หน้าเว็บ

วันพฤหัสบดีที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

คิดใหม่ ทำใหม่ เพื่อการศึกษาไทยในอนาคต: สานพลังประชารัฐและมหาวิทยาลัย

คิดใหม่ ทำใหม่ เพื่อการศึกษาไทยในอนาคต: สานพลังประชารัฐและมหาวิทยาลัย
พิทักษ์ โสตถยาคม

วันนี้ 24 พฤศจิกายน 2559 ผมได้รับมอบหมายจาก ดร.พิธาน พื้นทอง ที่ปรึกษา สพฐ. ให้ไปเป็นวิทยากรร่วมเสวนาแทน ในการประชุมวิชาการ ปอมท. (ที่ประชุมประธานสภาอาจารย์มหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย) เรื่อง “คิดใหม่ ทำใหม่ เพื่อการศึกษาไทยในอนาคต” ณ โรงแรมนงนุช การ์เด้น รีสอร์ท จังหวัดชลบุรี เมื่อวานผมจึงนั่งลำดับความคิด คิดว่าจะสื่อสารอย่างไรให้เกิดประโยชน์ต่อผู้ฟัง และเกิดประโยชน์ต่อการศึกษาขั้นพื้นฐาน และได้ความคิดว่า จะบอกเล่าสิ่งที่เคยได้เรียนรู้ ได้แรงบันดาลใจในการทำงานร่วมกับอาจารย์มหาวิทยาลัย และผู้เกี่ยวข้องในการจัดการศึกษา จากการได้เห็นพลังของเครือข่ายอาจารย์สถาบันอุดมศึกษาเพื่อพัฒนาการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้เห็นพลังของ All for Education

ผมได้วางลำดับการนำเสนอไว้ 4 ประเด็น ดังนี้ (1) ร่วมมือรวมพลัง: ความหวังของการศึกษาใหม่ (2) คิดใหม่: เป้าหมายผู้เรียน (3) ทำใหม่: การเรียนการสอน และ(4) ทำใหม่: การบริหารจัดการ ดังนี้

1. ร่วมมือรวมพลัง: ความหวังของการศึกษาใหม่
เป็นการนำเสนอ Clip VDO โครงการ CONNEXT ED เป็นตัวอย่างหนึ่งที่เป็นรูปธรรมของการมีส่วนร่วมพัฒนาการศึกษาขั้นพื้นฐาน ใน VDO นี้ จะทำให้ผู้ร่วมประชุมเห็นจุดเน้นยุทธศาสตร์ใหม่ 10 ด้านของคณะทำงาน กลุ่มที่ 5 ในโครงการสานพลังประชารัฐ ของรัฐบาล ได้เห็นโอกาสที่จะร่วมส่งเสริมจินตนาการและอัจฉริยภาพของเด็กไทย เห็นความหวังใหม่ ความคิดสร้างสรรค์ ของการร่วมมือรวมพลังของผู้นำรุ่นใหม่  ที่ร่วมพัฒนาโรงเรียนอยู่ในขบวนของโครงการสานพลังประชารัฐ ซึ่งก็คือ โครงการ CONNEXT ED เห็นความหวังของการช่วยทลายปัญหาอุปสรรค ความขาดแคลนขัดสน ความจนปัญญา จนเงิน จนใจของคนในพื้นที่ ซึ่งผู้ร่วมประชุมจะได้เล็งเห็นว่า ถ้าคนไทย แต่ละคน และทุกๆ คน เข้าไปร่วมด้วยช่วยกัน “ปั้นสมองของชาติ” ด้วยการลงไปทำงานกับโรงเรียน ร่วมเป็นส่วนหนึ่งการพัฒนาเด็กและเยาวชน เด็กและเยาวชนจะได้รับโอกาสที่ดีขึ้น อนาคตของเขาก็จะดีขึ้น และประเทศไทยก็จะดีขึ้นตามลำดับ
ที่มาภาพ: https://goo.gl/S9mQBj

