หน้าเว็บ

วันพฤหัสบดีที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

โรงเรียนวัดโคกทอง: กล้าที่จะนำ กล้าที่จะสอน และไม่กลัวที่จะลงมือทำ


โรงเรียนวัดโคกทอง: กล้าที่จะนำ กล้าที่จะสอน และไม่กลัวที่จะลงมือทำ
พิทักษ์ โสตถยาคม
นักวิชาการศึกษา สพฐ.

เมื่อวาน (9 พ.ย. 2559) ผมได้มีโอกาสเดินทางไปเยี่ยมโรงเรียนวัดโคกทอง (ปริปุณอินทรประชาวิทยา) สพป.ราชบุรี เขต 2 ไปดูการปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมการเรียนรู้ของโรงเรียน ร่วมไปกับคณะของ ดร.สุรัฐ ศิลปอนันต์ ประธานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (ประธาน กพฐ.) อาจารย์สมควร วรสันต์ หัวหน้าศูนย์พัฒนาการนิเทศและเร่งรัดคุณภาพการศึกษา (พ.ศ. 2554-2557) อาจารย์จันทร์จิรา บุญชัยยุทธศักดิ์ สำนักอำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ผมได้ประสานเชิญผู้อำนวยการโรงเรียนใน สพป.ราชบุรี เขต 1 ไปร่วมเรียนรู้ด้วย จำนวน 3 คน ได้แก่ (1) ผอ.อรวรรณ แดงประดับ ผอ.ร.ร.บ้านเขาถ้ำ (2) ผอ.เขมิกา จุฬารมย์ ผอ.ร.ร.บ้านห้วยยางโทน และ(3) ผอ.นิภา นาคสิงห์ ผอ.ร.ร.ไทยรัฐวิทยา 64



เมื่อไปถึงโรงเรียนในเวลาประมาณ 08.30 น. มีผู้บริหารสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ศึกษานิเทศก์ อาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง คณะครูและผู้บริหารให้การต้อนรับร่วมกับ ผอ.ชนิตา พิลาไชย ผอ.ร.ร.วัดโคกทอง (ปริปุณอินทรประชาวิทยา) อาทิ รองผู้อำนวยการ สพป.ราชบุรี เขต 2 (นายประสงค์ แย้มศิริ), ศน.ศุภกร มรกต, ศน.จิรประวัติ ศรีวัฒนทรัพย์, อาจารย์เกรียงวุธ  นีละคุปต์, อาจารย์ประภาช  วิวรรธมงคล อาจารย์สาขาเทคโนโลยีการศึกษาและคอมพิวเตอร์การศึกษา คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง, ผอ.กาญจนา จันทร์นาค ร.ร.บ้านหนองปรือ, ผอ.สุดารัตน์ ทับสาย ร.ร.วัดทำนบ, ผอ.ชลดา แสวงรักษ์ ร.ร.บ้านหนองแร้ง



สิ่งที่ผมได้พบเห็นและรับรู้เกี่ยวกับความเป็นโรงเรียนวัดโคกทอง ในช่วงที่สัมผัสโรงเรียนในระยะเวลาสั้นๆ ประมาณ 5-6 ชั่วโมง ดังนี้


1. ผู้นำกล้านำกล้าเปลี่ยนแปลง สิ่งที่โดดเด่นมากคือ ความเป็นผู้นำเชิงวิชาการของ ผอ.ชนิตา พิลาไชย ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดโคกทอง เป็นเหมือนแม่ทัพต่อสู้กับความยากไร้ในเรื่องคุณภาพการเรียนรู้ของเด็กๆ ในโรงเรียนและชุมชนแห่งนี้ ประกาศอย่างหนักแน่นต่อหน้าเพื่อนครู ที่จะเปลี่ยนวิถีและวัฒนธรรมการเรียนรู้ของโรงเรียนไปเป็นแบบใหม่ และยืดอกรับผิดชอบและปกป้องเพื่อนครู เพื่อให้เพื่อนครูมั่นใจว่า เราจะเดินทางในเส้นใหม่ด้วยกัน จะลองปรับเปลี่ยนไปด้วยกัน “เราไม่มีอะไรจะต้องเสีย” เพราะที่ผ่านมา ผลการทดสอบระดับชาติของนักเรียนวัดโคกทองต่ำที่สุดในกลุ่มโรงเรียนเครือข่าย ผอ.พาครูไปเรียนรู้เกี่ยวกับการพัฒนาผู้เรียน ณ โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา ไม่น้อยกว่า 3 ครั้ง ได้มีโอกาสพูดคุยกับโรงเรียน สพฐ. คือ โรงเรียนบ้านปะทาย โรงเรียนบ้านนาขนวน สพป.ศรีสะเกษ เขต 4 ที่มีปัจจัยเงื่อนไขเช่นเดียวกับโรงเรียนวัดโคกทอง แต่สามารถปรับเปลี่ยนวิถีการเรียนรู้เช่นโรงเรียนลำปลายมาศได้ จึงกลับมาทำงานอย่างจริงจังเพื่อการปรับเปลี่ยนโรงเรียนเคียงข้างครู เน้นจิตศึกษา PBL (Problem-based Learning) ลดการสั่งการลง เพิ่มการสื่อสารเชิงบวกระหว่างกัน การพูดคุยแลกเปลี่ยนด้วยใจ หรือการทำ PLC (Professional Learning Community) โดยนำความสำเร็จเล็กๆ มาแบ่งปันกันอย่างต่อเนื่อง 1-2 ครั้งต่อสัปดาห์ ทำให้อุปสรรคปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างทางถูกขจัดปัดเป่าลง และด้วยความตระหนักในหน้าที่ สำนึกรับผิดชอบ และความคิดที่ว่า อย่างไรๆ งานครูงานโรงเรียนก็มากเป็นปกติ เช่นเดิม แต่โรงเรียนสามารถบริหารจัดการ จัดระบบ และร่วมมือรวมพลังกันได้ เพื่อสร้างสรรค์สิ่งที่ดีกว่า



