หน้าเว็บ

วันศุกร์ที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

สานพลังประชารัฐ: กรณีตัวอย่าง “โรงเรียนมีชัยพัฒนา”

สานพลังประชารัฐ: กรณีตัวอย่าง “โรงเรียนมีชัยพัฒนา”
พิทักษ์ โสตถยาคม

ผมได้ไปร่วมประชุมสร้างความเข้าใจผู้เกี่ยวข้องกับโครงการโรงเรียนประชารัฐ เขตตรวจราชการ 3 (จังหวัดฉะเชิงเทรา นครนายก ปราจีนบุรี สมุทรปราการ สระแก้ว) ในวันที่ 15-17 พ.ย. 2559 ณ จ.ฉะเชิงเทรา โดยมี ดร.อรนุช มั่งมีสุขศิริ และ อ.ดุจดาว ทิพย์มาตย์ เป็นผู้รับผิดชอบหลัก หรือเป็น School Coordinator (SC) ของเขตตรวจราชการนี้ ผู้เข้าประชุมที่มาจากพื้นที่ ประกอบด้วย รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ศึกษานิเทศก์ 2 คน/ เขต และผู้อำนวยการโรงเรียน 161 คน 


ขอบคุณภาพสวยจาก Facebook: https://www.facebook.com/yodying.thongrod

มีประเด็นหนึ่งที่ School Coordinator (SC) ต้องการให้ผู้เข้าประชุมเห็นอีกมุมมองหนึ่งของการพัฒนาโรงเรียนของคุณมีชัย วีระไวทยะ ผู้ก่อตั้งโรงเรียนมีชัยพัฒนา โดยมอบให้ผมเป็นผู้นำเสนอ Clip VDO การบรรยายของคุณมีชัย ที่บรรยายให้กับ School Partner (SP) ฟัง ในงานประชุมของโครงการ CONNEXT ED  เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2559 ในหัวข้อ “การเรียนการสอนแบบ Child Centric: สู่เส้นทางสายใหม่ของการศึกษาไทยในชนบท” (ดูคลิปที่นี่ https://goo.gl/AHJ37E) และเชื่อมโยงสู่แนวคิดการพัฒนาโรงเรียนและการจัดทำแผนพัฒนาโรงเรียน สาระสำคัญคุณมีชัยนำเสนอ มีดังนี้

ที่มาภาพ: https://goo.gl/eVnyYb

ภาพโรงเรียนที่ร่วมมือภาคเอกชน
·       โรงเรียนสวยงาม มีสีสัน สะดุดตา (ทาสีต้นไม้ ต้นมะพร้าว ทางเดิน พจนานุกรมทางเดิน)
·       ช่วยสร้างทักษะชีวิตและทักษะอาชีพสู่ชีวิตและการงาน
·       เปลี่ยนวิธีการเรียนรู้เป็นระบบใหม่
 
ที่มาภาพ: https://goo.gl/b1Z70z

จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงการศึกษา อย่างน้อย 3 ด้าน
1.       ปรับปรุงสาระการเรียนรู้
2.       ปรับปรุงวิธีการสอน ต้องพัฒนาครูแนวใหม่
3.       เปลี่ยนบทบาทของโรงเรียน เชิญชวนภาคเอกชนและมหาวิทยาลัยมาร่วม เปลี่ยนโรงเรียนที่สอนเฉพาะนักเรียนเป็นแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิตของทุกคนในชุมชนและประชาชน เป็นศูนย์กลางการพัฒนาคุณภาพชีวิต

