานนท์ ผู้เชี่ยวชาญ สพฐ.ที่เตรียมข้อมูลที่เกี่ยวข้อง และ ผอ.วันเพ็ญ สุจิปุตโต ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษาที่เอื้ออำนวยการจัดประชุมเสวนาครั้งนี้ แรงพลังในการประสานการจัดประชุมของผมก็คือ ความต้องการให้เกิดความรอบคอบในการวางแผนก่อนการลงมือปฏิบัติ อยากฟังมุมมองจากผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ต่อแนวทางที่เรากำลังจะทำ และด้วยการเห็นคุณค่าของกระบวนการพูดคุยสานความเข้าใจร่วมกันของผู้ร่วมเสวนา ซึ่งจะช่วยหนุนนำให้แนวคิดแนวทางการพัฒนาการศึกษาของประเทศไปอย่างถูกทิศทาง และด้วยกระบวนการมีส่วนร่วม เพราะการพัฒนาการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชนอยู่ในมือของทุกคน
..............................................................


วันจันทร์ที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2556

โครงการเพาะพันธุ์ปัญญา: ทักษะครูและศิษย์ในศตวรรษที่ ๒๑

โครงการเพาะพันธุ์ปัญญา: พัฒนาทักษะครูและศิษย์ในศตวรรษที่ ๒๑

พิทักษ์ โสตถยาคม

๙ สิงหาคม ๒๕๕๖ ผมได้รับเชิญไปร่วมลงพื้นที่เรียนรู้ “โครงการเพาะพันธุ์ปัญญา” ที่โรงเรียนขุนหาญวิทยาสรรค์ สังกัด อบจ.ศรีสะเกษ ร่วมกับทีมผู้ทรงคุณวุฒิ สกว. และผู้บริหาร บมจ.ธนาคารกสิกรไทย อาทิ ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช คุณสมหมาย ปาริจฉัตต์ ดร.เจือจันทร์ จงสถิตอยู่ ดร.สีลาภรณ์ บัวสาย รศ.ดร.สุธีระ ประเสริฐสรรพ์ ผศ.ไพโรจน์ คีรีรัตน์ คุณกฤษดา ล่ำซำ ดร.อดิศวร์ หลายชูไทย เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับกิจกรรมการเรียนการสอนแบบ “โครงงานฐานวิจัย” กิจกรรมตลอดวันนี้ประกอบด้วย ภาคเช้าเป็นการบรรยายสรุปโดย รศ.ดร.สุธีระ ประเสริฐสรรพ์ และการเล่าประสบการณ์การสอนโครงงานของครูไสว อุ่นแก้ว (ชีววิทยา) และคณะ [ครูนลินรัตน์ อินต๊ะพันธ์ (ศิลปะ) ครูธวัชชัย บุญหนัก (ฟิสิกส์) และครูวิเศษ สินศิริ (คณิตศาสตร์)]  เสียงสะท้อนจากนักเรียนและผู้ปกครอง และสังเกตการสอน