2. ครูร่วมแรงร่วมใจไปด้วยกัน สิ่งที่โดดเด่นมากอีกส่วนหนึ่งคือ การไม่ปล่อยมือ/ ไม่ปล่อยปละที่จะเรียนรู้ไปด้วยกันของคณะครู แม้จะไม่คุ้นชินกับวิธีการจัดการเรียนรู้แนวใหม่ ต้องทดลองทำ ฝึกฝนเรียนรู้ ปรับปรุงพัฒนาตนเองอยู่เสมอ และสามารถก้าวข้ามท้อแท้ภายในใจ และไม่ท้อถอย เพราะเห็นทุกคนในองค์กรเดินไปด้วยกัน เห็นผู้อำนวยการโรงเรียนอยู่ด้วยเสมอ ใส่ใจและมุ่งมั่น ครูไอซ์ (สุภาพร ยั่งยืน) บอกว่า ได้เห็นแบบอย่างจาก ผอ.ชนิตา ที่รู้จักเด็กทุกคน ผอ.พาไปเยี่ยมบ้านนักเรียน ทำให้ได้เข้าใจและได้แรงบันดาลใจในการพัฒนานักเรียน แต่ละคน หนึ่งในเรื่องเล่าของครูส้ม (รัตนา บัวแดง) ที่ทำให้เห็นการจัดการเรียนรู้ที่เปลี่ยนไป เป็นการเรียนรู้ที่ให้เด็กลงมือทำจริง ครูและนักเรียนเรียนรู้ร่วมกันด้วยความพยายาม ไม่ยอมแพ้ เพื่อให้เกิดความสำเร็จในการเรียนรู้ของผู้เรียน ในหน่วยการเรียนรู้ “เด็กเล่นเส้น” ครูส้มเริ่มด้วยการสร้างแรงบันดาลใจโดยให้ดูคลิป VDO นักเรียนสนใจเรียนรู้การทำเส้นขนมจีน จึงชวนกันศึกษาหาวิธีและทำจริง ครั้งแรกล้มเหลวไม่เป็นเส้น จึงชวนนักเรียนมาตั้งวงคุยว่าเพราะอะไรและคิดวิธีทำใหม่ ก็พบว่า ไม่เป็นเส้นอีก ไม่สำเร็จเป็นครั้งที่สอง ก็มาปรึกษาหาสาเหตุอีก สุดท้ายก็พบว่า จะทำเส้นได้แป้งจะต้องเหนียวและต้องใช้แรงบีบมาก สุดท้ายก็สามารถแก้ปัญหาไปได้ด้วยกัน การจัดการเรียนรู้เช่นนี้นักเรียนและครูได้เรียนรู้หลายเรื่องมาก ซึ่งครูมีการวางแผนล่วงหน้าว่าหน่วยการเรียนรู้นี้จะครอบคลุมมาตรฐานและตัวชี้วัดใดในหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานบ้าง เมื่อจัดการเรียนการสอนสิ้นสุดแต่ละครั้งจะมาตรวจสอบ (check) กลับไปยังมาตรฐานและตัวชี้วัดเสมอว่านักเรียนบรรลุตัวชี้วัดใดแล้ว ตัวชี้วัดใดยังไม่บรรลุก็จะเสริมเติมเต็มต่อไป ซึ่งผมได้เห็นวิธีปฏิบัติเช่นเดียวกับครูส้ม ในการจัดการเรียนรู้ของครูเปรมวดี จักรเพชร ที่สอนหน่วยบูรณาการโดยใช้ PBL เกี่ยวกับค้างคาว ชั้น ป.2