ที่มาภาพ: https://goo.gl/b1Z70z

โรงเรียนไม้ไผ่ (มีชัยพัฒนา) เป็นตัวอย่างของโรงเรียนที่นำแนวคิดประชารัฐและความร่วมมือของภาคเอกชนในการจัดการศึกษามาใช้ตั้งแต่แรก โรงเรียนเน้นทักษะชีวิตและทักษะอาชีพ มีเป้าหมายเพื่อสร้างคนดี (ซื่อสัตย์ แบ่งปันเป็น บริหารจัดการเป็น ไม่ย่อท้อ รู้จักค้นคว้าหาคำตอบ ส่งเสริมความเสมอภาคชายหญิง เป็นนักพัฒนาและนักธุรกิจเพื่อสังคม) กระตุ้นไม่ให้ทิ้งบ้านเกิด นักเรียนมีบทบาทสำคัญในการช่วยบริหารงานโรงเรียนโดยคณะมนตรีโรงเรียน นักเรียนทุกชั้นจะอยู่ในคณะบริหารชุดต่างๆ เช่น ต้อนรับผู้มาเยือน จัดซื้อและควบคุมงบประมาณ (เช่น ซื้อเครื่องมือเกษตร โปรเจกเตอร์ ตู้เซฟ เครื่องทำไอศกรีม รถยนต์) ตรวจสอบและต่อต้านคอรัปชั่น รักษาระเบียบวินัยและความสะอาด พัฒนาธุรกิจของนักเรียนและโรงเรียน ดูแลสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัย และซ่อมบำรุง การสื่อสารและเทคโนโลยี นักเรียนเป็นผู้สัมภาษณ์และคัดเลือกนักเรียนใหม่ ผู้ปกครอง รวมทั้งคัดเลือกและประเมินผลครูใหม่

ที่มาภาพ: https://goo.gl/b1Z70z
กระตุ้นให้นักเรียนคิดนอกกรอบ อาทิ ทาสีต้นไม้ หนังสือริมทาง เคารพธงชาติหลังเลิกเรียน เครื่องผลิตน้ำจากความชื้นในอากาศ การเรียนเพศศึกษาให้เด็กผู้หญิงเริ่มโดยใช้ถุงยางขัดรองเท้าสะท้อนเพศศึกษาเป็นเรื่องสะอาด โรงเรียน/หอพัก/ โดมเอนกประสงค์สร้างด้วยไม้ไผ่ จ่ายค่าเทอมด้วยการทำความดีและปลูกต้นไม้ ผู้ปกครองนักเรียนช่วยเหลือสังคม ฝ่ายละ 400 ชั่วโมงต่อปี และปลูกต้นไม้ฝ่ายละ 400 ต้นต่อปี นักเรียนร่วมกับสมาชิกในชุมชนทำความสะอาด หมู่บ้าน โรงเรียน และวัด นักเรียนต้องนั่งรถเข็นเดือนละ 1 วัน เพื่อให้เห็นใจและช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส และใช้มือที่ไม่ถนัดครึ่งวัน เขียนจดหมายสัปดาห์ละ 3 ฉบับ (ถึงบุคคลสำคัญ ผู้ปกครอง และเพื่อน) ใช้โทรศัพท์ได้ 1 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ จะไม่รับประทานอาหารเย็นในทุกวันอาทิตย์เพื่อให้รู้ถึงความยากลำบากเพื่อช่วยเปลี่ยนแปลงสังคม มีศาลแผ่เมตตาให้คนที่มีทุกข์ที่พานพบในสังคม/หน้าหนังสือพิมพ์เพื่อฝึกให้แบ่งปัน 