ดังนั้น อยากเชิญชวนประธานสภาอาจารย์มหาวิทยาลัย ร่วมส่งเสริม สนับสนุนให้นิสิตนักศึกษา อาจารย์ ลงไปในพื้นที่ เข้าไปในโรงเรียน จะเป็นคุณูปการต่อวงการศึกษา เป็นพลังแห่งการเปลี่ยนแปลงโรงเรียนสู่ผู้เรียนได้อย่างเห็นผลเป็นรูปธรรม อาจเริ่มเข้าร่วมในโครงการนี้ ในกลุ่มโรงเรียน 3,342 โรงเรียน นี้ก่อน ซึ่งขณะนี้โรงเรียนยังไม่มี School Sponsor ประมาณ 60%

2. คิดใหม่: เป้าหมายผู้เรียน
เป้าหมายใหม่ที่ผู้ร่วมประชุมเห็นจาก  Clip VDO คือ ทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ของผู้เรียน หรือ 3R 8C ดังนโยบายของ รมว.ศธ. (พลเอก ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ) เป็นสิ่งเดียวกันกับเป้าหมายผู้เรียนที่อยู่ในร่างแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2560-2574 หรือแผน 15 ปี ที่มุ่งพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มีความเป็นพลเมือง (มีลักษณะนิสัย พฤติกรรมที่พึงประสงค์ มีองค์ความรู้ที่สำคัญในศตวรรษที่ 21 มีทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 มีทักษะการดำรงชีวิต) มีทักษะความสามารถและสมรรถนะการปฏิบัติงานที่ตอบสนองความต้องการของตลาดแรงงาน และการพัฒนาประเทศ (สามารถเรียนรู้ได้ตามความถนัดความสนใจ) และดำรงชีวิตในสังคมอย่างเป็นสุข (มีงานทำ มีอาชีพ มีรายได้ สามารถปรับตัวและดำรงชีวิตในสังคมได้อย่างรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจและสังคมยุคพหุวัฒนธรรมที่เป็นพลวัตรในโลกศตวรรษที่ 21 ด้วยปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง) และเป็นสิ่งเดียวกับ Education 4.0 ที่ต้องการคนไทยที่มีทักษะ สมรรถนะ และคุณลักษณะที่ตอบสนองเป้าหมายการพัฒนาประเทศไทย หรือ Thailand 4.0 ต้องการคนไทยที่เก่งคิด (Critical mind, Creative mind) เก่งงาน (Productive mind) และเก่งคน (Responsible mind) หรือต้องการคนไทยที่สามารถใช้ความรู้เพื่อสร้างนวัตกรรมได้

กล่าวโดยสรุป ไม่ว่าตัวอักษรที่เขียนว่าเป้าหมายผู้เรียน หรือคนไทยจะเป็นเช่นใด แต่เราตระหนักแล้วว่า เราจะต้องเปลี่ยนแปลงการจัดการศึกษาเพื่อผู้เรียนแบบใหม่ จะต้องเตรียมผู้เรียนให้พร้อมเผชิญปัญหา มีความสามารถและพร้อมที่จะแก้ปัญหาที่ยังมาไม่ถึง/ ยังไม่เกิดขึ้นได้