3. สร้างสีสันชีวิตการเรียนรู้ นอกจากบรรยากาศและสภาพแวดล้อมของโรงเรียนที่สะอาด สวยงาม เป็นระเบียบแล้ว กิจกรรมการเรียนรู้ที่นักเรียนและครูได้ปฏิบัติอย่างเป็นประจำ ทำให้เป็นการเรียนรู้ที่มีชีวิตชีวา ไม่ว่าจะเป็นการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ 3 วิชาหลักในช่วงเช้าของทุกๆ วัน ได้แก่ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และคณิตศาสตร์ การพูดคุยแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันของคณะครูอย่างต่อเนื่อง กิจกรรมจิตศึกษา ที่ฝึกสติ สร้างความสงบและผ่อนคลาย กิจกรรมลงมือปฏิบัติโดยใช้ PBL ในหน่วยบูรณาการทุกวันในช่วงบ่าย ซึ่งเป็นการบูรณาการ 5 กลุ่มสาระ ได้แก่ วิทยาศาสตร์ ศิลปะ การงานพื้นฐานอาชีพและเทคโนโลยี (กอท.) สังคมศึกษา และพลศึกษา ปีการศึกษาหนึ่งๆ จะแบ่ง 4 ช่วง/ควอเตอร์ (Quarter) ควอเตอร์ละ 10 สัปดาห์ และจะมีกิจกรรมนำเสนอผลการเรียนรู้อย่างมีสีสัน หลากหลายกิจกรรม ต่อผู้ปกครองในสัปดาห์สุดท้ายของทุกควอเตอร์



4. มีผู้หนุนเสริมพลังอย่างต่อเนื่อง โรงเรียนวัดโคกทอง มีโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนาเป็นต้นแบบ เป็นแหล่งเรียนรู้สำคัญ มีมูลนิธิสถาบันวิจัยระบบการศึกษาเป็นภาคีร่วมสนับสนุนการพัฒนา มีสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา โดยเฉพาะศึกษานิเทศก์ประจำโรงเรียน (ศน.จิรประวัติ ศรีวัฒนทรัพย์) ที่ไม่กดดัน คอยให้กำลังใจ ให้ไฟเขียวโรงเรียนในการดำเนินการตามแนวทางนี้ เพราะเชื่อว่าความดีและความสุขสำคัญ ส่วนความเก่งพัฒนาได้ ส่วน ศน.ศุภกร มรกต มีความภูมิใจที่ได้เห็นความก้าวหน้าของโรงเรียนเป็นลำดับตลอดมา และพร้อมให้การสนับสนุนต่อไป มีอาจารย์มหาวิทยาราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง ที่ใช้โรงเรียนเป็นแหล่งเรียนรู้ เป็นสถานที่ฝึกประสบการณ์ของความเป็นครูของนักศึกษาวิชาชีพครู เห็นผลดีและคุณค่าของกระบวนการเรียนรู้จิตศึกษา PBL และ PLC ในแนวทางที่โรงเรียนทำอยู่ นอกจากนั้น ยังมีเพื่อนผู้บริหารโรงเรียนใกล้เคียง ที่เห็นคุณค่าของกระบวนการที่โรงเรียนวัดโคกทองใช้พัฒนาครูและนักเรียน ได้ให้การยอมรับ พาคณะครูมาเรียนรู้ และนำกลับไปใช้ที่โรงเรียน ซึ่งพบว่าเกิดความเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นของพฤติกรรมการทำงานของครูและการเรียนรู้ของศิษย์


ก่อนกลับผมได้บันทึกภาพข้อความที่ประธาน กพฐ. (ดร.สุรัฐ ศิลอนันต์) เขียนสะท้อนความคิดลงในสมุดเยี่ยมของโรงเรียน ดังนี้


“มาเยี่ยมชมและศึกษาการปฏิรูปการศึกษาในระดับโรงเรียน เห็นว่า การดำเนินการภายใต้โครงการมูลนิธิสถาบันวิจัยระบบการศึกษา โดยการสนับสนุนของ สสส. เป็นรูปแบบการปฏิรูปกระบวนการเรียนการสอน เพื่อคุณภาพและมาตรฐานสากลที่มีประสิทธิภาพ
 การดำเนินการของโรงเรียนวัดโคกทองได้พิสูจน์ให้เห็นว่า(1) กระบวนการเรียนการสอนแบบ PBL มีประสิทธิภาพ และได้ผล(2) เป็นวิธีที่โรงเรียนในระดับพัฒนาใด และขนาดใด ก็สามารถทำได้(3) การเปลี่ยนแปลงกระบวนการเรียนการสอน สามารถเกิดขึ้นได้ในหมู่ครูบาอาจารย์ โดยไม่เกี่ยวกับภูมิหลัง เรื่องระดับการศึกษา อายุ และประสบการณ์
 สมควรที่จะขยายการใช้กระบวนการ ที่โรงเรียนวัดโคกทอง ทำได้สำเร็จแล้วนี้ ไปใช้กับ “ทุกโรงเรียนในเขตการศึกษา” และทุกๆ เขตของประเทศ ขอชมเชยในความตั้งใจอย่างเด็ดเดี่ยวในการใช้กระบวนการนี้ และขอชื่นชมความรู้ ความสามารถและการทุ่มเท ความพร้อมเพรียง ในการใช้นวัตกรรมนี้ จนเป็นผลสำเร็จ สุรัฐ ศิลปอนันต์ประธาน กพฐ.”
 -------------------------------