โครงการเพาะพันธุ์ปัญญาเป็นโครงการพัฒนายุววิจัย/ นักวิจัยระดับมัธยมศึกษา ควบคู่กับการพัฒนาการจัดการเรียนการสอนของครู ในการจัดการจัดการเรียนรู้ด้วยการวิจัย (research-based learning) ซึ่งเป็นโครงการที่สนับสนุนโดย สกว.และ บมจ.ธนาคารกสิกรไทย เป็นระยะเวลา ๖ ปี เริ่มดำเนินการปี ๒๕๕๕ โดยสนับสนุนงบประมาณฝ่ายละ ๔๐ ล้านบาท รวม ๘๐ ล้านบาท มุ่งพัฒนาโรงเรียน ๘๐ โรงเรียน กระจายอยู่ในจังหวัดต่างๆ รวม ๑๘ จังหวัด (โรงเรียนละ ๑ ห้องเรียน รวม ๘๐ ห้องเรียน) และสนับสนุนโครงการของนักเรียน ห้องเรียนละ ๑๐ โครงการ รวม ๘๐๐ โครงการ ในการบริหารจัดการโครงการได้ให้มีหน่วยจัดการกลางขึ้น รับผิดชอบโดย รศ.ดร.สุธีระ ประเสริฐสรรพ์ มีการอบรมพัฒนาพี่เลี้ยงที่รับผิดชอบช่วยเหลือโรงเรียน จำนวน ๘ ศูนย์พี่เลี้ยง ซึ่งเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย จำนวน ๓๐ คน มหาวิทยาลัย ๗ แห่งที่เป็นศูนย์พี่เลี้ยง ได้แก่ (๑) มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง (๒) มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (๓) มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี (๔) มหาวิทยาลัยศิลปากร (๕) มหาวิทยาลัยมหิดล (๖) มหาวิทยาลัยพะเยา (๗) มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ และ(๘) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ที่ผ่านมามีการอบรมกลุ่มพี่เลี้ยงมาแล้วเป็นระยะเวลา ๖ เดือน มีการประชุมร่วมของกลุ่มพี่เลี้ยงทุกๆ ๓ เดือน
จากการบรรยายสรุปเกี่ยวกับโครงการทำให้ได้ทราบว่า การออกแบบโครงการได้ส่งเสริมกระบวนการ Research-based Learning เรียนรู้นอกห้องเรียน เน้นประเด็นหลักเดียวกันแล้วแตกเป็น ๑๐ โครงการ ในการบูรณาการศาสตร์อย่างหนึ่งอย่างใด ดังนี้ วิทยาศาสตร์-สังคมศาสตร์/ มนุษยศาสตร์-สังคมศาสตร์/ สังคมศาสตร์-เศรษฐศาสตร์ ทั้งนี้หน่วยจัดการกลางจะสนับสนุนชุดความรู้/ หนังสือที่ช่วยให้เชื่อมโยงชีวิตนักเรียน ช่วยหนุนเสริมความรู้ ความคิด(system thinking, critical thinking, วิเคราะห์, สังเคราะห์, มีเหตุผล) และการปฏิบัติ (จิตตปัญญาศึกษา โครงงานบนฐานวิจัย การบูรณาการวิชาและบริบท) สนับสนุนการพัฒนาครูให้รู้การคิดแบบต่างๆ และความรู้ความสามารถในการพัฒนาข้อเสนอโครงการ (proposal) ซึ่งได้ออกแบบกระบวนการทำงานและกำหนดปฏิทินกิจกรรมต่างๆ ไว้ล่วงหน้าตลอดปีการศึกษา การออกแบบโครงการอยู่บนฐานความเชื่อว่า Research-based Learning (RBL) เป็นกระบวนการทางปัญญา (ไม่ใช่เป็นเพียงเครื่องมือสร้างความรู้เท่านั้น) เรียนรู้แบบอิงบริบทจริง การพัฒนาจะไม่ติดยึดเครื่องมือวิจัยสำเร็จรูป จะส่งเสริมให้ครูคิดเอง เน้นบูรณาการวิชา ใช้หลักเหตุผลแบบ Deductive มากกว่า Inductive