3. ทำใหม่: การเรียนการสอน
การเรียนการสอนที่คาดหวังให้ครูเปลี่ยนคือ การสอนที่เน้นปัญหา เน้นกรณีศึกษา เน้นการวิจัย เน้นโครงงาน เน้นผลิตผล ฯลฯ ซึ่ง รศ.ดร.ทิศนา แขมมณี เรียกรวมว่า เป็นการสอน “ทักษะกระบวนการ” แต่การจะเปลี่ยนให้ครูประจำการ เปลี่ยนกระบวนทัศน์จาก “สอน=บอกความรู้” ไปสู่ “สอน=ถาม/ให้สร้างความรู้เอง” ไม่ง่าย และไม่สามารถใช้การสั่งการได้ เพราะคนเป็นครูได้เรียนรู้วิถีความเป็นครู ไม่ใช่เพียงช่วงเรียนคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ 4-5 ปีนี้เท่านั้น แต่คนเป็นครูได้เรียนรู้วิถีความเป็นครูมาตั้งแต่แรกเข้าสู่ระบบโรงเรียน บ้างเข้าสู่โรงเรียนในชั้นอนุบาล บ้างก็ชั้นประถม ซึ่งการสอนของครูส่วนใหญ่จะอยู่ในโหมด “สอน=บอกความรู้” คนเป็นครูเรียนรู้เช่นนี้มาตลอดชีวิตการเป็นนักเรียนมัธยมสู่การเป็นนิสิตนักศึกษาครูในระดับอุดมศึกษา ฉะนั้น การจะเปลี่ยนวิธีคิดและพฤติกรรมการจัดการเรียนการสอนของครูให้เป็นแบบใหม่ ที่เน้นทักษะกระบวนการ จึงเป็นเรื่องที่เปลี่ยนแปลงยาก แต่ไม่ใช่ทำไม่ได้

กระบวนการสร้างให้เกิดการเปลี่ยนแปลงวิธีคิดและวิธีปฏิบัติของครู ไม่สามารถทำให้เกิดขึ้นได้ด้วยการอบรม (Training) อย่างที่ครูเคยได้รับการอบรมพัฒนาตลอดมา เพียงอย่างเดียว การพัฒนาจะต้องเป็นกระบวนการหนุนนำครูอย่างต่อเนื่อง ประกอบด้วยกิจกรรมหลัก 3 ส่วน คือ (1) การจัดประสบการณ์ให้ครูได้เรียนรู้แบบลงมือทำในฐานะผู้เรียน (2) กระบวนการนิเทศอย่างใกล้ชิด ต่อเนื่อง หรือ coaching & mentoring และ (3) การให้ครูทำงานแบบร่วมมือรวมพลังกัน ให้ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ สะท้อนผลจากการปฏิบัติร่วมกัน

นอกจากการสอนทักษะกระบวนการ ที่จำเป็นต้องหนุนเสริมให้ทำได้ทำเป็นแล้ว ยังมีเทคนิควิธีหรือหลักคิดอีกมากที่จะช่วยให้การจัดการเรียนรู้มีประสิทธิภาพ มีประสิทธิผล เช่น การสืบสานพระราชดำรัส/ พระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว “ให้ครูรักเด็กเด็กรักครู" ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เป็นต้น หรือการนำผลการวิจัยต่างๆ มาใช้ในการจัดการเรียนรู้ เช่น  ผลการสังเคราะห์งานวิจัยของศาสตราจารย์จอห์น แฮตตี้ พบว่า มาตรการที่ส่งผลดีมีประสิทธิภาพสูงสุดต่อการจัดการเรียนการสอนและการเรียนรู้ของนักเรียน อาทิ การให้นักเรียนบอกความคาดหวังและให้เกรดตนเอง การเรียนรู้ที่เหมาะสมกับวัย การอภิปรายในชั้นเรียน การเสริมสร้าง Growth Mindset ด้วยการให้ความสำคัญกับกระบวนการ (process) มากกว่าผลลัพธ์ การให้ข้อมูลสะท้อนกลับ (feedback) ที่เหมาะสม การชื่นชมและให้คุณค่าที่ความพยายาม  

ดังนั้น ผู้รับผิดชอบ/ ผู้มีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา และตัวครูเอง จะต้องตระหนักและร่วมมือกันเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นจริง โดยน้อมนำหลักการทรงงานของในหลวงมาเป็นหลักและแนวทางการดำเนินการ ดังนี้ หลักคิด (พระราชดำริ) หลักวิชา (ทำงานอย่างผู้รู้จริง) และหลักปฏิบัติ (ทำตามขั้นตอน) หรือ “ทำให้ง่าย เกิดประโยชน์กับประชาชนเป็นหลัก”