ที่มาภาพ: https://goo.gl/b1Z70z

ให้นักเรียนสอนว่ายน้ำให้เด็กจากโรงเรียนอื่น ช่วยสอนเกษตร เป็นการฝึกการสื่อความหมาย นักเรียนต้องเล่นดนตรีเป็น เปิดโอกาสให้นักเรียนทุกคนทำธุรกิจเป็นกลุ่ม (เช่น มะนาว แคนตาลูป เมล่อน) มีกองทุนให้นักเรียนและผู้ปกครองกู้ยืม ทำแปลงผักในโรงเรียน (ปลูกผักในวงขอบซีเมนต์ ปลูกผักในเข่ง ในท่อพีวีซี ปลูกผักในต้นกล้วย ผักบุ้งในตะกร้า (1 เดือนได้ 1 กก.) โรงเรียนซื้อผักจากนักเรียน ให้นักเรียน 25% เก็บไว้ 75% เอาไว้จ่ายให้เมื่อจบ ม.6 ปลูกฝักในขวด ปลูกผักในไผ่ ปลูกมะนาวนอกฤดู แพ็คอาหารทะเลขาย เพาะเห็ดขาย ฟาร์มไก่จากพลังแสงอาทิตย์ (นักเรียนคัดไข่ขาย วันละ 1,000 ฟอง) มีเงินกู้ให้นักเรียนปีละ 5 แสนบาท ผลิตไอศกรีมขายในโรงเรียนต่างๆ และมอบกำไร 25% ให้เด็กที่ยากจนที่สุดในโรงเรียนให้โรงเรียนเป็นผู้ตัดสินเอง เลี้ยงแพะ สอนการปั้นโอ่งเก็บน้ำขาย ใช้พลังงานแสงอาทิตย์เรียนรู้การสร้างหลอด LED ทำเป็นรถเข็นปั้มน้ำ ทำไฟฉาย ทำธุรกิจข้าวโรงเรียน นักเรียนฝึกอาชีพนอกสถานที่ช่วงปิดเทอม เรียนในห้องเรียน มีสอบ มีการให้คะแนน เด็กได้กี่เปอร์เซ็นต์ จะได้รับเงินเท่ากับเปอร์เซ็นต์ที่ได้ และนอกห้องเรียน ออกเก็บข้อมูลร่วมกับนักวิจัยเพื่อสำรวจคุณภาพชีวิตชาวบ้าน ทำ “ปัญญานิพนธ์”

ที่มาภาพ: https://goo.gl/b1Z70z
มีสมาคมเครือข่ายโรงเรียนชุมชนขนาดเล็กแห่งประเทศไทย สนใจที่จะนำปรัชญาและวิธีการของโรงเรียนมีชัยพัฒนาไปใช้ โดยขอให้ช่วยโรงเรียนต่างๆ ใน 3 ด้าน คือ (1) ด้านการจัดการเรียนรู้แนวใหม่เพิ่มเติมจากหลักสูตรแกนกลาง (2) พัฒนาโรงเรียนให้เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านธุรกิจของนักเรียนและสมาชิกในชุมชน และ (3) นำความรู้ด้านธุรกิจสู่ชุมชนและปรับเปลี่ยนโรงเรียนเป็นศูนย์การเรียนรู้ตลอดชีพในทุกด้านแก่ชุมชน จึงทำโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตและรายได้โดยมีโรงเรียนเป็นศูนย์กลาง เพื่อส่งเสริมให้โรงเรียนเป็นแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิตของทุกคนในชุมชนและเป็นศูนย์กลางการพัฒนาคุณภาพชีวิตและรายได้ของคนในชุมชน ช่วยกระตุ้นและเสริมสร้างทักษะอาชีพให้แก่นักเรียนและสมาชิกในชุมชนที่อยู่รอบโรงเรียน ช่วยจัดตั้งแปลงเกษตรเพื่อขจัดความยากจนของโรงเรียนควบคู่ไปกับกิจกรรมอื่นๆ ในลักษณะของวิสาหกิจ (ธุรกิจ) เพื่อสังคม ขณะนี้ดำเนินการในโรงเรียนต่างๆ แล้ว 99 โรงเรียนมีการติดตามทุกเดือน ชุมชนรอบโรงเรียนเข้ามีส่วนร่วม มีส่วนสำคัญ เป็นการสร้างความสามัคคีที่เน้นด้านการเกษตรที่ใช้พื้นที่น้อย น้ำน้อย แรงน้อย เหมาะกับผู้สูงอายุและคนพิการ มีกองทุนให้นักเรียนกู้แต่ต้องออมก่อน นักเรียนสนุกจากการเรียนมาก ผู้ปกครองกู้ได้แต่ต้องมีหลักฐาน ส่งเสริมแปรงฟัน 3 ครั้งต่อวัน เน้นว่าโรงเรียน นักเรียน และชุมชนไม่ควรได้รับความช่วยเหลือแบบให้เปล่า (ฟรี) แต่ควรร่วมโครงการด้วยการช่วยเหลือสังคม สิ่งแวดล้อม และปลูกป่า (จ่ายด้วยน้ำใจ) ทำความสะอาดชุมชน ปลูกป่าเพื่อแลกกับเงินทุนช่วยเหลือจากบริษัท 100 บาทต่อต้น