ครูไสว อุ่นแก้ว ครูกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ได้เล่าให้ฟังว่า กลุ่มเป้าหมายในโครงการเพาะพันธุ์ปัญญา คือ นักเรียนชั้น ม.๒ จำนวน ๒ ห้องเรียน เริ่มดำเนินการในภาคเรียนที่ ๑/ ๒๕๕๖ (ผ่านมาประมาณ ๒ เดือน) ทีมครูที่ปรึกษาได้ตกลงกันว่า จะลดการสั่งและสอน เพิ่มการเอื้ออำนวยให้เด็กเกิดการเรียนรู้ สร้างพื้นที่ที่ปลอดภัยให้นักเรียน จะพยายามควบคุมอารมณ์ให้สงบ “จะไม่จี๊ด” สร้างความตระหนักให้นักเรียนในการปฏิบัติจนเกิดทักษะและความเข้าใจ ในการเรียนรู้แบบ RBL เช่น ทำผลิตภัณฑ์จากเตยหนาม ซึ่งเป็นการเรียนรู้อย่างบูรณาการ จากการทำโครงงาน ได้เรียนรู้เป็นทีม เกิดความสามัคคี รู้สึกสนุกและผ่อนคลาย ครูไสวเห็นว่า การเรียนรู้เช่นนี้จะทำให้เด็กเกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี จะเติบโตจาก “ราก” ที่แข็งแรง เด็กจะได้เรียนรู้จากสาระการเรียนรู้เพิ่มเติม “โครงงาน” ที่ผ่านมาไม่ค่อยมีเวทีให้นักเรียนได้นำเสนอผลงานที่สร้างสรรค์ขึ้น อย่างรู้คุณค่าและภาคภูมิใจ อาทิ เครื่องล้างไข่ เครื่องคัดแยกมะนาว เครื่องเย็บแผ่นยาง เครื่องสอยมะนาว อุปกรณ์แกะทุเรียน 
เสียงจากผู้ปกครองนักเรียน ชั้น ม.๕ ที่ลูกเคยได้เรียนรู้โครงงานจากครูไสว ได้สะท้อนความรู้สึกว่า ดีใจที่ลูกได้เข้าร่วมโครงการ ได้เห็นความอดทน กล้าพูด รู้จักแบ่งเวลา และมีความรับผิดชอบสูงของลูก แทบไม่อยากเชื่อว่าลูกจะนำเสนอและตอบคำถามได้อย่างชัดเจน ในระหว่างประกวดโครงงาน สิ่งที่ผู้ปกครองเต็มใจให้การสนับสนุนก็เพราะเห็นว่าลูกได้ความรู้ แม้ว่าลูกจะต้องไปพักค้างที่โรงเรียน หรือกลับบ้านไม่ตรงเวลา หรือต้องตระเวนไปเก็บข้อมูล ตัวแทนคุณแม่คนนี้บอกว่า “ใครจะว่าอะไรก็ชั่งเขา แม่ลูกเราเข้าใจกันก็เพียงพอแล้ว”
คณะครูที่ร่วมรับผิดชอบการเรียนรู้ของนักเรียน ชั้น ม.๒ ได้สะท้อนความรู้สึกว่า รู้สึกท้าทายที่จะได้ฝึกทักษะนักเรียนกลุ่มเป้าหมาย ต้องเร่งฝึกฝนนักเรียน ให้นักเรียนนำความรู้ไปใช้ให้ได้ ได้มาทำหน้าที่ครูที่ปรึกษา ได้ทำหน้าที่ตั้งคำถามให้นักเรียนตอบ ทำให้ได้เรียนรู้ไปกับนักเรียนด้วย นอกจากนั้น ยังได้นำความโดดเด่นของธรรมชาติวิชามาช่วยเสริมการเรียนรู้ของนักเรียนด้วย เช่น ศิลปะช่วยให้นักเรียนสามารถสื่อสารความคิดออกมาได้ชัดเจนขึ้น  
          นักเรียนชั้น ม.๕ กลุ่มหนึ่งที่ได้เรียนรู้จากครูไสวมาต่อเนื่องได้เล่าถึงสิ่งที่ได้รับการกระบวนการเรียนรู้เช่นนี้คือ (๑) การเรียนรู้ที่ต้องลำบากในการค้นคว้าและสรุปความรู้เอง ทำให้รู้สึกเห็นคุณค่าของความรู้ที่มีอยู่ในหนังสือมากขึ้น (๒) การเรียนรู้แบบโครงงานทำให้ได้ฝึกให้กล้าในการออกไปเก็บข้อมูล ได้ฝึกพูด และรู้จักจัดการเวลา (๓) การเรียนรู้เช่นนี้ทำให้แสวงหาวิธีการแก้ไขปัญหาหลากหลายวิธีจนสามารถค้นพบวิธีการที่ดีที่สุด เช่น หาวิธีทำมีกรีดยางให้ได้หน้ายางสม่ำเสมอ (๔) เรียนรู้โครงงานยางพาราทำให้ได้เรียนรู้การทำอาชีพของพ่อแม่ เช่น ฝึกกรีดยางจนเป็น ก็สามารถช่วยผู้ปกครองได้ และ (๕) ได้รับประสบการณ์ตรงและฝึกความอดทน