4. ทำใหม่: การบริหารจัดการ

การบริหารจัดการควรเป็นการดำเนินการเพื่อให้เกิดพลังของความร่วมมือรวมพลังกัน สู่เป้าหมายร่วมหนึ่งเดียวกัน และตระหนักว่าระบบการศึกษาเกี่ยวข้องกับองค์ประกอบย่อยหลายส่วน หากมุ่งแก้ไขเพียงบางจุด ย่อมก่อให้เกิดปัญหาและผลกระทบอื่นๆ ตามมาอีกมาก จึงต้องคิดพิจารณาอย่างรอบคอบ รอบด้าน เป็นองค์รวม ดังงานวิจัยของรองศาสตราจารย์ ดร.สุธรรม วาณิชเสนี ชี้ให้เห็นว่า การศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นระบบใหญ่ ที่มีระบบย่อยๆ อยู่ภายใน ที่มีความซับซ้อน และเป็นพลวัตร ทุกระบบเชื่อมโยงสัมพันธ์กัน การแก้ไขปัญหาจึงไม่สามารถแก้เป็นจุดๆ ส่วนๆ ได้ จะต้องมองให้เห็นภาพรวม และดำเนินการอย่างเป็นองค์รวม สอดคล้องกับ ดร.สุรัฐ ศิลปอนันต์ อดีตปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ที่มองภาพของการปฏิรูปการศึกษาว่า ต้องทำทั้งระบบ (Whole System) ไม่ใช่การทำแก้ปัญหาแบบ “ปะชุน” (เช่น ครูไม่พอก็จ้างครูเพิ่ม เงินไม่พอก็จัดสรรเพิ่ม ขาดแคลนสื่อก็ซื้อสื่อแจก) การปฏิรูปทั้งระบบทำได้โดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียร่วมกันกำหนดภาพความไฝ่ฝันของการปฏิรูปการศึกษาที่ต้องการ เปรียบเปรยกับการสั่งตัดสูทใหม่ จะต้องออกแบบสูทที่ต้องการให้ได้ก่อน แล้วจึงส่งช่างตัดเย็บแต่ละแผนกแบ่งงานกันไปดำเนินการ มองย้อนกลับมายังระบบการศึกษา เมื่อได้ภาพเป้าหมายที่เห็นตรงกัน แล้วนำมาจัดทำเป็นแผนยุทธศาสตร์ใหม่ จากนั้นขับเคลื่อนการดำเนินการอย่างเป็นองค์รวมร่วมกัน หากทำเช่นนี้การพัฒนาการศึกษาจะไม่เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าหรือเป็นแบบปะชุน   จะเห็นได้ว่า การบริหารจัดการใหม่ต้องดำเนินการทั้งระบบ พร้อมกัน ในทุกองค์ประกอบที่มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน

การดำเนินการปรับระบบการบริหารจัดการการศึกษาของรัฐบาล โดยกระทรวงศึกษาธิการ วิเคราะห์สภาพปัจจุบันปัญหาไทยได้ 31 ปัญหา และกำหนดเป็น 6 ยุทธศาสตร์เร่งด่วน ได้แก่ การบริหารจัดการ การผลิตและพัฒนาครู หลักสูตรและกระบวนการเรียนรู้ การผลิตและพัฒนากำลังคนและงานวิจัย การประเมินและการพัฒนามาตรฐานการศึกษา และ ICT เพื่อการศึกษา แต่การขับเคลื่อนองคาพยพขนาดใหญ่ขององค์กรและบุคลากรทางการศึกษา ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้เร็วอย่างที่ต้องการ จึงเป็นเหตุผลหนึ่งของการออกมาตรา 44 เกี่ยวกับการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาในภูมิภาค มีคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) ขึ้น ดูแลเรื่องบุคคล แผนงาน และงบประมาณ มุ่งเปลี่ยนการขับเคลื่อนจากระดับ Macro (กระทรวง/ส่วนกลาง) สู่ระดับ Meso (จังหวัด) หวังให้เกิดการเปลีี่ยนแปลงระดับ Micro (โรงเรียน) ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ (Area-based Education หรือ ABE) โดยสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ( สกว.) ซึ่งขณะนี้กระทรวงศึกษาธิการ และ กศจ. กำลังทำให้ความพยายามในการเปลี่ยนผ่านนี้ประสบผลสำเร็จ