ที่มาภาพ: https://goo.gl/b1Z70z

โรงเรียนมีชัยพัฒนายังได้ขยายความช่วยเหลือไปสู่หน่วยงาน/ สถาบันในชุมชนต่างๆ โดยไปช่วยตั้งฟาร์มเกษตรธุรกิจเพื่อสังคมในหน่วยงานนั้นๆ เช่น โรงพยาบาลตำบล โครงการธุรกิจเพื่อสังคมในเรือนจำขนาดเล็ก ช่วยเหลือครอบครัวนักโทษให้มีรายได้ โครงการธุรกิจเพื่อสังคมในสถานีตำรวจ ในวัด  

นอกจากนั้น ผู้ก่อตั้งโรงเรียนมีชัยพัฒนายังมีข้อเสนอเพื่อปฏิวัติการศึกษาไทย จำนวน 9 ประการ ดังนี้
1)      ขอให้พนักงานในทุกบริษัทและรัฐวิสาหกิจออกเยี่ยมเยียนโรงเรียนเพื่อทำความรู้จักกับนักเรียนและครู และเตรียมให้ความร่วมมือ ในที่สุดทุกบริษัทจะมีความสัมพันธ์กับโรงเรียน
2)      บริษัทเสนอความเห็นและเริ่มลงมือช่วยเหลือโรงเรียน โดยพนักงานบริษัทมีความรู้สึกร่วมเป็นครูกิตติมศักดิ์และ ผอ.กิตติมศักดิ์
3)      เปิดโอกาสให้เอกชนบริจาคเงินผ่านธนาคาร และให้ธนาคารเป็นผู้ออกใบเสร็จรับเงินเพื่อหักลดหย่อนภาษีได้
4)      สนับสนุนการอบรมพัฒนาทักษะครูเพื่อให้เป็นครูเอนกประสงค์ ไม่ใช่ครูคณิตศาสตร์ที่สนใจดนตรี ทำเกษตรเป็น ทำหลายอย่างเป็นด้วย
5)      ช่วยจัดตั้งธุรกิจเพื่อสังคมให้แก่โรงเรียนเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านธุรกิจ ให้นักเรียนรู้ธุรกิจ เพราะเป็นเส้นทางเดียวที่จะให้คนพ้นความยากจน
6)      ผลักดันให้เกิดโครงการ “ปลูกป่าล้างหนี้” อาจสอนน้องเพื่อล้างหนี้ สำหรับผู้ที่กู้ยืมเงิน กยศ. และยังไม่มีเงินใช้หนี้ ส่วนนักเรียนประถมและมัธยมปลูกป่าสร้างเครดิตเพื่อสะสมเงินเข้าเรียนมหาวิทยาลัย
7)      จ้างครูที่เป็นพนักงานของบริษัทเพื่อสอนนักเรียนตามโรงเรียนในชนบท
8)      จัดตั้งห้องเรียนเตรียมอนาคตในโรงเรียน เช่น เตรียมครู เตรียมพยาบาล ธุรกิจ ค้าขาย เกษตร ท่องเที่ยวการโรงแรม การบริหารจัดการ การบัญชี/การเงิน  สื่อวิทยุโทรทัศน์ สิ่งแวดล้อม พลังงานทดแทน IT Logistics เพราะขณะนี้มีโรงเรียนกีฬา โรงเรียนดนตรี โรงเรียนทหารแล้ว
9)      สร้างโรงเรียน พร้อมจัดตั้งธุรกิจเพื่อสังคม โรงเรียนเตรียมอนาคต

กล่าวโดยสรุป คุณมีชัย วีระไวทยะ เน้นว่าระบบการศึกษาและการพัฒนาของประเทศไทย จำเป็นต้องกระตุ้นให้เกิดนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ พร้อมทั้งสร้างคนดี ควรทำให้โรงเรียนเป็นศูนย์กลางในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของทุกคนในชุมชน

-----------------------