ข้อคิดจากผู้ทรงคุณวุฒิ
ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช:
(๑) การเรียนรู้เช่นนี้คือ Project-based Learning นักเรียนได้ลงมือทำจริง ไม่ใช่เรียนแบบผิวเผิน
(๒) มี ๓ อย่างที่ควรทำเพื่อให้การเรียนรู้ลงลึกมากขึ้น ได้แก่ หนึ่ง-ให้เขียน Diary สะท้อนความคิดความรู้สึกเกี่ยวกับงานนั้นด้วยตนเอง ถือว่าเป็น Personal Journal สอง-Present นำเสนอผลของโครงงานหลากหลาย และสังเคราะห์ความเข้าใจ สาม-ทำ Group Reflection หรือ AAR เพื่อให้รู้รอบด้าน
(๓) ในการจัดการเรียนรู้ครูจะต้องตั้งความหวังว่า จะให้นักเรียนได้รับและเรียนรู้ทฤษฎีใด มีการยกทฤษฎีนั้นๆ มาให้นักเรียนได้วิเคราะห์วิพากษ์ เพราะชิ้นงานที่นักเรียนจัดทำขึ้นนั้น ไม่ใช่เครื่องการันตีว่านักเรียนจะได้เรียนรู้ลึก
(๔) เป้าหมายในการจัดการศึกษามี ๕ ด้านคือ ปัญญา อารมณ์ สังคม จิตวิญญาณ และร่างกาย ซึ่งในการเรียนรู้แต่ละครั้งต้องตรองดูว่า นักเรียนได้ครบถ้วนทุกด้านหรือไม่
(๕) ครูควรร่วมกันตั้งเป้าหมายและประเมินการเรียนรู้ว่า สิ่งที่นักเรียนได้เรียนรู้นั้นตรงกับที่ต้องการหรือไม่ ซึ่งวิธีการประเมินควรเอาแนวมาจาก PISA เป็นการอิงความเข้าใจ ไม่ใช่อิงความรู้ ดังนั้น ครูควรเลิกสอนความรู้ แต่ควรไปโค้ชให้นำความรู้ไปใช้จริง
(๖) เรียนแบบโครงงานต้องไม่เป็นภาระเพิ่มขึ้น จะต้องให้เป็นส่วนหนึ่งของการเรียนตามปกติ ไม่ใช่สิ่งที่เพิ่มขึ้น ต้องอยู่ในงานปกติ ไม่ว่าโครงงานใดๆ ก็จะได้ทุกกลุ่มสาระ เช่น โครงงานทำนา ชั้น ป.๕-๖ ของโรงเรียนรุ่งอรุณ ทำให้นักเรียนได้กลอนดลใจจากงานที่เรียนรู้อย่างงดงาม ข้อเสนอเพื่อให้เป็นการเรียนรู้ปกติก็คือ Project-based Learning + Journal/Diary & Present & Group Reflection
(๗) ควรใช้ Flipped Classroom
(๘) สถาบันผลิตครู ควรนำใช้เปลี่ยนวิธีการผลิตครู ให้ได้ครู 21st century skills ก็คือ ครูที่สอนแบบไม่สอน