จากประสบการณ์การร่วมดำเนินการในชุดโครงการวิจัยเครือข่ายเชิงพื้นที่เพื่อหนุนเสริมการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชน ตามความร่วมมือของ สพฐ.และ สกว. พบว่า สถาบันอุดมศึกษาในท้องถิ่น สามารถเป็นแกนหลักและมีความสำคัญในการเชื่อมโยง และหลอมรวมสรรพกำลังการมีส่วนร่วมของผู้คน หน่วยงาน ทั้งภายในและภายนอกสถาบันอุดมศึกษา เพื่อเข้าร่วมพัฒนาโรงเรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้อย่างดีมีประสิทธิผล หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อความสำเร็จ ก็คือ ความเข้มแข็ง ความเอาใจใส่ ของอาจารย์ผู้ประสานงานโครงการ หรือผู้ที่ทำหน้าที่เป็นหน่วยจัดการกลาง ตัวอย่างโครงการที่ผมได้มีโอกาสสัมผัส/ ร่วมงาน และเป็นสถาบันอุดมศึกษาที่มีอาจารย์ทำบทบาทของหน่วยจัดการกลางที่เข้มแข็ง มีผลการสร้างการเปลี่ยนแปลงตามจุดมุ่งหมายของการดำเนินงานครั้งนั้นๆ ได้ดี อาทิ

- จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในโครงการ Coaching and Mentoring โดยคณะครุศาสตร์  
- มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และ 8 มหาวิทยาลัย ในโครงการเพาพันธุ์ปัญญา
- มหาวิทยาลััยศรีนครินทรวิโรฒ ในโครงการปฏิรูปการเรียนรู้สู่ผู้เรียน โดยสถาบันวิจัยพฤติกรรมศาสตร์
- มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในโครงการพัฒนาการคิดขั้นสูงทางคณิตศาสตร์ของนักเรียนในเขตพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยคณะศึกษาศาสตร์
- 15 มหาวิทยาลัย ในโครงการ Local Learning Enrichment Network (LLEN)
- 9 มหาวิทยาลัย ในโครงการ Teacher Coaching

จากกรณีตัวอย่างข้างต้น จะเห็นถึงพลังของสถาบันอุดมศึกษา ที่ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการส่งเสริมสนับสนุนการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ดังนั้น จึงอยากเชิญชวนคณาจารย์ทุกท่านใน ปอมท. (ที่ประชุมประธานสภาอาจารย์มหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย) เชิญชวนอาจารย์ นิสิตนักศึกษา เข้าไปในโรงเรียนต่างๆ ที่อยู่ในพื้นที่รอบมหาวิทยาลัย ประสานความร่วมมือกับภาคเอกชน และภาคประชาสังคมในท้องถิ่น ร่วมพัฒนาคุณภาพโรงเรียน เด็กและเยาวชน ในขณะเดียวกันก็เป็นการใช้สถานการณ์นี้ฝึกนิสิต นักศึกษา ให้มีจิตอาสา บริการชุมชนและสังคม เป็น win-win situation ทุกคนได้เรียนรู้และเติบโตไปด้วยกัน จุดเริ่มต้นที่สถาบันอุดมศึกษาสามารถยึดเป็นหลักคิดและแนวทางร่วมพัฒนาโรงเรียนได้อย่างดียิ่งก็คือ พระราชกระแสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ “ให้ครูรักเด็กและเด็กรักครู” “ให้ครูสอนเด็กให้มีน้ำใจต่อเพื่อน ไม่ให้แข่งขันกัน แต่ให้แข่งกับตัวเอง ให้เด็กที่เรียนเก่งกว่าช่วยสอนเพื่อนที่เรียนช้ากว่า” “ให้ครูจัดกิจกรรมให้นักเรียนทำร่วมกัน เพื่อให้เห็นคุณค่าของความสามัคคี” ดังนี้


