หน้าเว็บ

วันศุกร์ที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

ภาคเอกชนร่วมจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน: กรณีโรงเรียนไทยรัฐวิทยา

ภาคเอกชนร่วมจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน: กรณีโรงเรียนไทยรัฐวิทยา  [1]
พิทักษ์ โสตถยาคม

จุดเริ่มต้นของโรงเรียนไทยรัฐวิทยาเกิดจากแนวความคิดของคุณกำพล วัชรพล เจ้าของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ที่ได้เรียนรู้จากชีวิตตนเอง จากเด็กที่ไม่เคยเล่าเรียน แต่ประสบความสำเร็จในชีวิต ก็เพราะได้รับโอกาสในการเรียนรู้ที่ดี  จึงต้องการให้เด็กไทยได้รับโอกาสทางการศึกษาและการเรียนรู้ที่ดีขึ้น เริ่มคัดเลือกและให้การสนับสนุนโรงเรียนชนบทที่ขาดแคลนแห่งแรก ในปี 2512 คือ โรงเรียนไทยรัฐวิทยา 1 จังหวัดลพบุรี โรงเรียนล่าสุดคือ โรงเรียนไทยรัฐวิทยา 101 จ.ร้อยเอ็ด ปัจจุบันมีโรงเรียนไทยรัฐวิทยา จำนวน 101 แห่ง ในจำนวนนี้เป็นโรงเรียนสังกัด สพป. 99 แห่ง สพม. 1 แห่ง และ อปท. 1 แห่ง เดิมโรงเรียนไทยรัฐวิทยามีอยู่ทุกจังหวัด แต่เมื่อจังหวัดบึงกาฬแยกออกจากจังหวัดหนองคาย โรงเรียนไทยรัฐวิทยาจึงอยู่ในพื้นที่จังหวัดบึงกาฬ ทำให้จังหวัดหนองคายไม่มีโรงเรียนไทยรัฐวิทยา ขณะนี้มีแผนการที่จะทยอยสนับสนุนโรงเรียนอีก 10 แห่ง ในโอกาสฉลองครบ 100 ชาตกาล “กำพล วัชรพล” ภายในปี 2562 ซึ่งโรงเรียน 1 ใน 10 แห่งนั้น จะเป็นโรงเรียนที่อยู่ในจังหวัดหนองคาย

ที่มาภาพ: http://www.thairath-found.or.th/

โรงเรียนไทยรัฐวิทยาได้รับการส่งเสริมสนับสนุนช่วยเหลือจากมูลนิธิไทยรัฐอย่างเป็นระบบต่อเนื่องตลอดมา นับจากตั้งมูลนิธิไทยรัฐในปี 2522 ปัจจุบันอยู่ในช่วงเริ่มต้นของแผนยุทธศาสตร์โรงเรียนไทยรัฐวิทยา ฉบับที่ 4 (พ.ศ.2559-2562) ยุทธศาสตร์โรงเรียนไทยรัฐวิทยาจะมีโครงการ 2 ด้าน 10 โครงการ ดังนี้ (1) โครงการด้านการจัดการเรียนรู้ 4 โครงการ ได้แก่ โครงการยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน โครงการพัฒนาทักษะกระบวนการคิด โครงการพัฒนาบุคลากรเชิงปฏิบัติการ และโครงการประกวดโรงเรียน ผู้บริหาร ครู และนักเรียน (2) โครงการด้านส่งเสริมเอกลักษณ์ของโรงเรียนไทยรัฐวิทยา 6 โครงการ ได้แก่ โครงการเอกลักษณ์ไทย โครงการคนดีศรีไทยรัฐ โครงการเอกลักษณ์ความเป็นโรงเรียนไทยรัฐวิทยา โครงการหลักสูตรสื่อมวลชนศึกษา โครงการภาพแห่งความสำเร็จ และโครงการความเป็นพลเมืองดี สำหรับการดำเนินการตามโครงการต่างๆ ในแผนยุทธศาสตร์โรงเรียนไทยรัฐวิทยา จะอิงมาตรฐานและตัวชี้วัดหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 มูลนิธิฯจะสนับสนุนคู่มือ/แผนการจัดการเรียนการสอนให้โรงเรียนนำไปประยุกต์ใช้ โครงการเด่น ได้แก่ (1) โครงการหลักสูตรสื่อมวลชนศึกษา จะบูรณาการทุกกลุ่มสาระ และ(2) โครงการความเป็นพลเมืองดี จะอิงวิชาหน้าที่พลเมืองของ สพฐ.