ดร.สีลาภรณ์ บัวสาย: น่าสนใจและน่าชื่นชมในกระบวนการเรียนรู้ ที่เด็กเป็นคนตั้งโจทย์ และเป็นโจทย์จากชีวิตจริง เป็นการสอนโดยใช้คำถาม และให้ทบทวนตนเอง ซึ่งเด็กจะเกิดการเรียนรู้ในทุกขณะของการค้นหาคำตอบ

คุณสมหมาย ปาริจฉัตต์: ได้เห็นถึงการปรับกระบวนการเรียนรู้ เป็นการวิจัยที่ไม่ขึ้นหิ้ง ข้อมูลยืนยันชัดเจนว่า เด็กดีขึ้น ถือเป็นทางออกของการศึกษาไทย เห็นครูไสวแล้วนึกถึงครูเรฟ เอสควิท (Rafe Esquith) ผู้เขียนหนังสือครูนอกกรอบกับห้องเรียนนอกแบบ ซึ่งคำสำคัญคือ สอนน้อยเรียนให้มาก (Teach Less Learn More) ได้เห็นครูมีความมั่นใจ และหากมีผู้บริหารโรงเรียนช่วยให้การสนับสนุนจะไปได้ดี และควรช่วยขยายให้มีครูเช่นนี้ให้มากขึ้น

สะท้อนคิดจากการได้เรียนรู้: ผมได้รับรู้สิ่งดีอย่างน้อย ๓ ประการ และเห็นถึงความท้าทาย ๑ ประการ ดังนี้
          สิ่งดีที่เห็น ๓ ประการ ได้แก่ (๑) ครูไสว ได้สะท้อนให้เห็นลักษณะของครูที่สังคมมุ่งหวังหลายประการ อาทิ ครูที่มีความเชื่อมั่น เข้มแข็ง ลึกซึ้งในกระบวนการที่ผ่านการปฏิบัติมาอย่างชำนาญ มีความใส่ใจและเกาะติดการเรียนรู้ของผู้เรียน มีความสามารถในการมองเห็นภาพรวมและลงลึกในกระบวนการเรียนรู้ที่คาดหวัง มีการคิดไตร่ตรอง ทบทวน และปรับวิธีปฏิบัติของตนอยู่เสมอ มีความระมัดระวังไม่ให้การกระทำของตนเองไปปิดกั้นความคิดสร้างสรรค์ของผู้เรียน และมีลักษณะของโค้ชที่ดี (๒) คณะครูที่ร่วมทีมในโครงการนี้ทั้ง ๔ คน มีความตั้งมั่นในหลักการที่จะไม่ให้อารมณ์โกรธเข้ามาปะปนในการจัดการเรียนรู้ จะคอยสะกิดเตือนกัน รวมทั้งพยายามนำจุดเด่นของแต่ละคนมาเป็นพลังเสริมทีมครูและสนับสนุนการเรียนรู้ของผู้เรียน และ(๓) การให้ผู้เรียนมาเข้าค่ายเพื่อเรียนรู้โครงงานนั้น หากตัดประเด็นเรื่องภาระงานที่เพิ่มขึ้น ก็จะเห็นเชิงเปรียบเทียบกับกีฬา จะพบว่าการเข้าค่ายกีฬาก็เพื่อฝึกฝนทักษะการเล่นเพื่อให้ชนะในเกม ส่วนการเข้าค่ายโครงงานก็เป็นการฝึกฝนกระบวนการเรียนรู้เพื่อให้ชนะตนเองและเตรียมทักษะไปใช้ในชีวิตจริง
          สิ่งที่ผมเห็นว่าเป็นความท้าทาย ๑ ประการ ของโครงการลักษณะนำร่องเช่นนี้ก็คือ การขยายวิธีปฏิบัติแบบครูไสวให้กระจายและฝังอยู่ในกระบวนการจัดการเรียนรู้ของครูทั้งโรงเรียน โดยเริ่มต้นจากโรงเรียนที่มีครูแกนนำ ครูต้นแบบ ก่อนที่จะขยายไปสู่โรงเรียนอื่นๆ หรือพื้นที่อื่นๆ ดังที่ผู้ทรงคุณวุฒิได้เปรียบเทียบโครงการพัฒนาครูเช่นนี้เป็น “น้ำยาอุทัยทิพย์” ที่จะค่อยๆ เหยาะให้สีของน้ำ (ครูทั่วไปอีก ๕ แสนคน) ให้เปลี่ยนวิธีสอนในลักษณะนี้ ดังนั้น ผลกระทบของโครงการจะต้องพิจารณาว่า สีของน้ำยาอุทัยทิพย์ไปสร้างสีสันให้กับครูอื่นเพียงใด และตัวชี้ความสำเร็จ
ก็ควรเห็นได้จากน้ำที่อยู่ในตุ่มเดียวกันนี้ (ครูในโรงเรียนเดียวกัน) ก็ควรเรียนรู้และปรับเปลี่ยนก่อน เพราะอยู่ใกล้ได้สัมผัสโดยตรง สำหรับโรงเรียนขุนหาญวิทยาสรรค์นี้มีหลายปัจจัยเอื้อต่อความสำเร็จหลายประการ อาทิ มีนักวิชาการ อาจารย์มหาวิทยาลัยเข้ามาร่วมพัฒนาใกล้ชิด มีครูไสวที่ทำเป็นแบบอย่าง โรงเรียนสังกัด อบจ.ศรีสะเกษที่น่าจะมีความคล่องตัวในการบริหารจัดการสู่การเปลี่ยนแปลง เป็นต้น