ที่มาภาพ: https://goo.gl/CB7Wzn
บรรณานุกรม

เกษม วัฒนชัย. (2559). ใต้ร่มพระบารมี ทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียง. สืบค้นเมื่อ 23 พฤศจิกายน 2559, จาก https://goo.gl/KgVe4o
คณะผู้จัดงานมหกรรมทางการศึกษาเพื่อพัฒนาวิชาชีพครู. (2559). ทักษะที่จำเป็นเพื่อพัฒนาไปสู่ Thailand 4.0. สืบค้นเมื่อ 23 พฤศจิกายน 2559, จาก https://goo.gl/MPLqgb).
ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ.  (2559). การผลิตครูเพื่อปฏิรูปการเรียนรู้สู่อนาคตการศึกษาไทย.  สืบค้นเมื่อ 23 พฤศจิกายน 2559, จาก https://goo.gl/AvHYcU
ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ.  (2559). มอบนโยบายผู้บริหารสถานศึกษาอาชีวศึกษาภาครัฐและเอกชนทั่วประเทศ.  สืบค้นเมื่อ 23 พฤศจิกายน 2559, จาก https://goo.gl/sXhPWo).
เบญจลักษณ์ น้ำฟ้า. (2556).  โปรแกรมพัฒนาครูอย่างยั่งยืน. สืบค้นเมื่อ 23 พฤศจิกายน 255, จาก  https://goo.gl/NVJa6q
วรรณสม สีสังข์.  (2558). สสค.จับมือ สกว. ขับเคลื่อนจังหวัดปฏิรูปการเรียนรู้.  สืบค้นเมื่อ 23 พฤศจิกายน 2559, จาก  https://goo.gl/Z4VnFN
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานและศูนย์จิตวิทยาการศึกษา มูลนิธิยุวสถิรคุณ.  (2558).  อัจฉริยะหรือพรสวรรค์ ไม่สำคัญเท่า Growth Mindset. สืบค้นเมื่อ 23 พฤศจิกายน 2559, จาก  https://goo.gl/TjreM1
สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา.  (2559).  (ร่าง) กรอบทิศทางแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2560-2574. สืบค้นเมื่อ 23 พฤศจิกายน 2559, จาก https://goo.gl/SRg84W).
สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และพัฒนาคุณภาพเยาวชน (สสค.).  (2557).  เปิดงานวิจัยโลกการจัดการเรียนการสอนคือหัวใจของการปฏิรูป. สืบค้นเมื่อ 23 พฤศจิกายน 2559, จาก https://goo.gl/y8RTp1
สุธรรม วาณิชเสนี. (2558). เหลียวหลัง แลหน้า มองหาอนาคต - ปัจจัยเงื่อนไขความสำเร็จการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน บทเรียนจากอดีตในทศวรรษที่ผ่านมา และความเป็นไปได้สำหรับอนาคต. สืบค้นเมื่อ 23 พฤศจิกายน 2559, จาก https://goo.gl/D0gfLd
สุรัฐ ศิลปอนันต์. (2559, 9 พฤศจิกายน). การปฏิรูปการศึกษาแบบ Whole System และแบบปะชุน. สัมภาษณ์โดย พิทักษ์ โสตถยาคม.
สุวิทย์ เมษินทรีย์.  (2559). เตรียมคนไทย 4.0 สู่โลกที่หนึ่ง. สืบค้นเมื่อ 23 พฤศจิกายน 2559, จาก https://goo.gl/SlCoMc).
----------------------------