ที่มาภาพ: http://www.thairath-found.or.th/planning4/

การทำงานร่วมกันของ สพฐ. และมูลนิธิไทยรัฐ ในแต่ละแผนยุทธศาสตร์โรงเรียนไทยรัฐวิทยา จะเริ่มด้วยการทำข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่างเลขาธิการ กพฐ. กับประธานมูลนิธิ ซึ่งแผนฯ 4 ได้ลงนาม MOU เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2559 ในงานสัมมนาผู้บริหารโรงเรียนไทยรัฐวิทยา ครั้งที่ 35 ณ จังหวัดเชียงใหม่ กรอบของ สพฐ.จะติดตามการดำเนินงานของโรงเรียน 101 แห่ง การวิเคราะห์ผลการทดสอบระดับชาติ การร่วมจัดสัมมนาผู้บริหารโรงเรียน การจัดมหกรรมภาพแห่งความสำเร็จของกลุ่มโรงเรียนไทยรัฐวิทยา และการจัดประชุมคณะกรรมการประสานงานมูลนิธิไทยรัฐและ สพฐ. ปีละ 2 ครั้ง ซึ่งคณะกรรมการนี้ สพฐ.เป็นผู้ตั้งขึ้น ส่วนมูลนิธิไทยรัฐจะสนับสนุนด้านวิชาการ สื่อวัสดุอุปกรณ์การศึกษา อาคารสถานที่ และงบประมาณ โดยมูลนิธิจัดสรรให้ตามความจำเป็น รวมทั้งให้โรงเรียนจัดทำแผนงานโครงการเสนอไปยังมูลนิธิ ซึ่งจะได้รับการสนับสนุนทุกโรงเรียน งบประมาณของมูลนิธิฯ ที่ใช้ในการสนับสนุนโรงเรียน มาจากดอกผลของเงินมูลนิธิฯ ปีหนึ่งๆ จะได้ประมาณ 50 ล้านบาท

ที่มาภาพ: http://www.thairath-found.or.th/opening-ceremony/

ที่ผ่านมามูลนิธิไทยรัฐได้ให้การสนับสนุนโรงเรียน ด้านวิชาการ (การพัฒนาบุคลากร การจ้างครู การพัฒนาการจัดการเรียนรู้ของครูและนักเรียน การส่งเสริมเอกลักษณ์ของโรงเรียน) ด้านสื่อวัสดุอุปกรณ์การศึกษา ด้านอาคารสถานที่ (ห้องสมุด, การก่อสร้างปรับปรุงอาคารเรียน/อาคารอเนกประสงค์, ห้องสมุด, โรงอาหาร, สุขา, ระบบไฟฟ้า, ภูมิทัศน์, ถนน, รั้ว) และด้านงบประมาณ (งบประมาณพัฒนาโรงเรียน, ทุนอาหารกลางวัน, ทุนการศึกษา) สรุปงบประมาณที่มูลนิธิไทยรัฐให้การสนับสนุนโรงเรียน ในช่วงปี 2551-2557 รวม 311.07 ล้านบาท เฉลี่ยปีละ 44.44 ล้านบาท (น้อยที่สุด 37.5 ล้านบาท และมากที่สุด 53.02 ล้านบาท) นอกจากนั้น บริษัท วัชรพล จำกัด ได้บริจาคที่ดินให้โรงเรียนไทยรัฐวิทยา 75 เฉลิมพระเกียรติ 9.5 ไร่ มูลค่า ประมาณ 15.43 ล้านบาท เพื่อเป็นพื้นที่สร้างอาคารเรียนโครงการขยายโอกาสทางการศึกษา และบริจาคเงินสนับสนุนการพัฒนาสภาพแวดล้อมและห้องปฏิบัติการต่างๆ จำนวน 25 ล้านบาท ทั้งนี้ สพฐ.ได้จัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมสร้างอาคารเรียนอีก จำนวน 33.5 ล้านบาท เนื่องในโอกาสที่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเจริญพระชนมายุครบ 80 พรรษา ในวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2550