-----------------------------------------

วันอังคารที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2556

เมืองหัตถศิลป์ถิ่นโภชนา: เตรียมประเมินการจัดงาน

เมืองหัตถศิลป์ถิ่นโภชนา: เตรียมประเมินการจัดงาน
พิทักษ์ โสตถยาคม

       วันที่ 2 กันยายน 2556 ผมร่วมประชุมคณะทำงานจัดงานเผยแพร่ผลงานการสอนงานอาชีพในโรงเรียนโครงการนักธุรกิจน้อยมีคุณธรรมนำสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ “เมืองหัตถศิลป์ถิ่นโภชนา ครั้งที่ 2 ปี 2556” ณ ห้องประชุม สพฐ. อาคาร สพฐ.5 ชั้น 9 มี ผอ.วันเพ็ญ สุจิปุตโต ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา เป็นประธาน การประชุมครั้งนี้เป็นการซักซ้อมความเข้าใจของคณะทำงานแต่ละฝ่าย และเตรียมความพร้อมก่อนเริ่มงานจริง ในวันที่ 4-6 กันยายน 2556 ผมเป็นกรรมการอยู่ในคณะทำงานฝ่ายประเมินผลและจัดทำสรุปรายงาน ได้นำเสนอสิ่งที่ได้วางแผนการประเมินต่อที่ประชุม และได้ทราบว่าประธานคณะทำงานฝ่ายประเมินผลและจัดทำสรุปรายงาน (นายบุญพร้อม แสนบุญ รอง ผอ.สพป.ตาก เขต 1) ได้จัดทำเครื่องมือประเมินและมอบให้คณะทำงานอำนวยการเรียบร้อยแล้ว ดังนั้น ผมจึงได้หารือกับประธานคณะทำงานฝ่ายประเมินผลฯ และสรุปว่าจะใช้เครื่องมือที่ประธานคณะทำงานฯ จัดทำมา

        อย่างไรก็ตาม (ร่าง) ข้อเสนอการประเมินผลการจัดงานเผยแพร่ผลงานอาชีพในโรงเรียน ที่ผมได้ยกร่างไว้ ก็ขอนำมาเผยแพร่ไว้ ณ ที่นี้ ดังนี้

ชื่อโครงการ:    การประเมินผลการจัดงานเผยแพร่ผลงานอาชีพในโรงเรียน
ผู้รับผิดชอบ:    คณะทำงานประเมินผลและจัดทำสรุปรายงาน ประกอบด้วย     
บุญพร้อม แสนบุญ
ประธานกรรมการ
พิทักษ์ โสตถยาคม
กรรมการ
ผกาภรณ์ พลายสังข์
รองประธานกรรมการ
อรพิณ ไกรดิษฐ์
กรรมการ
วราภรณ์ เฉิดดิลก
กรรมการ
วัชรินทร์ ทองวิลัย
กรรมการ
ไพฑูรย์ เจริญประโยชน์
กรรมการ
วาสนา กรเกตุ
กรรมการ
นงนุช อุทั้ยศรี
กรรมการ
รุ่งอรุณ หัสชู
กรรมการและเลขานุการ
สุวรรณ หลายกิจพานิช
กรรมการ
ไพรวรรณ ตระกูลชัยชนะ
กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ
ปรีชา ปัญญาดี
กรรมการ
วสันต์ สุทธาวาศ
กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ
สุดจิตร์ ไทรนิ่มนวล
กรรมการ
ศรัญญา โชติ
กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ

หลักการและเหตุผล

สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานกำหนดจัดงานเผยแพร่ผลงานการสอนอาชีพในโรงเรียน ซึ่งเป็นผลที่เกิดขึ้นจากโครงการนักธุรกิจน้อยมีคุณธรรม นำสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ ในปีนี้ใช้ชื่องาน “เมืองหัตถศิลป์ถิ่นโภชนา ครั้งที่ 2 ปี 2556” จัดขึ้นในวันที่ 4-6 กันยายน 2556 ณ บริเวณถนนลูกหลวง เลียบคลองผดุงกรุงเกษม ตั้งแต่บริเวณเชิงสะพานมัฆวานรังสรรค์จนถึงเชิงสะพานวิศสุกรรมนฤมาณ โดยมีวัตถุประสงค์ของการจัดงานเพื่อเผยแพร่ผลงานการสอนอาชีพ โชว์ศักยภาพด้านการอาชีพของนักเรียนประถมศึกษาและมัธยมศึกษา สร้างแรงจูงใจในการพัฒนาคุณภาพการสอนอาชีพ กระตุ้นให้เกิดการพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ที่ก่อให้เกิดรายได้ สร้างความตระหนักในคุณค่าการสอนอาชีพในโรงเรียนให้กับผู้เข้าชมงาน รวมทั้งเป็นการติดตามผลการดำเนินงานของโรงเรียนในโครงการนักธุรกิจน้อยมีคุณธรรม นำสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ ที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และเพื่อเป็นการร่วมเฉลิมฉลอง 1 ทศวรรษ สพฐ. ด้วย
       คำถามการประเมินผลการจัดงานเผยแพร่ผลงานอาชีพในโรงเรียน มีดังนี้
1.  การจัดงานเผยแพร่ผลงานการสอนอาชีพในโรงเรียนครั้งนี้มีประสิทธิผลระดับใด
2.  การจัดงานเผยแพร่ผลงานการสอนอาชีพในโรงเรียนครั้งนี้มีความพึงพอใจของผู้ชมงานระดับใด
3.  การจัดงานเผยแพร่ผลงานการสอนอาชีพในโรงเรียนครั้งนี้มีจุดเด่นและจุดที่ควรปรับปรุงพัฒนาอะไรบ้าง
วัตถุประสงค์ของการประเมิน
       การประเมินผลการจัดงานเผยแพร่ผลงานอาชีพในโรงเรียนมีวัตถุประสงค์ 3 ประการ ดังนี้
       1. เพื่อประเมินประสิทธิผลของการจัดงาน
       2. เพื่อประเมินความพึงพอใจของผู้ชมงาน
       3. เพื่อศึกษาจุดเด่นและจุดที่ควรปรับปรุงพัฒนาการจัดงาน
นิยามศัพท์
        ประสิทธิผลของการจัดงาน หมายถึง ทัศนะของผู้ตอบแบบสอบถามเกี่ยวกับผลงานการสอนอาชีพ ศักยภาพด้านการอาชีพของนักเรียน แรงจูงใจในการพัฒนาคุณภาพการสอนอาชีพ การพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์สร้างรายได้ และความตระหนักในคุณค่าการสอนอาชีพในโรงเรียน ว่าปรากฏผลเป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้มากน้อยเพียงใด วัดจากมาตรประมาณค่า 5 ระดับ จำนวน 5 ข้อ
       ความพึงพอใจของผู้ชมงาน หมายถึง ความรู้สึกของผู้ชมงานเกี่ยวกับคุณภาพของสินค้า/ผลิตภัณฑ์ คุณภาพของการให้บริการ กิจกรรมการสอนอาชีพระยะสั้น การสาธิตการทำงานของนักเรียน และความสามารถของนักเรียนในการจำหน่ายสินค้า ว่ารู้สึกชอบมากน้อยเพียงใด วัดจากมาตรประมาณค่า 5 ระดับ จำนวน 5 ข้อ
       