ที่มาภาพ: https://goo.gl/crKUEw

สำหรับกิจกรรมที่ดำเนินการในปีการศึกษา 2558 อาทิ
1) โครงการภาพแห่งความสำเร็จ เป็นการนำเสนอผลการดำเนินงานให้เห็นศักยภาพของโรงเรียนไทยรัฐวิทยาโดยองค์รวม ได้แก่ ด้านการจัดการเรียนรู้ ด้านเอกลักษณ์ไทย และด้านความเป็นโรงเรียนไทยรัฐวิทยา  งานมหกรรมภาพแห่งความสำเร็จของโรงเรียนไทยรัฐวิทยา ภาคกลางและตะวันออก (เป็น 1 ใน 4 ภาค ที่มีการจัดงาน) มีกิจกรรมแข่งขันทางวิชาการ 8 กลุ่มสาระ มีความจริงจัง เข้มข้น ส่วนภาคกลางคืนเป็นการแสดงเอกลักษณ์ไทยของครูและนักเรียน การจัดงานครั้งนี้ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานในพิธีเปิดงาน "มหกรรมภาพแห่งความสำเร็จ โรงเรียนไทยรัฐวิทยา ภาคกลาง-ภาคตะวันออก" ปีการศึกษา 2558 ณ โรงเรียนไทยรัฐวิทยา 75 เฉลิมพระเกียรติ ดังนี้ https://goo.gl/1ATUW9 โครงการภาพแห่งความสำเร็จนี้เดิมจัดปลายปีการศึกษาทุกปีการศึกษา แต่ในแผนยุทธศาสตร์โรงเรียนไทยรัฐวิทยา ฉบับที่ 4 (พ.ศ.2559-2562) จะจัดปีเว้นปี
 
ที่มาภาพ: https://goo.gl/84EZ1a

2) การอบรมพัฒนาครู 4 ภาค จะจัดปีละ 1 ครั้ง ครั้งละ 3 วัน ในช่วงปิดภาคเรียน จำนวน 4 จุด/ภาค หัวข้อเรื่องการอบรมพัฒนาจะมาจากการเสนอของครูและผู้บริหารกลุ่มโรงเรียนไทยรัฐวิทยา ที่มีการแบ่งตามพื้นที่/ลุ่มน้ำ มี 13 กลุ่ม นอกจากนั้น การตั้งเป็นกลุ่มโรงเรียน ภาคละ 3-4 กลุ่ม ก็เพื่อพัฒนางานด้านการบริหารจัดการ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และความร่วมมือช่วยเหลือซึ่งกันและกัน

3) การสัมมนาผู้บริหารโรงเรียนไทยรัฐวิทยาทั่วประเทศ “ไทยรัฐวิทยา โรงเรียนประชารัฐ” และพิธีลงนาม MOU ระหว่างมูลนิธิไทยรัฐกับ สพฐ. เพื่อร่วมกันดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์โรงเรียนไทยรัฐวิทยา ฉบับที่ 4 (พ.ศ.2559-2562) ในเดือนกรกฎาคม 2559 ณ จังหวัดเชียงใหม่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (พลเอกดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ) เป็นประธาน ดังนี้ https://goo.gl/WNWaVS และได้กล่าวถึงนโยบายสำคัญของกระทรวงในงานนี้ ดังนี้ https://goo.gl/tpGz3D