วิธีการประเมิน
       คณะทำงานประเมินผลและจัดทำสรุปรายงานได้กำหนดกรอบแนวทางการประเมินผลการจัดงานเผยแพร่ผลงานอาชีพในโรงเรียนไว้ดังนี้
วัตถุประสงค์
ตัวแปร
แหล่งข้อมูล
วิธีเก็บข้อมูล
การวิเคราะห์/ เกณฑ์ประเมิน
ผู้จัดงาน
ผู้ชมงาน
นร.
ครู
กรรมการ
1. เพื่อประเมินประสิทธิผลของการจัดงาน
-ผลงานการเรียนการสอนอาชีพ
-ศักยภาพด้านการอาชีพของนักเรียน
-แรงจูงใจพัฒนาคุณภาพการสอนอาชีพ
-การพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์สร้างรายได้
-ความตระหนักในคุณค่าการสอนอาชีพในโรงเรียน
P
P
P
P
-สอบถามด้วยแบบสอบถาม

-หาความถี่และร้อยละ
-ร้อยละ 80 ของผู้ตอบ ระบุแต่ละรายการ ไม่น้อยกว่าระดับมาก
2. เพื่อประเมินความพึงพอใจของผู้ชมงาน
-คุณภาพของสินค้า/ผลิตภัณฑ์
-คุณภาพของการให้บริการ
-กิจกรรมการสอนอาชีพระยะสั้น
-การสาธิตการทำงานของนักเรียน
-ความสามารถของนักเรียนในการเรียนรู้งานอาชีพ
-
-
-
P
-สอบถามด้วยแบบสอบถาม
-หาความถี่และร้อยละ
-ร้อยละ 80 ของผู้ตอบ ระบุแต่ละรายการ ไม่น้อยกว่าระดับมาก
3. เพื่อศึกษาจุดเด่นและจุดที่ควรปรับปรุงพัฒนาของการจัดงาน
-จุดเด่นของการจัดงาน
-จุดที่ควรปรับปรุงพัฒนาของการจัดงาน
-
P
P
P
-สอบถามด้วยแบบสอบถาม
-ประชุมกลุ่มผู้จัดงาน
-วิเคราะห์เนื้อหา

วิธีการวิเคราะห์ข้อมูล
       หาความถี่ ร้อยละ และวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพ โดยใช้เทคนิคการวิเคราะห์เนื้อหา (content analysis) แล้วนำข้อมูลที่ได้มาเทียบกับเกณฑ์การประเมิน
-------------------------------