ที่มาภาพ: http://www.moe.go.th/websm/2016/jul/287.html

4) โครงการประกวดโรงเรียน ผู้บริหาร ครู นักเรียนโรงเรียนไทยรัฐวิทยา จะประเมินตามมาตรฐาน ตัวบ่งชี้ และเกณฑ์การประเมิน ตามคู่มือการประเมินโรงเรียนไทยรัฐวิทยาดีเด่น ผู้บริหารสถานศึกษาโรงเรียนไทยรัฐวิทยาดีเด่น ครูโรงเรียนไทยรัฐวิทยาดีเด่น และจะมอบรางวัลในวันเกิดของคุณกำพล วัชรพล ในวันที่ 27 ธันวาคม ของทุกปี

5) โครงการต้นแบบไทยรัฐวิทยา ในระยะแรกคัดเลือกโรงเรียนเพียง 5 แห่ง ภาคละ 1 แห่ง ได้แก่ ได้แก่ (1) โรงเรียนไทยรัฐวิทยา 83 (บ้านห้วยโจด) จ.สระแก้ว (2) โรงเรียนไทยรัฐวิทยา 75 เฉลิมพระเกียรติ จ.กรุงเทพฯ (3) โรงเรียนไทยรัฐวิทยา 12 (บ้านเอก) จ.เชียงใหม่ (4) โรงเรียนไทยรัฐวิทยา 87 (นิคมสร้างตนเอง 1) จ.อุบลราชธานี และ(5) โรงเรียนไทยรัฐวิทยา 40 (บ้านควนโพธิ์) จ.สตูล โดยคณะกรรมการประเมินที่แต่งตั้งโดย สพฐ. และจะประเมินให้แล้วเสร็จ ภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2560

ที่มาภาพ: http://www.obec.go.th/news/68497

เสียงสะท้อนภาพความมุ่งมั่นของมูลนิธิไทยรัฐในการพัฒนาคุณภาพโรงเรียน จากอาจารย์รัตนา ยศบุญ นักวิชาการศึกษาชำนาญการพิเศษ สำนักติดตามและประเมินผลการจัดการศึกษา สพฐ. กรรมการและเลขานุการคณะกรรมการประสานงานมูลนิธิไทยรัฐวิทยาและสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวว่า มูลนิธิไทยรัฐได้มุ่งช่วยเหลือโรงเรียนไทยรัฐวิทยาที่อยู่ในชนบทห่างไกล ที่มีความขาดแคลน อย่างแท้จริง โดยไม่ได้คาดหวังผลตอบแทนจากโรงเรียนในเชิงธุรกิจ ได้ตั้งคณะทำงานเพื่อให้การสนับสนุนส่งเสริมโรงเรียนไทยรัฐวิทยาขึ้นมาเป็นการเฉพาะ จำนวน 4-5 คน ซึ่งเป็นบุคลากรที่มีความรู้ความเข้าใจงานสูง เพราะเป็นครูและศึกษานิเทศก์แกนนำ/โดดเด่นในการพัฒนาโรงเรียนไทยรัฐวิทยา และเกษียณอายุราชการแล้ว เมื่อคณะทำงานได้กำหนดแผนงาน ปฏิทินการปฏิบัติงานการส่งเสริมพัฒนาโรงเรียนแล้ว จะดำเนินการตามแผนงานอย่างเคร่งครัด ทำให้งานการพัฒนาโรงเรียนขับเคลื่อนไปตามแผนยุทธศาสตร์โรงเรียนไทยรัฐวิทยา เพื่อมุ่งไปสู่การยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนให้สูงกว่าค่าเฉลี่ยประเทศ คงสภาพพฤติกรรมของนักเรียนให้มีคุณธรรม จริยธรรม และความเป็นไทย พัฒนาศักยภาพครูให้มีความรู้ความสามารถเพิ่มขึ้น และสามารถจัดการเรียนการสอนสื่อมวลชนศึกษาและความเป็นพลเมืองดีได้อย่างต่อเนื่อง
-----------------------------




[1] เรียบเรียงจากการสนทนากับ อ.รัตนา ยศบุญ นักวิชาการศึกษาชำนาญการพิเศษ สำนักติดตามและประเมินผลการจัดการศึกษา สพฐ.